KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:51:56 AM



หัวข้อ: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:51:56 AM
โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 11:00:54

เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับ คุณดังตฤณ
ซึ่งมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมผมแทบทุกสัปดาห์
แถมยังมีโอกาสได้คุยกับ คุณมะขามป้อม และคุณพัลวันทาง ICQ
เห็นว่ามีเนื้อหาเบาๆ น่าสนุก จึงนำมาเล่าสู่กันฟังตามประสาคนวงในด้วยกัน

คุณดังตฤณมาเล่าให้ผมฟังว่า จิตใจเบื่อหน่ายโลกและผู้คนเป็นอย่างยิ่ง
เพราะช่วงนี้ มีเวลาให้กับการปฏิบัติอย่างเต็มที่
จิตใจสงบวิเวก น้อมไปในทางจะทำความเพียรของตนเอง
มองโลกและผู้คนเป็นความว่างเปล่าไปหมด

ผมก็เล่าให้คุณดังตฤณฟังว่า
ทุกวันนี้ จิตของผมมองโลก มองคน เหมือนเห็นภาพสองมิติ
คือแบนราบเสมอกันไปหมด ไม่มีคน ไม่มีสิ่งแวดล้อม
ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะเป็นภาพสามมิติ
คือยังมีคนนั้น คนนี้ สิ่งนั้น สิ่งนี้ ที่นูนเด่นออกมาจากภาพที่เห็น
คุณดังตฤณ ก็เล่าว่า เห็นภาพแบบนี้เหมือนกัน

อีกท่านหนึ่งคือคุณมะขามป้อม ซึ่งมาเล่าอาการของจิตให้ฟัง
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน น่าฟังมากครับ

มะขามป้อม  29/2/43  15:54 เพิ่งจะคุยอยู่ไม่นานว่าลานธรรมสงบ
                               ตอนนี้คลื่นแรงอีกแล้ว
 
                               มีคำถามเดียวครับก่อนกลับบ้าน
                               ช่วงหลังๆ ที่ปฏิบัติมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเด่นชัดมากเลยครับ
                               คือรู้สึกถึงความไม่จริงของโลกที่เราอยู่
                               หรือแม้กระทั่งตัวจิตเอง
 
                               เป็นความรู้สึกนะครับไม่ใช่การนึกนำ
 
                               พี่เคยรู้สึกแบบนี้หรือเปล่าครับ

สันตินันท์ 29/2/43  15:57 รู้สึกสิครับ พี่เห็นอยู่ตลอดถึงความไม่จริงของจิต
                               เพราะเห็นชัดว่า สิ่งที่เราเห็นว่าจิต
                               ความจริงเป็นแค่สัญญาเท่านั้น
                               มันแนบแทบเป็นเนื้อเดียวกับใจ
                               สิ่งที่เราเห็นจึงเป็นของปลอม เป็นขันธ์
                               ส่วนธรรมชาติของจริงนั้น ยังไม่ปรากฏออกมา
                               อันนั้นครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่าใจบ้าง จิตหนึ่งบ้าง
                               ถ้าจบกิจแล้วจึงจะอยู่กับธรรมแท้ได้ตลอดครับ

มะขามป้อม  29/2/43  16:02 ช่วงหลังๆ มานี้ ทุกครั้งที่กำหนดจิต
                               จะรู้สึกอย่างนี้ตลอดเวลาเลย
                               เป็นความรู้สึกที่แปลกจริงๆ
                               เลยถามดูนะครับ
 
                               แสดงว่าเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับ
                              ผู้ปฏิบัติถึงระดับหนึ่งใช่ไหมครับ
 
สันตินันท์ 29/2/43  16:05 เป็นธรรมดาครับ ขอเพียงดูออกตามความจริง
                               ก็จะเห็นว่า เรายังอยู่กับขันธ์
                               เพราะเรายังไม่หลุดพ้นถาวร
                               ถ้าไปเห็นว่าอยู่กับของจริงแล้ว อันนี้จึงน่าห่วงครับ

มะขามป้อม  29/2/43  16:07 ขอบคุณครับพี่
                               ขอตัวไปรับลูกก่อนครับ
                               สวัสดีครับ

สันตินันท์ 29/2/43  16:08 เชิญครับ
                               เรื่องที่น้องถามนี้
                               เป็นสิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านสอนครับ ที่ว่า
                               นักปฏิบัติทั้งหลายไปหลงสัญญาว่าเป็นใจ
                               ที่น้องเห็นว่าไม่ใช่ใจ พี่ก็ดีใจด้วย
                               สวัสดีครับ

อีกท่านหนึ่งคือคุณพัลวัน
ซึ่งได้เห็นอะไรในลักษณะเดียวกับคุณมะขามป้อมและผม
แล้วมาเล่าให้ฟัง ดังนี้

พัลวัน     1/3/43   8:40  สวัสดีครับครู
 
                               ตั้งแต่ผมได้เห็นวันนั้น
                               ว่าสัญญามันห่อหุ้มความไม่มีอะไร ที่ว่างๆไว้
                               ทำให้ความสงสัยในธรรมเรื่อง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
                               นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ก็หายไปหมดเลยครับ
                               และเห็นว่าเป็นจริงตามนั้น
                               ไม่สงสัยอะไรเหลือแล้วครับ (สงสัยแบบโลกนะครับ
                               คงไม่ใช่วิจิกิจฉาหมดไป
                               เพราะคงมีอย่างอื่นๆอีกครับ)
 
                               สิ่งที่ดีคือ เมื่อได้พิจารณาธรรมใด
                               เห็นความเปลี่ยนแปลงปรากฎบ้าง ความเกิดดับบ้าง
                               เห็นว่ามันไม่ใช่เราแต่เราแบกภาระบ้าง
                               ก็ยิ่งเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสุขเลย..

พัลวัน     1/3/43   8:40  และเห็นว่า ความสงบ(ที่แท้จริง
                               คือการปราศจากความปรุงแต่ง)
                               คือความสุขที่แท้จริงครับ

สันตินันท์ 1/3/43   8:41  สาธุ ครูดีใจด้วยครับ
                               สิ่งที่ปรากฏออกมาก็คือขันธ์เท่านั้นครับ
                               และก็คือทุกข์ทั้งนั้น ส่วนธรรมแท้
                               ไม่มีร่องรอยอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่ความไม่มีอะไรเลย

พัลวัน     1/3/43   8:45  ครับครู _/|\_

********************************************

ที่นำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อจะสรุปว่า
นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติคุยกันรู้เรื่องง่ายดีครับ ไม่กี่คำก็เข้าใจกันแล้ว
ใครจะทำมาทางไหน ที่สุดก็ลงมาที่อันเดียวกันนั่นเอง
คือลงมาที่ใจอันพ้นจากความปรุงแต่ง
ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปนั้น
นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรอีกเลย

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 11:00:54


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:52:23 AM
ความเห็นที่ 2 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 11:22:55

นานๆผมจะเห็นอย่างนั้นทีนึงนะครับ ไม่ได้เก่งกาจอะไรครับ ผมมันเป็นประเภทมือเก่าสนิมเขรอะครับ


มี ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ที่เคยคุยกับครูมานานแล้วเหมือนกันครับ เรื่องภาพที่เห็นน่ะครับ ว่าหากตอนนั้นๆมีสติอยู่ และไม่ส่งจิตออกนอก ภาพที่เห็นนั้นจะเป็นภาพสองมิติจริง ยังกับว่าเราไปรู้อยู่ที่จอหนังที่รับภาพ ภาพจะแบนไปหมดครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่ใจมันพุ่งออกไปรับรู้ภาพที่ไกลตัวไป มันจึงจะเป็นภาพสามมิติครับ (เล่าให้ฟังครับ แต่ผมไม่ได้เป็นอย่างนี้เป็นประจำครับ นานๆๆจะมีมาให้เห็นสักแว่บหนึ่งครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 11:22:55


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:53:05 AM
ความเห็นที่ 8 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 12:35:59

ที่จริงเรื่องของความรู้สึกถึงมายาแห่งจิตนี้ มันมีต้นสายปลายเหตุของการปฏิบัติอยู่ครับ
ผมได้ถามหลายๆ คนว่ารู้สึกไม่ว่าโลกที่เราอยู่นี้มันเป็นเพียงภาพมายา เขาก็บอกว่า
ไม่รู้สึก ตัวผมเองเมื่อก่อนก็ไม่รู้สึก ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสาเหตุ

สาเหตุก็คือเราไม่รู้จักจิต (รู้แต่คำนิยามในตำรา ว่าจิตคือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์)
แต่ไม่ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองว่า จิตแท้จริงคืออะไร ความรู้จริงนี้เกิดจากการมองเห็นจิต
(ภาวนามยปัญญา) คือเห็นแค่ครั้งเดียว ก็รู้อยู่ตลอดเวลาว่านี่คือจิต ธรรมชาติที่รับรู้
อารมณ์ อยู่ขณะนี้คือจิต (จริงดังคำของหลวงปู่ดุลย์ ไม่ผิดเพี้ยนเลยว่า จิตเห็นจิต เป็นมรรค)

แต่ถ้าจิตเห็นจิตแล้วไม่โยนิโสนมสิการถึงอนัตตาของมัน ความรู้สึกถึงมายาแห่งจิต
ก็ไม่เกิด เมื่อไม่รู้สึกถึงมายาแห่งจิตก็ง่ายต่อการหลงสัญญาว่าเป็นใจ (อย่างที่
หลวงปู่มั่นกล่าว)

โดยสรุปตรงนี้ก็คือ มีการปฏิบัติ จนเห็นแจ้งว่าจิตคืออะไรก่อน หลังจากนั้นต้องมี
การโยนิโสนมสิการถึงอนัตตาของจิต เมื่อความรู้สึกถึงมายาแห่งจิตนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
เราก็จะรู้สึกอยู่ทุกครั้งที่เจริญสติปัฏฐานครับ

***คำเตือน***
อันตราย! เป็นความสามารถเฉพาะตัว ห้ามเลียนแบบ :)

ที่จริงว่าจะไม่ post เรื่องนี้ แต่พี่สันตินันท์ต้องการให้เก็บไว้เป็นร่องรอยสำหรับ
ผู้มาทีหลังบ้าง รู้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติเท่านั้นนะครับ
อ่านจบแล้วก็เหยียบเอาไว้เลย อย่างเก็บไปปรุงแต่งตาม

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 12:35:59


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:53:37 AM
ความเห็นที่ 9 โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 14:41:17

อ่าน อาการอย่างที่คุณมะขามป้อมเป็นแล้ว ทำให้นึกถึงเมื่อก่อนนี้หลายปีแล้วครับ เคยพิจารณาว่า สิ่งของทั้งหลาย (โดยส่วนใหญ่หมายถึงรูป) ล้วนแต่ประกอบด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น วัตถุชิ้นหนึ่งประกอบไปด้วย วัตถุชิ้นย่อยๆประกอบกัน วัตถุชิ้นย่อยๆเหล่านั้น แต่ละชิ้นก็จะประกอบไปด้วยวัตถุชิ้นย่อยๆเล็กๆประกอบกันไปอีก แยกแยะไปเรื่อย เป็นผลึก เป็นโมเลกุล เป็นอะตอม เป็นโน่นเป็นนี่ แล้วสุดท้ายกลายเป็นคลื่น เป็นพลังงานไปซะอีก

กับเคยพิจารณาเปลวไฟ (หลายคนอาจจะทราบ ว่าผมชอบมองเปลวไฟแต่เด็ก เพราะมองแล้วรู้สึกสงบ มีความสุขอยู่ภายใน) ว่าเปลวไฟแท้จริงไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นเพราะมีแสงสว่างที่ได้จากปฎิกริยาการสันดาป ของ carbon กับ oxigen และ hydrogen เกิดเป็น carbondioxyde และน้ำ และได้ความร้อนออกมากับแสงสว่าง พิจารณาซ้ำลงไปว่า โมเลกุลของสารต่างๆที่ว่า เมื่อได้ทำปฎิกริยาแล้ว ก็ละออกไปจากบริเวณนั้น และมีโมเลกุลใหม่ๆเข้ามาทำปฎิกริยาต่อเนื่องกันไป ไม่มีโมเลกุลใด ที่ทำปฎิกริยาแล้วตั้งอยู่ในลักษณะส่งแสงและความร้อนออกมาได้ตลอดไป พิจารณาอย่างนี้ก็ทำให้ฉุกใจขึ้นบ่อยๆว่า

เราเห็นเป็นเปลวไฟ ในขณะที่เปลวไฟแท้จริงกลับไม่มี!

