อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
ใน ขณะที่สุชาวดีกำลังระทมทุกข์เพราะเกรงว่าจะต้องประสบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่ รักอยู่นั้น อีกมุมหนึ่งอุปกะกำลังกระวนกระวายด้วยเกรงว่า จะพลัดพราก จะผิดหวังในสิ่งอันเป็นที่รัก ในเรื่องเดียวกัน บุคคลบางคนอาจจะเศร้าบางคนอาจจะสุข หรืออาจจะทุกข์ด้วยกัน แต่ทุกข์กันไปคนละอย่างเท่านั้น
รุ่งขึ้นขณะรับประทานอาหารเช้า นายพรานพูดขึ้นว่า "สุชาวดี เรื่องที่พูดเมื่อคืนนี้ ลูกพอจะตัดสินใจได้แล้วหรือยัง ?"
"ลูกคิดว่า" สุชาวดีพูดเสียอ่อนๆ "ลูกเป็นสมบัติของพ่อ พ่อเลี้ยงลูกมา ลูกจึงคิดเสียว่า แล้วแต่พ่อจะเห็นดีเห็นชอบอย่างไร" พูดเท่านี้แล้วสุชาวดีก้มหน้านิ่ง น้ำตาซึ่งเพิ่งจะเหือดแห้งไปเมื่อใกล้รุ่งนี้เอง เริ่มจะหลั่งไหลออกมาอีก
"ลูกรัก" นายพรานพูดเพื่อปลอบโยน "ลูกอย่าคิดว่าพ่อใจไม้ไส้ระกำเลย พ่ออยากให้ลูกมีความสุข พ่อคิดว่าการแต่งงานกับท่านอุปกะคงทำให้ลูกมีความสุขได้ เขาเป็นคนดีนะลูก อายุแตกต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไร ผู้หญิงแก่เร็ว ถ้าเขาอายุ ๖๕ ลูกก็แก่แล้วเหมือนกัน"
อุปกะดีใจเหมือนได้เทพธิดา เมื่อนายพรานมาบอกว่า สุชาวดีไม่ขัดข้อง ถ้าต้องการก็ให้รีบสละเพศบรรพชิตหรือนักบวชเสีย อุปกะสละเพศนักพรต นุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ทั่วไป แล้วติดตามนายพรานมาด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบ ชื่นบาน
เขาได้อยู่กินกับสุชาวดีฉันสามีภรรยา บางคราวเขาจะพาสุชาวดีน้อยไปชมพันธุ์ไม้นานาชนิดในป่า แต่ท่านเอยจะมีสตรีสาวที่สาวสดคนใดเล่า จะเกิดความนิยมชมชอบรักใคร่เสน่หาในสามีชราด้วยความจริงใจ เขาจะทำดีด้วยหรือฉอเลาะอ่อนหวานก็เพียงเพื่อความประสงค์บางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็นทรัพย์ยศหรือชื่อเสียงเกียรติคุณว่า ได้เป็นภรรยาของคนใหญ่คนโตเท่านั้น มันมิใช่เพราะความสนิทเสน่หาอย่างแน่นอน ถ้ายิ่งผู้ชายนั้นไร้ทรัพย์อัปยศและยังชราเข้าอีกจะซ้ำร้ายสักเพียงใด แต่มันเป็นกรรมของโลก หรือของมนุษย์ชาติหรือไฉน จึงมักจะบิดเบือนหันเหจิตใจของชายชราให้มักพอใจในสตรีสาววัยรุ่น ยิ่งเขาแก่มากลงเพียงใดก็ยิ่งต้องการสาวที่เยาว์วัยและไร้เดียงสาต่อโลก เพียงนั้น
อุปกะพยายามเอาอกเอาใจสุชาวดีสมกับที่ตนรัก แต่สุชาวดีซิ เห็นการเอาใจของอุปกะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า และรำคาญ
"สุชาวดี !" อุปกะพูดในขณะที่ชมพันธุ์ไม้อยู่ในป่า "ดูดอกไม้ดอกนั้นซิมันช่างสวยงามเบ่งบานดีเหลือเกิน"
"เห็นแล้ว" สุชาวดีตอบสะบัดๆ
"แต่" อุปกะพยายามพูดให้ถูกใจเธอ "ดอกไม้ดอกนั้นยังสวยน้อยกว่าสุชาวดี มันอาจจะอ่อนแต่ไม่หวานสุชาวดีทั้งอ่อนด้วยหวานด้วย จึงสู้สุชาวดีไม่ได้ ไม่ว่าจะมองในแง่ใดๆ" "พูดยืดยาว รำคาญเสียจริง เขาจะชมดอกไม้ให้เพลินเสียหน่อย ก็มาพร่ำอะไรก็ไม่รู้" สุชาวดีพูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ
อุปกะรู้สึกน้อยใจ แต่ก็น้อยใจไปเถิด น้อยใจไปจนตาย ตอนที่มาร่วมกินร่วมนอนอย่างสามีภรรยานั้น นึกเอาแต่ความพอใจของตัว ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งบ้างเลย ว่าจะมีความรู้สึกตอบประการใด ผู้ชายแบบนี้มักจะได้รับผลตอบแทนอย่างนี้เสมอ
แต่จะรักหรือไม่รัก จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที เมื่ออยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา สิ่งที่ตามมาก็คือลูก สุชาวดีเกลียดพ่อของเด็ก จึงรักลูกได้เพียงครึ่งเดียวในขณะที่เธอกำลังนิยมชมชื่นอยู่กับสุภัททะเด็ก น้อย คราใดที่ระลึกถึงพ่อของเขา เธอจะหน้าเผือดใจแห้งลงทันที ความร่าเริงหายไป สุภัททะก็ช่างดีแท้ หน้าตาเหมือนพ่อประดุจพิมพ์
สองปีที่อยู่ด้วยกันมา อุปกะไม่เคยได้รับความชื่นใจจากภรรยาสาวที่เขาหลงรักเลย สุชาวดีคอยพูดเสียดสีให้กระทบกระเทือนใจอยู่เสมอ ไม่เว้นแต่ละวันเมื่อเห่กล่อมลูก เธอก็จะสรรหาคำที่ทิ่มแทงใจอุปกะให้ปวดร้าวระบม แต่เขาก็อดทน ทนเพราะความรักลูกและภรรยา
"สุภัททะเจ้าเอย เจ้านั้นเป็นลูกของคนจรที่หลับที่นอนก็ไม่มี ขาดสง่าและราศีเหมือนกาโกกากีที่ร่ำร้องเพราะหลงรังชราพาธขาดพลัง กำลังก็หย่อนยานอีกธนสารสมบัติก็ไม่มีที่ติดตัว ญาติพี่น้องผู้เกี่ยวข้องและพัวพันก็แลไม่เห็นผู้ใด เออ ! เจ้าลูกคนหาบเนื้อเจ้าจะทำไฉนเมื่อเติบโต เจ้าลูกคนหาบเนื้อเออ !...นอนเสียเถิด" คำเห่กล่อมลูกตามนี้อุปกะได้ยินทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง
คืนนั้นเขานอนไม่หลับ เขาคิด...คิดถึงชีวิตของเขาเองตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ เคยได้รับการยกย่องเคารพนับถือประดุจเทพเจ้า คำน้อยไม่เคยมีใครล่วงเกิน มาบัดนี้หมดแล้วซึ่งเกียรติยศ ถูกเหยียดหยามกล่าวร้ายจากเด็กผู้มีวัยเสมอด้วยบุตรตน เราเป็นคนไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีทรัพย์สมบัติ แม้จะทำงานสายตัวแทบขาดเพื่อลูกและภรรยา แต่เธอก็หาเห็นใจแม้แต่น้อยไม่
อุปกะคิดถึงเพื่อน เขาไม่มีเพื่อนเลยทีเดียวหรือในโลกนี้ คิดทบทวนอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ภาพแห่งนักพรตรูปงามมีสง่าราศีก็ปรากฏในห้วงนึก "เขาบอกว่าเขาชื่ออนันตชิน" อุปกะปรารภกับตัวเอง "มีลักษณะดีมีแววแห่งความเมตตากรุณา คนอย่างนี้มักไม่ปฏิเสธคำขอร้องของผู้ตกยากบากหน้ามาพึ่งพิง"
ประกอบด้วยบูรพูปนิสัยอันแก่กล้า มีบารมีที่แก่เต็มที่แล้วคอยเตือน ในราตรีที่ดึกสงัดได้ยินแต่เสียงน้ำค้างตกจากใบไม้ อุปกะตัดสินใจแน่วแน่ที่จะจากหมู่บ้านพรานเนื้อไป...ไปหาสหายซึ่งพบกันเพียง ครู่เดียว แต่ลักษณะและวาจาเป็นที่ประทับใจของเขายิ่งนักเขาชื่ออนันตชิน
ในขณะนั้นแรงเร้าแห่งความรักลูกผุดพลุ่งขึ้นมาทำให้เขาต้องถอนใจ ความอาลัยในลูกมีมากพอที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวเขาไว้อีก ทำให้เขาคิด เมื่อคิดถึงลูกน้อยจิตใจของอุปกะรู้สึกอ่อนลง ดูเหมือนจะไม่อาจจากไปได้ แต่บารมีที่เคยบำเพ็ญมาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหายได้มาเตือน และเร่งเร้าให้เขาคิดถึงพระอนันตชินอย่างแรง คืนนั้นเองอุปกะได้จัดแจงห่อของเท่าที่เป็นของตน และพอพาติดตัวไปได้ เตรียมออกจากวังกหารชนบท
ก่อนออกเดินทางเขาอดที่จะมองดูลูกด้วยความอาลัยมิได้ ปุตตวิปโยคเป็นความเศร้าอย่างใหญ่หลวงสำหรับบิดา แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกจากวังกหารคามตอนดึกสงัดคืนนั้น เวลานี้จิตใจของเขาคำนึงถึงแต่ภาพแห่งนักพรตรูปงามผู้มีนามว่า อนันตชิน
มีหลายครั้งที่เขาจะหวนกลับมาหาลูกน้อยและบิดาผู้มีความปรารถนาดีต่อเขาตลอด มา แต่ความระอาใจต่อสุชาวดี ทำให้เขาหันหลังกลับมุ่งหน้าไปหาสหายอนันตชิน ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าเวลานี้อยู่แห่งหนตำบลใด
ผู้ที่เคยบำเพ็ญพรตมานาน เป็นผู้สลดใจได้เร็ว และมีอำนาจจิตพิเศษในการต่อต้านในสิ่งที่ต่อต้านได้ยาก มีพลังจิตเข้มแข็งในการที่จะสละสิ่งที่บุคคลสละได้โดยยาก บางมีธรรมที่สั่งสมอยู่ในดวงจิตเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหาย มันคอยกระตุ้นเตือนให้บุคคลเบนชีวิตไปตามวิถีทางที่เขาเคยเดินมาแล้วเป็น เวลานาน เขาเดินฝ่าความมืดออกไป มีทางเลี้ยวไปทางไหนเขาก็ไปทางนั้น ไปอย่างไม่มีจุดหมาย เขาคิดว่าพอรุ่งอรุณก็พอจะหาทางที่แน่นอนได้ และพยายามสืบถามว่าเวลานี้ พระอนันตชินอยู่ที่ใด
จนกระทั่งสายตะวันโด่ง เขารู้สึกหิวเพราะเดินทางมาเป็นเวลานาน อาหารก็มิได้ติดตัวมาเลย เขาออกจากบ้านอย่างกระทันหัน ไม่มีแผนการล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปขออาหารจากชาวบ้านพอประทังหิว แล้วเดินทางต่อไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น เที่ยงวันวันหนึ่งอากาศร้อนอบอ้าว หลังจากได้เดินทางเหน็ดเหนื่อยเหงื่อโทรมกายแล้ว เขาแวะเข้าพัก ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใหญ่ใบหนา ลมโชยมาเบาๆ ต้องผิวกายพอชุ่มชื่น เขาเอนตัวลงนอนพัก เอารากไม้แทนหมอนและหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เขาตื่นขึ้นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากแล้ว รู้สึกชุ่มชื่นและมีกำลัง
เขานั่งตรองถึงชีวิตในอดีตโดยเฉพาะเวลา ๒ ปีที่อยู่ร่วมกับสุชาวดีเป็นระยะเวลาที่เขาลำบากชอกช้ำสุดประมาณได้ ลำดับนั้นสุภาษิตเก่าๆ ที่โบราณบัณฑิตได้กล่าวไว้ก็แจ่มแจ้งแก่เขา ประดุจคบเพลิงสว่างโร่ขึ้นในมุมมืด สุภาษิตนั้นมีดังนี้
- มีบิดาผู้ซึ่งสะสมหนี้สินไว้มากคือศัตรู มีมารดาผู้ซึ่งมิได้ประพฤติในความบริสุทธิ์คือศัตรู มีภรรยารูปงามคือศัตรู มิตรที่ปราศจากความรู้คือศัตรู
- ความรู้เป็นประดุจยาพิษเพราะมิได้ใช้ความรู้นั้นให้เหมาะสม อาหารก็เปรียบเหมือนยาพิษเพราะไม่ย่อย พระราชวังเป็นประดุจยาพิษสำหรับคนเข็ญใจ ภรรยาสาวก็เปรียบเหมือนยาพิษสำหรับสามีชรา
