KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4แนะนำ สถานที่ปฏิบัติภาวนาธรรม ที่สัปปายะ ในประเทศไทย "การอยู่ – วัดป่า" จากหนังสือ “ชีวิตพระป่า” โดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: "การอยู่ – วัดป่า" จากหนังสือ “ชีวิตพระป่า” โดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์  (อ่าน 13629 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2014, 12:57:18 PM »


"การอยู่ – วัดป่า" จากหนังสือ “ชีวิตพระป่า” โดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์

...วัดป่าเป็นคนละอย่างกับวัดบ้าน สำหรับผู้ที่เคยไปเป็นครั้งแรก ความรู้สึกที่กระทบจิตใจ
เมื่อย่างเข้าเขตวัดป่าคือความร่มรื่น ซึ่งเกิดขึ้นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นส่วนป่าในวัด
มีวัดป่าน้อยแห่งที่ไม่มีป่าในวัด วัดเช่นนี้มองจากสายตาของนักธุดงค์กัมมัฏฐานคงไม่เป็นที่น่าพอใจนัก

สิ่งกระทบใจประการที่สองคือความสะอาดและมีระเบียบ ถนนและทางเดินเตียนโล่ง
ไม่มีกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ดังที่น่าจะเป็นเพราะมีต้นไม้อยู่โดยรอบ
แม้กระทั่งส้วมซึ่งวัดที่ยากจนยังใช้แบบของชาวบ้าน ก็ยังรักษาความสะอาดได้ดี
ในวัดที่ฐานะดี มีส้วมราดน้ำแบบทันสมัย ส้วมของบ้านในกรุงบางบ้านอาจจะสะอาดน้อยกว่าส้วมของวัดป่าเสียด้วยซ้ำ

ความรู้สึกประการที่สามที่บังเกิดแก่ผู้ไปเยี่ยมคือความเงียบ บางเวลาเงียบจนกระทั่งใบไม้ตกก็ได้ยินเสียงดัง “ปึ้ก”
เสียงพูดคุยกันดัง ๆ เหมือนตามบ้านไม่มีโอกาสจะได้ยินเลย เวลาที่พระป่าจะพูดคุยกันก็มีเวลาเตรียมฉันจังหัน
เวลานัดดื่มน้ำในตอนบ่าย และเวลาพร้อมกันปัดกวาดถนนหนทางและลานวัด ถ้าเห็นพระสองหรือสามองค์สนทนากันอยู่
 ก็ฟังแต่ไกลไม่รู้เรื่องว่าท่านพูดอะไรกัน เพราะท่านพูดค่อยมาก
พระตะโกนเรียกกันหรือคุยกันสนุกสนานเฮฮา เป็นเรื่องที่ไม่ได้พบเลย

เมื่อประมาณเจ็ดแปดปีมาแล้วมีสตรีชาวต่างประเทศผู้หนึ่งเกิดสนใจอยากดูชีวิตของพระบ้าง
ได้ขออนุญาตเป็นทางการเข้าไปพักอยู่ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากในความเคร่งวินัย
สตรีผู้นั้นไปอยู่ได้เจ็ดวันก็กลับและไปรายงานต่อพระเถระผู้ใหญ่และเจ้านายบางองค์ว่าวัดที่ไปดูมานั้นใช้ไม่ได้เลย.
สมภารปกครองไม่ดี ลูกวัดแตกความสามัคคีกันหมด แม้แต่เวลาฉันจังหันก็ไม่มีใครพูดจาอะไรกัน ดังนั้นความดีก็กลายเป็นไม่ดีไป.

ยกเว้นลักษณะเป็นป่า มีต้นไม้ร่มครึ้มซึ่งคล้าย ๆ กันทุกวัด วัดป่าแต่ละวัดก็มีภูมิประเทศและบริเวณแวดล้อมแปลก ๆ กันไป
บางแห่งมีป่าล้อมรอบ มีที่ว่างเฉพาะบริเวณกุฏิ บางแห่งมีพื้นที่คล้ายสวน เป็นที่ราบ มีแต่ต้นไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่ทั่วไป
บางวัดอยู่ที่เชิงเขา บางวัดอยู่บนไหล่เขา บางวัดขึ้นไปถึงยอดเขา แต่ละวัดก็มีข้อเสียข้อดีประจำ เช่น วัดอยู่ในที่ราบ
ไปมาสะดวก แต่อากาศมักร้อนอบอ้าวและทึบ วัดอยู่บนเขา จะไปไหนแต่ละทีต้องเหนื่อยหอบ
แต่มักจะอากาศดี ปลอดโปร่งเย็นสบาย ชวนให้ปฏิบัติได้มาก

การที่พระภิกษุรูปใดจะเลือกอยู่วัดไหน เหตุผลสำคัญที่สุด คือ

1.พระอาจารย์ของวัดนั้นจะต้องมีธรรมะสูง และมีอุปนิสัยถูกกัน เชื่อว่าจะถ่ายทอดความรู้และแนะนำแก้ไขข้อปัญหาในการปฏิบัติได้
2.รองลงไปได้แก่ทำเลและลักษณะอื่น ๆ ของวัดตลอดจนลมฟ้าอากาศ
3.และอันดับที่สามได้แก่ลักษณะของสหธรรมิก ( พระร่วมศึกษาด้วยกัน ) ซึ่งจะต้องไปด้วยกันได้ แม้วัดจะเป็นที่อยู่ที่ไม่ค่อยสบายนัก
 แต่ถ้าอาจารย์ดีและสอนเก่ง ผู้หวังก้าวหน้าก็ยังพอทนได้ ถึงแม้วัดจะสวยงาม อากาศดี มีความสะดวกสบาย
แต่ถ้าอาจารย์ไม่ถูกนิสัยกัน สอนกันไม่ได้ ก็ไม่มีใครยอมอยู่ ทั้งนี้เพราะพระป่านั้นบวชเพื่อความหลุดพ้น
ไม่ใช่เพื่ออยู่ไปวัน ๆ หนึ่ง จึงไม่ใคร่ยอมเสียเวลาถ้าเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่ได้ผล

_/\_ _/\_ _/\_
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2016, 11:30:25 PM »

การฉันข้าวพระป่า...
วัดป่าในสายท่านพระอาจารย์มั่นมีระเบียบเกี่ยวกับการฉันเป็นอย่างเดียวกัน คือฉันมื้อเดียวในตอนเช้า ฉันอาหารที่ได้จากบิณฑบาตและฉันในบาตร มีเฉพาะน้ำและสิ่งที่ใช้ดื่มเท่านั้น ที่เอาใส่ถ้วยไว้นอกบาตรได้ เพราะฉะนั้นพระป่าต้องออกบิณฑบาตทุกวัน นอกจากอาพาธหรือเดินไม่ได้ ตามธรรมดาวัดป่าต้องอยู่ห่างหมู่บ้านเพื่อให้พ้นจากการรบกวนจากคน สัตว์และเสียง แต่ต้องไม่ไกลเกินไปจนเดินไปบิณฑบาตไม่ไหว โดยมากเว้นระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณสองถึงสามกิโลเมตร ซึ่งพอจะเดินไปกลับได้ภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ตามปกติออกจากวัด เวลาประมาณ ๖ นาฬิกาเศษ หลังจากทำความสะอาดตอนเช้าเสร็จ ก่อนจะออกต้องจัดบาตรให้พรักพร้อมโดยผูกมัดบาตรให้แน่นและเรียบร้อย พระป่าท่านสะพายบาตรเวลาไปบิณฑบาต เพราะระยะทางไกลและขากลับบางทีบาตรหนักมาก เวลาออกจากวัดเดินไปเป็นกลุ่ม พระผู้น้อยอยู่ข้างหน้า ผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง พอเข้าเขตบ้านพระข้างหน้าหยุดคอยให้ผู้ใหญ่ขึ้นไปนำเดินเข้าหมู่บ้านเป็นแถวเรียงหนึ่งตามลำดับอาวุโส และรับอาหารโดยมีระเบียบน่าดู เมื่อรับไปทั่วแล้วก็วกกลับวัด บางทีพระผู้น้อยรับบาตรของพระผู้ใหญ่ไปสะพายแทน บางทีชาวบ้านขออาสาสะพายหรืออุ้มไปให้จนถึงวัด ทุกองค์ขึ้นไปรวมบนศาลาที่นั่งฉัน แล้วเข้าที่นั่งฉันและจัดอาหารลงบาตร ที่นั่งนั้นได้จัดปูอาสนะไว้เรียบร้อย ก่อนออกบิณฑบาต ดังนั้นพอมาถึงก็เข้าที่ได้เลย นั่งเรียงกันตามลำดับอาวุโส พระทุกองค์ถ่ายบาตรเอาอาหารใส่ลงในถาดที่วางไว้เป็นของกลาง พระเจ้าหน้าที่ยกถาดไปถวายท่านสมภารให้หยิบก่อน แล้วส่งต่อไปตามลำดับ โดยวิธีนี้พระทุก ๆ รูปตั้งแต่ผู้น้อยถึงผู้ใหญ่จึงมีโอกาสได้อาหารอย่างเดียวกัน

