KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryบทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ7 หลักธรรม บ่งชี้ความเป็นคนดีที่แท้จริง
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: 7 หลักธรรม บ่งชี้ความเป็นคนดีที่แท้จริง  (อ่าน 16984 ครั้ง)
Uzumaki Naruto
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 4
กระทู้: 33


❤ ผมรักในหลวงนะฮ๊าฟ ❤


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: มิถุนายน 22, 2012, 04:17:04 AM »



      คำว่า สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษธรรม ที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของคนดี คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง คนที่มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือมีพฤติกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือเรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นผู้มีจิตสงบระงับจากบาปอกุศลธรรม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน
      
      ในที่นี้มีกุศลธรรม 7 ประการเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทราบได้ชัดว่า เมื่อมีประจำในจิตสันดานของบุคคลใด บุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษ ย่อมได้รับการขนานชื่อว่า สัตบุรุษ
      
      กุศลธรรม 7 ประการนี้เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 มีอธิบายดังนี้
      
      1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง ความเป็นผู้รู้หลัก คือความเป็นผู้รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่นรู้ว่า เมื่อคนเราขาดอิทธิบาท 4 ในการประกอบอาชีพทำมาหากิน หรือในการทำกิจต่างๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความเป็นผู้รู้หลักการและกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินกิจการต่างๆ โดยรู้เข้าใจสิ่งที่ตนจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเหตุผล เช่น ชาวพุทธรู้ว่าหลักธรรมเพื่อการสร้างตนให้มีหลักฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือหลักการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบคืออะไร มีอะไรบ้าง ผู้นำประเทศทราบถึงหลักการปกครองประเทศที่ดีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่มุ่งหมายหรือต้องการนั้นๆ เป็นต้น ตลอดจนชั้นสูงสุดคือรู้เท่าทันกฎธรรมดาหรือหลักความจริงของธรรมชาติเพื่อปฏิบัติต่อโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง มีจิตเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ
      
      2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักว่า ผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้ เช่น เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทำมาหากินในทางสุจริต การศึกษาเล่าเรียน หรือในการทำกิจต่างๆ ก็รู้ว่าเป็นเพราะขาดหลักอิทธิบาท 4 กล่าวคือ ไม่มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการประกอบอาชีพนั้น ในการศึกษาเล่าเรียนนั้น หรือในการทำงานนั้น เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักอรรถคือ ความหมายหรือความมุ่งหมายของหลักการที่ตนต้องปฏิบัติ โดยมีความเข้าใจประโยชน์ที่ประสงค์หรือวัตถุ ประสงค์ของกิจการที่ตนทำ รู้ว่าสิ่งที่ตนทำอยู่อย่างนั้นๆ ดำเนินชีวิตอย่างนั้นเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร หรือควรจะได้บรรลุผลอะไร รวมถึงรู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่อง จากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือพุทธศาสนสุภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร การที่ตนกระทำอยู่อย่างนั้นมีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น ตลอดจนถึงขั้นสูงสุดคือรู้ความหมายของคติธรรมดา และประโยชน์ที่เป็นจุดหมายแท้จริงของชีวิต
      
      3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรม เป็นต้น ของตนว่ามีสภาพอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมและทำการต่างๆ ให้สอดคล้องถูกจุดที่จะสัมฤทธิ์ผล ตลอดจนพร้อมแก้ไขปรับปรุงตนให้เจริญงอกงามถึงความสมบูรณ์อันยิ่งขึ้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความสามารถมองตนเองออก ว่าตนเองเป็นใคร มีฐานะและภาวะอย่างไร กำลังต้องการอะไร เมื่อมองออกแล้วก็พยายามปรับตนเองให้เป็นอย่างที่ตนเป็นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พยายามวางตนให้เหมาะสมกับฐานะและภาวะของตนและใช้กำลังความรู้ความสามารถของตนพัฒนาตนเองให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการในทางที่ชอบ รวมถึงความรู้จักหยุดยั้งความต้องการอันเกินขอบเขตกำลังความรู้ความสามารถของตน และหยุดยั้งการแสวงหาอันเกินกำลังหรือในทางที่มิชอบธรรม อันจะทำให้ตนเดือดร้อนในภายหลัง
      
      4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆ เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคและการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักความพอเหมาะในการพูด การปฏิบัติกิจและทำการต่างๆ ตลอดจนการพักผ่อนนอนหลับและการสนุกสนานรื่นเริงทั้งหลาย ทำการงานทุกอย่างด้วยความเข้าใจวัตถุประสงค์เพื่อผลดีแท้จริงที่ พึงต้องการ โดยมิใช่เพียงเพื่อเห็นแก่ความพอใจ ชอบใจ หรือเอาแต่ใจของตน แต่ทำตามความพอดีแห่งเหตุปัจจัย หรือองค์ประกอบทั้งหลายที่จะลงตัวให้เกิดผลดีงามตามที่มองเห็นด้วยปัญญา
      
