KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธรรมะ ที่พุทธศาสนิกชนควรทราบ เพื่อเข้าใจในสัมมาทิฏฐิ => ข้อความที่เริ่มโดย: yusamui ที่ กรกฎาคม 10, 2012, 12:34:38 PM



หัวข้อ: ก่อนจะศึกษาพระไตรปิฏก ต้องเรียนถึงความหมายของ"ภาษา"ก่อน
เริ่มหัวข้อโดย: yusamui ที่ กรกฎาคม 10, 2012, 12:34:38 PM
ภาษาคน ภาษาธรรม  ผู้ฉลาดจะต้องรู้ทั้งสองภาษา มิฉนั้น เมื่อท่านอ่าน พระไตรปิฏกแล้ว ท่านก็จะเข้าใจความหมายเป็นภาษาคนทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เข้าใจพระพุทธพจน์และพระสูตร คลาดเคลื่อนไปหมด เหมือนอย่างทุกวันนี้

พุทธทาสภิกขุ

แสดง ณ สวนโมกพลาราม ไชยา

๘ ตุลาคม ๒๕๐๙

พุทธะ

ภาษาคน  หมายถึง องค์พระพุทธเจ้า เนื้อหนังของท่าน ร่างกายของท่าน ที่เกิดในประเทศอินเดีย เมื่อสองพัน กว่าปีมาแล้ว นิพพานแล้ว เผาไหม้ไปหมดแล้ว (ตัวตน)

ภาษาธรรม  หมายถึง ตัวธรรมะแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ที่ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ ๆ ก็ไม่ได้ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย

 

ธรรม

ภาษาคน  หมายถึง พระคัมภีร์ หนังสือ ที่เรียกกันว่าพระธรรมอยู่ในตู้ หรือเสียงที่ใช้แสดงธรรม

ภาษาธรรม  หมายถึง บทธรรมที่เป็นธรรมะที่กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงหนังสือ คัมภีร์ ใบลาน หรือเสียงเทศน์เป็นความหมายที่ลึกซึ้ง ที่หมายถึงทุกสิ่งที่เข้าใจได้ยากก็มี เข้าใจได้ง่ายก็มี

 

พระสงฆ์

ภาษาคน  หมายถึง นักบวช

ภาษาธรรม  หมายถึง คุณธรรม หรือพระธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของคน อย่างที่เราเรียกว่าพระสงฆ์มี ๔: โสดา,สกิทาคา, อนาคา และ อรหันต์ ก็หมายถึง คุณธรรม ไม่ได้หมายถึงตัวคน เพราะเปลือกหรือตัวคนนั้นเหมือนกันหมด ผิดกันแต่คุณธรรมในใจที่ทำให้เป็น พระโสดา, พระสกิทาคา, พระอนาคา และพระอรหันต์ขึ้นมา

 

พระศาสนา

ภาษาคน  หมายถึง โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์ และตัวคำสั่งสอน (มีโบสถ์วิหารสะพรั่งไปหมด ก็พูดว่า พระศาสนาเจริญแล้ว)

ภาษาธรรม  หมายถึง ธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะใดเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ดับทุกข์ให้มนุษย์ได้จริง ธรรมะนั้นคือศาสนา คือพรหมจรรย์ นั่นคือประพฤติปฏิบัติจริง ๆ ตามทางธรรมเป็นพรหมจรรย์ที่งดงามในเบื้องต้น, งดงามในเบื้องกลาง และงดงามในเบื้องปลาย

งามในเบื้องต้น
  

-
  

คือการศึกษาเล่าเรียน

งามในท่ามกลาง
  

-
  

คือการปฏิบัติ

งามในเบื้องปลาย
  

-
  

คือผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ  

 
การงาน

ภาษาคน  หมายถึง อาชีพที่ทำด้วยความจำเป็น เพื่อเลี้ยงชีพ

ภาษาธรรม  หมายถึง กัมมัฏฐาน คือการปฏิบัติธรรม ทำด้วยความซื่อตรง ด้วยสุจริต ด้วยความขยันด้วยความแข็งขัน ด้วยความฉลาด ด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ

พรหมจรรย์

ภาษาคน  หมายถึง เว้นการประพฤติผิดในทางกาม

ภาษาธรรม  หมายถึง การทำเพื่อละกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความเคร่งครัด ถ้าปฏิบัติลงไปให้จริง ให้เคร่งไม่มีการบกพร่องแล้ว เรียกว่า พรหมจรรย์

 

นิพพาน

ภาษาคน (ภาษาชาวบ้าน)  จะคิดเอาเองว่า นิพพานเป็นบ้าน เป็นเมืองแก้ว เมืองสารพัดนึก จะนึกอะไรก็ได้ตามใจชอบ ก็เลยอยากไปนิพพาน

ภาษาธรรม  หมายถึง ความดับ สิ้นสุดแห่งกิเลส และความทุกข์โดยประการทั้งปวงและอย่างแท้จริง

 

มรรค-ผล

ภาษาคน  หมายถึง การทำงานนั้นได้สำเร็จ ตามที่ตนต้องการ แม้แต่เป็นเรื่องโลกีย์ก็ตาม

ภาษาธรรม  หมายถึง การทำลายความทุกข์ ทำลายกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้อย่างถูกต้อง ตามหลักธรรมะ เป็นขั้น ๆ ขึ้นไป

 

มาร

ภาษาคน  หมายถึง ยักษ์มารที่มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว

ภาษาธรรม หมายถึง เป็นภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะขัดขวางความดีความงาม ความที่จะก้าวไปถึงความดับทุกข์

 

โลก

ภาษาคน  หมายถึง แผ่นดิน ตัวโลกนี้จะกลมหรือแบนก็ตาม

ภาษาธรรม  หมายถึง นามธรรม หรือคุณธรรม หรือคุณสมบัติ ที่มีประจำอยู่ในโลก เช่น ความทุกข์ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงเป็นต้น

 

ชาติ (ความเกิด)

ภาษาคน  หมายถึง การคลอดจากท้องมารดา ซึ่งมีครั้งเดียว

ภาษาธรรม  หมายถึง ความเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือตัวกูก็ตามที่เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ ในจิตใจของเราเป็นประจำวัน คนธรรมดาก็เกิดได้มากครั้ง ถ้าเป็นคนดีก็เกิดน้อยครั้ง ถ้าเป็นพระอริยะเจ้าก็ยิ่งเกิดน้อยลงไปอีก กระทั่งไม่เกิดเลย เมื่อใดเกิดความรู้สึกว่า ตัวฉัน ขึ้นมาในใจ กระทั่งเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เรียกว่า  ตัวฉันเกิดขึ้นมาคราวหนึ่ง ดังนั้นการเกิดจึงเกิดได้หลาย ๆ ครั้งแม้ในวันหนึ่ง

 

ความตาย

ภาษาคน  หมายถึง ตายชนิดที่จะต้องเอาใส่โลงไปเผาไปฝัง

ภาษาธรรม  หมายถึง ความสลายแห่งความรู้สึก คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวฉัน ตัวกู นั่นแหละมันสลายลงไป

ชีวิต

ภาษาคน  หมายถึง สิ่งที่ยังไม่ตาย ยังดิ้นได้ เดินได้ กินอาหารได้เป็นต้น

ภาษาธรรม  หมายถึง สภาวะที่ไม่รู้จักตายจริง ๆ คือ นิพพาน หรือชีวิตนิรันดร์จริง ๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีเกิด ไม่รู้จักดับอีกต่อไป

 

คน

ภาษาคน  หมายถึง สัตว์ที่มีรูปร่าง

ภาษาธรรม  หมายถึง คุณธรรมที่เหมาะกับคำว่ามนุษย์ คือ มีจิตใจสูง

 

พระเจ้า (พระเป็นเจ้า)

ภาษาคน  หมายถึง เทวดาที่มีอำนาจในการสร้าง ในการบันดาล ในการเนรมิตต่าง ๆ

ภาษาธรรม  หมายถึง อำนาจลึกลับที่ไม่ต้องเป็นตัวตน ไม่ต้องเป็นตัวเทวดา
 ไม่ต้องเป็นตัวอะไรทั้งหมดแต่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เป็นนามธรรม เป็นกฎธรรมชาติ หรือถ้าเรียกอย่างบาลี เรียกว่าธรรม

 

นรก

ภาษาคน  หมายถึง เมืองที่อยู่ใต้ดิน มีเจ้าหน้าที่เป็นยมบาล จับคนไปลงโทษ เมื่อตายแล้จึงจะไปถึง

ภาษาธรรม  หมายถึง ความร้อนใจเหมือนไฟเผา ใครทำความเดือนร้อนให้เกิดขึ้นแก่ตนเองในลักษณะเหมือนไฟเผาเมื่อไร ก็เรียกว่าตกนรกเมื่อนั้น

 

สัตว์เดรัจฉาน

ภาษาคน  หมายถึง สัตว์ต่าง ๆ หมู หมา กา ไก่ ฯลฯ ที่ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ภาษาธรรม  หมายถึง ความโง่ วันหนึ่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหลายหนก็ได้

 

เปรต

ภาษาคน  หมายถึง สัตว์ที่มีปากเล็กนิดเดียว มีท้องโตมาก กินไม่ทันและหิวอยู่เรื่อย และจะเป็นก็ต่อเมื่อตายแล้ว

ภาษาธรรม  หมายถึง คนที่ความทะเยอะทะยานด้วยกิเลสตัณหา หรือวิตกกังวลด้วยกิเลสตัณหา

 

อสุรกาย

ภาษาคน  หมายถึง ผีชนิดหนึ่ง มองไม่เห็นตัว เที่ยวหลอกเที่ยวหลอนไม่กล้าแสดงตัวเพราะมีความขลาด

ภาษาธรรม  หมายถึง ความขลาดในจิตใจของมนุษย์ ขี้ขลาดอย่างไม่ควรจะเป็น กลัวการทำความดี กลัวว่าบรรลุนิพพานแล้วจะไม่มีรสชาติ ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลชนิดนี้เป็นอสุรกาย

 

