หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 12, 2012, 03:17:35 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20121003154801_pic.jpg)
สังฆานุสสติ ปาหุเนยโย ภควโต สาวกสังโฆ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงนำด้วยพระสังฆคุณบทว่า ปาหุเนยโย ที่แปลว่าผู้ควรของต้อนรับ หรือผู้ควรต้อนรับ อันมีความหมายว่า หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ปฏิบัติชอบเหมาะแล้ว หรือชอบยิ่งแล้ว อันได้แก่บุรุษบุคคล ๔ คู่ นับรายตัวบุคคลเป็น ๘ ดังที่เรียกว่าอริยสาวกสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้ควรของต้อนรับ หรือควรต้อนรับ คือเมื่อไปที่ไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ ควรของต้อนรับในที่นั้น ซึ่งบทนี้เป็นบทที่คู่กับ อาหุเนยโย ผู้ควรของที่นำมาบูชา อันหมายความว่าเมื่อไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ในที่พักอาศัยของท่านเอง มีผู้มาบูชา นำของมาถวายบูชา ก็เป็นผู้สมควรรับ เพราะเหตุเดียวกัน คือเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น ฉะนั้น การที่เป็นผู้ควรของที่เขานำมาบูชา ก็เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่นำมาบูชานั้น ได้รับผลแห่งการนำมาบูชา สมตามเจตนาของเขา ซึ่งเมื่อเขาต้องการนำของมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์ และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์จริง ผู้นำมาบูชาไม่ต้องเสียความหวัง เพราะเมื่อหวังมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์ ท่านผู้รับนั้นก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เป็นผู้สมควรบูชาจริง นี้เป็นความของบทว่า อาหุเนยโย ท่านอยู่กับที่ มีผู้นำของมาบูชา ก็เป็นผู้ควรรับของบูชาที่เขานำมานั้น และเมื่อท่านไปไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ ที่เขาต้อนรับ ก็เพราะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เขาต้อนรับด้วยคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับจริง ผู้เลื่อมใสชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์ และโดยเฉพาะในข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ซึ่งอาจจะใช้ได้ทั้งในบทว่าอาหุเนยโย และทั้งในบทนี้ คือได้ตรัสเอาไว้มีความว่า ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นนั้น ย่อมชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ต้อนรับอภิวาทกราบไหว้ จัดอาสนะถวายให้นั่ง ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกิดในสกุลสูง ผู้มีจิตละมลทินคือความตระหนี่ในเมื่อได้เห็นได้ต้อนรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความมีอานุภาพมาก ผู้ที่ได้สละถวายชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยทรัพย์ ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมะที่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วแสดง ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก พระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้จึงเป็นการที่ได้ทรงแสดงว่าพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ควรของต้อนรับ หรือเป็นผู้ควรต้อนรับ ภิกษุ ผู้ขอโดยปรกติ อนึ่ง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้น เมื่อไปที่ไหนก็ไม่ไปเพื่อเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่ทำการขอ ไม่ทำการประทุษร้ายคฤหัสถ์แม้ด้วยการประจบ ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นที่พอใจของคฤหัสถ์ให้เขารักเขานับถือ และแม้ว่าจะเป็นภิกษุที่แปลว่าผู้ขอ อันหมายความว่าผู้ขอโดยปรกติ ตามธรรมเนียมของสมณะในพุทธศาสนา ก็อุ้มบาตร เดินไปในละแวกบ้านโดยปรกติ ไม่ได้เปล่งวาจาขอ ไม่ได้เรียกร้อง หรือไม่ได้ทำกิริยาต่างๆ เหมือนอย่างที่เรียกว่ายาจกวณิพก ยาจกก็แปลว่าผู้ขอ คือขอทาน เหมือนอย่างคนขัดสนจนยากที่ขอทานเขาเลี้ยงชีวิต วณิพกนั้นก็เป็นผู้ขอชนิดที่มีการแลกเปลี่ยนเช่นว่าร้องเพลงให้เขาฟังแล้วเขาก็ให้ แต่ว่าภิกษุซึ่งแปลว่าผู้ขอนั้นเป็นผู้ขอโดยปรกติ เดินอุ้มบาตรเข้าไปในละแวกบ้าน ด้วยอาการที่สำรวม สำรวมตา สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ เดินเข้าไป ผู้มีศรัทธาเกิดความเลื่อมใสก็ใส่บาตรถวาย และผู้ถวายนั้นก็ไม่ได้ดูหมิ่นว่าเป็นยาจกวณิพก แต่ว่าถวายด้วยความเคารพนับถือ ถือว่าเมื่อใส่บาตรถวายพระแล้วก็ได้บุญ เพราะฉะนั้นเมื่อพระอุ้มบาตรเข้าไป คนไทยเราจึงเรียกว่าพระมาโปรด อันแสดงว่าใส่บาตรถวายด้วยความเคารพ และถือว่าได้บุญกุศล เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้วไปไหนจึงเป็นที่ยินดีต้อนรับ ผู้นับถือพุทธศาสนานั้นมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ก็ย่อมต้อนรับ เช่นใส่บาตรถวาย หรือนิมนต์ให้เข้าไปฉันในละแวกบ้านตามที่กำหนด ดังที่ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล บรรดาตระกูลทั้งหลายที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปรับบิณฑบาตเสวยในบ้านของตน