อาหารที่เลือกเอาไว้นั้น แต่ละรูปจัดลงในบาตรสำหรับที่จะฉันต่อไป การจัดอาหารลงบาตรนี้แตกต่างกันไป บางองค์วางเรียงแยกเป็นสิ่ง ๆ (ภายในบาตร) บางองค์วางสุม ๆ ลงไป ที่ขั้นอุกฤษฏ์นั้นคลุกเคล้าทุก ๆ อย่างเข้าด้วยกันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งนี้เพื่อตัดเรื่องความอยาก ความน่ากิน และความอร่อยให้หมดไป ในสมัยที่ผู้เขียนและเพื่อน ๆ ไปวัดป่าครั้งแรก ๆ พระท่านยังอัตคัดเรื่องอาหารมาก เราอยากให้ท่านได้ฉันของแปลก ๆ จึงช่วยกันทำข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนไปถวายองค์ละชาม.พระท่านรับประทานไปแล้ว เรานึกว่าท่านจะวางเอาไว้ฉันทีหลัง ท่านกลับเอาเทลงไปในบาตรหมดทั้งชาม พวกเรานึกสงสารว่าไปทำให้ท่านฉันลำบากมากขึ้น ตั้งแต่นั้นไม่กล้าถวายของฉันที่เป็นน้ำและมีกลิ่นแรงอีกเลย

เมื่อจัดอาหารลงบาตรเสร็จแล้วก็เอาผ้าปิดปากบาตรไว้ คอยจนเสร็จพร้อมกัน.องค์ที่เป็นประธานว่า ยถาสัพพี ( บางวัดประธานว่ายถา องค์อื่นพร้อมกันว่า สัพพี )เสร็จแล้วจึงเปิดผ้าคลุมปากบาตรขึ้นพร้อมกัน พิจารณาอาหารในบาตรตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่น ให้สำนึกว่าฉันเพื่อให้คลายทุกข์ที่เกิดจากความหิว ไม่ใช่เพื่อรสอร่อย ฯ ล ฯ เสร็จแล้วจึงลงมือฉัน ระหว่านั้นไม่มีใครพูด เพราะต่างองค์ต้องพิจารณาไปเรื่อย ๆ ใครฉันเสร็จก็เช็ดถูพื้นศาลาตรงบริเวณที่ตัวนั่ง ยกบาตรออก เอาเครื่องปูลาดเก็บเข้าที่ อาหารเหลือก้นบาตรเทลงถาดมอบแก่ผู้ที่ต้องการ.(อาหารก้นบาตรอาจารย์ผู้ใหญ่ ๆ มีคนคอยแย่งกัน เพราะเชื่อว่ากินแล้วจักเจริญในธรรมและมีสติปัญญาดี) บาตรนั้นนำไปล้างและเช็ดถูจนสะอาด คว่ำผึ่งแดดให้แห้ง

วิธีอนุโมทนา ( คือ ว่ายถาสัพพี ) เสียก่อนฉันนี้เหมาะสำหรับทายกทายิกาที่มีการงานประจำวัน คือ พอพระอนุโมทนาเสร็จแล้ว พวกทายกก็เอาอาหารที่เหลือจากพระไปลงมือกินได้เลย ไม่ต้องรอจนพระฉันอิ่มและอนุโมทนาเสียก่อน ดังที่ปฏิบัติอยู่ตามวัดทั่ว ๆ ไป ตามวิถีของพระป่า บางทีพระยังฉันไม่เสร็จ ชาวบ้านก็กินข้าวอิ่มและแยกย้ายกันไปทำงานได้แล้ว

