KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มกราคม 15, 2014, 04:57:15 PM



หัวข้อ: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 15, 2014, 04:57:15 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20140115165606_good2.jpg)

“..อสาเร สารมติโน สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา

สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา

บุคคลใดเห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้นมีความดำริผิดประจำใจ ย่อมไม่อาจพบสาระได้
ส่วนบุคคลใดเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งอันไม่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ..”

หากจะตั้งปัญหาถามก่อนว่า อะไรคือทางให้พบสาระ?
ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก
อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ
ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น

บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิประจำใจจึงเหมือนมีกุญแจไขเข้าไปในห้วงอันเต็มไปด้วยสาระ
ส่วนคนมีมิจฉาทิฏฐิประจำใจ หาเป็นเช่นนั้นไม่
มีแต่จะเดินเข้ารกเข้าพง นำชีวิตไปสู่ความล่มจมล้มเหลว

เปรียบด้วยเรือ สัมมาทิฏฐิก็เป็นหางเสือให้เรือแล่นไปในทางอันถูกต้อง
หลีกหินโสโครกและอันตรายต่างๆ

คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก
และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก
และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

หากจะตั้งปัญหาถามว่า อะไรคือทางให้พบสาระ?
ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก
อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ
ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น
คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน
ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

คัดลอกจากหนังสือ “ทางแห่งความดี” โดย อาจารย์วศิน อินทสระ

เมื่อโลกร้อนรุ่มด้วย ไฟเกลศ
พระจะเป็นธารวิเศษ ดับร้อน
เมื่อโลกมืดมนเหตุ ผลดับ สูญแฮ
พระจะเป็นประทีปต้อน โลกให้เห็นธรรม ฯ

เมื่อโลกจมอรรณพห้วง โศกศัลย์ สึงฤา
พระจะเป็นสำเภาอัน ประเสริฐแท้
ขนสัตว์จากสมุทรผัน สู่เขต เกษมแฮ
พระจุติมาหมายแก้ ดับร้อน ผ่อนเย็น ฯ

เมื่อโลกถูกมัดด้วย อวิชชา
พระจะแก้พันธนา ปลดเปลื้อง
เมื่อโลกประสบชรา พยาธิ เบียนแฮ
พระจะดับชาติเยื้อง ยักให้สูญสลาย ฯ

กวีนิพนธ์ สกลพุทธปริวรรต : อาจารย์วงศ์ เชาวนะกวี

ภาพวาดประกอบจากศิลปินแห่งชาติ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ขออนุญาต และ ขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 19, 2014, 10:51:31 AM
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมดาว่าไม้จันทน์ แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น
อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา
อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน
บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 19, 2014, 10:55:08 AM
ชนพาลกล่าววาจาหยาบคาย ย่อมเข้าใจว่าตนเองชนะ แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้ง

ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น

ตถาคต


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:21:09 PM
ควรปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร


พระอานนท์ทรงกล่าวถาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมาก
เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ
เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง
เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง
ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?”

“อานนท์
การที่ภิกษุจะไม่ดูแลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี”
“ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็นเล่าพระเจ้าข้า”
พระอานนท์ทูลซัก
“ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย
อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี” พระศาสดาตรัสตอบ

“ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร?”
“ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า
ก็จงมีสติไว้ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์
และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี
หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้

อานนท์ เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น
เป็นมลทินของพรหมจรรย์”

“แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า
จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่?”

“ไม่เป็นซิ อานนท์ เธอระลึกได้อยู่หรือ
เราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร
สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม
แต่ความกำหนัดที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่า
เป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว
สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ
ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป”

พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง
พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย
ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองทบทวนพระพุทธวจนะ
ที่ตรัสจบลงสักครู่นี้

จริงทีเดียว การไม่ยอมดูไม่ยอมแลสตรีเสียเลยนั้น
เป็นการดีมาก แต่ใครเล่าจะทำได้อย่างนั้น
ผู้ใดมีใจไม่หวั่นไหวด้วยความเบ่งบานของดอกไม้งาม
ดนตรี และอาการเยื้องกายแห่งสตรีสาว
ผู้นั้นถ้ามิใช่นักพรตก็เป็นสัตว์ดิรัจฉาน

แต่ดูเหมือนผู้เป็นนักพรตทั้งกายและใจนั้น
มีน้อยเหลือเกิน เมื่อมีเรื่องจำเป็นต้องดูต้องแล
เรื่องติดต่อเกี่ยวข้องจึงเกิดขึ้น
การติดต่อเกี่ยวข้องและคลุกคลีด้วยสตรีเพศนั้น
ใครเล่าจะหักห้ามใจมิให้หวั่นไหวไปตามความอ่อนช้อย
นิ่มนวล และอ่อนหวานของเธอ

มีคำกล่าวไว้มิใช่หรือว่า
“ความงามนั้นเป็นอำนาจที่คุกคามจิตใจ
ของปุถุชนให้แพ้ราบ และการยิ้มนั้นคือคมดาบของเธอ
เมื่อใดพบความงาม ถ้าความงามนั้นยังไม่ยิ้ม
ก็ยังมีทางจะรอดพ้นไปได้

แต่เมื่อความงามนั้นยิ้มออกมา
ย่อมหมายถึงเธอส่งคมดาบออกมาแล้ว”
และยังมีคำกล่าวอีกว่า “เมื่อสตรีงามยิ้มย่อง
หมายถึงถุงเงินของผู้ชายร้องไห้”

ทำไมนะสัตว์โลกจึงหลงใหล
ในรูป เสียง กลิ่น รส เสียจริงๆ

สตรีที่พราวเสน่ห์แต่ไร้มโนธรรม จิตใจสกปรก
จึงเป็นเพชฌฆาตมือนุ่มซึ่งมีรอยยิ้มและกิริยา
ที่ยียวนเป็นคมดาบ มีน้ำตาเป็นหลุมพราง
สำหรับให้ชายตกลงไปในหลุมน้ำตานั้น

ปราชญ์ผู้ทรงวิทยาคุณกว้างขวางลึกซึ้ง
สามารถหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร
เหมือนมองเศษกระดาษบนฝ่ามือ
แต่ปราชญ์เช่นนั้นจะกล่าวอวดอ้างได้ละหรือ
ว่าตนสามารถหยั่งรู้ความลึกล้ำในหัวใจของสตรี

อย่ามัวกล่าวอะไรให้มากเลย
ธรรมชาติของเธอเป็นอย่างนั้นเอง
มหาสมุทรเต็มไปด้วยภัยอันตราย
แต่มหาสมุทรก็มีคุณแก่โลกอยู่มิใช่น้อย

การค้นหาความจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ
แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องต่างหากเล่า
เป็นทางดำเนินของผู้มีปัญญา


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:32:49 PM
จะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธสรีระอย่างไร”

ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง
แล้วพระอานนท์ก็ทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว
จะปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธสรีระอย่างไร”

“อย่าเลย อานนท์” พระศาสดาทรงห้าม
“เธออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอ
คือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียร
เผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด

สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์
ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี
เป็นจำนวนมาก ที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย
เขาคงทำกันเองเรียบร้อย”

“พระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูล
“เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่
แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกอย่างไร”

“อานนท์ ชนทั้งหลายเมื่อจะปฏิบัติต่อ
พระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร
ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด”

“ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า”
“อานนท์ คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่ง
พระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยลำสี
แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่
หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วนำวางในรางเหล็ก
ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน

แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา
แล้วทำจิตกาธานด้วยไม้หอมนานาชนิด
แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุ
แห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้นไปบรรจุสถูป
ซึ่งสร้างไว้ ณ ทางสี่แพร่ง

ในสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุข
แก่เขาตลอดกาลนาน”

และแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล
คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในพระสถูป
เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของมหาชนไว้ ๔ จำพวก
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
พระอรหันตสาวก

โปรดติดตาม พระอานนท์ พุทธอนุชา ตอนต่อไป


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:35:27 PM
ผู้ไม่หวังดีต่อเราย่อมปรารถนาสิ่งต่อไปนี้ต่อเราคือ

๑. ขอให้มีผิวพรรณเศร้าหมอง อย่าให้มีผิวพรรณดี
๒. ขอให้อยู่เป็นทุกข์ อย่าให้อยู่เป็นสุขเลย
๓. ขออย่าให้มีความเจริญรุ่งเรืองเลย ขอให้มีแต่ความเสื่อม
๔. ขออย่าให้มีโภคทรัพย์เลย
๕. ขออย่ามียศเลย
๖. ขออย่ามีเพื่อนเลย
๗. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอให้ไปสู่ทุคติ อย่าได้ไปดี

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความปรารถนาของผู้เป็นศัตรู
ผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ อันผู้มักโกรธได้ทำแล้วแก่ตนเอง
เท่ากับทำตนให้เป็นศัตรูของตน
เป็นศัตรูที่เกิดขึ้นภายในตนแล้วทำลายตนเอง


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:37:50 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20140208123643_buddha.jpg)

อานนท์ สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่

ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะ
ผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์ เมื่อเรานิพพานแล้ว อาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ
ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน
หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจไปเอง
ว่าเพราะเสวยสูกรมัทวะอันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน

ดูก่อนอานนท์ บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก
มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ
เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง
และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้

ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้ว
ตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลสนิพพาน
คือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่
ถ้าใครจะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้
แล้วถ้าจุนทะจะถึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบ
ให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้
อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า
มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ
และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร
เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา
เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน
คืออุทยานซึ่งสะพรึบพรั่งด้วยต้นสาละ

รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทม
ระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน
ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร

ครั้งนั้น มีบุคคลเป็นอันมากจากทิศต่างๆ
เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล
แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา
สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว
จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

“อานนท์ พุทธบริษัททั้งสี่
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทำสักการบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลาย
อันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียนเป็นต้น
หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่

อานนท์เอยผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง
ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแล ชื่อว่าสักการะบูชาเรา
ด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม

พระอานนท์ทูลว่า
“พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว
ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศ
เพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์
บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว
ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด?”

“อานนท์ สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่
คือสถานที่ที่เราประสูติแล้ว คือลุมพินีวันสถาน
สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก
คืออิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี
สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
บรรลุความรู้อันประเสริฐ ทำกิเลสให้สิ้นไป
คือโพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้
คือป่าไม้สลาะ ณ นครกุสินารา

อานนท์เอย สถานที่ทั้งสี่แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน
สาราณียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเรา
และเดินตามรอยบาทแห่งเรา”

โปรดติดตามอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา ตอนต่อไป



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB อาจารย์วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2014, 01:41:43 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20150224173922_img_4133.jpg)

“อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย
ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง
ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น
แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป

เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

อานนท์เอย ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน
เมื่ออุบัติมาอยู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี
เมื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้ว
ในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร
เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก
ได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ
เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา
เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน

“อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองน้อย
แต่ในโบราณกาลกุสินาราเคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว
เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดินามว่ามหาสุทัสสนะ
นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์ มั่งคั่ง
มีคนมาก มีมนุษย์นิกรเกลื่อนกล่น พรั่งพร้อมด้วยธัญญาหาร
มีรมณียสถานที่บันเทิงจิต ประดุจดังราชธานีแห่งทิพยนคร

กุสาวดีราชธานีนั้น กึกก้องนฤนาททั้งกลางวันและกลางคืน
ด้วยเสียง ๑๐ ประการ คือเสียงคชสาร เสียงภาชี
เสียงเภรีและรถ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง
เสียงกังสดาล เสียงสังข์ รวมทั้งสำเนียงประชาชน
เรียกกันบริโภคอาหารด้วยความสำราญเบิกบานจิต

พระเจ้ามหาสุทัสสนะองค์จักรพรรดิเล่า
ก็ทรงเป็นอิสราธิบดีในปฐพีมณฑล
ทรงชำนะปัจจามิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และศัสตรา
ชนบทสงบราบคาบปราศจากโจรผู้ร้าย

มารดายังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอกด้วยความเพลิดเพลิน
ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ร่มเย็น
สมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชอย่างแท้จริง

“อีกอย่างหนึ่ง อานนท์เอย เมื่อมองมาทางธรรม
เพื่อให้เกิดสังเวชสลดจิต ก็พอคิดได้ว่า
สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มุ่งไปสู่จุดสลายตัว

อานนท์จงดูเถิด พระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัสสนะ
ก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เมื่อกุสาวดีก็เปลี่ยนมาเป็น
กุสินาราแล้ว ประชาชนชาวกุสาวดีก็ตายกันไปหมดแล้ว

นี่แล ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน
ตถาคตเองก็จะนิพพานในไม่ช้านี้”

แล้วพระศาสดก็รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพาน
แก่มัลลกษัตริย์ ว่าพระตถาคตเจ้าจักปรินิพพาน
ในยามสุดท้ายแห่งราตรี

เมื่อมัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินารา
สดับข่าวนี้ ต่างก็ทรงกำสรดโศกาดูร ทุกข์โทมนัสทับทวี
สยายพระเกศา ยกพระพาหาทั้งสองขึ้นแล้วคร่ำครวญ
ล้มกลิ้งเกลือก ประหนึ่งบุคคลที่เท้าขาด ร่ำไรรำพัน
ถึงพระโลกนาถว่า “พระโลกนาถด่วนปรินิพพานนัก
ดวงตาของโลกดับลงแล้ว ประดุจสุริยาซึ่งให้แสงสว่างดับวูบลง”

ด้วยอาการโศกาดูรดั่งนี้ มัลลกษัตริย์ตามพระอานนท์
ไปเฝ้าพระศาสดา ณ สาลวโนทยาน
พระอานนท์จัดให้เข้าเฝ้าเป็นตระกูลๆไป แล้วกลับสู่สัณฐาคาร

คืนนั้นมัลลกษัตริย์ประชุมกันอยู่จนสว่าง มิได้บรรทมเลย

โปรดติดตาม พระอานนท์ พุทธอนุชา ตอนต่อไป


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 11, 2014, 08:12:36 PM
“วิเวกนั้นมี ๓ คือ
กายวิเวก=สงัดกาย ๑
จิตตวิเวก = สงัดจิต ๑
อุปธิวิเวก = สงัดกิเลส ๑

“การอยู่โดดเดี่ยว เว้นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ชื่อว่า กายวิเวก สมาบัติ ๘ ชื่อว่า จิตตวิเวก
พระนิพพาน ชื่อว่า อุปธิวิเวก

กายวิเวกบรรเทาความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
จิตตวิเวกบรรเทาความหมักหมม ด้วยกิเลส
อุปธิวิเวกบรรเทาความเกี่ยวข้องด้วยสังขาร
กายวิเวกเป็นปัจจัยแห่งจิตตวิเวก
จิตตวิเวกเป็นปัจจัยแห่งอุปธิวิเวก
สมจริงดังที่พระสารีบุตรกล่าวว่า

“กายวิเวกของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว
ย่อมยินดียิ่งในการบวช จิตตวิเวกของผู้มีจิตบริสุทธิ์
ย่อมถึงความผ่องแผ้วเป็นอย่างยิ่ง
และอุปธิวิเวกของบุคคลผู้ไม่มีอุปธิย่อมถึงพระนิพพาน”

ภิกษุพึงยินดีพอใจพอกพูนวิเวกทั้ง ๓ นี้”


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 11, 2014, 08:13:33 PM
กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมด้วยตัวมันเอง
(กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา)
คือ กาลเวลาล่วงไป นำเอาชีวิตสัตว์ใกล้ความตายเข้าไปด้วย

แต่ผู้สิ้นกิเลสแล้วไม่ถูกกาลกิน แต่กลับเป็นผู้กินกาล
ดังวจนะว่า ส ภูตปจนึ ปจิ ผู้ใดเผาตัณหาซึ่งเผาสัตว์
ผู้นั้นเป็นผู้กินกาล เป็นผู้ตายก่อนตาย (วีตตณฺโห ปุราเภทา)

คือปราศจากตัณหาก่อนสิ้นชีวิต
เป็นผู้พ้นจากทุกข์และมีความสุขอันสมบูรณ์
เพราะท่านได้เผาตัณหาอันเผาสัตว์ได้แล้ว
(ส ภูตปจนึ ปจิ)


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2014, 09:26:41 AM
“..ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพร่องหรือความเต็มเอ่อ ย่อมไม่ปรากฏแก่มหาสมุทร แม้พระอาทิตย์จะแผดเผาสักเท่าใด

น้ำในมหาสมุทรก็หาเหือดแห้งไปไม่ แม้แม่น้ำสายต่าง ๆ และฝนจะหลั่งลงสู่มหาสมุทรสักเท่าใด มหาสมุทรก็ไม่เต็มฉันใด

ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น แม้จะมีภิกษุเป็นอันมากนิพพานไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

แต่นิพพานธาตุก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่พร่องไม่เต็มเลย แม้จะมีผู้เข้าถึงนิพพานอีกสักเท่าใด นิพพานก็คงมีให้ผู้นั้นอยู่เสมอ ไม่ขาดแคลนหรือคับแคบ..”


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2014, 09:32:48 AM
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ! ตราบใดที่ พวกเธอ ไม่หมกมุ่น กับการงานมาก เกินไป
 ไม่พอใจด้วย การคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจใน การนอนมาก เกินควร ไม่ยินดีใน
การคลุกคลี ด้วย หมู่คณะ ไม่เป็นผู้ ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ ใต้อำนาจแห่งความ
ปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุด ความเพียร พยายาม เพื่อบรรลุ คุณธรรม
ขั้นสูงขึ้น ไปแล้ว ตราบนั้นพวกเธอ จะไม่มี ความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญ โดยส่วนเดียว"


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 03, 2014, 11:00:56 PM
ดูกรอานนท์

บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน จงยังอสุภกรรมฐานในตนให้เห็นแจ้งชัดเถิด
ครั้งไม่เห็นก็ให้พิจารณาปฏิกูลสัญญาลงในตนว่า แม้ตัวของเรานี้ถึงยังมีชีวิตอยู่
ก็เป็นของน่าพึงเกลียดพึงเบื่อหน่ายยิ่งนัก ถ้าหากว่าไม่มีหนังหุ้มห่อไว้แล้ว
ก็จะเป็นของน่าเกลียดเหมือนอสุภะแท้ เพราะมีหนังหุ้มห่อไว้จึงพอดูได้

อันที่แท้ตัวตนแห่งเรานี้ จะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยลมอัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น
ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว ตัวตนนี้ก็จะเน่าเปื่อยผุพังไป
แต่นั้นก็จะเป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลายมีหนอนเป็นต้น จะมาเจาะไชกิน

ส่วนลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นเจ้าชีวิตนั้นเล่า ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ของของตัว
เขาอยากอยู่เขาก็อยู่ เขาอยากดับเขาก็ดับ เราจะบังคับบัญชาไม่ได้ ตามปรารถนา

ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว ความสวยความงามในตน และความสวยความงามภายนอก
คือ บุตรภรรยาและข้าวของเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวง ก็ย่อมหายไปสิ้นด้วยกันทั้งนั้น
เหลียวซ้ายแลขวาจะได้เห็น บุตรภรรยาและหลานก็หามิได้ ต้องอยู่คนเดียวในป่าช้า หาผู้ใดจะเป็นเพื่อนสองมิได้

พุทธพจน์
คิรินมานนทสูตร


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 04, 2014, 11:54:31 PM
จากวันนั้น...ถึงวันนี้

ในที่สุด แม้พระพุทธองค์เอง
ก็ต้องประสบอวสานเหมือนคนทั้งหลาย

พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนมชีพว่า
สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น
เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้น แม้แต่พระองค์เอง

ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา ที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น
ทรงลำบากตรากตรำอย่างยิ่งยวด ทรงเสวยเพียงวันละมื้อ
เพียงเพื่อให้มีพระชนม์อยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก
พระอัครสาวกทั้งสองได้ปรินิพพานไปก่อนแล้ว

นิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสดามหาวีระ
คู่แข่งผู้ยิ่งใหญ่ในการประกาศศาสนา ก็ได้สิ้นชีพไปแล้ว
อุบาสกผู้เสียสละอย่างยิ่ง เช่น อนาถปิณฑิกคฤหบดี
ก็ละทิ้งสังขารของตน จากไปก่อนแล้ว

ทั้งผู้เป็นมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์
ต่างก็ทยอยกันเข้าไปสู่ปากแห่งมรณะกันตามลำดับๆ
แม้พระองค์จะต้องนิพพานไป

แต่ศาสนายังอยู่
พระธรรมคำสอนของพระองค์
ยังคงอยู่เป็นประทีปส่องโลกต่อไป

จำนวนผู้เคารพเลื่อมใสในศาสนธรรมของพระองค์
ได้เพิ่มพูนเอ่อสูงเหมือนน้ำที่บ่าสูงขึ้นโดยไม่มีเวลาลด
รากแก้วแห่งพระพุทธศาสนา
ได้หยั่งลงแล้วอย่างแท้จริงในจิตใจของมนุษยชาติ

นึกย้อนหลังไปเมื่อ ๔๕ ปีก่อนปรินิพพาน
พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไป
แล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย

ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น
แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้น
พร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ

พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน
ต้องเสด็จจากโพธิมณฑลไปพาราณสี
ด้วยพระบาทเปล่าถึง ๑๐ วัน
เพียงเพื่อหาเพื่อนผู้จะรับคำแนะนำของพระองค์สัก ๕ คน

ต่อมาบัดนี้ พระองค์มีภิกษุสงฆ์สาวก
เป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมาก
เดินทางจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์
เพราะคนทั้งหลายรู้สึกว่าการได้เห็นพระพุทธเจ้านั้น
เป็นความสุขอย่างยิ่งของเขา

เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่ง
ที่นายโสตถิยะนำมาถวาย
และทรงทำเป็นที่รองประทับ

มาบัดนี้ มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงาม
ซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์
เช่น เชตวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวัน
ปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ

เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจอง
เพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา

แน่นอนทีเดียว หากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
คงจะไม่ได้รับความนิยมเลื่อมใสถึงขนาดนี้
และไม่ยืนนานถึงปานนี้

โปรดติดตาม พระอานนท์ พุทธอนุชา
วรรณกรรมธรรมของชาวไทย
ที่โลกยกย่องเป็นวรรณกรรมของโลกตอนต่อไป


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 07, 2014, 09:12:08 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20150224173951_img_4141.jpg)

อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
ในความหมายธรรมดา คือ พระธรรมทันสมัยอยู่เสมอ
ไม่ล้าสมัย ลองเอามากางดูก็ได้ ว่ามีธรรมข้อไหน
หมวดไหนที่ล้าสมัยไปแล้ว เวลานี้ใช้ไม่ได้

พระวินัยมีบางที่ล้าสมัยไปแล้ว
เพราะพระวินัยเป็นข้อบัญญัติสำหรับหมู่ สำหรับคณะ
สำหรับภิกษุ สำหรับภิกษุณีในสมัยนั้น
กาลสมัยล่วงมาก็ล้าสมัยไปบ้าง

แต่พระธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ในโลก
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ นำมาแสดงชี้แจงเปิดเผย
จำแนกธรรมให้ตื้น พระตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม
สิ่งนั้นก็ยังคงเป็นอย่างนั้น พระตถาคตเพียงได้รู้ได้เห็น
แล้วก็นำมาแสดง นำมาบอก นำมาเปิดเผย
นำมาทำให้ตื้นเท่านั้น ไม่ล้าสมัย
ไม่ว่าจะเอาธรรมข้อไหนมาดู


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 07, 2014, 09:33:03 PM
เราตถาคตอนุญาตตั้งศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้นี้ ก็เพื่อว่าเมื่อผู้รู้แล้วว่าสิ่งใดเป็นโทษให้ละเสีย มิใช่ตั้งไว้เพื่ออ่านเล่น ฟังเล่น พูดเล่น เท่านั้น

บุคคลทั้งหลายล้วนเสวยทุกข์ในมนุษย์และในอบายภูมิทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย เป็นเพราะกิเลสราคะตัณหาอย่างเดียว ถ้าบุคคลผู้ยังไม่พ้นจากกิเลส ราคะตัณหาตราบใด ก็ยังไม่เป็นผู้พ้นจากอบายทุกข์ได้จนตราบนั้น

บุคคลผู้มิได้พ้นจากกิเลสราคะตัณหานั้น จะทำบุญให้ท่านสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จะได้เสวยความสุขในมนุษยโลกและเทวโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้นเป็นอันไม่ได้เลย

ถ้าประสงค์ต่อพระนิพพานแท้ ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนาไม่ว่า บุรุษหญิงชาย ถ้าทำได้อย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองนิพพานนั้นปราศจากกิเลสตัณหา ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วตั้งใจเจริญสมถวิปัสสนา อย่าให้หลงโลกหลงทาง

ถ้าไม่รู้ทางพระนิพพาน มีแต่ตั้งหน้าปรารถนาเอาเท่านั้นก็จะหลงขึ้นไปในอรูปพรหม ชื่อว่าหลงโลก หลงทางไปในภพต่างๆ ให้ห่างจากพระนิพพานไป

พุทธโอวาท
คิริมานนทสูตร


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 17, 2014, 10:23:55 AM
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การครองเรือนเป็นเรื่องยาก
เรือนที่ครองไม่ดี ย่อมก่อทุกข์ให้มากหลาย
การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง"
"ภิกษุทั้งหลาย ! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก
เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆ
เราไม่กล่าวว่า เป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย
แต่เครื่องจองจำ คือ บุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่แล
ตรึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลาย ให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด
เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก
คือ บุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง
รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะนั้น เป็นเหยื่อของโลก
เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น
เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย
ไม่มีรูปใดที่จะรัดตรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีไม่ได้
ย่อมจะต้องเวียนเกิด เวียนตายอยู่ร่ำไป
แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้
ย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ กิเลสนั้นมีอำนาจควบคุมอยู่โดยทั่ว
ไม่เลือกว่าวัยใด และเพศใด"


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 17, 2014, 10:25:38 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20140517102719_buddha.jpg)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหาทางออกอย่างพวกเธอนี้เป็นเรื่องประเสริฐแท้
การแก่งแย่งกันเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ในที่สุดทุกคนก็รู้เองว่าเหมือนแก่งแย่งกันเข้าไปสู่กองไฟมีแต่ความรุ่มร้อน
กระวนกระวาย เสนาบดีดื่มน้ำด้วยภาชนะทองคำกับคนจนๆ ที่ดื่มน้ำด้วยภาขนะที่ทำด้วยกะลามะพร้าว
เมื่อมีความพอใจย่อมมีความสุขเท่ากัน นี่เป็นข้อยืนยันว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ
อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจ แม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า
แน่นอนทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่คนใหญ่คนโต
แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบ เยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ลาภยศนั้นเป็นเหยื่อของโลก ที่น้อยคนนักจะสละและวางได้
จึงแย่งลาภแยกยศกันอยู่เสมอ เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย
หรือ เหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกันจิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันไปทั้งสองฝ่าย น่าสลดสังเวชจิตยิ่งนัก
ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง ทีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลง
มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกัน และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย
ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำรงชีวิต โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิด
หน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอคือลดความโลภ ความโกรธ และความหลงของเธอเองให้น้อยลง
แล้วจะประสบความสุขความเยือกเย็นขึ้นมาก เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด ความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น”


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 18, 2014, 08:37:41 AM
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง
รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้ และที่อยู่อาศัย อื่น ๆ ทั้งหมดนี้ บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด
แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา หรือ ด้วยใจ นั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว

เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้
เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะ เครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้
ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ก็จะถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฉันใด
คนในโลกนี้ถูกไฟ คือ ความแก่ ความตายไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คนผู้ฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน
ของที่บุคคลให้แล้วชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้ หาเป็นเช่นนั้นไม่
แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความตายมาถึงเข้า
บุคคลย่อมต้องละทรัพย์สมบัติ และแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย
ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น
เมื่อได้ให้ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียนย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ”


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 18, 2014, 08:47:33 AM
เทวดาทำบุญ

........ เรื่องราวนี้ก็มีอยู่ว่า สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
เวลานั้นสาวกองค์ผู้ใหญ่ขององค์สมเด็จพระบรมครูคือ พระมหากัสสปะ ท่านจำพรรษาอยู่ในปิปผลิคูหา
คือใน ถ้ำชื่อปิปผลิ ใน ป่าลึกไกลจากพระพุทธเจ้าอยู่ประมาณ ๖๐ โยชน์ ท่านเป็นพระธุดงค์
ธุดงค์หลายๆวันก็เหนื่อย เหนื่อยก็ต้องพัก การพักผ่อนของอรหันต์นั่นคือเข้านิโรธสมาบัติ

คำว่า นิโรธ นี่แปลว่า ดับ สมาบัติ แปลว่า เข้าถึง นิโรธ สมาบัติเข้าถึงความดับทุกขเวทนาทุกอย่างด้วยกำลังของฌาน
 คือเข้าฌานเต็มที่ จิตเป็นสุข จิตไม่เกาะร่างกาย จิตกับร่างกายแยกกัน ไม่รับรู้เรื่องของประสาท อารมณ์ก็เป็นสุข


การเข้า นิโรธสมาบัตินี่ก็ใช้เวลา ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้างตามแต่กำลังของร่างกาย เมื่อครบเวลา ๑๕ วันก็ออกจากสมาบัติ
เมื่อเวลาออกจากสมาบัติก็ต้องใช้ทิพจักขุญาณว่าวันนี้เราจะไปบิณฑบาตที่ไหน ใครจะใส่บาตเราบ้าง
เพราะไม่มีการนัดหมายกัน พระที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี่ ถ้าทำบุญคนเดียวนะ หลายคนก็ไม่มีผลตามนั้น
มันมีแต่ความคล่องตัว ถ้าทำบุญคนเดียวคนนั้นถ้าเป็นขอทานอยู่จะเป็นมหาเศรษฐีวันนั้น
ท่าน ก็มองไปมองมาก็ยังไม่ทราบว่ายังมองไม่เห็นใคร กำลังจะเริ่มมองว่าใครจะใส่บาตร
ก็พอดีบรรดาพวกนางฟ้าซึ่งเป็นบริวารของพระอินทร์ทราบว่าพระมหากัสสปะออกจาก
นิโรธสมาบัติ ก็พากันยกกันมาเป็นฝูงจะมาใส่บาตรพระมหากัสสปะ มาในฐานะรูปร่างของนางฟ้า

ในเมื่อพระมหากัสสปะเห็น เข้าก็บอกว่า เธอจงหลีกไป นางฟ้าก็บอกว่าฉันจะมาทำบุญกับพระคุณเจ้า
 พระมหากัสสปะก็บอกว่าเธอเป็นนางฟ้าไม่ใช่คนยากจน พระที่ออกจากนิโรธสมาบัติต้องการสงเคราะห์คนยากจนเข็ญใจให้มีความสุข
ในเมื่อพระมหากัสสปะไล่ นางฟ้าก็ต้องไป ก็เป็นการพอดีเวลา วันก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง
พระอินทร์ท่านไปสวนนันทวัน เทวดาทั้งหมดก็ตามไป ปรากฏว่าไปเจอะเทวดา ๔ องค์มีแสงสว่างมากกว่าพระอินทร์
แต่เกิดทีหลัง พระอินทร์ไม่ทราบ เพิ่งเห็นในวันนั้น เห็นเข้าแล้วก็ถามปัญจสิกขเทพบุตร ถามว่าเทวดา ๔ องค์มาเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่
ปัญจสิกขเทพบุตร ก็บอกว่าเพิ่งมาเกิดเมื่อวานนี้เองครับ พระอินทร์เห็นว่าเทวดาที่เป็นลูกน้องมีแสงสว่างมากกว่าก็ไม่สบายใจ
ประกาศสั่งกลับเวชยันตวิมานทันที