นิมนต์พระสงฆ์น้อยบ้างมากบ้างตามกำลัง หรือว่าจัดชุมนุมกันใส่บาตรถวาย ที่เรียกว่า อังคาส พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์สาวกให้เสวยในที่ๆ กำหนดประชุมกันนั้นๆ สำหรับผู้ที่ไม่นับถือพุทธศาสนานั้นเมื่อยังไม่เลื่อมใสก็ไม่ใส่บาตรถวาย และก็ปรากฏว่าบรรดาผู้ที่ไม่เลื่อมใสนั้น เมื่อได้เห็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ เดินผ่านบ้านของตนไปบ่อยๆ ด้วยอาการที่สำรวม เกิดศรัทธาขึ้นมาถวายใส่บาตรดั่งนี้ก็มี แม้ท่านพระสารีบุตรเองเมื่อยังไม่ได้เข้านับถือพุทธศาสนาเป็นศิษย์อยู่ในสำนักอาจารย์สญชัย วันหนึ่งได้เห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน เห็นเข้าก็มีความเลื่อมใส เพราะเห็นอาการที่ท่านพระอัสสชิออกบิณฑบาตนั้น เต็มไปด้วยความสำรวม เกิดความเลื่อมใส ว่าบรรพชิตรูปนี้จะต้องมีภูมิธรรมสูงในใจ และจะต้องมีอาจารย์ที่เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เพราะยังไม่เคยเห็นใครเดินอย่างสงบดั่งนี้ จึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไปจนถึงที่ที่ท่านพักอยู่ (๑๒๙/๒ ) และเมื่อเป็นโอกาส จึงได้เข้าไปไต่ถาม นำให้ท่านพระสารีบุตรนั้น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ในเมื่อได้ฟังถ้อยคำสั้นๆ ของท่านพระอัสสชิ และได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และได้เข้าบวชในพุทธศาสนา นี้ก็เกิดสืบมาจากที่ได้เห็นพระสงฆ์บิณฑบาตนั้นเอง เพราะฉะนั้นอาการที่ขออย่างภิกษุดั่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นการขอที่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบว่า เหมือนอย่างแมลงผึ้งที่เคล้าเอารสของดอกไม้ เพื่อไปทำน้ำผึ้ง โดยไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่นของดอกไม้ ไม่เบียดเบียนรสส่วนใดส่วนหนึ่งของดอกไม้ต้นดอกไม้ นำเอารสหวานไปเท่านั้น มุนีผู้ที่จาริกบิณฑบาตไปในละแวกบ้านก็เช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนชาวบ้านให้เดือดร้อน รับแต่ของที่เขาแบ่งมาใส่บาตรคนละเล็กคนละน้อย โดยไม่ทำให้ผู้ที่ใส่บาตรต้องเดือดร้อน ต้องเสียหายแต่อย่างใด เพราะโดยปกตินั้นเขาก็ปรุงอาหารไว้สำหรับบริโภคอยู่แล้ว และโดยมากนั้นก็มักจะปรุงไว้มีส่วนเหลือ เพราะฉะนั้นแม้เขาจะแบ่งมาใส่บาตรบ้าง ก็ไม่ทำให้เขาต้องขาดอาหารบริโภค แล้วก็ใส่บาตรกันหลายๆ คน คนละเล็กคนละน้อยดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเหมือนอย่างแมลงผึ้ง ที่นำเอารสของดอกไม้ไปโดยที่ไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่น ไม่เบียดเบียนอะไรของดอกไม้ ต้นไม้ดอกนั้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้ว จึงเป็นผู้ไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูลและความสุข พระปัจฉิมวาจา และการที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปได้ก็ตั้งต้นที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายในชั้นแรก มีจำนวนทั้งพระพุทธเจ้าด้วยเพียง ๖๑ องค์ พระพุทธเจ้าทรงส่งไปเพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในที่นั้นๆ โดยที่ให้ไปทางละรูป ทางละองค์เดียว ไม่ให้ไปสององค์ เพื่อว่าจะได้แยกกันไปได้มากทางในคามนิคมชนบทนั้นๆ โดยที่ตรัสสั่งให้จาริกไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ที่ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล ความสุขแก่ประชาชนในคามนิคมชนบทนั้นๆ เพราะฉะนั้นการจาริกไปประกาศพระพุทธศาสนาตั้งต้นดั่งกล่าว และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา ในครั้งพุทธกาลตลอดเวลาที่พระพุทธเข้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้หยุดอยู่จำพรรษา และเมื่อพ้นฤดูกฐินก็เสด็จจาริกไปดังกล่าวตลอดพระชนมาชีพ ถึงฤดูเข้าพรรษาก็หยุดจำพรรษา ย้อนกลับมาเข้าพรรษาในเมืองเก่าบ้าง ในที่อื่นบ้าง และพระองค์ทรงดำเนินด้วยพระบาทดั่งนี้จนถึงวาระสุดท้าย ในวันนั้นพระองค์ก็ยังเสด็จจาริกด้วยพระบาทไปตลอดวัน และเมื่อถึงสถานที่ที่ทรงกำหนดว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงได้ทรงหยุดดำเนินด้วยพระบาท และทาบพระองค์ลงบรรทมในท่าสีหไสยาตะแคงขวา และก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจสั่งสอนต่างๆ จนถึงเวลาที่ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงได้ตรัสปัจฉิมวาจา พระวาจาสุดท้ายว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด แล้วก็หยุดรับสั่ง และก็ทรงเริ่มทำพระทัยเพื่อที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน และก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนั้น ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า แสดงว่าพระองค์ได้ทรงจาริกออกไป ด้วยดำเนินด้วยพระบาทไม่มีหยุดหย่อน ตลอดเวลา ๔๕ ปี จนถึงวันสุดท้ายก็ยังดำเนินด้วยพระบาท ไปจนถึงจุดที่สุดแล้ว หยุด ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในที่นั้น เพราะฉะนั้นพระองค์จึงอยู่ในฐานะที่เป็น อาหุเนยโย และ ปาหุเนยโย อยู่ตลอดเวลา