พิจารณา อย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันทำให้เหมือนกับว่า อะไรๆเหล่านี้ก็เป็นมายา เป็นของหลอกลวงไปทั้งสิ้น แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่า แล้วอะไรเป็นของจริง ดูเคว้งคว้าง สับสน ไม่รู้จะปรึกษาใคร (ทั้งๆที่บ้านที่ผมอยู่ อยู่ใกล้วัดสันติธรรม ที่เชียงใหม่ แค่ขับรถสัก 3 นาทีเองครับ สงสัยตอนนั้น วิบากกรรมส่วนอกุศลยังกางกั้นไว้อยู่) หลังๆก็เลยไม่ได้พิจารณาอย่างนั้นอีกครับ ก็เพิ่งมานึกได้เมื่อได้อ่านเรื่องราวของคุณมะขามป้อมน่ะครับ


โดยคุณ พัลวัน วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 14:41:17


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:54:27 AM
ความเห็นที่ 10 โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 15:10:40

   เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่าน ได้ไปศึกษากับพี่สันตินันท์ที่ศาลาลุงชิน กลับมาก็เพียรฝึกให้รู้ตัวอยู่เสมอ (แต่ก็ยังเผลอมากอยู่) จึงได้สังเกตเห็นถึง การเห็นและการได้ยินอย่างมีความรู้ตัวอยู่
   โดยขณะที่มองเห็นภาพต่างๆนั้น ถ้าเราไม่ใส่ใจอะไรก็จะเห็นภาพมัวไปทั้งหมด ลักษณะเหมือนภาพถ่ายที่ไม่มีจุดโฟกัส
   แต่ถ้าเราใส่ใจอย่างรู้ตัวอยู่ ภาพที่เห็นก็จะเด่นชัดเฉพาะจุดนั้นๆ ส่วนบริเวณอื่นก็จะยังคงมัวอยู่เหมือนเดิม
   แต่ถ้าเผลอเต็มๆขณะมองนั้น รู้สึกเหมือนกับจะเห็นเฉพาะจุดที่จิตเผลอเข้าไปอยู่  ส่วนบริเวณอื่นนั้นจับภาพแทบไม่ได้เลยครับ
   ที่ผมเห็นเป็นอย่างนี้ครับ ก็เลยยังไม่เข้าใจถึง การมองเห็นเป็นภาพสองมิติอย่างที่พี่สันตินันท์ คุณดังตฤณ และคุณพัลวัน กล่าวไว้ครับ

โดยคุณ สุรวัฒน์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 15:10:40


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:55:17 AM
ความเห็นที่ 12 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 16:08:03

การที่จิตรู้อะไรได้เป็นจุดเล็กๆ เฉพาะตรงที่สติกำหนดลงนั้น ก็ถูกครับ
เหมือนอย่างเราคุยกับใครสักคน เรามองหน้าเขา
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เราเห็นหน้าของเขาเป็นจุดๆ เท่านั้น
เราต้องกวาดตาเคลื่อนที่ไปตรงนั้นตรงนี้
และอาศัยความจำรูปได้ เป็นเครื่องสนับสนุน
เราจึงเกิดความรู้สึกว่า เราเห็นหน้าเขาทั้งหน้า

ส่วนการเห็นภาพสองมิตินั้น ขอเรียนว่า ไม่ใช่ภาพทางตานะครับ
มันเป็นคำเปรียบเทียบถึงความรู้สึกเท่านั้น
เมื่อใดจิตสักว่ารู้ สักว่าเห็น
เมื่อนั้น รูปก็ดี เสียงก็ดี กระทั่งความคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ถูกเห็น
เมื่อปราศจากความสำคัญมั่นหมายของจิต
สิ่งที่จิตไปรู้เห็นนั้น ก็ไม่มีความโดดเด่นผิดธรรมดาขึ้นมา
ทุกอย่างจึงเท่าเทียมกันในความเป็นธรรมดา
ใจจึงสัมผัสสิ่งต่างๆ เหมือนอย่างกับตาเห็นภาพสองมิติ

พวกเราอย่าพยายามไปมองภาพสามมิติที่ตาเห็น
ให้กลายเป็นภาพสองมิตินะครับ
มันจะกลายเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ
ขอให้เจริญสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องต่อไปดีกว่าครับ

สำหรับจุดที่ คุณมะขามป้อม อธิบายไว้นั้น
ผมขอเล่าเพิ่มเติม ในเนื้อหาเดียวกัน แต่คนละภาษา
พวกเราจะได้เห็นว่า นักปฏิบัติคุยกันคนละภาษาก็รู้เรื่องกันได้
เพราะเรามุ่งทำความเข้าใจถึงสภาวะที่แจ่มแจ้งอยู่กับใจ
ไม่ใช่ยึดอยู่ที่ศัพท์บัญญัติ
แต่ถ้าเราจะคุยกับคนอื่น ก็ต้องพยายามอิงบัญญัติของพระพุทธเจ้าไว้
มิฉะนั้นอาจจะเกิดความสับสนกันได้

ในเวลาที่เราดูจิตนั้น เมื่อเรารู้แล้วปล่อยวางอารมณ์เข้าไปตามลำดับๆ
ในที่สุด สติสัมปชัญญะจะไปประชุมลงที่จิต
ตรงนี้ถ้าไปหยุดรู้จิตอยู่อย่างซึมๆ (นิดเดียว) เพราะโมหะแทรก
เราจะไม่เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
ต่อเมื่อเกิดความเฉลียวใจนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ
ก็จะเห็นชัดว่า นามขันธ์โดยเฉพาะสัญญานั้น มันแนบอยู่กับจิต
จิตจึงทำงานหมายรู้ออกนอกได้ มายาของโลกมันเริ่มมาจากสัญญาและสังขารนี้เอง
แล้วเราก็พากันหลงว่า สัญญานี้คือจิตของเรา
พอเห็นสัญญาชัดเจน ต่างหากจากจิต
เราก็จะรู้จักธรรมชาติแท้ของจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งในแว้บเดียว
ตรงนี้แหละครับที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้แท้จริง
เพราะไม่มีฝ้ามัวใดๆ มาเคลือบคลุมไว้
ถ้ารู้จักสิ่งนี้แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะเห็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

อันนี้เล่าให้ฟังกันเล่นๆ ครับ
ทุกคนควรเอาอย่างคุณหมอ Lee ไว้นะครับ
คือฟังไว้ก่อน แล้วก็ไม่ต้องหยิบฉวยอะไรไปเลย
ไปปฏิบัติให้รู้จริงกับใจแล้ว
ค่อยกลับมาเล่าสภาวะที่พบ ด้วยภาษาที่ตนเข้าใจ
แล้วจะพบเองว่า เราพูดเรื่องเดียวกัน โดยไม่ได้นัดหมายเลย

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 16:08:03


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:55:50 AM
ความเห็นที่ 16 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 07:49:42

นึกถึงคำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ ได้ประโยคหนึ่งครับ
ท่านสอนว่า "จิตมิใช่จิต แต่ก็มิใช่มิใช่จิต"
คือถ้าเราปฏิบัติจนถึงจุดหนึ่งที่เหลือแต่ รู้ ไม่มีบัญญัติ
จิตก็เป็นเพียงธรรมชาติอันหนึ่ง ไม่คิดกระทั่งว่าตัวเองคือจิต

ธรรมตรงนี้ เป็นธรรมในขั้นเพิกถอนความยึดถือจิต
พวกเราฟังๆ ไว้ เพื่อประโยชน์ในอนาคตเถอะครับ

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 07:49:42


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:57:06 AM
ความเห็นที่ 18 โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 09:17:30

คำกล่าวของหลวงปู่ดุลย์
คงหมายถึงจิต(ขันธ์)นั้นมีอยู่โดยธรรมชาติ ธรรมดา
แต่มีอยู่โดยไม่มีใครไปยึดไว้เป็น"เรา"

เรื่องจิตเห็นจิต นั้นไม่ได้หมายความว่ามีสิ่งหนึ่ง
ที่เรียกว่าจิตอยู่ภายใน แล้วเราไปเห็นมันนะครับ(คิดว่าหลายคนคงคิดอย่างนั้น)

ไม่ได้ลึกล้ำขนาดนั้นหรอกครับ
ความจริงจิต หรือธรรมชาติมันแสดงตัวของมันอยู่แล้ว
ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้สึกถึงมันมาก่อน
เมื่อไรที่ใจสงบ กิเลสเบาบางลง ปัญญาก็จะเกิด
ความรู้สึกที่ซื่อตรงต่อธรรมชาติ ก็จะเกิดขึ้นเอง
หมายถึงโลกมันมีอยู่เช่นเดิม แต่ความรู้สึกรับรู้ต่อโลกมันเปลี่ยนไป

เปรียบเหมือนเราใส่แว่นคนละชนิดก็เห็นโลกคนละแบบ
ทั้งๆ ที่เป็นโลกใบเดียวกันครับ

ช่วงที่จิตเห็นจิตนั้นเป็นอย่างที่พี่สันตินันท์กล่าวทีเดียว
คือมีการเฉลียวใจนิดเดียว แล้วก็ร้องออกมากับตัวเอง
ว่า อ๋อ...นี่เองจิต นี่เองคือสภาพอันเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์
ตามที่นิยามไว้ในหนังสือ ไม่ผิดเพี้ยนเลย

โดยคุณ มะขามป้อม วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 09:17:30


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 06, 2009, 11:57:38 AM
ความเห็นที่ 20 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 10:26:26

คุณสุรวัฒน์ไม่โง่หรอกครับ แต่ผมเขียนไม่ชัดเอง
ที่เจอกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ทราบชัดว่า ได้สร้างสิ่งที่ดีๆ ไว้มากทีเดียว

การเขียนธรรมะ บางทีก็พาให้เข้าใจคลาดเคลื่อนง่ายๆ ครับ
อย่างเช่นเราพูดกันว่า เห็นความโกรธ
ความจริงเรารู้สึกถึงสภาวะบางอย่างที่เรียกว่าความโกรธ
คำว่าเห็นจิตก็เหมือนกัน จิตไม่มีอะไรจะให้เห็น เพราะจิตเป็นอรูป
แต่จิตก็มีสภาวะให้รู้สึกได้ เราเพียงรู้ถึงสภาวะนั้น เท่านั้น

น่ายินดีครับ ที่ได้พบนักปฏิบัติมารวมกันอยู่ที่นี่
เรื่องแบบนี้ ไม่ค่อยมีใครคุยกันหรอกครับ
ยกเว้นในหมู่พระป่านักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจังเท่านั้น

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2543 10:26:26


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ตุลาคม 03, 2010, 02:04:00 AM
อ่านหนังสือการบรรลุธรรม ของดังตฤณแล้ว

ท่านบรรยาย ว่า ท่านแย้มยิ้มตอนเห็นไตรลักษณ์ นะ

เท่ น่าดูเลย

 ;D


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ ตุลาคม 03, 2010, 02:11:40 AM
บางทีคนเรามันจะเท่ห์ ตัวเองไม่รู้หรอก...คนอื่นเค้าจะบอกเอง...

ไม่ได้อ่านหรอกครับ...เห็นแล้วค่อยยิ้มกระมังครับ...ไม่ใช่ยิ้มก่อนหรือระหว่างเห็น  :)

 


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ตุลาคม 03, 2010, 02:25:56 AM
นี่มันบอร์ด ของ ท่านกอลฟรีซซซ นะ

มายึดทุกบอร์ดเลยหรือ ;D


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ ตุลาคม 03, 2010, 02:57:30 AM
คนเค้าใจดี...ไม่งั้นเค้าตะเพิดนานแล้วครับ...

