“อัจฉริยลักษณะและอดีตชาติของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นผู้มีอัจฉริยลักษณะและอัจฉริยนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์
มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันอุปสมบทมา
จนกระทั่งวาระสุดท้าย ธุดงควัตร ที่ท่านปฏิบัติเป็นประจำตลอดชีวิต คือ บิณฑบาตเป็นวัตร ...
ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ในป่าเป็นวัตร ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร
ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบทั้งภายนอกและภายใน ท่านเกิดมาเพื่อเป็นปรมาจารย์
แม้รูปกายและกิริยาของท่านก็เป็นลักษณะของท่านผู้มีบุญใหญ่ คือ “คิ้ว” ของท่านมีไฝตรงกลางระหว่างคิ้ว
ลักษณะคล้ายกับอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝนี้เป็นจุดดำเล็ก ๆไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน ๓ เส้น ไม่ยาวมาก
เป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็น “หู” ของท่านมีลักษณะหูยาน เป็นหูของนักปราชญ์ “จมูก” โด่งรับกับใบหน้า
เข้ารูปลักษณะชายชาติอาชาไนย “ตา” ของท่านแหลมคมเหมือนตาไก่ป่า คือ ตาดี รวดเร็ว คือ มีแววตาเป็นวงแหวนในตาดำ
เป็นตาของจอมปราชญ์ “นิ้วมือ” ของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาถึงนิ้วก้อย “นิ้วเท้า” ก็เหมือนกัน นิ้วชี้จะยาวกว่า
แล้วไล่ลงมาถึงนิ้วก้อย “ฝ่าเท้า” ของท่านจะเป็นลายก้นหอยสองอัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้าเหมือนกากบาท
เวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์ไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว
ชาวบ้านจะไปยืนมุงมองดูจะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า “รอยนิ้วเท้า” ก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน
จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก ๒ อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน “ฝ่ามือ” ของท่านเวลาสานุศิษย์นวดเส้นถวาย
ได้พลิกฝ่ามือของท่านดูปรากฏว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง “เสียง” ของท่านเสียงกังวาน ไพเราะ ฟังเพลิน
ฟังเหมือนเสียงฟ้าดินถล่ม ผู้ฟังไม่อิ่มไม่เบื่อ แรงแต่ไม่เป็นอันตราย “คำพูด” ของท่านเหมือนถอดจากหัวใจดวงหนึ่งไปสู่หัวใจอีกดวงหนึ่ง
แม้ท่านเทศน์จบแล้วผู้ฟังก็ยังอยากฟังต่อไปอีก แม้คนละเชื้อชาติภาษาท่านก็สามารถสอนให้เข้าใจได้ “วาจา”
ของท่านเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีลาภ ยศ อามิสเจือวาจาของท่าน เทศน์จึงขลังดี พูดถูกธรรม
ตรงไป ตรงมา ไม่เห็นแก่หน้าบุคคลและอามิส “ฤทธิ์” ท่านไม่ชอบแสดงฤทธิ์
ท่านชอบภาวนาให้สิ้นกิเลส ฤทธิ์ทั้งหลายเกิดด้วยกำลังสมถะ ฌานสมาบัติทั้งนั้น ใช้วิปัสสนาอย่างเดียวไม่มีฤทธิ์สำเร็จอรหันต์
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าเรื่อง ในอดีตชาติท่านได้พิจารณาร่างกระดูกมาถึง ๕๐๐ ชาติ ได้พิจารณาวัฏฏะอีกถึง ๕๐๐ ชาติ
เริ่มตั้งแต่เกิดเป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ ชมพูทวีป ประเทศอินเดีย ผู้เกี่ยวข้องในครั้งนั้น คือ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
คือ พระปทุมราชา ผู้ครองแคว้นกุรุ เป็นพี่ชาย ในชาตินั้นท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย
ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ แต่ยังไม่ได้รับพุทธทำนาย ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า
พระพุทธองค์ตรัสธรรมแก่ท่านซึ่งเป็นอุบาสกในครั้งนั้นว่า....
อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง น่าเกลียด คือ
อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ทุศีล ๑
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑
ทำการสนับสนุนในที่นอกศาสนานั้น ๑
ส่วนอุบาสกแก้วก็มีนัยตรงกันข้ามกับอุบาสกเลวนี้
ท่านบอกว่าจิตท่านมั่นคงในพระรัตนตรัย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อีกชาติหนึ่งท่านเกิดที่ลังกาทวีป ประเทศศรีลังกา
ได้บวชเป็นพระ ได้เข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔ ปรารภให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป
มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภ์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ จากนั้นท่านได้มาเกิดที่มณฑลยูนานประเทศจีน
ในตระกูลขายผ้าขาว มีน้องสาวคนหนึ่งเคยช่วยเหลือกัน มาชาตินี้ คือ นางนุ่ม ชุวานนท์ คหปตานีชาวสกลนคร
ผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาสถวายและท่านก็ได้สงเคราะห์ด้วยธรรมแก่เธอมาโดยตลอด ชาติหนึ่งท่านไปเกิดที่โยนกประเทศ
ปัจจุบันคือเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในตระกูลช่างทำเสื่อลำแพน ท่านพระอาจารย์เสาร์ เป็นนายช่างใหญ่
ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้จัดการ ส่วนพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธฺโล) เป็นคนเดินตลาด
ท่านพระอาจารย์มั่นสอนท่านพ่อลีต่อไปอีกว่า ผู้ปฏิบัติต้องรู้ที่จะแก้จิตของตน ให้รู้จักภพของตนที่จะไปเกิด
ต้องผ่านความผิดมาเสียก่อน จึงปฏิบัติถูก ความผิดเป็นเหตุ ความถูกเป็นผลของความดีทั้งหลาย
ต้องเดินมรรค ๘ ให้ถูกจึงจะแก้ได้ เดินตามสายหนทางของพระอริยเจ้า ใช้ตบะอย่างยิ่งคือความเพียร จึงจะสอนตนได้
โลกีย์ โลกุตระ ๒ อย่าง ประจำอยู่ในโลก ๓ ภพ
และท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมโดยยกธรรมชาติมาเปรียบเทียบให้ฟังในหลายคราว มีใจความย่อดังนี้ว่า
“....ธรรมะ หรือ ธัมโม ต้องเรียนเอามาจากธรรมชาติ เห็นความเกิด ความแปรปรวน ของสังขารประกอบด้วยไตรลักษณ์
เป็นนักปฏิบัติกรรมฐานอย่าเชื่อหมอมากนัก ให้เชื่อธรรม เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม จึงจะดี ธรรมะทั้งหมดชี้เข้าที่กายกับจิต
เพราะกายและจิตนั่นแหละ เป็นคัมภีร์เดิม เป็นคัมภีร์ธรรมะที่แท้จริง ภูเขา ทะเล สายน้ำ แผ่นดิน แผ่นฟ้า
เห็นไปดูไปก็ไม่มีความหมาย ให้เห็นแต่ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ เท่านั้นแล
ทิฐิมานะนั่นแหละ เป็นภูเขาสูงหาที่ประมาณมิได้
โลกสันนิวาส มีความแปรปรวนตั้งเที่ยงอยู่เช่นนั้น แต่จิตของเรารักษาไว้ให้ดี อย่าให้ติด ถ้าไม่ติดก็ได้ชื่อว่าเป็นสุข
พิจารณาค้นกาย ตรวจกายถูกดีแล้ว ค้นดูกายถึงหลัก แลเห็นอริยสัจของจริงแล้ว เดินตามมรรคเห็นตัวสมุทัย เห็นทุกขสัจ
ต้องทำจิตให้เป็นเอก ต้องสงเคราะห์ธรรมให้เป็นเอกเสมอ
พระอรหันต์มีคุณอนันต์นับหาประมาณมิได้ พระอรหันต์ตรัสรู้ในตัวเห็นในตัว มีญาณแจ่มแจ้งดี ล้วนแต่เล่าเรียนธรรมชาติทั้งนั้น”
คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติและปฏิปทา “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า”