      ความรู้จักประมาณในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนั้นต้องเป็นไปใน 3 ขณะ คือ ในขณะแสวงหา ในขณะรับ และในขณะบริโภคใช้สอย
      
      โดยความรู้จักประมาณในขณะแสวงหาย่อมเป็นเหตุให้ประกอบอาชีพโดยทางที่ชอบธรรมไม่ใฝ่สูง ทะเยอทะยานจนเกินประมาณ อันจะก่อให้เกิดการแสวงหาในทางทุจริตต่อมา
      
      ความรู้จักประมาณในขณะรับย่อมเป็นที่ยินดีและเลื่อมใสของบุคคลผู้ให้ และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนในภายหลัง ทั้งเป็นที่สรรเสริญของบุคคลผู้อื่นด้วย
      
      ส่วนความรู้จักประมาณในขณะบริโภคใช้สอย โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วบริโภคอาหารหรือใช้สอยพัสดุสิ่งของต่างๆ ให้พอเหมาะพอควร ไม่ให้มากนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ก็จักเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ เช่น เมื่อบริโภคอาหารพอเหมาะพอดี ก็จะก่อเกิดความมีสุขภาพ ดีแก่ร่างกาย และเมื่อร่างกายปราศจากโรคแล้ว หากต้องการฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิหรือให้เกิดปัญญา ก็ทำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
      
      5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจกระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น หรือการรู้จักกาลเวลาในอันที่จะประกอบกิจนั้นๆ เป็นต้นว่า ตนมีหน้าที่การงานจะพึงทำหลายอย่างด้วยกัน จะเป็นกิจการทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม จะต้องแบ่งเวลาให้เหมาะแก่กิจที่จะต้องทำนั้นๆ การงานจึงจะดำเนินไปโดยเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ไม่ยุ่งยิ่งยุ่งเหยิง คั่งค้างอากูล ตลอดจนรู้จักกะเวลาและวางแผนการใช้เวลาอย่างได้ผล
      
      6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุม รู้จักสังคม คือรู้จักว่า ชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเหมาะกับสังคมนั้นเพื่อให้สามารถเข้ากับชุมชนนั้น โดยไม่เก้อเขินหรือประหม่า เช่น เมื่อไปร่วมพิธีงานศพจะต้องแต่งกาย จะพูดและจะทำอย่างไร เมื่อเข้าวัดไปในพิธีทำบุญต่างๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะเหมาะสม จะวางตัวอย่างไรเมื่อพูดคุยกับพระสงฆ์ เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความรู้การอันควรประพฤติปฏิบัติในถิ่นที่ชุมนุมและต่อชุมชนนั้นว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหาควรทำกิริยาอย่างนี้ ควรต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ มีระเบียบวินัยอย่างนี้ มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างนี้ มีความต้องการอย่างนี้ ควรเกี่ยวข้อง ควรสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ควรรับใช้ ควรบำเพ็ญประโยชน์อย่างนี้ๆ เป็นต้น
      
      7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักและเข้าใจความแตกต่างแห่งบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ว่าควรคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะได้ผลดี เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ความสามารถอ่านคนออก โดยรู้จักบุคคลแต่ละคนว่ามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร มีความสามารถในด้านใด มีคุณภาพเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ใครควรคบหรือไม่ควรคบอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักลักษณะนิสัยของบุคคลนั้นๆ เป็นอย่างไรแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติต่อเขาได้อย่างถูกต้อง
      
      สัปปุริสธรรมทั้ง 7 ข้อนี้ สรุปเป็นคำจำกัดให้กำหนดง่ายๆ ว่า รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้สังคม รู้บุคคล เป็นกุศลธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี โดยไม่ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด ฐานะ ความเป็นอยู่ หรือความมีการศึกษาสูง บุคคลใดเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักความพอดี รู้จักเวลา รู้จักชุมชนหรือสังคม และรู้จักเลือกคบคน บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเป็นคนดี เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ หรือเรียกว่า เป็นคนเต็มคน คนดีที่แท้ ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าอย่างแท้จริงของมนุษยชาติ

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า

Bangkok Hotel คู่มือการเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพแบบถึงกึ๋น
iPhone สาวกไอโฟนจัดเต็ม...เว้ยเฮ้ย
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 967


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 23, 2012, 09:44:45 PM »


เยี่ยมเลยครับ สัปปุริสธรรม
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: