KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปลงพระชนม์มายุสังขาร
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปลงพระชนม์มายุสังขาร  (อ่าน 24369 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:00:30 PM »


คราวเมื่อทรงปลงพระชนม์มายุสังขาร


พระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ ประทับภายใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ ! ผู้อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแคล่วคล่องแล้วอย่างเรานี้ ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึง ๑ กัปป์ คือ ๑๒๐ ปี ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้" พระโลกนาถตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉย มิได้ทูลอะไรเลย ความวิตกกังวลและความเศร้าของท่านมีมากเกินไป จนปิดบังดวงปัญญาเสียหมดสิ้น ความจงรักภักดีอย่างเหลือล้นที่ท่านมีต่อพระศาสดานั้น บางทีก็ทำให้ท่านลืมเฉลียวถึงความประสงค์ของผู้ที่ท่านจงรักภักดีนั้น ปล่อยโอกาสทองให้ล่วงไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "อานนท์ ! เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง

ณ บัดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงรำพึงถึงอดีตกาลนานไกล ซึ่งล่วงมาแล้วถึง ๔๕ ปี สมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ท้อพระทัยในการที่จะประกาศสัจธรรมเพราะเกรงว่าจะทรงเหนื่อยเปล่า แต่อาศัยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงพระทัยย่ำธรรมเภรี และครานั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง ยังไม่สามารถย่ำยีปรุปวาท คือคำกล่าวจ้วงจาบล่วงเกินจากพาหิรลัทธิที่จะพึงมีต่อพระพุทธธรรม คำสอนของพระองค์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอตราบใด พระองค์ก็จะยังไม่นิพพานตราบนั้น

ก็แลบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพรหมจรรย์ศาสโนวาทของพระองค์แล้ว เป็นกาลสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน

ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงทรงปลงพระชนม์มายุสังขารคือตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า พระองค์จักปรินิพพานในวันวิสาขะปุรณมีคือวันเพ็ญเดือน ๖

อันว่าบุคคลผู้มีกำลังกลิ้งศิลามหึมาแท่งทึบจากหน้าผา ลงสู่สระย่อมก่อความกระเพื่อมสั่นสะเทือนแก่น้ำในสระนั้นฉันใด การปลงพระชนม์มายุสังขารอธิษฐานพระทัยว่า จะปรินิพพานของพระอนาวณญาณก็ฉันนั้น ก่อความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนเหมือนหนังสัตว์ที่เขาขึงไว้แล้วตีด้วยไม้ท่อน ใหญ่ก็ปานกัน รุกขสาขาหวั่นไหวไกวแกว่งด้วยแรงวายุโบกสะบัดใบอยู่พอสมควร แล้วนิ่งสงบมืออาการประหนึ่งว่าเศร้าโศกสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เหมือนกุมารีนางน้อยคร่ำครวญปริเทวนาถึงมารดาผู้จะจากไปจนสลบแน่นิ่ง ณ เบื้องบนท้องฟ้าสีครามกลายเป็นแดงเข้มดุจเสื่อลำแพน ซึ่งไล้ด้วยเลือดสด ปักษาชาติร้องระงมสนั่นไพรเหมือนจะประกาศว่าพระผู้ทรงมหากรุณากำลังจะจากไป ในไม่ช้านี้

พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระจอมมุนีทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! โลกธาตุนี้วิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมี ไม่เคยเป็นได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ ?"

พระทศพลเจ้าตรัสว่า "อานนท์เอย ! อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และนิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น"

พระอานนท์ทราบว่า บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและว้าเหว่ประดังขึ้นมาจนอัสสุชลธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีในพระเชฏฐภาดาท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้ว ทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ! ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย" กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก เพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย

"อานนท์เอย !" พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตร และพระพักตร์ "เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีก ๓ เดือนข้างหน้านี้ อานนท์ ! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่า ๑๖ ครั้งแล้วว่าคนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์คือ ๑๒๐ ปี ก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อนๆ นี้ ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไปเราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่ ๓ จะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เราไม่อาจกลับใจได้อีก" พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสต่อไปว่า

"อานนท์ ! เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะยอดเหมือนนกแร้ง อันได้นามว่า "คิชฌกูฏ" ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามชื่อ สุกรขาตา ณ ถ้ำนี้เองสาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือสารีบุตรได้ถอนตัณหานุ สัยโดยสิ้นเชิง เพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลานชายของเธอผู้มีนามว่าฑีฆนขะ เพราะไว้เล็บยาว

"เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้วฑีฆนขะปริพพาชกเที่ยวตามหาลุงของตน มาพบลุงของเขาคือสารีบุตรถวายงานพัดเราอยู่ จึงพูดเปรยๆ เป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า "พระโคดม ! ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด" ซึ่งรวมความว่า เขาไม่พอใจเราด้วยเพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่า 'ทุกสิ่งทุกอย่าง' เราได้ตอบเขาไปว่า "ถ้าอย่างนั้น เธอควรจะไม่พอใจความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย"

"อานนท์ ! เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป จนจิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง

"อานนท์เอย ! ณ ภูเขาคิชฌกูฏดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเราถ้าจะอยู่ต่อไปอีก ๑ กัปป์ หรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่

"อานนท์ ! ต่อมาที่โคตมนิโครธที่เหวสำหรับทิ้งโจรที่ถ้ำสัตตบรรณใกล้เวภารบรรพตที่กาฬ ศิลาใกล้เขาอิสิคิลิ ซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลย จึงกล่าวขานกันว่าอิสิคิลิบรรพต ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณทิกาใกล้ป่าสีตวันที่ตโปทาราม ที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ ที่มัททกุจฉิมิคาทายวัน ทั้ง ๑๐ แห่งนี้อยู่ ณ เขตแขวงราชคฤห์

"ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง แล้วจาริกสู่เวสาลีนครอันรุ่งเรืองยิ่ง เราก็ได้นัยแกเธออีกถึง ๖ แห่ง คือที่อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย คือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่ ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก

"อานนท์เอย ! บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคต อานนท์ ! เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว บัดนี้เป็นกาลสมควรที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกถึง ๓ เดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่ว คอยแต่เวลาจะจมลงสู่ท้องธารเท่านั้น

"อานนท์ ! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่าบุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจ เป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอย ! ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้น เป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ"

แลแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณทุคาม และโภคนครตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไป เพื่อโลกุตตราริยกรรม กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุต และวิมุตญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหา ชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์มหาสิงขร และสัตว์ตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน

"ศีลนี่เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐานย่อมเป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรืยนที่มีฝาผนัง มีประตู หน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลมแดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย เมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือโลกธรรม แผดเผากระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสวะ ต่างๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาตราอันคมกริบ แล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน

"ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นดุจประทีปแห่งดวงใจ

"อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติแต่เศร้าหมองไปเพราะคลุก เคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญาย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง"

"ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ย่อมพบกับปีติปราโมชอันใหญ่หลวง รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ เอิบอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั่นแล เป็นผู้รู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่างๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด ย่อมรู้ด้วยตนเองว่า บัดนี้แขนของตนขาดแล้ว"

"โอวาทานุศาสนี ของพระผู้มีพระภาคส่วนใหญ่เป็นไปเยี่ยงนี้

ข่าวการปลงพระชนมายุสังขาร ของพระศาสดาแผ่กระจายไปทั่วสังฆมณฑล ประดุจบุรุษผู้มีกำลังกระพือผ้าขาวคลุมบริเวณเนื้อที่อันน้อย บัดนี้สาวกของพระองค์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตรู้สึกว้าเหว่ หวิวหวั่นและเลื่อนลอย สาวกที่เป็นปุถุชนไม่อาจกลั้นอัสสุธาราไว้ได้ มีใบหน้าอาบด้วยน้ำตา ประชุมกันเป็นกลุ่มๆ รำพึงรำพันอยู่ว่า พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานเสียแล้ว พวกเราจะทำอย่างไรหนอ ส่วนสาวกผู้เป็นขีณาสพสิ้นอาสวะแล้วก็ได้แต่ปลงธรรมสังเวช คือความสลดใจตามแบบพระอริยะ

ภิกษุรูปหนึ่งได้นามว่า ธัมมาราม คิดว่า อีก ๓ เดือนข้างหน้าพระตถาคตเจ้าจะปรินิพพาน เราบวชในสำนักของพระองค์ แต่ยังมีอาสวะกิเลสอยู่ กระไรหนอเราจะพึงเพียรพยายาม เพื่อบรรลุอรหัตตผลในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ คิดดังนี้แล้ว ท่านมิได้จับกลุ่มกับภิกษุอื่นๆ มิได้เศร้าโศก ปลีกตนออกไปอยู่แต่ผู้เดียว พยายามทำสมณะและวิปัสสนา

ภิกษุทั้งหลายอื่นเห็นพฤติการณ์ดังนี้ เข้าใจว่าภิกษุธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระผู้มีพระภาคมิได้ จึงนำข้อความนั้นกราบทูลพระพุทธองค์

"พระเจ้าข้า" ภิกษุทูล "ภิกษุชื่อธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระองค์มิได้เลย เมื่อทราบว่าพระองค์จะปรินิพพานก็หาได้แสดงอาการเศร้าโศกอย่างใดไม่ ปลีกตนไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่เกี่ยวข้องไต่ถามเรื่องราวของพระองค์เลย"

พระศาสดารับสั่งให้พระธัมมารามเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า "ธัมมาราม !" ได้ยินว่าเธอทำอย่างที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวนี้หรือ ?"

"พระพุทธเจ้าข้า" พระธัมมารามทูลรับ

"ทำไมเธอจึงทำอย่างนั้น เธอไม่อาลัยใยดีในตถาคตหรือ ?" พระศาสดาตรัสถาม

"หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์คิดว่า ข้าพระองค์บวชแล้วในสำนักของพระองค์ผู้สรรเสริญความเพียรพยายาม บัดนี้พระองค์จะนิพพานแล้ว ทำไฉนหนอ ข้าพระองค์จะพึงทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันสูงสุด เพื่อบูชาพระองค์ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว"

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานออก ๓ ครั้งว่า "ดีแล้ว ภิกษุ !" แล้วผินพระพักตร์มาตรัสกับภิกษุทั้งหลายอื่นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดมีความเสน่หาอาลัยในเรา พึงทำตนอย่างธัมมารามภิกษุนี้ การทำอย่างนี้ ชื่อว่าบูชาเคารพ นับถือเราด้วยอาการอันยอดยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ยินดีในธรรม ตรึกตรองธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่เสื่อมจากพระนิพพาน"

แม้กระนั้นภิกษุทั้งหลายก็ไม่วายที่จะแวดล้อมพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง พระศาสดาทรงเห็นดังนี้ จึงเตือนภิกษุเหล่านั้นให้พยายามแสวงหาวิเวก เพื่อบรรลุคุณธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลส ด้วยพระพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่ คือ อริยสัจ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะคือ การปราศจากความกำหนัดยินดี ประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์ ๒ เท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุ ประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์ ๘ นี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์หาใช่ทางอื่นไม่

เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมีองค์ ๘ นี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามไม่ได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สูญสิ้นไป ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตนดังนั้น พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร"

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "มาเถิดอานนท์ ! เราจักไปกุสินารานครด้วยกัน" พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบพร้อมกัน แล้วดุ่มเดินจากสถานที่นั้นมุ่งสู่กุสินารานคร ในระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงแวะเข้าร่มพฤกษ์ใบหนาต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ทำเป็นสี่ชั้น

"อานนท์ ! เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน อาพาธก็มีอาการรุนแรงขึ้น เร็วเข้าเถิด รีบปูสังฆาฏิลงเราจะนอนพักผ่อน และขอให้เธอไปนำน้ำมาดื่มพอแก้กระหาย"

"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นลำน้ำไปสักครู่นี่เอง น้ำยังขุ่นอยู่ไม่ควรที่พระองค์จะดื่ม ขอเสด็จไปดื่ม ณ แม่น้ำกกุธานทีเถิด มีน้ำใสจืดสนิท เย็นดี"