แต่ไม่ดุ...ไม่ขู่...แล้วไม่กัด...ไม่แขวะ...ตามหาพระแสงของ้าว...ของตัวเองที่ขว้างใครเค้าไปทั่วแล้วหาไม่เจอเอง...แต่ไปโทษคนอื่น.. :) :D ;)


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ตุลาคม 03, 2010, 02:59:57 AM
5 5 5 6 6 6 ;D

(เนียศีลข้อ 4 ไม่ผ่านแล้ว )


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ ตุลาคม 03, 2010, 07:49:26 PM
รู้ว่าขาด พอขาดแล้วก็สมาทานใหม่ทันทีเลย...บางคนต้องพูดให้ฉุกเอากลับมาคิดบ้าง  ไม่งั้นเดี๋ยวจะหลงนาน  :)  ;)


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 05, 2010, 12:15:26 PM
5555 ไม่ว่าหรอกครับผม

แต่กลับดีใจที่ เห็นบอร์ดมีคนเข้ามาคุยธรรมะกันครับผม

ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับท่าน


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ตุลาคม 05, 2010, 07:23:39 PM
เจ้าของบอร์ด มาแล้ว

หลงบอร์ดไป ซะ หลายเพลา ;D



หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 19, 2011, 11:37:33 AM
http://youreplay.com/watch?v=Bv27hDqg_eo

พอดีไปเจอ vdo ดีจากของพี่ตุลย์ บอกกล่าวเรื่องสังเกตอย่างไร ว่าใกล้นิพพาน ครับผม

ขอบคุณลิ้งดีจากเว็บพี่ตุลย์ ด้วยนะครับผม : http://www.dungtrin.com/


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2013, 09:19:00 AM
จิตสวย จิตหล่อ จิตขี้เหร่ จิตเรียบ จิตยู่ยี่ จิตกล้า จิตขลาด จิตนิ่ง จิตฟุ้ง
จิตสบาย จิตข้อง จิตขาว จิตดำ จิตกุศล จิตอกุศล ทุกคนรู้สึกได้ตลอดชีวิตว่ามีจริง
เปลี่ยนได้เรื่อยๆจริง แต่ด้วยความไม่รู้ จึงไม่อยากเชื่อว่าจิตเป็นอย่างไร ตายไปก็อย่างนั้น
แต่กลับเข้าข้างตัวเองว่า เคยมีรูปร่างหน้าตาและฐานะอย่างไร ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็คงเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้น

กรรมขาวสร้างจิตขาว กรรมดำสร้างจิตดำ เมื่อจิตแบบใดตั้งมั่นในขณะมีชีวิต
หลังตายก็มีชีวิตใหม่สอดคล้องกัน ทั้งรูปร่างหน้าตา ฐานะ ความเป็นอยู่ และชะตาดีร้าย

ปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต เห็นจิตแปรไปตามกรรม ทำให้จิตใสด้วยความฉลาดแบบพุทธ
ส่วนโมหะยึดอยู่ว่าจิตเที่ยงที่จะเป็นตน ทำให้จิตขุ่นด้วยความไม่รู้แบบคนทั่วไป
แม้เป็นคนดี มีจิตขาว ก็เป็นขาวขุ่น ไม่ใช่ขาวใส

อย่าช้าเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้อุบัติในทุกชาติที่เราเกิด
ท่านเป็นผู้เดียวที่สอนวิธีรู้วาระจิตตนเองเพื่อให้เห็นว่าจิตไม่เที่ยง

เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

(คือ เมื่อมีราคะอ่อนๆ ก็ให้มีสติยอมรับความจริงว่ามีราคะอ่อนๆ
พอราคะหายไป ก็จะเห็นว่าจิตที่ปราศจากราคะเป็นอย่างไร)

เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

เมื่อจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

เห็นความเป็นจิตของตนบ้าง เห็นความเป็นจิตของคนอื่นบ้าง

เห็นทั้งจิตตนและจิตคนอื่น (ว่าต่างกันอย่างไร) บ้าง

เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมรู้สึกว่าเดี๋ยวจิตก็เกิด เดี๋ยวจิตก็ดับ

กระทั่งเห็นทั้งความเกิดและความดับของจิตเป็นธรรมดา

จึงเลิกยึดมั่นว่าจิตแบบใดแบบหนึ่งเป็นตนเสียได้

ที่ตรงนั้นจิตย่อมโปร่งใส เพราะอุปาทานหายไป

ย่อมเห็นว่าคติที่ไปทั้งสูงและต่ำไม่มี นั่นเอง คือความดับทุกข์จากการเกิดและตายด้วยความไม่รู้เสียได้

จาก FB: พี่ดังตฤณ


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 21, 2013, 09:09:31 AM
• ในความเป็นพุทธ
คุณจะรู้ว่าตัวเองเริ่มแน่พอ
เมื่อสูญคนรักโดยไม่เสียน้ำตา
และไม่มีความถือสา แม้ต้องคุยยาวกับศัตรู

• ใช้ชีวิตแบบชาวพุทธ ที่มีความเบิกบาน
คือวางแผนจะอยู่อย่างเจริญรุ่งเรืองไปอีกหลายสิบปี
แต่ก็เตรียมตายอย่างสบายใจในวันนี้

• ยิ่งรู้จักพุทธศาสนาเร็วเท่าไร
ก็ยิ่งได้เห็นความโง่ของตัวเองเร็ว
และมีเวลาเหลือพอ ให้แก้โง่ได้นานขึ้นเท่านั้น

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• การพบพุทธศาสนาแบบไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง
ก็เท่ากับหมดโอกาสรู้ตัว
ว่ากำลังจ่ายค่าโง่กันเป็นภพเป็นชาติ
ซึ่งก็นับไม่ถูกว่ากี่แสน กี่ล้าน กี่โกฏิชาติแล้ว
มูลค่าในการทำให้คนๆหนึ่งเข้าใจศาสนาพุทธ
จึงตีเป็นจำนวนเงินเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้

: ค่าโง่ที่น่าเสียดายที่สุด
คือการพบพระพุทธศาสนา
แต่ไม่รู้ว่าพุทธศาสนา
คือประตูไปสู่บรมสุขอันเป็นอมตะ

มัวหลงเข้าใจว่าพุทธศาสนา
เป็นแค่อีกศาสนาหนึ่งที่มีไว้
เพื่อให้เลือกเชื่อ
หรือไม่เชื่อกันตามอัธยาศัย

• ชาวพุทธที่เข้าถึงปัญญาแบบพุทธ
จะรู้ว่าความฉลาดสูงสุดไม่ใช่เลข I.Q. สูงสุด
แต่เป็นการรู้จักโจทย์สำคัญสูงสุด
และได้คำตอบเป็นประโยชน์สูงสุด
ตามรอยบาทพระศาสดา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• เนื้อแท้ของการเวียนว่ายตายเกิดนั้น
ไม่มีใครทำอะไรใคร
มีแต่คนก่อกรรมให้ตัวเอง
เป็นอย่างไรกันทั้งสิ้น

• จุดเริ่มต้นและผู้สร้างไม่มี
มีแต่กฎว่า
ถ้าเหตุสว่าง ผลก็สว่าง
ถ้าเหตุมืด ผลก็มืด

นี่คือแก่น
อันเป็นยอดหนึ่งของศาสนาที่แสดงความจริง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• เรื่องน่าเสียดายที่สุดในชีวิตของชาวพุทธ
มีอยู่ 4 เรื่อง

1. น่าเสียดาย
ถ้าก่อนตาย...ไม่ได้ศึกษาพุทธพจน์

2. น่าเสียดาย
ถ้าศึกษาพุทธพจน์แล้ว...ไม่เลื่อมใส

3. น่าเสียดาย
ถ้าเลื่อมใสพุทธพจน์แล้ว...ไม่ปฏิบัติตาม

4. น่าเสียดาย
ถ้าปฏิบัติตามพุทธพจน์...
แต่ไม่ต่อเนื่องจนตลอดรอดฝั่ง…

ดั ง ต ฤ ณ
► http://www.facebook.com/dungtrin

_______________

โพสโดย Admin : TUNYAR
► http://www.facebook.com/DungtrinFanClub


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 05, 2013, 06:00:31 PM
• ถ้าเชื่อเรื่อง "กรรมวิบาก"
ก็เท่ากับเลิกเชื่อ "ความบังเอิญ"
หันมาเชื่อใน "เหตุผล"

เมื่อเชื่อว่า
ทุกสิ่งที่กำลังเห็น..คือผลของเหตุ
ก็ต้องเชื่อว่า
ทุกสิ่งที่กำลังทำ..คือเหตุของผล

... ... ... ... ... ... ... ...

• สิ่งทีเรากำลังประสบ
เหมาะแล้วกับกรรมที่ผ่านมา
สิ่งที่เรากำลังพบ
เหมาะสมแล้วกับกรรมที่กำลังทำ

: ตามธรรมชาติกรรมวิบาก
เราเป็นในสิ่งที่เราเคยทำ
และผลของการเป็นสิ่งที่เคยทำ
ก็มาในรูปของกำเนิดครั้งใหม่
ที่สอดคล้องกัน
นับแต่รูปร่างหน้าตา ฐานะ สติปัญญา ชะตากรรม

รายละเอียดที่เราเคยทำเสมอๆ
ปรากฎฟ้องล่อนจ้อนด้วยรูปกายนี้
กายเป็นของติดตัว
ให้ผลเป็นความทุกข์ ความสุขตลอดชีวิต

ดังนั้น
กายจึงควรได้ชื่อว่า
เป็นเจ้ากรรมนายเวรของจริง
ที่เป็นเงาตามประกบตัวตลอด

• อยากเห็นกรรมและผลกรรม ?
ส่องกระจกดู
เห็นอย่างไรนั่นแหละ ผลของกรรมเก่า
สำรวจความคิดดู
ชั่วดีอย่างไรนั่นแหละกรรมใหม่

... ... ... ... ... ... ... ...

• ถ้ามองในแง่ที่ว่า
ทุกคนต้องเป็นผู้เสวยผลกรรมของตน

ก็แปลว่า
เราทำอะไรลงไปเท่าไหร่
ก็คือลงทุนให้ตัวเอง
ได้รับกำไรหรือความขาดทุนเท่านั้น

ต่อให้เราเสียสละ
เพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นตลอดทั้งชีวิต
ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น
เราจะเป็นผู้เสวยรางวัลแห่งการเสียสละนั้นเอง

... ... ... ... ... ... ... ...

• เมื่อศรัทธา
และมีปัญญาเห็นแจ้งในเรื่องกรรมวิบาก

ต่อไปหากน้อยใจวาสนา
เราจะไม่โทษใครเลยนอกจากตัวเอง
และหากจะขอบคุณชะตาชีวิต
เราจะไม่สรรเสริญใครเลยนอกจากตัวเองเช่นกัน !

ดั ง ต ฤ ณ
► http://www.facebook.com/dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ พฤษภาคม 08, 2013, 07:33:29 PM
ทราบ ;)


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 10, 2013, 10:23:28 PM
ธรรมชาติสร้างโลกไว้กว้างใหญ่ บีบมนุษย์ตัวจ้อยให้ต้องเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน สมัยก่อนเดินเท้า สมัยนี้วิ่งรถ

การเดินทางบีบให้สร้างอาจิณกรรมทางใจและทางปาก สมัยก่อนตอนยังไม่มีรถยนต์
มีแต่ใช้เท้า ใช้เกวียน หรือใช้ม้า กรรมทางใจมักออกแนวฟุ้งซ่าน เหม่อลอย ไม่ค่อยมีอะไรมากไปกว่านั้น

แต่เดี๋ยวนี้มีรถยนต์ กรรมทางใจแรงขึ้นได้อีก ความเห็นแก่ตัวดิบๆของคนบีบให้สั่งสมความตระหนี่
ไม่ชอบให้ทาง แต่ชอบแย่งทาง ไม่ชอบให้คนอื่นไปก่อน แต่ชอบให้ตนเองไปก่อนคนอื่น

สัญชาตญาณอยากเห็นความวิบัติ ทำให้หลายคนเห็นอุบัติเหตุแล้วชะลอดูเอามันมากกว่าชะลอดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง
หรือเห็นเหตุการณ์เฉียดชนแล้วแอบเชียร์ให้รถชนอยู่ในใจ อยากเห็นหายนะของผู้อื่น ทั้งที่ไม่เคยรู้จักเขา เขาไม่เคยทำอะไรให้มาก่อน

ผลของกรรมประเภทเชียร์ให้คนอื่นวิบัติ จะย้อนกลับมาหาตัวเองในรูปของการดลใจให้หลงผิดเข้าสู่เรื่องไม่ดี

