หัวข้อ: พระอุทยเถระ เริ่มหัวข้อโดย: samarn ที่ พฤศจิกายน 06, 2008, 03:39:25 PM ท่านพระอุทยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฏิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย อุทยมาณพเป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ
อุทยมาณพได้ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบสามว่า อุทยะ : ขอพระองค์จงแสดงธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา คือ ความเขลา ความไม่รู้แจ้งเสีย ? พระบรมศาสดา : เราเรียกธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสเสียทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเป็นเครื่องห้ามความรำคาญ มีอุเบกขากับสติเป็นธรรมบริสุทธิ์ มีความตรึกในธรรมเป็นเบื้องหน้าว่า ธรรมเป็นเครื่องพ้น (จากกิเลส) ที่ควรรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา ความเขลา ไม่รู้แจ้งเสีย อุทยะ : โลกมีอะไรผูกพันไว้ อะไรเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่าน กล่าวว่า นิพพาน ๆ ดังนี้ เพราะละอะไรได้ ? พระบรมศาสดา : โลกมีความเพลิดเพลินผูกพันไว้ ความตรึกเป็นเครื่องสัญจรของโลกนั้น ท่านกล่าว่า นิพพาน ๆ ดังนี้ เพราะละตัณหาเสียได้ อุทยะ : เมื่อบุคคลมีสติระลึกอย่างไรอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าแล้ว เพื่อจะทูลถามพระองค์ ขอให้ได้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด ? พระบรมศาสดา : พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนาทั้งภายในภายนอก มีสติระลึกอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงจะดับ ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาที่อุทยมาณพทูลถาม อย่างนี้แล้ว ในเวลาจบเทศนาปัญหาพยากรณ์ อุทยมาณพได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว อุทยมาณพพร้อมด้วยมาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ททรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอุทยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน |