ประเพณีแห่มาลัย บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ร้อยมาลัยข้าวตอก แทนดอกมณฑารพ นบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดอกมณฑารพ
' ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเมื่อเดือนสามได้
จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ
กุศลยังสิค้ำตามเฮามื้อละคาบ
หากธรรมเนียมจังซี้มีแท้แต่นาน
ให้ไปทำทุกหมู่บ้านทุกที่เอาบุญพ่อเอย
คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น
อย่าพากันไลถิ้มประเพณีตั้งแต่เก่า
บ้านเมืองเฮาสิเศร้าภัยฮ้ายสิแล่นตาม '
บุญเดือนสามจึงมีบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) บุญข้าวจี่นั้นยังคงพบว่ามีการทำอยู่เหมือนกันในบางท้องถิ่น บุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางศาสนาพุทธสำหรับบุญพวงมาลัยของอำเภอ มหาชนะชัยนั้น มีการทำครั้งแรกเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ชัด แต่มีการทำมานานและทำติดต่อกันมาทุก ๆ ปี เป็น เอกลักษณ์ของอำเภอมหาชนะชัย
ประวัติบุญพวงมาลัย
เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน และร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพาน จาตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเหล่าพระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพทั้งหลายด้วย ข่าวการเสด็จดับขันปรินิพพานได้แพร่ขยายออกไปในหมู่เหล่าข้าราชปริพารประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ อีกทั้งยังได้พากันเก็บเอาดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการะบูชาและรำลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปดอกมณฑารพที่เก็บมาสักการะบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่าง ๆ จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าแรก ๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม
ระยะเวลาการแห่พวงมาลัย
อำเภอมหาชนะชัย จะมีการแห่พวงมาลัย 2 ครั้งคือ
1. วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน โดยแห่ไปทอดถวาย ณ วัดหอก่อง
2. วัดฟ้าหยาดจะทำพร้อม ๆ กับบุญ ประจำปี หรือบุญกุ้มข้าวใหญ่ รวมถึงบุญคูณลานให้เสร็จพร้อมกันทีเดียว อยู่ช่วงประมาณเดือนยี่หรือเดือนสอง
ประเภทของพวงมาลัย
พวงมาลัยของชาวอำเภอมหาชนะชัยมี 2 แบบ คือ
1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก วัสดุที่ทำประกอบด้วยข้าวตอกแตกเป็นหลัก ข้าวตอกแตก คือ ข้าวเปลือกที่คั่วให้ข้าวแตกออกจากเปลือกด้วยความร้อนจากไฟ จะคล้ายกับข้าวโพดคั่ว
2. พวงมาลัยแบบเส้นด้าย เป็นพวงมาลัยที่ทำด้วยเส้นฝ้ายเป็นหลัก
วิธีการทำด้ายสุก
จะอยู่ในขั้นตอนนำด้ายที่ทำเป็นติ้วแล้วมาแช่น้ำประมาณ 1 คืน ให้อิ่มตัวแล้วต้มน้ำใส่ข้าวสารเจ้า จากนั้นคั้นชนเอาน้ำข้าวไว้เพื่อนำฝ้ายไปแช่หรือชุบให้อิ่มตัวก่อนจะบีบฝ้ายแล้วนำไปตาก เส้นฝ้ายจะมีลักษณะกลม ขณะที่นำไปตากต้องหมั่นไปดึงเพื่อให้เส้นด้ายถึงพอดี เมื่อด้ายแห้งแล้วก็นำไปเพื่อใช้ในงานที่จะทำต่อไป
วิธีการร้อยมาลัย
ผู้ที่ทำพวงมาลัยจึงนำข้าวตอกแตก หรือฝ้ายมาทำพวงมาลัย ดังนี้
1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก จะร้อยต่อดอกแบบอุบะ โดยมีความยาวอยู่ 3 ขนาด เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า ทำสายพวงมาลัย จำนวนสายมากน้อย เล็กหรือใหญ่ ตามแต่ศรัทธากำลังความสามารถของผู้ทำ สายมาลัยจะผูกนำมามัดใส่กรงที่ทำด้วยไม้เป็นรูปสามเหลี่ยมสองอันผูกไขว้กัน ซึ่งจะทำให้เกิดมุมดังนี้
1.1 มุมนอก 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่สั้นที่สุด มุมละ 5-9 สาย
1.2 มุมใน 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่ยาวขนาดกลาง มุมละ 5-9 สาย
1.3 ตรงกลาง จะทำเป็นพวงใหญ่และยาวที่สุดสายเดียว จะมัดโยงมาจากไม้ที่ใช้ห้อยพวงมาลัยแห่
2. พวงมาลัยเส้นด้าย ก็จะนำฝ้ายที่ทำเป็นเส้นด้ายเป็นติ้ว (ไจ,ไนหรือปอย) แล้วมาตกแต่งใส่กรงไม้เหมือนพวงมาลัยข้าวตอกแตก จะมีมุมนอก มุมในและตรงกลาง
สายมาลัยข้าวตอกแตกหรือมาลัยฝ้าย เมื่อมัดใส่กรงไม้แล้วก็จะนำมาประดับตกแต่ง ดังนี้
1. ตกแต่งเป็นลวดลาย เช่น ลวดลายตาข่าย ลายเกล็ด ลายก้านสามดอก ลายกระเบื้อง สายสี่ก้านสี่ดอก ลายดาวกระจาย ลายแก้วชิงดวง ลายแมงมุม ลายดาวล้อมเดือน และลายวิมานแปลง ตามแต่ฝีมือและความรู้ความชำนาญ
2. ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ทำเป็นดอกไม้ พู่ พุ่ม หรือสีสันของการประดิษฐ์งานฝีมือ
การแห่พวงมาลัย
พวงมาลัยที่ทำเสร็จแล้วจะนำไปแห่ในวันเวลาที่นัดหมายกัน คือ แห่ไปถวายวัดฟ้าหยาดช่วงจัดงานบุญประจำปี (บุญกุ้มข้าวใหญ่) บุญคูณลาน และบุญพวงมาลัย ซึ่งจัดทำพร้อมกันช่วงเดือนยี่ (เดือนสอง) และแห่ไปถวายวัดหอก่องในวันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสาม ก่อนวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพวงมาลัยจึงนำพวงมาลัยของตนเองมารวมกันยังที่นัดหมาย มีขบวนกลองยาวช่วยเพิ่มรสชาติความสนุกสนานมีชีวิตชีวาในการแห่ เจ้าของพวงมาลัยจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อยกหรือชูมาลัยให้สูงจากพื้นดิน จะได้ไม้ห้อย (ระ) ติดพื้นดิน เพราะสิ่งของที่จะเป็นพุทธบูชาถือว่าเป็นของสูงค่ายิ่งนัก ในขบวนแห่นอกจากพวงมาลัยข้าวตอกแตกและพวงมาลัยเส้นฝ้ายแล้ว ยังมีพานพุ่มที่จัดเป็นพุ่มเงิน พุ่มทอง และพุ่มดอกไม้ที่จัดประดับตกแต่งด้วยเงิน สิ่งของและปัจจัยไทยทานที่ประสงค์จะทำบุญตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน