KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4ทางแห่งพระนิพพาน เดินไปอย่างไร มีวิธีปฏิบัติอย่างไรการปฏิบัิติให้บรรลุนิพพานมี 3 แบบ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: การปฏิบัิติให้บรรลุนิพพานมี 3 แบบ  (อ่าน 32415 ครั้ง)
phonsakw
กัลยาณมิตร ลำดับที่ 1
**

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 94


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: กรกฎาคม 17, 2011, 12:06:43 AM »

การปฏิบัิติให้บรรลุนิพพานมี 3 แบบ

1. แบบง่ายสุด คือ เน้นเฉพาะวิปัสสนา ได้เป็นพระอรหันต์แบบสุกขวิปัสสโก  ท่านจะไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกหรือปรโลกมากนัก  เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับโลกหรือปรโลก จะรู้ได้เฉพาะเมื่อเข้าสู่ฌาน 3-4 เป็นอย่างน้อย

2. แบบยากสุด คือ เน้นเฉพาะสมถะ หรือสมาธิ  เรียกว่า เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบ  พระพุทธเจ้าของเรา และพระศิวะ  ก็บรรลุธรรมแบบนี้  พวกท่านจึงมีอภิญญาหรือมีฤทธิ์ที่ไม่มีใครเทียบได้

3. แบบผสมผสานกันระหว่างสมถะ หรือสมาธิ กับ วิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่เป็นสาวกในช่วงพุทธกาล หลังจากพุทธกาลไปแล้วก็มีจะมีน้อยลง เช่น ของเมืองไทย มี หลวงปู่มั่น  หลวงปู่ทวด หลวงพ่อฤาษีลิงดำ  หลวงปู่ปาน  หลวงพ่ดสด ฯลฯ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 17, 2011, 12:44:31 AM »

บอกให้เพื่อนๆทราบซิครับ ว่าพระอรหันต์มี ๔ ประเภท

แต่ละประเภทได้อภิญญา วิชชา แบบไหนบ้าง..และ แต่ละประเภทมีการสร้างบารมี และวิถีทางเช่นไร ทำไมถึงได้อย่างนั้น จะเป็นประโยชน์อีกสืบต่อไป?

 
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
phonsakw
กัลยาณมิตร ลำดับที่ 1
**

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 17, 2011, 10:34:54 PM »

อ้างจาก: กรัชกาย ที่ วันนี้ เวลา 07:15:31 AM
รวมๆ พอฟังได้  เสริมให้อีกหน่อยดังพุทธพจน์ที่

ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า    "ภิกษุทั้งหลาย  ทางนี้เป็นมรรคาเอก  เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อข้ามพ้นความโศกและปริเทวะ  เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุโลกุตรมรรค  เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน  (ทางนี้) คือ สติปัฏฐาน 4"




สติปัฏฐาน 4 เป็นเสมือนยาป้องกันไวรัสอวิชชา เหมาะสำหรับสาวก  และคนทั่วไปที่ไม่มีภูมิป้องกันโรคอวิชชา   แต่สำหรับบางคนที่สร้างบุญบารมีมามากพอ  เช่น  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระศิวะ พระโพธิสัตว์กวนอิม ฯลฯ พวกท่านเหล่านี้  พวกท่านมีภูมิคุ้มกันไวรัสอวิชชาได้  ท่านจึงไม่จำเป็นต้องฝึกสติปัฏฐาน 4  ฝึกแต่สมถะหรือสมาธิอย่างเดียว  จนได้เจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ
บันทึกการเข้า
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2011, 02:48:47 AM »

มันก็ต้องมาด้วยกันทั้งสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ทำแต่สมถะอย่างเดียว แล้วมันจะได้เจโตวิมุติได้อย่างไร ไม่รู้หรือว่าจะได้อาสวขยญาณนั้น ได้มาจากวิปัสสนาญาณ

แค่นี้เขียนให้เห็น บอกก็แล้วยังไม่รู้ใจกันเลย อย่ามาพูดถึงเรื่อง เจโตปริยญาณ เลย

จะสร้างบุญบารมีมาซักกี่อสงไขยแสนมหากัป ถ้าทำแต่สมถะอย่างเดียว ไม่มีการเจริญปัญญาตามสติปัฏฐาน ๔ มันก็ไม่เกิดปัญญาเพื่อหลุดพ้นหรอก ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าพวกฤาษี ชี ไพร ดาบส ต่างๆเค้าก็ทำกันได้สมถะภาวนา ทำกันได้จนถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะนู่นเลย...แต่มันก็ยังไม่หลุดพ้นออกไปจากสังสารวัฏนี้ได้

ถึงว่าไปอยู่ พุทธเกษตรเป็นแถว ....ผมถือเป็นภพ ภพหนึ่งแล้วกัน แล้วแต่จะสรรหาคำบัญญัติอะไรมาเรียกให้วิจิตรพิสดารกันไปเอง เอาเป็นว่าวนเวียนไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏนี่ก็แล้วกัน



พระอรหันต์มี ๔ ประเภท

๑. สุกขวิปัสสโก    ๒. เตวิชโช     ๓.ฉฬภิญโญ    ๔. ปฏิสัมภิทัปปัตโต


 
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2011, 04:10:44 PM »

การบรรลุธรรมนั้น บุคคลผู้ที่จะสามารถทำได้ต้องมีศีล สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์เท่านั้น ในการทำศีล สมาธิและปัญญาให้สมบูรณ์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการปฏิบัติไว้ ๒ ประการ คือ

๑. สมถภาวนา คือการเจริญสมถะ หมายถึง การฝึกจิตให้เกิดความสงบ โดยใช้อารมณ์เป็นเครื่องยึด

๒. วิปัสสนาภาวนา คือการเจริญวิปัสสนา หมายถึง หลักสำหรับฝึกจิตให้เกิดความเห็นแจ้ง คือให้จิตรู้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสังขาร เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น แล้วบรรลุนิพพานได้

หลักการปฏิบัติทั้ง ๒ ประการนี้ ถึงจะมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกัน แต่มีความเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน คือ

สมถะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดวิปัสสนา และวิปัสสนาก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดสมถะได้เช่นเดียวกัน(๑๕) หลักการทั้ง ๒ นี้มีความเกื้อกูลต่อกัน ดังนี้

