จิตลาออกจากความพิการ
เมื่อตอนที่ผมเริ่มฝึกเจริญสติใหม่ๆ ทำอยู่ประมาณ ๑ เดือน พอมีสติรู้สึกตัวมากขึ้นทำให้จิตเห็นแจ้งในเรื่องของกายจิตว่าอะไรเป็นอะไร คือเห็นกายเป็นกาย และเห็นจิตเป็นจิต กายมิใช่จิต และจิตก็มิใช่กาย แยกเป็นคนละส่วนละอันกัน แต่ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันโดยมีลักษณะธรรมชาติและหน้าที่ต่างกัน ดังนั้นจิตจึงได้ขอลาออกจากความพิการทางร่างกายตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ลาออกมาอยู่กับความรู้สึกตัวดูอยู่ จิตจึงเป็นอิสระจากอาการของกาย โดยปล่อยให้ร่างกายพิการอยู่แต่ฝ่ายเดียว แต่จิตทำหน้าที่เป็นผู้เห็นและรับรู้รับทราบไว้เฉยๆ เท่านั้น ไม่ต้องแบกภาระหรือเป็นผู้พิการเอาไว้ด้วย ปล่อยให้ความพิการติดอยู่กับกายไปจนกระทั่งตายเน่าเข้าโลงไปด้วยกันเลย นี่ถ้าจิตเห็นแจ้งแล้วก็มีสิทธิที่จะขอลาออกได้เหมือนกัน ผมจึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ คือเปลี่ยนจากจิตที่พิการมาเป็นจิตที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นการเปลี่ยนทางจิตที่มิใช่ทางกาย โดยมีความรู้สึกตัวเป็นผู้ที่เปลี่ยนชีวิตใหม่ให้กับผมนั่นเอง
ผมได้ฝึกเจริญสติมาจนถึงบัดนี้ก็ล่วงเข้าปีที่ ๕ แล้ว การปฏิบัติก็คล่องตัวและสติก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามควรแก่การปฏิบัติ เคยตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ต่อเนื่องกันในทุกอิริยาบถตลอดทั้งวัน แต่ก็ยังไม่สมดังใจที่ตั้งเอาไว้ บางวันบางเวลาก็ขาดช่วงไปบ้าง เพราะไปกับอารมณ์บ้างหรือถูกความคิดพาไปบ้าง ทำให้ทราบถึงผลการปฏิบัติของตนเองว่ายังหลงลืมสติอยู่อีกมาก จะต้องขยันสร้างสติให้มากขึ้นไปอีก แม้ว่าบางครั้งจะหลงลืมสติไปแต่ก็ยังกลับมารู้สึกตัวได้ไวกว่าเมื่อก่อน คือ เมื่อตอนที่ฝึกใหม่ๆ เวลาใดที่หลงลืมสติไป พอระลึกได้ก็จะรู้สึกเสียใจและคิดตำหนิเพ่งโทษตัวเองไปตั้งนาน ตรงนี้แหละทำให้เกิดความคิดซ้อนความคิด เป็นการเสียเวลาไปตั้งนาน แต่พอมาบัดนี้ถ้าหลงลืมสติไปตามอารมณ์ต่างๆหรือความคิดเมื่อใด ครั้นมีสติระลึกได้ก็จะรีบทิ้งอารมณ์หรือความคิดเหล่านั้น และกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวได้ทันทีเลย โดยไม่ต้องไปเสียเวลากับความคิดเสียใจหรือเพ่งโทษ จนเป็นคิดซ้อนคิด ถือว่าแล้วก็แล้วกันไป ผมจะตั้งต้น มีสติรู้สึกตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จนเกิดความเคยชินเป็นอุปนิสัย
ก็ดีเหมือนกันการที่เราพยายามที่จะตั้งต้นมีสติรู้สึกตัวใหม่อยู่อย่างนี้ เหมือนกันได้เปลี่ยนอิริยาบถให้กับจิตหรือสติเราใหม่ไปในตัวด้วย เพื่อให้สติชัดเจนขึ้น หรือคล้ายๆกับการเปลี่ยนเลนส์แว่นตาใหม่ ย่อมจะมองเห็นได้ชัดเจนใสแจ๋วกว่าเลนส์เก่าอย่างแน่นอน
ชีวิตในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่จะมาสู่ชีวิตผม มีทั้งสิ่งนอกตัวในตัว ถ้าจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติที่รู้สึกตัวต่อสิ่งต่างๆ ตามหน้าที่ แต่ถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้อง ก็พยายามหลีกเลี่ยงเสีย โดยเฉพาะเรื่องไร้สาระที่เป็นต้นเหตุให้หลงลืมสติเสียความรู้สึกตัวไป และถ้าไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ด้วยละก็ จะพยายามมองผ่านไม่ค่อยสนใจ จะมีหน้าที่เพียงตั้งหลักรู้สึกตัวดูอยู่เป็นปัจจุบันที่ไม่เอาจริงเอาจังอะไรไปกับเรื่องภายนอก ถ้าเกิดมีอารมณ์ต่างๆ เข้ามากระทบหรือมาทำให้รักหรือให้เกลียด นี่แหละเขามาให้เราศึกษาแล้ว จะจับเอามาเป็นฐานที่ตั้งของสติ มาเป็นอารมณ์ให้เราได้เจริญสติมาให้ประสบการณ์ มาสอนธรรมะให้ หรือมาแจกปัญญาให้กับเรานั้นเอง เราก็มีหน้าที่ศึกษาและตรวจสอบจิตใจว่าเป็นอย่างไร ถ้ากระทบอารมณ์แล้วจิตของเรายังเป็นปกติอยู่ ก็สอบผ่าน แต่ถ้าจิตของเรายังหวั่นไหว คือไปรักหรือเกลียดต่อสิ่งนั้นก็ถือว่ายังสอบไม่ผ่านต่อสิ่งนั้น เป็นการวัดผลให้ตนเอง
ประโยชน์จากความพิการ
ความพิการ ครั้งแรกผมเข้าใจว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฝึกเจริญสติ แต่พอปฏิบัติไปก็ทำให้เข้าใจดีว่า ความพิการมิได้เป็นอุปสรรค ต่อการฝึกเจริญสติเลย แต่กลับเป็นแรงกระตุ้นเตือนให้เราต้องกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติเพื่อให้จิตได้พ้นไปเสียจากภาวะของความเป็นผู้ที่พิการโดยเร็ว และความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผม ก็เป็นเสมือนใบเบิกทางที่สำคัญในการนำพาชีวิตผมต้องเข้ามาปฏิบัติธรรมะ ถ้าไม่มีความทุกข์ผมก็คงไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับธรรมะ ธรรมะจะไม่จำเป็นสำหรับผมเลย ถ้าไม่มีความทุกข์ นี่เพราะมีความทุกข์จึงเกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้ตนได้พ้นไปเสียจากความทุกข์ และความทุกข์ก็เป็นฐานธรรมฐานหนึ่ง เป็นฐานที่ตั้งของสติที่สำคัญด้วย นี่ก็นับว่าเป็นส่วนที่ดีของความทุกข์
ในขณะเจริญสติถ้าเกิดความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นในด้านกายหรือจิตขึ้นมาเมื่อใด ก็จะศึกษาถึงลักษณะของความทุกข์ชนิดนั้นทันที ว่ามีลักษณะและธรรมชาติเป็นอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหนและใครเป็นผู้ทุกข์ ถ้าเราเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ เราก็สอบตก แต่ถ้าเรามีสติถอนตัวออกมาเป็นผู้เห็นทุกข์ เราก็สอบผ่าน ที่จริงแล้วการเห็นทุกข์ก็คือการเห็นธรรม การเห็นธรรมก็คือการเห็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ทุกข์เป็นสิ่งควรกำหนดรู้ ” นี่ก็ถือว่าความทุกข์มาเพื่อแจกปัญญาให้กับเรา
ไม่ไปรบกวนความคิด
