ขรัวโตกับหัวโขนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นพระลือชื่อที่สุดรูปหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ กิตติศัพท์ของท่านมีหลายด้าน แม้ท่านจะไม่เคยสอบเป็นเปรียญ แต่ก็ได้รับการยกย่องว่ารอบรู้พระปริยัติธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก ขณะเดียวกันกันก็เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ จนเชื่อกันว่าท่านทรงคุณวิเศษทางวิทยาคม
คุณวิเศษของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มักถูกกล่าวถึงในแง่อภินิหาร แต่อภินิหารนั้นยังเป็นเรื่องโลกียะ ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นคือโลกุตตระ ได้แก่การอยู่เหนือโลก อันโลกธรรมทั้งหลายไม่อาจฉาบย้อมใด องค์คุณประการหลังนี้ท่านได้บำเพ็ญและแสดงให้เห็นตลอดชีวิต ตัวอย่างหนึ่งได้แก่การไม่ใส่ใจกับสมณศักดิ์พัดยศ ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นแค่ “หัวโขน” เท่านั้นเอง
ตามธรรมเนียม พระที่ทรงสมณศักดิ์อย่างท่าน ย่อมมีศิษย์วัดแจวเรือให้เวลาเดินทาง แต่เนื่องจากท่านชอบประพฤติตนอย่างพระอนุจรหรือพระลูกวัด ดังนั้นเมื่อใดที่เห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อย ท่านก็จะให้นั่งพักเสีย แล้วท่านก็แจวแทน
มีคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่จังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ระหว่างทางผัวเมียคู่นี้เกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรง ท่านเห็นเช่นนั้นจึงขอให้ทั้งสองเลิกวิวาทกัน และให้เข้ามานั่งพักในประทุน แล้วท่านก็แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆัง
แต่ที่กล่าวขานกันมากก็คือตอนทีท่านไปสวดมนต์ในสวนแห่งหนึ่ง เขตราษฎร์บูรณะ ฝั่งธนบุรีสวนแห่งนี้ต้องเข้าทางคลองเล็ก ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ โดยเอาพัดยศไปด้วย บังเอิญเวลานั้นน้ำแห้ง เข้าคลองไม่ได้ ท่านจึงลงเข็นเรือกับศิษย์ท่าน ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย” ท่านได้ยินก็ตอบไปว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ้ะ ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่ในเรือน่ะจ้ะ” ว่าแล้วก็ชี้มือไปที่พัดยศ สักพักชาวบ้านก็ลงมาช่วยกันเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน
นิทานเรื่องนี้สอนว่า หัวโขนนั้นพึงถอดวางเมื่อลงจากเวทีฉันใด สมณศักดิ์ก็มิใช่สิ่งซึ่งพึงยึดถือเป็น “ตัวกูของกู” ฉันนั้น
คัดลอกจาก ลำธารริมลานธรรม
เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้
รวบรวมและเรียบเรียงโดยพระไพศาล วิสาโล
ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: Supani และเว็บ
http://www.kammatan.com