และปาหุเนยโยนั้นก็การที่ได้เสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ ดังกล่าว และผู้ที่ต้อนรับพระองค์ต่างก็ได้รับประโยชน์เกื้อกูล ได้รับประโยชน์ที่ต้องการ รับประโยชน์เกื้อกูล รับความสุข ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายนั้น ได้เป็นผู้ที่นำประโยชน์ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข ไปประทาน ไปมอบให้แก่ประชาชนผู้ต้อนรับทั้งหลายในที่นั้นๆ เอหิ สวากขตะ วาที เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์แล้ว เมื่อไปในที่ไหนก็ชื่อว่าเป็น สวากขตะ สำหรับที่นั้น คือประชาชนในที่นั้น ต่างได้รับประโยชน์ที่ต้องการ เกื้อกูล และความสุข จากการเสด็จมาของพระองค์ จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่มาดีแล้ว ไม่ใช่มาร้าย มาดีด้วยการนำเอาสุขประโยชน์ต่างๆ มาให้ สมดังคำที่กล่าวต้อนรับว่ามาดี แล้วก็เชื้อเชิญให้มา ดังคำที่ท่านผูกว่า เอหิ สวากขตะ วาที คือผู้มีวาทะว่ามาดีแล้ว จงมา พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ทรงเป็นผู้ที่มาดีแล้วอย่างนั้นในที่ทุกแห่ง จึงเป็นผู้ควรของต้อนรับ ควรการต้อนรับในที่ทุกแห่ง วาทะพราหมณ์ผูกโกรธ และนอกจากนี้ แม้ว่าผู้ที่ต้อนรับนั้นเขาต้อนรับด้วยความไม่พอใจ พระองค์ก็รับได้ พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ก็รับได้ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไปถึงบ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งได้ผูกใจโกรธพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช ว่าปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์ และยังมาสั่งสอนให้คนทั้งหลายปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์ จึงได้กล่าวด่าพระองค์ต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า พราหมณ์เคยรับแขกอย่างไร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็จัดข้าวจัดน้ำเป็นต้นไว้รับแขกที่มา พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้น เขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ไม่ดื่มน้ำ ข้าวและน้ำที่จัดไว้นั้นเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็เป็นของเจ้าของบ้านเอง เป็นของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นคำที่ท่านด่าเราเป็นการต้อนรับนั้นเราไม่รับ เพราะฉะนั้น คำที่ท่านด่าทั้งหมดนั้นก็เป็นของท่านเอง เราไม่ร่วมวงกับท่าน ถ้าเรารับก็คือเราก็ร่วมวงกับท่าน แต่นี่เราไม่รับเราก็ไม่ร่วมวงกับท่าน คำที่ท่านด่าทั้งหมดก็ต้องตกเป็นของท่านเองดังที่ท่านกล่าวนั้น ก็ของต้อนรับต่างๆ เมื่อแขกเขาไม่รับ ของนั้นก็ตกเป็นของเจ้าของบ้านเอง พราหมณ์นั้นก็กลับเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกที่บริสุทธิ์ทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ที่ควรของต้อนรับแม้ที่ไม่น่าปรารถนาพอใจ เช่นต้อนรับด้วยอาการที่ไม่ดี หรือแม้ด้วยการหยาบ ด้วยการด่าว่า แต่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายก็รับได้ ด้วยวิธีที่ไม่สะดุ้งสะเทือนจิตใจ และก็สามารถที่จะกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้ ตามควรแก่เหตุนั้นๆ เหตุการณ์ดังที่กล่าวมานี้ได้บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายอยู่เนืองๆ ในการที่จาริกไปในคามนิคมชนบทนั้นๆ ฝ่ายที่ไม่พอใจไม่เลื่อมใสก็ต้อนรับด้วยการด่าว่า จ้างให้มาด่าว่าก็มี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับได้อันหมายความว่าทรงมีพระทัยที่ไม่หวั่นไหว และก็ทรงแก้ไขได้ด้วยพระปัญญา ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง ดังที่มาประมวลผูกเป็นบทพาหุง ๘ บท ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ แม้พระสงฆ์สาวกก็เช่นเดียวกัน ดั่งนี้ก็คือทรงเป็นอาหุเนยโย และทรงเป็นปาหุเนยโย ในพระสังฆคุณบทว่า ปาหุเนยโย ที่แสดงนี้ และพระสังฆคุณบทว่า อาหุเนยโย ที่ได้แสดงไว้ก่อน ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป ขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://www.dharma-gateway.com และ http://www.kammatan.com หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ มิถุนายน 28, 2013, 08:08:58 AM งานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ตามที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบ รับรู้ และมีส่วนร่วมในการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ตลอดปี ๒๕๕๖ นั้น ... กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ จึงใคร่ขอความร่วมมือประดับธงตราสัญลักษณ์ ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ และจัดวาง Banner Link :www.watbowon.com หรือ www.prd.go.th เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ตลอดปี ๒๕๕๖ แหล่งที่มา : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก 3 ตุลาคม 2556ดูเพิ่มเติม หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 30, 2013, 09:44:33 AM ...คิดให้รู้จักพอ...