เจ้าความคิดก็เช่นเดียวกันเมื่อก่อนปฏิบัติและเมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็เคยสร้างปัญหาให้กับผมมากเหมือนกันเคยเป็นทุกข์เพราะความคิดมาแล้ว ความคิดคือฐานธรรมฐานหนึ่ง เป็นฐานที่ตั้งของสติ ความคิดเป็นอาการของจิต ไม่ใช่ตัวจิต จิตก็ส่วนจิต และความคิดก็ส่วนความคิด แยกเป็นคนละสิ่งละอันกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่อาศัยกันเกิดขึ้นมา เพราะโดยปกติแล้ว จิตมิได้คิดอยู่ก่อน มีความรู้สึกตัวเป็นปกติอยู่ก่อน ความคิดเปรียบเสมือนแขกที่เพิ่งจรมาทีหลังและมาสู่จิตเป็นครั้งคราว และจะผ่านออกไปจากจิต เราเพียงแต่มาทำความรู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวเท่านั้น
การปฏิบัติอยู่อย่างนี้เป็นการรักษาจิต เพื่อมิให้ถูกความคิดครอบงำได้ เช่นเดียวกันกับที่ผมกำลังนั่งเล่นอยู่บนรถเข็นคนพิการคันนี้ ถ้าผู้ใดเดินผ่านมาแล้วเห็นผมกำลังนั่งอยู่ก่อน เขาก็จะเดินผ่านไป โดยที่ไม่เข้ามานั่งซ้อนเรา เพราะเขาเห็นว่ามีคนนั่งอยู่ก่อนแล้ว หรือถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งจะมานั่งซ้อนเรา เราก็สามารถที่จะยกมือห้ามหรือทักท้วงเอาไว้ จิตเราก็เหมือนกัน เรามีสติรู้สึกตัวรักษาอยู่ก่อนแล้ว ความคิดก็ไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตได้ แต่ถ้าเราเผลอสติปล่อยให้ความคิดเข้าครอบงำจิตได้เมื่อใด ความรู้สึกตัวก็จะทำหน้าที่พลิกจิตให้ออกจากความคิดกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวเหมือนเดิม แค่นี้จิตก็ไม่แปดเปื้อน เป็นอิสระสบาย
เวลาทำความเพียรอยู่ ก็มักจะโทษว่าถูกความคิดเข้ามารบกวนอยู่เสมอๆ แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าพิจารณาดูให้ดีๆ ใครรบกวนใครกันแน่ เราต่างหากที่เป็นผู้ไปรบกวนเจ้าความคิดเขา เพราะความคิดเขาก็เกิดขึ้นมาตามสายธารของธรรมชาติธรรมดาอย่างนั้นเอง คนที่ไม่มีความคิดเลยคือคนที่ตายแล้ว เราก็เพียงแต่รู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวของเราอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปสนใจอะไรกับความคิด ให้ทำเหมือนกับว่า เรากำลังขับขี่รถอยู่บนถนน แต่อยู่คนละเลนกันกับความคิด โดยที่ไม่ล้ำเส้นกัน การที่เราไปห้ามความคิด หรือตามความคิดไปนั้นก็เท่ากับว่าเราได้ไปรบกวนเขาแล้ว และไปรบกวนเขาทั้งขึ้นทั้งล่องเลย จึงทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ถือเสียว่าเป็นการชดใช้หนี้กรรมของเราเอง ถ้าความคิดเกิดขึ้นมามากๆ ก็ยิ่งดี เราจะได้จำเอามาเป็นฐานที่ตั้งของสติหรือเป็นอารมณ์กรรมฐานเสียเลย เราจะได้ศึกษาและได้รู้จักลักษณะธรรมชาติของความคิด แต่ถ้าเราเข้าไปอยู่ในความคิด หรือตามความคิดไป เราก็สอบตก ถ้าเราเห็นความคิด ออกมาอยู่กับความรู้สึกตัวดูอยู่ เราก็สอบผ่าน เจ้าความคิดมาก็เพื่อแจกปัญญาให้เราอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็เพราะเห็นความคิด มิใช่ตรัสรู้ได้เพราะเห็นความสงบ หรือเห็นสีเห็นแสง
