หัวข้อ: ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 10, 2009, 11:24:13 AM ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด (http://www.kammatan.com/gallary/images/20091110112557__14_457.jpg) ๏ อัตโนประวัติ “พระมงคลญาณเถร” หรือ “หลวงปู่มา ญาณวโร” ประธานสงฆ์แห่งวัดสันติวิเวก บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พระเกจิอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังแห่งภาคอีสาน ที่ผู้คนต่างรู้จักดีถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำชี” หลวงปู่มา ญาณวโร มีนามเดิมว่า มา วรรณภักดี เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ณ บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายคูณ และนางตั้ว วรรณภักดี ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ มีชื่อตามลำดับดังนี้ ๑. นางโฮม วรรณภักดี ๒. นายสม วรรณภักดี ๓. นายทา วรรณภักดี ๔. หลวงปู่มา ญาณวโร ๕. นางสุดตา อุ่นทรวง ๏ การบรรพชา สาเหตุที่ทำให้ต้องบวช หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อวัยเยาว์ พอท่านอายุย่างเข้า ๘ ขวบ โยมมารดาของท่านก็มาเสียชีวิต ตามประเพณีแล้วเมื่อบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือผู้มีพระคุณเสียชีวิต จะต้องมีการบวชหน้าศพ โดยลูกหรือหลานๆ ของผู้ที่เสียชีวิต แล้วนำศพไปเผา เช่นเดียวกัน ในงานศพของโยมมารดาของท่านนั้น พวกญาติๆ จึงเลือกให้หลวงปู่บวชหน้าศพ หลวงปู่บอกว่า ท่านยังจำคำพูดของโยมมารดาท่านได้ เมื่อโยมมารดากำลังป่วยอยู่ได้พูดกับท่านว่า “เมื่อแม่ตายแล้ว ให้บักน้อยบวชให้แม่เด้อ” ยังจำได้จนบัดนี้ เมื่อโยมมารดาเสียชีวิตแล้ว ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดดอนประดิษฐาราม บ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ โดยมีพระอธิการสอน อุตฺตโม เป็นพระอุปัชฌาย์ พอตอนบ่ายพวกญาติๆ และชาวบ้าน ก็ได้นำศพโยมมารดาไปสู่ป่าช้าดอนหมากเหลื่อม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือหมู่บ้าน ห่างประมาณกิโลเศษ หลวงปู่ก็ได้เดินนำหน้าศพโยมมารดา ตั้งแต่บ้านถึงป่าช้า เมื่อทำพิธีเผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับบ้าน ตอนเย็นโยมบิดา พี่ชาย และพี่สาว ก็ออกมาหาที่วัด ถามว่า “จะสึกไหม” ท่านก็บอกว่า “ยังไม่สึก เพราะก่อนตายแม่สั่งไว้ว่าให้น้อยบวชให้แม่ น้อยจะอยู่ไปก่อน” ท่านว่าพอคิดจะสึก ก็ให้นึกถึงคำพูดของโยมมารดา ก็เลยไม่สึกอยู่มาจนทุกวันนี้ (http://www.kammatan.com/gallary/images/20091110112637_12.jpg) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)-หลวงปู่มา ญาณวโร ๏ วิทยฐานะและการศึกษาพระปริยัติธรรม หลังจากบรรพชาเป็นสามเณร ได้ประมาณ ๒๐ กว่าวัน ทางราชการก็ได้มีหมายเกณฑ์ให้หลวงปู่ไปเข้าโรงเรียน เพราะอายุย่างเข้า ๘ ปีแล้ว การเรียนสมัยนั้นยังไม่ได้ใช้กระดาษ แต่ใช้กระดานหินแทนกระดาษ และดินสอหิน หลวงปู่ท่านก็เดินข้ามทุ่งไปเรียนหนังสือร่วมกับเด็กๆ ทั้งชาย หญิง ทั้งที่ท่านก็เป็นสามเณร ที่โรงเรียนวัดบ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด บ้านเกิดของท่าน หลวงปู่นั้นท่านเป็นผู้ที่โชคดีกว่าทุกคนที่ไปเรียนด้วยกัน เพราะตอนที่ท่านอายุได้ ๔ ขวบ โยมบิดาได้นำท่านไปฝากไว้กับหลวงลุงดอน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบ้านโนนคำ ให้เรียนหนังสืออยู่ที่นั่น เนื่องจากว่าหลวงลุงดอนท่านนี้ เป็นผู้ที่รู้หนังสือไทยดีคนหนึ่ง คนในสมัยนั้นน้อยคนที่จะรู้หนังสือไทย เมื่อหลวงปู่อยู่กับหลวงลุงดอน หลวงลุงดอน ก็เอาหนังสือแบบเรียนเร็วมาให้หัดเขียน หัดอ่านตั้งแต่ ก ข ค ฆ ง แล้วผสมสระ พยัญชนะ อ่านเป็นเสียงได้ หลวงปู่บอกว่า ท่านอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มีใจความว่า ตาดีมือแป ตาสาอีแป๊ะ หนังสือนิทานอีสปนกกระสาหมาจิ้งจอก เรียนอยู่ไม่นาน ครูประจำชั้นก็ให้ท่านเป็นหัวหน้า นำนักเรียนในกลุ่มเดียวกันอ่านหนังสือ ตลอดจน นับเลข ตั้งแต่หนึ่งถึงร้อย ถึงพัน ท่านก็เรียนอยู่ ๒ ปี ครูเลยให้ขึ้นไปอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จนกระทั่งจบการศึกษาขั้นสูงสุดในสมัยนั้นคือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ลาออกจากโรงเรียนบ้านดอนน้อย ไปเรียนต่อที่วัดคำครตา ต.ดงมะไฟ อ.ยโสธร (ในสมัยนั้น) จ.อุบลราชธานี มีพระสา ซึ่งเป็นญาติๆ กันจะไปจำพรรษาที่นั่น จึงได้ติดตามเป็นลูกศิษย์ไปด้วย ณ วัดคำครตาแห่งนี้ มีพระเถระองค์หนึ่งเคยรับราชการเป็นเจ้านายคนไทย รู้หนังสือไทยดี มาอยู่ที่นี่ได้เรียนสูตรสิบสองตำนาน เรียนสวดไชยน้อย ไชยใหญ่ การเรียนต้องเรียนต่อคำ ไม่ต้องจับหนังสือท่องบ่นเหมือนในสมัยนี้ เรียนเทศน์มหาชาติ อยู่ที่นี้ได้ไม่นานนัก (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗) พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดตาล (วัดศรีทองนพคุณ) ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๗๐ พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์ อินฺทสาโร) เจ้าคณะแขวงเสลภูมิ (ในสมัยนั้น) ได้มีหนังสือเรียกตัวให้เข้ามาอยู่ที่วัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๗๑-พ.ศ. ๒๔๗๓ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ณ สำนักเรียนวัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) สามารถสอบไล่ได้ ๓ ปีติดต่อกัน หลังจากที่สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกแล้ว ตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพราะอยากเป็นมหากับเขาบ้าง สามเณรรุ่นเดียวกันเขาไปเรียนได้เป็นมหา เป็นเจ้าคุณ เป็นสมภารเจ้าวัด ก็หลายองค์ หลวงปู่ท่านบอกว่า เรามันไม่มีบุญจะได้เป็นมหากับเขา เป็นเพียงพระที่อาศัยอยู่ตามวัดบ้านนอกอย่างที่เห็นอยู่นี่แหละ (http://www.kammatan.com/gallary/images/20091110112611__paragraph__1_118.jpg) หลวงปู่มา ญาณวโร-หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป ๏ สามเณรเสียงทอง พูดถึงการเทศน์เสียง (แหล่) นั้นแต่ละภาคก็มีสำเนียงภาษาที่ต่างกัน และเป็นที่นิยมของแต่ละภาค หลวงปู่ท่านก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่เทศน์เสียงได้ไพเราะ เป็นที่ติดอกติดใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ในสมัยที่ครั้งยังเป็นสามเณร ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเป็นสามเณรไปอยู่วัดคำครตา ท่านก็มีโอกาสได้ฝึกการเทศน์แหล่อยู่บ้าง พอออกพรรษาชาวบ้านก็ทำบุญกันตามประเพณี คือประเพณีอีสานนั้นครูบาอาจารย์ท่านว่า “เดือน อ้าย ทำบุญเข้าปริวาสกรรม เดือนยี่ ทำบุญข้าว เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ เดือนสี่ ทำบุญมหาชาติ เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ เดือนหก ทำบุญวันวิสาขา เดือนเจ็ด ทำบุญเทวดาอารักษ์หลักเมือง เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก หรือข้าวสราท เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน” ชาวบ้านคำครตา ก็เช่นเดียวกัน พอถึงเดือนสี่ ก็ทำบุญมหาชาติ มีการนำเอาหนังสือมหาเวสสันดร มาแบ่งเป็นกัณฑ์ๆ เพื่อให้พระเทศน์ ในงานครั้งนั้นสามเณรมา ได้รับหนังสือเทศน์มา ๒ กัณฑ์ เป็นกุมารบั้นปลาย ตอนพระเวสสันดรทานกัณหา ชาลี แก่ชูชก และกัณฑ์มัทรี เมื่อรับมาแล้วก็พากเพียรฝึกอ่านฝึกเทศน์ตามภาษาท้องถิ่น พอถึงวันงานได้เวลา ญาติโยมก็นิมนต์ขึ้นมาเทศน์ สามเณรมาตัวเล็กๆ ก็ขึ้นสู่ธรรมาสน์อย่างอาจหาญ เพราะมีความเชื่อมั่นในตนเอง เล่นเอาญาติโยมที่ฟังเทศน์ตะลึง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ คนทั้งหลายติดอกติดใจในน้ำเสียง และลีลาการเทศน์ของสามเณรมา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สามเณรมาก็ถูกคนกล่าวถึง และนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติ ทุกวันตลอดฤดูกาล หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้น เวลาไปเทศน์บ้านไหน ต้องเดินไปไม่มีรถขี่เหมือนทุกวันนี้ บางหมู่บ้านก็อยู่ไกล ๏ การอุปสมบท ต่อมา ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู ณ พัทธสีมาวัดดอนประดิษฐาราม บ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์ อินทสาโร) วัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์ฉิม ชินวํโส วัดศรีทองนพคุณ (วัดตาล) อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูใบฎีกาสะอาด โฆสโก วัดเหนือเสลภูมิ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ๏ การศึกษาพิเศษ เรียนจบอักษรขอม (เขมร) ภาษาธรรม ภาษาไทยน้อย (http://www.kammatan.com/gallary/images/20091110112648__2_624.jpg) หลวงปู่มา ญาณวโร ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8922 (มีต่อ) หัวข้อ: Re: ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 10, 2009, 11:30:00 AM ๏ การศึกษาพระเวทย์
พูดถึงการศึกษาเวทย์มนต์คาถาของครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น เป็นที่นิยมกันมาก หลวงปู่ท่านก็เช่นกัน ท่านก็อยู่ในวัยหนุ่มที่อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อยากมีไว้กับเขาบ้าง ถ้าได้ข่าวว่าพระอาจารย์องค์ไหนโด่งดังทางเวทย์มนต์คาถา ท่านก็จะพยายามไปหา เพื่อศึกษาข้อวัตรของพระอาจารย์องค์นั้น ดูเห็นว่าดีก็จะฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ท่านบอกว่า เรียนรู้เอาไว้ อันไหนดีก็เก็บไว้ อันไหนไม่ดีก็ทิ้งไปไม่ต้องเสียดาย ขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายมีไว้กับเขาบ้างก็ดี การที่จะได้เรียนวิชาเวทย์มนต์คาถากับครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น จะต้องเรียนอักษรขอม (เขมร) ภาษาธรรม ภาษาไทยน้อย เรียนกัมมัฏฐาน ฝึกการนั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่เป็นหนึ่ง มีความเมตตาเป็นที่ตั้ง ออกเดินธุดงค์ติดตามครูบาอาจารย์ไปในที่ต่างๆ มีความอดทน มีข้อวัตรปฏิบัติดี ไม่เป็นที่หนักอกหนักใจของครูบาอาจารย์และเป็นที่ไว้วางใจของครูบาอาจารย์ จึงจะเรียนได้ ไม่ว่าจะยากลำบากสักเพียงใด หลวงปู่ท่านก็ไม่เคยหวั่น ถ้าได้ตั้งใจแล้วจะต้องเอาให้ได้ ครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่ท่านได้ไปศึกษาด้วยเท่าที่ทราบจากท่านก็มี ดังนี้ ๑. หลวงปู่สอน อุตฺตโม วัดดอนประดิษฐาราม บ้านดอนน้อย ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ๒. พระครูอุตตรานุรักษ์ (อินทร์ อินฺทสาโร) หรือหลวงปู่เสือ วัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ๓. พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร) วัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ๔. หลวงปู่มหาดไทย วัดบ้านบัว ต.เหล่า อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ๕. หลวงปู่พรหม ไม่ปรากฏว่าท่านอยู่วัดไหน ท่านเป็นพระที่ธุดงค์มา เป็นผู้มีปฏิปทาข้อวัตรอันดีเป็นที่น่าเลื่อมใส หลวงปู่ท่านจึงเข้าไปศึกษาข้อวัตรด้วย ทั้งนี้ หลวงปู่ท่านก็ได้ใช้วิชาการความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาสร้างสาธารณประโยชน์อย่างมากมาย ๏ ความชำนาญพิเศษ - เป็นช่างไม้ ช่างปูน ทำการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ก่อสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และอาคารต่างๆ อีก - นวกรรม เขียนแบบแปลนอุโบสถ แบบแปลนกุฏิสงฆ์ แบบแปลนศาลาการเปรียญ และแบบแปลนอาคารอื่นๆ อีก - หัตถกรรม จักสาร ตะกร้า กระจอ กระเบียน กระติบข้าว กระบุง - ศิลปกรรม เขียนลายไทยและแกะสลักลายไทย บานประตูหน้าต่าง พระอุโบสถช่างลงลักปิดทอง ติดมุก ติดกระจก ช่อฟ้า ใบระกาในอุโบสถ ช่างปั้นหล่อ เช่น ช่างปั้นช่อฟ้า ใบระกาอุโบสถ และประดับด้วยลายไทย ๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสมานสามัคคีธรรม ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านนาทม ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลภูเงิน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ลาออกจากเจ้าอาวาสวัดบ้านนาทม แล้วไปสร้างสำนักวิเวกอาศรม ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวิเวกอาศรม ต.ภูเงิน อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวิเวก ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ ๏ ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปลัดมา ญาณวโร ฐานานุกรมของพระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์ เจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ วัดกลาง (วัดมิ่งเมือง) ต.กลาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูสารธรรมนิเทศ พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้น โท และรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในพระราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระมงคลญาณเถร ๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา - เป็นวิทยาการอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประจำศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดป่าซำทอง วัดป่าหัวคู วัดป่าคูขาด วัดป่าบ้านคำแดง - เป็นพระธรรมทูตประจำสายที่ ๕ จ.ร้อยเอ็ด - เป็นวิทยากรอบรมศีลธรรมวัฒนธรรมและจริยธรรมแก่กลุ่มเยาวชน - เป็นรองประธานคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อ.เสลภูมิ Image กุฏี ๙๑ ปี หลวงปู่มา ญาณวโร ณ วัดสันติวิเวก จ.ร้อยเอ็ด ๏ งานสาธารณประโยชน์ หลวงปู่มา เป็นพระเถระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไปและทั่วทั้งภาคอีสาน เกียรติคุณของท่านเป็นที่ทราบโดยทั่วไป หน่วยงานราชการและประชาชนต่างหลั่งไหลเข้ามาขอให้ท่านได้ช่วยเหลือเป็นจำนวน มาก ซึ่งท่านก็ได้บริจาคและให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอด ชื่อหลวงปู่จึงปรากฏอยู่ตามสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ได้รับความเมตตาจากท่านในการสร้าง “หอสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก” เป็นจำนวนเงิน ๗ ล้าน ๕ แสนบาท เพื่อให้ลูกหลานชาวเสลภูมิได้ศึกษาหาความรู้ ซึ่งชาวเสลภูมิพิทยาคมสำนึกในพระคุณของหลวงปู่อย่างที่สุด ๏ เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำชี ชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านเจ้าคุณพระมงคลญาณเถร หรือหลวงปู่มา ญาณวโร นั้น เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุข ประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลมนุษย์ชาติ มีความโดดเด่นของเกียรติคุณชื่อเสียงและความพิเศษสุดในการบำเพ็ญทานบารมี รวมทั้ง ยังเป็นทั้งผู้รู้ รัตตัญญูเถระ, เป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ไทย ว่าเป็นผู้ที่มีลักษณะงดงาม เป็นเผ่าพันธุ์ชาวอีสาน มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติศักดิ์ในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ของชาวอีสานโดยแท้จริง เป็นผู้ที่สามารถสร้างความเคารพและศรัทธาให้เกิดขึ้นในถิ่นแดนอีสาน อีกทั้ง ยังนำความเจริญที่กลมกลืนกับหลักพุทธธรรมหยิบยื่นให้กับชาวอีสาน จนทำให้ประชาชนดำรงชีพยืนหยัดอยู่ได้ด้วยลำแข้ง ประกอบสัมมาอาชีพบนความถูกต้องและชอบธรรม ตลอดจน ท่านยังเป็นพระนักทำงาน และทำจริงๆ อะไรที่จะเป็นประโยชน์ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ทั้งต่อมวลประชาและฝ่ายคณะสงฆ์ ท่านจะรีบเร่งทำอย่างรวดเร็วโดยมิรั้งรอ ทุกขณะทุกลมหายใจของท่านเปี่ยมล้นไปด้วยความดีที่จีรัง และไม่มีอะไรมาจำกัดขอบเขตคุณความดีที่แผ่กระจายออกไป ประจักษ์แจ้งในหมู่คณะสงฆ์ คงอยู่ในใจชาวลุ่มน้ำชีมาเกือบศตวรรษ “หลวงปู่มา ญาณวโร” หรือ ท่านเจ้าคุณ “พระมงคลญาณเถร” สมณศักดิ์ใหม่ของท่านจึงเป็นมงคล เป็นสายน้ำแห่งพระธรรมที่หล่อเลี้ยงชาวอีสานในเขตลุ่มน้ำชีทุกอณู เป็นสายธรรม สายทอง ของชาวไทยอีสานโดยแท้ ดั่งที่เราท่านทั้งหลายได้เห็นประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ เป็นเพราะหลวงปู่ท่านเป็นพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิปทาสม่ำเสมอ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำชี” ๏ การมรณภาพ หลวงปู่มา ญาณวโร ประธานสงฆ์แห่งวัดสันติวิเวก บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พระสายวิปัสสนากรรมฐานและเกจิอาจารย์ชื่อดังของ จ.ร้อยเอ็ด สายธรรมท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตเถระ ซึ่งอาพาธมาหลายเดือน ได้มรณภาพแล้วด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๐.