หัวข้อ: ประวัติ องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร “พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเหนือฟ้าดิน” เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 04, 2016, 09:28:54 PM (http://kammatan.com/gallary/images/20160104212758_luangpu_fhan.jpg)
วันนี้วันที่ ๔ มกราคม เป็นวันคล้ายวันมรณภาพปีที่ ๓๙ ขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร “พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเหนือฟ้าดิน” แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร หลวงปู่ฝั้น ท่านเป็นคนเรียบร้อย อ่อนโยน สุขุมเยือกเย็น ท่านปรารภความเพียรแรงกล้าเด็ดเดี่ยว ไปตามภูผาป่าเขาเพียงลำพัง แสวงหาความสงบวิเวก ยินดีต่อความสงบ มักน้อยสันโดษ พอใจในปัจจัยสี่ที่ตนมีอยู่แล้วได้มาโดยชอบธรรม เป็นนักต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลส หลวงปู่ฝั้น ท่านมีความเคารพเลื่อมใส ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตอย่างถึงใจ ทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวลาหลับนอน จนจิตใจของท่านมีกำลังกล้าเป็น "ธรรมดวงเดียว" ไม่เกาะเกี่ยวกับอะไร ๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมีพลังจิตสูง หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก กล่าวคือ ๑. สามารถเรียกฟ้าฝนได้เป็นที่อัศจรรย์ เหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ชาวสกลนคร เกิดทุพภิกขภัยอย่างหนัก ฝนฟ้าไม่ตก จึงเข้าไปขอฝนกับองค์ท่าน ท่านพระอาจารย์ฝั้นนั่งสมาธิบนลานกลางแจ้งครึ่งชั่วโมง ท้องฟ้าที่มีแดดจ้า พลันมีเสียงฟ้าร้องคำราม เกิดมีก้อนเมฆบดบังแสงอาทิตย์ มีฝนเทลงมาอย่างหนักถึง ๓ ชั่วโมง ปีนั้นฝนตกตามฤดูกาล ชาวบ้านได้ทำนาตามปกติทั่วถึง ๒. ช่วงที่องค์ท่านสร้างวัด ต้องมีการระเบิดหิน หากหลวงปู่ฝั้น ท่านไม่ต้องการให้หินช่วงไหนแตกร้าว ท่านจะเอาปากกาไปเขียนยันต์ไว้ตรงจุดนั้น ระเบิดจะแรงขนาดไหน หินนั้นก็ไม่แตกร้าว ๓. ท่านนั่งสมาธิใต้ต้นกระบก ลูกกระบกตกลงพื้นเสียงดังน่ารำคาญ ท่านกำหนดจิตไม่ให้ลูกกระบกตก ตั้งแต่นั้น ลูกกระบกต้นนั้นไม่หลุดลงพื้นอีกเลย หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งของหลวงปู่ฝั้น ได้เล่าเรื่องพลังจิตของหลวงปู่ฟั่นไว้ว่า... "สมัยหนึ่งหลวงปู่ฝั้นได้ธุดงค์ไปจันทบุรี ท่านได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมในงานศพ มีผู้มาฟังธรรมเป็นจำนวนมาก ขณะที่ท่านแสดงธรรมอยู่ มีคนกลุ่มหนึ่งเล่นหมากรุก เมาสุรา ส่งเสียงเอะอะโวยวายรบกวน ท่านส่งกระแสจิตไปปราบพวกขี้เหล้าเหล่านั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ขี้เหล่าหยุดนิ่งไร้การเคลื่อนไหว บางคนยืนอ้าปาก บางคนถือหมากรุก บางคนคอพับ ไม่สามารถไหวติงได้ จนท่านแสดงธรรมให้พรจบลง เดินทางกลับ ขี้เหล้าเหล่านั้นจึงกลับมาสู่ภาวะปกติได้" องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าว่า "ท่านพระอาจารย์ฝั้นสามารถกำหนดจิตให้รถหยุด เครื่องยนต์ไม่ติดอย่างง่ายดาย" ฉะนั้นเวลานั่งรถ ท่านต้องพยายามทำจิตไม่ให้เพ่งไปที่เครื่องยนต์ ไม่งั้นเครื่องจะดับทันที ตอนสงครามโลกเครื่องบินญี่ปุ่นจะมาทิ้งระเบิด คนมาขอให้ท่านอย่าให้ญี่ปุ่นทำได้ ตอนแรกท่านคิดว่าจะเพ่งให้เครื่องยนต์ดับ แต่คิดได้ว่าหากทำแบบนั้น เครื่องบินต้องตก ทหารญี่ปุ่นต้องตาย ท่านจึงทำวิธีอื่นแทน อีกครั้งในงานศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระกำลังเตรียมงานกันอยู่ มีเด็กน้อยถีบจักรยานไปมารบกวน หลวงปู่ฝั้นท่านจึงพูดว่า "เดี๋ยวเราจะดัดนิสัยไอ้เด็กพวกนี้ จะทำให้รถมันล้ม แต่ไม่ให้มันเจ็บ" พอท่านพูดจบรถจักรยานเด็กล้มลงทันที ด้วยวัตรปฏิบัติ และพลังจิตอันล้ำเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง โอวาทธรรมคำสอนที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วิสัชนาตอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “..คนทุกวันนี้ เข้าใจว่า ศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้า ประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่น้องกันแล้ว ก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้น ให้มีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด..” หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ณ วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร สิริอายุ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๕๒ ประวัติปฏิปทาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร “พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเหนือฟ้าดิน” วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถือกำเนิดในสกุล วรรณวงศ์ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคมมารดาชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์จะเห็นได้ว่าเชื้อสายของท่านเป็นขุนนางทั้งฝ่ายบิดาและมารดา เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน ที่เรียกว่า ผู้ไทยซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ในสมัยราชการที่สาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระอาจารย์ฝั้นเคยเล่าว่า บรรพบุรุษของท่าน ได้ข้ามมาแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นครอบครัวใหญ่ เรียกว่า ไทยวัง หรือ ไทยเมืองวัง (ซึ่งเป็นเมืองหนึ่ง อยู่ในเขตมหาชัย ของ ประเทศลาว)บิดาของท่านพระอาจารย์ เป็นคนที่มีความเมตตาอารีใจคอกว้างขวาง เยือกเย็นเป็นที่นับหน้าถือตา จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ต่อมาบิดาของท่านได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัวไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ในที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม เพราะเป็นพื้นที่ ที่มีลำห้วยอูน ผ่านทางทิศใต้และลำห้วยปลาหาง อยู่ทางทิศเหนือ เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และ เลี้ยงไหมตั้งชื่อว่า บ้านบะทอง โดยบิดาของท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเยาว์ พระอาจารย์มีความประพฤติเรียบร้อยนิสัยใจคอเยือกเย็น อ่อนโยน โอบอ้อมอารี กว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดาของท่าน ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใดๆ ทั้งสิ้น ด้านการศึกษา พระอาจารย์ฝั้น ได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดบ้านม่วงไข่ (วัดโพธิ์ชัย)สอนโดย ครูหุน ทองคำ และครูตัน วุฒิสาร ตามลำดับพระอาจารย์ เมื่อครั้งนั้น เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมากสามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากครู ให้สอนเด็กอื่นๆแทน ในขณะที่ครูมีกิจจำเป็น พระอาจารย์ฝั้น เคยคิดจะเข้ารับราชการ จึงได้ตามไปอยู่กับ นายเขียน อุปพงศ์ ผู้เป็นพี่เขย ซึ่งเป็นปลัดเมื่องฝ่ายขวา ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงในช่วงนี้ ท่านได้พิจารณาเห็นความยุ่งเหยิง ไม่แน่นอนของชีวิตคฤหัสถ์ ได้เห็นการปราบปรามผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน มีการประหารชีวิตครั้งนั้น พี่เขยได้ใช้ให้เอาปิ่นโตไปส่งนักโทษอยู่เสมอ ท่านได้เห็นนักโทษหลายคน แม้เคยเป็นใหญ่เป็นโต เช่น พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่น ต้องโทษฐานฆ่าคน นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย ก็ถูกจำคุก แม้แต่นายเขียน พี่เขยของท่านเมื่อย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ก็ต้องโทษฆ่าคนตายเช่นกัน สภาพของนักโทษ ที่ท่านประสบมา มีทั้งหนักและโทษเบานับได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิตท่านได้สติ บังเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก จึงเลิกคิดที่จะรับราชการ และตัดสินใจบวชเพื่อสร้างสมบุญบารมีทางพระพุทธศาสนาต่อไป ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา ชีวิตสมณะของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคมและในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ถัดมา ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกายที่วัดสิทธิบังคม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคมมีพระครูป้อง นนทะเสน เป็นพระอุปัชฌาย์มีพระอาจารย์นวล และ พระอาจารย์สังข์ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระอนุสาวนาจารย์ หลังจากออกพรรษาปีนั้น ท่านได้ไปอยู่ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทองจึงได้ปฏิบัติธรรม อบรมกัมมัฏฐาน ตลอดจนการออกธุดงค์ อยู่รุกขมูล กับท่านอาจารย์อาญาครูธรรม ปีถัดมา ๒๔๖๓ ท่านได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตจึงได้เที่ยวธุดงค์ มาพร้อมด้วยสามเณรหลายรูป และพักที่ป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็นวัดภูไทสามัคคี)เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น ท่านบังเอิญเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสติปัญญา ควาสามารถ ของ พระอาจารย์มั่น จึงมอบตัวเป็นศิษย์ พร้อนท่านอาญาครูดี และพระครูกู่ ธมฺมทินฺโนเนื่องจากทั้งสามท่าน ยังไม่พร้อมในเครื่องบริขาร จึงไม่ได้ธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่นไปในขณะนั้น เมื่อทั้งสามท่าน ได้เตรียมพร้อม เครื่องบริขารเรียบร้อยแล้วประจวบกับได้พบ พระอาจารย์ดูลย์ อลฺโต ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นมาก่อน และกำลังเดินธุดงค์ ติดตามพระอาจารย์มั่นเช่นกัน พระอาจารย์ฝั้น จึงศึกษาธรรม เรียนวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้น จากพระอาจารย์ดูลย์ จากนั้นทั้งสี่ท่าน ได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์ดูลย์ เป็นผู้นำทาง จนได้พบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างดินแดงท่านทั้งสี่ ได้ศึกษาธรรม กับ พระอาจารย์มั่น ที่นั่น เป็นเวลาสามวันจากนั้นก็ได้ไปกราบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล (ผู้ได้ร่วมเผยแพร่ธรรมกับพระอาจารย์มั่น)ที่บ้านหนองดินดำ แล้วจึงไปรับการอบรมธรรม จากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมที่บ้านหนองหวายเป็นเวลาเจ็ดวันจากนั้นจึงได้ไปที่บ้านตาลเนิ้ง และ ได้รับฟังธรรมจาก พระอาจารย์มั่น เสมอๆ เมื่ออาจารย์ฝั้นได้รับการศึกษาอบรมธรรมะ จากพระอาจารย์มั่น และได้ฝึกกัมมัฏฐานจนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ บำเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มารบกวนได้ท่านจึงได้ตัดสินใจทำการญัตติ เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่วัดโพธิ์สมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษากับพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายร่วมกับเพื่อนสหธรรมิกหลายรูป เช่น พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโนพระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาจารย์กว่า สฺมโนออกพรรษาปีนั้น ท่านได้เดินเลียบไปกับฝั่งแม่น้ำโขง เที่ยวธุดงค์ออกไปหลายแห่ง วกกลับมายังวัดอรัญวาสี แล้วธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ที่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน(ปัจจุบัน อำเภอศรีสงคราม) ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้จำพรรษา และโปรดญาติโยม ที่ดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลังออกพรรษา ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ร่วมกับหมู่คณะออกเผยแพร่ธรรมทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเอาโยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ไปอุบลฯด้วยในปี ๒๔๗๐ นี้ ท่านได้จำพรรษา ที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับพระอาจราย์กู่ เทศนาสั่งสอนญาติโยมที่นั่นพ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้ออกไปจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารหลังออกพรรษา ท่านได้ไปเผยแพร่ธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นได้จำพรรษาที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา ๓ ปี ระหว่างนั้น ท่านได้อบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้เลิกนับถือผีเลิกกลัวผีให้หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือศีลห้าและพระภาวนาพุทโธท่านเป็นที่พึ่งและให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้านทั่วไปคนคลอดลูกยาก คนไอไม่หยุด คนถูกผีเข้า คนมีมิจฉาทิฏฐิหลอกลวงชาวบ้านท่านช่วยเหลือแก้ไขด้วยอุบายธรรมะได้หมดสิ้นท่านเองบางครั้งก็อาพาธ เช่น ระหว่างที่จำพรรษาบนภูระงำ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่นท่านปวดตามเนื้อตามตัวเป็นอย่างมาก ท่านก็ใช้ธรรมโอสถ โดยนั่งภาวนาในอิริยาบทเดียวตั้งแต่ทุ่มเศษ จนเก้าโมงเช้า ทำให้อาการอาพาธหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมานและให้ท่านก้าวหน้าในทางธรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๖๘ พรรษาที่ ๘ ถึง ๑๙ ท่านได้จำพรรษาที่ จังหวัดนครราชสีมา โดยตลอดแต่ในระหว่างนอกพรรษา ท่านจะท่องเที่ยวไปเผยธรรมและตัวท่านเอง ก็ได้ศึกษาและปฏิบัติด้วย เช่น ก่อนเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านพระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระอาจารย์สิงห์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมอาการ ของ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโน)โดยพักที่ วัดบรมนิวาส เป็นเวลา๓ เดือนเมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้ออกธุดงค์ไปในดงพญาเย็นท่านได้พบเสือนอนหันหลังให้ ในระยะที่ใกล้มาก ท่านสำรวมสติเดินไปใกล้ๆมันแล้วร้องถามว่า "เสือหรือนี่" เจ้าเสือผงกหัว หันมาตามเสียง แล้วเผ่นหายเข้าป่าไป เมื่อเดือน ๓ พ.ศ. ๒๔๗๙ พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อนได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้อยู่ใกล้พระอาจารย์มั่น ท่านจึงได้เร่งความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน เล่ากันว่า ท่านทั้งสอง ต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิ ได้โดยตลอด ทั้งๆที่ กุฏิห่างกัน เป็นระยะทางเกือบ ๕๐๐ เมตร ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์ฝั้น ได้ออกเดินธุดงค์ จาก วัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขาที่เห็นว่า สงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้ และขณะเดียวกัน ก็สั่งสอนธรรมะ ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่มีความทุกข์ยาก และ พาชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นท่านธุดงค์ไปเขาพนมรุ้ง ต่อไปจังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งถึง จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่วัดบูรพา ที่จังหวัดอุบลราชธานี นี้เองพระอาจารย์ฝั้น มีหน้าที่เข้าถวายธรรม แก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งกำลังอาพาธ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคชรา)และใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพร รักษาโรคปอดแก่ท่านอาจารย์มหาปิ่นจนกระทั่งออกพรรษาปีนั้น ทั้งสมเด็จฯ และ พระอาจารย์มหาปิ่น มีอาการดีขึ้น ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึง ๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษา ที่วัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมชื่อวัดป่าธาตุนาเวงเป็นป่าดงดิบ ห่างจากตัวเมือง ห้ากิโลเมตรเศษท่านได้นำชาวบ้าน และ นักเรียนพลตำรวจ พัฒนาวัดขึ้น จนเป็นหลักฐานมั่นคงในพรรษ าท่านจะสั่งสอนอบรม ทั้งศิษย์ภายใน (คือพระเณรและผ้าขาว)และศิษย์ภายนอก (คืออุบาสก อุบาสิกา) อย่างเข้มแข็ง ตามแบบฉบับ ของ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นทุกวันพระ พระเณรต้องฟังเทศน์ แล้วฝึกสมาธิ และเดินจงกรมตลอดทั้งคืนอุบาสก อุบาสิกาบางคน ก็ทำตามด้วย ช่วงออกพรรษา ท่านก็มักจะจาริกไปกิจธุระ หรือ พักวิเวกตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณเทือกเขาภูพาน เป็นต้น ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านไปวิเวกที่ภูวัง และได้สร้างพระพุทธรูปบนหน้าผา ที่สวยงามาก ออกพรรษา ปีพ.ศ. ๒๔๙๒ ได้ติดตาม พระอาจารย์มั่น ถึงวัดสุทธาราม ที่สกลนครและเฝ้าอาการพระอาจารย์มั่น จนแก่มรณภาพ ออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๙๕ ท่านได้ออกไปเผยแพร่ธรรมแถวภาคตะวันออก เช่นที่ จันทบุรี บ้านฉาง(จ.ระยอง) และฉะเชิงเทราในระหว่างนั้น ก็แวะเผยแพร่ธรรมไปตามที่ต่างๆด้วย เช่น ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯและวัดป่าศรัทธาราม นครราชสีมา เป็นต้น ราวกลางพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงเสมอว่าท่านได้นิมิตเห็น ถ้ำแห่งหนึ่ง ทางตะวันตก ของเถือกเขาภูพาน เป็นที่อากาศดี สงบ และ วิเวกพอออกพรรษาปีนั้น เมื่อเสร็จธุระกิจต่างๆ แล้ว ท่านได้พาศิษย์หมู่หนึ่ง เดินทางไปถึงบ้านคำข่าพักอยู่ในดงวัดร้าง ข้างหมู่บ้าน เมื่อคุ้นกับชาวบ้านแล้ว ท่านได้ถามถึงถ้ำในนิมิต ในที่สุด ชาวบ้านได้พาท่านไปพบกับถ้ำขาม บนยอดเขายอดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของท่านมากเพราะเป็นที่วิเวกจริงๆ ทิวทัศน์สวยงาม มองเห็นถึงจังหวัดสกลนครอากาศดี สงัด และ ภาวนาดีมาก ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านพระอาจารย์ ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพรเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และ เพื่อจะได้สั่งสอนอบรมชาวบ้านพรรณา อำเภอพรรณานิคม บ้างวัดป่าอุดมสมพรนี้ เดิมเป็นป่าช้าติดกับแหล่งน้ำ ชื่อหนองแวงที่บ้านบะทอง ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านท่านเคยธุดงค์มาพักชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานแด่บุพการีครั้งเมื่อออกพรรษา ปี ๒๔๘๗ พร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และ พระอาญาครูดี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้น ก็ได้มีพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษามาโดยตลอดจนกระทั่งได้เป็นวัดป่าอุดมสมพร ด้วยนิสัยนักพัฒนา ช่วงที่พักที่วัดป่าอุดมสมพร (๒๕๐๕)ท่านอาจารย์ได้นำญาติโยม พัฒนาเส้นทาง จากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ ไปจนถึงบ้านหนองโคกท่านไปประจำอยู่กับงานทำถนน ทั้งวัน อยู่หลายวัน จนอาพาธเป็นไข้สูงแพทย์จึงได้ขอร้อง ให้ท่านงดขึ้นไปจำพรรษา บนถ้ำขาม เพราะสมัยนั้น ยังต้องเดินขึ้นดังนั้น ท่านจึงจำพรรษา ปี ๒๕๐๖ ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึงพรรษาสุดท้ายของท่าน คือ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านพระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาที่ วัดป่าอุดมสมพร โดยตลอด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัย ท่านได้พัฒนาวัดนั้นเป็นการใหญ่ มีการขุดขยายหนองแวง ให้กว้าง และ ลึก เป็นการใหญ่สร้างศาลาใหญ่ เป็นที่ชุมนุม สำหรับการกุศลต่างๆ สร้างกุฏิ โบสถ์น้ำ พระธาตุเจดีย์ถังเก็บน้ำ และ ระบบท่อส่งน้ำถึงแม้ท่านจะจำพรรษาที่ วัดป่าอุดมสมพร แต่วัดถ้ำ และ วัดป่าภูธรพิทักษ์ ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบ และ อปการะของท่าน ท่านยังคงไปๆมาๆ ด้วยความห่วงใยอยู่เสมอเมื่อวันที ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ และได้ทรงนิมนต์ท่าน เข้าไปพักที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างที่พักใน วัดบวรฯ ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน และ สนทนาธรรมกับท่าน นอกจากนั้น ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ยังได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนท่าน ที่วัดป่าอุดมสมพร เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ อีกด้วย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ณ วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร สิริอายุ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๕๒ ฟังเสียงพระธรรมเทศนาหลวงปู่ฝั้น อาจาโรได้ที่ Link : http://www.fungdham.com/sound/fhan.html (http://www.fungdham.com/sound/fhan.html) |