๑. เจริญสมถะนำวิปัสสนา วิธีปฏิบัติโดยการเจริญสมถะจนกระทั่งจิตสงบแล้วอาศัยความสงบนั้นเป็นพื้นฐานในการยกจิตขึ้นสู่การเจริญวิปัสสนา คือ คนบางคนเจริญสมถะ ให้เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิก่อน อันนี้เป็นสมถะ ต่อมาเขาพิจารณาสมถะนั้นและธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับสมถะนั้น โดยลักษณะทั้งหลายมีไม่เที่ยงเป็นต้น อันนี้เป็นวิปัสสนา อย่างนี้เรียกว่า เจริญสมถะนำวิปัสสนา(๑๖)

๒. เจริญวิปัสสนานำสมถะ วิธีปฏิบัติโดยการเจริญวิปัสสนาใช้ปัญญาพิจารณาดูนาม-รูปจนเกิดความเห็นแจ้ง จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ คือคนบางคนพิจารณาขันธ์อันเป็นที่ตั้ง แห่งการยึดถือ ๕ อย่าง โดยลักษณะทั้งหลายมีไม่เที่ยงเป็นต้น โดยมิได้ทำสมถะให้เกิดขึ้น อันนี้เป็นวิปัสสนา ต่อมาเขาได้ปล่อยวางไม่ยึดถือธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้น แล้วความแน่วแน่แห่งจิตก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นสมถะ อย่างนี้เรียกว่า เจริญวิปัสสนานำสมถะ(๑๗)

๓. เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กัน วิธีปฏิบัติโดยการเจริญสมถะได้ขั้นหนึ่งแล้ว จึงออกจากสมถะมาพิจารณาธรรมที่เกิดในสมถะนั้นครั้งหนึ่ง ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยไป คือคนบางคนได้ปฐมฌานแล้วก็ออกจากปฐมฌานนั้นมาพิจารณาสังขาร ครั้นพิจารณาสังขารแล้วก็เข้าสู่ทุติยฌานต่อไป แล้วออกจากทุติยฌานนั้นมาพิจารณาสังขารอีก ทำตามลำดับอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากฌานนี้แล้วก็พิจารณาอีก อย่างนี้เรียกว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป(๑๘)

(๑๕)ความเกื้อกูลของหลักปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ จะเห็นได้จากพระพุทธพจน์ว่า นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต (ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน)

สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ภิกฺขเว ยถาภูตํ ปชานาติ (ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมเข้าใจชัดตามความเป็นจริง) -ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓๗๒/๘๒,ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓๗๒/๑๔๙.

(๑๖) องฺ.จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๑๗๐/๑๗๙,องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๗๐/๒๑๒,ขุ.ป.(บาลี) ๓๑/๒/๓๐๗, ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๒/๔๑๘,องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) ๒/๑๗๐/๓๙๐-๓๙๑.

(๑๗) องฺ.จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๑๗๐/๑๗๙,องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๗๐/๒๑๒,ขุ.ป.(บาลี) ๓๑/๔/๓๑๐,ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๔/๔๑๘,องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) ๒/๑๗๐/๓๙๑.

(๑๘) องฺ.จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๑๗๐/๑๗๙,องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๗๐/๒๑๒,ขุ.ป. (บาลี) ๓๑/๕/๓๑๑, ขุ.ป. (ไทย) ๓๑/๕/๔๑๙,องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) ๒/๑๗๐/๓๙๑.
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2011, 04:19:41 PM »

(๑๕)ความเกื้อกูลของหลักปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ จะเห็นได้จาก  พระพุทธพจน์ว่า

นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต  ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน

นี่เอามาจากพระไตรปิฎกมาให้อ่านพิจารณากัน ไม่ไช่อยากกล่าวอะไรก็กล่าวไปตามชอบใจหรือเอามาผสมปนเปเข้ากับความคิดของตนเอง

แล้วนี่ก็อปข้อความของผมไปลงเว็บที่ไหนอีกรึเปล่านี่...ให้เกียรติกันบ้าง รู้จักจังหวะจะโคน รู้จักกาละเทศะบ้าง

บอกผมเสียหน่อย ว่าผมขอเอาคุณไปยำเว็บโน้น เว็บนี้ก็ว่าไป

   
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 01:24:50 AM »

สุกขวิปัสสโก

คือปฏิบัติแบบสบาย เริ่มด้วยการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เรื่องศีลนี้
นักปฏิบัติต้องสนใจเป็นพิเศษ  ถ้าหวังผลในการปฏิบัติแล้ว อย่าให้ศีลบกพร่องเป็นอันขาด แม้แต่
ด่างพร้อยก็อย่าให้มี ถ้าท่านเห็นว่าศีลเป็นของเล็กน้อย ปฏิบัติยังขาด ๆ เกิน ๆ แล้ว ท่านไม่มีหวังใน
มรรคผลแน่นอน เมื่อมีศีลครบถ้วนบริสุทธิ์ผุดผ่องดีแล้ว ท่านก็ให้เจริญสมาธิ ตอนสมาธินี้ ท่านฝ่าย
สุกขวิปัสสโกท่านไม่เอาดีทางฌานสมาบัติ  พอมีสมาธิเล็กน้อยก็เจริญวิปัสสนาญาณควบกันไปเลย
คุมสมาธิบ้าง เจริญวิปัสสนาบ้าง พอสมาธิที่รวบรวมได้ทีละเล็กละน้อย เมื่อสมาธิเข้าถึงปฐมฌาน
วิปัสสนาก็มีกำลังตัดกิเลสได้ จะได้มรรคผลก็ตอนที่สมาธิเข้าถึงปฐมฌาน หากสมาธิยังไม่ถึงปฐมฌาน
เพียงใด จะได้มรรคผลไม่ได้ นี้เป็นกฎตายตัว เพราะมรรคผลต้องมีฌานเป็นเครื่องรู้ ฌานนี้จะบังเกิด
ขึ้นเมื่อจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ คือเกือบถึงปฐมฌาน ห่างกันระหว่างปฐมฌานกับอุปจารฌานนั้น เพียง
เส้นผมเดียวเท่านั้น จิตเมื่อตั้งมั่นในอุปจารสมาธิแล้ว ก็จะเกิดทิพยจักษุฌาน คือเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์
และได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เพราะตามธรรมดาจิตนั้นเป็นทิพย์อยู่แล้ว ที่ต้องมาชำระกันใหม่ด้วยการ
ฝึกสมาธิ ก็เพราะจิตถูกนิวรณ์ คืออกุศลหุ้มห่อไว้ ได้แก่ความโลภอยากได้ไม่มีขอบเขต ความผูกโกรธ
คือพยาบาทจองล้างจองผลาญ ความง่วงเมื่อขณะปฏิบัติทำสมาธิ ความฟุ้งซ่านของอารมณ์ในขณะฝึก
สมาธิ ความสงสัยในผลปฏิบัติโดยคิดว่าจะได้หรือ จะสำเร็จหรือ ทำอย่างนี้จะสำเร็จได้อย่างไร ความ
สงสัย ไม่แน่ใจอย่างนี้ เป็นนิวรณ์กั้นฌานไม่ให้เกิด รวมความแล้ว ทั้งห้าอย่างนี้นั่นแหละ แม้เพียง
อย่างเดียว ถ้าอารมณ์ของจิตยังข้องอยู่ฌานจะไม่เกิด จะคอยกีดกันไม่ให้จิตผ่องใส มีอารมณ์เป็นทิพย์
ตามสภาพปกติได้ จิตเมื่อถูกอกุศลห้าอย่างนี้หุ้มห่อก็มีอารมณ์มืดมนท์รู้สิ่งที่เป็นทิพย์ไม่ได้เพราะ
อำนาจอกุศลคือนิวรณ์ห้านี้จะพ้นจากจิตไปได้ก็ต่อเมื่อจิตทรงอารมณ์ของฌานไว้ได้เท่านั้น ถ้าจิตทรง
อารมณ์ปฐมญานไม่ได้ จิตก็ต้องตกเป็นทาสของ นิวรณ์
อารมณ์ปฐมฌานนั้นมี ๕ เหมือนกัน คือ
          ๑. วิตก คำนึงถึงองค์กรรมฐานที่ฝึกตลอดเวลา
          ๒. วิจาร ใคร่ครวญกำหนดรู้ตามในองค์กรรมฐานนั้น ๆ ไม่ให้บกพร่องตรวจตราพิจารณาให้
ครบถ้วนอยู่เสมอๆ
          ๓. ปีติ มีความเอิบอิ่มรื่นเริงหรรษา ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติพระกรรมฐาน
          ๔. สุข เกิดความ สุขสันต์หรรษาทางกายอย่างไม่เคยปรากฏมาในกาลก่อนมีความสุขสดชื่น
บอกไม่ถูก
          ๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์มั่นคงในองค์กรรมฐาน จิตกำหนดตั้งมั่นไม่คลาดจากองค์
กรรมฐานนั้นๆ
         
ทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน เมื่อเข้าถึงตอนนี้จิตก็เป็นทิพย์มาก สามารถกำหนดจิตรู้
ในสิ่งที่เป็นทิพย์ได ้ก็ผลของวิปัสสนา คือมรรคผลนั้น การที่จะบรรลุถึงได้ต้องอาศัยทิพยจักษุญาณ
เป็นเครื่องชี้ ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่าเมื่อภิกษุบรรลุแล้วก็มีญาณบอกว่ารู้แล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้
ก็ทรงหมายเอาญาณที่เป็นทิพยจักษุญาณนี้ถ้าบรรลุอรหัตตผลแล้ว ท่านเรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนวิสุทธิ
วิมุตติแปลว่า หลุดพ้น ญาณ แปลว่า รู้ ทัสสนะ แปลว่า เห็น วิสุทธิ แปลว่า หมดจดอย่างวิเศษ คือ หมด
ไม่เหลือ หรือสะอาดที่สุด ไม่มีอะไรสกปรก (บอกไว้เพื่อรู้)
         
ฉะนั้น ท่านสุกขวิปัสสโก ถึงแม้ท่านจะรีบปฏิบัติแบบรวบรัดอย่างไรก็ตาม ท่านก็ต้องอาศัยฌาน
ในสมถะจนได้ แต่ได้เพียงฌานเด็กๆ คือปฐมฌาน เป็นฌานกระจุ๋มกระจิ๋มเอาดีเอาเด่นในเรื่องฌาน
ไม่แน่นอนนัก กล่าวโดยย่อ ก็คือ
          ๑. ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ ชนิดไม่ทำเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีในเมื่อคนอื่นทำบาป
          ๒. ท่านเจริญสมาธิควบกับวิปัสสนา จนสมาธิรวมตัวถึงปฐมฌานแล้ว ท่านจึงจะได้
สำเร็จมรรคผล
          ท่านสุกขวิปัสสโก มีกฏปฏิบัติเพียงเท่านี้ ท่านจึงเรียกว่า สุกขวิปัสสโก แปลว่า บรรลุแบบ
ง่ายๆ ท่านไม่มีฌานสูง ท่านไม่มีญาณพิเศษอย่างท่านวิชชาสาม ท่านไม่มีฤทธิ์ ท่านไม่มีความรู้พิเศษ
อะไรทั้งสิ้น เป็นพระอรหันต์ประเภทรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ไม่มีคุณพิเศษอื่นนอกจากบรรลุมรรคผล

 
 

บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 01:49:06 AM »

เตวิชโช

หมายถึงท่านที่มีอุดมคติในด้านวิชชาสาม คือทรงคุณสามประการ ใน
ส่วนแห่งการปฏิบัติ ได้แก่คุณธรรมดังต่อไปนี้
          ๑.  ปุเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติที่แล้วๆ มาได้
          ๒. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้ว และเกิดมานี้ ตายแล้วไปไหน ก่อนเกิดมาจากไหน
          ๓.  อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวกิเลสให้สิ้นไป
          เมื่อพิจารณาตามคุณพิเศษสามประการนี้แล้ว แสดงให้เห็นว่าท่านที่มีอุดมคติในด้าน
เตวิชโชนี้ ท่านเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบเห็นอะไรเข้าก็เป็นเหตุให้คิดนึกถึงสมุฏฐานที่เกิด
ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดมาจากอะไร เดิมก่อนจะเป็นอย่างนั้น เป็นอะไรมาก่อน เช่นเห็นของที่มีวัตถุปกปิด
ก็อยากจะแก้วัตถุที่ปกปิดนั้นออก เพื่อสำรวจตรวจดูของภายใน เห็นของภายในว่าเป็นอะไรแล้ว ก็
อยากจะรู้ต่อไปว่า ภายในของนั้นมีอะไรบ้าง ทำด้วยอะไร เมื่อรู้แล้วก็อยากรู้ต่อไปว่า สิ่งนั้น ๆ เกิดมา
ได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
           ท่านประเภทเตวิชโชนี้ จะให้ท่านทำตนเป็นคนหวังผลอย่างเดียว โดยไม่ให้พิสูจน์ค้นคว้า
เลยนั้น ท่านประเภทนี้ทนไม่ไหว เพราะอัชฌาสัยไม่ชอบประเภทคลุมหน้าเดินโดยที่ไม่ได้พิสูจน์ต้นทาง
ปลายทางเสียก่อน ถ้าต้องทำแบบคลุมหน้าเดินอย่างท่านสุกขวิปัสสโกแล้วท่านก็ทนไม่ไหว รำคาญใจ
หยุดเอาเฉย ๆ คนประเภทนี้เคยพบมาในขณะสอนสมณธรรมมีจำนวนมาก ประเภทเตวิชโชนั้น ส่วน
ใหญ่มักชอบรู้ชอบเห็นพอให้วิปัสสนาล้วนเธอเข้า เธอก็บ่นอู้อี้ว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย ต่อเมื่อให้
กรรมฐานประเภททิพยจักษุญาณ หรือมโนมยิทธิ เธอก็พอใจ ทำได้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จะ
ยากลำบากก็ทนทำจนสำเร็จผล ทางที่ได้พิสูจน์มาเป็นอย่างนี้

แนวปฏิบัติสำหรับเตวิชโช
          ทราบแล้วว่า เตวิชโชมีอะไรบ้าง ขอนำแนวปฏิบัติมาเขียนไว้ เพื่อรู้แนวทาง หากท่านผู้อ่าน
ประสงค์จะรู้หรือจะนำไปปฏิบัติก็จะสะดวกในการค้นคว้า เตวิชโชหรือท่านผู้ทรงวิชชาสาม มีปฏิปทา
ในการปฏิบัติดังต่อไปนี้
          ๑. การรักษาศีลให้สะอาดหมดจด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด
          ๒. ฝึกสมาธิในกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกสิณกองใดกองหนึ่งที่เป็นสมุฏฐาน
ให้เกิดทิพยจักษุญาณ กสิณที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพยจักษุญาณนั้นมีอยู่สามกองด้วยกัน  คือ
           ๑. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
           ๒. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
           ๓. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
          กสิณทั้งสามอย่างนี้ อย่างใดก็ตาม เป็นพื้นฐานให้ได้ทิพยจักษุญาณทั้งสิ้น แต่ตามนัย
วิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า ในบรรดากสิณทั้งสามอย่างนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณสร้างทิพยจักษุญาณ
โดยตรง ท่านว่าเจริญอาโลกกสินั่นแหละเป็นการดี
          วิธีเจริญอาโลกกสิณเพื่อทิพยจักษุญาณ  การสร้างทิพยจักษุญาณด้วยการเจริญ
อาโลกกสิณนั้น ท่านให้ปฏิบัติดังนี้ ท่านให้เพ่งแสงสว่างที่ลอดมาทางช่องฝาหรือหลังคาให้กำหนด
จิตจดจำภาพแสงสว่างนั้นไว้ให้จำได้ดี แล้วหลับตากำหนดนึกถึงภาพแสงสว่างที่มองเห็นนั้น ภาวนา
ในใจ พร้อมทั้งกำหนดนึกถึงภาพนั้นไปด้วย ภาวนาว่า "อาโลกกสิณัง" แปลว่า แสงสว่างกำหนด
นึกไป ภาวนาไป ถ้าภาพแสงสว่างนั้นเลอะเลือนจากไป ก็ลืมตาดูใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยไป จนภาพนั้น
ติดตา ติดใจ นึกคิดขึ้นมาเมื่อไร ภาพนั้นก็ปรากฏแก่ใจตลอดเวลา ในขณะที่กำหนดจิตคิดเห็นภาพนั้น
ระวังอารมณ์จิตจะซ่านออกภายนอก และเมื่อจิตเริ่มมีสมาธิ ภาพอื่นมักเกิดขึ้นมาสอดแทรกภาพกสิณ
เมื่อปรากฏว่ามีภาพอื่นสอดแทรกเข้ามาจงตัดทิ้งเสีย โดยไม่ยอมรับรู้รับทราบ กำหนดภาพเฉพาะ
ภาพกสิณอย่างเดียว ภาพแทรกเมื่อเราไม่สนใจไยดีไม่ช้าก็ไม่มารบกวนอีก เมื่อภาพนั้นติดตาติดใจ
จนเห็นได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะเห็นได้แล้ว และเป็นภาพหนาใหญ่จะกำหนดจิตให้ภาพนั้นเล็ก ใหญ่
ได้ตามความประสงค์ ให้สูงต่ำก็ได้ตามใจนึก เมื่อเป็นได้อย่างนั้นก็อย่าเพิ่งคิดว่าได้แล้ว ถึงแล้ว
จงกำหนดจิตจดจำไว้ตลอดวันตลอดเวลา อย่าให้ภาพแสงสว่างนั้นคลาดจากจิต จงเป็นคนมีเวลา คืออย่า
คิดว่าเวลานั้นเถอะเวลานี้เถอะจึงค่อยกำหนด การเป็นคนไม่มีเวลา เพราะหาเวลาเหมาะไม่ได้นั้น
ท่านว่าเป็นอภัพพบุคคลสำหรับการฝึกญาณ คือเป็นคนหาความเจริญไม่ได้ ไม่มีทางสำหรับมรรคผล
เท่าที่ตนปรารถนานั่นเอง  ต้องมีจิตคิดนึกถึงภาพกสิณตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่ยอมให้ภาพนั้นคลาด
จากจิต ไม่ว่า กิน นอน นั่ง เดิน ยืน หรือทำกิจการงาน ต่อไปไม่ช้าภาพกสิณก็จะค่อยคลายจากสีเดิม
เปลี่ยนเป็นสีใสประกายพรึกน้อยๆ และค่อย ๆ ทวีความสดใสประกายมากขึ้น ในที่สุดก็จะปรากฏเป็น
สีประกายสวยสดงดงาม คล้ายดาวประกายพรึกดวงใหญ่ ตอนนี้ก็กำหนดใจให้ภาพนั้นเล็ก โต สูง ต่ำ
ตามความต้องการ การกำหนดภาพเล็ก โต สูง ต่ำและเคลื่อนที่ไปมาอย่างนี้ จงพยายามทำให้คล่อง
จะเป็นประโยชน์ตอนฝึกมโนมยิทธิ คือ ถอดจิตออกท่องเที่ยวมาก เมื่อภาพปรากฏประจำจิตไม่คลาด
เลื่อนได้รวดเร็ว เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว ก็เริ่มฝึกทิพยจักษุญาณได้แล้ว
เมื่อฝึกถึงตอนนี้ มีประโยชน์ในการฝึกทิพยจักษุญาณ และฝึกมโนมยิทธิ คือถอดจิตออกท่องเที่ยว
และมีผลในญาณต่างๆ ที่เป็นบริวารของทิพยจักษุญาณทั้งหมด เช่น
          ๑. ได้จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิด ณ ที่ใด ที่มาเกิดนี้มาจากไหน
          ๒. เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
          ๓. ปุเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้
          ๔. อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้
          ๕. อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าต่อไปได้
          ๖. ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่า ขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้
          ๗. ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขามีสุขมีทุกข์
เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ

๑. จุตูปปาตญาณ            ญาณนี้ เมื่อเล่นบ่อยๆ ดูว่าสัตว์ที่เกิดมานี้มาจากไหน สัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน
รู้แล้วอาศัยยถากัมมุตาญาณสนับสนุนให้รู้ผลของกรรม ญาณนั้นใช้ในคราวเดียวกันได้คราวละหลายๆ
ญาณ เพราะก็เป็นผลของทิพยจักษุญาณเหมือนกัน เมื่อรู้ว่าบางรายมาจากเทวดาบ้าง มาจากพรหม
บ้าง มาจากอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานบ้าง สัตว์ที่ไปเกิดก็ทราบว่า ไปเกิดในแดน
มนุษย์บ้าง สวรรค์บ้าง พรหมบ้าง และเกิดในอบายภูมิบ้าง คนรวยเกิดเป็นคนจน คนจนเกิดเป็นมหา-
เศรษฐี สัตว์เกิดเป็นมนุษย์เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่วที่สั่งสมไว้ เมื่อรู้เห็นความวนเวียนใน
ความตายความเกิดที่เอาอะไรคงที่ไม่ได้อย่างนี้ มองเห็นโทษของสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ เห็นความสุข
ในสวรรค์และพรหม และเห็นความไม่แน่นอนในการเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ที่ต้องจุติคือตายจาก
สภาพเดิมที่แสนสุข มาเกิดในมนุษย์หรืออบายภูมิ อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะความ
ไม่แน่นอนผลักดัน เป็นผลของอนัตตาที่เป็นกฎประจำโลกไม่มีใครจะทัดทานห้ามปรามได้ มองดูการ
วนเวียนในการตายและเกิดไม่มีอะไรสิ้นสุด ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์เป็นการเห็นอริยสัจ มีความเบื่อหน่าย
ในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากญาณในสมถะคือจุตูปปาตญาณ
ญาณนี้ได้สร้างปัญญาในวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นเพราะผลของสมถะ คือ จุตูปปาตญาณ เพราะเหตุที่
่สาวหาต้นสายปลายเหตุจากการเกิดและการตายในที่สุดก็เกิดการเบื่อหน่ายดังว่ามาแล้ว ถ้าปฏิบัติ
ถึงแล้ว จงแสวงหาความรู้จากความเกิดและความตายของตนเองและสัตว์โลกทั้งมวล ทุกวันทุกเวลา
จะเป็นครูสอนตนเองได้ดีที่สุด ผลดีจะมีเพียงใด ท่านจะทราบเองเมื่อปฏิบัติถึงแล้ว

๒. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ           ญาณนี้ เป็นญาณระลึกชาติได้ คือถอยหลังชาติต่างๆ ที่เกิดมาแล้ว เป็นจำนวนหลายหมื่น
หลายแสนชาติ ฝึกระลึกตามลำดับชาติตามลำดับ คือตั้งแต่ชาติที่หนึ่ง เป็นลำดับไปจนถึงชาติที่หมื่น
แสน แล้วก็ย้อนจากชาติปลายสุดกลับมาหาชาติปัจจุบัน แล้วพยายามฝึกระลึกชาติสลับชาติ คือคิดว่า
จะระลึกชาติในระดับไหนก็ให้ได้โดยฉับพลันทำอย่างนี้ให้คล่อง จะมีประโยชน์มาก เพราะ
          ๑. จะกำจัดมานะทิฏฐิ ความถือตัวถือตนว่าเป็นผู้วิเศษเสียได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อพบสัตว์
เดียรัจฉานเราก็เอาญาณนี้ช่วย โดยคิดว่าเราเคยเป็นสัตว์เดียรัจฉานอย่างนี้บ้างหรือไม่ ? เราก็จะพบว่า
สัตว์อย่างนี้เราเคยเป็น และอาจจะเคยเกิดเป็นสัตว์อย่างนี้มาแล้วตั้งหลายครั้งหลายหน เมื่อพบตัวเองว่า
เคยเป็นสัตว์เราก็คิดค้นคว้าหากฎของความเป็นจริงต่อไปว่า สัตว์อย่างนี้ เราเคยเป็นมาก่อน บัดนี้เรา
เป็นมนุษย์ เขายังเป็นสัตว์เขาเอากำเนิดมาจากไหน คิดทบทวนไปก็จะพบว่า เรานี้เองเป็นต้นตระกูล -
สัตว์ บัดนี้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ สัตว์นี้ก็ไม่ใช่ใคร คือทายาทของเราเอง เราจะมารังเกียจทายาทของเรา
เพื่อประโยชน์อะไร เรารังเกียจเขา เราควรรังเกียจเราเองดีกว่า เพราะเราเลวมาก่อน ถ้าเราไม่เลว
มาก่อนจนกระทั่งเป็นต้นตระกูลสัตว์แล้ว สัตว์พวกนี้ก็จะไม่มีในโลก นี่เราเลวมากจนลืมทายาทของ
ตนเอง รังเกียจทายาทของตนเอง พบคนที่น่ารังเกียจโดยสุขภาพ ทุพพลภาพ ชาติ ตระกูล ก็จงระลึก
ชาติถอยไปหาสมัยเมื่อเราเคยเกิดเป็นอย่างนั้น
           ๒. ป้องกันความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเห็นท่านที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ โดยฐานะหรือชาติ
ตระกูล เมื่อเห็นเขาทรงอำนาจราชศักดิ์ เราก็ถอยไปหาชาติที่เคยดำรงความดำรงชีวิตอย่างนั้น
เมื่อพบแล้ว ก็สอบต่อไปถึงความสุขความทุกข์ที่ได้รับผลในชาตินั้นๆ ตลอดจนต้องพลัดพรากจาก
ฐานะความเป็นอยู่ในสมัยที่ต้องตายจากอัตภาพนั้นๆ ก็จะเห็นว่าความเป็นผู้ทรงเกียรติทรงอำนาจ
มีเงินมีทองของให้มาก ๆ  ไม่ได้ช่วยให้สิ้นทุกข์ ไม่มีทางจะกีดกันความป่วยไข้ไม่สบายและห้าม
ความตายก็ไม่ได้ ต้องมีทุกข์มีความป่วยไข้ไม่สบาย ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ตายจาก
อัตภาพนั้นๆ ความจริงเป็นอย่างนี้เราจะทะเยอทะยานไปเพื่ออะไร ในเมื่อเรากับเขาก็ตายเหมือนกัน
ก่อนตายก็ต้องแก่ต้องป่วยไข้  ต้องประสบกับความกลัดกลุ้มขัดข้องเหมือนเรา เรามีฐานะน้อย ก็มีห่วง
กังวลน้อย คนที่มีฐานะใหญ่ ก็มีห่วงมีกังวลมาก เราสบายกว่าเพราะกังวลน้อยกว่า ในเมื่อเกิดมาเพื่อ
ตายจะสะสมไปเพียงไหนให้หนัก เราพอใจในความเป็นอยู่ของเรา เรามีเท่านี้พอแล้ว คนที่เขายากจน
กว่าเราถมไป แต่ทว่าเราหรือใครก็ตามในโลกนี้ ตายเหมือนกันหมด เราจะมัวมาหลงติดโลกามิส
อยู่เพื่ออะไร เราเกิดมาก็มาก ตายมาก็หลายครั้งหลายคราเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความทุกข์
จะกินข้าวสักคำ กินน้ำสักอึก ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ อาหารก่อนจะได้กินก็ต้องเหน็ดเหนื่อย
เพราะการแสวงหาทรัพย์มาเป็นค่าอาหาร กว่าจะได้มาแต่ละบาทก็ต้องทรมานตน ทนหนาวทนร้อน
คอยหลบหลีกอันตราย นี้เพียงค่าของอาหารมื้อเดียว ทุกข์อย่างอื่นของมนุษย์ยังมีอีกมาก คิดทบทวนถึง
ค่าเสื้อผ้า ค่าของใช้ ค่ายารักษาโรค รวมความแล้วโลกนี้เป็นโลกของความทุกข์  หาความสุขสดชื่น
ไม่ได้เลย เมื่อคำนึงถึงทุกข์ เพราะอาศัยญาณนี้เป็นตัวค้นคว้า อย่างนี้เป็นเหตุให้เห็นอริยสัจได้โดยง่าย
เมื่อคนใดเห็นอริยสัจ คนนั้นก็เป็นคนพ้นทุกข์ เพราะหมดกิเลส มีผลให้เข้าถึงพระนิพพานอย่างไม่ยากนัก

๓. อาสวขยญาน ณานที่ทำกิเลสให้สิ้น

 

บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 01:56:24 AM »


ฉฬภิญโญ

อัชฌาสัยของท่านที่ชอบมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรต่ออะไรเกินกว่าสามัญชนจะทำได้  เรียกว่า
อัชฌาสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ หรือท่านผู้ทรงอภิญญา ๖
          อภิญญา ๖ นี้ เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องฝึกฝนตนเป็นพิเศษ
ให้ได้คุณธรรมห้าประการก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล หมายความว่าในระหว่างที่ทรงฌานโลกีย์นั้น ต้อง
ฝึกฝนให้สามารถทรงคุณสมบัติห้าประการดังต่อไปนี้
           ๑. อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
           ๒. ทิพยโสต มีหูเป็นทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกล หรือเสียงอมนุษย์ได้ยิน
           ๓. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์
           ๔. เจโตปริยญาณ รู้ความรู้สึกในความในใจของคนและสัตว์
           ๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติต่างๆ ที่ล่วงมาแล้วได้
           ทั้งห้าอย่างนี้ จะต้องฝึกให้ได้ในสมัยที่ทรงฌานโลกีย์ ต่อเมื่อฝึกฝนคุณธรรมหกประการนี้
คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว จึงฝึกฝนอบรมในวิปัสสนาญาณต่อไป เพื่อให้ได้อภิญญาข้อที่ ๖ คือ
อาสวักขยญาณ ได้แก่การทำอาสวะให้หมดสิ้นไป

อิทธิวิธญาณ

[๑๓๓] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุ
อิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏ
ก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลง
แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ
เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ
ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อ
ผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา
ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือ
ของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณ
ชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป
เพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว
ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป
ในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดี
ยิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.




ทิพยโสตญาณ

[๑๓๔] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส อ่อน
ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อม
ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุ อัน
บริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียง
กลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึง
เข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง
เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส
ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป
เพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล
และใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่
เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.




เจโตปริยญาณ

[๑๓๕] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ
เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิต
ปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ
ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก
โมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็น
มหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่น
ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ
ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตน
ในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้า
ไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม
จิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ
ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจาก
โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต จิตมีจิตอื่น
ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ
ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์
ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.




ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

[๑๓๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง
สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบ
ชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น
มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด
อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจาก
บ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม
เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น
ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้าน
นั้นเราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้น
มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม
จิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้
หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง
สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมาก
บ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น
เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่อนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข
ทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อม
ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมหาบพิตร
นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ข้อก่อนๆ.




จุตูปปาตญาณ

[๑๓๗] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ
สัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ
ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม
เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย
เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ
ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาท
ตั้งอยู่ ณ ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชน
กำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง
๓ แพร่งท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน
เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่
การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย
เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี
ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียน
พระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
กายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ
เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุ
ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ
สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.




อาสวักขยญาณ

[๑๓๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้
อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม
หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า
หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว
บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและ
ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำ เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า
สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง
ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
แล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัย
นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ
แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติ
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อนๆ ดูกรมหาบพิตร ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า
สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี.
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 02:02:50 AM »

พระอรหันต์ประเภทสุดท้าย ปฏิสัมภิทัปปัตโต
ได้อภิญญา ๖ วิชชา ๓

อัชฌาสัยของท่านผู้มีความต้องการในความรู้พิเศษ ที่มีความรู้รอบตัวยิ่งกว่าท่านผู้ทรง
อภิญญา ๖ เรียกว่าอัชฌาสัยของท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโต
          ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ แปลว่ามีความรู้พร้อม คือท่านทรงคุณธรรมพิเศษกว่า
ท่านเตวิชโช ฉฬภิญโญหลายประการ  เช่น
          ๑. มีความสามารถทรงความรู้พร้อม ไม่บกพร่องในหัวข้อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ไว้ได้โดยครบถ้วน แม้ท่านจะย่างเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเพียงวันเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เคยศึกษา
คำสอนมาก่อนเลย ตามนัยที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่มาในพระไตรปิฎกว่า มีมากท่านที่มีความ
เลื่อมใสในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพอฟังเทศน์จบ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์ชั้นปฏิสัมภิทาญาณ
ท่านทรงพระไตรปิฏก คือเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติครบถ้วนทุกประการได้ทันท่วงที
          ๒. มีความฉลาดในการขยายความในธรรมภาษิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร
ได้อย่างถูกต้อง
          ๓. ย่อความในคำสอนที่พิสดารให้สั้นเข้า โดยไม่เสียใจความ
          ๔. สามารถเข้าใจ และพูดภาษาต่างๆ ได้ทุกภาษา ไม่ว่าภาษามนุษย์หรือภาษาสัตว์
  ปฏิสัมภิทาญาณปฏิบัติ

          ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ เป็นระดับของท่านผู้ทรงคุณพิเศษครอบงำเตวิชโช
และฉฬภิญโญทั้งหมด เพราะเหตุนี้ ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณนี้ จึงต้องปฏิบัติในกสิณทั้งสิบได้ครบถ้วน
ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อชำนาญในฉฬภิญโญคือชำนาญในกสิณแล้ว ท่านเจริญใน
อรูปฌานอีก ๔ คือ

๑. อากาสานัญจายตนะ
          ท่านเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ โดยกำหนดหมายจิตคิดไว้เสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบ
ไม่มีอะไรคงสภาพเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ตลอดกาลสมัย ไม่ช้านานเท่าใดก็ต้องอันตรธานสูญไป
คล้ายอากาศ   ท่านไม่มีความนิยม   ในรูปสังขารเห็นสังขารเป็นโทษ  เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขาร
ทั้งหลายเป็นแหล่งของความทุกข์  และความชั่วช้าสารเลว  สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์อันเกิดจาก
ความอยากไม่มีสิ้นสุด ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ทุกขเวทนาอย่างสาหัส  จะพึงมีมาก็เพราะ
สังขารเป็นปัจจัย  ท่านมีความเกลียดชังในสังขารเป็นที่สุด  กำหนดจิตคิดละสังขารในชาติต่อ ๆ ไป
ไม่ต้องการสังขารอีกถือเป็นอากาศธาตุเป็นอารมณ์ คิดว่าสังขารนี้เรายอมเป็นทาสรับทุกข์ของสังขาร
เพียงชาตินี้ชาติเดียว  ชาติต่อ ๆ  ไปเราไม่ต้องการสังขารอีก ความต้องการก็คือ หวังความว่างเปล่า
จากสังขาร ต้องการมีสภาพเป็นอากาศเป็นปกติ
          การเจริญอรูปกรรมฐานนี้  ทุกอย่างจะต้องยกเอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ก่อน
เสมอ คือเข้าฌานในกสิณนั้นๆ จนถึงฌาน ๔ แล้วเอานิมิตในกสิณนั้นมาเป็นอารมณ์ในอรูปกรรมฐาน
เช่น อากาสานัญจายตนะนี้ท่านให้กำหนดนิมิตในรูปกสิณก่อน แล้วพิจารณารูปกสิณนั้นให้เห็นเป็นโทษ
โดยกำหนดจิตคิดว่า หากเรายังต้องการรูปอยู่เพียงใด  ความทุกข์อันเนื่องจากรูปย่อมปรากฏแก่เรา
เสมอไปหากเราไม่มีรูปแล้วไซร้ทุกข์ภัยอันมีรูปเป็นเหตุก็จะไม่ปรากฏแก่เรา แล้วก็เพิกคืออธิษฐาน
รูปกสิณนั้นให้เป็นอากาศ ยึดถืออากาศเป็นอารมณ์ ทำอย่างนี้จนจิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติชื่อว่าได้
กรรมฐานกองนี้

๒. วิญญาณัญจายตนะ
          วิญญาณัญจายตนะนี้ เป็นอรูปฌานที่สอง ท่านผู้ปฏิบัติมุ่งหมายกำหนดเอาวิญญาณเป็นสำคัญ
คือพิจารณาเห็นโทษของรูป และมีความเบื่อหน่ายในรูปตามที่กล่าวมาแล้ว ในอากาสานัญจายตนะ
ท่านกำหนดจิตคิดว่า เราไม่ต้องการมีรูปต่อไปอีก ต้องการแต่วิญญาณอย่างเดียว เพราะรูปเป็นทุกข์
์วิญญาณต้องรับทุกข์อย่างสาหัสก็เพราะมีรูปเป็นปัจจัย ถ้ารูปไม่มี มีแต่วิญญาณ ทุกข์ก็จะไม่มี
มาเบียดเบียน เพราะทุกข์ต่างๆ ต้องมีสังขารจึงเกาะกุมได้ ถ้ามีแต่วิญญาณทุกข์ก็หมดโอกาส
จะทรมานได้ แล้วท่านก็จับรูปกสิณเป็นอารมณ์  แล้วกำหนดวิญญาณเป็นสำคัญจนตั้งอารมณ์อยู่ใน
ฌาน  ๔ เป็นปกติ ท่านที่ได้ฌานนี้มีประโยชน์ในการตรวจสอบจิตวิญญาณของตนเอง และของผู้อื่น
ได้อย่างชัดเจน


