KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานพุทธตำนานพระปริตร ตอน กรณียเมตตสูตร: พระสูตรว่าด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิต
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธตำนานพระปริตร ตอน กรณียเมตตสูตร: พระสูตรว่าด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิต  (อ่าน 14659 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 13, 2015, 11:21:25 AM »



พุทธตำนานพระปริตร ตอน กรณียเมตตสูตร: พระสูตรว่าด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิต
(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ และ อารัทธวิปัสสกภิกขุ อรรถกถาขุททกนิกาย ธรรมบท)
สมัยหนึ่ง ใกล้ดิถีเข้าจำพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจากชาวเมืองต่างๆ จำนวนมาก
รับกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประสงค์จะเข้าจำพรรษาในที่นั้นๆ จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ
อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ

อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต,
กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต,
กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต,
กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต,
กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต,
กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต.

ลำดับนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะและโคจรคาม
เดินไปตามลำดับ ได้พบภูเขาพื้นศิลาคล้ายมณีสีคราม ประดับด้วยราวป่าสีเขียวมีร่มเงาทึบเย็น
มีภูมิภาคเกลื่อนด้วยทรายเสมือนแผ่นเงินข่ายมุกดา ล้อมด้วยชลาลัยที่สะอาดเย็นดี ติดเป็นพืดเดียวกับป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ.

ภิกษุเหล่านั้นพักอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่างทำสรีรกิจแล้ว ก็พากันเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ๆ นั่นเอง
หมู่บ้านประกอบด้วยตระกูล ๑,๐๐๐ ตระกูล ซึ่งอาศัยอยู่กันหนาแน่นในหมู่บ้านนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธาปสาทะ
พวกเขาเห็นภิกษุทั้งหลายเท่านั้นก็เกิดปีติโสมนัส เพราะการเห็นบรรพชิตในปัจจันตประเทศหาได้ยาก นิมนต์ภิกษุเหล่านั้นให้ฉันแล้ว
 ก็วอนขอว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาสเถิด แล้วช่วยกันสร้างกุฏิสำหรับทำความเพียร ๕๐๐ หลัง
 จัดแจงเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีเตียง ตั่ง หม้อน้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้น ณ ที่นั้น.

วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านตำบลอื่น. ในหมู่บ้านแม้นั้น มนุษย์ทั้งหลายก็บำรุงอย่างนั้นเหมือนกัน อ้อนวอนให้อยู่จำพรรษา.
ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อไม่มีอันตราย จึงพากันเข้าไปยังราวป่านั้น เป็นผู้ปรารภความเพียรตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ตีระฆังบอกยาม เป็นผู้มากด้วยโยนิโสมนสิการอยู่จึงเข้าไปนั่งที่โคนไม้.

รุกขเทวดาทั้งหลายถูกเดชของเหล่าภิกษุผู้มีศีลกำจัดเดชเสียแล้ว ก็ลงจากวิมานของตนๆ พาพวกลูกๆ เที่ยวระหกระเหินไป เปรียบเหมือนเมื่อพระราชา หรือราชมหาอมาตย์ ไปยังที่อยู่ของชาวบ้าน ยึดโอกาสที่ว่างในเรือนทั้งหลายของพวกชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ได้แต่มองดูอยู่ไกลๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ฉันใด เทวดาทั้งหลายต้องละทิ้งวิมานของตนๆ กระเจิดกระเจิงไป ได้แต่มองดูอยู่ไกลๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายเข้าพรรษาแรกแล้ว จักอยู่กันตลอดไตรมาสแน่ แต่พวกเราไม่อาจจะพาพวกเด็กอยู่อย่างระหกระเหินได้นานๆ เอาเถิด พวกเราจักแสดงอารมณ์ที่น่ากลัวแก่ภิกษุทั้งหลาย. เทวดาเหล่านั้นจึงเนรมิตรูปยักษ์ที่น่ากลัว ยืนอยู่ข้างหน้าๆ เวลาภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมตอนกลางคืน และทำเสียงที่น่าหวาดกลัว เพราะเห็นรูปเหล่านั้น และได้ยินเสียงนั้น หัวใจของภิกษุทั้งหลายก็กวัดแกว่ง ภิกษุเหล่านั้นมีผิวเผือดและเกิดเป็นโรคผอมเหลือง. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่อาจทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้ เมื่อจิตไม่มีอารมณ์เดียว สลดใจบ่อยๆ เพราะความกลัว สติของภิกษุเหล่านั้นก็หลงเลือนไป แต่นั้น อารมณ์ที่เหม็นๆ ก็ประจวบแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งมีสติหลงลืมแล้ว, มันสมองของภิกษุเหล่านั้น ก็เหมือนถูกกลิ่นเหม็นนั้นบีบคั้น โรคปวดศีรษะก็เกิดอย่างหนัก. ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่ยอมบอกเรื่องนั้นแก่กันและกัน.

ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อภิกษุทุกรูปประชุมกันในเวลาบำรุงพระสังฆเถระ. พระสังฆเถระก็ถามว่า ผู้มีอายุ เมื่อพวกท่านเข้าไปในราวป่านี้ ผิวพรรณดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเหลือเกินอยู่ ๒-๓ วัน ทั้งอินทรีย์ก็ผ่องใส แต่บัดนี้ ในที่นี้พวกท่านซูบผอม ผิวเผือด เป็นโรคผอมเหลือง ในที่นี้พวกเธอไม่มีสัปปายะหรือ.

ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านขอรับ ตอนกลางคืนกระผมเห็นและได้ยินอารมณ์ที่น่ากลัวอย่างนี้ๆ สูดแต่กลิ่นเช่นนี้ ด้วยเหตุนั้น จิตของกระผมจึงไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ. ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปจึงพากันบอกเรื่องนั้น โดยอุบายนี้เหมือนกัน.

พระสังฆเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการเข้าจำพรรษาไว้ ๒ อย่าง ก็เสนาสนะนี้ไม่เป็นสัปปายะแก่พวกเรา มาเถิดผู้มีอายุ พวกเราจะพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นๆ

ภิกษุเหล่านั้นรับคำพระเถระว่า ดีละขอรับ ทุกรูปก็เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวร ไม่บอกกล่าวใครๆ ในตระกูลทั้งหลาย พากันจาริกไปทางกรุงสาวัตถี ก็ถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับแล้ว ก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา เหตุไร พวกเธอจึงยังจาริกกันอยู่เล่า. ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึก ก็ไม่ทรงเห็นเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับภิกษุเหล่านั้นทั่วชูมพูทวีป โดยที่สุด แม้แต่เพียงตั่งมี ๔ เท้า ดังนี้ จึงตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับพวกเธอไม่มีดอก พวกเธออยู่ในที่นั้นนั่นแหละจักบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละอยู่กันเถิด แต่ถ้าว่า พวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้. ด้วยว่าพระปริตรนี้จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกรรมฐานสำหรับพวกเธอ ดังนี้แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้.

แต่อาจารย์พวกอื่นอีกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ อยู่กันเถิด แล้วจึงตรัสว่า อนึ่งเล่า ภิกษุผู้อยู่ป่าควรรู้จักบริหาร. บริหารอย่างไร. บริหารอย่างนี้คือ แผ่เมตตา ๒ เวลา คือทำเวลาเย็นและเช้า ทำพระปริตร ๒ เวลา เจริญอสุภ ๒ เวลา เจริญมรณัสสติ ๒ เวลา และนึกถึงมหาสังเวควัตถุ ๘ ทั้ง ๒ เวลา

ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อบายทุกข์ ๔ ชื่อมหาสังเวควัตถุ ๘.

อีกนัยหนึ่ง ชาติชราพยาธิมรณะ ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ๑ ทุกข์มีการแสวงอาหารเป็นมูล ในปัจจุบัน ๑.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบอกการบริหารอย่างนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระสูตรนี้เพื่อเป็นเมตตา เพื่อเป็นพระปริตรและเพื่อฌานอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนาแก่ภิกษุเหล่านั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจบเทศนาอย่างนี้แล้วตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอยู่ในราวป่านั้นนั่นแหละ และจงเคาะระฆังในวันธรรมสวนะ ๘ วันต่อเดือน แล้วจงสวดพระสูตรนี้ จงทำธรรมกถากล่าวธรรม สนทนาธรรม อนุโมทนากัน จงซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งกรรมฐานนี้นี่แหละ พวกอมนุษย์แม้เหล่านั้นจักไม่แสดงอารมณ์น่าสะพึงกลัวนั้น จักเป็นผู้หวังดี หวังประโยชน์แก่พวกเธอแน่แท้

ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะ กราบถวายบังคมแล้ว ทำประทักษิณ ไปในราวป่านั้นแล้วทำตามที่ทรงสอนทุกประการ. เทวดาทั้งหลายเกิดปีติโสมนัสว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ช่างหวังดีหวังประโยชน์แก่พวกเรา. ก็พากันเก็บกวาดเสนาสนะเอง จัดแจงน้ำร้อน นวดหลัง นวดเท้า จัดวางอารักขาไว้ ภิกษุแม้เหล่านั้นก็พากันเจริญเมตตา ทำเมตตานั้นให้เป็นบาท เริ่มวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัต อันเป็นผลเลิศภายในไตรมาสนั้นนั่นเองหมดทุกรูป ปวารณาด้วยวิสุทธิปวารณา ในวันมหาปวารณา ออกพรรษาแล.

พระตถาคตผู้เป็นเจ้าแห่งธรรม ผู้ทรงฉลาดใน ประโยชน์ ตรัสกรณียเมตตสูตรอันมีประโยชน์ด้วย ประการฉะนี้.

ภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาบริบูรณ์ ได้รับความสงบ แห่งหฤทัยอย่างยิ่ง ก็บรรลุสันตบท. เพราะฉะนั้นแล วิญญูชนผู้ประสงค์จะบรรลุ สันตบทอันเป็นอมตะ ที่น่าอัศจรรย์ อันพระอริยเจ้า รักอยู่ ก็พึงทำกรณียะอันมีประโยชน์ ต่างโดยศีลสมาธิ ปัญญาอันไร้มลทิน ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เทอญ.

บทสวด
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
บทขัดกะระณียะเมตตะสุตตัง
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนังยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโตสุขัง
สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติเอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

กะระณียะเมตตะสุตตัง
กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะสักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ
อะนะติมานีสันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติสันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ
กุเลสุ อะนะนุคิทโธนะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุงสุขิโน วา เขมิโน โหตุ
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสาทีฆา วา เย
มะหันตา วา มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลาทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเรภูตา
วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตานะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง
กิญจิพยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะมาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา
เอกะปุตตะมะนุรักเขเอวัมปิ สัพพะภุเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณังอุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง
อะสะปัตตังติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธเอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน กาเมสุ วิเนยยะ
เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ ฯ

คำแปล
ภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาบริบูรณ์ ได้รับความสงบ แห่งหฤทัยอย่างยิ่ง ก็บรรลุสันตบท. เพราะฉะนั้นแล
วิญญูชนผู้ประสงค์จะบรรลุ สันตบทอันเป็นอมตะ ที่น่าอัศจรรย์ อันพระอริยเจ้า รักอยู่ ก็พึงทำกรณียะอันมีประโยชน์
ต่างโดยศีลสมาธิ ปัญญาอันไร้มลทิน ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เทอญ.กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์
ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบแล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญเป็นผู้ตรง
ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา

มีอินทรีย์อันสงบระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ
ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่าขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม
มีตนถึงความสุขเถิดสัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพีและสัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่
ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็นอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิดขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกันเพราะความกริ้วโกรธ
เพราะความเคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใดกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์
พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้นก็กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้นทั้งเบื้องบน
เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี
พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร
ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยทัศนะ
กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออก ได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกเลย

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 13, 2015, 11:34:06 AM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: ตุลาคม 13, 2015, 11:21:59 AM »

ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก Buddha Thailand
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: