KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 27, 2009, 11:22:03 AM



หัวข้อ: จิตเสื่อม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 27, 2009, 11:22:03 AM
โดยคุณ ธีรชัย วัน อาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม 2543 17:31:34

หลายต่อหลายครั้งที่ครู ได้เคยบอกว่า"นักปฏิบัตินั้น
จะต้องพบกับภาวะจิตเสื่อม อย่ากลัวจิตเสื่อม ถ้าไม่เสื่อมนี่สิน่าเป็นห่วง
เมื่อจิตเสื่อมแล้ว ก็ไม่ต้องคิดหรือทำอะไรมาก ให้คอยดูไป
เพราะแม้จิตเองก็ตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ดังนั้นเมื่อจิตเสื่อม
ก็คอยดูกันต่อไป แต่อย่าไปเข้าใจหรือตั้งใจไว้ก่อน ว่าตอนนี้จิตเสื่อม
แล้วก็ช่างมันไม่น่าห่วงแล้วไม่ปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนี้น่าห่วงมาก"

และเมื่อประมาณสัปดาห์ก่อนนี้เอง ผมต้องประสบภาวะจิตเสื่อมอย่างรุนแรง
เพราะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยแม้กระทั่งตัณหา(ไม่ไช่ตัณหากลับนะครับ : ) )
ที่พร้อมจะก่อเรื่องให้เดือดร้อนได้เต็มที่กล่าวคือผมมีโทสะเกิดขึ้นอย่างแรง
เพราะตอนนั้นเผลอ เมื่อเผลอแล้ว โทสะเกิดขึ้น โดยไม่ทันระวังตัว
ก็เลยเกิดตัณหา(อยากหายแค้น) จนกระทำการที่ไม่เหมาะสมกับคำว่าชาวพุทธ
เมื่อตัณหานั้นได้แสดงออกมาแล้ว จึงมาได้สติว่า

เราเป็นอะไรไป ทำไมถึงเป็นไปได้ขนาดนี้นี่น่ะหรือนักปฏิบัติ 

จึงเกิดความละอายใจเป็นอย่างมาก เกิดความสลดหดหู่
จนไม่สามารถกำหนดสติได้อย่างเดิม จึงทำให้เครียดหนักขึ้นไปอีก
ต่อมาก็ได้ไปสารภาพกับครูกับการกระทำที่เป็นเหตุและเกินเหตุ
จึงสบายใจขึ้นมาได้หน่อยนึงแต่ก็ยังไม่ถึงกับว่าเป็นปกติ
ก็ยังมีอาการเสื่อมอยู่อย่างนั้น เพราะยังไม่สามารถกำหนดสติได้เหมือนเดิม
เพียงแต่ความหนักใจกับปัญหานั้นน้องลงไป

จนก่อนจะเข้านอนของอีกสองวันต่อมา (เสื่อมไปสองวันเต็ม) ก็ทำกิจวัตรเป็นปกติ
คือการอ่านหนังสือกล่อมจิตใจก่อนเข้านอน อ่านไปจนถึงที่หลวงปู่ท่านหนึ่ง
ท่านสอนนักปฏิบัติที่ติดอยู่กับความสงบว่า ความสงบก็เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะ
สงบแล้วก็เสื่อม เป็นเรื่องธรรมดาถ้าไปยึดความสงบเข้าก็เป็นทุกข์

ถึงท่อนนี้ ใจมันตัดพลั๊วะเลยเนื่องจากเกิดการพิจารณาธรรมควบคู่
กันไปกับการอ่านหนังสือ(โดยไม่ตั้งใจ) คือ ใจเกิดไปเปรียบเทียบคำว่าเสื่อม กับคำว่าสงบ
ก็เลยเห็นว่า สงบได้มันก็เสื่อมได้ เสื่อมได้มันก็สงบได้ ยึดเมื่อไรก็ทุกข์เหมือนกัน
ใจจึงยอมปล่อยความเสื่อมนั้นไปได้
เมื่อผ่านความเสื่อมดังกล่าวไปแล้ว ก็เกิดความคิดต่อเนื่อง
นึกไปถึงคำของครูบาอาจารย์ที่คอยพร่ำสอนว่า ยึดทำไมรู้แล้วก็ทิ้งไป ก็แค่นั้นเอง
ผมยอมรับว่า โดยความจำ ผมสามารถจำได้ตลอดและรู้ว่าต้องทิ้งแต่ก็ทิ้งไปไม่ได้
เพราะใจมันยังยึด และเวลาที่เสื่อมนี้ก็คอยได้บอกกับตัวเองอยู่ตลอดว่า ทิ้งไปๆๆ
จนบางทีถึงกับตะโกน(ในใจ)ว่า ทิ้งซิเว้ยถือทำไมถือแล้วก็ทุกข์แล้วก็บ่นอยู่อย่างนี้
แต่จะบอกตัวเองสักเท่าไรมันก็ไม่ยอมทิ้งสักทีเพราะใจมันยังไม่ยอม

คิดถึงตอนนี้เลยนึกถึงกระทู้ที่ครูปราโมทย์ ได้เคยเขียนกระทู้สอนเอาไว้ว่า
"ต้องทุกข์ให้จิตเขายอมเองในทำนองที่ว่า ทุกข์เสียให้เข็ด"

เพราะความเสื่อมครั้งนี้แหละ เลยทำให้ซึ้งนักกับคำนี้ "ทุกข์เสียให้เข็ด"

( ในคำสอนของครูปราโมทย์ที่ปรากฏในกระทู้นี้ อาจไม่ตรงเป๊ะกับคำที่ผมจำมา
เพราะไม่สามารถจำได้ทุกตัวอักษร รวมทั้งคำสอนของหลวงปู่ที่ผมเว้นชื่อไว้
ก็ด้วยเหตุเดียวกัน หากผมกล่าวอ้างคำสอนผิดจุดประสงค์ของครูบาอาจารย์
ก็ขอขมาในที่นี้ด้วยครับ )

โดยคุณ ธีรชัย วัน อาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม 2543 17:31:34