โยม : กราบเรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติเมื่อกี้ เรายังเกี่ยวข้องกับสังคมกับงานโน้นงานนี้ สัญญาอารมณ์มันจะติดเรามา ปฏิบัติมันมาก็ติดเรามาอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร?
หลวงปู่ : เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้ฝึกสติ ฝึกให้มันกล้า มันพอ มันมีกำลัง ถ้าสติของเรามันกล้าพอแล้ว อารมณ์มันจะตามมาได้ที่ไหน ถ้าสติของเราอ่อนแออยู่มันก็ตามมาได้นั่นแหละ นี่ความบกพร่องมันอยู่ที่ตรงนี้ ฝึกสติให้ดีเพื่อกำจัดสัญญาอารมณ์เหล่านั้นไม่ให้ติดตามมา ปล่อยวางทอดอาลัยไว้อย่างนั้น
โยม : ทำอย่างไรจึงจะตัดมันได้เร็ว กลับมาแล้วเสียงหมอลำยังตามมา
หลวงปู่ : เอ้า! ก็ฝึกสติ ที่จะตัดได้เร็วก็เพราะสติมีกำลังมาก ที่ตัดไม่ได้เร็วก็เพราะสติไม่มีกำลัง จะให้ใครมาตัดให้ นอกจากตัวเราตัดเอง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว
โยม : ถ้าเราไม่ไปงาน สังคมก็เสีย มันก็เสียสังคม
หลวงปู่ : ถ้าเรากลัวอยู่อย่างนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยังยึดถืออยู่ในสังคม เรียกว่า ‘อุปาทาน’ ยึดมั่นถือมั่นในสังคม ถ้าหากผู้ที่มีสติแก่กล้าแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีสังคมก็ตาม ไปในสังคมก็ตัดให้ขาดไปเลย
โยม : แต่ที่นี้เรายังทำงานอยู่ เรายังเกี่ยวข้องสังคมอยู่
หลวงปู่ : ทำงานก็สตินั่นแหละจะตัดมัน เราทำงานอยู่ก็ทำ สติของเราก็ต่างหาก ใจของเราก็ต่างหาก งานของเราก็ต่างหากไม่ใช่ใจ ใจของเราต่างหาก งานของเราไม่ใช่ใจ ใจของเราต่างหาก สติของเราต่างหาก เราต้องแยกออกจากกันให้มันได้อย่างนี้ เราจะถือเหมาเอาหมดอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องฉลาด ต้องมีปัญญาแยกส่วนออก อันนี้งาน อันนี้เป็นใจ อันนี้เป็นสติ เราต้องแยกออก ถ้าเรายังถือเป็นอันเดียวกันอยู่มันก็ไม่ได้ ต้องมีการแยกแยะออกจากกัน จะไปเหมาใครได้ ถ้าเหมา เรานั่นแหละเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่น เราไม่รู้เท่าในการในงานมันก็ไปยึดไปถือ มันก็ถือสังคมด้วย สังคมไม่ใช่มรรคผลนิพพาน สังคมเป็นเรื่องของโลกต่างหาก เราจะเอาโลกหรือเอาธรรม เราจะเอามรรคผลหรือเอาโลก ถ้าเอาโลกก็ต้องอยู่กับโลก ถ้าจะเอาธรรมก็ปฏิบัติธรรม ต้องแยกออกจากกันอย่างนี้ มาอยู่กับโลกก็ต้องทำโลก อันนี้เป็นความคิดของเราต่างหาก
สำหรับผู้ที่จะหนีจากโลกไปจริง ๆ โลกก็คือโลกต่างหาก ไม่ใช่จิตใจของเรา เราจะหนีออกจากโลก เราไม่ห่วงอะไรแล้ว ตัดให้มันขาดออกจากใจนี่ เอาอย่างนี้ อย่าไปยึดไปถือว่าสังคมของเรา ถ้าเราไม่มีไม่เข้าสังคมแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะอยู่จะกิน โน่นกลัวตายแล้ว โน่นกลัวว่าจะไม่มีอะไรอยู่อะไรกิน
นั่นพระพุทธเจ้าท่านให้ตัดออก!
ไม่ตายหรอก ถึงแม้จะตัดออกจากสังคมแล้วมันก็ไม่อด เพราะ ‘ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง’ บุคคลผู้ปฏิบัติธรรม พระธรรมย่อมรักษาไม่ให้ตกไปอยู่ในที่ชั่วช้า
นี่เรายังกลัวอยู่กลัวไม่ได้กิน กลัวว่าจะไม่ได้สังคม เอ้า! สังคมมันมีอะไร มีหลายสิ่งหลายอย่างจิปาถะนับไม่ได้ อันนี้มันมาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว เราก็นับชาติภพไม่ไหว ที่ติดอยู่อย่างนี้แต่เราระลึกไม่ได้ ไม่มีบุพเพนิวาสานุสติ นั่งระลึกชาติหนหลังไม่ได้ ก็เพิ่งมารู้ในระยะที่เราเกิดมาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นผู้หลงอยู่ ติดไปครู่หนึ่งแล้วลืมหลังอีก โน่นแค่นั้นยังลืมแล้ว ถ้าพูดถึงชาติภพละก็มันจะไม่ลืมได้ยังไง เพราะเราไม่กำจัดไม่ได้บำเพ็ญติดต่อกัน เราทำเป็นวรรคเป็นตอนเป็นครั้งเป็นคราว มันก็ไม่พอต่อความต้องการของเรา ถ้าเราไปยึดถือว่าสังคมนี่ดีกว่าธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ไหว ก็สังคมเอาไปกินหมดนั่นแหละ เราจะเอาอะไร จะเอาสังคมหรือเอาตนเอง จะยกตนออกจากทุกข์หรือจะยอมตนให้เสวยทุกข์อยู่ กำหนดอย่างนี้ เอาถ่านไฟแดง ๆ วางบนศีรษะของเรา เราจะหยิบออกหรือไม่หยิบออก ถ้าเราฉลาดเรากลัวทุกข์กลัวเจ็บก็ต้องหยิบออกโดยเร็ว ถ้าเราไม่กลัวเราก็ยอมให้ไฟนั้น ถ่านไฟก็ไหม้เราอยู่ตลอดเป็นทุกข์อยู่ตลอด นี่ฉันใดเราต้องเป็นผู้ฉลาด หาทางที่จะแก้ไขออก สิ่งเหล่านี้สิ่งอันไม่ใช่ธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
จากหนังสือกมโลผู้งามดั่งดอกบัว