ความสงบในขณะปฏิบัติมักจะทำให้เราหลงติดอยู่ ทำให้เราเกียจคร้านไม่อยากเจริญสติ ทำให้ปัญญาไม่เกิด คือไม่ค่อยรู้อะไรเลยและจะดับทุกข์ไม่ได้ พอไม่สงบเมื่อใด ก็จะทำให้เกิดทุกข์เพราะความสงบก็ไม่เที่ยง พุทธศาสนาสอนไปไกลกว่าความสงบเสียอีก สอนให้เรารู้เท่าทันความสงบ ไม่ให้หลงติดอยู่แม้แต่ความสงบ แต่ให้อยู่เหนือความสงบ นั่นคือนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เพราะเห็นความคิด คือที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ท่านทรงประทับนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ ได้มีเจ้าตัณหามาในลักษณะของความคิด เพื่อจะมาสร้างบ้านเรือนภายในจิตของพระองค์ท่าน แต่ท่านทรงเห็นและทรงรู้จักหน้าตาของเจ้าตัณหานั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านได้ตรัสรู้
ธรรมะมีอยู่ในทุกสิ่ง
เหตุการณ์ทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นกับตัวผม ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ก็ดี หรือความคิดก็ดี ล้วนแต่มาให้ศึกษาทั้งนั้น มาเป็นอารมณ์ให้ปฏิบัติ มาสอนธรรมะและมาแจกปัญญาให้กับผม มาเพื่อทดสอบจิตใจ เราก็มีหน้าที่สอบให้ผ่าน และบางครั้งก็สอบตกบ้างเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ทำให้จิตมีประสบการณ์ และเป็นการฝึกจิตฝึกใจให้แข็งแกร่งไปด้วยการที่ผมได้สอบผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง นานวันเข้าก็มีผลทำให้ความรู้สึกตัวเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นเงาตามตัว สรุปแล้วผมก็ต้องมาลงตรงที่ความรู้สึกตัวอีกนั่นแหละเพราะว่าผมได้สอนตัวเองและก็ได้ปฏิบัติกับตนเองอยู่เช่นนี้อย่างเสมอมา
- ความรู้สึกตัว ทำให้จิตของผมเป็นอิสระจากกายโดยไม่ต้องแบกภาระทางกายมากเกินไป
- ความรู้สึกตัว ช่วยสกัดกั้นความคิดมิให้เข้าครอบงำจิตจนทำให้จิต ต้องแปดเปื้อนและเสียความเป็นปกติไป
- ความรู้สึกตัว เปรียบเสมือนหน่วยกวาดล้างมลทินและความเศร้าหมองภายในจิตใจและทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส
- ความรู้สึกตัว ช่วยจัดสรรชีวิตของผมให้ดีขึ้นทุกวันสมดังพุทธภาษิตที่กล่าวเอาไว้ว่า “ คนมีสติย่อมดีขึ้นทุกวัน ” ก็ดีขึ้นจริงๆ เป็นสันทิฏฐิโก และปัจจัตตัง ของผู้ที่ปฏิบัติเอง ความรู้สึกตัวเป็นสุดยอดของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง นี่แหละคือที่พึ่งภายในอันประเสริฐ และเป็นหลักชีวิตของผม คือความรู้สึกตัว
ถึงแม้ว่าผมจะเป็นผู้ที่โชคไม่ดีถึงขนาดที่ร่างกายต้องพิการจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็ยังพอจะมี
ส่วนที่โชคดีเหลืออยู่บ้าง คือได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา อยู่ในท่ามกลางคุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องของผมซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก และก็โชคดีขึ้นไปอีกที่ได้มาพบวิธีปฏิบัติธรรม ตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ได้หลวงพ่อคำเขียน สุวณโณ เป็นครูอาจารย์แนะวิธีการปฏิบัติธรรม คือการเจริญสติและผมก็ได้ปฏิบัติตามจนได้รับผลของการปฏิบัติเป็นที่น่าพึงพอใจ คือได้พบหนทางดับทุกข์ให้กับตนเอง ทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ได้ลดน้อยลงไปมาก บุคคลที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่มีอุปการคุณกับผมมากเหลือประมาณ ผมไม่มีอะไรที่จะตอบแทนพระคุณท่านได้นอกเสียจากปฏิบัติบูชา และจะพยายามปฏิบัติไปจนให้จิตได้สัมผัสกับคุณธรรมที่เป็นเบื้องสูงในทางพุทธศาสนา จนดับทุกข์ให้กับตนเองได้อย่างสิ้นเชิง และต่อจากนั้นเพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ ผมจะช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ ให้ความทุกข์ของเขาได้ลดลง หรือหมดสิ้นไปเลย และผมยินดีที่จะช่วยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เพื่อนผู้มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ทุกๆท่านด้วย
อุปสรรคในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ พ . ศ . ๒๕๓๘ จนถึง พ . ศ . ๒๕๔๑ ประมาณ ๓ ปี มีอุปสรรคในการปฏิบัติพอสรุปได้ดังนี้
๑ . อิริยาบถ ในเรื่องอิริยาบถในการปฏิบัติของผมที่มีร่างกายพิการ ก็มีปัญหาบ้างเหมือนกันแต่ก็ยังพอที่จะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามควาามสามารถ เพราะอวัยวะบางส่วนที่ยังพอใช้ได้ก็ช่วยในการฝึกเจริญสติได้ก็มีบ้างเหมือนกัน อิริยาบถใหญ่ๆ เช่น ยืน เดิน หรือนั่ง เป็นต้น พวกนี้จะทำไม่ได้ ส่วนมากจะทำในอิริยาบถนอนเสียเป็นส่วนมาก คือ นอนหงายพลิกมือคว่ำหงายไปมา พอทำไปนานๆ ก็เกิดความเมื่อยล้า ก็ต้องสรรหาอิริยาบถใหม่ๆ เบาๆ อย่างอื่นทำต่อไป บางครั้งทำให้ท่าเดิมนานๆ สติก็ไม่ค่อยชัดเจน ต้องหาอิริยาบถใหม่อีก เพื่อให้สติชัดเจนขึ้น และบางครั้งก็ เกิดความง่วงหรือความคิดฟุ้งซ่าน เข้ามาครอบงำจิตมากๆ เราต้องการที่จะแยกจิตให้ออกจากอารมณ์นั้น ให้มันขาดออกจากกันไปเลย แต่ก็ไม่มีอิริยาบถใดๆ ทำได้ นอกเสียจากตัวตะแคงไปทางซ้ายบ้างขวาบ้างเท่านั้น บางครั้งก็ไม่สามารถที่จะพรากจิตให้ออกจากอารมณ์เหล่านั้นเด็ดขาดไปได้และบางครั้งก็ต้องทำให้ไวๆ หรือแรงๆเพื่อเป็นการปลุกตัวสติให้ตื่นขึ้นมากๆ ถึงจะผ่านพ้นอารมณ์เหล่านั้นไปได้ เพราะการเคลื่อนไหวของเรามีได้น้อยและมีอิริยาบถจำกัด ก็ต้องคิดแก้ไขดัดแปลงไป เพื่อให้เหมาะกับสภาพการณ์ เท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อการฝึกเจริญสติ