- แสงจันทร์ และละอองฝนไม่เป็นที่ยินดีของคนหนาว แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่พอใจของคนร้อน สามีชราย่อมไม่เป็นที่ยินดีพอใจของภรรยาสาว
- สามีเกศาหงอก ความรักของหญิงสาวผู้เป็นภรรยาจะมีรุนแรงได้อย่างไร ประดุจยาขม หรือไม่ขมก็ตาม ใครจะชอบรับประทานบ้าง เมื่อไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้สตรีจึงเอาใจออกห่างจากผัวแก่ไปฝักใฝ่ในชายอื่น
- ความรักในสมบัติ ความรักชีวิตย่อมมีอยู่ในบุคคลทั่วไป ทุกรูปทุกนาม แต่เมียสาวเป็นที่รักเลิศของผัวเฒ่ายิ่งกว่าหัวใจ
- ชายแก่มีสังขารทรุดโทรม แม้หมดกำลังเพื่อความสนุกรื่นรมณ์ ก็ยังมิวายกระเสือกกระสน เหมือนสุนัขถึงฟันหักเหี้ยน หากพบเนื้อติดกระดูกที่ตนไม่สามารถแทะทึ้งได้ ถึงกระนั้นก็ยังขอแต่ให้ได้เลียก็ยังดี
ไม่มีสถานที่ ไม่มีโอกาส ไม่มีบุรุษจะชักชวนให้ไขว้เขว นารีบริสุทธิ์อยู่ได้เพราะเหตุนี้ต่างหาก เหตุที่สตรีจะทนเป็นพรหมจารีอยู่ได้ มิใช่จะเป็นเพราะรู้สึกละอาย มีจริยสมบัติ เกลียดการหยาบคายหรือมีใจเกรงขาม ที่แท้เป็นเพราะยังไม่มีผู้ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้น
สตรีบางคนทำเป็นหวงตัวอย่างน่าหมั่นไส้ เหมือนใครกระทบกระแทกมิได้เลยแม้แต่น้อย แต่พออยู่ในที่ลับตาคน เธอกลับโถมเข้าหาผู้ชายเหมือนปลากระโดดลงน้ำ
บัดนี้เขาตัดใจจากสุชาวดีได้แล้ว เรื่องเดียวที่วนเวียนอยู่ในจิตของเขา คือสหายผู้มีนามว่าอนันตชิน เขารอนแรมมาตามลำพังจนกระทั่งถึงเขตสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล
ปัจจุกาลวันนั้น พระอนันตชินสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแผ่ข่ายพระญาณออกครอบจักรวาล มองดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ที่พระองค์พอจะโปรดได้ อุปกะเข้าไปในข่ายพระญาณแห่งพระองค์ ทรงทราบโดยตลอดว่า เช้าวันนี้อุปกะจะมาถึงเชตวัน จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเชตวนารามทั้งหมด แล้วตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย วันนี้ถ้ามีอาคันตุกะมาถามหาบุคคลผู้มีนามว่าอนันตชินก็ขอให้พาไปหาที่ คันธกุฎี ตรัสเท่านี้แล้วทรงให้โอวาทภิกษุสงฆ์เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเรื่องความเคารพ ในปฏิสันถาร มีอาทิว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเครื่องเผาบาป และเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"
ตอนสายวันนั้นเอง อุปกะก็มาถึงบริเวณเชตวนารามอันร่มรื่น เห็นภิกษุทั้งหลายกำลังสาธยายธรรมบ้าง ทำกิจอย่างอื่น เป็นต้นว่านั่งเป็นกลุ่มๆ สนทนาธรรมบ้าง เขาเข้าไปหาภิกษุกลุ่มหนึ่ง นมัสการแล้วกล่าวขึ้นว่า
"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ! ข้าพเจ้ามีสหายผู้หนึ่งนามว่า อนันตชิน ใบหน้าเอิบอิ่มมีแววแห่งความกรุณาฉายออกจากดวงตาทั้งสอง ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างท่านนี้ ท่านพอจะรู้จักผู้ซึ่งข้าพเจ้าเอ่ยนามถึงนี้อยู่บ้างหรือ ?