ความคิดอย่างหนึ่งที่สมควรฝึกให้เกิดขึ้นเป็นประจำ คือความคิดว่าพอ คิดให้รู้จักพอ ผู้รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มี ความสบายใจ ส่วนผู้ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้ร้อนเร่าแสวงหา ไม่หยุดยั้ง ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่ เป็นโตมั่งมีมหาศาล และความรู้จักพอก็มีได้แม้ในผู้ยากจน ต่ำต้อย ทั้งนี้ก็เพราะความพอเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับ ฐานะภายนอก คนรวยที่ไม่รู้จักพอก็เป็นคนจนอยู่ตลอดเวลา คนจนที่รู้จักพอก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลา การยกฐานะจากยากจนให้มั่งมีนั้นทำได้ไม่ง่าย บางคนตลอดชาตินี้อาจทำไม่สำเร็จ แต่การยกระดับใจ ให้มั่งมีนั้นทำได้ทุกคนแม้มีความมุ่งมั่นจะทำจริง คนรู้จักพอไม่ใช่คนเกียจคร้าน และคนเกียจคร้าน ก็ไม่ใช่คนรู้จักพอ ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แล้วอบรมตนเองให้ไม่เป็นคนเกียจคร้านแต่ให้เป็นคนรู้จักพอ “พอ” เป็นสิ่งหายากในหมู่คน “โลภ” “นิ่ง” เป็นสิ่งหายากในหมู่คน “โกรธ” “หยุด” เป็นสิ่งหายากในหมู่คน “หลง” “ธรรมะ” เท่านั้นที่ช่วยท่านได้ -:- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก -:- หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 15, 2013, 09:31:00 AM -:- การฆ่าตัวตาย -:-
ธรรมโอวาทโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก "การฆ่าตัวตาย" ทุกวันนี้ ที่มีมากกว่าปกติ ไม่เพียงเกิดจากความทุกข์ร้อนมากมายหนักหนาที่ท่วมทับชีวิตจิตใจเท่านั้น แต่ที่จริงเกิดเพราะความไม่มีเมตตาด้วย ไม่สงสารจิตใจผู้ที่จะต้องได้รับจากการฆ่าตัวตายของเราด้วย แม้คิดสักนิดย่อม จะเห็นความใจดำไม่มีเมตตาของบรรดาผู้ฆ่าตัวตายทั้งหลาย ไม่นึกสักนิดเลย ว่าถ้าตนเป็นลูกเมื่อลูกต้องตายไปอย่างน่าสยดสยอง จิตใจแม่พ่อจะเป็นอย่างไร สงบเป็นสุขอยู่ที่เช่นนั้นหรือ น่าจะเคยอ่านพบข่าว หรือไม่ก็น่าจะเคยเห็นภาพในหนังสือพิมพ์ พ่อแม่ที่ฟูมฟายใจแทบขาดตามไปเมื่อเห็นศพของลูกหลาน โดยเฉพาะที่ฆ่าตัวตาย และก็จะอีกนานนักหนากว่าความโศกเศร้าแสนสาหัสจะจบสิ้นไปตามกาลเวลา คนฆ่าตัวตายนั้นบาปหลายต่อทีเดียว บาปที่ทำกับตนเองก็แน่นอน ทำกับตนได้นักหนา ถึงทำลายชีวิตให้จบสิ้น อย่างเจ็บปวด จะไม่บาปได้อย่างไร เพียงเบียดเบียนทำร้าย ไม่ถึงประหัตประหารผลาญชีวิต ก็ยังต้องเป็นบาปและแม้เป็นการฆ่าคนถึงตาย ยิ่งคนนั้นเป็นตัวเองด้วย ก็พึงรู้เถิดว่ากรรมนั้นหนักนัก จะหนีผลของกรรมไม่พ้นแน่นอน และอย่าประมาทว่าผลของกรรมไม่น่ากลัว รับได้สบาย ก็ถ้ารับผลของกรรมไม่ดีได้สบายจริง ไฉนจึงทนรับความทุกข์ในชาตินี้ไม่ได้ ต้องพาตัวหนีไปให้พ้น ด้วยการฆ่าตัวตายเล่า ทุกข์ในชาตินี้ที่พากันได้รับ คือผลของกรรมที่ทำไว้เองแน่นอน คิดให้ดีๆ เถิด จะได้ไม่ฆ่าตัวตาย จะได้ไม่ต้องไปรับความทุกข์แสนสาหัสอีกในภาพชาติหน้า ที่มีแน่อย่าสงสัย การฆ่าตัวตายเป็นการแสดงความมีใจไร้เมตตาอย่างยิ่ง ไม่สงสารตัวเองก็แย่อยู่แล้ว แต่ยังดี ยังไม่เป็นไร เพราะคิดเสียว่าไม่อยากให้ตัวเองรับความทุกข์แสนสาหัสในชีวิต่อไป ลองหนีไปชีวิตอื่น อาจจะสบายกว่า คิดเช่นนี้ ก็พอเข้าใจว่า เพราะเมตตาตัวเองผิดคือคิดว่าเมตตา คิดว่าจะช่วยให้พ้นทุกข์ แต่ที่แท้กำลังพาไปสู่ความทุกข์ที่มากมาย และยาวนานกว่า เป็นหลายภพหลายชาติแน่นอน หนักหนาแน่นอนเป็นการทำบาปหลายต่อ ทำตัวเองให้จบสิ้นชีวิตอย่างผิดธรรมดา อย่างโหดร้ายทารุณ และทำผู้อยู่หลังให้ทุกข์โศก มากน้อย หนักเบา ตามใจที่ผูกพันของผู้นั้นที่มีต่อเรา ถ้าเป็นมารดาบิดา การตายจากของลูกหลานคือความทุกข์แสนสาหัส เช่นนี้ก็เท่ากับการฆ่าตัวตายของผู้เป็นลูกหลานเป็นการทำบาปหนักต่อผู้มีพระคุณที่รักใคร มีใจผูกพันต่อเรา เป็นการก่อทุกข์ให้จิตใจท่านเหล่านั้น นั่นคือบาปแน่นอน เป็นบาปที่เกิดพร้อมกับบาปที่ทำร้ายตนเอง ที่ประหัตถ์ประหารผลาญชีวิตตนเอง เป็นบาปหนักแน่ ทุกวันนี้มีการฆ่าตัวตายกันมาก ฆ่ากันด้วยวิธีต่าง ๆ ล้วนน่าประหวั่นพรั่นพรึง