หัวข้อ: พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 27, 2009, 10:16:19 AM โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 08:16:23
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ สอนธรรมไว้ประการหนึ่งไว้ว่า พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปตั้งอยู่ในจิตของปุถุชน ก็ย่อมกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป ปัญหาก็คือ เหตุใดจิตของปุถุชนจึงทรงพระสัทธรรมของแท้ไว้ไม่ได้ ? จิตปุถุชนไม่เหมาะกับการรองรับพระสัทธรรม ก็เพราะยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือมีความเห็นสุดโต่งระหว่าง สัสสตทิฏฐิหรือความมีอยู่ถาวร กับอุทเฉททิฏฐิหรือความขาดสูญ ทั้งยังประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิต ว่าเป็นเรา การกำหนดจดจำธรรมใดๆ ไว้ในจิต จึงอดไม่ได้ที่จะเจือความเห็นผิด หรือการตีความธรรมอย่างผิดๆ เอาไว้ด้วย เรื่องของมิจฉาทิฏฐินั้น หากเกิดขึ้นกับจิตดวงใด จิตดวงนั้นย่อมเป็นอกุสลจิตเสมอ ในความเป็นจริงแล้ว จิตของปุถุชน มักจะเป็นเพียงอกุสลจิต และวิบากจิตเท่านั้น น้อยนักจะเป็นกุสลจิตได้อย่างแท้จริง เว้นแต่จะเป็นกุสลจิตแบบอนุโลมเอา เช่นผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วพิจารณาใคร่ครวญตาม ก็พอจะน้อมใจเชื่อตามสัมมาทิฏฐิได้บ้างในขณะสั้นๆ แต่เมื่อใดไม่ใคร่ครวญ ไม่สำรวมระวังความคิด มิจฉาทิฏฐิก็กลับมาครอบงำจิตอีกโดยง่าย คือจะเกิดความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา กายนี้เป็นเรา คนก็เป็นคน สัตว์ก็เป็นสัตว์จริงๆ และหากพิจารณาในด้านของกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ก็จะพบว่าจิตของปุถุชนนั้น โอกาสที่จะเกิดกุสลจิตจริงๆ คือไม่มีอกุสลในจิต เป็นไปได้น้อยยิ่ง เพราะเว้นแต่วิบากจิตเสียแล้ว จิตส่วนมากก็จะถูกครอบงำด้วยโมหะเกือบตลอดเวลา แม้ในขณะที่ทำบุญทำทาน ศึกษาปฏิบัติธรรม จิตก็มักจะถูกโมหะครอบงำเอาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสมอๆ ตัวมิจฉาทิฏฐิก็เป็นโมหะ ตัวกิเลสครอบงำประจำจิตก็เป็นโมหะ รวมความแล้วโมหะนี้เองเป็นข้าศึกอย่างร้ายกาจทีเดียว จิตของปุถุชน แทบไม่มีเวลาพ้นจากอำนาจของโมหะ จึงไม่เหลือที่ว่างพอที่จะให้พระสัทธรรมประดิษฐานลงได้จริง โอกาสที่จิตจะรอดจากโมหะมีไม่มากนัก เพราะจิตใจของเราเหมือนถูกขังอยู่ในเขาวงกฏที่สลับซับซ้อนมาก ช่องทางที่จะหนีรอด มีเพียงช่องทางเล็กๆ อยู่ช่องเดียว ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้าชี้ช่องทางนี้แล้ว ยากนักที่เราจะพบทางออกได้เอง และช่องทางที่จะรอดจากโมหะหรือความหลง ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะหรือความไม่หลงนั่นเอง เมื่อใดจิตเกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อนั้นจึงเกิดกุสลจิตที่แท้จริง แต่พวกเราที่เคยฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ ต่างก็ซาบซึ้งแก่ใจดีแล้วว่า