KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับห้องนั่งเล่น คุยกันสบายๆตามประสาชาวกรรมฐานคุยกันสบายๆ ตามประสาชาวกรรมฐาน.คอมคุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน?
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน?  (อ่าน 11623 ครั้ง)
sutaepku
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 23


sutaep1980@hotmail.co.th
ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤษภาคม 10, 2013, 02:16:26 AM »

ธรรมเป็นของไม่ตาย ธรรมะคือความจริง ถ้าจิตใจของเรายอมรับความจริง น้อมความจริงเข้ามาในจิตใจของเราและปฏิบัติตาม จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณภาพมากขึ้น
       
       คุณภาพคืออะไร ในสมัยนี้มีความสับสนกันมากระหว่างค่าหรือคุณค่า กับสิ่งที่มีค่าและราคา ในเมื่อสังคมปัจจุบันหนักไปในทางวัตถุ หนักไปทางการบริโภค คนมักจะถือว่าราคาเป็นเครื่องวัดคุณค่า สิ่งใดราคาแพงๆ ก็จะถือว่าสิ่งนั้นมีคุณค่ามาก ทำให้คนส่วนใหญ่วัดประโยชน์วัดคุณค่าของสิ่งต่างๆ ด้วยราคา
       
       อาตมาจำได้ว่า เคยพาคณะญาติโยมไปเดินป่าที่วัดภูจ้อมก้อม ซึ่งเป็นสาขาของวัดป่านานาชาติ วัดนั้นติดแม่น้ำโขง มีหินก้อนใหญ่ๆ วางระเกะระกะมาก หลายๆก้อนมีรูปทรงแปลกประหลาด สวยงามมาก วันที่พาคณะไป มีโยมคนหนึ่งเห็นหินสวยงามที่ไหนต้องอุทานออกมาว่า “ดูซิ หินก้อนนั้นเอาไปขายกรุงเทพคงได้หลายตังค์” เขาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแท้ๆ แต่จิตใจยังอยู่กับเงินกับทอง เดินผ่านก้อนหินสวยๆ ก็ต้องตีราคา
       
       ทุกวันนี้เรามักจะมองข้ามความสำคัญของสิ่งที่ตีราคาไม่ได้ เอาเงินเอาทองเป็นเครื่องวัด วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่วัดได้ปัจจุบัน ถ้าวัดไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าอยู่ในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์ สิ่งใดไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์ ก็บอกว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องไร้แก่นสารสาระ
       
       คุณค่าของคนก็เช่นเดียวกัน เราจะเอาวัตถุวัดคนได้หรือ คนที่เคยทำงาน เคยถือว่าชีวิตของตนเองมีคุณค่าเพราะทำงาน เพราะมีเงินเดือน พอเกษียณแล้ว ไม่ทำงานแล้ว ก็รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่าเสียแล้ว เป็นภาระแก่คนอื่น เพราะไม่ได้ทำงานไม่มีเงินเดือนแล้ว เป็นภาระแก่ลูกหลาน นี่เรียกว่าคิดผิด
       
       เพราะคุณค่าของชีวิตไม่ได้อยู่ที่เงินเดือน คุณค่าของชีวิตอยู่ที่สิ่งที่ดีงามภายในจิตในใจของเรา อยู่ที่สิ่งดีงามที่เรากระทำด้วยกาย ด้วยวาจา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงถือได้ว่า ชีวิตของเรามีคุณค่าได้จนถึงลมหายใจสุดท้ายเลย
       
       ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ยังมีโอกาสละสิ่งที่ไม่ดี มีโอกาสทำสิ่งที่ดีที่งาม เป็นประโยชน์ ทำสิ่งที่ให้ตนเองมีความสุข ทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้ตลอดเวลา
       
       ตอนทำงานทางโลก เรามีภาระหน้าที่มากมาย เมื่อมีอายุมากขึ้นน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ทำงานส่วนตัวมากขึ้น ทางพุทธศาสนาเราถือว่า ตายแล้วไม่สูญ ถือว่ายังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่เป็นไปตามยถากรรม ไม่เป็นไปตามพรหมลิขิต ไม่เป็นไปตามดวง แต่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม
       
       กรรม คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ประกอบด้วยเจตนา คือความตั้งใจ กรรม คือ การกระทำที่มีผลโดยมีหลักง่ายๆว่า การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักตรงไปตรงมา
       
       ขอให้คอยสังเกตว่า เมื่อไรเราทำความดี เราก็รู้สึกว่าดีทันที เอาแค่นั้นก็พอ จะเข้าใจได้ เราจะเห็นได้ชัดว่าเรามีความรู้สึกที่ดีอยู่ภายใน ไม่ใช่ความสุขเพราะคนอื่นยอมรับ คนอื่นสรรเสริญ คนอื่นเห็นบุญคุณของเรา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
       
       เมื่อเราทำความดีด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ในขณะนั้นจิตใจของเรามีคุณภาพ ทำให้เรารวยขึ้นทันที คือ มีอริยทรัพย์เพิ่มมากขึ้น แต่ทรัพย์ประเภทนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว เนื่องจากว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของหมู่มนุษย์ เมื่อความดีของคนคนหนึ่งเพิ่มขึ้น ความดีของโลกก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ความดีของมนุษย์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็ยังน่าชื่นใจ
       
       เมื่อเรามีอายุมากขึ้น เราก็ควรตั้งอกตั้งใจทำแต่สิ่งที่ดี พูดแต่สิ่งที่ดี ฝึกจิตให้น้อมไปในสิ่งที่ดีงาม การเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเอง เพื่อเพิ่มคุณงามความดีในโลกนี้ไว้ ทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมาย มีคุณค่าทุกวันทุกเวลา มีงานต้องทำ
       