ล้วนไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าทำกันได้กับชีวิตตน เหมือนผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าเป็นคนละคนกัน เป็นศัตรูที่ร้ายแรงของกันและกัน ความจริงมีอยู่ อย่าลืมเสีย จำไว้ให้มั่น อาจจะช่วยให้ไม่เป็นผู้ร้ายใจอำมหิตโหดเหี้ยมถึงขนาดฆ่าชีวิตหนึ่งได้และชีวิตนั้นคือชีวิตของตนเอง ถ้าเรารู้ว่าใครคนหนึ่งเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย และใครคนนั้นเข้ามาใกล้กับเรา เราจะรังเกียจหวาดกลัวใครคนนั้นสักเพียงไหน เมื่อใดจิตเศร้าหมองทุกข์ร้อนแสนสาหัส หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ขอให้คิดถึงความจริง ผู้ที่ฆ่าคนได้เป็นผู้ที่น่าเกียจน่าเกลียดกลัวที่สุดของคนทั้งหลาย ไม่ยกเว้นแม้แต่ตัวเราเอง แล้วควรหรือที่เราจะมาเป็นคนผู้นั้นเสียเอง แก้ไขด้วยวิธีอื่นเถิด มีมากมายหลายวิธีนัก แก้แล้วให้เกิดความสุขให้จริง ไม่ใช่แก้แล้วกลับต้องพบทุกข์ที่หนักยิ่งไปกว่าทุกข์ที่ตั้งใจหนี เพื่อหนีให้ได้ถึงกับยอมเป็นผู้ร้ายใจอำมหิตประหัตประหารผลาญชีวิตอันเป็นที่รักที่สุด คือชีวิตตนเอง วิธีรุนแรงร้ายกาจขนาดยอมเป็นฆาตกรร้ายนอกจากไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ดังมุ่งมั่น ยังจะพาไปพบทุกข์ที่หนักหนายิ่งกว่าหลายเท่าพันทวี ท่านแสดงไว้ว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายจะต้องฆ่าตัวตายไปอีก ๕๐๐ ชาติ นั่นก็คือจะต้องพบความทุกข์แสนสาหัสจนทนไม่ได้ ถึงต้องฆ่าตัวตายเช่นในชาติที่ทำแล้วนี้อีก ๕๐๐ ชาติ เป็นอย่างน้อยกระมัง ไม่ควรจะไม่เชื่อไม่ควรจะไม่กลัว เพราะแม้ต้องพบเข้าจริง ความทุกข์จะใหญ่ยิ่งจนทนไม่ได้ แน่นอน จะต้องทนทุกข์ทรมานจิตใจในการที่จะต้องหยิบอาวุธร้ายขึ้นเชือดเฉือนทำลายชีวิตตนเอง น่ากลัวนัก น่าตกใจนัก และเชื่อว่าทุกคนที่ฆ่าตัวตายมาแล้ว ก่อนจะทำกรรมอำมหิตโหดเหี้ยมนั้นจะกลัวแสนกลัว จิตใจจะทรมานเกินกว่าจะพรรณนาได้แน่นอนแล้วจะยอมให้พบชีวิตเช่นนั้นอีกถึง ๕๐๐ ครั้งทีเดียวหรือ ข้อสำคัญพอชีวิตหลุดจากร่างก็มิใช่ว่าจะสิ้นทุกข์ที่คิดหนี ไม่ใช่แน่นอน ทันทีที่ชีวิตหลุดออกจากร่างด้วยการกระทำจากจิตใจที่โหดเหี้ยมและเศร้าหมองแสนสาหัส จะต้องไปมีชีวิตใหม่ที่แสนทุกข์ อาจจะยิ่งไปกว่าที่หนีในชาตินี้ด้วยวิธีฆ่าตัวตาย ขอขอบคุณเนื้อหาดีดี โดย: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ลานธรรมจักร) หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 18, 2013, 06:01:22 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20131018175953_prasangkarath.jpg)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แถลงการณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 3 วันนี้ (17 ตุลาคม 2556) คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระอาการโดยรวมดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ทรงมีไข้ ความดันพระโลหิตและอัตราการเต้นของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผลการตรวจพระโลหิตพบว่า พระยกนะ (ตับ) ทำงานดีขึ้น ความผิดปกติของเม็ดพระโลหิตเริ่มดีขึ้น ผลการเพาะเชื้อในพระโลหิต ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด แผลผ่าตัดอยู่ในสภาพดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะและเริ่มถวายพระกระยาหารและพระโอสถทางหลอดพระโลหิตดำ อนึ่ง คณะแพทย์ฯ ได้ทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราช เสด็จจากหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) กลับมาประทับ ณ ห้องที่ประทับ ตึกวชิรญาณ–สามัคคีพยาบาร ตั้งแต่เมื่อวานนี้ จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 17 ตุลาคม พุทธศักราช 2556 (ภาพองค์สมเด็จพระสังฆราชกับสมเด็จย่า) หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 24, 2013, 02:58:47 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20131024145833_luangpu_fhun2.jpg)
