(ต่อครับ)
ส่วนบุคคลบางประเภท พระพุทธองค์ก็ทรงใช้อุบายเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ง่ายๆ เช่นพระจูฬปันถกะผู้มีวาสนาบารมีแก่กล้า ใกล้จะได้เป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว แถมไม่ใช่อรหันต์ธรรมดา ยังจัดเป็นอสีติมหาสาวกองค์หนึ่งอีกด้วย ทว่าอกุศลกรรมเก่ามาขวางปัญญา พูดง่ายๆคือท่านหัวทึบเป็นอย่างยิ่ง ใช้เวลา 4 เดือนท่องคาถาเดียวยังไม่สำเร็จ กระทั่งพระพี่ชายไล่ให้สึกไปเสีย แต่ด้วยพุทธญาณเล็งเห็นนิสัยอรหัตต์ในท่าน พระพุทธองค์จึงมาห้ามปรามไว้ ปลอบประโลมจนคลายโศก และอนุเคราะห์ธรรมด้วยการประทานผ้าเช็ดพระบาท กับทั้งตรัสสั่งให้ลูบไปโดยทำไว้ในใจเรื่อยๆว่าผ้าสำหรับเช็ดสิ่งสกปรก พระจูฬปันถกะท่านเล่าเองว่าเมื่อฟังพระดำรัสแล้วก็เกิดความยินดีในศาสนา พอปฏิบัติตามก็เกิดสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่กับความเห็นผ้าขาวหมองไปเพราะสิ่งสกปรกคือกายของท่านนั้นเอง กระทั่งเกิดความปล่อยวางถึงระดับอรหัตตภูมิในเวลาไม่เนิ่นช้า กลายสภาพจากพระผู้มีปัญญาทึบเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญายิ่งใหญ่ กลับจากหลังมือเป็นหน้ามือไปจนได้
เมื่อแก่นสารของพุทธศาสนาคือทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นระดับที่เกิดปรากฏการณ์ผลาญกิเลสเป็นมรรคเป็นผล กับทั้งอุบายเฉพาะอันจะทำให้มรรคผลเกิดกับแต่ละบุคคลก็มีอยู่ เราจึงควรพิจารณาอย่างดีว่าตรงไหนที่เหมือน ตรงไหนที่ต่าง ตรองแล้วจะพบว่าแม้รูปแบบแตกต่างกันภายนอก แต่ภายในนั้นก็คืออาการที่จิตสลัดหลุดจากอุปาทานว่าโน่นคือตัวนี่คือตนเหมือนๆกันนั่นเองคุณภาพของจิตที่สลัดอุปาทานอันเหนียวแน่นว่านี่เป็นเรานั่นเป็นท่านได้อย่างเด็ดขาดนั้น แน่นอนว่าต้องไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่ระดับ คิดได้ หรือ เห็นคล้อยตามจริง จากการอ่าน การฟัง แต่ต้องเป็นจิตในระดับ ใหญ่ และ มีความประจักษ์แจ้งลึกซึ้ง ซึ่งของพรรณนี้ย่อมไม่มาหาเราเอง ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องมีเหตุปัจจัย มีการสั่งสมอันพอดีกับธรรม
สำหรับเราท่านที่ไม่มีวาสนาพอจะรับ ทางลัด จากพระพุทธองค์โดยตรง ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยคืบคลานสู่การเข้าถึงธรรมตาม ทางตรง อันได้แก่แนวปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อย่างรัดกุมเพื่อให้พระสัทธรรมยั่งยืน และแผ่ออกไปในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าเพื่อความรัดกุมนั้น จะไม่มีอะไรง่ายแบบพลิกมือก็สำเร็จหรือเอื้อมหน่อยก็คว้าได้ จะไม่มีอะไรสั้นแบบอยู่ดีๆใครเคาะศีรษะหรือทะลวงจุดทึบให้แล้วกิเลสหลุดทันใจ
เราจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบจากหลักแหล่งที่เชื่อได้มากสุดว่าเป็นพระพุทธวจนะจริง ถึงแม้มีครู มีอาจารย์ที่รู้สึกเคารพนับถือสักเพียงไหน ก็ต้องทำไว้ในใจว่าครูของเรา อาจารย์ของเราก็ต้องพึ่งพระพุทธบารมีเหมือนกัน พูดตามพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พูดเองเออเองไม่ได้เหมือนกัน ทุกคนจะสบายใจได้ว่าไม่หลงทาง ถ้าตามรอยคนนำทางแรกสุดที่ทุกคนเห็นพ้องว่าท่านถึงจุดหมายมาแล้ว
บางคนอาจด่วนสรุปว่าอย่างนี้เห็นทีรอเกิดในพุทธกาลหน้าจะดีกว่า จะได้มีทางลัด ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก นี่นับว่าเป็นความคิดประมาทประการหนึ่ง ความทุกข์มีอยู่ในปัจจุบันก็ปล่อยปละละเลย ทางดับทุกข์มีอยู่ในปัจจุบันก็ทอดธุระเสียแล้ว ทุกข์ข้างหน้าจะยิ่งกว่านี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ หนทางดับทุกข์จะมาถึงเราในอนาคตแน่หรือเปล่าก็ไม่รู้
อันที่จริงแล้วใช่แต่คนยุคเราหรอกที่ต้องขวนขวาย ต้องดิ้นรน ต้องเพียรพยายามไต่เต้ากันทุลักทุเลในการดำเนินตามทางสู่ความพ้นทุกข์ คนยุคพุทธกาลส่วนใหญ่ก็ดำเนินตามวิถีทางปฏิบัติเช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากหลักฐานมากมายในพระไตรปิฎก ว่ามีภิกษุและภิกษุณีจำนวนหนึ่ง ขอรับแนวทางปฏิบัติจากพระพุทธองค์แล้วหลีกเร้นไปเก็บตัวตามป่าเขา ใช้เวลาบำเพ็ญกันนาน ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน หลายรายเกิดความท้อแท้ ซมซาน โอดครวญ อยากสึกหาลาเพศ ซึ่งพิจารณาแล้วก็หาได้ต่างจากที่เกิดขึ้นตามจริงในปัจจุบันเลย
ยุคเราลำบากกว่าพุทธกาลหน่อยหนึ่ง ตรงที่ไม่มีพระพุทธเจ้าแบบเป็นตัวบุคคลมาชี้ถูกชี้ผิด หรือระบุตรงๆว่าใครปฏิบัติมาถึงไหน ควรจะพัฒนาให้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร แม้พระศาสดาจะตรัสสั่งเสียให้คำสอนของพระองค์เป็นตัวแทนสืบไป ก็หาชาวพุทธได้น้อยนักที่จะอ่านคำสอนดั้งเดิมของท่านอย่างทั่วถึงด้วยความเคารพ แถมอ่านคัมภีร์เล่มเดียวกันก็อาจตีความแตกต่างกัน คิดเห็นไม่ลงรอยกัน
สติปัฏฐาน 4 และความเบิกบาน 4 แง่มุมเพื่อให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพของจิตที่เข้าถึงแก่นของพระศาสนา เราลองตั้งมุมมองแบบรวบรัดกันทีเดียว คือคิดว่าจิตของพระอรหันต์ก็คือสภาวะหนึ่ง ถ้าบรรยายให้พออนุมานได้ ควรจะมีคุณสมบัติหรือภาพลักษณ์ประการใด
ก่อนจะอนุมานก็ต้องมีเกณฑ์ในการอนุมาน เช่นสภาวะอันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งสภาวะเหล่านี้พอจะทำความเข้าใจจากประสบการณ์แบบหยาบได้ในปุถุชนทั่วไป
แต่หากจะทำความเข้าใจความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานของพระอรหันต์ ก็ควรมีหลักเกณฑ์มาซ้อน มาซอยให้ละเอียดลออยิ่งขึ้นไป เกณฑ์นั้นน่าจะได้แก่ผลอันเกิดจากทางดำเนินเข้ามรรคเข้าผลเป็นข้อๆ คือทาน ศีล สมาธิ และปัญญา
ถ้าหากตกลงกันว่าจะอนุมานสภาพจิตอันสมบูรณ์แบบของพระอรหันต์ตามแนวนี้ ก็ควรกล่าวดังนี้
แง่มุมแรก จิตนั้นควรมีความเปิดกว้าง ไม่ปิดแคบ ไม่รู้สึกอึดอัดคับข้องด้วยพิษความเห็นแก่ตัว นอกจากเปิดกว้างแล้วควรมีคุณสมบัติคู่ขนานกัน คือความเยือกเย็นไม่รุ่มร้อนจากการผูกเจ็บ คิดอาฆาตพยาบาทจองเวร อันนี้เข้าข่ายของความมีกระแสจิตไหลไปทางเดียวกับกระแสของทาน เรียกว่าทรัพยทานบ้าง อภัยทานบ้าง ธรรมทานบ้าง เห็นออกมาจากภายในว่าจิตตนเป็นทานจิตอยู่โดยปกติ แง่มุมที่สอง จิตนั้นควรมีความสะอาดผ่องใส ไม่สกปรกรุงรังด้วยความคิดอันเป็นอกุศลประการต่างๆ ไม่มีความอยากทำร้ายใคร อย่าต้องให้ถึงขั้นอยากฆ่า ไม่มีความโลภอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสมบัติ อย่าต้องให้ถึงขั้นอยากลักขโมย ไม่มีความอยากในกามหลงเหลือ อย่าต้องให้ถึงขั้นอยากลักลอบเป็นชู้ ไม่มีความอยากพูดอย่างไร้ประโยชน์ อย่าต้องให้ถึงขั้นอยากโป้ปดมดเท็จ ไม่มีความอยากบริโภคเกินจำเป็น อย่าต้องให้ถึงขั้นอยากกินเหล้าเมายา เห็นออกมาจากภายในว่าจิตตนเป็นศีลจิตอยู่โดยปกติ
แง่มุมที่สาม จิตนั้นควรมีความตั้งมั่น นิ่มนวล ไม่ซัดส่าย ไม่แข็งกระด้าง เพราะจิตขาดจากเหตุแห่งความเคลื่อน อันได้แก่กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดเสียแล้ว จิตจึงจับอยู่เฉพาะสภาวะที่รู้ได้ในปัจจุบัน หรือแม้จะต้องคิด ก็ไม่ติด ไม่หลงเตลิดไปเอาเงาในอดีตหรือภาพลวงในอนาคตมารบกวนคุณภาพจิตได้อีก
แง่มุมสุดท้าย จิตนั้นควรมีสติสมบูรณ์ เบิกบาน เป็นอิสระเต็มที่ เพราะรู้เองโดยไม่ต้องพิจารณา รู้เองโดยไม่ต้องระวังจะหลงไปว่ามีสภาวะใดสภาวะหนึ่งเป็นตัวเป็นตน เป็นที่น่าคาดหวัง เป็นที่น่าพิศวาส แม้กระทั่งความหมายรู้หมายจำ ความรู้สึกนึกคิดและตัวของจิตเอง ยังแจ่มแจ้งแทงตลอดว่าเป็นอนัตตา จะยังมีภาวะใดให้ยึดมั่นถือมั่นได้อีก
ลองอนุมานตามมีตามเกิด ว่าถ้ารวมเอาทุกแง่มุมที่กล่าวมาข้างต้น มารวมไว้ในจิตของบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งไม่เคลื่อนจากความเป็นเช่นนั้นเลย จะน่าปรารถนาและคู่ควรแก่การเพียรทำให้ถึงพร้อมหรือไม่
ขณะเดียวกันเราก็สามารถใช้ความเบิกบานอันเป็นคุณสมบัติของจิตพระอรหันต์ในแต่ละข้อมาตรวจสอบตนเองได้ด้วย ว่าเราเองใกล้ความจริงเข้าไปหรือยัง ทั้งในส่วนของความสามารถที่จะตั้งเจตนางดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ และในส่วนของความสามารถที่จะตั้งสติรู้สิ่งที่เป็นอนัตตา
สรุปถ้าหากจะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกันด้วยการ ตั้งมุมมอง เราก็ควรมองให้เห็นว่าจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน การปฏิบัติธรรมก็คล้ายการออกเดินทาง ถ้าเริ่มผิดทิศ ก็จะเสียแรง เสียเวลาเปล่า แต่ถ้าเริ่มถูกทิศ แม้ช้าเหมือนเต่าคลาน ก็ได้ชื่อว่าเขยิบเข้าใกล้จุดหมายปลายทางเข้าไปทุกที
ในการเดินทางนั้น เราเห็นด้วยตาเปล่าว่าภูมิประเทศใกล้เคียงกับจุดหมายหรือยัง แต่ในการปฏิบัติธรรมเราต้องเห็นด้วยจิตซื่อว่ากิเลสคือโลภะ โทสะ และโมหะนั้น ลดลงบ้างหรือยัง