หัวข้อ: ชีวประวัติ และปฏิปทา หลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 19, 2012, 05:21:56 AM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20120819052112_n.jpg)
วันนี้วันที่ ๑๘ สิงหาคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฒโน ครบ ๘ ปี ท่านเป็นศิษย์องค์พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช องค์ท่านเป็นพระภิกษุชาวต่างชาติรูปแรกในประเทศไทยที่บรรลุเป็น พระอรหันต์ ท่านมีจริยวัตรอันงดงามมีความเพียรเป็นเลิศ และเป็นผู้แปลหนังสือธรรมะพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดศรัทธาปสาทะมากมายจากต่างแดน เข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิปทาตามรอยอริยะเจ้าในประเทศไทย ชีวประวัติ และปฏิปทา หลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ (Peter J. Morgan) ท่านเป็นชาวอังกฤษ นามเดิม ชื่อ ปีเตอร์ จอห์น นามสกุล มอร์แกน (PETER J. MORGAN) บิดา จอห์น วอตคิน นามสกุล มอร์แกน (J.W. MORGAN) มารดา ไวโอเลต แมรี่ นามสกุล มอร์แกน (V.M. MORGAN) ชาติกาล วันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๑๒ ปี ฉลู สถานที่เกิด ณ ประเทศอินเดีย ในเหมืองทองโคลาร์ รัฐไมซอร์ (ปัจจุบันเรียกว่า การ์นาตากะ) ภาคใต้ของอินเดีย ที่อยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ตำบล บริน อำเภอ แลนเนลี กรุงลอนดอน พี่น้อง ท่านมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ชาย ๒ คน หญิง ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนโต วิทยฐานะ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากฟาราเดย์เฮาส์ วิทยาลัยเทคนิค ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อาชีพ วิศวกรไฟฟ้า ท่านใช้ชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ ๓๐ ปี โดยไม่ได้แต่งงาน บรรพชา เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี ท่านได้ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๘ ณ พุทธวิหาร กรุงลอนดอน (ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาสร้างไว้) โดยมีพระกปิลวัฑโฒภิกขุ (ซึ่งเป็นพระชาวศรีลังกา แต่บวชในประเทศไทย) เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบท อายุ ๓๑ ปี พระอุปัชฌายะได้พาท่านเข้ามาในประเทศไทย โดยได้อุปสมบทในคณะมหานิกาย เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๙ โดยมี พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย กับหลวงพ่อสดอยู่ระยะหนึ่งเดือนกรกฎาคมปีนั้นเอง ได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษ พักจำพรรษาอยู่ที่พุทธวิหาร ในกรุงลอนดอน เป็นเวลากว่า ๕ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง โดยได้พำนักอยู่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร อยู่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในสำนักวัดป่าบ้านตาดครั้งแรก ในความดูแลของ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี อุปสมบทครั้งที่ ๒ ๒ อายุ ๓๙ ปี อุปสมบทซ้ำในฝ่ายธรรมยุตินิกาย (ทำพิธีบวชซ้ำอีกโดยมิได้ลาสิกขาบทไปเป็นฆราวาสก่อน) เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๐๘ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต.บางลำภู อ.พระนคร กรุงเทพมหานคร ได้รับนามฉายา ภาษามคธว่า “ปญฺญาวฑฺโฒ” แปลว่า ผู้เจริญด้วยปัญญา ครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ลูกหาทั่วไปจึงได้เรียกชื่อท่านสั้นๆ ว่า “ปัญญาๆ” ตั้งแต่นั้นมา (บวชพระพร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เชอร์รี่ อภิเจโต วัดป่าบ้านตาด) พระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน (หรือพระสาสนโสภณ ราชทินนามในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระเทพญาณกวี พระอนุสาวนาจารย์ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน การมรณภาพ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๘.๓๐ น. ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ด้วยโรคมะเร็งที่ลำไส้ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๑๐ เดือนพอดี นับเป็นวันได้ ๒๘,๗๙๑ วัน อุปสมบทได้ ๓๙ พรรษา รวมเวลาที่ได้อยู่ ณ วัดป่าบ้านตาด เป็นเวลา ๔๑ ปี ( นับแต่ปี ๒๕๐๖) ผลงานด้านสิ่งก่อสร้างภายในวัดได้แก่ ศาลาใหญ่ด้านนอก ,ศาลาด้านใน (ยกศาลาและปูพื้น) ,ทางจงกรมหลวงตา , ตำหนักที่ประทับเจ้าฟ้าหญิง ,เรือนที่พักข้าราชบริพาร ,กำแพงวัด ,ถังซีเมนต์เก็บน้ำใช้ภายในวัด ,กุฏิที่พักผู้มาปฏิบัติธรรม ,เมรุ และอื่นๆ มากมาย ผลงานด้านแปลหนังสือธรรมะ 1. THE DHAMMA TEACHING OF ACARIYA MAHA BOOWA IN LONDON แปลจาก ท่านอาจารย์พระมหาบัวฯ ในกรุงลอนดอน หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากที่หลวงตาไปเมตตาโปรดชาวอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ. 2517 และ หลวงปู่ได้ติดตามไปเป็นล่าม เมื่อหลวงตาเทศน์เสร็จแล้วหลวงปู่จะเป็นผู้แปล 2. WISDOM DEVELOPS SAMADHI แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา 3. FOREST DHAMMA แปลจาก กัณฑ์เทศน์ของหลวงตา 4. PATIPADA OR THE MODE OF PRACTICE OF VENERABLE ACHARN MUN แปลจาก ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น 5. KHANDHAVIMUTTI SAMANGIDHAMMA แปลจาก ขันธะวิมุติ สะมังคีธรรมะ บทประพันธ์โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ 6. VENERABLE ACARIYA KOW –A MEDITATION MASTER’S BIOGRAPHY แปลจาก หนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ขอบพระคุณข้อมูล FACEBOOK คุณ Narongchai Toprasert |