บาตรเป็นบริขารที่สำคัญยิ่งสำหรับพระป่า จะไปไหน ๆ แม้จะรีบร้อนเพียงใดต้องจัดเอาไปด้วยเสมอ บาตรของท่านมักจะใหญ่กว้างกว่าบาตรของพระบ้าน.ไม่ใช่เพราะพระป่าฉันมากกว่าพระบ้าน แต่เพราะท่านถือธุดงค์ฉันในบาตร ถ้าบาตรแคบก็จัดอาหารและฉันไม่สะดวก นอกจากนั้นเวลาท่านเดินทางเช่นไปธุดงค์ ท่านยังใช้บาตรแทนกระเป๋าเดินทาง บรรจุเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ แล้วสะพายไปเป็นความสะดวกมาก เพราะฉะนั้นท่านต้องรักษาบาตรให้สะอาดอยู่เสมอ พอฉันแล้วก็รีบล้างฟอกสบู่หรือผงซักฟอกให้หมดกลิ่น เช็ดขัดให้สะอาด แล้วผึ่งแดดให้แห้งสนิท ต้องรักษาไม่ให้เกิดสนิม ถ้าเกิดขึ้นต้องทำพิธี ”ระบม” (บ่มบาตร) คือสุมด้วยไฟฟืนจนหมดสนิมเสียเวลาและเปลืองฟืนมาก

เกี่ยวกับเรื่องบาตร ท่านพระอาจารย์ฝั้นเคยเล่าให้ฟังว่าในสมัยเมื่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) วัดบวรนิเวศ ฯ เป็นเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี มีผู้ฟ้องถึงท่าน ว่าพระกัมมัฏฐานที่จังหวัดนั้นไม่ประพฤติตามแบบฉบับของพระธรรมยุต เช่นเวลาบิณฑบาตก็ใช้วิธีสะพายบาตรแทนที่จะอุ้ม และข้ออื่น ๆ อีกหลายข้อ สมเด็จ ฯ ท่านสนใจพระกัมมัฏฐานอยู่แล้วจึงเดินทางไปยังวัดที่ถูกฟ้อง ซึ่งในตอนนั้นท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เป็นสมภาร.เมื่อได้ซักถามดูก็ทราบความจริงว่า พระป่าท่านสะพายบาตรเวลาเดินไปจากวัด เพราะท่านต้องไปไกลมาก แต่พอถึงตอนรับบาตรท่านก็ปฏิบัติเหมือนพระธรรมยุตทั้งหลาย.ข้ออื่นๆก็เป็นเรึ่องของความเข้าใจผิด พอดีท่านอาจารย์กงมากำลังจะออกธุดงค์ สมเด็จฯ จึงขอไปด้วย ท่านอาจารย์ก็จัดกลดและบริขารอื่น ๆ ที่จำเป็นให้ ไปค้างแรมอยู่ในป่า แขวนกลดไว้ห่างกันพอสมควร คืนนั้นฝนตกอย่างหนักจนกลดไม่สามารถจะกั้นไว้ได้ สมเด็จ ฯ เปียกไปทั้งตัว บริขารต่าง ๆ ก็เบียกปอนไปด้วย รุ่งขึ้นเช้า ต้องครองจีวรทั้งเปียก ๆ พอไปพบกับท่านอาจารย์กงมา สมเด็จ ฯ ก็ประหลาดใจว่าทำไมจีวรของท่านแห้งดี เหมือนกับไม่ได้ถูกฝนเลย ท่านจึงแอบถามเณรว่าท่านอาจารย์มีคาถาอะไรดีหรือ ฝนจึงไม่เปียก เณรก็รับสมอ้างว่าท่านคงจะมีคาถากันฝนเปียก

หลังจากได้พิจารณาใกล้ชิดแล้วเห็นว่าจีวรของท่านอาจารย์กงมาไม่เปียกจริง ๆ สมเด็จ ฯ ก็อดถามท่านไม่ได้ว่าใช้คาถาอะไรจึงไม่เปียกฝน ท่านอาจารย์กงมายิ้มบอกว่า ขอรับ เกล้ากระผมมีคาถา แล้วก็หยิบบาตรขึ้นให้สมเด็จ ฯ ดู และบอกว่านี่แหละครับ คาถาของเกล้ากระผม ที่แท้คือท่านอาจารย์เป็นพระป่า ท่านมีประสบการณ์มาก พอฝนตกท่านก็เอาจีวรและสังฆาฏิใส่บาตรปิดฝาไว้ จึงไม่เปียกเลย…

อ่านหนังสือ “ชีวิตพระป่า” โดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ที่ลิงค์
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: