หัวข้อ: พระพุทธองค์ ทรงเทศน์สอนนางยักษ์กาลี เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 18, 2013, 06:20:30 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20080827115433_normal_phrabud-002.jpg)
วันหนึ่งที่หน้าประตูทางเข้าวัดเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี เกิดความโกลาหลใหญ่ มีสตรีนางหนึ่งอุ้มลูกน้อยวิ่งผ่านเข้าซุ้มประตูวัดมา ทันใดนั้นก็มีนางยักษิณีมีนามว่า "กาลี" มีใบหน้าขมึงทึง แยกเขี้ยวดุร้าย มีอารมณ์โกรธเกรี้ยว หวังจะวิ่งตามสตรีนางนั้นเข้าไปในอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอดีเทพทวารบาล "ท่านสุมนเทพ" เทวดาประจำประตูวัดเชตวันมหาวิหาร ได้ยืนสะกัดกั้นนางยักษิณีไว้ นางยักษ์กาลีจึงได้ใช้ฤทธิ์แปลงร่างเป็นสัตว์ร้ายต่างๆนานา เช่นช้างพรายตกมัน และอสรพิษหวังจะข้ามพ้นธรณีประตูไป ท่านสุมนเทพใช้อำนาจเทวฤทธิ์ห้ามปรามนางยักษิณีนั้น มิให้ข้ามเขตเข้าไปในอาณาเขตสงฆ์ได้ จนเกิดการทะเลาะตะโกนขู่อาฆาตเสียงเอะอะลั่นอยู่ที่หน้าประตูวัดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์พุทธปัฏฐาก ไปตามยักษิณีเข้ามาที่ธรรมสภา.... เมื่อนางยักษ์กาลี มาถึงบริเวณธรรมสภา นั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์องค์พระบรมศาสดา กุลธิดาผู้อุ้มบุตรน้อยอยู่นั้น เกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน พระพุทธองค์จึงตรัสกับสตรีทั้งสองนางว่า "อย่ากลัวไปเลยกุลธิดา หากเธอทั้งสองไม่ได้เราตถาคต เธอทั้งสองก็จักจองเวร ผูกอาฆาต ซึ่งกันและกันตราบนี้ไปอีกกัปป์" จากนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสแสดงธรรมระลึกอดีตชาติแต่หนหลังของสตรีทั้งสองถึงเหตุการผูกเวรผูกภัยซึ่งกันและกันของทั้งสองนาง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์บริเวณธรรมสภานั่นเอง เรื่องมีดังนี้... ในสมัยหนึ่งที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้ว ก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้วก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า.."ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา" นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง ๒ ครั้ง พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว ทารกกลับนอนขวาง ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง ๓ ครั้ง จึงโกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่ พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง ๓ ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี แม่เสือไปเกิดเป็น หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีชื่อกาลี ก็ปลอมแปลงตัวเป็นหญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง พอครั้งที่ ๓ หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวันมหาวิหาร เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า" นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย พระบรมศาสดาตรัสปลอบว่า.. "อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ พระพุทธองค์ตรัสกับนางยักษ์ว่า... "ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไรเจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า" พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน ผู้มีศีล ๕ อันบริบูรณ์ องค์พระบรมศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งบุตรน้อยให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า "ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทางก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้ บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร.." พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน , ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้ คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้ หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์ เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา "เวรที่ผูกอาฆาตซึ่งกันและกัน ย่อมแผดเผาให้เร่าร้อนทั้งสองฝ่าย ดั่งถูกจองจำให้เกิดห้วงแห่งกองทุกข์ข้ามภพข้ามชาติ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร "การจองเวร ไม่สำคัญว่าใครเป็นผู้ผูกเวรก่อน ไม่สำคัญว่าใครทำกรรมก่อน แต่สำคัญที่ว่าใครละเวรละกรรมก่อน ใครคลายปมก่อน ใครวางก่อนก็ย่อมเบาก่อน" เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศลเมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า... "ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลสั้นนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ.." คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง ดังพรรณนามาฉะนี้ สัพเพ สัตตา: สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น อะเวรา โหนตุ: จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย อัพยาปัชฌา โหนตุ: จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย อะนีฆา โหนตุ: จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ: จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้น จากทุกข์ภัย ทั้งสิ้นเถิด ข้อมูลจากคุณเอ@ท่องถิ่นธรรมพระกรรมฐาน ครับผม |