นี่ยังไม่นับการทำกรรมทางวาจา สะสมนิสัยอยากตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก ใครขวางด่า ใครหลบไม่ดีก็ด่า
 ใครเอาหัวรถยื่นออกมากลางถนนก็ด่า แต่ตอนตนเองทำจะไม่อยากด่า เป็นต้น

ถ้ามองเส้นทางไปทำงาน เป็นแบบฝึกหัดก่อกรรม ค่อยๆฝึก ค่อยๆขัดเกลาจิตใจ อยากด่าแล้วคิดถึงคำว่าพุทโธแทน
อยากเชียร์ให้ชนแล้วเห็นเป็นสิ่งผิด เปลี่ยนเป็นเมตตา เอาใจช่วยให้เขารอด ในที่สุดผ่านไปหลายเดือนหลายปี
โรงเรียนกรรมบนถนนก็สอนเราให้เป็นคนดีได้แล้ว พร้อมจะไปฝึกเรียนและผ่านบททดสอบที่หินกว่ากันในที่ทำงานได้แล้ว



ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก FB คุณ Dungtrin ครับผม


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 28, 2013, 06:23:37 PM
เมื่อเห็นด้วยตาเนื้อว่า พวกตนผิวขาว พวกอื่นผิวดำ จึงเกิดความรู้สึกว่าตนงามสง่ากว่า สูงส่งกว่า แล้วเหยียดผิว

เมื่อเห็นด้วยตาเนื้อว่า พวกตนศึกษามาก พวกอื่นศึกษาน้อย จึงเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นประโยชน์กว่า
ทำอะไรได้มากกว่า แล้วดูถูกสติปัญญา

เมื่อเห็นด้วยตาเนื้อว่า พวกตนทำบุญมาก พวกอื่นทำบุญน้อย จึงเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนดีกว่า
มีความเลิศเลอกว่า แล้วเกิดการหมิ่นราศีบุญ

เมื่อเห็นด้วยตาเนื้อว่า พวกตนเป็นมนุษย์ พวกอื่นเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก คิดอ่านไม่ได้ พัฒนาไม่เป็น
พูดจาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพไม่ถูก จึงเกิดความรู้สึกว่าตนมีภาวะยิ่งใหญ่ มีอำนาจเหนือเหล่าสัตว์
แล้วเกิดการครองโลก มีสิทธิ์จะทำอะไรสัตว์ก็ได้

แต่ถ้าเห็นด้วยตาทิพย์ว่า พวกตนเป็นมนุษย์ ยังมีพวกอื่นที่เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
ต้องทนทุกข์ทรมานสาหัสสากรรจ์อยู่ในอีกมิติหนึ่งที่ต่ำกว่า หาความสุขแบบมนุษย์มิได้
ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตนโชคดีแล้ว ที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

และถ้าเห็นด้วยตาทิพย์ว่า พวกตนเป็นมนุษย์ ยังมีพวกอื่นที่เป็นเทวดา เป็นพรหม
เสวยสุขแสนสำราญอันเป็นทิพย์อยู่ในอีกมิติหนึ่งที่สูงกว่า เหนือรสสุขหยาบๆเยี่ยงมนุษย์
ก็จะเกิดความรู้สึกว่าตนด้อยวาสนา ที่หาความเป็นเช่นนั้นไม่ได้

ต่อเมื่อเห็นด้วยปัญญาอันเป็นพุทธว่า จะเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ หรือเทวดา
หยาบก็ดี ประณีตก็ดี ได้ดีก็ตาม ตกยากก็ตาม ล้วนเป็นไปตามแรงซัดของกรรม
แต่ละรูปนามถูกกรรมเหวี่ยงไปพบกับสิ่งที่คู่ควรกับวิธีคิด วิธีพูด วิธีทำ ก็จะเกิดความสลดสังเวช
 และตระหนักว่า แม้การดูถูก เหยียดหยาม หมิ่นแคลนกัน ล้วนเป็นอกุศลธรรมที่ฉุดให้ร่วงหล่นลงสู่ภาวะต่ำชั้น
เกิดในตระกูลต่ำ ผิวหยาบ ร่างเตี้ย หน้าตาตลก ไร้ความน่ายกย่องนับถือ หรือหากบาปอกุศลหนักกว่านั้น
 ก็ร่วงหล่นลงต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ไปเลย จึงมิใช่สิ่งที่ควรให้ติดอยู่ในใจ ควรหาทางเอาออกจากใจ
ไม่ใช่ย่ามใจดูถูกผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ทั้งชาติกันเลย


ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB พี่ตุลย์ ดังตฤณ


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 05, 2013, 07:30:38 PM
ก่อนจะเห็นว่าเวลามีค่าเพียงใด ต้องเห็นให้ได้ก่อนว่าชีวิตทั้งชีวิตมีค่าขนาดไหน

คนที่เห็นทุกนาทีมีค่า ไม่ใช่คนเอาเวลาไปทำงานจนหมด แต่เป็นคนที่มองอยู่ตลอดเวลา ว่ากำลังเอาเวลาไปทำอะไรอยู่

นาทีเดียวถ้าพักผ่อนอย่างเต็มที่ จิตเป็นอิสระจากความเกาะเกี่ยวกับทุกสิ่ง
อาจมีค่ายิ่งกว่าการพักร้อนสิบวันของคนแบกงานไว้เต็มหัว หากขาดความสามารถที่จะพักผ่อน เวลาพักผ่อนก็คือเวลาว้าวุ่น

ชั่วโมงเดียวถ้าทำงานอย่างฉลาดคิด ฉลาดทำตามแผน ฉลาดเดินหน้าเข้าหาเป้าหมาย
อาจมีค่ายิ่งกว่าการทำงานสิบวันของคนทำงานขาดระบบ
หากขาดความสามารถในการทำงาน เวลาทำงานก็ไม่ต่างจากเวลานั่งฟุ้งซ่านเล่น

วันเดียวถ้าดูกายใจเป็น เห็นว่าไม่มีอะไรที่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา
ก็มีค่ากว่าร้อยปีของคนอีกค่อนโลก ที่ไม่มีสักวันได้เห็นความจริงนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้พิจารณาเห็นความเกิดดับแห่งสังขาร มีชีวิตอยู่วันเดียว
ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปีของผู้ไม่พิจารณาเห็น (พระธรรมบท)



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: พี่ตุลย์ ดังตฤณ นะครับผม


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 05, 2013, 07:29:20 PM
วิกฤตศรัทธาของศาสนา ไม่ได้แก้กันที่พฤติกรรมของพระ
แต่แก้กันที่ความเข้าใจของฆราวาส!

ไม่มีใครเริ่มชีวิตด้วยการเป็นพระ
ชีวิตมีแต่เริ่มด้วยการเป็นฆราวาสกันทั้งนั้น
พระเป็นอย่างไร ก็จากการที่เคยเป็นฆราวาสแบบไหน
มีความรู้ความเข้าใจธรรมะอย่างไรจึงเข้ามาบวช
และเมื่อเป็นพระแล้ว จะอยู่บนเส้นทางของอัตตาหรืออนัตตา
ก็ขึ้นอยู่กับการที่ฆราวาสเลี้ยงดูส่งเสริม
ให้พวกท่านเป็นพระหรือเป็นพาล

พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองในยุคที่
ฆราวาสส่วนใหญ่สนใจและรู้จักธรรมะ
ฆราวาสส่วนใหญ่ไม่มองว่าธรรมะฝากไว้ที่วัด
ฆราวาสส่วนใหญ่มองว่าที่แท้ธรรมะต้องมีอยู่ในบ้านตัวเอง

นั่นหมายความว่า
พุทศาสนาต้องเปลี่ยนจากยุคบอกต่อว่า ‘พระวัดไหนดี’
มาเป็นช่วยๆกันตอบว่า ‘ธรรมะข้อไหนดี’ ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ผล
หรือหากจะไปวัด ก็ช่วยๆกันอธิบายว่า ‘ถวายอะไรดี’
ที่จะไม่เปลี่ยน ‘คนอยากบวช’ ให้กลายเป็น ‘พระอยากสึก’

เมื่อใดธรรมะไม่ใช่แค่ของสูงขึ้นหิ้ง
ไม่ใช่แค่ความรู้เอาไว้ข่มขี่กัน
ไม่ใช่หัวโขนเอาไว้หลอกตากัน
แต่เอาไว้แก้ทุกข์และเพิ่มสุขในชีวิตประจำวันให้กันและกัน
เมื่อนั้นธรรมะจะเผยความเป็นอมตะ
มีศรัทธาอันมั่นคงของผู้คนเป็นที่ตั้ง
ไม่ต้องโดนเย้ยหยันกันในภายหลังว่า
ศรัทธาทางธรรมก็แค่แสงเทียนอายุสั้นที่ดับง่าย
เพียงด้วยการเป่าของมารศาสนาตนใดตนหนึ่ง หรือหลายๆตน


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กันยายน 07, 2013, 12:20:01 PM
ชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่ชีวิตเป็นทุกข์เพราะไม่รู้ว่าสติอยู่ตรงไหน

ชีวิตที่สติเจริญขึ้น ไม่ใช่ชีวิตที่บังเอิญ แต่เป็นชีวิตที่ตั้งใจเจริญสติ

สติเจริญขึ้นไม่ได้ด้วยการอยากได้นั่นอยากได้นี่ แม้อยากได้ความสงบสุข ก็เท่ากับสร้างความกระวนกระวายอันเป็นทุกข์

สติเจริญขึ้นไม่ได้ด้วยการล็อกเวลานั่งสมาธิเดินจงกรม แต่สติเจริญขึ้นเพราะรู้ว่า ระหว่างวันภาวะใดเกิดขึ้นบ่อยๆในตน แล้วรู้ให้ได้เรื่อยๆว่าภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วต้องหายไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ

คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังใจอันเป็นต้นทุนในการดู จึงควรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้รู้สึกว่า มุมมองที่ถูกต้องเริ่มต้นกันอย่างไร

ฟังวิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม แผ่เมตตา ในแบบที่จะเป็นต้นทุนให้เจริญสติได้ที่
http://soundcloud.com/dungtrin



หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ กันยายน 18, 2013, 12:22:03 AM

อนุโมทนา นำมาลงเรื่อยๆนะครับน้องกอล์ฟ


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 04, 2013, 11:27:20 AM
การผิดสัญญา ไม่ทำตามคำพูด
กำลังเป็นโรคระบาดร้ายแรง
ที่เหมือนจะไม่มีใครหยุดยั้งได้
ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความหมางใจ
และความไม่ไว้วางใจกันไปทั่ว

สมัยพุทธกาลมีคำว่า ‘เก้อ ยาก’
เทียบกับสมัยนี้คือ ‘หน้าด้าน’
ซึ่งไม่ใช่ปกติวิสัยเดิมของจิตมนุษย์
ที่ถือเอา ‘ความอาย’ ไม่กล้าทำผิด
มาเป็นชนวนเหตุให้เข้าท้องมนุษย์ได้
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อยังไม่ทำผิดคิดร้าย
มนุษย์ทุกคนจะรู้สึกผิด หรือทำผิดแบบเหนียมๆเสมอ
ต่อเมื่อสั่งสมความกล้าทำผิดมากขึ้นแล้ว
จึงค่อยรู้สึกเฉยๆ เหมือนมีอะไรพอกไว้ที่หน้า
ไม่ให้ห่อเหี่ยวเหนียมอายใดๆอีก

เมื่อถึงจุดที่ทำบาปได้ไม่ละอาย
ก็ถึงจุดที่ประกันความแน่นอนในทางตกต่ำ
ไม่มีทุนรอนพอจะกลับมาเกิดในระดับมนุษย์ได้ในคราวหน้า

การผิดสัญญามีสองประเภท
ประเภทแรก ตั้งใจไว้แล้วว่าจะผิดสัญญา
อย่างนี้คือมุสาวาทเต็มร้อย จัดเป็นการโกหกทั้งรู้
ซึ่งทางพุทธถือว่า การกล้าโกหกทั้งรู้
คือเชื้อของการกล้าทำชั่วทุกชนิด
จึงประมาณไม่ถูกว่า กรรมและผลของกรรม
จะลุกลามเข้าเขตมืดได้ลึกแค่ไหน

