ประดู่ลาย ประดู่แขก ( Dalbergia sissoo Roxb.)ประดู่ลาย ประดู่แขก หรือชาวอินเดีย เรียก ?ลิสโซ? และที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?สิสสู? นี้ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาแล้วก็เสด็จพาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมทั้งพระสงฆ์บริวารสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน หรือป่าประดู่แขก หรือประดู่ลาย
ประดู่ลายหรือประดู่แขก เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกไม้พยุง ชิงชันของไทย คือสกุล (Genus) ชิงชัน (Dalbergia) อยู่ในวงศ์ (Family) ไม้ถั่ว (Leguminosae - Papilionoiceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ใบออกเป็นช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 3 ? 5 ใบ ใบย่อยรูปมน ? ป้อม หรือมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อน มีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอก สีเหลืองอ่อน ๆ ปนขาวออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาว รี ๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝัก รูปบันทัดแคบ ๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1 ? 3 เมล็ด
ประดู่ลายหรือประดู่แขกนี้เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของอินเดียและกลุ่มประเทศแถบหิมาลัยนิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วไป ในประเทศ ไทยเท่าที่ทราบได้มีการนำเข้ามาปลูกไว้ที่บริเวณที่ทำการป่าไม้เขตลำปาง จังหวัดลำปาง ที่สวนรุกขาติมวกเหล็ก ทั้งสองแห่ง ทราบว่าสามารถให้เมล็ดพันธุ์สำหรับที่จะนำไปเพาะขยายได้แล้ว สำหรับที่สวนพฤกษศาสตร์พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทราบว่าได้เตรียมกล้าไม้ประดู่ไว้ปลูก บริเวณองค์พระในพุทธมณฑลเช่นกัน
เกี่ยวกับไม้ประดู่นี้ไทยเรารู้จักกันแพร่หลายกันในชื่อประดู่ป่าที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz กับประดู่บ้าน ประดู่อินเดีย หรือประดู่ลังสนา ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. ซึ่งอยู่คนละสกุลกับ ประดู่ลายหรือประดู่แขก บางท่านให้ความเห็นว่าพระพุทธเจ้าน่าจะเสด็จ ประทับในป่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียมาก กว่าเพราะมีร่มเงาดีและชื่อก็บอกว่า India อยู่แล้วแต่ปรากฏ ว่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียหรืออังสนานี้ กลับเป็นไม้พื้นเดิมของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า ไม้สะโน แต่อินเดียไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองเรียกไม้ชนิดนี้ สำหรับประดู่ป่านั้นก็เป็นไม้ถิ่นเดิมของพม่า และแถบ ภาคตะวันออกของพม่าไปตลอดคาบสมุทรอินโดจีน ชาวพม่าเรียกว่าประดู่ (Padauk) และก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อ พื้นเมืองของอินเดียเรียกเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อสังเกตจากชื่อพื้นเมืองประดู่ลายหรือประดู่แขก ที่ชาวอินเดียเรียกแล้ว จึงน่าสัณนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าและบริวารน่าจะเข้าพักในป่าประดู่ลายมากกว่า