.......แล้วก็มานั่งนึกดู ว่าเวลานี้มีที่ไหนบ้างที่จะเป็นบุญกุศลใหญ่ ก็ทราบว่าพระมหากัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ
 ตั้งใจจะไปใส่บาตรขณะที่ท่านเตรียมตัวอยู่ พอดีนางฟ้าทั้งหมดก็กลับไปถึงพอดี นางฟ้าก็ถามว่าพ่อเจ้าจะไปไหน
 ท่านก็บอกว่าฉันจะไปใส่บาตรพระมหากัสสปะ พวกนางฟ้าบอกอย่าไปเลยเจ้าข้า พวกฉันไปมาแล้ว
ท่านพระมหากัสสปะท่านไล่กลับมา ท่านบอกท่านจะสงเคราะห์คนจน พระอินทร์ก็เลยบอกว่าถ้าไปอย่างเธอพระมหากัสสปะก็ขับ
 ถ้าไปอย่างฉันพระมหากัสสปะไม่ขับ

ท่านสองคนตายายก็แปลงเป็นคนแก่ เนรมิตกระท่อมเล็กๆอยู่ชายเมือง ทำเป็นคนแก่สองคนไม่มีลูกไม่มีหลาน
เอาจิตก็ตั้งใจนึกว่าวันนี้เราจะใส่บาตรพระมหากัสสปะ ถ้าจิตใครเขานึกอยู่ความเป็นทิพย์นี่มันจะชนกันทันที
พอ ดีพระมหากัสสปะก็ใคร่ครวญคิดว่าวันนี้จะมีใครใส่บาตรกับเราบ้าง จิตก็ไปชนกันเข้ากับสองคนตายายอยู่นอกเมืองแก่มาก
ลูกหลานก็ไม่มี ต้องทำเลี้ยงตัวเองมีความลำบากและก็มีความยากจน ฉะนั้นวันนี้เราจะสงเคราะห์ให้สองคนตายายเป็นคนร่ำรวย
จึงได้ห่มจีวรประคองบาตรแล้วก็เหาะไปจากยอดภูเขา พอใกล้จะถึงนั่นก็ลงเดิน เดินไป

เวลานั้นพระอินทร์แปลงเป็นคนแก่ ทำทีเหมือนคนดายหญ้าถอนหญ้าอยู่ เห็นพระมหากัสสปะเข้า
ท่านบอกว่า เอวังปิตัตถะ ภันเต ซึ่งแปลว่า ขอพระคุณเจ้าหยุดก่อนเถิดเจ้าข้า นิมนต์ก่อนขอรับ
พระมหากัสสปะก็หยุด ท่านก็แกล้งเรียกชายาว่า ยาย....อาหารของเราเสร็จหรือยัง เวลานี้พระท่านมาโปรด ยายก็บอกเสร็จแล้วเจ้าข้า
เห็นไหมพระอรหันต์ก็ถูกต้มเหมือน กัน ไม่ต้มนี่ขั้นตุ๋นเลยนะ และความจริงความเป็นทิพย์พระอรหันต์นี่ไม่ได้ใช้ทุกเวลานะ
ใช้เฉพาะเวลา ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า เวลาที่มีความจำเป็นต้องการจะรู้จึงจะรู้ ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่รู้
และสิ่งที่เขาทำมาแล้วในกาลก่อนต้องการรู้ก็รู้ได้ และส่วนใหญ่พระอรหันต์นี่ไม่อยากจะรู้ เพราะขี้เกียจรู้ ซึ่งมันเป็นกังวล

ท่านยายก็เอาอาหารมาให้ตา สองคนตายายก็ช่วยกันใส่บาตร อาหารอันเป็นทิพย์ที่พระมหากัสสปะท่านอยู่ในป่า
ท่านฉันเป็นปกติ อาศัยเทวดาฉัน พอใส่บาตรไอ้กลิ่นอาหารที่เป็นทิพย์ก็ไปชนจมูกท่านพระมหากัสสปะเข้า
แตะจมูกนะ แตะจมูกหน้าหงายตาโพลงแล้วนี่ พอตาโพลงลุกขึ้นมามีความสงสัยก็ทราบทันทีว่านี่คือพระอินทร์

ก็ถามท้าวโกสีย์ทำไมถึงทำแบบนี้
พระอินทร์ก็ถาม ทำไมครับ ผมจะใส่บาตร
พระมหากัสสปะถาม ทำไมมาแย่งคนจน พระออกจากนิโรธสมาบัติเขาจะสงเคราะห์คนจน
พระอินทร์ก็บอกว่า ผมก็จนครับ
ท่านถามว่า จนยังไงในเมื่อเป็นหัวหน้าเทวดา
ท่าน ก็เลยบอกว่าเวลานี้มีเทวดาเกิดใหม่ ๔ องค์ มีแสงสว่างมากกว่าผม
ในฐานะที่ผมเป็นราชาปกครองเทวดามีแสงสว่างไม่เท่าเขา ผมทนไม่ไหวจำเป็นต้องทำบุญต่อ
พระมหากัสสปะก็บอกว่า ทีหลังอย่าทำอย่างนี้อีกนะ

มัน เสร็จไปแล้ว เขาใส่บาตรแล้ว บุญเขาได้แล้วใช่ไหม บอกว่าทีหลังอย่าทำอย่างนี้อีกนะ
พระอินทร์ท่านก็ไม่ตอบ แสดงว่าไม่ยอมรับใช่ไหม ถ้าโง่ต่อไปอีกก็เอาอีก

........ก็เป็นอันว่าเมื่อพระมหากัสสปะปิดบาตรกลับ พระอินทร์ก็เหาะขึ้นไปบนอากาศกล่าววาจาถือข้อความปลื้มใจว่า

สุทินนัง จะตะ เม ทานัง อะโห ทานัง ปรมัตทานัง มหาสเปนะ อาสวะคะยาวะหัง โหตุ
แปลง่ายๆบอก ทานที่เราถวายพระมหากัสสปะเป็นทานที่ดีแล้ว ต่อไปข้างหน้าขอให้ฉันไปนิพพานเถอะ

เสียง นี้ก็ก้องไปในวิหารที่พระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ พระก็ถามสมเด็จพระบรมครูว่าเสียงอะไรพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะลูกตถาคตเสียท่าพระอินทร์อีกแล้ว เห็นไหมพระถูกต้ม....
ก็ เป็นอันว่าการทำบุญของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทในวันนี้
 ถ้าจะถามว่าการทำบุญกับพระที่ออกจากนิโรธสมาบัติกับการถวายสังฆทาน ใครจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน
การออกจากนิโรธสทาบัติเป็นทานส่วนบุคคลนะ เป็นเฉพาะบุคคล
การถวายสังฆทานเป็นทานในหมู่สงฆ์ การถวายสังฆทานมีอานิสงส์มากกว่า...........


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 19, 2014, 06:37:08 AM
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน
ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ
สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตน เป็นของตนที่ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี
หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้
เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงสักว่า ๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ
ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่"

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้
เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 21, 2014, 10:09:54 PM
"นาคาวโลก” พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตร นครเวสาลี เป็นครั้งสุดท้าย

ในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ ในช่วงเหมันตฤดู พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลี หรือไพศาลี แคว้นวัชชี อันเป็นสถานที่ทรงพิจารณาชราธรรม
แสดงโอฬาริกนิมิต และปลงอายุสังขาร พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวคาม เป็นเวลานานถึง ๘ เดือน
แม้ออกพรรษาแล้วก็มีได้เสด็จไปที่อื่น คงประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นฤดูเหมันต์
นับเป็นเวลานานมากที่ประทับอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่น เวฬุวคามนี้
พระองค์ทรงแน่พระทัยว่าคงจะดำรงพระชนม์ชีพไปไม่ได้นานนัก แต่มิได้ตรัสบอกพระอานนท์ในเวลานั้นเหลือเวลาอีก
๓ เดือนที่จะปรินิพพาน ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงถูกอาพาธคอยบีบคั้นเบียดเบียนอยู่เสมอ แต่ก็ทรงดำเนินไปอีกหลายแห่ง
เสด็จโดยพระบาทเปล่าไม่มีใครแบกใครหามเลย เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยมากเข้าก็ทรงหยุดพัก ทุกหนทุกแห่งที่เสด็จไป
จะมีพระอานนท์ตามเสด็จเหมือนพระฉายา แม้จะลำบากพระวรกายปานใดแต่น้ำพระทัยกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์เอ่อท้นในพระมนัส
 จึงทรงจาริกเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลชน

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงนำภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป เสด็จจากเวฬุวคาม ไปประทับ ณ กุฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
 ซึ่งกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลีสร้างถวายเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาเป็นครั้งคราว พระพุทธองค์ ตรัสสั่ง
ให้พระอานนท์ประกาศประชุมสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด ทรงโอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยอภิญญาเทสิตธรรม
 คือธรรมที่พระองค์แสดงไว้เพื่อการตรัสรู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ให้ภิกษุทั้งหลายหมั่นอบรมประพฤติธรรมดังกล่าวนี้

ในครั้งนั้นบรรดากษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีทั้งหมดซึ่งร่วมกันปกครองแบบสามัคคีธรรม
ได้ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์ จึงนำเครื่องสักการบูชามาถวายเป็นอันมาก
พร้อมน้อมฟังพระธรรมเทศนาบังเกิดความรื่นเริงในธรรมโดยถ้วนหน้ากัน
รุ่งขึ้นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในเมืองเวสาลี
ชาวนครเวสาลี มีความรู้สึกระทึกใจเป็นที่ยิ่ง เมื่อทราบว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้เห็น
ได้เฝ้ารับโอวาทานุสาสน์จากพระพุทธองค์ บางพวกร่ำไห้ บางพวกตีอกชกตัว
 ประหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้าแห่งตนจะเดินทางไปสู่สมรภูมิและรู้แน่นอนว่าจะไม่กลับมา
พระจอมมุนีประทานเทศนาให้เขาเหล่านั้นคลายโศก โดยทรงย้ำให้ระลึกถึงพระโอวาทที่เคยประทานไว้ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การเศร้าโศกคร่ำครวญ
ย่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับมิให้แตกดับได้"

แลแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จออกจากนครเวสาลีทรงยืนอยู่ ณ ประตูเมืองครู่หนึ่ง
ผินพระพักตร์มองดูเวสาลีเป็นนาคาวโลกนาการ ปานประหนึ่งพญาคชสารตัวประเสริฐเหลียวดูแมกไม้เป็น
ปัจฉิมทัศนาเมื่อถูกนำพาไปสู่นครเพื่อเป็นราชพาหนะ

พระตถาคตเจ้าทอดทัศนาการเวสาลีพลางทรงรำพึงว่า... "ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์
เป็นนครที่มีนามกระเดื่องลือว่า มีคนแต่งกายงามที่สุด ปานหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มีสระโบกขรณีมากหลายเป็นที่รื่มรมย์
ปราสาทแห่งเจ้าฉิจฉวีเสียดยอดระดะดูงามตาพิลาศพิไล โดยเฉพาะลิจฉวีสภาซึ่งจงใจทำอย่างประณีตบรรจงงามวิจิตร
เป็นที่ประชุมแห่งกษัตริย์ลิจฉวีผู้พร้อมใจกับปกครองบ้างเมืองโดยสามัคคีธรรม ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมีปราการสามชั้น
มีเบื้องหลังเป็นป่าใหญ่ทอดยาวเหยียดสูงขึ้นไปจนถึงหิมาลัยบรรพต อันได้นามว่ามหาวันซึ่งพระตถาคตแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ
การได้เห็นเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการสำหรับตถาคตแล้ว ตถาคตจะไม่ได้เห็นเวสาลีอีก"
ทรงรำพึงดังนี้แล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า… "อานนท์ การมองดูเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว
อานนท์เอย! ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อได้มีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมจะมีการสิ้นสุด ใครเล่าจะสามารถหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็นมิให้เป็นได้ มาเถิดอานนท์! เราจักเดินทางไปสู่ปาวาลเจดีย์" พระตถาคตเจ้าตรัสเท่านี้แล้วเสด็จดำเนินด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ
พระอานนท์พุทธอนุชาตามเสด็จพระบรมศาสดา ด้วยอาการสงบและเคร่งขรึม
ใครเล่าจะทราบว่าภายในดวงจิตของท่านจะปั่นป่วนรวนเรซึมเซาเศร้าโศกอ่อนไหวหวิวหวั่นสักเพียงใด

เหตุที่พระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้ ถือเป็นมรณญาณ คือ เป็นลางบอกให้พระสงฆ์สาวกและพุทธบริษัท ทราบล่วงหน้า
 เพราะเป็นเวลาใกล้ที่จะปรินิพพานจึงไม่อาจกลับมาเห็นเมืองเวสาลีประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งคือพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณล่วงหน้าถึงความเป็นไปภายหลังพุทธปรินิพพานว่า...
นอกจากพระองค์แล้ว แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจได้เห็นเมืองเวสาลีอีก เนื่องจากเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว
กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้มีชัยเหนือเมืองเวสาลี
เอกราชของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีที่ปกครองโดยสามัคคีธรรม ก็สูญสิ้นไปนับแต่นั้นมา
ทั้งนี้เพราะบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมิได้ตั้งมั่นอยู่ใน “ลิจฉวีอปริหานิยธรรม”
อันเป็นธรรมที่พระบรมศาสดาประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกันแบบสามัคคีธรรม
ซึ่งสามารถต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าอชาตศัตรู ไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง
แต่ในครั้งที่ ๓ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ส่ง วัสสการพราหมณ์ เข้ามายุยงปลุกปั่นให้บรรดากษัตริย์นักรบทั้งหลายแตกร้าวในความสามัคคี
ไม่ตั้งมั่นอยู่ในหลักอปริหานิยธรรม เมืองเวสาลีก็ถึงกาลอันล่มสลาย
จากนั้น พระพุทธองค์ จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์ พร้อมทั้งเหล่าพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางไปสู่บ้านภัณฑุคาม
 ป่ามหาวัน บ้านหัตถีคาม บ้านอัมพะคาม บ้านชัมพูคาม และโภคนครโดยลำดับ
ภายหลังจากแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนคร และพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร
สถานที่ปลงอายุสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชมภาพ ปาวาลเจดีย์ สถานที่ปลงอายุสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 และอ่านพุทธโอวาทสุดท้ายก่อนปรินิพพานได้ที่ลิ้งค์

https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.738803542836856.1073742062.100001216522700&type=1 (https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.738803542836856.1073742062.100001216522700&type=1)



หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 21, 2014, 10:12:14 PM
"ความสำคัญของเมืองเวสาลี"

เวสาลี หรือ ไพสาลี คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของคณะเจ้าลิจฉวี
ที่มีการปกครองแคว้นวัชชี ด้วยระบอบคณาธิปไตยแห่งแรก ๆ ของโลก (บ้างก็ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย)
เมืองนี้เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองที่มั่นแห่งสำคัญของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น
โดยพระพุทธเจ้าเคยเสด็จเยี่ยมเมืองแห่งนี้ในปีที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ตามการกราบบังคมทูลเชิญจากเจ้าผู้ครองแคว้น
และในช่วงหลังพุทธกาล เมืองแห่งนี้ได้ตกเป็นของแคว้นมคธโดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรูพระราชาแห่งเมืองราชคฤห์
และหลังการล่มสลายของราชวงศ์พิมพิสารในเมืองราชคฤห์ พระราชาองค์ต่อมาจึงได้ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ
มายังเมืองเวสาลี ทำให้เมืองแห่งนี้เจริญถึงขีดสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองนี้ได้เป็นสถานที่ทำทุติยสังคายนาของพระพุทธศาสนา
ก่อนที่จะเสื่อมความสำคัญ และถูกทิ้งร้างลงเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองปาฏลีบุตรหรือ
เมืองปัตนะอันเป็นเมืองหลวงของรัฐพิหารในปัจจุบัน

เวสาลีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล โดยเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖
แคว้นของชมพูทวีป มีการปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรมหรือคณาธิปไตย ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบหนึ่ง
คือไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงอำนาจสิทธิ์ขาด มีแต่ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐซึ่งบริหารงานโดยความเห็นชอบจากรัฐสภา
ซึ่งจะประกอบไปด้วยเหล่าสมาชิกจากเจ้าวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมเป็นคณะผู้ครองแคว้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่าเจ้าวงศ์ต่าง ๆ
มีถึง ๘ วงศ์ และในจำนวนนี้วงศ์เจ้าลิจฉวีแห่งเวสาลีและวงศ์เจ้าวิเทหะแห่งเมืองมิถิลาเป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลที่สุดในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่เวสาลีหลายครั้ง แต่ละครั้งจะทรงประทับที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันเป็นส่วนใหญ่
 พระสูตรหลายพระสูตรเกิดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ และที่กูฏาคารศาลานี่เอง ที่เป็นที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี
พระน้านางของพระพุทธองค์ พร้อมกับบริวาร สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้เป็นครั้งแรกในโลก
และในการเสด็จครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลี
นางคณิกาประจำเมืองเวสาลี ซึ่งนางได้อุทิศถวายเป็นอารามในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ได้ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุวคาม และได้ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์
และเมื่อหลังพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ได้มีการทำสังคายาครั้งที่ ๒ ณ วาลิการาม ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในเมืองเวสาลี

ในช่วงไม่นานหลังพุทธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมืองเวสาลีได้ตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ
โดยการนำของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งราชคฤห์ คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า
สาเหตุของการเสียเมืองแก่แคว้นมคธ เพราะความแตกสามัคคีของเจ้าวัชชี เพราะการยุยงของวัสสการพราหมณ์
พราหมณ์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูส่งเป็นไส้สึกเพื่อบ่อนทำลายภายใน เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองทัพมายึดเมือง
จึงสามารถยึดได้โดยง่าย เพราะไม่มีเจ้าวัชชีองค์ใดต่อสู้ เพราะขัดแย้งกันเอง ทำให้แคว้นวัชชีล่มสลาย
และเมืองเวสาลีหมดฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้น และตกไปอยู่ในอำนาจของแคว้นมคธ
แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้ง

ในช่วง ปีพ.ศ.๗๐ หลังพุทธปรินิพพาน ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์
ของพระเจ้าพิมพิสารแห่งราชคฤห์ ออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลี
แห่งแคว้นวัชชีเก่าให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมือง
เวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน ทำให้เมืองเวสาลีมีความสำคัญในฐานะเมืองหลวงอีกครั้ง แต่ทว่าก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นาน
เพราะกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค
ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร
ทำให้เมืองเวสาลีถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้างซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา

ปัจจุบันเมืองเวสาลี เป็นซากโบราณสถานอยู่ที่ตำบลบสาร์ท หรือเบสาร์ท (Basarh-Besarh)
ในจังหวัดไวศาลี ที่เขตติดต่อของอำเภอสดาร์ (Sadar) กับ (Hajipur) ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัด
เมืองเวสาลี ห่างจากหซิปูร์ ๓๕ กิโลเมตร ห่างจากมุซัฟฟาร์ปูร์ ๓๗ กิโลเมตร โดยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมุซัฟฟาร์ปูร์
ขอเชิญอ่าน “พุทธจริยา ประวัติปฏิปทาพระอรหันตสาวก พระสาวิกา และสามเณรอรหันต์ ในสมัยพุทธกาล” ได้ที่ลิงค์

https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.592972097420002.1073741872.100001216522700&type=3 (https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.592972097420002.1073741872.100001216522700&type=3)


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 13, 2014, 09:57:37 PM
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา


45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถีหรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา
เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ หนึ่งในห้า ปัญจวัคคีย์
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน
ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก

และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก
 จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก
คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม"
หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก
และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 06:11:07 PM
ท่านกล่าวพระพุทธคุณโดยพิสดารไว้ถึง ๙ ประการ
อย่างที่สวดๆ กันอยู่ ตั้งแต่ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้นไป
จนถึง ภควา

๑. อรหัง แปลว่า ทรงเป็นพระอรหันต์ คำว่า
อรหันต์มี ๔ ความหมาย คือ
๑) ทรงห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลส
๒) ทรงหักกรรมแห่งสังสารจักรเสียได้

กรรมแห่งสังสารจักรหมายถึงสิ่งที่ทำให้ต้องท่องเที่ยว
อยู่ในสังสารวัฏ ทรงละสิ่งนั้นเสียได้ กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ
บุญบาป นั่นเอง สังสารวัฏนั่นเองคือสังสารจักร
ท่านกล่าวว่าอวิชชาเป็นดุมเพราะเป็นมูลแห่ง ตัณหาอุปาทาน
เป็นกรรมเพราะเป็นตัวยึดไว้ ความแก่ ความตาย
เป็นกงแห่งสังสารจักรนั้นเพราะเป็นที่สุด

๓) ทรงเป็นผู้ควรรับปัจจัยที่ทายกถวาย
๔) ไม่ทรงทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
๒. สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ โดยถูกต้อง
๓. วิชชาจรณสัมปันโน ทรงสมบูรณ์ด้วยความประพฤติ
ทั้งอย่างสามัญและอย่างสูง อย่างสามัญคือความรู้
และความประพฤติดีที่คนดีทั่วไปมีกันอยู่
อย่างสูงในที่นี้ท่านหมายถึงเอาวิชา ๘ และจรณะ ๑๕
๔. สุคโต เสด็จไปดี คือ เสด็จไปและเสด็จมา
เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ทรงมีพระวาจาดี
๕. โลกวิทู ทรงรู้จักโลก ทรงรู้จักโลกอย่างดี
จึงสามารถปฏิบัติต่อโลกอย่างถูกต้องถ่องแท้
ทั้งโลกที่เป็นพื้นแผ่นดิน อวกาศ หมู่สัตว์
และสังขารคือสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง
๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ ทรงเป็นสารถีฝึกคน
ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เทียบด้วยสารถีฝึกช้าง
ฝึกม้า แต่พระองค์ทรงเป็นศาสดาฝึกคน
เพื่อประโยชน์ของคนที่ได้รับการฝึกนั่นเอง
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์
๗. สัตถา เทวมนุสสานัง ทรงเป็นครู
หรือศาสดาของทั้งเทวดาและมนุษย์
๘. พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้จริง ทรงตื่นจากความหลับคือกิเลส
ทรงเบิกบานด้วยพระทัยกรุณา (รวมเป็นพระปัญญา
พระบริสุทธิและพระมหากรุณา)
๙. ภควา ทรงเป็นผู้มีภาค จึงเรียกกันว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า คำนี้มีความหมายหลายนัย เช่น
๑) คำว่า ภควา นี้เป็นคำเรียกท่านผู้ประเสริฐสูงสุด
เป็นคำเรียกท่านผู้ควรเคารพในฐานะเป็นครู (ผู้ยิ่งใหญ่)
๒) ทรงมี ภคธรรม คือ
๑. อิสริยยศ ความเป็นใหญ่ในพระทัยของพระองค์เอง
เอาชนะตนเองได้ เป็นใหญ่กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. ธรรม หมายถึง โลกุตตรธรรม
๓. ยศ หมายถึง ชื่อเสียงอันดีงาม
๔.สิริ มิ่งขวัญ ความสง่าผ่าเผย
๕. กามะ สิ่งใดอันพระองค์ทรงประสงค์แล้ว
ย่อมสำเร็จตามความประสงค์ในสิ่งนั้น
๖. ปยัตตะ ความเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ
๓) ทรงเสพอริยธรรม มีศีลขันธ์อันประเสริฐ เป็นต้น
๔) ทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งจตุปัจจัยที่ทายกถวายแก่สมณะ
๕) ทรงจำแนกธรรมรัตนะ
๖) ทรงหักกรรมแห่งสังสารจักร (ซ้ำกับความหมาย อรหํ)
๗) ทรงหนักแน่น สมเป็นครู
๘) ทรงเป็นผู้มีกุศล มีโชค
๙) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้วด้วยธรรม
อันควรรู้ควรเข้าใจเป็นอันมาก
๑๐) ทรงถึงที่สุดแห่งภพ คือสิ้นภพ
คายการไปในภพทั้งหลายได้แล้ว
๑๑) ทรงหักราคะ โทสะ โมหะและบาปทั้งปวงได้

จาก หนังสือ เพื่อเสรีภาพทางจิต


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 05, 2014, 10:20:45 PM
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้วมันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน
เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นอีกแน่ๆ

ภิกษุทั้งหลาย !
น้ำตาของสัตว์ที่ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถมในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา
สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีเล่า ถ้านำมากองรวมกันไม่ให้กระจัดกระจาย
คงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้จะไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ที่ตายแล้วตายเล่า
เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนักทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำบนกองกระดูก นอนอยู่บนกองกระดูก
นั่งอยู่บนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 20, 2014, 08:52:33 AM
อานนท์ !
พุทธบริษัททั้ง สี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทำสักการะบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส
เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่

อานนท์ เอ๋ย !
ผู้ใด ปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 22, 2015, 09:19:47 PM
"เรื่องนี้ ดีมาก ถ้าได้อ่านขอให้มีความสุข"

ใครมีโคเลี้ยงไว้ 16 ตัว กันบ้าง?
มาพิจารณาดูกัน

ณ ครั้งพุทธกาล...

พระพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่กลางป่า ช่วงปลายฝน ต้นหนาว มีชายคนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพ เป็นคนเลี้ยงโค (นายโคบาล) ได้มาพบเข้ากับพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่ทราบว่าเป็น พระพุทธองค์ จึงเข้าไปถามว่า
ขอโทษขอรับ ท่านเป็นใคร

พระพุทธเจ้า ทรงตรัสตอบว่า เรา ตถาคต
นายโคบาล ตกใจ บอกว่าพระองค์มานั่งอยู่กลางป่าได้อย่างไร พระองค์มีความสุขไหม
พระพุทธองค์ จึงทรงตรัสตอบว่า เธอรู้ไหม ในบรรดาคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ฉันเป็นหนึ่งในนั้น
นายโคบาลได้ยินพระดำรัสเช่นนั้น ถึงกับตัวชาและมีความปิติ ด้วยอำนาจของพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ ตรัสถามต่อว่า เธอกำลัง ทำอะไร
กระหม่อมฉัน ตามหาวัว ขอรับ
วัว กี่ ตัว
๑๖ ตัว ขอรับ
แล้วตอนนี้ วัว อยู่ไหน
วัวหาย ทั้งหมดเลยขอรับ
เธอ คิดว่าฉันมีวัวไหม
ไม่มี ขอรับ
คน ไม่มีวัวอย่างฉัน มีโอกาสทุกข์เพราะ ไม่มีวัวไหม
ไม่มี ขอรับ
เห็นไหมว่า คนมีวัว ทุกข์เพราะวัว คนไม่มีวัว ก็ไม่ทุกข์
พระพุทธเจ้า ตรัสถามต่อ
ในเมืองนี้ ใครมีอำนาจ มีเงินทองมากที่สุด
พระเจ้าพิมพิสาร ขอรับ
พระเจ้าพิมพิสาร มีอำนาจเงินทองที่สุดในเมือง มานั่งเล่นกลางป่าอย่างฉัน ได้ไหม
ไม่ได้ ขอรับ
ก็มีอำนาจ เงินทองขนาดนั้น ทำไมมานั่งเล่นอย่างฉันไม่ได้
ถ้าพระเจ้าพิมพิสาร ออกมานั่งเล่นชายป่า อย่างพระองค์ ก็จะถูกปฏิวัตได้ขอรับ
เห็นไหม ระหว่างฉันกับพระเจ้าพิมพิสาร ใคร มีความสุขกว่ากัน
พระพุทธองค์ ขอรับ

พระพุทธศาสนา สอนว่า วิถีแห่งความสุขไม่ได้อยู่ที่ความมี หรือ ความจน อยู่ที่เรา ยินดีในสิ่งที่มี รุ้จักพอดีในสิ่งที่ได้ เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

*************************
โค 16 ตัว ที่ทุกคนเลี้ยงไว้ มีตั้งแต่ พระราชา เศรษฐี ประชาราษฎร์ทั่วไป พ่อค้า ฯลฯ

พระพุทธเจ้าไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี พระอรหันต์ไม่มี
พระอนาคา พระสกิทาคา พระโสดาบัน มีน้อย
ปุถุชนทั่วไปมีมากหนาแน่น ... เรียกว่า # อุปกิเลส16

อุปกิเลส (อ่านว่า อุปะกิเหลด) แปลว่า ธรรมชาติที่ทำให้ใจเศร้าหมอง, เครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง หมายถึง ‪#‎สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัวไม่แจ่มใส‬ ทำให้ใจหม่นไหม้ ทำให้ใจเสื่อมทราม กล่าวโดยรวมก็คือสิ่งที่ทำให้ใจสกปรก ไม่สะอาดบริสุทธิ์นั่นเอง

อุปกิเลส แสดงไว้ 16 ประการคือ

ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่
ความพยาบาท
ความโกรธ
ความผูกเจ็บใจ
ความลบหลู่บุญคุณ
ความตีเสมอ
ความริษยา
ความตระหนี่
ความเจ้าเล่ห์
ความโอ้อวด
ความหัวดื้อถือรั้น
ความแข่งดี
ความถือตัว
ความดูหมิ่น
ความมัวเมา
ความประมาทเลินเล่อ
ดังนี้แล

1 แชร์ 1 ธรรมทาน


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 30, 2015, 08:51:19 PM
พระพุทธองค์ทรงสอนพวกเราว่า
1.ไม่ว่าเราได้พบเจอใคร เขาเหล่านั้นคือคนที่เราจะต้องได้พบเจอ ไม่มีใครเข้ามาในชีวิตเราด้วยเหตุบังเอิญ
2.ไม่ว่าจะเกิดเรื่องราวใดๆขึ้นในชีวิตเรา มันเป็นเรื่องที่จะต้องเกิด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือร้าย ไม่มีเรื่องใดที่บังเอิญ เพราะเราก็เคยทำอย่างนี้กับเขามาก่อนเมื่ออดีตชาติ
3. เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน เวลาใด นั่นคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่ไม่ควรเกิด เพราะมันต้องเกิด ต่อให้คุณเตรียมตัวหรือไม่ได้เตรียมตัว เมื่อปัจจัยถึงพร้อม สิ่งเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นในทันที
4. เมื่อปัจจัยจบ ต้องยอมรับว่าจบ อย่าเหนี่ยวรั้ง อย่าเอาแต่อาลัยอาวรณ์ ขอให้รู้ว่าเมื่อสุดมือสอยก็ให้ปล่อยมันไป กล้าเผชิญในสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องดีๆกำลังรอคุณอยู่ข้างหน้า
5. ทำความดีในปัจจุบันให้มากที่สุด แล้วไม่ต้องสนใจว่า เราเคยทำกรรมอะไรมาบ้าง เพราะคิดไปก็เปล่าประโยชน์ เราทำอะไรกรรมเก่าไม่ได้แล้ว แต่ผู้มีปัญญาจะคิดว่า กรรมใหม่ดีๆมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ และควรทำได้บ้าง แล้วจึงทำ
สรุป กรรมดีในปัจจุบันสำคัญที่สุด!!!


หัวข้อ: Re: รวมพุทธโอวาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กันยายน 16, 2015, 08:24:39 AM
อานาปานสติกับสติปัฏฐาน ๔

“ดูก่อนอานนท์ สมัยใด ภิกษุหายใจออกยาว รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า เห็นภายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า ลมหายใจเข้าออกนี้ เป็นกายประเภทหนึ่ง

“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมตั้งใจสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า-ออก เราจักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า-ออก

สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวลาอยู่

เพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า การใส่ใจด้วยดีในลมหายใจเข้า-ออกเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง

“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า-ออก เราจักทำให้จิตบันเทิงหายใจเข้า-ออก เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า-ออก

สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณา เห็นจิตในจิต...ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

เพราะเรากล่าวว่า การเจริญอานาปานสติสมาธิ จะมีไม่ได้แก่ผู้มีสติหลงลืม และขาดสติสัมปชัญญะ

“ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุตั้งใจศึกษาว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาเห็นวิราคธรรมหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า-ออก...

สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่....”
.

-กิมิลสูตร มหา. สํ. (๑๓๕๘-๑๓๖๑ )