       ถ้าเรายังมีนิสัยใดที่ยังไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่ใช่ว่าเราจะต้องยอมรับ เพราะนิสัยต่างๆ ไม่ใช่ของดั้งเดิมของจิตใจ หากเกิดจากการกระทำ เราทำสิ่งใดบ่อยๆ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นความเคยชิน นานๆเข้าความเคยชินก็จะกลายเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นนิสัยต่างๆ เป็นสิ่งที่เราเคยสนับสนุนจนกลายเป็นบุคลิกไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป เราก็ยังสามารถแก้ไขได้ ชอบโกรธคนนั้นโกรธคนนี้อยู่เรื่อย โกรธง่าย โกรธทุกวัน ไม่นานก็กลายเป็นคนขี้โกรธ ถ้าเราฝึกตนเองมุ่งมั่นระงับความโกรธ ตั้งอกตั้งใจชนะมัน ความโกรธก็จะค่อยลดน้อยลง เราก็จะเห็นชัดว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่ตายตัว แก้ไม่ได้
       
       เราทุกคนอายุเท่าใดก็แล้วแต่ อายุครบเจ็ดสิบ แปดสิบ สิ่งไม่ดีไม่งามเราก็ค่อยๆปล่อยไป วางไป เพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ไม่ได้เอาแต่ราคา ไม่ได้เอาแต่คุณค่าทางโลก ชีวิตของเรามีคุณค่า
       
       ถามตัวเองตรงๆว่า เราต้องการอะไรจากชีวิตนี้ เรามีเป้าหมายชีวิตทางด้านคุณธรรมชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีแล้ว สิ่งที่เรากำลังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ตรงกับเป้าหมายของเราหรือไม่
       
       โอกาสที่เราจะหลงทางมีมาก เพราะการหลงทางของเรามักจะไม่ใช่ในลักษณะที่ว่า เราตั้งใจเลี้ยวซ้าย แล้วหลงเลี้ยวขวา
       
       แต่ว่าจะเป็นในลักษณะว่าเดินตามทาง แล้วก็เหออกไปจากทางวันละเล็กวันละน้อย วันละไม่กี่เซนติเมตร ไม่ถึงเมตร นานๆเข้ามันก็ผิดทางหลายร้อยเมตร สุดท้ายตั้งใจจะไปทางเหนือ ออกมากลายเป็นว่าไปทางตะวันตกก็ได้ หรือกลับไปทางทิศใต้ก็ได้ เพราะว่ามันจะออกจากทางทีละเล็กทีละน้อย
       
       ฉะนั้น เราควรจะต้องรู้จักเว้นวรรคชีวิต เหมือนกับเราเขียนหนังสือ เราต้องรู้จักเว้นวรรค เว้นวรรคหนังสือแล้วจึงจะอ่านได้
       
       ชีวิตของเราต้องมีการหยุด ต้องมีการทบทวนว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อเราจะได้เห็นตนเอง ชีวิตของเราจะมีความสุขที่แท้จริงก็อยู่ที่คุณภาพของชีวิต อยู่ที่ความรู้สึกภาคภูมิใจตัวเอง
       
       ถ้าวันไหนก่อนนอน เราทบทวนสิ่งที่เราได้ทำวันนี้ รู้สึกว่าวันนี้ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย ไม่ได้พูดสิ่งใดเลย ที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ใครเลย ไม่มีการเบียดเบียนตน ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ ท่านได้ทราบว่าเราทำอะไรไปบ้าง ท่านก็คงไม่มีอะไรที่จะตำหนิเราได้เลย
       
       เมื่อเราตรวจศีลแล้ว ระลึกถึงคุณงามความดีที่เราได้ทำวันนี้ เราก็มีความสุขมากๆยิ่งขึ้น เราระลึกว่าวันนี้ได้ทำวัตรสวดมนต์ ได้ทำจิตใจให้สงบสดชื่นเบิกบานด้วยสมาธิภาวนา ได้สร้างประโยชน์แก่ครอบครัว ได้สร้างประโยชน์ที่ทำงาน ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่อง คิดอย่างนี้เป็นแล้วก็มีความสุขมาก ความสุขนี้ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องบริโภค ไม่ต้องไปซื้อสิ่งใดเลยถึงจะได้ เพราะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความเพียรพยายามของเรา
       
       ขอให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตเกิดจากคุณภาพของการกระทำของเราด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ มองเป็นศิลปะก็ได้ เราต้องเป็นศิลปินด้วยการแกะสลักชีวิตของเราให้งดงามขึ้นทุกวันๆ ซึ่งเป็นศิลปะที่ลึกซึ้งมาก
       
       สิ่งที่สร้างสรรค์นั้นคือตัวชีวิตที่งามแล้ว ตีราคาในตลาดไม่ได้ วัดคุณค่าด้วยเงินไม่ได้ ต้องใช้เครื่องวัดของพระพุทธเจ้า เป็นนหลักที่แน่นอน บริสุทธิ์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิเลส
       
       (เรียบเรียงจากเรื่องมาตรวัดคุณค่า)
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย ชยสาโรภิกขุ สถานพำนักสงฆ์บ้านบุญ บ้านไร่ทอสี จ.นครราชสีมา)

บันทึกการเข้า

** มนุษย์เกิดมาไม่มีอะไรติดตัว ตายไปคงไว้ซึ่งความดี **
the suffering
Global Moderator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 9
กระทู้: 859


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 10, 2013, 08:22:12 PM »

ความเป็นพระ  ไม่มีค่า แต่มีคุณยิ่ง
 และการจะได้มา ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

แต่ได้โดย การเจริญตามอริยมรรคมีองค์8   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: