พระราชกรณียกิจในวันที่ 7 แห่งการทรงพระผนวช (วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2499)วันนี้หลังจากเสด็จลงพระอุโบสถ เพื่อทรงทำวัตรเช้าแล้ว ไม่มีการอ่านวินัยบัญญัติถวายให้ทรงสดับเหมือนปกติ เนื่องจากจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต
ภายหลังจากการทำวัตรเช้าแล้ว พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยพระราชาคณะ วัดบวรนิเวศวิหาร 6 รูป พระนาคหลวง 3 รูป และพระสหจร 5 รูป ไปทรงรับบิณฑบาต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ไปรับบาตรในวันนี้คือ
1. พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. พระพรหมมุนี
3. พระโศภนคณาภรณ์
4. พระมหานายก
5. พระจุลนายก
6. พระสาธุศีลสังวร
7. พระปัญญาภิมณฑมุนี
8. พระภิกษุหม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ระพีพัฒน์
9. พระภิกษุหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล
10. พระภิกษุหม่อมราชวงศ์นิตยศรี จรูญโรจน์
11. พระภิกษุหม่อมราชวงศ์พีระเดช จักรพันธ์
12. พระภิกษุพระราชญาติรักษา
13. พระภิกษุหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์
14. พระภิกษุ สุรทิน บุนนาค
15. พระภิกษุ ประถม บูรณะศิริ
ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระที่นั่งอัมพรสถานแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ศาลาผกาภิรมย์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เสด็จไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมถึงที่ประทับ
พระ ภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเสวยพระกระยาหารเพลอยู่ที่พระที่นั่ง อัมพรสถาน โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่จนเสวยพระกระยาหารเพลเสร็จ แล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้ที่ มาจัดดอกไม้ ประกอบด้วยหม่อมเจ้าอาภัสราภา เทวกุล หม่อมเจ้าจงกลณี วัฒนวงศ์ ฯลฯ สมควรแก่เวลาแล้วจึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนิกลับวัดบวรนิเวศ วิหาร
ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปทูลลาสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปวัดมกุฏกษัตริยารามและวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เวลา 14.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ และทรงถวายดอกไม้ ธูป เทียน พระศาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ผู้ทำหน้าที่เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงพระผนวช พระศาสนโศภณถวายหนังสือ พระวินัยมุนี ถวายพระสีวลี ที่ได้จากพม่า พร้อมด้วยตะลุ่มมุกเล็ก ๆ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทรงนมัสการพระพุทธชินราชในพระอุโบสถและทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงถวายดอกไม้ ธูป เทียน สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ผู้ทำหน้าที่เป็นพระราชอนุสาวนาจารย์ ในพระราชพิธีทรงพิธีทรงพระผนวช สมเด็จพระวันรัตถวายหนังสือ สมควรแก่เวลาจึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับวัดบวรนิเวศ วิหาร
เวลา 16.45 น. พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเพชร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อุปทูตพม่ากับคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย เครื่องอัฐบริขารที่ประธานาธิบดีพม่าส่งมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในการที่ ทรงพระผนวช
ในตอนเย็น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเย็น และทรงสดับพระธรรมเรื่อง “พละทั้ง 5“ ที่พระพรหมมุนีถวาย ในการนี้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระภิกษุบวชใหม่ทั้ง 5 เข้าร่วมฟังด้วย จบแล้วทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนีในเรื่อง “ธรรมะ” พระพรหมมุนีอธิบายถวายว่า “ธรรมะ” แปลว่า “ทรง” เป็นทั้ง 1. กุศล 2. อกุศล 3. กลาง
ธรรมะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ธรรมะ ฝ่ายโลกิยะ คือไม่มีรู้ เช่น ก้อนหิน กรวด ทราย เป็นต้น เรียกว่า ธรรมอันอยู่ในโลก
2. ธรรมะ ที่เป็นโลกุตระ ธรรมอันอยู่เหนือโลก มีรู้อยู่ในตัว
ตัวอย่าง โลกิยะโลก คือ เหตุผลได้เสีย ชนะ ดี ชั่ว อารมณ์อยากได้ รักใคร่ ฯลฯ เป็นความรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้
โลกุตระ รู้ว่าง รู้โปร่ง รู้หยุด รู้เงียบ รู้สงบ รู้นิ่ง รู้ของจริง แจ้งประจักษ์ชัดรู้อยู่กับตัวจากนั้นเสด็จขึ้นนมัสการพระบนพระตำหนักปั้นหย่า แล้วเสด็จเข้าที่พระบรรทม
พระราชกรณียกิจในวันที่ 8 แห่งการทรงพระผนวช(วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2499)รับแขก ทรงยืนคอยพระสงฆ์อื่น ๆ แล้วจังเสด็จออกทรงรับบิณฑบาต วันนี้ฝนตกตั้งแต่เช้า และลงพรำ ๆ ไม่ขาดสาย จึงต้องรับบิณฑบาตภายในพระตำหนัก เมื่อทรงรับแล้วก็ทรงพระดำเนินเข้าไปประทับพระเก้าอี้ ทรงอุ้มบาตรไว้ เมื่อพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นๆ รับบิณฑบาตหมดแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ ระหว่างประทับพัก ที่บนพระเก้าอี้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอด้วย
ในตอนเย็น เสด็จลงพระตำหนักเพชรโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเถระ (ชั้นราชขึ้นไป) และบรรพชิตจีน ญวน เฝ้าถวายอนุโมทนา และถวายพระพร
พิธีการมีดังนี้ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงทรงคมพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงคมพระเถระ แล้วประทับพระเก้าอี้หน้าพระแทนสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก อ่านคำถวายพระพรในนามพระเถรานุเถระแห่งคณะสงฆ์ไทย และบรรพชิตจีน ญวน ดังนี้
ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพร
“พระเถรานุเถระแห่งคณะสงฆ์ไทยกับ มีพระสงฆ์สมณศักดิ์อานัมนิกายและจีนนิกายมาร่วมสมทบด้วย ซึ่งพรั่งพร้อมอยู่ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้ ต่างมีปีติยินดีซาบซึ้งในพระราชศรัทธาประสาทาธิคุณแห่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระ ราชสมภารเจ้า ที่ได้ทรงลาพระราชกรณียกิจชั่วคราว ทรงบรรพชาอุปสมบทบำเพ็ญพระเนกขัมมบารมีในพระบวรพุทธศาสนา ด้วยทรงยืนยันความเชื่อมั่นในสัจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศแล้ว สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ไม่เป็นเพียงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในภายนอกเท่านั้น ยังได้ทรงพระราชศรัทธาทรงบรรพชาอุปสมบท เพื่อได้ทรงปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างใกล้ชิดเพื่อได้ทรงประจักษ์ด้วยพระ ปัญญา
อาตมภาพ พระสงฆ์ทั้งปวงมีกัลยาณจิตเป็นสมานฉันทะ ขอถวายอนุโมทนาสาธุการในพระราชกุศลนี้เป็นอย่างยิ่ง ขอพระเดชานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย พร้อมทั้งพระราชกุศลนี้ จงดลบันดาลอภิบาลรักษาสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ให้เสด็จสถิตธำรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกยืนยงตลอดกาลนาน เพื่อได้ทรงอภิบาลอุปถัมภ์บำรุงพระบวรพุทธศาสนาอันเป็นมิ่งขวัญของประเทศ ชาติให้วัฒนาสถาพร อำนวยสุขประโยชน์อันไพศาลในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอถวายพระพร”
จบแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบความว่าทรงขอบคุณในการที่ได้แสดงไมตรีจิต ครั้งนี้ แม้จะทรงได้อยู่ในสมณะเพศมาเป็นเวลาอันน้อยก็ตาม ก็ทรงรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับจากสงฆ์ทั้งหลายเป็นอย่างดี ทั้งทรงได้รับความรู้ในพระธรรมวินัยและทรงปฏิบัติเท่าที่เวลาจะอำนวย ทั้งนี้ ทำให้ทรงเกิดความรู้สึกว่า พระพุทธศาสนาเป็นทางแห่งความเจริญแก่ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
จบแล้วเสด็จลงหน้าพระตำหนักเพชรประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระเถรานุเถระ
เวลา 18.05 น. เสด็จลง ณ พระอุโบสถ ทรงทำวัตรเย็น แล้วทรงสดับบทความธรรมะ เรื่อง “ศาสนากับคน” ซึ่งพระมหาบุญธรรมอ่านถวาย
ต่อจากนั้นพระพรหมมุนีขึ้นถวายบทความธรรมะ เรื่อง “การใช้ปัญญา” จบแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนี เรื่องสัจจะและเรื่องสังขาร
พระราชปุจฉา ขณะที่ทรงพระผนวชอยู่นี้ เรียกกันว่า “พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยที่ทรงดำรงฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังมีอยู่ เป็นเพียงแต่ทรงจีวรเช่นภิกษุเท่านั้น ขอความเห็นจากพระพรหมมุนี
พระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า เรื่องนี้ทางธรรมะเรียกว่า สมมติซ้อนสมมติ สัจจะซ้อนสัจจะ ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นสมมติอย่างหนึ่ง เรียกว่า “สมมติเทพ” ความเป็นภิกษุก็เป็นสมมติอีกอย่างหนึ่ง ซ้อนขึ้นในสมมติเทพนั้น ในการเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับสมมตินั้น ๆ เช่น เมื่อได้รับสมมติเป็นพระภิกษุแล้วก็ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทของพระภิกษุโดย เคร่งครัด จักปฏิบัติแต่หน้าที่สมมติเทพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าหน้าที่ของสมมติเทพไม่ขัดกับสิกขาบทวินัยก็อาศัยได้ เช่น คำที่เรียกว่า “เสวย สรง "บรรทม” เป็นต้น ยังใช้ได้
สัจจะ คือความจริงนั้น ตามที่ท่านอธิบายกันมีหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยหลักธรรมก็มี 2 อย่าง คือ
1. สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติยกย่องขึ้น ให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ เช่น สมมติให้เป็นเทวดา สมมติให้เป็นพระอินทร์ พระพรหม ผู้นั้นก็เป็นตามเขาสมมติเพียงแต่ชื่อ แต่ไม่ได้เป็นจริงไปเช่นนั้นด้วย เช่น เขาสมมติให้เป็นพระอินทร์ ชื่อพระอินทร์ก็มีอยู่แก่ผู้นั้น แต่ผู้นั้นไม่ใช่พระอินทร์ตัวเขียวไปด้วย เขาสมมติให้เป็นพระนารายณ์ชื่อพระนารายณ์ก็มีอยู่แก่ผู้นั้น แต่ผู้นั้นก็หาได้เป็นพระนารายณ์ตัวจริงมี 4 กรไม่
2. สภาวะสัจจะ จริงตามสภาวะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นดินก็เป็นดินจริง ๆ เป็นน้ำก็เป็นน้ำจริง เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์จริง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง เป็นความดับทุกข์ก็เป็นความดับทุกข์จริง เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ก็เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์จริง อย่างนี้เป็นจริงตามสภาวะ
ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรมัตถสัจจะ เมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นชั้นของสัจจะไปแล้ว ไม่ใช่ตัวสัจจะ เพราะปรมัตถสัจจะแยกออกเป็นปรมะ แปลว่า อย่างยิ่ง อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ สัจจะ แปลว่า ความจริง รวมกันแปลว่า ความจริงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อมีความจริงที่เป็นประโยชน์ก็มี จังได้ชั้นดังนี้
1. ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
2. อัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างสามัญ
3. อนัตถสัจจะ ความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์
ญาณที่เห็นอริยสัจ 4 นั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของบุคคล เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ
ญาณรู้เหตุรู้ผลสามัญ หลบจากเหตุที่เสื่อม บำเพ็ญเหตุที่เจริญ นี่เป็นอัตถสัจจะ
ญาณที่เห็นผิดจากความจริง นี้เป็นอนัตถสัจจะ
บุคคลผู้ปฏิบัติต้องละอนัตถสัจจะ บำเพ็ญแต่อัตถสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
สังขาร สังขารแบ่งออกดังนี้ คือ
1. สังขารส่วนเหตุ ที่กำลังปรุง เรียกว่า สังขารขันธ์
2. สังขารส่วนผล ที่ปรุงแต่งเสร็จแล้ว เรียกว่า รูปขันธ์
