ตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.)ตะเคียนทอง ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทำยมกปาฏิหารย์ ณ เมืองสาวัตถี ฝ่ายเดียรถีย์ก็จะทำแข่งบ้าง ได้เตรียมกระทำมณฑลมีเสา ซึ่งทำด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงด้วยดอกนิลอุบล และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า สิริคุตถ์หลอกให้พวกนิครนต์ อาจารย์ของครหพินน์ตกลงในหลุมอุจจาระ ครหพินน์จึงคิดที่จะแก้แค้นเอากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาจารย์ของสิริคุตถ์ โดยทำหลุมไฟ ซึ่งใช้ไม้ตะเคียนเป็นเชื้อเพลิง ทำกระดานกลปิดไว้ที่ปากหลุม แต่พอพระพุทธเจ้าตกไปจริงก็มีดอกบัว มารองรับพระบาท พระพุทธเจ้าจึงมิเป็นอันตรายแต่อย่างใด
ตะเคียน เป็นพันธุ์ไม้สกุล Hopea รวมอยู่ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่แพ้ไม้ยางหรือไม้ยูง ไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกจะเรียบ แต่พอต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวย กิ่งอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อละเอียด ใบรูปไข่แกม รูปหอกเกลี้ยงเป็นมัน ลักษณะคล้ายใบตะเคียนชันตาแมว แต่ในตะเคียนทองมีข้อสังเกตได้ตรง ที่ง่ามแขนงใบที่ติดกับเส้นกลางใบ มักมีตุ่มหูดเกลี้ยง ๆ ติดอยู่เสมอ ดอกเล็ก ๆ สีขาวกลิ่นหอม ออกรวมกัน เป็นช่อโตๆ ตามง่ามใบ ดอกจะเรียงกันเป็นแถวบนก้านแขนงช่อ ช่อจะมีขนเทา ๆ ทั่ว ๆ ไป ทั้งกลีบดอก และกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ ผล รูปกระสวยเล็ก ๆ มีปีกยาว 2 ปีก และปีกสั้น 3 ปีก ปีกยาวแต่ละปีกมีเส้นตามยาว 7 เส้น เป็นพันธุ์ไม้ในเขตมรสุมของเอเชีย ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มและชุ่มชื้น เช่น ตามชายหนอง คลอง บึง ในบ้านเมืองเรา ตะเคียนสามารถขึ้นได้ทุกภาค จึงมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ เช่น กะกี้ โกกี้ แคน จะเคียน จูเค้ โซเก ตะเคียน ตะเคียนใหญ่ และไพร เป็นต้น ในช่วงแรกไม่ชอบแดดจัดถ้านำต้นเล็กมาปลูก ในที่โล่ง ไม่มีร่มเงาจะไม่ค่อยเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ เมล็ดควรจะเก็บจากต้น คือ สังเกตุพอเห็นปีกเริ่มเป็นสีน้ำตาลก็เก็บได้เลย แล้วรีบนำมาเพาะทันที หากทิ้งไว้นานเปอร์เซ็นต์การงอก จะน้อยมาก ไม้ตะเคียนนับว่ามีประโยชน์สำหรับสิ่งก่อสร้าง เช่น ทำเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้านและเครื่องมือ เครื่องใช้ในการกสิกรรมมาก เพราะเนื้อไม้สวยทนทานต่อภูมิอากาศได้ดีมาก
เนื่องจากตะเคียนเป็นไม้ใหญ่มีอายุยืนนาน และชอบอยู่ในที่ชุ่มชื้น จึงทำให้เกิดนิยายเกี่ยวกับผีสางนางไม้ของ ต้นตะเคียนเสมอ บางบ้านที่เอาต้นตะเคียนมาทำเสา พอมีน้ำมันไหลซึมออกมาก็ต้องนำไปเซ่นไหว้บูชา เพื่อลุแก่โทษทันที มิฉะนั้นอำนาจของนางไม้ในต้นตะเคียนจะทำให้เจ้าของและบริวารในบ้านไม่มีความสุข จะเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ต้นที่อยู่ในป่าบางทีก็จะมีผ้าแดงไปคาดไว้ และทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่อยากจะกล้ำกราย เข้าใกล้ทีเดียว ยิ่งต้นใหญ่ ๆ ที่มีอายุมาก ๆ จะไม่เข้าไปตัดโค่น แถมบางทีเวลาผ่านต้องกราบไหว้เสียอีก นับว่าเป็นการสงวนพันธุ์แม่ไม้ได้อย่างดี ไม่น่าที่ความเชื่อถือแบบนี้ในปัจจุบันจะหดหายลงไปเลย