ภิกษุกลุ่มนั้นมองดูตากันแล้วยิ้มๆ ด้วยความอัศจรรย์ใจในการทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า ของพระศาสดา ก็พระองค์ตรัสสั่งไว้เมื่อเช้านี้เองว่า ถ้ามีคนมาถามหาพระอนันตชินให้พาไปเฝ้าพระองค์
ดังนั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจึงกล่าวขึ้นว่า "อุบาสก ! พระอนันตชินเป็นศาสดาแห่งเราทั้งหลาย พวกเราเป็นสาวกของพระองค์ ไฉนเล่าพวกเราจะไม่รู้จักพระผู้มีนามเช่นนั้น มาเถิดตามข้าพเจ้ามา จะนำไปเฝ้าพระอนันตชินพระองค์นั้น" ว่าแล้วได้ลุกเดินนำอุปกะไป
ถึงพระคันธกุฎี พระพุทธองค์ทรงรอคอยอยู่แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระรัศมีซ่านออกจากพระกายทั้ง ๖ สี ดุจเดียวกับวันที่พระองค์ได้พบอุปกะครั้งแรกเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ อุปกะก้มลงกราบพระมงคลบาทแห่งพระศาสดา มีน้ำตานองหน้ากราบทูลว่า
"ข้าแต่พระอนันตชิน ! ท่านจำข้าพเจ้าได้อยู่หรือ ข้าพเจ้าเคยพบท่านครั้งหนึ่งแขวงเมืองพาราณสีเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว"
"ดูก่อนอุปกะ" พระศาสดาตรัสตอบ "เรารอคอยการมาของท่านอยู่ การมาของท่านครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ท่าน" พอได้ยินคำว่า "อุปกะ" เท่านั้น ปีติปราโมชก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์ของอุปกะ ชื่อใดเล่าในโลกนี้จะไพเราะอ่อนหวานยิ่งกว่าชื่อของตนเอง ทุกคนจะดีใจเป็นที่ยิ่งเมื่อทราบว่าผู้อื่นจำชื่อของตนได้อย่างแม่นยำ หลังจากพรากกันไปเป็นเวลานาน
"อุปกะ" พระองค์ตรัสต่อไป "หลังจาก จากกันคราวนั้นแล้วท่านไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร พอทนได้อยู่หรือ เมื่อก่อนนี้ดูท่านทรงเพศเป็นนักบวช บัดนี้ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไป ?"
อุปกะได้เล่าความหลังทั้งมวลให้พระศาสดาทราบโดยตลอด แล้วทูลเพิ่มเติมว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เดินหลงทางอยู่เป็นเวลานาน บัดนี้มาพบพระองค์เป็นครั้งที่สอง คงจะดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง พระองค์ผู้อนุเคราะห์โลก โปรดอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด" พูดเท่านั้นแล้วเขาก็ซบศีรษะลงแทบพระบาทมูลแห่งพระศาสดา
พระจอมมุนีศรีศากยบุตร ประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า "ดูก่อนอุปกะ การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดีย่อมก่อทุกข์ให้มากมาย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง อุปกะเอย ! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือ บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี่แล รึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก คือ บ่วงบุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ นั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี ดูก่อนอุปกะ ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีมิได้ ย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ ย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ กิเลสนั้นมีอำนาจครอบคลุมอยู่โดยทั่ว ไม่เลือกว่าในวัยและเพศใด
"ดูก่อนอุปกะ เราจะขอสาธกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง"
นานมาแล้ว มีมานพหนุ่มน้อยลามารดาบิดาไปเรียนศิลปวิทยา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบแล้วจึงลาอาจารย์กลับบ้าน มารดาต้อนรับเขาด้วยความยินดียิ่ง เมื่อสนทนากันไปมารดาถามว่า ลูกได้เรียนอสาตมนต์แล้วหรือ ลูกชายตอบว่า ยังไม่ได้เรียน มารดาจึงขอร้องให้ไปเรียนอสาตมนต์เสียก่อน เขาจึงลามารดาไปหาอาจารย์กราบเรียนให้อาจารย์ว่ายังมีมนต์สำคัญอยู่อย่าง หนึ่ง ซึ่งเขายังมิได้เรียนจากอาจารย์ มารดาของเขาขอร้องให้มาเรียนอสาตมนต์ อาจารย์ได้ทราบดังนั้นยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่า "มานพ เวลานี้เรามาพักอยู่ในป่าไม่มีใครเลย นอกจากเราและมารดาผู้ชราของเรา เธอจะปฏิบัติบำรุงมารดาของเราสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเราจะบอกอสาตมนต์ให้ แต่ในขณะที่ปฏิบัติมารดาของเรา เช่นการอาบน้ำ ป้อนข้าวให้ และนวดเฟ้นให้ เจ้าจงชมเชยอวัยวะต่างๆ แห่งมารดาของเราทุกครั้งไป เช่น "ว่ามือสวย เท้าสวย เป็นต้น" มานพหนุ่มรับคำของอาจารย์ด้วยความปีติยินดี
ตั้งแต่วันนั้นมาเขาตั้งใจปฏิบัติมารดาของอาจารย์ เช่นการอาบน้ำให้ ป้อนข้าว และนวดเฟ้นเป็นต้น
"มือและแขนของคุณแม่สวยน่าดูเหลือเกิน" วันหนึ่งเด็กหนุ่มเริ่มทำตามที่อาจารย์สอน
นางยิ้มอย่างร่าเริง ทั้งๆ ที่ฟันของนางหักหมดแล้วและกล่าวว่า
"มือและแขนของฉันสวยจริงๆ หรือ พ่อหนุ่ม ฉันแก่แล้วนะ"
"คุณแม่แก่แล้วมือและแขนยังสาวขนาดนี้ เมื่อคุณแม่สาวๆ คงจะสวยมิใช่น้อย ขาและเท้าของคุณแม่ก็สวย ใบหน้าก็งามซึ้งน่าดูเหลือเกิน กระผมดูไม่เบื่อเลย เมื่อคุณแม่ยังสาวคงจะสวยหาคนเสมอเหมือนมิได้"
นางรู้สึกปีติยินดีอย่างล้นเหลือ เป็นเวลานานมาแล้วที่นางไม่เคยได้ยินคำอ่อนหวานระรื่นหูชูกำลังใจอย่างนี้ เลย อะไรเล่าจะเป็นที่พอใจของสตรีมากเท่าได้ยินคำชมว่าเธอสวย ไม่ว่าสตรีนั้นจะอยู่ในวัยใด มานพหนุ่มเวียนพูดชมเชยนางผู้เป็นมารดาของอาจารย์อยู่อย่างนี้ทุกวัน บางคราวเขายังพูดเพิ่มเติมว่าถ้าเขาได้ภรรยาที่มีความงามพร้อมเพียงครึ่ง หนึ่งของนาง เขาก็จะมีความสุขหาน้อยไม่ และทำทีเป็นมีความรู้สึกเสน่หาในตัวนางเสียสุดประมาณ จนกระทั่งนางรู้สึกว่า หนุ่มน้อยนี้คงมีจิตพิศวาสปฏิพัทธ์ในตัวนางเป็นที่ยิ่ง วันหนึ่งจึงถามว่า
"พ่อหนุ่ม ! เธอมีความพอใจในตัวเรามากหรือ ?"
"มากเหลือเกิน คุณแม่ กระผมไม่ทราบจะสรรหาคำพูดใดๆ มาพูด ให้สมกับความรู้สึกที่กระผมมีต่อคุณแม่ได้"
"เธอจะเลี้ยงดูเราอย่างนี้ตลอดไปหรือ ?"
"ตลอดไป คุณแม่ การได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่เป็นความสุขอย่างยิ่งของกระผม ถ้าคุณแม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปสักร้อยปี และกระผมปฏิบัติคุณแม่อยู่อย่างนี้ถึงร้อยปี กระผมก็จะไม่เบื่อหน่ายเลย"
หญิงชราเข้าใจว่า มานพหนุ่มมีจิตปฏิพัทธ์ในตน ให้รู้สึกกระสันยิ่งนัก จึงกล่าวว่า "ก็จะเป็นไรไปเจ้าหนุ่ม เมื่อเธอปรารถนาอย่างนั้นก็คงจะเป็นได้ เมื่อเธอต้องการจะร่วมอภิรมณ์กับเรา เราก็ยินดี"
"จะทำได้อย่างไรคุณแม่ คุณแม่เป็นแม่ของอาจารย์ กระผมต้องเคารพยำเกรงคุณแม่ยิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก ตราบใดที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ กระผมจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลย" ว่าแล้วมานพหนุ่มก็แกล้งเคล้าเคลียและเอาใจหญิงชรายิ่งขึ้น
"พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดด้วยเสียงสั่นเครือ "เธอจะปฏิบัติเราไม่ทอดทิ้งเราจริงๆ หรือ ?"
"ข้อนี้กระผมรับรองได้ คุณแม่" มานพตอบ
"ถ้าอย่างนั้นจะขัดข้องอะไรกับเรื่องชีวิตลูกชาย เธอฆ่าเขาเสียก็หมดเรื่อง"
"กระผมจะฆ่าเขาได้อย่างไรครับคุณแม่ ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนศิลปศาสตร์ให้กระผม และดีต่อกระผมเหลือเกิน กระผมฆ่าท่านไม่ได้ดอก" มานพยืนยัน
"เธอรับรองแน่นะว่าเธอจะไม่ทอดทิ้งฉัน" หญิงชราพูด
"ข้อนี้กระผมรับรองครับ คุณแม่" ชายหนุ่มตอบ
"ถ้าอย่างนั้น เมื่อเธอฆ่าไม่ได้ฉันจะฆ่าเขาเอง" หญิงชราพูดอย่างมั่นคง
"เอาไว้รอคิดการดีๆ ให้รอบคอบก่อนเถิดครับคุณแม่" พูดแล้วชายหนุ่มก็ออกจากห้องของหญิงชราไปหาอาจารย์ เล่าเรื่องทั้งหมดให้อาจารย์ทราบ ความจริงเขาเล่าเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ต้นมาให้อาจารย์ทราบโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นการเรียน และเรื่องทั้งหมดเป็นแผนการของอาจารย์ที่จะสอนศิษย์เรื่องอสาตมนต์ ชายหนุ่มพูดอย่างไร หญิงชราแสดงอาการอย่างไร และโต้ตอบอย่างไร อาจารย์ได้รับทราบจากชายหนุ่มเป็นระยะๆ ตลอดมา
เมื่ออาจารย์ได้ทราบจากชายหนุ่มว่ามารดาของตนคิดจะฆ่าตน ทีแรกรู้สึกสลดใจเล็กน้อย แต่เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้รู้เรื่องอย่างนี้ดีอยู่แล้ว จึงวางเฉยได้ในไม่ช้า และตรวจดูอายุขัยแห่งมารดาตน ทราบว่าถึงอย่างไรๆ มารดาก็หมดอายุในวันพรุ่งนี้แล้ว ถึงเหตุการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารดาก็จะต้องตายในวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว จึงต้องการจะสอนศิษย์ให้รู้แน่ใจในวิชาอสาตมนต์จึงบอกชายหนุ่มให้ไปตัด ต้นไม้ต้นหนึ่ง ทำให้มีลักษณะคล้ายรูปคน แล้วนำมาวางไว้บนเตียงนอนของอาจารย์เอาผ้าคลุมไว้ แล้วเอาเชือกขึงจากห้องมารดาทำเป็นราวมาสู่ห้องของตน