"อย่าเลย อานนท์ !" พระตถาคตตรัสเป็นเชิงวิงวอน "อย่าเลยจนถึงแม่น้ำกกุธานทีเลย เรากระหายเหลือเกิน ร่างกายเร่าร้อน คอแห้งผาก เธอจงรีบไปนำน้ำมาเถิด"

พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว ถือบาตรของพระตถาคตเจ้าไป ท่านมีอาการเศร้าซึมและวิตกกังวล เมื่อมาถึงริมแม่น้ำยังมองเห็นน้ำขุ่นอยู่ ท่านมีอาการเหมือนว่าจะเดินกลับ แต่ด้วยความเชื่อและห่วงใยในพระศาสดาจึงเดินลงไปอีก พอท่านทำท่าจะตักขึ้นมาเท่านั้น น้ำซึ่งมีสีขุ่นขาวเพราะรอยเกวียนและโค ก็ปรากฏเป็นน้ำใสสะอาด เหมือนกระจกเงาซึ่งหญิงสาวผู้รักสวยรักงามขัดไว้ดีแล้ว ท่านจึงตักน้ำนั้นมา แล้วรีบเดินกลับ น้อมบาตรน้ำเข้าไปถวายพระศาสดา

พระพุทธองค์ทรงดื่มด้วยความกระหาย พระอานนท์มองดูด้วยความชื่นชมในพุทธบารมี แล้วทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า อัศจรรย์จริง! สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยปรากฏได้มีและปรากฏแล้ว เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมแท้" แล้วท่านก็เล่าเรื่องน้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดโดยฉับพลัน ให้พระผู้มีพระภาคสดับ พระจอมมุนีคงประทับสงบนิ่งด้วยอาการแห่งผู้เจนจบและเข้าใจในความเป็นไปทั้ง ปวง

ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย เมื่อพระองค์ผ่านมาทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรนายช่างทอง นางจุนทะทูลอาราธนารับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต รุ่งขึ้นได้เวลาแล้ว อาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวย พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสูกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก จึงรับสั่งให้ถวายแก่พระองค์แต่ผู้เดียว มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย

ดูเถิด ! พระมหากรุณาแห่งพระองค์มีถึงปานนี้ สำหรับพระองค์นั้นมิได้ห่วงใยในชีวิตแล้ว เพราะถึงอย่างไรๆ ก็จะต้องนิพพานในคืนวันนี้แน่นอน ทรงเป็นห่วงภิกษุสาวกว่าจะลำบาก ถ้าฉันอาหารที่ย่อยยากชนิดนั้น ประหนึ่งมารดาหรือบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมในบุตรของตน ทราบว่าอะไรจะทำให้บุตรธิดาลำบาก ย่อมพร้อมที่จะรับความลำบากอันนั้นเสียเอง



มีต่อ >>> พระอานนท์ร้องไห้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2009, 01:13:26 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:01:07 PM »



พระอานนท์ร้องไห้


สู กรมัทวะให้ผลในทันที อาการประชวรของพระองค์ทรุดหนักลงอย่างน่าวิตก มีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังเสด็จด้วยพระบาทเปล่าจากปาวาสู่กุสินารานครดังกล่าวแล้ว

พระองค์ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ หลายครั้งก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์แห่งหนึ่ง ขณะที่พระองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่า ปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสิการาเพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งามซึ่งมีสีเหลืองทองสิงคเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ผืนหนึ่งแก่พระองค์ผืนหนึ่ง

พระอานนท์ให้เห็นว่าผ้านั้นไม่ควรแก่ตน จึงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงที่ปราศจากควันและเปลว พระฉวีของพระพุทธองค์เล่าก็ช่างผุดผ่อง งดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใด เปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ ! บัดนี้พระองค์มีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่า เวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก มีอาการแห่งผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุไฉนผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก ?"

"อานนท์ ! พระศาสดาตรัสตอบ "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ คือคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงาม ประดุจรัศมีแห่งสุริยา เมื่อแรกรุ่งอรุณและจวนจะอัศดง ดูก่อนพระอานนท์ ! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนา มีดอกเป็นช่อชั้น" ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงสรงเสวยสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรปูลาดสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นแล้ว บรรทมด้วยสีหไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียรซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า

ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! เมื่อเรานิพพานแล้วอาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้น จุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสาร เดือดร้อนใจไปเองว่า เพราะเสวยสูกรมัทวะ อันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน ดูก่อนอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรช่างทองแล้ว เราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอจึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ และถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้ อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (ผู้ติดตาม) และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร

ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นอันมาก จากทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

"อานนท์ ! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"

พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด ?"

"อานนท์ ! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือสถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกคือ อิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสสิ้นไปคือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้คือ ป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอย ! สถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยบาทแห่งเรา"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร ?"

"อานนท์ ! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"

"ถ้าจำเป็นต้องดูแล้วเห็นเล่า พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก

"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ

"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"

"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย ก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์ และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"

"แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่ ?"

"ไม่เป็นซิ อานนท์ ? เธอระลึกได้อยู่หรือเราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"

พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองทบทวนพระพุทธวจนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้

จริงทีเดียว การไม่ยอมดูไม่ยอมแลสตรีเสียเลยนั้นเป็นการดีมาก แต่ใครเล่าจะทำได้อย่างนั้น ผู้ใดมีใจไม่หวั่นไหวด้วยเบ่งบานของดอกไม้งาม ดนตรีและอาการเยื้องกรายแห่งสตรีสาว ผู้นั้นถ้ามิใช่นักพรตก็เป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ดูเหมือนผู้เป็นนักพรตทั้งกายและใจนั้นมีน้อยเหลือเกิน เมื่อมีเรื่องที่จำเป็นต้องดูต้องแล เรื่องติดต่อเกี่ยวข้องก็เกิดขึ้น การติดต่อเกี่ยวข้องและคลุกคลีด้วยสตรีเพศนั้น ใครเล่าจะหักห้ามใจมิให้หวั่นไหวไปตามความอ่อนช้อย นิ่มนวลและอ่อนหวานของเธอ มีคำกล่าวไว้มิใช่หรือว่า "ความงามนั้นเป็นอำนาจที่คุกคามจิตใจของปุถุชนให้แพ้ราบ และการยิ้มนั้นคือคมดาบของเธอ เมื่อใดพบความงาม ถ้าความงามนั้นยังไม่ยิ้มก็ยังมีทางจะรอดพ้นไปได้ แต่เมื่อความงามนั้นยิ้มออกมา ย่อมหมายถึงเธอส่งคมดาบออกมาแล้ว" และยังมีคำกล่าวอีกว่า "เมื่อสตรีงามยิ้ม ย่อมหมายถึงถุงเงินของผู้ชายร้องไห้" ทำไมนะสัตว์โลกจึงหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส เสียจริงๆ สตรีที่พราวเสน่ห์แต่ไร้มโนธรรม จิตใจสกปรกจึงเป็นเพชฌฆาต มือนุ่มซึ่งมียิ้มและกิริยาที่ยียวนเป็นคมดาบ มีน้ำตาเป็นหลุมพรางสำหรับให้ชายตกลงไปในหลุมน้ำตานั้น

บางทีเธอจะมีความสุขร่าเริงเหมือนนกน้อย ในขณะที่หัวใจของชายที่เธอเคยปอง ร้าวสลายลงด้วยความผิดหวัง บางทีเธอจะทำเป็นโกรธชายที่เธอแสนจะหลงรักเพียงเพื่อพรางสายตาของคนอื่น บางทีเธอจะยิ้มอย่างอ่อนหวานในขณะที่ในความรู้สึกของเธอแสนจะเคียดแค้นและ ชิงชังเขา และบางทีเธอจะร้องไห้น้ำตาอาบแก้มในขณะที่ใจของเธออิ่มเอิบไปด้วยปีติปราโมช อา ! จะเอาอะไรเล่ามาวัดความลึกแห่งหัวใจของสตรี พระศาสดาตรัสไว้มิใช่หรือว่า อาการของสตรีนั้นรู้ยากเข้าใจยาก เหมือนการไปของปลาในน้ำ

ปราชญ์ผู้ทรงวิทยาคุณกว้างขวางลึกซึ้งสามารถหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร เหมือนมองเศษกระดาษบนฝ่ามือ แต่ปราชญ์เช่นนั้น จะกล้าอวดอ้างได้ละหรือว่าตนสามารถหยั่งรู้ความรู้สึกล้ำในหัวของสตรี

อย่ามัวกล่าวอะไรให้มากเลย ธรรมชาติของเธอเป็นอย่างนั้นเอง มหาสมุทรเต็มไปด้วยภัยอันตราย แต่มหาสมุทรก็มีคุณแก่โลกอยู่มิใช่น้อย การค้นหาความจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องต่างหากเล่า เป็นทางดำเนินของผู้มีปัญญา

ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพระอานนท์ก็ทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จะปฏิบัติเกี่ยวพระพุทธสรีระอย่างไร"

"อย่าเลยอานนท์" พระศาสดาทรงห้าม "เธออย่างกังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมาก ที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"

"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกอย่างไร"

"อานนท์ ! ชนทั้งหลายเมื่อจะปฏิบัติต่อพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"

"ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"

"อานนท์ ! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่ หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธารด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทาง ๔ แพร่งในสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"

แลแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐธาตุไว้ในพระสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมหาชนไว้ ๔ จำพวก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ

ตรัสแล้วบรรทมนิ่งอยู่ พระอานนท์ถอยออกจากที่เฝ้า เพราะความเศร้าสลดสุดที่จะอดกลั้นได้ ท่านไปยืนอยู่ที่ประตูวิหารมือจับลิ่มสลักนิ่งอยู่ น้ำตาไหลพรากจนอาบแก้ม แล้วเสียงสะอื้นเบาๆ ก็ตามมา บัดนี้ท่านมีอายุอยู่ในวัยชรานับได้ ๘๐ แล้ว เท่ากับพระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทมานานถึง ๔๔ พรรษา ได้ยินได้ฟังพระธรรมและอบรมจิตใจอยู่เสมอ ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต้นเป็นโสดาบันบุคคล ผู้มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ถ้าไม่มีเรื่องกระเทือนใจอย่างแรงคงจะไม่เศร้าโศกปริเทวนาการถึงขนาดนี้

ท่านสะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งองค์ บางคราวจะมองเห็นผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายสั่นน้อยๆ ตามแรงสั่นแห่งรูปกาย แน่นอนท่านรู้สึกสะเทือนใจและว้าเหว่อย่างยิ่ง เป็นเวลานานเหลือเกินที่ท่านและพระศาสดาได้ทำประโยชน์และเอื้อเฟื้อต่อกัน การจากไปของพระผู้มีพระภาคจึงเป็นเสมือนกระชากดวงใจของท่านให้หลุดลอย

"โอ ! พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลกและของข้าพระองค์" เสียงครวญเคล้าออกมากับเสียงสะอื้น "ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้ว พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพมาด่วนจากข้าพระองค์ ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ เหมือนพี่เลี้ยงสอนให้เด็กเดิน เมื่อเด็กน้อยพอจะหัดก้าวเท่านั้นพี่เลี้ยงก็มีอันพลัดพรากจากไป ข้าพระองค์เหมือนเด็กน้อยผู้นั้น" พระอานนท์คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

เมื่อพระอานนท์หายไปนานผิดปกติ พระศาสดาจึงตรัสถามว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์หายไปไหน ?"

"ไปยืนร้องไห้อยู่ ที่ประตูพระวิหารพระเจ้าข้า" ภิกษุทั้งหลายทูล

"ไปตามอานนท์มานี่เถิด" พระศาสดาตรัส

พระอานนท์เข้าสู่ที่เฝ้าด้วยใบหน้าที่ยังชุ่มด้วยน้ำตา พระศาสดาตรัสปลอบใจว่า "อานนท์ ! อย่าคร่ำครวญนักเลย เราเคยบอกไว้แล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจเป็นธรรมดา ในโลกนี้และในโลกไหนๆ ก็ตามไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรเลย สิ่งที่มีการเกิดย่อมมีการดับในที่สุด ไม่มีอะไรยับยั้งต้านทาน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นประดุจดวงตะวัน" พระอานนท์ทูลด้วยเสียงสะอื้นน้อยๆ "ข้าพระองค์มารำพึงว่า ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ข้าพระองค์เที่ยวติดตามประดุจฉายา ต่อไปนี้ข้าพระองค์จะพึงติดตามผู้ใดเล่า จะพึงตั้งน้ำใช้น้ำเสวยเพื่อผู้ใด จะพึงปัดกวาดเสนาสนะที่หลับที่นอนเพื่อผู้ใด อนึ่ง เวลานี้ข้าพระองค์ยังมีอาสวะอยู่ พระองค์มาด่วนปรินิพพาน ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น ข้าพระองค์คงอยู่อย่างว้าเหว่และเดียวดาย เมื่อคำนึงอย่างนี้แล้วก็สุดจะหักห้ามความโศกกำสรดได้"

"อานนท์ ! เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วมาก เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วมาก อย่าเสียใจเลย กิจอันใดที่ควรทำแก่ตถาคต เธอได้ทำกิจนั้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาอย่างยอดเยี่ยม จงประกอบความเพียรเถิด เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอจะต้องสำเร็จอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ในไม่ช้า" ตรัสดังนี้แล้ว จึงเรียกภิกษุทั้งหลายเข้ามาสู่ที่ใกล้ แล้วตรัส ทรงสรรเสริญพระอานนท์โดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์เป็นบัณฑิต เป็นผู้รอบรู้และอุปฐากเราอย่างยอดเยี่ยม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีตและอนาคตซึ่งมีภิกษุผู้อุปฐากนั้นๆ ก็ไม่ดีเกินไปกว่าอานนท์ อานนท์เป็นผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญารู้กาลที่ควรไม่ควร รู้กาลที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มาเฝ้าเรา ว่ากาลนี้สำหรับกษัตริย์ กาลนี้สำหรับราชามหาอำมาตย์ กาลนี้สำหรับคนทั่วไป ควรได้รับการยกย่องนานาประการมีคุณธรรมน่าอัศจรรย์ ผู้ที่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยสนทนาก็อยากเห็นอยากสนทนาด้วย อยากฟังธรรมของอานนท์ เมื่อฟังก็มีจิตใจเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่อานนท์แสดงไม่อิ่มไม่เบื่อ ด้วยธรรมวารีรส...ภิกษุทั้งหลาย ! อานนท์ เป็นบุคคลที่หาได้ยากผู้หนึ่ง

พระอานนท์ผู้มีความห่วงใยในพระศาสดาไม่มีที่สิ้นสุด กราบทูลด้วยน้ำเสียที่ยังเศร้าอยู่ว่า

"พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์เป็นดุจพระเจ้าจักรพรรดิในทางธรรม ทรงสถาปนาอาณาจักรแห่งธรรมขึ้น ทรงเป็นธรรมราชา สูงยิ่งกว่าราชาใดๆ ในพื้นพิภพนี้ ข้าพระองค์เห็นว่าไม่สมควรแก่พระองค์เลยที่จะปรินิพพานในเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ขอพระองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี จำปา สาเกต โกสัมพี พาราณสี เป็นต้น เถิด พระเจ้าข้า ในมหานครเหล่านั้น กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คหบดี และทวยนครทุกชั้นที่เลื่อมใสพระองค์ก็มีอยู่มาก จักได้ทำมหาสักการะแด่สรีระแห่งพระองค์เป็นมโหฬาร ควรแก่ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอุดมบุรุษรัตน์ในโลก"

"อานนท์ ! เธออย่ากลัวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย ! ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้ เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน

"อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองเล็ก แต่ในโบราณกาลกุสินารา เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ นามว่ามหาสุทัสสนะ นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์ มั่งคั่ง มีคนมาก มีมนุษย์นิกรเกลื่อนกล่น พรั่งพร้อมด้วยธัญญาหารมีรมณียสถานที่บันเทิงจิต ประดุจดังราชธานีแห่งทิพยนคร กุสาวดีราชธานีนั้น กึกก้องนฤนาททั้งกลางวันและกลางคืนด้วยเสียง ๑๐ ประการ คือเสียงคชสาร เสียภาชี เสียเภรและรภ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงสังข์ รวมทั้งสำเนียงประชาชนเรียกกันบริโภคอาหารด้วยความสำราญเบิกบานจิต

"พระเจ้ามหาสุทัสสนะองค์จักรพรรดิเล่า ก็ทรงเป็นอิสราธิบดีในปฐพีมณฑล ทรงชำระปัจฉามิตรโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์และศัสตรา ชนบทสงบราบคาบปราศจากโจรผู้ร้าย มารดายังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอกด้วยความเพลิดเพลิน ประตูบ้านปราศจากลิ่มสลัก เป็นนครที่รื่นรมย์ร่มเย็นสมเป็นราชธานีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชอย่างแท้ จริง

"อีกอย่างหนึ่ง อานนท์เอย ! เมื่อมองมาทางธรรมเพื่อให้เกิดสังเวชสลดจิต ก็พอคิดได้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มุ่งไปสู่จุดสลายตัว อานนท์จงดูเถิดพระเจ้าจักรพรรดิมหาสุททัสสนะก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เมืองกุสาวดีก็เปลี่ยนมาเป็นกุสินาราแล้ว ประชาชนชาวกุสาวดีก็ตายกันไปหมดแล้ว นี่แลไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน ตถาคตเองก็จะนิพพานในไม่ช้านี้"

แล้วพระศาสดาก็รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ว่า พระตถาคตเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรี เมื่อมัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินาราสดับข่าวนี้ ต่างก็ทรงกำสรดโศกาดูรทุกข์โทมนัสทับทวี สยายพระเกศา ยกพระพาหาทั้งสองขึ้นแล้วคร่ำครวญล้มกลิ้งลิ้งเกลือกประหนึ่งบุคคลที่เท้า ขาด ร่ำไรรำพันถึงพระโลกนาถว่า "พระโลกนาถด่วนปรินิพพานนัก ดวงตาของโลกดับลงแล้ว ประดุจสุริยาซึ่งให้แสงสว่างดับวูบลง"

ด้วยอาการโศกาดูรดังนี้ มัลลกษัตริย์ตามพระอานนท์ไปเฝ้าพระศาสดา ณ สาลวโนทยาน พระอานนท์จัดให้เข้าเฝ้าเป็นตระกูลๆ ไป แล้วกลับสู่สัณฐาคาร คืนนั้น มัลลกษัตริย์ประชุมกันอยู่จนสว่างมิได้บรรทมเลย



มีต่อ >>> ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2009, 01:16:24 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:01:28 PM »

ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร


ย่างเข้ายามที่สองแห่งราตรี ลมเย็นพัดผ่านมาเป็นครั้งคราว รอบๆ อุทยานสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยอัสสุชลธาราแห่งมหาชนผู้เศร้าสลดสุดประมาณ เขาหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความรักและรันทดใจ พระจันทร์วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะโผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออกแล้ว โตเต็มดวงสาดแสงสีนวลใยลงสู่อุทยานสาลวันพรมไปทั่วบริเวณมณฑล ต้องใบสาละ ซึ่งไหวน้อยๆ ดูงามตา แต่บรรยากาศในยามนี้สลดเกินไปที่ใครๆ จะสนใจกับความงามแห่งแสงโสมที่สาดส่องเหมือนจงใจจะบูชาพระสรีระแห่งจอมศาสดา นั้น

เงียบสงบ วังเวง จะได้ยินอยู่บ้างก็คือ เสียงสะอึกสะอื้น และทอดถอนใจของคนบางคนที่เพิ่งมาถึง

ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าวนี้ นักบวชเพศปริพพาชกหนุ่มคนหนึ่ง ขออนุญาตผ่านฝูงชนเข้ามา เพื่อเข้ามาใกล้เขาบอกว่าขอเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้สดับเสียงนั้นจึงออกมารับ และขอร้องวิงวอนว่าอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

"ข้าแต่ท่านอานนท์ !" ปริพพาชกผู้นั้นกล่าว "ข้าพเจ้าขออนุญาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ ขอท่านได้โปรดอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าสุภัททะปริพพาชก"

"อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนัก จะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน"

"ท่านอานนท์ !" สุภัททะเว้าวอนต่อไป "โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเฝ้าพระศาสดาเถิด"

พระอานนท์คงทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ย่อมย่อท้อ จนกระทั่งได้ยินถึงพระศาสดา

เรื่องก็เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา พระศาสดามีพระมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด รับสั่งกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด"

เพียงเท่านี้สุภัททะปริพพาชก ก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์ เข้ากราบลงใกล้เตียงบรรทมแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี ! ข้าพระองค์นามว่า สุภัททะ ถือเพศเป็นปริพพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอวาทซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามว่าข้อข้องใจบางประการ เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

"ถามเถิดสุภัททะ" พระศาสดาตรัส

"พระองค์ผู้เจริญ ! คณาจารย์ทั้ง ๖ คือปูรณะ กัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะ กัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด"

"เรื่องนี้หรือ สุภัททะ ที่เธอดิ้นรนขวนขวายพยายามมาหาเราด้วยความพยายามที่อย่างยิ่งยวด" พระศาสดาตรัส ยังหลับพระเนตรอยู่

"เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า" สุภัททะทูลรับ

พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า

"อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเรา และของเธอยังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด"

"ข้าแต่ท่านสมณะ ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ๓ ข้อ คือรอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่มี สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่ ?"

"สุภัททะ ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เทียงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ ?"

"มีเท่านี้พระเจ้าข้า" สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่

พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า " สุภัททะ ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูก่อนสุภัททะ ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐสามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็ม ที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุหรือใครๆ ก็ตามพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกนี้จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

สุภัททะ ฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติตถิยปริวาส คือบำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลา ๔ เดือนก่อน แล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ นี้เป็นประเพณีที่พระองค์ทรงตั้งไว้เป็นเวลานานมาแล้ว สุภัททะทูลว่า เขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสัก ๔ ปี

พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะดังนั้น จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว นำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดา พระผู้ทรงมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

สุภัททะภิกษุใหม่ ตั้งใจอย่างแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้ ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพาน จึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาลวันนั้น

จงกรมนั้นคือเดินกลับไปกลับมา พร้อมด้วยพิจารณาข้อธรรมนำมาทำลายกิเลสให้หลุดร่วง บัดนี้ร่างกายของสุภัททะภิกษุห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนี้ดูผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตกแล้ว สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรี เพื่อจะบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานในปลายปัจฉิมยาม ดังนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ

แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนัก เมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโสมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม

ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบด้วยดวงจันทร์

"อา !" ท่านอุทานเบาๆ "จิตนี้เป็น ธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง"

แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปกรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศัสตรา คือวิปัสสนาปัญญา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสาสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนั่งอยู่

สุภัททะภิกษุ ปัจฉิมสาวกอรหันต์ผู้นี้ ชื่อพ้องกับสุภัททะอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรแห่งสหายของพระผู้มีพระภาคผู้มีนามว่าอุปกะ มีประวัติเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธองค์อันน่าสนใจยิ่งผู้หนึ่ง

นับถอยหลังจากนี้ไป ๔๕ ปี สมัยเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงดำริจะโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมิคทายะ เสด็จดำเนินจากบริเวณโพธิมณฑลไปสู่แขวงเมืองพาราณสี ในระหว่างทางได้พบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า อุปกะอยู่ในวัยค่อนข้างชราแล้ว เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินสวนทางไปจึงถามว่า "สมณะ ! ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก อินทรีย์ของท่านสงบน่าเลื่อมใส ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ?"