๕๙ น. ของวันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ณ วัดสันติวิเวก สิริรวมอายุได้ ๙๗ ปี พรรษา ๗๗ สำหรับที่มาของฉายา “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำชี” นั้น พระครูอุดมธรรมานุกูล (สุนทร อุตฺตโม) เจ้าอาวาสวัดภูพานอุดมธรรม ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม หนึ่งในพระลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด บอกว่า หลวงปู่มา เป็นพระเถระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วไป และทั่วทั้งภาคอีสาน เกียรติคุณของท่านเป็นที่ทราบโดยทั่วไป หน่วยงานราชการและประชาชนต่างหลั่งไหลเข้ามาขอให้ท่านช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านก็ได้บริจาคและให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอด ในวันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ จะมีพิธีน้ำหลวงสรงศพองค์หลวงปู่มา หัวข้อ: Re: ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 10, 2009, 11:36:33 AM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20091110112557__14_457.jpg)
หลวงปู่มา ญาณวโร เกจิแห่งเมืองร้อยเอ็ดเพชรอีสาน เมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ต้องคดีซุกหุ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ นั้น นอกจากใช้การต่อสู้ด้านกฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นข้อกล่าวหาแล้ว การทำบุญสะเดาะเคราะห์ก็ยังเป็นอีกทางหนึ่ง โดยในครั้งนั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ทั่วภาคอีสานมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ณ วัดแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น พระมงคลญาณเถร หรือหลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก บ้านโนนคำ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ก็เป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมงานในครั้งนั้น ด้วย ที่สำคัญคือหลวงปู่มาได้รับนิมนต์ให้เป็นตัวแทนพระเกจิอาจารย์ทั้งหมดในการ ผูกข้อมือนายกฯ ทักษิณด้วยด้ายสายสิญจน์ หลวงปู่มา ชื่อนี้อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนภาคกลางเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นคนในภาคอีสานโดยเฉพาะใน จ.ร้อยเอ็ด ขอนแก่น หรือมหาสารคราม ต่างรู้จักกันดี ท่านมักจะได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลบ่อยครั้ง ส่วนกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคกลางนั้น ท่านจะได้รับนิมนต์ให้มานั่งปรกเฉพาะพิธีมหาพุทธาภิเษกใหญ่ๆ เท่านั้น นอกจากนี้แล้วเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เข้าไปกราบไหว้ท่าน ต่างมีความเชื่อว่า "หลวงปู่มาสำเร็จเป็นพระอรหันต์" ส่วนท่านจะสำเร็จจริงหรือไม่นั้น ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ของหลวงปู่มา ญาณวโร แบบ “คม ชัด ลึก” ดังนี้ หลวงปู่บวชด้วยเหตุใดครับ ? -- ตอนแรกก็บวชเป็นสามเณรก่อน บวชมาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบโน้น เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์จึงบวชเป็นพระ ความคิดที่จะสึกไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาสไม่เคยเกิดขึ้นในสมองสักครั้งเดียว คิดเพียงว่าให้หลุดพ้น และขอตายคาผ้าเหลือง พระที่บวชรุ่นเดียวกันยังอยู่อีกหลายรูปหรือเปล่าครับ ? -- ตายไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ไม่กี่รูป ที่เป็นรุ่นเดียวกันก็มีสมเด็จพระสังฆราช หลวงตามหาบัว เจ้าคุณพระเทพวุฒาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และก็อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกรูปหนึ่ง ทำอย่างไรอายุจะยืนเหมือนหลวงปู่ครับ ? -- ตายช้า ตายเร็ว มันอยู่ที่กรรม อันนี้มันแล้วแต่บุญกรรม นอกจากนี้แล้วยังอยู่ที่อารมณ์ ฉันน้อย กินแต่พอดี กินเพื่ออยู่ไม่ได้อยู่เพื่อกิน หรือภาษาพระเขาเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา ซึ่งหมายถึง รู้จักการประมาณในการกินอาหารให้พอเหมาะ ถ้าน้อยไปก็ผอม ถ้ามากไปก็อ้วน จำไว้ว่าหนังท้องตึงเมื่อไรหนังตาก็ยานเมื่อนั้น ที่ขาดเสียไม่ได้ คือ ความเพียรพยามยามรักษาคุณความดีที่ตนสร้างไว้ ไม่คิด ไม่มีอารมณ์ บวชมาแต่เด็กตัดกิเลสได้หมดหรือเปล่าครับ ? -- ยังมีอยู่เต็มไปหมดเลย ที่มานั่งคุมสร้างกุฏินี่ก็เพราะกิเลสยังมีอยู่ นั่งคิดนอนคิดว่า จะเสร็จเมื่อไร จะหาปัจจัยที่ไหนมาสร้าง มีพระบางองค์บอกว่าตัดกิเลสหมดแล้ว หลวงปู่เชื่อหรือเปล่าครับ ? -- ฉันไม่เชื่อ เพราะตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กิเลส ๓ ตัวนี้ตัดได้อยากมาก ขนาดฉันบวชมาตลอดชีวิตก็ยังมีอยู่เลย แต่มันน้อยกว่าคนธรรมดาทั่วไป ทำไมยังมีกิเลสอยู่ครับ ? -- มันก็ยังมีความโลภ ความโกรธ ความอยากเหมือนคนทั่วๆ ไป ใครด่าฉันก็ยังรู้สึกโกรธ รู้สึกฉุนเฉียวเหมือนคนทั่วๆ ไป ญาติโยมมาหาท่านด้วยเหตุอันใดบ้างครับ ? -- มันก็มาขอฉันทุกอย่าง มันคิดว่าฉันเป็นผู้วิเศษ ที่จะช่วยดลบันดาลให้ได้ตามที่ขอ ที่มาขอเลขขอหวยก็เยอะ ขอให้รวย ขอให้ประสบความสำเร็จก็มากมี มันคิดว่าฉันสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ฉันก็ย้อนไปว่าฉันยังเป็นพระที่มีกิเลสเต็มตัวเหมือนพระทั่วๆ ไป เหตุใดคนถึงคิดเช่นนั้นครับ ? -- คนเรานั้นนานาจิตตัง ใครจะคิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ฉันไม่เคยพูด และถ้าฉันพูดออกไปว่าตัวเองสำเร็จอรหันต์ ฉันก็ต้องพ้นจากความเป็นพระทั้งๆ ที่ยังห่มผ้าเหลืองอยู่ พระรูปใดบอกว่าตัวเองสำเร็จอรหันต์หรือพูดว่าได้ฌาณระดับโน้นระดับนี้ ยิ่งเชื่อไม่ได้ใหญ่ ผู้ที่สำเร็จย่อมไม่โอ้อวดตัวเอง เขาว่ากันเอง เห็นเราบวชมาตั้งแต่เด็ก อยู่จนแก่เฒ่าก็คิดว่า เราสำเร็จอรหันต์ ฉันบอกได้เลยว่า พระเกจิอาจารย์ทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่มีรูปใดกล้าที่จะประกาศว่าสำเร็จอรหันต์ พระรูปใดถ้าสำเร็จอรหันต์จริงต้องฉันอาหารเพื่อให้มีชีวิตอยู่เท่านั้น ใครด่า ใครว่า ใครพูดอะไรต้องไม่หวั่นไหวและโต้ตอบ พระที่ออกมาด่าคนโน้น ออกมาด่าคนนี้ รวมทั้งพระที่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงว่ายังมีตัณหา ไม่สิ้นกิเลส ยังมีความยากได้ ความโลภอยู่ แล้วยังมาบอกว่าตัวเองสำเร็จอรหันต์ ยิ่งเชื่อไม่ได้ใหญ่ หลวงปู่ช่วยได้ทุกคนหรือเปล่าครับ ? -- คนที่อยากรวย มันคงคิดว่า วัดของฉันเป็นโรงงานผลิตเหรียญผลิตแบงก์ ไอ้พวกที่มาขอเลขมันคงคิดว่าวัดเป็นกองสลาก ถ้าฉันรู้ฉันจะไปบอกบุญญาติโยมทำไมกัน ฉันจะไปช่วยมันหมดทุกคนได้อย่างไร ขนาดฉันยังต้องช่วยตัวเองเลย และฉันยังต้องให้คนอื่นช่วยเหลือฉันด้วย อย่างกับห่มจีวรฉันยังต้องให้ลูกศิษย์ช่วยเลย แล้วพวกที่มาขอของดีล่ะครับ ? -- อันนั้นมันเป็นเรื่องของเขา เมื่อมันอยากได้อะไรฉันก็ให้ไป มันก็คิดว่าเป็นของดีหมด ของดี ดีจริงหรือเปล่าครับ ? -- มันคิดว่าเป็นของขลัง โดนยิงก็ยังตายอยู่ พวกที่มาเพื่อให้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองนั้น ฉันก็บอกไปว่าพยายามรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ใช้แต่พอประมาณ อย่าน้อยหรือมากเกินไป ฉันจะบันดาลให้ใครรวยทันตาเห็นนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คิดเอาง่ายๆ ก็แล้วกัน ขนาดกุฏิฉันยังต้องออกแรงสร้างเองเลย หลวงปู่กลัวตายหรือเปล่าครับ ? -- ก็ยังกลัวอยู่ เป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ตายแล้วไปไหนครับ ? -- ตายแล้วเป็นไปตามกรรม ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าทำกรรมดีไปอยู่ภพภูมิที่ดีหรือที่เรียกว่า สวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำกรรมชั่วก็ไปอยู่ภพภูมิที่ไม่ดีหรือนรกนั่นเอง ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นในปัจจุบันก็คือ ไอ้พวกที่ฆ่าคนตาย มันต้องตกนรกทั้งเป็น ต้องหนีไปตลอดชีวิต หากถูกจับได้ก็ไปอยู่ในคุก อาจจะมีโทษถึงประหาร ทำอย่างไรถึงมีความสุขครับ ? -- ไปตายเสีย ใครถามฉันก็ตอบอย่างนี้ทุกคน ทำไมหลวงปู่ถึงพูดแบบนี้ครับ ? -- ตายแล้วมันสบาย เป็นหนี้เขาก็ไม่ต้องใช้ ไม่หิว ไม่อิ่ม ไม่ต้องกิน ฯลฯ ตายก็สิ้นสุด หมดภาระหน้าที่ เมื่อคืนวันก่อนฉันก็เทศน์สอนญาติโยมว่า ใครอยากสบายให้ตายเสีย เหมือนเจ้าคุณที่นอนตายอยู่ในโรง คนตายไปไม่รู้สึกอะไรหรอก คนที่อยู่ต่างหากที่เดือดร้อน ต้องหาเงินหาทองจัดเตรียมทำงานศพ ส่วนใหญ่หลวงปู่เทศน์อะไรสอนญาติโยมครับ ? -- แล้วแต่ ส่วนใหญ่ฉันจะเทศน์ด่า ไม่ใช่ด่าคน แต่เทศน์ด่ากิเลสในตัวคน กิเลสที่ว่าก็ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปนั่งปรกบ่อยหรือเปล่าครับ ? -- บ่อย ถ้าพอไปได้ก็ไป แต่ถ้าทางไกลนักก็ไม่ไป นั่งนานไม่ได้ เพราะเป็นโรคต่อมลูกหมากโต นั่งนานถ่ายปัสสาวะไม่ออก ระหว่างนั่งหลวงปู่บริกรรมหรือภาวนาอะไรครับ ? -- ไม่ได้บริกรรมอะไรเลย นั่งหลับตาเฉยๆ ทำสมาธิของเราต่างหาก นั่งเฉยๆ แล้วของมันจะขลังได้อย่างไรครับ ? -- ขลังไม่ขลัง มันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาว่าไม่ขลังก็ไม่ขลัง ถ้าเขาว่าขลังมันก็ขลัง มันอยู่ที่คนถือ จะถืออะไร ถ้าคิดว่าอะไรขลังมันก็ขลัง มันอยู่ที่จิตของเขาไม่ได้อยู่ที่จิตของเรา หลวงปู่สักยันต์ด้วยหรือครับ ? -- สักยันต์เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรโน้น สักยันต์กันหมากัด มันก็แปลกดี โดนหมากัดหลายครั้ง แต่หมากัดไม่เข้า หมาตัวไหนที่ว่าดุๆ เดินเข้าไปหามันก็กัดไม่เข้า เพราะยันต์มีคาถากำกับอยู่ นอกจากนี้แล้วยังสามารถป้องกันสัตว์ร้ายอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน แต่มีข้อยกเว้นว่าต้องเป็นสัตว์ที่มีฟันสีขาวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสัตว์อย่างพวกตะขาบ แมลงป่องก็กัดเข้า ทำบุญอย่างไรถึงจะได้บุญครับ ? -- เรื่องการทำบุญมันอยู่ที่ความบริสุทธิ์ของใจเป็นที่ตั้ง ทำน้อยแต่ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ได้บุญมากกว่าคนทำบุญด้วยการถวายปัจจัยมากๆ เพื่อหวังชื่อเสียง ลาภยศ และสรรเสริญ คนบุญมากๆ แล้ว ต้องนอนเอามือก่ายหน้าผาก พวกนี้ได้แต่หน้า ได้แต่ชื่อเสียง แต่บุญจริงๆ นั้นไม่ได้ หลวงปู่ดูแลสุขภาพอย่างไรครับ ? -- เอาแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน หมอไม่ให้พูดมาก เวลาสวดมนต์ก็ให้สวดเบา เพราะไปผ่าตัดกล่องเสียงมา และไปผ่าตัดลำไส้ออกไป ๒ ฟุต เมื่อถึงเวลากินก็กิน เมื่อถึงเวลานอนก็นอน ขอขอบพระคุณสำหรับข้อมูล อีกรอบให้กับเว็บ : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8922 |