ต้นเกด (Manikara hexandra (Roxb.) Dubard)ต้นเกด หรือที่ชาวฮินดู เรียกว่า "ครินี" หรือ "ไรนี" นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับ
อยู่ใต้ต้นจิกเป็นเวลาครบ 7 วันแล้ว ก็เสด็จไปประทับต่อที่ใต้ต้นเกดอีกเป็นเวลา 7 วัน
เกด เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) ละมุด (Manikara) ในวงศ์ (Family) ไม้ขนุนนก (Sapotaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง เปลือกแตกเป็นสะเก็ดสีดำ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เสี้ยนสน แต่เหนียวและ แข็งมาก กิ่งมักคดงอเป็นข้อศอก เรือนพุ่มเป็นกลุ่มกลม ไม่ผลัดใบ ต้นเล็กจะมีกิ่งลักษณะคล้ายหนาม มีใบติดเวียนกัน กันเป็นกลุ่มตามปลาย ๆ กิ่ง ปลายหนามลำต้นยังเล็กอยู่ ถ้าสับเปลือกดูจะมียางขาวซึมออกมา ใบ รูปไข่กลับ ปลายใบผายกว้าง และมักหยักเว้าเข้าใบจะเรียวสอบมาทางโคนใบ เนื้อใบละเอียดเป็นมันทางด้านบนและ มักเป็นคราบขาวทางด้านล่างเป็นแขนงใบมักขนานกันและค่อนข้างถี่ ดอกออกเป็นกระจุก ๆ ละ 3 ? 5 ดอก ตามง่ามใบของกิ่งแขนง มีสีเหลืองอ่อนกลิ่นหอม ดอกบานจะกว้างประมาณ 0.7 ซม. กลีบดอกเป็นฝอยเล็ก ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ผล กลม โต ประมาณ 1 ? 1.5 ซม. มีเนื้อเยื่อหุ้ม ใช้รับประทานได้ มีรสหวาน
เกด พบขึ้นทั่วไปตามป่าที่มีพื้นเป็นดินทราย และดินปนหิน ในสภาพป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย มักเป็นพันธุ์ไม้หลักตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่เป็นเขาหินปูน ในประเทศไทยพบมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป และมีมากตามเกาะต่าง ๆ ในอ่าวไทย ชาวประมงนิยมเอาไม้เกดมาทำเรือ โดยใช้เป็นไม้สลักแทนตะปูสำหรับ ติดกระดานกับโครงของเรือ เพราะถ้าใช้ตะปูจะเป็นสนิมง่ายไม่ทนทาน นอกจากนี้ยังนิยมเอาผลแก่มาใช้รับประทาน เป็นของหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในการแพร่พันธุ์ ใช้เมล็ดเพาะ ไม่ชอบดินเหนียว และต้องการแสงมาก
จากการที่ต้นเกดชอบขึ้นในที่แห้งแล้ง ดินเป็นทรายไม่ชื้นแฉะ ก็อาจสัณนิษฐานได้ว่าพระพุทธเจ้าประสงค์จะ ทรงย้ายจากถิ่นที่มีความชุ่มชื้น เพราะฝนตกหนักไปสู่ที่ดอน และเกดมักชอบขึ้นเป็นกลุ่มทำให้มีเรือนยอด เป็นที่พอกำบังแดดได้ และเป็นช่วงที่ผลเกดสุก พอจะใช้รับประทานบำบัดความหิวได้