เข้าใจยากและทำยากเหลือเกิน ขนาดคนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และอยากจะทำ ก็ยังทำยาก นับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีศรัทธามาก่อน และไม่อยากทำ ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงทรงท้อพระทัยที่จะสอน การที่จะน้อมนำพระสัทธรรมเข้ามาประดิษฐานให้ถาวรในจิตก็ดี การที่จะเผยแผ่พระสัทธรรมไปสู่จิตของผู้อื่นก็ดี จึงเป็นงานที่ยากมาก เพราะต้องต่อสู้กับความไม่รู้ทั้งหลายของตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าพวกเราผู้มีโอกาสมากในสังคม ไม่ตั้งใจทำงานนี้ แล้วจะผลักภาระการรักษาพระสัทธรรมไปให้ใครได้ล่ะครับ ดังนั้นอย่าประมาท นิ่งนอนใจ หรือเบื่อหน่ายท้อแท้ให้เสียเวลาเปล่า ให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อน้อมนำพระสัทธรรม เข้าสู่จิตใจให้ได้โดยทั่วกันทุกๆ คนนะครับ โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 08:16:23 หัวข้อ: Re: พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 27, 2009, 10:24:59 AM ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 20:19:24
_/\_ ขอบพระคุณครับ ที่ครูบอกว่า จิตส่วนมากก็จะถูกครอบงำด้วยโมหะเกือบตลอดเวลา นั้น ผมเห็นด้วยเต็มที่เลยครับ เพราะช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีโอกาสปฏิบัติ แบบค่อนข้างจะสนุกสนาน เลยได้เห็นกิเลส โดยเฉพาะโมหะอยู่เยอะมาก เรียกได้ว่า วันหนึ่งๆนั้น ที่บอกว่าจิตสดใสดีแล้วนั้น ยังไงมันก็ยังมีโมหะยืนพื้นอยู่ ยากมากที่จะมีจิตที่สดใสจริงๆ บางคราวขณะที่เดินๆอยู่ ก็คอยดูจิตดูใจไปด้วย ก็เพิ่งจะเห็นเมื่อไม่นานมานี้ แหละครับที่เข้าใจคำว่า "กิเลสกดหัว" ก็ลำพังแค่เดินๆอยู่นั้น ถ้าโมหะเกิดขึ้น หัวจากที่ตรงๆอยู่นี่มันจะค่อยๆก้มลงๆ เหมือนมีใครมากดจริงๆ พอเห็นปุ๊บ หายไป แต่อีกไม่กี่ก้าวเดิน มันก็มาอีกแล้ว ถ้าเป็นคราวก่อนๆผมก็คงจะคิดว่า เป็นเพราะอยากสำรวม ไม่เคยคิดถึงคำว่า กิเลสกดหัวมาก่อน จนได้เห็นของจริงนั่นแหละ ถึงเข้าใจคำว่า "กิเลสกดหัว"ว่ามันเป็นอย่างไร (บางทีก็นึกรำคาญตัวเองอยู่เหมือนกันครับว่าทำไมโมหะมันถึงได้เยอะแยะปานนี้) โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 20:19:24 หัวข้อ: Re: พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 27, 2009, 10:25:26 AM ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 08:15:53
คือจะบอกกับเก๋ว่า ที่เห็นว่าจิตมีโมหะนั้นดีมากแล้วครับ เพราะจิตเก๋มีโมหะมากกว่าคนอื่นเขา สู้มาได้ถึงขนาดนี้นับว่าไม่ง่ายเลย เห็นคุณดังตฤณพูดถึงพระแล้ว ก็นึกขึ้นไว้ว่า การที่พระกรรมฐานอ่อนแอลงนั้น ถ้าจะมองว่าเป็นธรรมดา ก็เป็นธรรมดา เพราะก่อนหน้าที่บูรพาจารย์พระป่าจะประกาศธรรมขึ้นทางภาคอีสานนั้น การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ได้เสื่อมโทรมถึงขีดสุดมานานแล้ว พระกรรมฐานแม้จะมี แต่ที่จะเข้าถึงธรรม แล้วประกาศธรรม มีน้อยนัก ส่วนมากก็เพียงทรงอภิญญา แล้วอบรมญาติโยมไปตามประเพณีเท่านั้น ถ้าเทียบกับยุคนี้ ก็ยังนับว่ายุคนี้ยังมีพระกรรมฐานดีๆ เหลืออยู่พอสมควร เพียงแต่อ่อนแอลงมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 - 30 ปีก่อน สำหรับพระสงฆ์สามเณรอื่นๆ ที่เล่าเรียนปริยัติธรรม ก็ยังมีการเล่าเรียนกันอยู่ แต่ที่น่ากลัวก็คือ พระเณรเหล่านี้ท่านมักจะบวชไม่นาน เพราะเวลานี้กระแสโลกมันแรงกว่ากระแสธรรม ผมจึงกล่าวว่า เราจะปล่อยภาระในการรักษาพระศาสนาไว้กับพระฝ่ายเดียวไม่ได้ ปัญญาชน จะต้องศึกษาปฏิบัติ และประกาศธรรมให้มากด้วย แต่การเพิ่มบทบาทของปัญญาชน ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ทอดทิ้งพระ เราจำเป็นต้องอุปถัมภ์บำรุงพระเณรเถรชีเองไว้ เพราะฆราวาสนั้น แม้จะมีความรู้ดี แต่ที่จะทรงพระสัทธรรมไว้ได้จริงก็มีน้อย ยิ่งพระสัทธรรมในขั้นละเอียดจริงๆ แล้ว ยากนักที่ฆราวาสจะเข้าถึงได้ ปัญญาชนผู้ใดศึกษาปฏิบัติธรรม จนถึงจุดที่พัฒนาต่อไปได้ยากในเพศฆราวาส ถ้ามีความพร้อม ก็อาจจะไปบวชเพื่อศึกษาธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้น แล้วทำประโยชน์ให้พระศาสนาให้มากขึ้น การสนับสนุนพระทำได้หลายทางไม่เพียงการอุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4 (ปัจจัย 4 ก็สำคัญนะครับ อย่างพระในเมืองใหญ่ๆ เวลาถึงวันอาทิตย์ จะบิณฑบาตยากมาก เพราะโยมไม่ตื่น) เช่นการช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมของเหลือบศาสนา แล้วอารักขาช่วยสงฆ์ขจัดมารพวกนี้ออกไป และการไม่เข้าไปทำความวุ่นวายให้เสียเวลาของพระปฏิบัติ เป็นต้น ญาติโยมเข้าไปหาพระ ควรเข้าไปเพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติธรรม จากนั้นก็รับไปปฏิบัติเอาเอง มีปัญหาช่วยตนเองไม่ได้จริงๆ จึงค่อยเข้าไปถามท่านใหม่ ไม่ใช่คอยไปห้อมล้อมซักถามธรรมะไม่เลิก ซึ่งผมสังเกตเห็นมานานแล้วว่า คนที่เอาจริง จะไม่ค่อยไปกวนครูบาอาจารย์ และไม่ชอบรวมกลุ่มปฏิบัติธรรม แต่พยายามช่วยตนเองเป็นลำดับแรก ส่วนคนที่คอยแห่แหนห้อมล้อมครูบาอาจารย์นั้น น้อยรายนักที่จะปฏิบัติจริงจัง การไม่เข้าไปกวนเวลาของพระ ก็เพื่อว่า พระที่ท่านยังไม่ถึงที่สุด จะได้มีเวลาเร่งความเพียรของท่าน ส่วนพระที่ท่านปฏิบัติพอแล้ว ท่านจะได้มีเวลาทำประโยชน์ตามปณิธานของท่าน ถ้าญาติโยมนิยมปฏิบัติธรรมด้วยการคุยธรรมะ รวมกลุ่มคุยกันเองยังไม่พอ เที่ยวไปชวนพระคุยเสียอีก อันนั้นเป็นการทำลายโอกาสพัฒนาทั้งตนเอง และของพระเณรเถรชีด้วย นั่นไม่ใช่หนทางจรรโลงพระพุทธศาสนาหรอกครับ ดูตัวอย่างคุณธนา คุณสุรวัฒน์ คุณพัลวัน คุณหมอลี หนุ่ย อ๊า ฯลฯ ไว้ก็ดีครับ คือต่างคนต่างศึกษาแล้วก็ไปตั้งใจทำเอาเอง ไม่คอยถามซอกแซกไปเรื่อยๆ เป็นแบบอย่างเหมือนพระสมัยพุทธกาลที่เมื่อฟังธรรมแล้ว ก็แยกย้ายกันไปตามลำพังเพื่อทำกิจของตนเอง โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 08:15:53 |