ประเภทที่สอง ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาสัญญา
แต่ภายหลังทำไม่ได้ หรือมีเหตุจำเป็นบางอย่าง
จึงต้องผิดสัญญา อย่างนี้ไม่เป็นมุสาวาท
แต่เป็นการไม่รักษาสัตย์ ไม่รักษาคำพูด
ซึ่งก็แยกย่อยได้อีก เช่น ไม่จริงจังจะทำอะไรให้ดีขึ้น
หรืออ้างว่าจำเป็น ทั้งที่ไม่จำเป็นถึงที่สุดขั้นเหลือวิสัย

คนไม่รักษาสัญญา คือคนไม่มีเกียรติ
ส่วนจะไม่มีเกียรติในระดับต้องไปเกิดในสภาพน่าเหยียดหยาม
หรือเพียงด้อยเกียรติกว่าคนอื่นๆ
เห็นได้ตั้งแต่ในชีวิตปัจจุบัน และจะปรากฏชัดในชีวิตต่อไป
ขึ้นอยู่กับระดับของ ‘นิสัยชอบเบี้ยว’ ที่สั่งสมไว้เพียงใด


ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB : Dungtrin นะครับผม


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 04, 2013, 11:29:04 AM
‘โชคดี’ ชวนให้นึกถึงความบังเอิญได้ดี
แท้จริง คือ ‘กรรมดีเผล็ดผล’

‘โชคร้าย’ ชวนให้นึกถึงความบังเอิญเคราะห์ร้าย
แท้จริง คือ ‘กรรมชั่วเผล็ดผล’

กรรมหนักบางอย่าง
เช่น ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายผุ้มีพระคุณ ทำร้ายผู้ทรงคุณ
มีกำลังมาก อาจเผล็ดผลทันตาในชาตินี้ เรียกว่า ทิฐธรรมเวทนียกรรม
แม้ไม่ปรากฏในรูปของเหตุการณ์ภายนอก
ก็ปรากฏในรูปของความฟุ้งซ่านจัด ควบคุมจิตใจไม่ได้ ฝันร้ายตลอด

ความเป็นคนมีใจสงบ ทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ฝันดีเสมอ
หรือหลับสนิทเป็นสุขใจทั้งก่อนนอนและตอนตื่น
ก็จัดเป็นมาตรวัดได้อย่างหนึ่งว่า
ชาตินี้ไม่ได้ก่อบาปก่อกรรมจนเป็นทิฐธรรมเวทนียกรรมทางร้าย

โชคดีอย่างแท้จริง คือ จิตใจสงบสุขแม้ท่ามกลางความวุ่นวายรอบด้าน
โชคร้ายอย่างที่สุด คือ ใจคอไม่เคยเป็นสุขกับใครได้ แม้ในสถานการณ์ปกติ



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: Dungtrin ครับผม


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2013, 08:01:26 PM
ความเหงาจะทำให้คิดถึงคนรักที่ไม่มีตัวตน
ความสุขจะทำให้คิดถึงตัวตนของคนตรงหน้าด้วยความรัก

ปัญหาของคนยุคนี้ซับซ้อน
แม้มีคู่ครองแล้ว แต่หลายครั้งเกิดอารมณ์รู้สึกคล้ายยังเป็นโสด
และอารมณ์ชนิดนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะ ‘ยังไม่พอใจ’
ก็เป็นเพราะ ‘ยังรู้สึกเหงาอยู่’

การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขจะไม่ก่อให้เกิดความเหงา
และไม่ก่อให้เกิดจินตนาการหาใครอื่น
ส่วนการอยู่ร่วมกันด้วยความไม่เข้าใจ
จะค่อยๆสร้างช่องว่างระหว่างกันให้ความเหงาเข้ามาเติมเต็ม
และเมื่อเต็มจนล้นก็ก่อให้เกิดแรงผลักดันอยากมีใครสักคน
ไม่รู้เหมือนกันว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
บางทีเห็นพระเอกนางเอกในละคร ก็อาจทึกทักว่าประมาณนั้นแหละ

แท้จริงแล้วรากเหง้าของความเหงา
ไม่ได้เกิดจากคนอื่นที่ทำให้เราขาดความสุข
แต่เกิดจากเราเองที่ ‘ทำให้คนอื่นมีความสุข’ ไม่เป็น
และการวัดว่าใครทำให้คนอื่นมีความสุขได้จริงแค่ไหน
ก็ต้องวัดจากคนใกล้ตัว ไม่ใช่ไกลตัว
ต้องวัดจากคนในบ้าน ไม่ใช่นอกบ้าน

หากทำให้คนใกล้ตัวมีความสุขไม่เป็น
ต่อให้ได้ชายหญิงในจินตนาการมาอยู่ในชีวิต
ก็มีแต่นับถอยหลังรอวันสลายจินตนาการ
เพราะในโลกความจริง
ความสุขไม่ได้วิ่งมาหาเราและรักที่จะอยู่กับเราโดยไม่มีเหตุผล
ความสุขต้องสร้างขึ้นจากหัวใจที่พร้อมยิ้ม พร้อมให้ก่อน
และพร้อมยอมรับความจริง
ไม่คาดหวังอะไรเกินพอดี ทั้งกับคนในบ้านและนอกบ้านครับ



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB : Dungtrin นะครับผม


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 12, 2013, 08:52:35 AM
• ทางเลือกเป็นร้อย
ไม่เห็นเรียกว่าอากาศ
ต้องเห็นถึงจะเรียกว่าโอกาส

• ปล่อยโอกาสที่ผ่านมาให้หายไปเฉยๆ
นั้นน่าเสียดาย
แต่ทำลายโอกาสที่มีอยู่น่าเสียดายกว่า
ส่วนการไม่พยายามสร้างโอกาสขึ้นมาเลย
นับว่าน่าเสียดายที่สุด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• ที่ผมฟังมามากที่สุด คือ
คนชอบบ่นว่ารู้สึกแย่
ไม่มีโอกาสกับใครเขา

จะเรื่องงานหรือเรื่องความรักก็ตาม
เกือบร้อยทั้งร้อย
รอโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นให้
หรือหาโอกาสจากคนอื่นที่เขามีดีอยู่แล้ว

ความจริงก็คือ
ชีวิตทั้งชีวิต คือ ‘โอกาส’

มีตัวเลือก มีทางออก
มีประตูเป็นร้อยๆในแต่ละวัน
แต่คนเราเคยชินที่จะก้มหน้าก้มตา
มองพื้นในระยะใกล้
และเรียกร้องให้ประตูทางออกลอยมา
แล้ววางลงให้เลือกต่อหน้าต่อตา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• โอกาสทางโลกของคนส่วนใหญ่
หมายถึงการมีเงินไว้ลงทุน
โอกาสทางธรรมของชาวพุทธโดยมาก
หมายถึงการมีเวลาปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรม

• ขอแค่ตั้งใจมองไปรอบๆ
มองจริงๆ รอบจริงๆ
ทุกวันจะเต็มไปด้วยแสงสว่าง
และโอกาสดีๆ

ทางโลกคือคุณยังมีสมองไว้คิด
ทางธรรมคือคุณยังมีลมหายใจไว้รู้
ขอเพียงฝึกคิด ฝึกรู้ให้ได้ทุกสถานการณ์
อากาศว่างตรงหน้า..
ก็กลายเป็น ‘โอกาสทอง’ มานักต่อนักแล้ว

• จะว่าไปนะครับ
ชีวิตมนุษย์เรามีโอกาสทางธรรม
มากกว่าทางโลก

เพราะแค่สังเกตเป็น
เห็นลมหายใจเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก
เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น
จนเกิดความเคยชิน
คุ้นเองที่จะเห็นลมหายใจ ‘ไม่เที่ยง’
จิตก็เกิดสภาพผุดสว่าง
ขึ้นรู้เป็น ‘ปัญญา’ กันแล้ว

พร้อมจะต่อยอด
ให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นต่อไปได้แล้ว
ทั้งที่ยังไม่ต้องปลีกตัวออกจากชีวิตประจำวันกันเลย

#ดังตฤณ
► http://www.facebook.com/dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 13, 2013, 10:31:29 PM
ถาม - ทำยังใงให้เนื้อคู่มาเร็วๆคะ
คือถ้าที่บ้านอยู่บนภู
แต่เกรงว่าต่อไป
จะหนาวไม่เท่า "อยู่บนคาน" น่ะค่ะ
แถมความสวยที่มี ก็ไม่ค่อยไหว
จะใช้ "คุณไสย" ก็ยังไงๆอยู่นะคะ จุดนี้ ( " T^T ) //
( แถมผู้ชายแท้ๆ ดีๆ สมัยนี้..ก็หายากกว่า 7-11 อีกนะคะ แหม่ !! )

ตอบ #
• ไม่มีวิธีที่แน่นอนหรอกครับ
เพราะเนื้อคู่
หรือ "คนที่มีสิทธิ์เป็นตัวจริง" นั้น
ไม่ใช่เพิ่งมาสร้างกันชาตินี้
ต้องสร้างกันมา..แต่ปางก่อน
และ "มาเกื้อกูลกันอีก" ในปัจจุบัน

: ถ้าหากบุญที่ทำร่วมกัน
มากำหนดไว้ก่อนจะเจอกันได้
ต้องมีคุณสมบัติพร้อมจะต่อบุญด้วยกันเสียก่อน
อย่างนี้ก็ต้องรอเหตุปัจจัยพร้อมพอ
โดยไม่มีทางเร่งรัดเหมือนควบม้า

• ที่เราจะทำได้ดีที่สุด
ต้องอาศัยความเข้าใจว่า
คนที่เป็น "ของแท้คู่กับเรา" นั้น
ควรจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ
และปัญญาเสมอกัน

• ถ้าอยากเร่งรัดจริงๆ
ก็เร่งรัดให้ตนเองมั่นคงในศรัทธาพระรัตนตรัย
มีน้ำใจให้มาก
รักษาศีลให้สะอาด
กับทั้งศึกษาความจริง
ให้เกิดความสว่างในทางดี

: สรุปคือถึงแม้ไม่มีวิธีใดเป็นประกันได้แน่ๆ
แต่ถ้าอยากได้ "เครื่องดึงดูดเนื้อคู่"
ก็ต้อง "ปรับใจให้ดีที่สุด"

• อย่าเอาแต่อธิษฐานขอให้คู่มาเร็วๆ
แต่ทำบุญแล้วถามตัวเองว่า

: ใจเรารู้สึกอบอุ่นอยู่กับตัวเองได้ไหม ?

: เกิดเสน่ห์จากกระแสน้ำใจในการคิดให้บ้างไหม ?
เรา "มีดีทางใจ" พอ..จะส่งแรงดึงดูดคนที่มีความเสมอกัน
หรือใกล้เคียงกัน...มาหาเราได้ไหม ?

: ถ้า "เขาคนนั้น"
ที่ร่วมบุญกับเรามาก่อน จะเข้ามาตอนนี้
เขาจะอยากได้เราไว้อยู่ด้วยกัน ตลอดไปไหม ?

คำตอบที่ใจมีให้ตัวเองนั่นแหละครับ
ที่จะตรงกับคำตอบของธรรมชาติแห่งความรัก

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• การเป็นโสดนั้นดี
หากคุณรู้จักทำตัวเอง..ให้เป็นสุข

การมีคู่ก็ดีเช่นกัน
หากรู้จักทำให้คนอื่น..ไม่เป็นทุกข์เพราะตัวคุณ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• ถ้ายังไม่มีความรัก
อย่าเพิ่งรีบหาความรัก
แต่ให้เร่งรู้วิธีสร้างความรัก
ด้วยการ..ใจเย็นเป็น เห็นใจเป็น
พูดดีเป็น อภัยเป็น ไม่เสแสร้งเป็น

แล้วในที่สุด
ความรักจะตามหาคุณเจอเอง

• ความรักเป็นภาวะปรุงแต่ง
อาศัยบุญเก่าที่เคยอยู่ร่วมกัน
เป็นตัวผลักดัน ให้มาพบและคุ้นกัน
และอาศัยบุญใหม่
ทำให้อยู่ร่วมกันรอด

• คู่แท้เป็นแค่คำหลอกๆ
จริงๆมีแต่คู่บุญ
หรือคนที่ "ใช่ที่สุด" ที่เราเลือก
แปลว่าถ้าใจเรา "ไม่อยากมีคู่"
ก็ไม่มีของแท้อะไร..มาบังคับใจได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• คนเราชอบรีบร้อนด่วนได้
หรือไม่ก็อยากได้อะไรที่เกินตัว
รู้ทั้งรู้ว่า ‘คนที่ใช่’
หมายถึง ‘คนที่เหมาะ’

แต่ใจจะไม่รอคนเหมาะ
เพราะกิเลสสั่งให้หาคนที่ดีที่สุด เร็วที่สุด
ซึ่งก็นั่นแหละครับ
เป็นสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เจอคนที่ใช่กันสักที

#ดังตฤณ
► http://www.facebook.com/dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 16, 2013, 10:01:21 PM
• การโดนคนหาเรื่องก่อนนั้น
เจอกันทุกคนแหละครับ
เหมือนตอนเกิดแต่ละคนจะมีเจ้ากรรมนายเวร
พกติดตัวมาด้วยเสมอ

ข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตคือ
ถ้าเขาตอแยมาแล้วเราซัดกลับ
เราจะต้องอยู่กับคนพวกนี้ไปเรื่อยๆ
หมดคนเก่า เจอคนใหม่อีก

แต่หากเราเอา ‘ใจ’ ไปยุ่งเกี่ยวน้อยลง
เราเองจะ ‘รู้สึก’ ห่างเขาออกมา
รู้ว่าเขามีตัวตน
แต่ไม่รู้สึกว่ามีเขาอยู่ในใจ

และเมื่อเขาผ่านพ้นไป
ก็มักจะไม่มีคนใหม่เข้ามาแทน
หรือแม้มี ก็ไม่ใช่หนักข้อขึ้น
แต่เป็นเบามือลง

: ไม่ต้องคิดถึงคำว่าอภัยก็ได้
คิดถึงคำว่า ‘อย่าไปยุ่ง’ ก็พอ
เราไม่เอามือไปจับเชื้อโรค
เชื้อโรคก็ไม่ติดมือมานะ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

( ^ ^ ) // : แล้วต่อจากนั้นล่ะคะ
ควรทำยังไงต่อ กำลังหาทางออกอ่ะค่ะ ?

• หาข่าวต่อไปครับ
ข่าวร้ายก่อน
ถ้าเคยชินที่จะเถียงกัน
ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
พวกคุณจะอดไม่ได้ที่จะเอาอีก

แต่ข่าวดีคือ
ถ้าพวกคุณฝึกระงับใจไม่เอาเรื่องกันได้
เลิกพูดเรื่องไม่เป็นเรื่องได้
ก็จะกลายเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นไปด้วยกันทั้งคู่
\(^_^)/\(^_^)/

#ดังตฤณ
► http://www.facebook.com/dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 16, 2013, 10:14:33 AM
• ความจริงก็คือ
ถ้าคุณดับไฟในครัวเรือนไม่ได้ทันก่อนตาย
ก็จะต้องเจอไฟในอบายกันต่อไป

• หลักการดูคติอันเป็นที่เกิดใหม่นั้น
ผู้รู้จักธรรมชาติดีที่สุดเช่นพระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ให้ฟังง่าย คือ

" ถ้าสั่งสมการคิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย
อันเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมองก่อนตาย
อบายย่อมเป็นที่หวังได้ "

: เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ลองตรองดูเถิดว่า
ถ้าชีวิตคู่ของคุณคือความอึดอัดคัดแน่น
ชวนให้คิดร้าย พูดร้าย และทำร้าย
อะไรจะเกิดขึ้น ?

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• มีคนตายไปอบายให้ดูทุกวัน
เสียดายคนดูไม่มีความสามารถจะเห็น
เพราะเห็นได้ก็แค่ศพที่ไร้ลมเข้าลมออก
อย่างอื่นที่นอกเหนือจากนั้นถูกปิดกั้นไว้

มิฉะนั้นพวกเราทุกคน
คงตั้งหน้าตั้งตาสอบให้ผ่านด่านชีวิตคู่กันทั้งหมด !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• กันไว้ดีกว่าแก้ครับ
ดูให้ดีว่าระหว่างคุณกับคนที่อยู่ตรงหน้าคุณ
เป็นพวกที่จับคู่กันเพื่อกุศลหรืออกุศล ?

: อย่าปล่อยให้สายเกินไป
เพราะไม่มีใครกลับไปแก้ไขอดีตได้

• ท่องไว้นะครับ วิธีดับไฟที่ง่ายที่สุด
คือดับมันเสียก่อนจะเริ่มไหม้ !

: ฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่าเจอคู่เวร
และไม่อาจหนีพลังดึงดูดอันมหาศาลของหลุมดำได้
ก็ให้เลือกว่าเจอครั้งนี้เพื่อ "ยุติศึก"
อย่าได้เจอกันเพื่อต่อเวรอีกเลย

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• ไม่มีวิธีระงับเวรด้วยการให้หยุดเหตุการณ์ภายนอก
มีแต่วิธีระงับเวรด้วยการ "ยุติความคิด" ภายในครับ

• ที่จะถือว่าอภัย เล็งมาที่ "ใจ" เราครับ
ว่ายังคิดถึงในเชิงให้โกรธ
ให้เกลียด อยู่หรือเปล่า ?

: ถ้าไม่ถือสา ไม่ติดใจเอาความ
ไม่นึกถึงเรื่องแย่ๆที่ผ่านมาให้รกหัว
ก็นั่นแหละ เราถึงแก่นสารของการให้อภัยแล้ว
ไม่คิดพูดประทุษร้าย
ไม่คิดทำอะไรประทุษร้ายเขาแล้ว

• และวิธีที่จะไม่ฝืนใจได้ดีที่สุดก็คือ
เห็นว่า "ความโกรธ" เป็นของชั่ววูบ
"ความไม่พอใจ" เป็นสิ่งติดค้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง
เห็นได้ ก็หายให้ดูได้นะ

นั่นแหละ "ตัวระงับเวร" ของจริง !
ก่อนที่จะหมดแรงส่งจากของเก่า
ให้ต่างฝ่ายต่างแยกย้าย
หรือตายจากกันอย่างเป็นรูปธรรม



#ดังตฤณ
► http://www.facebook.com/dungtrin (http://www.facebook.com/dungtrin)


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 21, 2013, 01:31:24 PM
ทานที่ดีที่สุดในชีวิต
คือทานที่ทำลายความตระหนี่ได้
เพราะเป้าหมายของการให้ทานในพุทธศาสนา
คือการลด ละ และทำลายความตระหนี่ทิ้ง
ฉะนั้น ต้องถามหา ‘ความเข้าใจในการทำทาน’ เป็นอันดับแรก
ถ้าเข้าใจว่าเป้าหมายของการทำทานคือการละความตระหนี่
วิธีทำทาน ก็จะเริ่มจากใจที่ ‘พร้อมให้อยู่ตลอดเวลา’
แล้วรวมทุกการทำทานในชีวิต
ให้กลายเป็น ‘ชีวิตที่ทำทานได้ดีที่สุด’

การให้ทานที่ดีที่สุด ไม่ใช่ให้ทุกอย่างที่มี
ไม่ใช่ให้ได้กับทุกคน
เพราะของบางอย่างเมื่อให้ไป
ผู้ให้ต้องเดือดร้อนเพราะความขาดสิ่งนั้น
และเมื่อบางคนรับของบางอย่างมาใช้
ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเพราะการใช้ในทางร้ายของเขา

การให้ทานอย่างมีสติ
คือการรู้ว่าใครขาดอะไรแล้วเดือดร้อน
สิ่งที่ขาดแล้วเดือดร้อนแน่ๆ คือปัจจัย ๔
ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร หยูกยา และที่อยู่อาศัย
เมื่อเห็นเขาเดือดร้อนเพราะขาดปัจจัย ๔
แล้วเกิดจิตคิดอนุเคราะห์
เห็นว่าเราช่วยได้ด้วยเงินเหลือใช้
หรือช่วยได้ด้วยการออกแรงที่มีอยู่เหลือเฟือ
หรือกระทั่งช่วยได้ด้วยการให้ความรู้
นั่นแหละคือทานของผู้มีสติในการให้
(บางคนทำรายการแนะแนวอาชีพ สร้างแรงบันดาลใจ
ทำให้คนเป็นหมื่น เป็นแสน หรือเป็นล้าน ได้มีงานทำ
นับว่า ‘ได้บุญ’ ยิ่งกว่าแจกเงินเป็นหมื่นล้านเสียอีก
เกิดใหม่ชาติไหน พวกนี้จะได้ดิบได้ดี
เห็นช่องทางทำกินหลากหลาย จับดินกลายเป็นทองไปหมด)

แต่ถ้าถามว่าทานใดยิ่งใหญ่ที่สุด
จำเป็นต้องบอกว่า ‘ทานที่ทำกับสมณะ’
เพราะทานเมื่อทำไว้กับศาสนาใด ก็จะผูกเราไว้กับศาสนานั้น
ศรัทธาในศาสนาสำคัญกว่าทรัพย์หรือกระทั่งปัจจัย ๔
เพราะศรัทธาจะทำให้พร้อมเปิดใจรับ ‘วิธีมีชีวิตชั้นเลิศ’
ผู้มีชีวิตชั้นเลิศ คือผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ
กับทั้งมีจุดหมายอันเป็นที่สุดของความสุขความเจริญ
หากไม่เข้าใจ ไม่ศรัทธาว่าชีวิตชั้นเลิศมีจริง
คนจะทำกันตามสัญชาตญาณดิบ คือ อยากเบียดเบียนก็เบียดเบียน
อยากฆ่าก็ฆ่า อยากขโมยก็ขโมย อยากมีชู้ก็มีชู้ อยากโกหกก็โกหก
นำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคตได้



ขอบพระคุณข้อมูลจาก :FB K.Dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 29, 2013, 07:21:35 PM
ยามสูญเสีย
ความเศร้าซึมจะทำให้รู้สึกสูญหายเนิ่นนาน
อาการสติแตกจะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้น

ส่วนการคงสติไว้
รู้สึกถึงธรรมดาของความไม่เที่ยงรอบด้าน
ไม่ต่างจากที่รู้สึกได้ในลมหายใจเข้าออกของตนเอง
จะทำให้ใจไม่เสีย หรืออย่างน้อยไม่ทำให้เสียใจเกินจริง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ฝึกมองความไม่เที่ยงของลมหายใจเข้าออก
จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เตรียมรับความสูญเสียโดยไม่เสียใจ
เป็นผู้หนึ่งที่อยู่บนทางถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเสียได้

ขอบคุณ FB: K.Dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 10, 2013, 10:47:46 AM
ทุกสิ่งไม่เที่ยง
แต่มีบางสิ่งเท่านั้น
ที่ทำให้คุณรู้สึกถึงความไม่เที่ยง

ยามสูญเสียของรักของหวง
มีความไม่เที่ยงให้รู้สึกโดยไม่ต้องฝึกฝน
แต่คนก็เคยชินที่จะจดจ่ออยู่กับการสูญเสีย
โดยไม่เห็นความไม่เที่ยงของจริงที่แสดงตัวอยู่

ยามหายใจเข้าออก
มีความไม่เที่ยงปรากฏอยู่
แต่ถ้าจะให้รู้สึก ก็ต้องฝึกฝนกันนาน
คุณจำเป็นต้องระลึกเรื่อยๆนับเดือนนับปี
ว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา
ลมหายใจยาวบ้าง แล้วสั้นบ้างเป็นธรรมดา
ลมหายใจสบายบ้าง แล้วอึดอัดบ้างเป็นธรรมดา
ฝึกระลึกนับพันนับหมื่นครั้ง
จึงสามารถคุ้นกับความไม่เที่ยง
ที่แสดงให้เห็นตลอดเวลา แต่แทบไม่มีใครดูสักคน

ผู้สามารถเจริญสติจนเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
คือผู้มีสติดีพอจะเห็นทุกความสูญเสีย
โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
ไม่ใช่โดยความเป็นของผิดปกติ ที่ทนไม่ได้ ที่เกินจะรับ



ขอบพระคุณข้อมูลจาก :FB คุณ Dungtrin ครับ


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 10, 2013, 11:07:56 AM
สิ่งกระทบหนึ่งๆ
วันก่อนอาจเป็นครูเราไม่ได้
เพราะเราเองยังไม่ถึงเวลาสนใจอะไร
มากไปกว่า ‘จะเอามาได้ยังไง’
หรือ ‘จะเอาเรื่องยังไงดี’

แต่วันนี้สิ่งกระทบเดียวกัน
อาจเป็นครูผู้น่าขอบคุณ
เพราะมาในเวลาที่เราสนใจสังเกตจิต
เห็นว่ากระทบแล้วกระเพื่อมได้แค่ไหน
กว่าจะหมดแรงกระเพื่อมนั้นช้าหรือเร็ว
รู้สึกหรือยังว่านั่นเป็นเพียงการปรุงแต่งชั่วคราวของจิต

ยิ่งมีครูหลายคน ก็ยิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้น
ฝึกหัดได้บ่อยขึ้น
ประสบความสำเร็จในการถอนต้นเหตุทุกข์ได้เร็วขึ้น



จาก FB : K.Dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 10, 2013, 11:10:56 AM
ระหว่างทำทานด้วยเงิน
กับทำทานด้วยกำลังแรง
และทำทานด้วยปัญญา
ถ้าทำกับบุคคลหรือชุมชนเดียวกัน
อย่างไหนได้บุญมากกว่า?

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ทำด้วยอะไร
แต่อยู่ที่อะไรกระตุ้นให้ต้องใช้กำลังใจมากกว่า
ทำแล้วเห็นผลน่าชื่นใจมากกว่า
ทำแล้วจดจำขึ้นใจเนิ่นนานกว่า

บางครั้งลงเงินแล้วเห็นชีวิตคนเปลี่ยนแปลงหนึ่งคน
ด้วยกำลังใจอยากมีความผูกพันเฉพาะตัว
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นสายใยเฉพาะคน
บางครั้งลงเงินแล้วเห็นชีวิตคนเปลี่ยนแปลงทั้งหมู่บ้าน
ด้วยกำลังใจอยากยังประโยชน์ให้แผ่ไปไม่เลือกหน้า
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นบริวารดีไม่เลือกหน้า

บางครั้งออกแรงขัดห้องน้ำวัด
ด้วยกำลังใจอยากชะล้างสิ่งสกปรกออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นความผ่องแผ้วไร้มลทินทางจิตและทางกาย
บางครั้งร่วมแรงกายช่วยกันสร้างสาธารณูปโภคให้ชุมชน
ด้วยกำลังใจอยากทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขมากกว่าเดิม
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นความพรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์ไพศาล

บางครั้งใช้ปัญญาทางโลกช่วยแก้ปัญหา ช่วยให้ความรู้
ด้วยกำลังใจอยากช่วยแก้ความไม่รู้ไม่เข้าใจให้คนอื่น
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นสติปัญญาเฉียบแหลมลึกซึ้ง
บางครั้งใช้ปัญญาทางธรรมช่วยให้คนมีชีวิตอันประเสริฐ
ด้วยกำลังใจอยากสร้างความประเสริฐที่แท้จริงไว้ในโลก
ก็ได้ผลน่าชื่นใจเป็นพลังปัญญาและพลังชีวิตที่ไร้ขีดจำกัด

เหตุการณ์ในชีวิตหนึ่งๆจะถูกลืมไปทั้งหมด
จะเคยได้หน้าได้ตาแค่ไหน จะเคยได้รับการยกย่องเพียงใด
ธรรมชาติจะลบออกจากความทรงจำของทุกคนไปจนเกลี้ยง
แต่ที่จะติดตามไปให้ผลทั้งเดี๋ยวนี้ที่รู้แก่ใจชัด
ตลอดจนอนาคตที่มองไม่เห็นข้างหน้า
คือความสุกสว่าง ความชื่นใจ ความผลิดอกออกผล
อันเกิดจากการลงทรัพย์ ลงแรง ลงปัญญา
ด้วยกำลังใจใหญ่น้อยทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมานั่นเอง



จาก FB K.dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 13, 2013, 02:22:50 PM
เกิดมาทำไม?
มามี
มาหมด
มาอด
มาทน
มาดู
มารับ
มารู้

ทำไมถึงเกิดมา?
เพราะไม่รู้ว่าจะ ‘ไม่เกิดไม่ตาย’ ได้อย่างไร

ทำไมถึงแตกต่างกัน?
เพราะก่อนเกิดเคยคิดต่างกัน
เคยพูดต่างกัน เคยทำอะไรๆไว้ต่างกัน

ทำไมถึงได้ดี?
เพราะเคยมีมโนกรรมขาว
มีวจีกรรมขาว มีกายกรรมขาว
และถึงเวลาที่กรรมขาวเผล็ดผล

ทำไมถึงตกยาก?
เพราะเคยมีมโนกรรมดำ
มีวจีกรรมดำ มีกายกรรมดำ
และถึงเวลาที่กรรมดำเผล็ดผล

ทำไมชีวิตจึงสว่างขึ้น?
เพราะฟังธรรม
คิดเป็นธรรม พูดเป็นธรรม ทำเป็นธรรม

ทำไมชีวิตจึงมืดลง?
เพราะฟังอธรรม
คิดเป็นอธรรม พูดเป็นอธรรม ทำเป็นอธรรม

ชีวิตทั้งชีวิต ไม่มีความเป็นไปใดๆ
เกินกว่ากรรมที่เคยทำ และกรรมที่กำลังก่อ



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: K.Dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 21, 2013, 11:25:22 AM
• ต้นชีวิตมนุษย์
คือช่วงของการถูกกรรมเก่าหลอก
ว่าตัวเองเป็นอะไรอย่างหนึ่ง

กลางชีวิตมนุษย์
คือช่วงของโอกาสตัดสินใจใหม่
ว่าจะถูกหลอกให้เป็นตัวเดิมต่อหรือเปล่า

ปลายชีวิตมนุษย์
คือช่วงของการเตรียมเสวยผล
อันเกิดจากการตัดสินใจที่ผ่านมา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• เรื่องดีๆในวันหน้า
มักมีรากจากการที่วันนี้
คุณต้องผ่านเรื่องไม่ดี
ด้วยความพยายามทำให้มันลงเอยดี

• ชีวิตที่คุ้มท่ีสุด
คือชีวิตที่มีแต่ปัจจุบันดีๆ อยู่ในใจมากท่ีสุด
ไม่ปล่อยให้ใจกําอดีตเน่าๆ
ตลอดจนอนาคตเสียๆไว้อย่างสูญเปล่า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตให้คุ้ม
คือการทุ่มเทกับการ "ใช้ชีวิตขณะนี้"
ไม่ใช่ "ใช้ชีวิตซํ้าอยู่ในหัว"
และไม่ใช่ "ใช้ชีวิตล่วงหน้าอยู่ในฝัน"

: ถ้าแต่ละวัน
คุณเอาแต่เฝ้าเสียดายอดีต เป็นเวลาสัก 3 ชั่วโมง
แล้วใช้เวลาอีก ร่วม 3 ชั่วโมง
ในการฟุ้งซ่านถึงอนาคต

: สิริรวมแล้ว
คุณปล่อยให้อีก 6 ช่ัวโมงหายไปเปล่าๆ
โดยไม่มีการ ‘ใช้ชีวิต’ แต่อย่างใด

• เพราะการใช้ชีวิต
คือการ "เอาปัจจุบันไปทําอะไรเพิ่ม"
ไม่ใช่การนึกถึงสิ่งที่ "เคยทําไว้แล้ว" แก้ไขไม่ได้แล้ว
และยิ่งไม่ใช่ การนึกถึงส่ิงที่ยังไม่มีสิทธิ์ทํา
ไม่รู้จะได้ทําหรือเปล่า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

นโยบายท่ีเหมาะสําหรับการ ‘เริ่มต้นใช้ชีวิตให้คุ้ม’
ควรออกตัวจากการตกลงกับตนเองชัดๆ
ว่าเราจะ ‘สูญเสียปัจจุบัน’ ให้กับอดีต
และอนาคตน้อยที่สุด
เท่าท่ีจะเป็นไปได้

: จ้ีลงไปให้ชัดๆ
พอรู้ตัวว่าบ่นอะไร เช่น
‘สมมตุิว่าย้อนเวลากลับไปได้นะ...’
ต้องรีบแก้ใหม่ สั่งตัวเองทันที

• อย่ามัวสมมุติว่า
ย้อนเวลาได้จะแก้อะไรดี
แต่สมมุติว่า
ถ้าสํานึกได้เดี๋ยวน้ี
มีความคิดไหนให้เปลี่ยนบ้าง

อีกอย่าง คือการตกลงกับตัวเองว่า
จะไม่กังวลเก่ียวกับพรุ่งน้ี หรือวันหน้า
แต่จะขยันทําทุกอย่างในวันน้ี
เพ่ือให้สบายใจว่า
ได้ทำรากของวันพรุ่งนี้ไว้ดีที่สุดแล้ว

: ถ้าจะต้องเอาวันน้ีไปเก่ียวข้องกับวันหน้า
ก็คือคิดอ่านวางแผน
ไม่ใช่ให้ถูกพรุ่งนี้ปล้นด้วยอาการกลุ้มเปล่า

หลังจากตกลงใจได้ว่า
จะเอาแต่วันน้ี เม่ือวานไม่เอา พรุ่งน้ีไม่เอา

: คุณจะพบว่าการหลงใช้ชีวิตแบบ ‘สมมุติว่า’ หายไป
กลายเป็นใช้ชีวิตแบบ ‘มีอะไรต้องทำ’เสียได้


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 30, 2013, 03:10:56 PM
เจริญสติแล้ว โกรธยาก หายง่าย ก็ดี
แต่ก่อนหน้าจะดีจริง
ไม่มีใคร โกรธยาก หายง่าย ได้ทันใจ
ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ทีละครั้งทีละหนกันทั้งนั้น

ตอนว้ากโว้ยหรือปรี๊ดแตกขึ้นมา
อย่าเสียใจที่เสียภาพไปแล้ว
กลายเป็นคนสติไม่ดีไปแล้ว
แต่ให้ถามตัวเองว่า
ระเบิดอารมณ์ครั้งนี้
ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ได้ฝึกอะไรบ้าง
ถ้าตอบตัวเองถูกว่าได้เรียนรู้หรือได้ฝึกอะไรบ้าง
ให้ดีใจว่าของขึ้นรอบนี้ไม่เสียเที่ยวแล้ว
อยู่บนเส้นทางพัฒนา ก้าวหน้าต่อไปแล้ว

แต่ถ้าเฝ้าเสียใจ หรือไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย
อย่างนั้นจึงค่อยน่าให้รู้สึก ‘เสียดายของ’
เพราะกิเลสมาแล้วทำให้จมลงอย่างเดียว
ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย



FB: Dungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 15, 2014, 11:37:38 AM
ความสุขที่เยือกเย็น
ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ในจิตที่แข็งกระด้างอย่างหวั่นไหว
แต่จะตั้งมั่นอยู่ในจิตที่อ่อนโยนอย่างเข้มแข็ง

ความแข็งกระด้างสะท้อนถึงความฝืนใจ
อาจเหมือนนิ่งได้ แต่ก็อึดอัดอยู่ข้างใน
และไม่รู้อะไรมากไปกว่าความนิ่งอั้นอึดอัดอยู่
อย่างเช่นการข่มใจไม่แสดงความโกรธ
แม้ระงับวาจาได้ ก็อดทำตาแข็งไม่ได้
และยิ่งไม่มีทางทำใจให้สบายหายขุ่นข้อง
เมื่อข่มใจจนชิน จิตอาจฝืนนิ่งอย่างเป็นทุกข์
แต่ไม่อาจตั้งมั่นอย่างเป็นสุข

ความอ่อนโยนสะท้อนถึงความเบาใจ
แม้ต้องทำโน่นทำนี่วุ่นวาย แต่ก็ยังสบายอยู่ภายใน
อีกทั้งตื่นตัวรู้รอบ ไม่ติดตันอุดอู้อยู่กับเรื่องเล็กเรื่องน้อย
จิตเปิดกว้างและแผ่ไปอย่างพร้อมจะมีเมตตาจริง
ชุ่มเย็นและโปร่งเบาอยู่กับตัวเองมากพอ
ไม่ต้องรอเรื่องข้างนอกมาทำให้พอใจ
ก็พอใจที่จะอยู่กับความเป็นตัวเอง
จึงมีกำลัง มีความอิ่มตัวพอจะตั้งมั่นในที่สุด

การเปลี่ยนจิตจากแข็งกระด้างเป็นอ่อนโยน
คือการรู้จักให้เพราะอยากเผื่อแผ่ความสุข
ไม่ใช่แกล้งให้ด้วยการเล็งผลตอบแทน
อภัยเพราะเห็นโทษของการเบียดเบียนกัน
ไม่ใช่แกล้งอภัยเพื่อสร้างภาพตามมารยาท
ใจเย็นรอเป็นเพราะหัดนั่งอย่างมีความสุขกับตนเอง
ไม่ใช่แกล้งรอด้วยอารมณ์งุ่นง่าน

นิสัยที่ปรับเปลี่ยนจากเร่งรีบ ร้อนแรง รอไม่ได้
คือนิสัยที่จะนำไปสู่สมาธิอันเป็นสุขที่คุ้มค่าไปทั้งชีวิต



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB K.Drungtrin


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 15, 2014, 11:39:18 AM
• คบกันเป็นช่วงของความฝัน
อยู่ด้วยกันเป็นช่วงของความจริง

• บางคู่ฝันดี แต่เอาเข้าจริงร้าย
เพราะเอาแต่ใจอยากฝันต่อท่าเดียว

• บางคู่ฝันร้าย แต่เอาเข้าจริงดี
เพราะรู้จักตื่นขึ้นมาอยู่กับความจริงโดยดี

• บางคู่ฝันดี และเอาเข้าจริงก็ดีด้วย
เพราะพร้อมใจจะร่วมกันดีต่อ

• บางคู่ฝันร้าย และเอาเข้าจริงก็ร้ายด้วย
เพราะจ้องโทษ จ้องเอาชนะกันแต่แรก

• รักใครนั้นง่าย เพราะใช้ใจด่วนๆอย่างเดียวก็พอ
แต่ไปต่อนั้นยาก เพราะต้องใช้หัวคิดดีๆให้มากขึ้น


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2014, 10:56:58 AM
บันไดขั้นแรกไปสู่ความสุขแบบพุทธแท้
ไม่ได้เริ่มจากการไปทำบุญที่วัด
แต่นับจากการเลิกทำบาปที่บ้าน

ความเคยชินในการสร้างบาป
หรือพลังดึงดูดให้ก่อเวร
มักทำให้ท้อถอย ไม่นึกอยากห้ามใจ
ผู้ฝึกห้ามใจจึงได้ชื่อว่า
เป็นผู้พยายามเอาชนะบาปเวรอันหาได้ยาก

บางเรื่องเหมือนเป็นไปไม่ได้
หรือยากเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะห้ามใจ
แต่เมื่อใครมีความแน่วแน่พอที่จะห้ามใจ
ย่อมได้ชื่อว่าทำในสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้
ผลดีที่เกิดขึ้นจึงเหมือนไม่น่าเป็นไปได้เช่นกัน

ทุกชีวิตมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน
ในเมื่อใจไม่ยอม จะดึงดันเอาให้ได้
ภาพใหญ่ภาพรวมในชีวิตจึงเป็นความสมใจสั้นๆ
แต่ลำบากใจกันยาวๆ
แตกต่างจากผู้ฝึกตนเพื่อมีใจเป็นพุทธที่แท้
เป็นผู้แน่วแน่ต่อการห้ามใจไม่ก่อบาปก่อเวร
แม้มีชีวิตที่ไม่สมใจสั้นๆ แต่จะได้สบายใจกันนานๆ

— แนะนำหนังสือ
ชื่อหนังสือ: จิตจักรพรรดิ


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 07, 2015, 12:59:42 PM
แม้คนเราผิดจริง

ความผิดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอัตตา
ปุ่มปมอัตตาฝังรากอยู่ในจิตใจมนุษย์แน่นหนา
แต่กิ่งใบของอัตตากลับเปราะบางและอ่อนไหว
จึงไม่มีอัตตาใดอยากโดนกระทบ
เหมือนกับแผลสดที่ยังรักษาไม่หาย
แม้แตะแผ่วเพียงใดก็ปวดแสบปวดร้อนอยู่ดี

การติติงด้วยความหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆ
จึงมีอะไรมากกว่าการเอาความจริงมาพูด
และมีอะไรน่าทำกว่าการปาลูกดอกเข้าเป้าตรงๆ
หลีกเลี่ยงการกระแทกอัตตาด้านร้าย
แต่สัมผัสให้ถูกอัตตาด้านดี

อัตตาด้านร้าย คือ
ความรู้สึกว่าตัวเองดีแล้ว ว่าไม่ได้แล้ว
ส่วนอัตตาด้านดี คือ
ความรู้สึกว่าตัวเองยังขาด ยังอยากฟังคนชี้ทาง

อัตตาด้านร้ายมักถูกยกขึ้นมาตั้งการ์ด
เพราะโลกนี้ลุกเป็นไฟด้วยโทสะของนักด่าทอ
หวังประทุษร้ายให้ใครต่อใครบาดเจ็บ

แต่อัตตาด้านดีถูกปลุกได้
เพราะบางส่วนของโลกยังมีน้ำใจเย็นๆของนักติติง
ผู้หวังสะกิดใจใครต่อใครให้เกิดสำนึก

คนที่ติติงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีนั้นดูง่าย
เริ่มขึ้นมา หน้าตาและน้ำเสียงจะน่าฟัง
คำพูดมักตั้งต้นด้วยอะไรเช่น
"ผมเข้าใจ ผมก็เคยเป็นแบบคุณ"
หรือ "ดิฉันรู้ดี เคยผ่านตรงนั้นมาแล้ว"
และต่อยอดด้วยการ ‘เล่าใหัฟัง’ ว่าผ่านมาได้อย่างไร
ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบน
โดยเอาอัตตาตัวเองมาเป็นเป้าล่อแทนอัตตาคนฟัง

เมื่อชำนาญแล้ว มีจิตแบบนักติติงชั้นดีแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นต้นด้วยการล่อเป้าเสมอไป
อาจเป็นการเตือนตรงๆ พุ่งเป้าตรงๆเข้าตัวคนฟัง
โดยแน่ใจแล้วว่าหน้าตา สุ้มเสียง และคำพูด
ออกมาจากใจที่มีเมตตาจริง ไม่ใช่แกล้งทำเป็นเมตตา

เมตตาที่แท้จะปลุกสำนึกด้านดีให้ตื่นเสมอ
ขณะที่โทสะดิบๆจะกระแทกอัตตาด้านร้าย
ให้ออกมาปกป้องตัวเองร่ำไป

— แนะนำหนังสือ
ชื่อหนังสือ: เซนในการทำงานอย่างเซียน
เนื้อหา: อาศัยงานประจำเป็นเครื่องฝึกสมาธิแบบเซน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กฟรี: http://dungtrin.com/zen (http://dungtrin.com/zen)
สั่งซื้อออนไลน์: เล่มละ ๒๙ บาท http://bit.ly/1gRNRUB (http://bit.ly/1gRNRUB)
ดูวิธีสั่งซื้ออย่างละเอียดได้ที่ http://bit.ly/1iISnJz (http://bit.ly/1iISnJz)


หัวข้อ: Re: สนทนาธรรมกับคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 16, 2015, 05:43:51 PM
มีคนเคยถามผมว่า
ทำไมใครต่อใครต้องวิ่งหาพระดีกันไกลๆ
ทำไมไม่ไหว้พระดีที่บ้าน
พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่เหรอว่า
พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก
ผมแก้ความเข้าใจไปทีละเปลาะ
เอาตามความจริง ไม่ใช่สิ่งที่คิดกันเอาเอง

หนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์
ท่านตรัสว่า พ่อแม่ที่ดี
เปรียบเหมือนพระพรหมของลูก เนื้อความเต็มๆคือ

มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม
ท่านเรียกว่าบุรพาจารย์ และท่านเรียกว่าอาหุไนยบุคคล
อันนี้มาจาก อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต ปฐมปัณณาสก เทวทูตวัคควัณณา
ซึ่งถ้าพิจารณาให้ครบถ้วน
ก็จะพบว่า ถึงแม้เป็นพ่อแม่ แต่ถ้าไม่อนุเคราะห์บุตร
ทำร้ายทำลายบุตร ก็ไม่อาจได้ชื่อว่าเป็นพรหมของลูกได้

สอง พ่อแม่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนอยู่กับพ่อแม่แล้วมีความสุข สงบใจ
แต่บางคนอยู่กับพ่อแม่แล้วเป็นทุกข์ ว้าวุ่นใจ

สาม ที่พึ่งทางใจเป็นสิ่งจำเป็น
เมื่อยังเป็นที่พึ่งทางใจให้ตัวเองไม่ได้
เราจะหาใครสักคนเป็นที่พึ่ง เป็นความอุ่นใจ
หรือกระทั่งพบเจอแล้ว
นึกอยากแสดงความนอบน้อมอ่อนโยนออกมา
เพื่อทำลายความกระด้างในใจตนเองลง
ซึ่งแต่ไหนแต่ไร
บุคคลที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางใจง่ายๆ
ก็ได้แก่นักบวช สมณะ หรือภิกษุในศาสนาของตน

คนส่วนใหญ่มีวันคืนที่จำเจ น่าเบื่อ
หลายคนจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ ทึบๆ มืดๆ
ฉะนั้น ความรู้สึกดีๆนั่นแหละ
เป็นจุดเริ่มต้นของวันที่แตกต่าง
แค่นึกว่าจะออกไปหาบุคคลที่น่าศรัทธา
ก็เหมือนจุดพลุแห่งความสว่างขึ้นในใจแล้ว
ทำให้วันธรรมดากลายเป็นวันพิเศษขึ้น
เบิกบานขึ้น มีความสุขขึ้นแล้ว

ผมจำช่วงเวลาของตัวเองที่วิ่งหาพระดีได้
ความรู้สึกขาด อยากได้ที่พึ่ง
อยากได้ใครสักคนยกระดับจิตใจตัวเอง
หรืออยากได้ใครสักคนเสกปิ๊งเดียวชีวิตดีขึ้นหมด

แม้วันนี้ผมเปลี่ยนจากเส้นทางวิ่งหาพระดี
เป็นการนำของดีไปถวายพระไม่เลือกหน้า
แต่ผมก็เห็นใจ เข้าใจ
และรู้สึกดีที่ใครๆมีพระในใจตนให้วิ่งไปหา
จนกว่าจะมีอะไรในตนดีๆ
ที่จะสร้าง ‘วันดี’ หรือ ‘วันดีขึ้น’ ให้คนอื่นบ้าง

มองภาพรวม
ศาสนาพุทธในบ้านเรามีทั้งส่วนที่กำลังทำลาย
และส่วนที่กำลังสร้าง

ส่วนที่กำลังทำลาย
คือ ศรัทธาในผ้าเหลือง
จากระดับต่ำสุดไปจนถึงระดับสูงสุด
มีเรื่องให้น่าด่าได้หมด ถ้าคิดจะด่า
และการด่าพร้อมๆกัน
ก็คือจุดเริ่มต้นกระบวนการทำลายล้างที่ทรงพลังที่สุด

ส่วนที่กำลังสร้าง
คือ ศรัทธาในพระธรรม
ปัญญาชนจำนวนมากอาศัยโซเชียลมีเดีย
สร้างวัดขึ้นมาในบ้าน
การหาคติธรรมวันละเล็กวันละน้อย
อาจได้บุญไม่แพ้ก่ออิฐก่อปูนสร้างโบสถ์ทีเดียว
โดยเฉพาะเมื่อช่วยให้คนในบ้านจิตใจผ่องแผ้วขึ้น
จากจิตใจที่ผ่องใสของตน

บางคนมีส่วนร่วมในการทำลาย
บางคนมีส่วนร่วมในการสร้าง
บางคนมีส่วนร่วมทั้งในการทำลายและการสร้าง
วันนี้ลองมาตั้งคำถามกับตัวเองกันดูครับ
เราตัดสินใจเลือกกรรมในเส้นทางแบบไหน
ยุคไอทีของพวกเรามีหลักฐานอยู่ให้สำรวจตัวเองได้

— แนะนำหนังสือ
ชื่อหนังสือ: เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ฉบับ คัดสรร
เนื้อหา: รวมคำตอบที่ดีที่สุด ต่อคำถามน่าสนใจที่สุด