๒. ทุกขเวทนาทางกาย ผู้พิการทางด้านร่างกายมักจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากเหมือนกันจนกลายเป็นโรคประจำตัวไปเลยก็มี เช่น อาการชาตามร่างกาย อาการปวดท้อง ท้องอืด จุก เสียด แน่น หรือ เมื่อมีอากาศร้อนก็จะรู้สึกร้อนมาก จนต้องใช้น้ำลูบตามตัว เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการฝึกเจริญสติบ้างเหมือนกัน เพราะเมื่อมีอาการทุกขเวทนาทางกายเขากำเริบขึ้นมา ถึงจะทานยาแล้วหรือช่วยแกไขแล้ว แต่อาการเหล่านั้นก็ยังไม่ทุเลาลงไป และการฝึกเจริญสติในตอนนั้น แทนที่จะเป็นเจริญสติเพียงอย่างเดียวกลับกลายเป็นการฝึกเจริญขันติไปด้วย หรือบางครั้งก็ต้องรอคอยจนกว่าอาการนั้นทุเลาลง หรือหายไปจึงจะเริ่มฝึกเจริญสติต่อไปได้อีก
๓. อารมณ์ต่างๆที่เกิดมาจากภายนอกที่เข้ามารบกวนจิต การฝึกปฏิบัติอยู่ที่บ้านอารมณ์ภายนอกก็มีมาก เช่น รูป เสียง เป็นต้น มักจะเข้ามารบกวนจิตอยู่เสมอๆ ต้องคอยต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ ทำให้สติไม่ค่อยชัดเจน และหลงลืมสติไปกับอารมณ์ได้ง่าย ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับอารมณ์นั้นเสียบ้าง และบางครั้งก็มีคนมาเยี่ยม มาพูดคุยกับเรา เราก็จำเป็นต้องพูดคุยกับเขาตามหน้าที่ ทำให้ต้องหยุดชะงักในการปฏิบัติการทำจึงไม่ต่อเนื่องกัน เพราะการที่จะต้องพูดคุยกัน เป็นเหตุทำให้เสียอารมณ์ปัจจุบันไป จึงไม่เกื้อกูลต่อการฝึกเจริญสติ นี่คืออุปสรรค บางทีก็ต้องเสียเวลารอคอยโอกาสที่ปลอดคนหรืออยู่คนเดียว เพื่อให้มีบรรยากาศที่สงบเงียบ จะทำให้การฝึกเป็นไปด้วยดี บางทีสิ่งแวดล้อมไม่เป็นใจ เราก็จำเป็นจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาให้กับตัวเอง โดยพยายามหามุมสงบที่พอจะมีอยู่ภายในบ้านเพื่อการฝึกเจริญสติของเรา แต่พอปฏิบัติไปนานๆ ก็ทำให้เกิดประสบการณ์และสติแก่กล้าขึ้น เป็นใหญ่อยู่เหนืออารมณ์ต่างๆ มาจากภายนอกที่จะเข้ามารบกวนจิตเรา จึงทำให้เราได้ผ่านพ้นจากอุปสรรคข้อนี้ไปได้
๔. ความคิด อุปสรรคที่เกิดมาจากความคิดที่ว่านี้ไม่ใช่ความคิดที่เป็นอกุศล แต่เป็นความคิดที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นเรื่องสร้างสรรค์เพื่อให้การปฏิบัติได้บรรลุผล คือ พ้นทุกข์ได้เร็วขึ้น เช่น อยากจะออกไปเสียจากบ้านเรือนเพื่อไปปฏิบัติอยู่ในที่เงียบ สงบ สงัดวิเวก ไปอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ อยากจะได้เห็นตัวอย่างของการปฏิบัติและอยากจะมีกัลยาณมิตรที่ฝึกเจริญสติอยู่ด้วยกัน อยากจะได้สิ่งแวดล้อมและได้สัมผัส หรือได้พบเห็นกับผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันในการทำงานอยู่ด้วยการเจริญสติตลอดทั้งวัน และอยากได้พบเห็นหรือสมาคมกับผู้ที่มีจิตปกติ เป็นต้น นี่คือความคิดที่ประกอบไปด้วยความอยาก จึงเป็นเหตุให้จิตต้องดิ้นรน สรุปแล้วก็จะมารวมอยู่ที่ “ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ” ถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดที่ดี หรือความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตาม ความคิดก็คืออาการของจิต มิใช่ตัวจิต แต่เป็นตัวสังขารที่เกิดขึ้นปรุงแต่งตามธรรมชาติ พอเรารู้เท่าทันแล้ว ก็ทำให้ผ่านพ้นจากอุปสรรคข้อนี้ไปได้
