บารมี แปลว่า "เต็ม" ซึ่งหมายถึง "การทำให้กำลังใจเต็ม ทรงอยู่ในใจให้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์
ไม่บกพร่องทั้ง ๑๐ ประการ"
1.ทานบารมี จิตพร้อมในการให้ทานเป็นปกติ
2.ศีลบารมี จิตพร้อมในการทรงศีลเป็นปกติ
3.เนกขัมมะบารมี จิตพร้อมในการถือบวชเป็นปกติ ในที่นี้หมายถึงบวชใจ
4.ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหารอุปาทานให้พังพินาศไป
5.วิริยะบารมี มีความเพียรในทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
6.ขันติบารมี มีความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งอันเป็นปฏิปักษ์
7.สัจจะบารมี ทรงตัวไว้ว่าเราจะทำจริงทุกอย่างในด้านของการทำความดี ไม่มีคำไม่จริงสำหรับใจเรา
8.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
9.เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
10อุเบกขาบารมี การวางเฉยในกาย เมื่อมันไม่ทรงตัว
องค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์ได้แสดงกฎของการปลดทุกข์ คือ ปลดอารมณ์แห่งความทุกข์ สร้างอารมณ์ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ มีอยู่ ๑๐ อย่าง ด้วยกันคือ
๑ ทานบารมี
๒ ศีลบารมี
๓ เนกขัมมะบารมี
๔ ปัญญาบารมี
๕ วิริยะบารมี
๖ ขันติบารมี
๗ สัจจะบารมี
๘ อธิษฐานบารมี
๙ เมตตาบารมี
๑๐ อุเบกขาบารมี
คำว่า บารมี นี่แปลว่า เต็ม เมื่อเต็มแล้วก็ต้องเต็มจริงๆ เป็นอันว่าถ้าบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์
ที่เรียกว่า
ปรมัตถบารมี สำหรับพระสาวกนะ ไม่ใช่อันดับขั้นพระพุทธเจ้า
สำหรับขั้นพระสาวกนี้ใช้อารมณ์ต่ำ อารมณ์ไม่สูงนัก ไม่ใช่ขั้นพระพุทธเจ้า
ถ้าหากว่าบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้เป็น ปรมัตถบารมี
(คำว่า ปรมัตถบารมี หมายความว่า มีอารมณ์ทรงสูงอย่างยิ่ง คำว่า อย่างยิ่งก็หมายความว่าไม่เคลื่อนไป
อารมณ์ที่มีอาการตรงกันข้ามไม่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา)
ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ ทุกท่านก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระอรหันตผล
นี่เดิมทีเดียวเราก็สอนกันมา แนะนำกันมาในหลักการทั่วๆ ไป แต่จะเห็นว่ากว้างเกินไปในการปฏิบัติ
และเวลานี้บรรดาท่านพุทธบริษัท มีทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
ที่มีกำลังใจคือ บารมีแก่กล้านี้มีอยู่ หรือว่าบางท่านที่ยังอ่อนยังย่อหย่อน
ก็จะได้มีความเข้าใจในการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติจริงๆ เพื่อมรรคเพื่อผล
ถ้าขาดบารมีทั้ง ๑๐ ประการแล้ว ทำอย่างไรมันก็ไม่มีผล
ถ้าผลที่จะมีกับกำลังใจก็ได้แค่ผลหลอกๆ คือ อุปาทาน
คำว่าหลอกลวงนี่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาไปโกหกมดเท็จใคร แต่ว่ากำลังใจมันไม่จริง
ที่เรียกว่าหยุดได้จากความโลภ ความโกรธ ความหลง อาจจะหยุดไปเพราะอารมณ์สบายชั่วคราว
แต่ทว่าข้างหน้าต่อไปคลายไปก็มีทุกข์ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง
หรืออาจจะหยุดได้ด้วยกำลังของฌาน เช่น ฌานโลกีย์ กำลังใจยังดีไม่พอ
ก็เอากำลังเข้าไปกดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ถ้าหากว่าจะตัดกันตรงๆ
ก็ต้องมาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันเป็นทุกข์ (ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
นี่ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะว่าเราขาด ทานบารมี ขาดศีลบารมี
ขาดเนกขัมมะบารมี ขาดปัญญาบารมี ขาดวิริยะบารมี ขาดขันติบารมี
ขาดสัจจะบารมี ขาดอธิษฐานบารมี ขาดเมตตาบารมี ขาดอุเบกขาบารมี
และที่พูดวันนี้อาจจะมีหลายท่านจะตอบว่า บารมีทั้งหลายเหล่านี้มีครบถ้วนแล้ว
แต่ก็อย่าลืมว่าบารมีนี้จัดเป็น ๓ ชั้น คือ
1.บารมีต้น เรามีทานมีศีลเหมือนกัน แต่ว่าทาน ศีลมันบกพร่อง มันไม่ครบถ้วนบริบูรณ์
ถ้าหากว่าบารมีอันดับที่ ๒ ที่เรียกว่า
2. อุปบารมี ทาน ศีล ของเราดีครบถ้วนแต่จิตใจยังไม่สะอาดพอ ยังไม่รักพระนิพพาน
ถ้าหากว่าเป็น
3.ปรมัตถบารมี แล้ว ไม่มีการหวังผลใดๆ ในโลกีย์วิสัย จะเป็นชาตินี้หรือว่าชาติหน้าก็ตามที กำลังใจของเราไม่มีการเกาะ การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระนิพพานโดยเฉพาะ ทำด้วยจิตบริสุทธิ์
คัดย่อ จากหนังสือบารมี ๑๐, หนังสือ เร่งรัดการปฏิบัติ และหนังสือศิวโมกข์ ๔ ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
ท่านสามารถอ่านเรื่องบารมี ๑๐ เพิ่มเติมได้ที่
http://praruttanatri.com/special/books/barame10/ ขออนุโมทนาบุญกับผู้จัดทำด้วยครับ