หัวข้อ: สำนักปฏิบัติ ... ? เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 16, 2009, 04:50:04 PM (http://www.dhammahome.com/site/gallery/jpg/0036e99/gal003731259ca2.jpg) แนวทางเจริญวิปัสสนา โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ . . . ถ้าคิดว่า คนสมัยโน้น มีศรัทธามากกว่า คนในสมัยนี้ ก็เข้าใจผิด เพราะเหตุว่า คนสมัยโน้น เมื่อได้ฟังพระธรรม และมีศรัทธาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือไม่ว่าจะเป็นทาสี ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน. เมื่อพูดถึง ศรัทธา ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีศรัทธา มากกว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นอุบาสก มีทรัพย์สินเงินทอง บำรุงพระภิกษุสงฆ์ แต่ท่าน ก็มิได้สร้างสำนักปฏิบัติ ของคฤหัสถ์. วิสาขามิคารมาตา เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นผู้มีความเลื่อมใส มีศรัทธามั่นคง ในพระรัตนตรัย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทอง มีทั้งศรัทธา มีทั้งปัญญา มีทั้งทรัพย์ แต่ วิสาขามิคารมาตา ก็ไม่ได้สร้างสำนักปฏิบัติ ของคฤหัสถ์. เป็นเพราะเหตุใด.? คนในสมัยโน้น จึงไม่สร้างสำนักปฏิบัติ ของคฤหัสถ์. เป็นเพราะเหตุว่า คนในสมัยโน้น ไม่ได้เข้าใจคลาดเคลื่อน ในหนทางปฏิบัติ. ถ้าจะคิดถึง ขุชชุตตรา ซึ่งเป็นอุบาสิกา สาวิกา เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูตร เป็นผู้ที่ได้ฟังมาก แต่ ขุชชุตตรา ก็ไม่ได้มีสำนักปฏิบัติ. ไม่มีใครตั้งสำนักปฏิบัติ ในครั้งโน้นเลย. . . . ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภาค ๑ มิคชาลสูตร ที่ ๑ ที่พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมิคชาละ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า ภิกษุ จึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุ จึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง." พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกร มิคชาละ รูป ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ (รูป) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ แสดงความหมกมุ่นใน รูป นั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ย่อมมีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง ดูกร มิคชาละ ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง." ( ตลอดไปจนถึง สัทธารมณ์...ธัมมารมณ์ทางใจ) แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสต่อไปว่า "ดูกร มิคชาละ ภิกษุ ผู้มีปกติอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะ อันสงัด คือ ป่าหญ้า และ ป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการความสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง." ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะผู้นั้น ยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง. โดยนัยตรงกันข้าม ถึงแม้จะเป็น รูป ที่น่าพอใจมีอยู่ (และ) เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่น่าพอใจ มีอยู่ แต่ไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว. พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า "ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว." . . . เพราะฉะนั้น ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ ลักษณะ ของนาม และ รูป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง. ถึงจะมีคนเยอะ แต่ขณะที่ สติระลึก รู้ลักษณะ ของเสียง หรือ ลักษณะของได้ยิน ฯ ขณะนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น หรือ บุคคลอื่นเลย ถึงแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฯ บางท่านบอกว่า ที่บ้านของท่าน ไม่สงบ แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อเป็นชีวิตจริงๆ ของท่าน ซึ่งเป็นนามธรรม และ รูปธรรม ทุกขณะ. การที่จะไม่อบรมเจริญปัญญา เพื่อ รู้สภาพธรรม ตามความป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่มุ่งหวัง เพียงแต่จะประพฤติตามผู้ที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรชิต. และในขณะที่กำลังเจริญสมาธิ ในที่หลีกเร้น นั้น จะทำให้ ปัญญา รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ในชีวิตจริงๆ ได้อย่างไร.? . . . พระภิกษุทั้งหลาย ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงาน หรือ ขณะที่จิตสงบ สติปัฏฐาน ก็เกิดระลึกรู้ สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ในขณะนั้นด้วย. คฤหัสถ์ทั้งหลาย ก็อบรมเจริญปัญญา เช่นเดียวกับพระภิกษุ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือทำกิจการงานใดๆ เพราะปัญญา จะต้อง รู้ลักษณะของนาม และ รูป ตามปกติ ตามความเป็นจริงในชีวิตปะจำวัน. ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=10969 (http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=10969) หัวข้อ: Re: สำนักปฏิบัติ ... ? เริ่มหัวข้อโดย: clubzz ที่ มิถุนายน 29, 2011, 04:02:35 PM ขอบคุณมากๆคร่ะ
|