ในทางที่ดีเราใช้สังขารให้เป็นประโยชน์ สังขารย่อมปรุงมรรค ปรุงผล
ในทางที่เลว สังขารใช้เรา เราเป็นทาสของสังขาร ย่อมเป็นอันตรายถึงความพินาศ
พระราชปุจฉา คนที่มีใจเหี้ยม ฆ่าคนแล้วไม่รู้สึกอะไรนั้น จัดเป็นบุคคลประเภทไหน ทำไมบางคนสร้างกรรมในชาตินี้ไว้มาก จึงไม่ได้รับผลของกรรมนั้น กลับเจริญมีความสุขอยู่ได้
พระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า ที่เขายังมีความเจริญและความสุขอยู่ ก็เพราะกรรมชั่วที่ทำนั้นยังไม่ให้ผล ถึงกระนั้น บุคคลผู้ทำกรรมชั่วย่อมจะได้รับความเดือดร้อนในใจภายหลัง ที่เรียกว่า “วิปฏิสาร”
บางกรณีก็อาศัยผลของกรรมที่สร้าง แต่ปางก่อน ประกอบการกระทำ ซึ่งประกอบด้วย สติ ปัญญา วิริยะ เมื่อดีก็ดีเลิศ เลวก็เลวที่สุด ก็เพราะปัญญาของเขาเหล่านั้น
พระราชปุจฉา ทำอย่างไรจะระลึกได้ซึ่งชาติก่อนและชาติหน้า
พระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า จะต้องบำเพ็ญตนเองให้สูงขึ้นในการปฏิบัติธรรมและอบรมจิตใจของตนเองให้สูง ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับไป เช่น เด็ก ๆ ระลึกหรือจำวันก่อนไปไม่ได้ ครั้นเจริญวัยก็จำเหตุการณ์ได้บ้าง และเห็นกาลในอนาคตบ้าง เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็เห็นทั้งเหตุในอดีตและอนาคตอันไกล
หลังจากทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนีเป็นเวลาอันสมควรแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระ แล้วเสด็จเข้าที่พระบรรทม
พระราชกรณียกิจในวันที่ 9 แห่งการทรงพระผนวช(วันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2499)ในวันนี้ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงนมัสการพระอัฐิ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ อดีตสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอนุสรณ์รังษีวัฒนา (สุสานหลวง) ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทร์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับวัดบวรนิเวศวิหาร
ในตอนเย็น เสด็จขง ณ พระตำหนักเพชร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดอกไม้ ธูป เทียน เสร็จแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าจอมในรัชกาลก่อน ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายดอกไม้ ธูป เทียน
จากนั้นเสด็จลง ณ บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ผู้เป็นพระราชอนุสาวนาจารย์ และพระศาสนโศภณ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ พร้อมด้วยพระภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร เสร็จแล้วฉายพระบรมฉายาลักษณ์เดี่ยว
หลัง จากเสร็จการฉายพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว เสด็จเข้าระอุโบสถทรงทำวัตรเย็น แล้วทรงสดับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เรื่อง “คนกับธรรม” ซึ่งพระมหาบุญธรรมอ่านถวาย จบแล้วเสด็จขึ้น
ในคืนวันนั้นพระพรหมมุนีขึ้นเฝ้าถวายธรรมะ เรื่อง “สังขาร” โดยละเอียด ทรงสนทนาธรรมกับพระพรหมมุนีดังนี้
พระราชปุจฉา การที่มีคนป่าวข่าวทำให้เสียชื่อเสีย และอาจจะได้รับผลสะท้อนถึงฐานะของครอบครัว ตลอดจนญาติพี่น้องตระกูล สมควรที่สมณเพศและคฤหัสถ์จะปฏิบัติเช่นไรเมื่อมีการเช่นนี้เกิดขึ้น
พระพรหมมุนี ถวายวิสัชนาว่า ทางสมณเพศ จงกระทำความดีต่อไป ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประทานโอกาสให้แก้ตัว เช่น พระภิกษุที่ถูกใส่ความ ก็มีโอกาสแก้ตัวได้ ทางด้านคฤหัสถ์ ถ้าจะฟ้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลก็ไม่ผิด แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติชอบต่อไปโดยไม่สะทกสะท้านต่อการใส่ความ นานเข้าก็คงมีคนเห็นความดีความชอบของเรา จะถือเป็นกรรมก็ได้ เป็นเรื่องของสังขารส่วนเหตุ คือคนอื่นปรุงแต่งให้เป็นเรื่องเป็นราว
พระราชกรณียกิจในวันที่ 10 แห่งการทรงพระผนวช(วันพุธที่ 31 ตุลาคม 2499)วันนี้ หลังจากเสวยพระกระยาหารเช้า เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้าแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาต ที่ทำเนียบรัฐบาล ณ ที่นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอาหารบิณฑบาต
ภายหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถึงวัดบวรนิเวศ วิหารแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในตอนเย็น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเย็น เสร็จแล้วทรงสดับธรรมะ เรื่อง “คำสอนของพระพุทธเจ้าและการปฏิบัติธรรม” ซึ่งพระจมื่นมานิต ( สิริคุตฺโต ภิกฺขุ ) ถวายพระธรรม เรื่อง “ขันธ์ 5” แล้วทรงพระราชปฏิสันถารกับพระภิกษุในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนถึงเวลา 21.00 น. จึงเสด็จเข้าที่พระบรรทม
พระราชกรณียกิจในวันที่ 11 แห่งการทรงพระผนวชวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2499พระราชกรณียกิจที่สำคัญในวันนี้คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
เวลา 13.30 น. เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวัดบวรนิเวศวิหารมีพระศาสนโศภณ วัดมกุฏกษัตริยารามกับพระราชาคณะวัดบวรนิเวศวิหาร 7 รูป พระกรรมการวัด 6 รูป พระในพระบรมราชินูปถัมภ์ 5 รูป ตามเสด็จพระราชดำเนิน
ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ แล้วทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเสด็จเข้าพระวิหาร ทรงจุดธูป เทียน บนพระแท่นปฐมเทศนาถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ทรงทำวัตร แล้วทรงกล่าวคำบูชาคุณพระรัตนตรัย
ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้น สู่ลานประทักษิณชั้นบน ทรงกระทำประทักษิณรององค์พระปฐมเจดีย์ 3 รอบ โดยมีระยะทางรอบละ 300 เมตร การเสด็จพระราชดำเนินมาสักการบูชาพระปฐมเจดีย์นี้ ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ในโอกาสที่ได้เสด็จออกทรงพระ ผนวช
เมื่อทรงกระทำประทักษิณพระเจดีย์รอบบน ครบ 3 รอบแล้ว เสด็จพระราชดำเนินลงมาทรงพักพระราชอิริยาบถที่พระวิหาร ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำผ้าไปเช็ดพระบาทถวาย และได้เขียนเล่าต่อมาในภายหลังว่า สังเกตเห็นที่ฝ่าพระบาทมีรอยแดงก่ำ เนื่องจากมิเคยทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุในยามบ่าย เช่นนี้มาก่อน แต่ก็ทรงพระดำเนินอย่างสงบ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอดทนเป็นอย่างยิ่งของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว
จาก นั้นเสด็จพระราชดำเนินไปสักการระพระประธานในพระอุโบสถ ในระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินได้มีคณะครู นักเรียน พ่อค้า ประชาชน มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จมากมาย ตลอดระยะทางเสด็จพระราชดำเนินได้จัดโต๊ะหมู่เป็นระยะ ๆ ตามลำดับดังต่อไปนี้
1. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง
2. พุทธสมาคมจังหวัดนครปฐม
3. โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม
4. โรงเรียนปฐมวิทยา
5. โรงเรียนเทศบาลวัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม
6. โรงเรียนสมานวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม
7. คณะพ่อค้าจังหวัดนครปฐม
8. โรงเรียนสว่างวิทยา จังหวัดนครปฐม
9. โรงเรียนเทศบาลวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม
10. โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
นอกจากนั้น ก็มี พลเอก เดช เดชปติยุทธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และภริยา พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย หลวงวรยุทธ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร พลตำรวจจัตวา ประชา บูรณธนิต รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่านมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทับเสด็จด้วย
ในการนี้ สถานีวิทยุ อส. ได้ถ่ายทอดเสียงโดยตลอด