๓. อากิญจัญญายตนะ         อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านพิจารณาว่าไม่มีอะไรเลย หรือไม่มีอะไรเหลือต่างจากอากาสานัญ--
จายตนะ เพราะ อากาสานัญจายตนะยังมีการกำหนดว่ามีอากาศเป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะนี้ ท่าน
ไม่กำหนดหมายอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการรูปและแม้แต่มีวิญญาณ ด้วยท่านคิดว่า
แม้รูปไม่มี วิญญาณยังมีอยู่ วิญญาณก็ยังรับสุข รับทุกข์ทางด้านอารมณ์ เพื่อตัดให้สิ้นไปท่านไม่ต้องการ
อะไรเลยแม้แต่ความหวังในอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากความหวังใดๆ ทั้งหมด โดยกำหนดจิตจับอารมณ์
ในรูปกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในรูปฌานแล้วต่อไปก็เพิกรูปกสิณนั้นเสีย กำหนดจิตให้ว่างเปล่าจากอารมณ์
เป็นปกติ จนอารมณ์จิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
          ฌานนี้ท่านว่า มีวิญญาณก็ไม่ใช่ หรือจะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ สร้างความรู้สึกเหมือนคน
ไม่มีวิญญาณ คือไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งหมด ใครจะชม หรือนินทาว่าร้าย เอาของดีของเลวมาให้
หรือนำไป หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ป่วย รวมความว่าเหตุของความทุกข์ความสุขใดๆ ไม่มีความ
ต้องการรับรู้ ทำเสมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบบในสมัยนี้เคยพบ อาจารย์กบ วัดเขาสาริกา
องค์หนึ่ง ท่านเจริญแบบนี้ วิญญาณท่านมี ท่านรู้หนาวรู้ร้อน แต่ท่านทำเหมือนไม่รู้ ฝนตกฟ้าร้อง
ท่านก็นอนเฉย ลมหนาวพัดมาท่านไม่มีผ้าห่ม ท่านก็นอนเฉย ใครไปใครมาท่านก็เฉย ทำไม่รู้เสีย
บางรายไปนอนเฝ้าตั้งสามวันสามคืน ท่านไม่ยอมพูดด้วย ถึงเวลาออกมาจากกุฎี ท่านก็คว้าฆ้องตี
โหม่งๆ ปากก็ร้องว่า ทองหนึ่งๆๆๆ แล้วท่านก็นอนของท่านต่อไป คนเลื่อมใสมากถึงกับตั้งสำนักศิษย์
หลวงพ่อกบขึ้น เดี๋ยวนี้คณะศิษย์หลวงพ่อกบมากมาย สามัคคีกันดีเสียด้วย ทำอะไรก็พร้อมเพรียงกันทำ
น่าสรรเสริญ ก่อนที่จะกำหนดจิตคิดว่าไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของจิต ท่านก็ต้องยกรูปกสิณ จับนิมิต
ในรูปกสิณเป็นอารมณ์ก่อนเหมือนกัน การเจริญในอรูปฌานนี้ ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้รูปฌานในกสิณ
คงจะคิดว่ายากมาก ความจริงถ้าได้ฌานในรูปกสิณแล้วไม่ยากเลย เพราะอารมณ์สมาธิก็ทรงอยู่
ขั้นฌาน ๔ เท่านั้นเอง เพราะช่ำชองมาในกสิณสิบแล้ว มาจับทำเข้าจริงๆ ก็จะเข้าถึงจุดภายในสามวัน
เจ็ดวันเท่านั้น
          เมื่อทรงอรูปฌานได้ครบถ้วนแล้ว ก็ฝึกเข้าฌานออกฌาน ตั้งแต่กสิณมา แล้วเลยเข้าอรูปฌาน
ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอภิญญาหก สำหรับอภิญญาหรือญาณในวิชชาสามย่อมใช้ให้เป็น
ประโยชน์ได้ตั้งแต่ทรงฌานโลกีย์ สำหรับปฏิสัมภิทาญาณคือคุณพิเศษ ๔ ข้อในปฏิสัมภิทาญาณนี้
จะได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตตผลแล้ว ในขณะที่ทรงฌานโลกีย์อยู่ คุณพิเศษ  ๔ อย่างนั้นยังไม่ปรากฏ
ปฏิสัมภิทาญาณแปลกจากเตวิชโชและฉฬภิญโญตรงนี้

บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #10 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 04:21:06 PM »

ตามอ่านอยู่นะครับพี่ต่าย

ขอบใจมากครับพี่ ได้ความรู้เพิ่มเติม อีกเยอะเลยครับผม

ปกติแล้ว พระอรหันต์ประเภทสุดท้าย ปฏิสัมภิทัปปัตโต 

นี้ยังพอมีให้ได้ไปกราบไหว้ เปล่าครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2011, 11:45:17 PM »

ก็มีนะสายหลวงพ่อชา หลวงพ่อพุธ ใกล้ๆตัวเรานั่นแหละ ดูให้ดีๆ

และก็ยังมีอีกมากโดยเฉพาะทางแถบอีสาน ส่วนใหญ่แล้วท่านก็ปลีกวิเวกไม่ค่อยมาสุงสิงกับเรื่องทางโลกนัก


 
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
the suffering
Global Moderator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 9
กระทู้: 859


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: กันยายน 13, 2011, 10:59:55 PM »

เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ในอนิจจังของสังขารทั้งหลาย ได้  ซี

จึง จะ เริ่มชิดใกล้

ที่ ว่าๆกันมานั่นนะ  ว่าไหมละ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: