การสวดอุปปาตะสันติมหาสันติงหลวง อุปปาตะสันติ ทางเมืองเหนือเรียกว่า มหาสันติงหลวง
อุปปาตะสันติ แยกเป็น ๒ คำ คือ อุปปาตะ คำ ๑
และ สันติ คำ ๑ อุปปาตะ แปลว่า เคราะห์กรรม, เหตุร้าย, อันตราย
และแปลว่าสิ่งกระทบกระเทือน
อุปปาตะสันติ แปลว่า บทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม
สวดเพื่อสงบเหตุร้าย และสวดเพื่อสงบสิ่งที่กระทบกระเทือน
ประวัติคัมภีร์อุปปาตะสันติคัมภีร์อุปปาตะสันติ เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาไทย
จัดเข้าในหนังสือประเภท เชียงใหม่คันถะ
คือ คัมภีร์เชียงใหม่มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปีเศษแล้ว
แต่งโดย พระมหามังคละสีลวังสะ
พระเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่รูปหนึ่ง
ในสมัยของ พระเจ้าสิริธรรมจักกวัตติลกราชาธิราช (พระเจ้าติโลกราช)
รัชกาลที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์มังรายระหว่าง พ.ศ.๑๙๘๕ - ๒๐๓๐
เป็นคาถาล้วนจำนวน ๒๗๑ คาถา
คัมภีร์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในหมู่ชนชาวล้านนามาแต่โบราณกาล
ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน
พากันสวดและฟังอุปปาตะสันติ
เพื่อกลับความร้ายให้กลายเป็นความดี
มีคำเล่าว่า สมัยที่ท่านพระมหามังคละสีลวังสะแต่งอุปปาตะสันตินั้น
ที่เชียงใหม่มีโจรผู้ร้ายและคนอันธพาลชุกชุมผิดปกติ
มีเหตุร้ายและสิ่งกระทบกระเทือนอยู่เสมอ
พระมหาเถระสีละวังสะจึงให้พระสงฆ์สามเณรและประชาชนพากันสวด
และฟังอุปปาตะสันติ เพื่อสงบเหตุร้ายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง
ต่อมาชาวพม่ามีความเลื่อมใส
นำคัมภีร์นี้เข้าไปในประเทศพม่า
ชาวพม่าทั้งพระสงฆ์และประชาชน
นับถือว่าพระคัมภีร์อุปปาตะสันตินี้มีความศักดิ์สิทธ์มาก
พากันนิยมท่อง นิยมสวด และนิยมฟังกันอย่างกว้างขวาง
แพร่หลายไปทั่วประเทศพม่าในสมัย ๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว
ในงานพิธีสืบชะตา งานขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม
กล่าวได้ว่าคัมภีร์อุปปาตะสันติเป็นคัมภีร์ของไทย
แต่ต้นฉบับได้จากเมืองไทยไปอยู่เมืองพม่าเสียนาน
จนแทบกล่าวได้ว่า
คนไทยในสมัยหลังๆ นี้ไม่มีใครรู้จัก
ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อของคัมภีร์นี้
แต่บัดนี้เป็นที่โสมนัสยินดียิ่ง
ที่ เจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตะปัญโญ) ป.ธ.๙
วัดมหาโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
ท่านได้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย
พื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านที่ไม่สันทัดบาลี
โดยได้ต้นฉบับภาษาบาลีอักษรพม่าจากท่าน
พระอาจารย์ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ
อัครมหาบัณฑิตแห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
นับว่าเป็นการนำคัมภีร์ของล้านนาไทยโบราณ
กลับคืนมาสู่เมืองไทยให้ชาวไทยในยุคปัจจุบันได้รู้จัก
ได้ศึกษา ได้สวด ได้ฟังให้เกิดประโยชน์ทางสันติ
เพื่อความสงบระงับจากภัยพิบัติทั้งปวง
และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวล้านนา ชาวไทย
ตลอดจนชาวโลกทั้งมวล
หลักฐานคัมภีร์ อุปปาตะสันติ ฉบับหนึ่งในล้านนาไทย
ซึ่งเขียนไว้ในสมุดข่อย หมึกจีน อาบน้ำชาด
ที่เรียกว่าประวัติย่อ ดังนี้...
ในปีจุลศักราช ๑๒๗๙ ปีดับไก๊ เดือน ๘
เหนือ เพ็ญ วันศุกร์ ปีกุน สัปตศก พ.ศ.๒๔๗๘
เจ้าภาพเขียนต้นฉบับนี้ คือ นายน้อยปิง มารวิชัย
บ้านประตูท่าแพเป็นประธานพร้อมทั้งภริยาลูกและญาติทุกคน
ได้จ้างคนเขียนธรรม ๕ ผูก คือมลชัย ๑ ผูก..อินทนิล ๑ ผูก..
สังยมาปริตตคลสูตร ๑ มังผูก..นัครฐาน ๑ ผูก...
อุปปาตสันติ ๑ ผูก รวม ๕ ผูก พร้อมทั้งสร้างบ่อน้ำถวาย
พระครูบาศรีวิชัย (ปฏิคาหก) ทานวัดศรีโสดา และถนนขึ้นดอยสุเทพ
ขอกุศลบุญเยี่ยงนี้ จงเป็นปัจจัยค้ำชูตัวแห่งผู้ข้า ฯ (นายน้อยปิง)
ทั้งหลายทุกคนตราบถึงนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ ฯ
รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถ download ไฟล์อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://www.kammatan.com/docs/download.pdf ครับ
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ :
http://www.dhammajak.net