ผู้ชนะนั้น มักเข้าใจว่า ตนเองเป็นผู้ได้แต่โดยที่แท้เป็นผู้เสีย คือเสียไมตรีจิตของอีกฝ่ายหนึ่งไปหมดสิ้น หรือจะเรียกว่าได้ก็คือได้เวร เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้และชนะจึงจะได้ความสงบสุข ทั้งนี้ก็ด้วยการไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้มีชนะกันขึ้น แต่เมื่อจะต้องให้มีเรื่องให้แพ้ฝ่ายหนึ่งชนะฝ่ายหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีใจหนักแน่นพอที่จะเผชิญได้ทุกอย่าง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพ : สมเด็จพระญาณสังวร ฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เข้ากราบนมัสการ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” และได้มีโอกาสฉันจังหันร่วมกัน ณ วัดถ้ำขาม บ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จากภาพต่างองค์ต่างแสดงความอ่อนน้อมซึ่งกันและกัน หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 25, 2013, 08:41:26 PM ประกาศ ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก
เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19.30 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 30 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณีทุกประการ สำนักพระราชวัง วันที่ 24 ตุลาคม 2556 หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 26, 2013, 04:15:44 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20131026161408_somdej_jareon.jpg)
เมื่อครั้งที่ท่านยังออกบิณฑบาตได้ เส้นทางการออกบิณฑบาตของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในแต่ละวันนั้นเป็นอย่างไร กล่าวคือไปในเส้นทางเดิมซ้ำกันทุกวันหรือไม่ คำตอบ : ไม่มีเส้นทางประจำ ไม่ซ้ำเส้นทาง แล้วแต่วันใดโปรดเสด็จไปเส้นไหนก็เสด็จ ส่วนมากบิณฑบาตแถวบริเวณรอบวัด แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดกรณีวิกฤตต้มยำกุ้ง ในช่วงนั้นเพื่อให้กำลังใจแก่พุทธศาสนิกชน พระองค์ได้เสด็จออกบิณฑบาตในย่านต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อโปรดชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพระองค์เสด็จโดยรถพระประเทียบไปยังสถานที่ที่กำหนดว่าจะเสด็จ แล้วก็เสด็จออกบิณฑบาตในย่านนั้นๆ จนทำให้พุทธศาสนิกชนในย่านนั้น เกิดความประหลาดใจและปลื้มใจที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาโปรดพุทธศาสนิกชนอย่างไม่คาดคิด เมื่อเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ทรงห่วงสามเณรหรือพระภิกษุรูปอื่นเสมอ ถ้ามีพระหรือสามเณรเดินบิณฑบาตตามหลังมา เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชจะทรงชะลอ และมีรับสั่งให้พระเณรเหล่านั้นเดินนำหน้าไปก่อน เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต พระองค์ก็มักจะนำอาหารบิณฑบาตที่พระองค์ได้รับมา ใส่บาตรสามเณรเป็นประจำ เพราะทรงเป็นห่วงว่าสามเณรอาจได้อาหารบิณฑบาตไม่เพียงพอ เมื่อเสวยพระองค์ก็โปรดให้จัดอาหารบิณฑบาตที่ทรงรับบิณฑบาตนั้นมาเสวยด้วยเป็นนิตย์ หนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช http://www.watbowon.com/ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 16, 2013, 01:36:37 PM "ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเกิดกับศีล
ทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศีลของผู้ใดบกพร่อง เมตตาของผู้นั้นก็บกพร่องด้วย บกพร่องทั้งเมตตาตนเอง และบกพร่องทั้งเมตตาผู้อื่น อันเมตตาตนเองกับเมตตาผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ การไม่เมตตาผู้อื่นก็เป็นการไม่เมตตาตนไปพร้อมกัน พึงคิดถึงสัจจะประการหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือ “ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” เมื่อเบียดเบียนเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น เมื่อไม่เมตตาเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 30, 2014, 07:07:58 PM พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวว่า ...
"อปฺปกญฺจิทํ ชีวิตมาหุ ธีรา ปราชญ์ กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก" . ทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงชีวิตนี้ .. คือมิได้มีเพียง ชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิต มีทั้ง ชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต " ชีวิตนี้น้อยนัก " หมายถึง " ชีวิตในชาติปัจจุบันนั้น น้อยนัก สั้นนัก " . ชีวิต คือ อายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคน อย่างยืนนานที่สุดก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไร ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบกับ ..ชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีต ที่นับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้ .. และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคต ที่ก็จะนับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้อีกเช่นกัน .. ที่ปราชญ์ท่านว่า " ชีวิตนี้น้อยนัก " นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบ ชีวิตนี้ กับ ชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และ ชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนให้พ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ . ทุกชีวิต ก่อนแต่จะได้มาเป็นคนเป็นสัตว์อยู่ในปัจจุบันชาติ .ต่างเป็นอะไรต่อมิอะไรมาแล้วมากมาย .. แยกออกไม่ได้ว่า .. มีกรรมดี กรรมชั่ว อะไรบ้าง .. ทำกรรมใดก่อน ทำกรรมใดหลัง ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว ที่ทำไว้ในชาติอดีตทั้งหลาย .. ย่อมมากมาย เกินกว่าที่ได้มากระทำในชาตินี้ในชีวิตนี้ อย่างประมาณมิได้ และ กรรมดีกรรมชั่ว ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ แม้ว่า .. ผลจะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจเรียงลำดับตามเหตุที่ได้กระทำแล้วก็ตาม .. แต่ผลทั้งหลายย่อมเกิดแน่ แม้เหตุได้กระทำแล้ว . เมื่อมีเหตุ . . . ย่อมมีผล เมื่อทําเหตุ . . ย่อมได้รับผล .และผล .. ย่อมตรงตามเหตุเสมอ .. ผู้ใดทํา .. ผู้นั้นจักเป็นผู้ได้รับผล .. เที่ยงแท้แน่นอน . พระนิพนธ์ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 30, 2014, 11:02:04 AM " .. ผู้ที่รักษาตนได้คือผู้ที่มีความดี
ที่กล่าวว่า รักษาตนได้นั้น พูดให้ยาวก็คือ มีความดีรักษาตนอยู่นั่นเอง ไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่น ไม่มีผู้ใดจะสามารถรักษาตนได้ ถ้าไม่มีความดี ไม่ได้ทำความดีอย่างพอเพียง ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม คือผู้ประพฤติดี ย่อมมีความดีรักษา ดังนั้น สิ่งที่ต้องการสำหรับทุกคน คือ "ความดี" .. " สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 07, 2014, 10:09:56 PM ทุกชีวิตมีเวลาจำกัด อย่างมากไม่เกิดร้อยปีก็จะต้องละร่างนี้
ละโลกนี้ไป อย่าผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำความดี เพราะถ้าสายเกินไปเมื่อไร ก็ตนเองนั่นแหละจะต้องได้เสวยผล ของการไม่กระทำกรรมดี ไม่มีผู้ใดอื่นจะรับผล ของความดีความชั่วที่ตนเองทำไว้ เจ้าตัวเองเท่านั้น จักเป็นผู้รับผลของความดี ความชั่วที่ตนทำ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 07, 2014, 10:11:43 PM (http://kammatan.com/gallary/images/20141007221115_phayannasangworn.jpg)
จิตที่ความใสสะอาดบริสุทธิ์ประภัสสร ไม่อาจปรากฏได้เลยคือจิตของผู้ที่ยัง เกลือกใกล้กิเลสมากหลาย กิเลสยังมา ปกคลุมหุ้มห่อจิตอยู่หนาแน่นมาก มากทั้งโลภะ มากทั้งโทสะ มากทั้งโมหะ ผู้มีจิตเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน นานาประการทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น จิตเช่นนั้นจึงเป็นที่น่ารังเกียจ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2014, 10:03:19 PM ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์
"พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เกิดสติขึ้นว่า ความทุกข์นี้มีเพราะความรัก มีรักมากก็เป็นทุกข์มาก มีรักน้อยก็เป็นทุกข์น้อย จนถึงไม่มีรักเลย จึงไม่ต้องเป็นทุกข์เลย แต่ตามวิสัยโลกจะต้องมีความรัก มีบุคคลและสิ่งที่รัก ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีสติควบคุมใจ มิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ แต่ให้สติมีอำนาจควบคุมความรัก ให้ดำเนินในทางที่ถูกและให้มีความรู้เท่าทันว่า จะต้องพลัดพรากรักสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อถึงคราวเช่นนั้นจักได้ระงับใจลงได้" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2014, 10:04:03 PM (http://kammatan.com/gallary/images/20141010220307_king.jpg)
"อย่าไปมุ่งเพ่งเล็งแก้กิเลสของผู้อื่น แม้ปรารถนาเป็นผู้พ้นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสเพราะการเพ่งเล็งแก้กิเลสผู้อื่นนั้น นอกจากจะไม่ทำให้กิเลสของตนเบาบางห่างไกลออกไป ยังจะเพิ่มกิเลสของตนให้มากขึ้น กิเลสของใครคนใด ใครคนนั้นต้องแก้ ไม่ใช่คนอื่นจะไปแก้ให้ได้ สมเด็จพระบรมครูยังทรงมีพระพุทธดำรัสไว้ว่าทรงเป็นผู้ชี้ทางให้ ผู้ปรารถนาแห่งจุดหมายปลายทางต้องปฏิบัติดำเนินไปด้วยตัวเอง" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2014, 10:05:58 PM (http://kammatan.com/gallary/images/20141010220517_somdejyan.jpg)
"ความคิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ และความคิดก็เป็นเหตุแห่งความสุขได้ พึงรอบคอบในการใช้ความคิด คิดให้ดี คิดให้งาม คิดให้ถูก คิดให้ชอบ แล้วชีวิตในชาตินี้ก็จะงดงาม สืบเนื่องไปถึงภพชาติใหม่ได้ด้วย" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2014, 10:14:47 PM " มาร แปลว่า ผู้ฆ่า ผู้ทำลายล้าง
มารข้างนอก คือผู้มุ่งทำลายล้างข้างนอก มารข้างใน คือกิเลสในใจของตนเอง เป็นต้นว่าความรัก ความชัง ความหลง ซึ่งบังใจเราไม่ให้เกิดปัญญาในเหตุผล เมื่อชนะมารในใจของตนได้แล้ว มารข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้ " สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 11, 2014, 09:00:20 AM " ความดิ้นรนเพื่อให้ได้สมดังความปรารถนาต้องการ มิใช่ความสุข มิใช่ความสงบ
แต่เป็นความทุกข์ เป็นความร้อน เป็นความวุ่นวาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ทั้งชีวิตไม่ได้พบความสุข ความสงบเลย เพราะมัวปล่อยใจให้เป็นทาสของความโลภ ไม่รู้จักทำสติ พิจารณาให้เห็นโทษของความโลภ แล้วพยายามละมันเสีย ดับเสีย" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 16, 2015, 03:05:47 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150616150640_somdetpasangkalat2_king.jpg)
"... แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไป จนหาไม่พบว่า เนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านไปอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมา เป็นตัวของท่านแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อความจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลาย ไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมี ที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า ..." สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 14, 2015, 11:08:39 PM (http://kammatan.com/gallary/images/20151214230636_somdet_jaroen2.jpg)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ทรงฉันจังหันร่วมกับพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้แก่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ,พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ (http://kammatan.com/gallary/images/20151214225858_ajanh_cha_somdet_jaroen.jpg) หลวงพ่อชา สุภทฺโท กำลังนำทาง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ไปยังวัดถ้ำแสงเพชร ต.หนองมะแซว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ (http://kammatan.com/gallary/images/20151214230120_somdej2.jpg) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จมาทรงกราบนมัสการ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2533 ณ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ชมภาพหายากเพิ่มเติมได้ที่นี่ => http://kammatan.com/gallary/index.php?x=browse&category=12 (http://kammatan.com/gallary/index.php?x=browse&category=12) ขอบพระคุณรูปจากเว็บ : Facebook วัดป่า ครับผม หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 19, 2015, 01:02:42 AM (http://kammatan.com/gallary/images/20151219010205_king2.jpg)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงนมัสการ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 19, 2015, 01:03:31 AM (http://kammatan.com/gallary/images/20151219010149_king.jpg)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงนมัสการ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ท ร ง พ ร ะ เ จ ริ ญ ยิ่ ง ยื น น า น ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดกาล ตลอดไป เป็นมิ่งขวัญให้ปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ (เครดิตภาพ คาเธ่ย์ หมี) หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 17, 2016, 08:53:02 AM ผู้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาเป็นผู้มีบุญอย่างยิ่ง
แต่ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา คือปฏิบัติให้จริงตามที่สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน เป็นผู้มีบุญสูงสุด พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ประเสริฐสุด ไม่มีที่เปรียบได้ เพราะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะพาไปให้รู้จักพลังพิเศษ คือความคิดที่สามารถทำลายความทุกข์ได้ ตั้งแต่ทุกข์น้อยจนถึงทุกข์ทั้งปวง จนถึงเป็นผู้ไกลทุกข์สิ้นเชิง ไม่มีเวลากลับมาให้เป็นทุกข์อีกเลย ตลอดไป. จะทุกข์หรือไม่ทุกข์อยู่ที่ความคิดของตนเอง นี้เป็นสัจจะคือความจริงแท้ ไม่ว่าผู้ใดจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อก็ตาม ก็เป็นความจริง ผู้ใดจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ อยู่ที่ความคิดของผู้นั้น. ไม่มีผู้ใดที่ไม่ปรารถนาความไม่มีทุกข์ ทุกคนล้วนปรารถนาความไม่มีทุกข์ แต่ไม่ทุกคนที่ยอมรับความจริง ว่าการที่หนีความทุกข์ไม่พ้นนั้น เป็นเพราะคิดไม่เป็น ถ้าคิดให้เป็นจะไม่มีความทุกข์ใดกล้ำกลายได้เลย เพราะความคิดนั่นแหละ คือกำลังสำคัญ ที่สามารถทำให้ทุกข์ไม่เกิดได้. แสงส่องใจ อันดับ ๑๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระชนมายุ ๑๐๐ พรรษา ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ _/|\_ _/|\_ _/|\_ |