สวรรค์

ภาษาคน  หมายถึง เทวโลกอันงดงามอยู่เบื้องบน

ภาษาธรรม  หมายถึง กามคุณ หรือยอดสุดของกามคุณ เป็นต้น ที่ทำให้คนลุ่มหลงนี้เรียกว่าสวรรค์ขั้นกามวจรถ้าเป็นสวรรค์ชั้นพรหมโลกก็หมายถึง ความว่างจากกามารมณ์ มีความสบายใจเพราะไม่ถูกกามารมณ์รบกวนเหมือนดั่งว่า     คน ๆ หนึ่ง เมื่อมีความหิวในกามารมณ์ บริโภคกามารมณ์เสร็จแล้ว ไม่อยากแตะต้องอีกต่อไปในเวลานั้นต้องการอยู่    ว่าง ๆ เงียบ ๆ เทียบได้กับคุณสมบัติของพรหมหรือพรหมโลก ดังนั้น จึงกล่าวว่า สวรรค์ชั้นธรรมดาก็คือสมบูรณ์ไป  ด้วยกามารมณ์ สวรรค์ชั้นสูงสุดเช่น ปรนิมมิตวสวัสดี ก็คือความสมบูรณ์ไปด้วยยอดสุดของกามารมณ์ สวรรค์ชั้น   พรหมโลกก็คือว่างจากการเบียดเบียนของกามารมณ์ แต่ยังมีตัวมีตนมีตัวกูอยู่

 

น้ำอมฤต


ภาษาคน  หมายถึง เหล้าชนิดหนึ่ง ซึ่งพวกเทวดากินเข้าไปแล้วไม่ตาย แต่กลับรบราฆ่าฟันกันเอง

ภาษาธรรม  หมายถึง ธรรมะชั้นสูงขั้นอนัตตา หรือสุญญตา ซึ่งทำให้คนไม่ตาย เพราะว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน

 

สุญญตา

ภาษาคน , สุญญตา, เป็นภาษาบาลี ,สุญญ, แปลว่า ว่าง, ตา แปลว่า ความ, สุญญตา แปลว่า ความว่าง
ไม่มีอะไรเลย หรือสูญเปล่าไม่ได้อะไรเลย

ภาษาธรรม  หมายถึง มีทุกอย่างทุกประการ มีเท่าไรก็ได้ เว้นแต่ความรู้สึกว่าตัวฉัน
หรือเป็นของฉัน นั่นคือ ว่างจากตัวตน หรือของตน นอกนั้นมีได้หมด

 

ความหยุด


ภาษาคน  หมายถึง ไม่เคลื่อนไหว

ภาษาธรรม  หมายถึง ความว่างจากตัวตน ถ้าว่างจากตัวตนแล้วจะเอาอะไรวิ่ง
ก็ต้องถือว่าฉันหยุดแล้ว ไม่มีตัวตนจะยึด ว่างจากตัวตนโดยสิ้นเชิง

 

แสงสว่าง

ภาษาคน  หมายถึง แสงดวงอาทิตย์ แสงไฟฟ้า แสงตะเกียง ฯลฯ

ภาษาธรรม  หมายถึง ปัญญา หรือวิชชา หรือญาณ แม้จะอยู่ในถ้ำมือ
หรือเวลากลางคืนไม่มีแสงเดือน แสงดาว ก็ยังปรากฏแสงสว่าง มีปัญญา หรือวิชชา หรือญาณนั้น ๆ

 

กรรม

ภาษาคน  หมายถึง แย่แล้ว มีโชคร้าย มีผลบาปมาถึง

ภาษาธรรม  หมายถึง การกระทำ กระทำไม่ดี กระทำชั่ว เรียกว่ากรรมดำ กระทำดี เรียกว่า กรรมขาว

 

ความมืด

ภาษาคน  หมายถึง มืดจนมองด้วยตาไม่เห็น

ภาษาธรรม  หมายถึง อวิชชา ความโง่ ความหลง โมหะ มืดด้วยอวิชชา มืดด้วยโมหะ ไม่ว่าจะอยู่ในที่สว่างอย่างไรก็มืดอยู่นั่นเอง

 

ที่พึ่ง, สรณะ

ภาษาคน  หมายถึง สิ่งอันที่อยู่นอกตัวที่จะเอามาเป็นที่พึ่ง พึ่งคนอื่น พึ่งผีพึ่งสาง พึ่งจอมปลวก
พึ่งศาลพระภูมิ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งอื่น หรือคนอื่นที่อยู่นอกตัวเรา

ภาษาธรรม  หมายถึง ตัวเองอยู่ในตัวเอง แม้เราพูดว่าพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็หมายถึง
พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ที่อยู่ในจิตใจเราจึงเป็นที่พึ่งแก่เราได้

 


หัวข้อ: Re: ก่อนจะศึกษาพระไตรปิฏก ต้องเรียนถึงความหมายของ"ภาษา"ก่อน
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 16, 2012, 01:03:16 AM
ขอบพระคุณสำหรับเนื้อหาธรรม ครับผม
ขออนุญาตแก้ไข coding ที่มีปัญหาในข้อความที่ท่าน นำมาให้นะครับผม