๕. ความง่วง อุปสรรคในเรื่องของความง่วงนี้ มักจะเป็นสิ่งควบคู่ไปกับผู้ปฏิบัติโดยทั่วหน้ากัน โดยเฉพาะผมแล้ว เพราะตอนทำใหม่ๆ ต้องทำอยู่ในอิริยาบถเดียวคือนอน ซึ่งเป็นอิริยาบถที่เกื้อกูลต่อความง่วงมาก และครูบาอาจารย์มักจะให้คำแนะนำได้ว่า ถ้าเราเกิดความง่วงให้เปลี่ยนอิริยาบถ ไปเดินบ้าง ล้างหน้าหรืออาบน้ำบ้าง แต่สำหรับผมทำได้แต่เพียง พลิกตะแคงซ้ายขวา ซึ่งเป็นอิริยาบถน้อยๆ บางทีก็ไม่หายง่วง ก็จำเป็นต้องมาใช้เทคนิคของตนเองบ้าง เพื่อให้เหมาะกับสภาพของเรา เช่น อมน้ำไว้ในปากในขณะที่ง่วง ทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวกในขณะปฏิบัติ แต่ก็ทำให้ความง่วงหายไปได้เหมือนกัน ที่จริงแล้วความง่วงเป็นอาการของจิต มิใช่จิต ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนกัน ต้องจับหลักนี้เอาไว้ก่อน ความง่วงมิใช่เรา เพราะโดยปกติแล้วเราก็มิได้ง่วงอยู่ก่อน เรากำลังรู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวอยู่ก่อน แต่เจ้าความง่วงซึ่งเกิดขึ้นทีหลังและจะมาครอบงำจิตเรา ทำงั้นได้ไง เราไม่ยอมหรอก ต้องเติมสติให้หนักแน่นกว่าเดิมโดยการละความรู้สึกตัวจากที่กายเคลื่อนไหว และมากำหนดรู้อยู่ที่หน้าผาก ในระหว่างคิ้ว พร้อมทั้งเบิกตาโพลง เพื่อเป็นการเติมสติให้มาก และความง่วงก็จะค่อยออกไป เพราะความง่วงกลัวความแข็งกล้าของสตินั่นเอง พอความง่วงหายไปแล้ว เราก็กลับมารู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวต่อไปเหมือนเดิม
อุปสรรคทั้ง ๕ ข้อที่ผมได้กล่าวมานี้ มิใช่ว่าจะขวงกั้นการฝึกเจริญสติเสมอไป เรายังมีวิธีแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นเพียงอุปสรรคในช่วงการปฏิบัติใหม่ๆเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นกับผมในช่วงฝึกปฏิบัติใน ๓ ปีแรก แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นกับผมเมื่อใด ถือว่าเป็นบทเรียนหรือแบบฝึกหัด และเป็นอุปกรณ์ที่มาทำให้เราได้สร้างสติ เราจะได้มีสติมากๆ เป็นประสบการณ์ของเรา และอุปสรรคเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงมายาที่คอยหลอกลวงเรา ผลสุดท้ายเราก็ต้องทิ้งทั้งหมด กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวดีกว่า จริงกว่า และเป็นปัจจุบันยิ่งกว่า ใส่คะแนนตรงนี้ให้มาก ให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัวเอาไว้ สิ่งอื่นก็หมดราคาไป ทำให้เราได้ผ่านพ้นไปเสียจากอุปสรรคทั้งปวง การปฏิบัติของเราก็จะบรรลุผลในที่สุด .
ขอขอบพระคุณ ที่มา :
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/kumpol-thong-03.htm และ
http://www.kammatan.com