ทุกอย่างเรียบร้อย ชายหนุ่มเข้าไปสู่ห้องของมารดาอาจารย์ นวดเฟ้นปฏิบัติอย่างที่เคย กล่าวชมเชยความงามของหญิงชราด้วยประการต่างๆ
"ว่าอย่างไร พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดขึ้น "เมื่อเธอไม่ฆ่า เราจะฆ่าเอง"
"คุณแม่จะฆ่าจริงๆ หรือ ?" ชายหนุ่มถามแล้วแสร้งคลอเคลียแสดงความรักในหญิงชราให้มากขึ้น ด้วยความเคลิบเคลิ้มและหลงใหล หญิงชรายืนยันอย่างแข็งขันว่าจะฆ่า ชายหนุ่มจึงกล่าวว่าเขาได้เตรียมแผนการไว้พร้อมแล้ว "นี่ขวาน" เขากล่าว "คุณแม่เดินไปตามเส้นเชือกที่ขึงไว้นี้ ปลายเชือกไปสุดลงที่ใด ที่นั่นเป็นเตียงนอนของอาจารย์ เวลานี้อาจารย์นอนหลับแล้ว พอสุดปลายเชือกเอี้ยวตัวมาทางขวานิดหนึ่งจะตรงคออาจารย์พอดี คุณแม่ฟันทีเดียวให้คอขาด แล้วเราจะอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกต่อไป"
หญิงชรานัยน์ตาฝ้าฝาง มองอะไรไม่ค่อยจะเห็นแล้ว เดินไม่ค่อยถนัดเพราะความแก่เฒ่า รับขวานจากชายหนุ่มแล้วงกงันเดินคลำเส้นเชือกไป ใจของเธอเวลานี้ถูกห่อหุ้มด้วยโมหะ ถูกความเสน่หาเร่งเร้าปลงใจฆ่า แม้แต่ลูกของตนเองซึ่งมีความดีงามพร้อมทุกประการ
เมื่อเดินคลำเส้นเชือกมาถึงปลายสุด หญิงชราก็เอี้ยวตัวมาคลำดูบนเตียง มองเห็นรางๆ เหมือนภาพคนนอนคุมผ้าอยู่ นางแน่ใจว่าเป็นลูกชายตนจึงจ้วงคมขวานลงสุดแรง คมขวานกระทบไม้ดังโผะ นางรู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้ว ตกใจอย่างยิ่งประจวบกับชรามากถึงแล้วซึ่งอายุขัย นางจึงสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง
อาจารย์และศิษย์หนุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่โดยตลอดสังเวชสลดใจเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองยืนเศร้าซึมอยู่ใกล้ๆ ร่างของหญิงชราอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดอาจารย์ก็กล่าวขึ้นว่า
"มานพ ! เธอได้เรียนอาสตมนต์จบเรียบร้อยแล้ว" ชายหนุ่มทรุดตัวลงกราบอาจารย์และกอดเท้าทั้งสองไว้ พร่ำรำพันถึงเมตตากรุณาของอาจารย์ที่มีต่อตน น้ำตาของเขาหยดลงสู่หลังเท้าของอาจารย์ ในขณะนั้นความรู้สึกของเขาสับสนวุ่นวาย จนไม่อาจพรรณนาได้ว่าเป็นฉันใด
นี่เอง อสาตมนต์ที่มารดาของเขาเร่งเร้าให้มาเรียน ช่างเป็นวิชาที่แปลกและมีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างเหลือล้น
พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าเรื่องอสาตมนต์จบลงแล้ว ทรงเพิ่มเติมว่า
"ดูก่อน อุปกะ ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเขา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มในเบิกบานอยู่ ดูก่อน อุปกะ ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"
อุปกะส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้า คลายสังโยชน์คือกิเลสที่ร้อยรัดใจออกเป็นเปาะๆ ได้บรรลุอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สามด้วยประการฉะนี้
มีต่อ >>> เมื่อสาลวโนทยานขาวด้วยมหาวิโยค