"สหาย !" พระศาสดาตรัสตอบ "เราเป็นผู้ครอบงำไว้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นใหญ่ในตนเองเต็มที่ เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่างในทางธรรม เราหักกรรมแห่งสังขารจักร เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดได้แล้วด้วยตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะพึงอ้างใครเล่าว่าเป็นศาสดา"

อาชีวกได้ฟังดังนี้แล้วนึกดูหมิ่นอยู่ในใจว่าสมณะผู้นี้ช่างโอหัง ลบหลู่คุณของศาสดาตน น่าจะลองถามชื่อดูเพื่อว่าจะมีคณาจารย์เจ้าลัทธิใหญ่ๆ จะจำได้บ้างว่าเคยเป็นศิษย์ของตน คิดดังนี้แล้วจึงถามว่า

"สมณะ ! ที่ท่านกล่าวมานี้ก็น่าฟังอยู่ดอก แต่จะเป็นไปได้หรือ คนที่รู้อะไรๆ ได้เองโดยไม่มีครูอาจารย์ แต่ช่างเถิดข้าพเจ้าไม่ติดใจในเรื่องนี้นักดอก ข้าพเจ้าปรารถนาทราบนามของท่าน เผื่อว่าพบกันอีกในคราวหน้าจะได้ทักทายกันถูก"

พระศากยมุนี ผู้มีอนาคตังสญาณทราบเหตุการณ์ภายหน้าได้โดยตลอด ทรงคำนึงถึงประโยชน์บางอย่างในอนาคตแล้วตรัสตอบว่า "สหาย ! เรามีนามว่าอนันตชิน ท่านจำไว้เถิด"

"อนันตชิน !" อุปกะอุทาน "ชื่อแปลกดีนี่"

แล้วอุปากาชีวกก็เดินเลยไป พระศาสดาก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่พาราณสี

อุปกะเดินทางไปถึงหมู่บ้านพรานเนื้ออาศัยอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านนั้น

ตอนเช้าเขาเข้าไปภิกขาจารในหมู่บ้านพรานเนื้อนั้น หัวหน้าพรานเห็นเข้าเกิดความเลื่อมใสจึงอาราธนาให้มารับภิกษาที่บ้านของตน ทุกๆ เช้า อุปกะรับอาราธนาด้วยความยินดี แต่ซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ภายใน ตามวิสัยแห่งนักบวชผู้ยังมีความละอายอยู่

ต่อมาไม่นาน นายพรานเนื้อจำเป็นต้องเข้าป่าใหญ่เป็นเวลาหลายวันเพื่อล่าเนื้อ จึงเรียกลูกสาวมาแล้วกล่าวว่า "สุชาวดีลูกรัก พ่อจะต้องออกป่าเป็นเวลาหลายวัน พ่อเป็นห่วงพระของพ่อ คือท่านอุปกะ ขอให้ลูกรับหน้าที่แทนพ่อ คือตลอดเวลาที่พ่อไม่อยู่ ขอให้ลูกถวายอาหารแก่ท่านแทนพ่อ ปฏิบัติบำรุงท่านเหมือนอย่างที่พ่อเคยทำ"

เมื่อสุชาวดี สาวงามบ้านป่ารับคำของพ่อแล้ว นายพรานก็เข้าป่าด้วยความโล่งใจ รุ่งขึ้นอุปกะก็มารับภิกษาตามปกติ สุชาวดีเชื้อเชิญให้นั่งบนเรือนแล้วถวายภิกษาอันประณีต สนทนาด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส อุปกะเห็นอาการของนางดังนั้นก็ยินดียิ่งนัก เพราะท่านย่อมว่า

"มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีใจอารี มีความยินดีที่จะสนทนา เปล่งวาจาไพเราะ มีกิริยาสุภาพ เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้ตั้งใจคบ

มีหน้าตาจืดบึ้งไม่ยิ้มแย้ม ลืมความหลัง มีกิริยาอันน่าชัง เอาความเสียไปนินทา เวลาสนทนาชอบนำเอาเรื่องคนอื่นมาพูดให้ยุ่งไป เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้มีใช่มิตร"

สุชาวดีงามอย่างสาวบ้านป่า ผมดกดำ นัยน์ตากมลโต ใบหน้าอิ่มเอิบมีเลือดฝาดมองเห็นชัดที่พวงแก้ม อุปกะมองเธอด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย แม้อายุจะเหยียบย่างเข้าสู่วัยชรา แต่ก็ยังตัดอาลัยในเรื่องนี้ไม่ได้ สุชาวดีอยู่ในวัยสาวและสวยสด เป็นดอกไม้ที่ไม่เคยมีแมลงตัวใดมากล้ำกราย นางสังเกตเห็นอาการของอุปกะแล้วก็พอจะล่วงรู้ถึงความปั่นป่วนภายในของนักพรต วัยชรา แต่ด้วยมรรยาทแห่งเจ้าของบ้านอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเป็นนักบวชที่บิดาเคารพนับถือ นางจึงคงสนทนาพาทีอย่างละมุนละไมตามเดิม

จริงทีเดียว สตรีสามารถเข้าใจวิถีแห่งความรักได้อย่างรวดเร็ว แม้เธอจะไม่ชอบชายที่รักเธอ แต่เธอก็อดภูมิใจมิได้ที่มีชายมารักหรือสนใจ แม้สุชาวดีจะเป็นเด็กสาวชาวป่า แต่เล่ห์แห่งโลกีย์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสัตว์ที่พอจะเข้าใจได้ มนุษย์และสัตว์เกิดมาจากกามคุณ จึงง่ายที่จะเข้าใจในเรื่องกามคุณ และจิตใจก็คอยดิ้นรนที่จะลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณนั้น เหมือนวานรเกิดในป่า ปลาเกิดในน้ำ ก็พยายามที่จะดิ้นรนเข้าป่า และกระโดดลงน้ำอยู่เสมอ สตรีเปรียบประดุจน้ำมัน บุรุษเล่าก็อุปมาเหมือนเพลิง เมื่อเพลิงอยู่ใกล้น้ำมันก็อดที่จะลามเสียมิได้

ในวันที่ ๒ และวันที่ ๓ อุปกะคงมารับภิกษาที่บ้านของสุชาวดีดังเดิม และอาการก็คงเป็นไปทำนองนั้น

"สุชาวดี" ตอนหนึ่งอุปกะถามขึ้น "พอจะทราบไหมว่า คุณพ่อของเธอจะกลับวันไหน ?"

"ไม่ทราบ พระคุณเจ้า" สุชาวดีตอบก้มหน้าเอานิ้วขีดพื้นด้วยความขวนอาย "ธรรมดาที่เคยไป ก็ไม่เกิน ๗ วัน"

"เธอคิดถึงคุณพ่อไหม ?" อุปกะถามเพ่งมองสุชาวดีอย่างไม่กระพริบตา

"คิดถึง" สุชาวดีตอบ

"คุณพ่อของเธอมีบุญมาก" อุปกะเปรย

"เรื่องอะไรพระคุณเจ้า ?" สุชาวดีถาม เงยหน้าขึ้นนิดหน่อย

"มีลูกสาวดี ทำอาหารอร่อย" อุปกะชม "สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาทของบิดา"

สุชาวดีก้มหน้านิ่ง คงเอานิ้วขีดไปขีดมาอยู่กับพื้นที่ชานเรือน "แล้วก็" อุปกะพูดต่อ "สุชาวดีสวยด้วย สวยเหมือนกล้วยไม้ในพงไพร"

"!!" สุชาวดีอ้าปากค้าง ไม่นึกว่านักพรตวัย ๔๕ จะพูดกับเธอซึ่งรุ่นราวคราวลูกด้วยถ้อยคำอย่างนี้

"จริงๆ นะ สุชาวดี" อุปกะยังคงพล่ามต่อไป "ฉันท่องเที่ยวไปแทบจะทุกหนทุกแห่งในชมพูทวีป ยังไม่เคยพบใครสวยเหมือนเธอเลย"

พูดเท่านั้นแล้วอุปกะก็ลากลับ เขาจากไปด้วยความอาลัย สุชาวดีมองอุปกะด้วยสายตาที่บรรยายไม่ถูก ขันก็ขัน สังเวชก็สังเวช แต่ความรู้สึกภูมิใจซึ่งซ่อนอยู่อย่างมิดเม้นนั้น ก็ดูเหมือนจะมีอยู่ เมื่ออุปกะเลยเขตรั้วบ้านไปแล้ว นางจึงวิ่งเข้าห้องนอนหยิบกระจกส่องหน้าขึ้นมาดู "เออ ! เราสวยจริงซีนะ" นางเปรยกับตัวเอง พลางสำรวจไปทั่วสรรพางค์

อย่างนี้เอง ผู้หญิง !! คงเป็นผู้หญิงอยู่นั่นเอง ไม่ว่ามหาราชินีหรือคนหักฟืนขาย เมื่อถูกชมว่าสวยก็อดจะลิงโลดไม่ได้ เธอปักใจเสียเหลือเกินว่ารูปของเธอเป็นทรัพย์ แต่ความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มีสตรีมากหลายที่ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์เพราะรูปงาม

โกกิลามํ สทฺทํ รูปํ
นกกกิลาสำคัญที่เสียง

นารี รูปํ สุรูปตา
นารีสำคัญที่รูป

วิชฺชา รูปํ ปุริสานํ
บุรุษสำคัญที่วิทยาคุณ

ขมา รูปํ ตปสฺสินํ
นักพรตสำคัญที่อดทน

ถ้าสามอย่างถูกต้อง เรื่องนารีสำคัญที่รูปจะผิดไปได้อย่างไร แต่นารีที่ทรงโฉมสะคราญตานั้น ถ้าไร้เสียแล้วซึ่งนารีธรรม เธอจะเป็นสตรีที่สมบูรณ์ได้ละหรือ เหมือนดอกไม้งามแต่ไร้กลิ่น ใครเล่าจะยินดีเก็บไว้ชมเชย ของจะมีค่าต่อเมื่อมีผู้ต้องการ

วันนั้นสุชาวดีมีความสุขสดชื่น รื่นเริงไปทั้งวัน แต่เธอหารู้ไม่ว่าขณะเดียวกันอุปกะกำลังเศร้าซึมอยู่ที่อาศรม

อุปกะก็เหมือนผู้ชายโง่ๆ ทั่วไป ที่พอเห็นสตรีที่ดีด้วย ก็ทึกทักเอาว่าเขารักตน บัดนี้ศรกามเทพได้เสียบแทงอุปกะเสียแล้ว ความรักไม่เคยปรานีใคร เที่ยวเหยียบย่ำ ทำลายมนุษย์ และสัตว์ทั่วหน้า เข้าตั้งแต่กระท่อมน้อยของขอทาน ไปจนถึงพระราชวังอันโอ่อ่าของกษัตริยาธิราชผู้ทรงศักดิ์ กัดกินหัวใจของคนไม่เลือกว่าวัยเด็ก หนุ่มสาว หรือวัยชรา ใช้ดอกไม้ของมาร ๕ ดอกเป็นเครื่องมือ เที่ยวไปในตามนิคมราชธานีต่างๆ ดอกไม้ ๕ ดอกนั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เมื่อใครหลงใหลมึนเมาแล้วก็ห้ำหั่นย่ำยีจนพินาศลง

บัดนี้ อุปกะได้หลงใหลมึนเมาในพวงดอกไม้ของมาร คือรูปและเสียงของสุชาวดีแล้ว แม้จะไม่เคยได้กลิ่นแก้มและสัมผัสกาย อย่างนี้เสียอีกทำให้มีจินตนาการอันเตลิดเจิดจ้า และก็ซึมเซาเศร้าหมอง

คนที่ไม่เคยรบก็มักจะทะนงว่าตนกล้า คนที่ไม่เคยงานมักจะทะนงว่าตนเก่ง คนที่ไม่เคยรักก็มักจะทะนงว่าตนรักได้โดยไม่มีทุกข์ ทั้งนี้เพราะคนประเภทแรกไม่เคยรู้กำลังของศัตรู ประเภทที่สองไม่เคยรู้ความยากและความละเอียดของงาน ประเภทที่สามเพราะไม่เคยรู้ซึ่งถึงกำลังของนารี จริงทีเดียว ท่านกล่าวไว้ว่าพระอาทิตย์มีกำลังในเวลากลางวัน พระจันทร์มีกำลังในยามราตรี แต่นารีมีกำลังทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งในเวหาและป่ากว้าง มิฉะนั้นแล้วทำไมเล่าขุนพลผู้เกรียงไกรเอาชนะดัสกรได้ทั้งทางบกทางน้ำ ทั้งบนเวหาและป่าใหญ่ แต่มายอมแพ้แก่หัตถ์น้อยที่ไกวเปล มีแต่ความงามและน้ำตาเป็นอาวุธประจำตน

บางที นักพรตผู้ทรงศีล มีตบะมีอำนาจและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อถูกพิษแห่งความรักแทรกซึมเข้าสู่หัวใจโดยสตรีเป็นผู้หยิบยื่นให้ ศีลก็พลันเศร้าหมอง ตบะและอำนาจก็พลันเสื่อม วาจาศักดิ์สิทธิ์ก็กลายเป็นกลับกลอก สิ่ง ใดเล่าในโลกนี้จะสามารถทำลายความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของชาย ได้เท่ากับกำลังแห่งสตรี ชายใดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรี ไม่ยินดีในลาภและยศ ชายนั้นชื่อว่าผู้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เป็นผู้ชนะโลก



มีต่อ >>> อุปกาชีวกกับพวงดอกไม้มาร
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:01:55 PM »

อุปกาชีวกกับพวงดอกไม้มาร


อุป กะนั่งเศร้าซึมอยู่หน้าอาศรม ความร่มรื่นของราวป่าในยามนี้ ซึ่งเคยเป็นที่พออกพอใจของเขายิ่งนักนั้น ได้กลายเป็นที่ทรมานไปเสียแล้ว เสียงนกเล็กๆ วิ่งไล่จับกัน และส่งเสียงร้องด้วยความชื่นบานบนกิ่งไม้

เขาเคยมองดูและฟังเสียงมันด้วยความนิยมชมชื่น แต่บัดนี้มันเป็นของแสลงสำหรับเขา นานๆ เขาจะสะดุ้งขึ้นครั้งหนึ่ง เพราะได้ยินเสียงหวาดแว่วเหมือนสำเนียงของสุชาวดี แต่แล้วเขาคงเศร้าซึมต่อไป เพราะมันเป็นเพียงเสียงลมหวีดหวิวพัดผ่านมาเท่านั้น เขาก้มลงสำรวจตัวเอง เอามือลูบคลำแขนและปลีน่อง รู้สึกตัวว่าย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว แม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่ความรักเพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา ใน โลกียวิสัย อะไรเล่าจะทำให้คนซึมเศร้าและชื่นบานมากไปกว่าความรัก ในความรักมีทั้งความขมและความหวาน มีทั้งเรื่องร้อนเร่า ตื่นเต้น และเยือกเย็น ละเมียดละไม ความรักจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันยังมีอิทธิพลครอบคลุมจิตใจของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย แทรกแซงอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าในทุ่งนา หรือป่าเขา ในปราสาทราชมณเฑียรอันโอ่อ่าของวีรกษัตริย์ หรือกระท่อมของขอทาน ในหมู่โจรผู้เหี้ยมโหด หรือในหมู่นักพรตผู้มีกาสาวพัสตร์เป็นธงชัย ความเป็นเป็นความหวัง เป็นความชุ่มชื่น แม้มันจะกลับกลายเป็นขมขื่นปวดร้าวระบมในภายหลัง แต่ก็ยังเป็นความหลังที่ให้บทเรียนอันล้นค่า ควรแก่การจดจำและระลึกถึง ความรักเหมือนน้ำใสเย็นจืดสนิท แต่มีพิษยาแทรกซึมอยู่ด้วยเพียงเบาๆ เย้ายวนชวนเชิญให้กระหายใคร่ดื่ม แล้วยาพิษก็ค่อยๆ แสดงฤทธิ์ทีละน้อยพอกระวนกระวาย ดั่งที่อุปกะกระวนกระวายอยู่ ณ บัดนี้

ความรักเหมือนสุรา ผู้ที่ดื่มแก้วแรกแล้วก็อยากจะดื่มอีก และดื่มอีก การเมารักก็เหมือนเมาเหล้า ทำให้ใจกล้า และตาลาย ตัดสินใจอะไรง่ายๆ ขาดสติคุ้มครองตน คิดเอาแต่ความสุขเฉพาะหน้า

ใบหน้าและกิริยาพาทีของสุชาวดีน้อยปรากฏในห้วงนึกเหมือนภาพจำลอง เขานั่งและเดินกลับไปกลับมาด้วยความรู้สึกที่วุ่นวายและเศร้าหมอง ความจริงคนอายุวัยนี้ มีความสำนึกในการสำรวจตน และหักห้ามใจได้ดีพอใช้แล้ว แต่น้ำรักก็เหมือนน้ำสุรา มักทำให้คนฟั่นเฟือนหลงใหล และปล่อยตัว ขาดพลังในการหน่วงเหนี่ยวจิตใจ

เขาเดินกระวนกระวายอยู่จนค่ำสนธยา ท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเป็นสีแสดเข้ม ฝูงวิหคนกกาเริ่มทะยอยกลับสู่รวงรัง เสียงชะนีโหยหวนก้องป่า วิเวกวังเวงเตือนให้อุปกะระลึกถึงตนว่า ช่างเหมือนชะนีน้อยเสียเหลือเกิน ทินกรลับขอบฟ้าไปแล้ว ความมืดปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณไพรไม่นานนัก ดวงจันทร์ก็แผ่รัศมีกระจายไปทั่ว อุปกะนั่งอยู่หน้าอาศรมมองดูดวงจันทร์ แต่ใจนั้นระลึกถึงสุชาวดีอยู่มิได้ว่างเว้น จันทราและหน้านางนั้นต่างกันมากนัก เมื่อมองดูจันทร์งาม ความรู้สึกจะมีเพียงว่าสดชื่น แจ่มใส และร่มเย็น คลายกังวลได้บ้าง และไม่เคยมีใครอยากได้ดวงจันทร์มาเป็นของตน แต่ใบหน้าอันพริ้มเพรางามเฉิดฉายของสาวน้อย เมื่อมองดูแล้วทำให้จิตใจกระวนกระวายเร่าร้อนดิ้นรน แม้จะแฝงไว้ด้วยความสุขที่ระคนด้วยความระทึกใจก็ตาม และแล้วความรู้สึกใคร่ได้ใคร่เป็นเจ้าของก็มีขึ้น แต่ที่ยับยั้งไว้ได้ก็เพราะศีลธรรม มโนธรรมคอยกระซิบอยู่ ถ้าไร้เสียซึ่งศีลธรรมและมโนธรรม และประกอบด้วยความมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยเงินและอำนาจ บุคคลผู้นั้นจะปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไป ตามความปรารถนาในโลกิยารมณ์อันหาขอบเขตมิได้...โลกิยารมณ์ซึ่งประกอบด้วยกาม กิน และเกียรติ เรื่องทั้งสามนี้เป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของโลกียชน

บัดนี้ อุปกะแม้จะอยู่ในเพศและภาวะแห่งผู้สละแล้วซึ่งโลกีย์ แต่จิตใจของเขาได้ดื่มด่ำล้ำลึกลงไปในโลกิยารมณ์อันสุดจะถอน อะไรเล่าจะเป็นความทุกข์ทรมานยิ่งไปกว่านี้ ประดุจพยัคฆราชซึ่งถูกกักขังอยู่ในกรงเหล็กกำลังหิวกระหาย มองดูนางกวางเยื้องย่างอยู่ไปมา มันจะกระวนกระวายสักปานใด หรือประหนึ่งบุคคลผู้เดินทางไกลกันดารเหน็ดเหนื่อยเร่าร้อนมีเหงื่อโทรมกาย มองดูสระโบกขรณีที่หวงห้าม ด้วยความกระวนกระวายสุดกังวล

กึ่งมัชฌิมยามแห่งราตรีแล้ว อากาศซึ่งเยียบเย็นได้เย็นเยียบลงไปอีก อุปกะดึงผ้าห่มขึ้นคลุมร่างพลิกกลับไปกลับมา กระสับกระส่ายไม่อาจจะหลับตาลงสู่นิทรารมณ์ได้ แน่นอนทีเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง...ไฟที่ปราศจากควันและไร้แสง แต่มีความรุนแรงเผาใจให้ร้อนรุ่ม คือไฟราคะนี่เอง ไม่อาจจะดับได้ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ในโลกนี้

จนกระทั่งอรุณรุ่ง ลมเช้าพัดแผ่วกระทบกายประสาท อุปกะสลัดผ้าห่มลุกขึ้นนั่งตรึกตรองอยู่อย่างลึกซึ้งตลอดราตรีที่ผ่านมาเขา มิได้หลับเลย คำกล่าวที่ว่า "ความรักเป็นบ่อเกิดแห่งความกระวนกระวายดิ้นรนหนักหน่วงและซึมเศร้า" นั้น ช่างเป็นความจริงเสียเหลือเกิน

เข้ามิได้ไปรับภิกษาที่บ้านของสุชาวดีในเช้าวันนั้น แต่ไปแสวงหาภิกษาที่อื่น ทั้งนี้เพราะความละอายต่อสุชาวดีและละอายตนเอง นักพรตผู้มีภาชนะภิกษาในมือ เมื่อมีความรักเกิดขึ้น คนที่เขาละอายที่สุดคือคนที่เขาหลงใหลนั่นเอง เพราะเพศและภาวะได้ประกาศอยู่อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เขาไม่ควรปล่อยใจไปในเรื่องรักใคร่เสน่หา ถ้าใครล่วงรู้ถึงความรู้สึกภายในอันขัดกับอาการภายนอกที่ปรากฏแก่ตาโลก ก็จะรู้สึกสังเวชเศร้าสลดและพิศวง ประดุจผู้มีอาการภายนอกเป็นบุรุษเพศ แต่ความจริงเขาเป็นสตรีที่บุรุษพึงเชยชมได้ แม้จะไม่สู้สนิทใจนัก และอาจจะเป็นที่สนิทเสน่หาของบุคคลบางพวก ที่มีความรู้สึกแปลกไป

จริงอยู่คนที่มีความรักย่อมอยากอยู่ใกล้คนที่ตนรัก แต่เมื่อความละอายเกิดขึ้น ดูเหมือนเขาอยากจะไปให้ห่างมากกว่าอยากพบ โดยเฉพาะนักพรตอย่างอุปกะนี้ แต่ความรักก็มีอิทธิพลมากพอที่จะหน่วงเหนี่ยวอุปกะให้วนเวียนอยู่ในหมู่ บ้านพรานเนื้อนั่นเอง

๗ วันล่วงไป นายพรานกลับมาพร้อมด้วยเนื้อจำนวนมาก มีคนหาบหามกันมาเป็นทิวแถว คำแรกที่นายพรานถามเมื่อพบสุชาวดีคือ

"พระของพ่อมารับอาหารอยู่หรือลูกรัก ?"

"ตั้งแต่พ่อไปแล้ว เขามารับภิกษาเพียง ๒ วันแล้วไม่เห็นมาอีกเลย" สุชาวดีรายงาน สวมกอดพ่อด้วยความรักและคิดถึง

นายพรานมีท่าตรองก่อนจะพูดว่า "ลูกมิได้ไปดูที่อาศรมของท่านหรือ ?"

"ก็ลูกเป็นผู้หญิงจะให้ไปอย่างไร"

"เออ จริงซินะ พ่อลืมไป" นายพรานพูดเรื่อยๆ "เออแล้วลูกมิได้ให้คนไปดูหรือ ?"

"ไม่ พ่อ" สุชาวดีตอบ

"นี่เป็นข้อบกพร่องของลูก"

สุชาวดีมีอาการตกใจ นายพรานเห็นดังนั้นจึง กล่าวว่า

"เพียงเล็กน้อยเท่านั้นลูกรัก อย่าตกใจเลย คืออย่างนี้ ท่านอุปกะนั้นเหมือนมาอาศัยเราอยู่ เราเป็นเจ้าของถิ่น เมื่อท่านหายไปไม่ได้มารับอาหารอย่างเคย ถ้าท่านจาริกไปที่อื่นก็แล้วไป แต่ถ้าเจ็บไข้ไม่สบาย ท่านจะให้ใครมาบอก ท่านอยู่คนเดียว คราวนี้จะเป็นข้อบกพร่องของเรา ลูกรักแม้เราจะเป็นชาวป่าชาวเขา หาเนื้อขายและกิน แต่เรื่องปฏิสังถาร เราต้องเคารพและกระทำให้เหมาะสมเสมอ ลูกจำได้มิใช่หรือที่พ่อเคยสอนว่า บ้านใดแขกบ้านไปด้วยความเสียใจ ชื่อว่าทิ้งเอาอัปมงคลไว้ที่บ้าน ส่วนบ้านใดแขกกลับไปด้วยความชื่นบาน ชื่อว่าได้ทิ้งมงคลไว้ที่บ้าน ลูกรักขึ้นชื่อว่าอาคันตุกะแล้วไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไพร่หรือผู้ดีอย่างไร เราต้องต้อนรับและกระทำให้เหมาะสมเสมอ"

นายพรานพูดเท่านั้น แล้วรีบไปหาอุปกะที่อาศรม ขณะนั้นจวนค่ำแล้ว เห็นประตูอาศรมปิด ด้วยความเกรงใจ นายพรานไม่กล้าเรียก นั่งคอยอยู่หน้าอาศรมคิดว่าถ้าท่านอยู่คงจะออกมาในไม่ช้า ครู่หนึ่งผ่านไป นายพรานได้ยินเสียงครางและเสียงเพ้อตามออกมาเหนือนคนจับไข้ นายพรานก้าวเข้าไปจะเปิดประตูก็พอดีได้ยินเสียงออกชื่อสุชาวดี เขาจึงหยุดชะงัก

"สุชาวดี" เสียงออกมาจากอาศรม "สุชาวดีฉันคิดถึงเธอ ฉันรักเธอ" อุปกะพูดเพ้อวนเวียนอยู่อย่างนี้

ในที่สุดนายพรานก็ตัดสินใจเปิดประตูเข้าไป มองเห็นอุปกะนอนกระสับกระส่ายอยู่บนเตียงน้อย นายพรานนั่งลงนมัสการแล้วถามว่า

"พระคุณเจ้าไม่สบายไปหรือ ?"

อุปกะพลิกตัวกลับมา "สุชา..." พอมองอย่างชัดเจนอุปกะต้องอ้าปากค้าง ลุกขึ้นนั่งเฉยอยู่

"พระคุณเจ้าไม่สบายไปหรือ ?" นายพรานถามซ้ำ

"ปวดศรีษะเล็กน้อย ท่านกลับมานานแล้วหรือ ?" อุปกะพูด

"กลับมายังไม่ได้นั่งที่บ้าน ทราบจากสุชาวดีว่า พระคุณเจ้าไม่ไปรับภิกษาที่บ้านหลายวันแล้ว คิดว่าคงไม่สบายจึงรีบมาเยี่ยม สักครู่นี้ข้าพเจ้าได้ยินเสียงพระคุณเจ้าออกชื่อสุชาวดีบุตรีของข้าพเจ้า นางได้ทำอะไรให้พระคุณเจ้าเดือดร้อนหรือ"

"ไม่เลย นางมิได้ทำอะไรให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน แต่..." อุปกะหยุดคิดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อไปว่า "แต่ดูเหมือนนางจะเป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนอยู่บ้าง"

"เรื่องอะไรหรือ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าจะลงโทษเธอเอง" นายพรานพูดอย่างหนักแน่น ซ่อนยิ้มไว้ในหน้า

"ท่านจะให้ข้าพเจ้าพูดตรง หรือพูดอ้อมค้อม ?" อุปกะถาม

"พูดตรงดีกว่า พระคุณเจ้า"

"ข้าพเจ้าเคยตั้งใจไว้ว่าจะมอบกายมอบชีวิตในเพศนักพรต" อุปกะหยุดนิดหนึ่งเหมือนจะตรองหาคำพูด "แต่แล้วลงจะรักษาความตั้งใจนั้นไว้ได้ไม่ตลอด เพราะความรู้สึกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก"

"เพราะเหตุไรหรือ พระคุณเจ้า ?" นายพรานถาม

"เพราะสุชาวดี ธิดาของท่าน"

"แปลว่าท่านพอใจในธิดาของข้าพเจ้าหรือ ?"

อุปกะนิ่ง การนิ่งของนักพรต ถือว่าเป็นการรับคำ นายพรานรู้สึกกระวนกระวายเล็กน้อย ด้วยความเจนจัดในชีวิต เพราะมีวัยสูง นายพรานมิได้กล่าวโทษอุปกะเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่ถามว่า

"แล้วพระคุณเจ้าจะทำอย่างไร ?"

"ข้าพเจ้าคิดว่า จะสละเพศนักบวชในไม่ช้านี้"

"เวลานี้พระคุณเจ้าอายุเท่าไร ?"

"๔๕" อุปกะตอบ รู้สึกกระดากใจมากอยู่

"พระคุณเจ้ามีศิลปวิทยาอะไรบ้างไหมในการที่จะนำไปใช้ในเพศคฤหัสถ์"

"ไม่มีเลย" อุปกะตอบ

"เมื่อไม่มีศิลปศาสตร์ พระคุณเจ้าจะอยู่ครองเรือนได้อย่างไร"

"หาบเนื้อพอจะได้ แม้อายุจะย่างเข้า ๔๕ แล้ว แต่กำลังยังดีอยู่"

"หาบเนื้อพอจะได้" นายพรานทวนคำเบาๆ เหมือนครางอยู่ในลำคอ

"เรื่องสำคัญยังมีอยู่อีกเรื่องหนึ่ง" นายพรานปรารภ "คือสุชาวดีเขาจะปลงใจกับพระคุณเจ้าหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ"

"ดูท่าทางที่แสดงออกมาก็ดูไม่น่าจะรังเกียจ" อุปกะพูดแล้วยิ้มออกมานิดหนึ่ง

"พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไร ว่าเขาไม่รังเกียจ" นายพรานถาม

"สังเกตจากกิริยาท่าทีเมื่อข้าพเจ้าสนทนาด้วย" อุปกะตอบ

"พระคุณเจ้าเป็นนักพรต ใครๆ เขาก็ต้องให้เกียรติแสดงอาการคารวะสงบเสงี่ยม และต้อนรับดี เป็นเรื่องของคนที่มีมารยาทดี"

"เรื่องนี้ก็แล้วแต่ท่านจะช่วยเหลือ แต่ข้าพเจ้าแน่ใจในสติปัญญาและความสามารถของท่าน ข้าพเจ้าไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่ได้สุชาวดี ท่านให้ข้าพเจ้าพูดตรงๆ ข้าพเจ้าก็พูดตรงๆ อย่างนี้"

สังเกตจากอาการซูบผอมลงของอุปกะ ทำให้นายพรานเชื่อว่าอุปกะอาจจะตายได้จริง ถ้าไม่ได้ธิดาของตน ประกอบด้วยความรักที่มีในอุปกะ นายพรานจึงรับคำว่าจะลองไปพูดกับสุชาวดี ถ้าตกลงจะส่งข่าวให้ทราบวันพรุ่งนี้"

ขณะรับประทานอาหาร นายพรานมิได้พูดอะไรเลย เขาคงนั่งรับประทานอาหารอย่างเคร่งขรึม จนผิดสังเกต สุชาวดีน้อยจึงกล่าวขึ้นว่า

"พ่อเป็นอะไรไป วันนี้ไม่เห็นชวนลูกสนทนาเหมือนก่อนๆ เลย พ่อไม่สบายหรือ ?"

"มิได้ลูกรัก การเข้าป่าครั้งนี้ทำให้พ่อรู้สึกว่ากำลังของพ่อเหลือน้อยเพราะชรา เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ไม่เท่าไรนัก พ่อคงตาย พ่อคิดถึงลูกว่าจะอยู่อย่างว้าเหว่เดียวดาย แม่ของเจ้าก็ตายไปนานแล้ว เราเหลือกันเพียงสองคนเท่านั้น"

"พ่ออย่าพูดอย่างนั้นซิคะ พลอยทำให้ลูกไม่สบายใจไปด้วย พ่อยังจะคงอยู่อีกนาน พ่อยังแข็งแรง" สุชาวดีปลอบพ่อ แต่ก็อดเศร้ามิได้ เมื่อนึกถึงแม่ที่ตายไป และคิดต่อไปว่า ถ้าบิดาสิ้นชีวิตลงอีกเธอจะอยู่อย่างไร

"ลูกจำได้ไหม ?" นายพรานถาม "ว่าพ่ออายุเท่าไรแล้ว"

"ดูเหมือน ๖๒ ใช่ไหมคะ ?"

"ใช่" นายพรานรับ "คนอายุ ๖๒ จะอยู่ต่อไปได้อีกสักกี่ปี่ พ่อเป็นห่วงลูก

สุชาวดีทำตาแดงๆ เหมือนจะร้องไห้ เธอรู้สึกเศร้าซึมตามคำปรารภของพ่อไปด้วย

"เวลานี้ลูกอายุเท่าไรแล้ว ?" นายพรานถาม

"๑๗ ค่ะพ่อ" สุชาวดีมองหน้าพ่ออย่างสงสัย "ทำไมรึคะ ?"

"พ่อคิดว่า" นายพรานหยุดคิดนิดหนึ่ง เหมือนจะสรรหาคำพูดที่เหมาะสม "ลูกควรจะมีครอบครัวได้แล้ว"

"พ่อเกลียดลูกรึคะ จึงอยากให้ลูกแต่งงาน มีครอบครัว เพื่อจะได้พ้นความรับผิดชอบของพ่อ ลูกอยู่อย่างนี้เป็นที่น่าหนักใจของพ่อหรือ ?" สุชาวดีพูดด้วยเสียงอ่อนโยนระคนน้อยใจ แล้วเธอก็ร้องไห้ น้ำตาหลั่งไหลลงสู่ภาชนะอาหารโดยเธอมิได้รู้สึก

"ลูกรัก" นายพรานปลอบ ลุกขึ้นมาโอบไหล่ของสุชาวดีน้อยอย่างถนอมรัก "มีหรือที่พ่อไม่รักลูก โดยเฉพาะพ่อคนนี้รักลูกสุชาวดีเป็นที่สุด จะสรรหาคำใดมาพูดให้สมกับที่พ่อรักลูกนั้นหาไม่ได้แล้ว เพราะพ่อรักลูกนั่นเอง พ่อจึงอยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา ตั้งแต่เวลาที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ ลูกอย่าน้อยใจเลย พูดถึงเรื่องรักพ่อมีความรักทุ่มเทให้ลูกมากที่สุด"

"ลูกยังไม่เคยรักผู้ชายคนใด นอกจากพ่อ" สุชาวดีหาทางออก แต่กลับเปิดช่องให้นายพรานเดิน

"แต่มีผู้ชายเขารักลูก" นายพรานพูดอย่างหนักแน่น

สุชาวดีตกใจ เธอไม่เคยนึกว่าจะมีใครปองรักเธอ เพราะไม่เคยเกี่ยวข้องกับชายใดเลย

"ใครละพ่อ" สุชาวดีถาม

"พระคุณเจ้าอุปกะ" นายพรานตอบไม่ค่อยเต็มเสียงนัก

"พระคุณเจ้าอุปกะ !!" สุชาวดีอุทาน นัยน์ตาเบิกกว้าง อาหารซึ่งเธอกำลังจะส่งเข้าปากอยู่แล้วร่วงหล่นลงมา

"ทำไมหรือลูกรัก ทำไมลูกตื่นเต้นตกใจเหลือเกิน ?" นายพรานถามด้วยน้ำเสียงธรรมดา

"ก็ท่านเป็นนักพรต" สุชาวดีพูดเสียงเครือ "แล้วก็...เอ้อ...แล้วก็ท่านก็แก่มากแล้วด้วย"

"๔๕ เท่านั้น ลูกรัก ผู้ชาย ๔๕ ยังไม่แก่"

"แต่แก่กว่าลูกถึง ๒๕ ปี เป็นพ่อของลูกได้" สุชาวดีแย้ง

"ก็ไม่เห็นเป็นไร ผู้ชายสูงอายุมักจะเอาใจตามใจภรรยาสาวดี ความรักของคนวัยนี้เป็นความรักที่มั่นคง ไม่เหมือนความรักของคนวัยรุ่น ซึ่งเกิดเร็วและดับเร็ว อีกอย่างหนึ่ง ลูกเชื่อได้อย่างหนึ่งว่า เขาจะไม่ทารุณโหดร้ายต่อลูก"

"แต่การที่พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับคนคราวพ่อนั้นเป็นการโหดร้ายเกินไปมิใช่ หรือ ลูกขอประทานโทษด้วย ที่กล่าวคำนี้กับพ่อ ลูกไม่อยากพูดคำนี้เลย"

"ไม่เป็นไรลูกรัก พ่อเข้าใจลูกดี แต่ที่พ่อพูดถึงพระคุณเจ้าอุปกะ ก็เพราะท่านรักลูกมาก การแต่งงานกับคนที่เขารักเรานั้นดีกว่าแต่งกับคนที่เรารักเขา เมื่อเขาเป็นคนดี ลูกอยู่ไปก็รักเขาเอง"

"รอไว้จนกว่าจะรักกันทั้งสองฝ่ายจะมิดีกว่าหรือพ่อ, ลูกก็ยังไม่แก่เฒ่าอะไร" สุชาวดีท้วง

"ผู้หญิงในแถบนี้ คราวลูกเขาแต่งงานกันไปหมดแล้วเหลือแต่ลูกคนเดียว อีกอย่างหนึ่ง ถ้าลูกยอมแต่งงานกับท่านอุปกะ ชื่อว่าลูกได้ช่วยชีวิตของคนๆ หนึ่งไว้"

"ช่วยชีวิตใครคะ" สุชาวดีถาม

"ชีวิตของท่านอุปกะ"

"ท่านถึงกับจะต้องตายทีเดียวหรือถ้าไม่ได้ลูก"

"เห็นจะเป็นอย่างนั้น" นายพรานยืนยัน

"ลูกไม่เชื่อ ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา" สุชาวดีย้ำคำหลังอย่างหนักแน่น

"ลูกยังมีความเข้าใจในชีวิตน้อยเกินไป คนที่ฆ่าตัวตายเพราะเรื่องรักก็มีอยู่มาก เป็นแต่แตกต่างกันในวิธีตายเท่านั้น"

"นั่นเป็นเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ตายเพราะอดเสน่หา" สุชาวดีแย้ง เธอมีอารมณ์สนุกขึ้นมาบ้างแล้ว

"แต่ความเสน่หาเป็นเหตุใช่ไหมลูก ?"

คราวนี้สุชาวดีนิ่ง ภาพและวัยของอุปกะนักพรตปรากฏขึ้นในห้วงนึกของเธอ เธอไม่เคยเถียงพ่อ ถึงจะขัดแย้งบ้างก็เป็นไปอย่างสุภาพอ่อนโยน แม้เธอจะเป็นสาวชาวป่าไม่เคยได้รับแสงสีแห่งอารยธรรมที่มนุษย์บางกลุ่ม หลงใหลกันยิ่งนักก็ตาม แต่เธอก็เข้าใจดีว่า มารดาบิดามีบุญคุณต่อบุตรธิดาอย่างไร เคยถนอมเลี้ยงตนมาอย่างไร จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่บุตรธิดาจะพึงกล่าววาจาหยาบหยาม ขาดความเคารพต่อท่าน การทำให้ท่านผู้มีคุณช้ำใจ ปวดร้าวใจ เพราะวาจาของตนนั้นถือว่าเป็นบาป โดยเฉพาะเกี่ยวกับมารดาบิดาแล้ว บุตรธิดาควรจะยำเกรงอยู่เสมอ การไม่เชื่อฟังบิดามารดา แสดงอาการโอหังอวดดีต่อพ่อแม่นั้น เป็นการประกาศความเลวทรามของตนเอง

"ลูกรัก" นายพรานทำลายความเงียบขึ้น "ลูกเข้านอนเสียก่อนก็ได้ พรุ่งนี้เช้าค่อยพูดกันใหม่ พ่อก็เหนื่อยเหลือเกิน เดี๋ยวจะเข้านอนเหมือนกัน"

สุชาวดีเข้านอนแต่เธอนอนไม่หลับ ความรู้สึกของเธอขณะนี้สับสนวุ่นวาย ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร เรื่องรักนั้นเธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า เธอมิได้รักอุปกะเลย อยากจะหนีไปเสียให้พ้น แต่สงสารพ่อจะอยู่ต่อไป และจะต้องแต่งงานกับอุปกะ ก็รู้สึกสงสารความสวยและความสาวของตนที่จะต้องถูกทำลายลงด้วยน้ำมือคนชรา ปัญหาคงเหลืออยู่สองอย่าง คือจะเลือกเอาพ่อแล้วยอมสละตัวหรือจะยอมสละพ่อแล้วรักษาตัวไว้ เธอตัดสินใจไม่ถูก อัดอั้นตันใจ ในที่สุดก็ต้องระบายความอึดอันนั้นด้วยน้ำตา...เธอร้องไห้ ผู้หญิงเมื่อระทมทุกข์ตรอมใจก็หันเข้าหาเพื่อนคือน้ำตา ดูเหมือนความระทมเศร้าของเธอจะไหลหลั่งตามน้ำตาออกมาด้วย นี่แหละโลก ! โลกซึ่งระงมอยู่ด้วยพิษไข้...ความรักมิได้ก่อทุกข์ให้เพียงแก่ผู้รักเท่า นั้น แม้ผู้ไม่รักต้องระทมทุกข์เพราะความรักอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน ดูชีวิตของสุชาวดีน้อยนี้เป็นตัวอย่างเถิด



มีต่อ >>> อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:02:19 PM »


อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน


ใน ขณะที่สุชาวดีกำลังระทมทุกข์เพราะเกรงว่าจะต้องประสบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่ รักอยู่นั้น อีกมุมหนึ่งอุปกะกำลังกระวนกระวายด้วยเกรงว่า จะพลัดพราก จะผิดหวังในสิ่งอันเป็นที่รัก ในเรื่องเดียวกัน บุคคลบางคนอาจจะเศร้าบางคนอาจจะสุข หรืออาจจะทุกข์ด้วยกัน แต่ทุกข์กันไปคนละอย่างเท่านั้น

รุ่งขึ้นขณะรับประทานอาหารเช้า นายพรานพูดขึ้นว่า "สุชาวดี เรื่องที่พูดเมื่อคืนนี้ ลูกพอจะตัดสินใจได้แล้วหรือยัง ?"

"ลูกคิดว่า" สุชาวดีพูดเสียอ่อนๆ "ลูกเป็นสมบัติของพ่อ พ่อเลี้ยงลูกมา ลูกจึงคิดเสียว่า แล้วแต่พ่อจะเห็นดีเห็นชอบอย่างไร" พูดเท่านี้แล้วสุชาวดีก้มหน้านิ่ง น้ำตาซึ่งเพิ่งจะเหือดแห้งไปเมื่อใกล้รุ่งนี้เอง เริ่มจะหลั่งไหลออกมาอีก

"ลูกรัก" นายพรานพูดเพื่อปลอบโยน "ลูกอย่าคิดว่าพ่อใจไม้ไส้ระกำเลย พ่ออยากให้ลูกมีความสุข พ่อคิดว่าการแต่งงานกับท่านอุปกะคงทำให้ลูกมีความสุขได้ เขาเป็นคนดีนะลูก อายุแตกต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไร ผู้หญิงแก่เร็ว ถ้าเขาอายุ ๖๕ ลูกก็แก่แล้วเหมือนกัน"

อุปกะดีใจเหมือนได้เทพธิดา เมื่อนายพรานมาบอกว่า สุชาวดีไม่ขัดข้อง ถ้าต้องการก็ให้รีบสละเพศบรรพชิตหรือนักบวชเสีย อุปกะสละเพศนักพรต นุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ทั่วไป แล้วติดตามนายพรานมาด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบ ชื่นบาน

เขาได้อยู่กินกับสุชาวดีฉันสามีภรรยา บางคราวเขาจะพาสุชาวดีน้อยไปชมพันธุ์ไม้นานาชนิดในป่า แต่ท่านเอยจะมีสตรีสาวที่สาวสดคนใดเล่า จะเกิดความนิยมชมชอบรักใคร่เสน่หาในสามีชราด้วยความจริงใจ เขาจะทำดีด้วยหรือฉอเลาะอ่อนหวานก็เพียงเพื่อความประสงค์บางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็นทรัพย์ยศหรือชื่อเสียงเกียรติคุณว่า ได้เป็นภรรยาของคนใหญ่คนโตเท่านั้น มันมิใช่เพราะความสนิทเสน่หาอย่างแน่นอน ถ้ายิ่งผู้ชายนั้นไร้ทรัพย์อัปยศและยังชราเข้าอีกจะซ้ำร้ายสักเพียงใด แต่มันเป็นกรรมของโลก หรือของมนุษย์ชาติหรือไฉน จึงมักจะบิดเบือนหันเหจิตใจของชายชราให้มักพอใจในสตรีสาววัยรุ่น ยิ่งเขาแก่มากลงเพียงใดก็ยิ่งต้องการสาวที่เยาว์วัยและไร้เดียงสาต่อโลก เพียงนั้น

อุปกะพยายามเอาอกเอาใจสุชาวดีสมกับที่ตนรัก แต่สุชาวดีซิ เห็นการเอาใจของอุปกะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า และรำคาญ

"สุชาวดี !" อุปกะพูดในขณะที่ชมพันธุ์ไม้อยู่ในป่า "ดูดอกไม้ดอกนั้นซิมันช่างสวยงามเบ่งบานดีเหลือเกิน"

"เห็นแล้ว" สุชาวดีตอบสะบัดๆ

"แต่" อุปกะพยายามพูดให้ถูกใจเธอ "ดอกไม้ดอกนั้นยังสวยน้อยกว่าสุชาวดี มันอาจจะอ่อนแต่ไม่หวานสุชาวดีทั้งอ่อนด้วยหวานด้วย จึงสู้สุชาวดีไม่ได้ ไม่ว่าจะมองในแง่ใดๆ" "พูดยืดยาว รำคาญเสียจริง เขาจะชมดอกไม้ให้เพลินเสียหน่อย ก็มาพร่ำอะไรก็ไม่รู้" สุชาวดีพูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ

อุปกะรู้สึกน้อยใจ แต่ก็น้อยใจไปเถิด น้อยใจไปจนตาย ตอนที่มาร่วมกินร่วมนอนอย่างสามีภรรยานั้น นึกเอาแต่ความพอใจของตัว ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งบ้างเลย ว่าจะมีความรู้สึกตอบประการใด ผู้ชายแบบนี้มักจะได้รับผลตอบแทนอย่างนี้เสมอ

แต่จะรักหรือไม่รัก จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที เมื่ออยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา สิ่งที่ตามมาก็คือลูก สุชาวดีเกลียดพ่อของเด็ก จึงรักลูกได้เพียงครึ่งเดียวในขณะที่เธอกำลังนิยมชมชื่นอยู่กับสุภัททะเด็ก น้อย คราใดที่ระลึกถึงพ่อของเขา เธอจะหน้าเผือดใจแห้งลงทันที ความร่าเริงหายไป สุภัททะก็ช่างดีแท้ หน้าตาเหมือนพ่อประดุจพิมพ์

สองปีที่อยู่ด้วยกันมา อุปกะไม่เคยได้รับความชื่นใจจากภรรยาสาวที่เขาหลงรักเลย สุชาวดีคอยพูดเสียดสีให้กระทบกระเทือนใจอยู่เสมอ ไม่เว้นแต่ละวันเมื่อเห่กล่อมลูก เธอก็จะสรรหาคำที่ทิ่มแทงใจอุปกะให้ปวดร้าวระบม แต่เขาก็อดทน ทนเพราะความรักลูกและภรรยา

"สุภัททะเจ้าเอย เจ้านั้นเป็นลูกของคนจรที่หลับที่นอนก็ไม่มี ขาดสง่าและราศีเหมือนกาโกกากีที่ร่ำร้องเพราะหลงรังชราพาธขาดพลัง กำลังก็หย่อนยานอีกธนสารสมบัติก็ไม่มีที่ติดตัว ญาติพี่น้องผู้เกี่ยวข้องและพัวพันก็แลไม่เห็นผู้ใด เออ ! เจ้าลูกคนหาบเนื้อเจ้าจะทำไฉนเมื่อเติบโต เจ้าลูกคนหาบเนื้อเออ !...นอนเสียเถิด" คำเห่กล่อมลูกตามนี้อุปกะได้ยินทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง

คืนนั้นเขานอนไม่หลับ เขาคิด...คิดถึงชีวิตของเขาเองตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ เคยได้รับการยกย่องเคารพนับถือประดุจเทพเจ้า คำน้อยไม่เคยมีใครล่วงเกิน มาบัดนี้หมดแล้วซึ่งเกียรติยศ ถูกเหยียดหยามกล่าวร้ายจากเด็กผู้มีวัยเสมอด้วยบุตรตน เราเป็นคนไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีทรัพย์สมบัติ แม้จะทำงานสายตัวแทบขาดเพื่อลูกและภรรยา แต่เธอก็หาเห็นใจแม้แต่น้อยไม่

อุปกะคิดถึงเพื่อน เขาไม่มีเพื่อนเลยทีเดียวหรือในโลกนี้ คิดทบทวนอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ภาพแห่งนักพรตรูปงามมีสง่าราศีก็ปรากฏในห้วงนึก "เขาบอกว่าเขาชื่ออนันตชิน" อุปกะปรารภกับตัวเอง "มีลักษณะดีมีแววแห่งความเมตตากรุณา คนอย่างนี้มักไม่ปฏิเสธคำขอร้องของผู้ตกยากบากหน้ามาพึ่งพิง"

ประกอบด้วยบูรพูปนิสัยอันแก่กล้า มีบารมีที่แก่เต็มที่แล้วคอยเตือน ในราตรีที่ดึกสงัดได้ยินแต่เสียงน้ำค้างตกจากใบไม้ อุปกะตัดสินใจแน่วแน่ที่จะจากหมู่บ้านพรานเนื้อไป...ไปหาสหายซึ่งพบกันเพียง ครู่เดียว แต่ลักษณะและวาจาเป็นที่ประทับใจของเขายิ่งนักเขาชื่ออนันตชิน

ในขณะนั้นแรงเร้าแห่งความรักลูกผุดพลุ่งขึ้นมาทำให้เขาต้องถอนใจ ความอาลัยในลูกมีมากพอที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวเขาไว้อีก ทำให้เขาคิด เมื่อคิดถึงลูกน้อยจิตใจของอุปกะรู้สึกอ่อนลง ดูเหมือนจะไม่อาจจากไปได้ แต่บารมีที่เคยบำเพ็ญมาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหายได้มาเตือน และเร่งเร้าให้เขาคิดถึงพระอนันตชินอย่างแรง คืนนั้นเองอุปกะได้จัดแจงห่อของเท่าที่เป็นของตน และพอพาติดตัวไปได้ เตรียมออกจากวังกหารชนบท

ก่อนออกเดินทางเขาอดที่จะมองดูลูกด้วยความอาลัยมิได้ ปุตตวิปโยคเป็นความเศร้าอย่างใหญ่หลวงสำหรับบิดา แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกจากวังกหารคามตอนดึกสงัดคืนนั้น เวลานี้จิตใจของเขาคำนึงถึงแต่ภาพแห่งนักพรตรูปงามผู้มีนามว่า อนันตชิน

มีหลายครั้งที่เขาจะหวนกลับมาหาลูกน้อยและบิดาผู้มีความปรารถนาดีต่อเขาตลอด มา แต่ความระอาใจต่อสุชาวดี ทำให้เขาหันหลังกลับมุ่งหน้าไปหาสหายอนันตชิน ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าเวลานี้อยู่แห่งหนตำบลใด

ผู้ที่เคยบำเพ็ญพรตมานาน เป็นผู้สลดใจได้เร็ว และมีอำนาจจิตพิเศษในการต่อต้านในสิ่งที่ต่อต้านได้ยาก มีพลังจิตเข้มแข็งในการที่จะสละสิ่งที่บุคคลสละได้โดยยาก บางมีธรรมที่สั่งสมอยู่ในดวงจิตเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหาย มันคอยกระตุ้นเตือนให้บุคคลเบนชีวิตไปตามวิถีทางที่เขาเคยเดินมาแล้วเป็น เวลานาน เขาเดินฝ่าความมืดออกไป มีทางเลี้ยวไปทางไหนเขาก็ไปทางนั้น ไปอย่างไม่มีจุดหมาย เขาคิดว่าพอรุ่งอรุณก็พอจะหาทางที่แน่นอนได้ และพยายามสืบถามว่าเวลานี้ พระอนันตชินอยู่ที่ใด

จนกระทั่งสายตะวันโด่ง เขารู้สึกหิวเพราะเดินทางมาเป็นเวลานาน อาหารก็มิได้ติดตัวมาเลย เขาออกจากบ้านอย่างกระทันหัน ไม่มีแผนการล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปขออาหารจากชาวบ้านพอประทังหิว แล้วเดินทางต่อไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น เที่ยงวันวันหนึ่งอากาศร้อนอบอ้าว หลังจากได้เดินทางเหน็ดเหนื่อยเหงื่อโทรมกายแล้ว เขาแวะเข้าพัก ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใหญ่ใบหนา ลมโชยมาเบาๆ ต้องผิวกายพอชุ่มชื่น เขาเอนตัวลงนอนพัก เอารากไม้แทนหมอนและหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เขาตื่นขึ้นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากแล้ว รู้สึกชุ่มชื่นและมีกำลัง

เขานั่งตรองถึงชีวิตในอดีตโดยเฉพาะเวลา ๒ ปีที่อยู่ร่วมกับสุชาวดีเป็นระยะเวลาที่เขาลำบากชอกช้ำสุดประมาณได้ ลำดับนั้นสุภาษิตเก่าๆ ที่โบราณบัณฑิตได้กล่าวไว้ก็แจ่มแจ้งแก่เขา ประดุจคบเพลิงสว่างโร่ขึ้นในมุมมืด สุภาษิตนั้นมีดังนี้

- มีบิดาผู้ซึ่งสะสมหนี้สินไว้มากคือศัตรู มีมารดาผู้ซึ่งมิได้ประพฤติในความบริสุทธิ์คือศัตรู มีภรรยารูปงามคือศัตรู มิตรที่ปราศจากความรู้คือศัตรู

- ความรู้เป็นประดุจยาพิษเพราะมิได้ใช้ความรู้นั้นให้เหมาะสม อาหารก็เปรียบเหมือนยาพิษเพราะไม่ย่อย พระราชวังเป็นประดุจยาพิษสำหรับคนเข็ญใจ ภรรยาสาวก็เปรียบเหมือนยาพิษสำหรับสามีชรา

- แสงจันทร์ และละอองฝนไม่เป็นที่ยินดีของคนหนาว แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่พอใจของคนร้อน สามีชราย่อมไม่เป็นที่ยินดีพอใจของภรรยาสาว

- สามีเกศาหงอก ความรักของหญิงสาวผู้เป็นภรรยาจะมีรุนแรงได้อย่างไร ประดุจยาขม หรือไม่ขมก็ตาม ใครจะชอบรับประทานบ้าง เมื่อไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้สตรีจึงเอาใจออกห่างจากผัวแก่ไปฝักใฝ่ในชายอื่น

- ความรักในสมบัติ ความรักชีวิตย่อมมีอยู่ในบุคคลทั่วไป ทุกรูปทุกนาม แต่เมียสาวเป็นที่รักเลิศของผัวเฒ่ายิ่งกว่าหัวใจ

- ชายแก่มีสังขารทรุดโทรม แม้หมดกำลังเพื่อความสนุกรื่นรมณ์ ก็ยังมิวายกระเสือกกระสน เหมือนสุนัขถึงฟันหักเหี้ยน หากพบเนื้อติดกระดูกที่ตนไม่สามารถแทะทึ้งได้ ถึงกระนั้นก็ยังขอแต่ให้ได้เลียก็ยังดี

ไม่มีสถานที่ ไม่มีโอกาส ไม่มีบุรุษจะชักชวนให้ไขว้เขว นารีบริสุทธิ์อยู่ได้เพราะเหตุนี้ต่างหาก เหตุที่สตรีจะทนเป็นพรหมจารีอยู่ได้ มิใช่จะเป็นเพราะรู้สึกละอาย มีจริยสมบัติ เกลียดการหยาบคายหรือมีใจเกรงขาม ที่แท้เป็นเพราะยังไม่มีผู้ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้น

สตรีบางคนทำเป็นหวงตัวอย่างน่าหมั่นไส้ เหมือนใครกระทบกระแทกมิได้เลยแม้แต่น้อย แต่พออยู่ในที่ลับตาคน เธอกลับโถมเข้าหาผู้ชายเหมือนปลากระโดดลงน้ำ

บัดนี้เขาตัดใจจากสุชาวดีได้แล้ว เรื่องเดียวที่วนเวียนอยู่ในจิตของเขา คือสหายผู้มีนามว่าอนันตชิน เขารอนแรมมาตามลำพังจนกระทั่งถึงเขตสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล

ปัจจุกาลวันนั้น พระอนันตชินสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแผ่ข่ายพระญาณออกครอบจักรวาล มองดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ที่พระองค์พอจะโปรดได้ อุปกะเข้าไปในข่ายพระญาณแห่งพระองค์ ทรงทราบโดยตลอดว่า เช้าวันนี้อุปกะจะมาถึงเชตวัน จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเชตวนารามทั้งหมด แล้วตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย วันนี้ถ้ามีอาคันตุกะมาถามหาบุคคลผู้มีนามว่าอนันตชินก็ขอให้พาไปหาที่ คันธกุฎี ตรัสเท่านี้แล้วทรงให้โอวาทภิกษุสงฆ์เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเรื่องความเคารพ ในปฏิสันถาร มีอาทิว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเครื่องเผาบาป และเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"

ตอนสายวันนั้นเอง อุปกะก็มาถึงบริเวณเชตวนารามอันร่มรื่น เห็นภิกษุทั้งหลายกำลังสาธยายธรรมบ้าง ทำกิจอย่างอื่น เป็นต้นว่านั่งเป็นกลุ่มๆ สนทนาธรรมบ้าง เขาเข้าไปหาภิกษุกลุ่มหนึ่ง นมัสการแล้วกล่าวขึ้นว่า

"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ! ข้าพเจ้ามีสหายผู้หนึ่งนามว่า อนันตชิน ใบหน้าเอิบอิ่มมีแววแห่งความกรุณาฉายออกจากดวงตาทั้งสอง ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างท่านนี้ ท่านพอจะรู้จักผู้ซึ่งข้าพเจ้าเอ่ยนามถึงนี้อยู่บ้างหรือ ?

ภิกษุกลุ่มนั้นมองดูตากันแล้วยิ้มๆ ด้วยความอัศจรรย์ใจในการทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า ของพระศาสดา ก็พระองค์ตรัสสั่งไว้เมื่อเช้านี้เองว่า ถ้ามีคนมาถามหาพระอนันตชินให้พาไปเฝ้าพระองค์

ดังนั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจึงกล่าวขึ้นว่า "อุบาสก ! พระอนันตชินเป็นศาสดาแห่งเราทั้งหลาย พวกเราเป็นสาวกของพระองค์ ไฉนเล่าพวกเราจะไม่รู้จักพระผู้มีนามเช่นนั้น มาเถิดตามข้าพเจ้ามา จะนำไปเฝ้าพระอนันตชินพระองค์นั้น" ว่าแล้วได้ลุกเดินนำอุปกะไป

ถึงพระคันธกุฎี พระพุทธองค์ทรงรอคอยอยู่แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระรัศมีซ่านออกจากพระกายทั้ง ๖ สี ดุจเดียวกับวันที่พระองค์ได้พบอุปกะครั้งแรกเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ อุปกะก้มลงกราบพระมงคลบาทแห่งพระศาสดา มีน้ำตานองหน้ากราบทูลว่า

"ข้าแต่พระอนันตชิน ! ท่านจำข้าพเจ้าได้อยู่หรือ ข้าพเจ้าเคยพบท่านครั้งหนึ่งแขวงเมืองพาราณสีเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว"

"ดูก่อนอุปกะ" พระศาสดาตรัสตอบ "เรารอคอยการมาของท่านอยู่ การมาของท่านครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ท่าน" พอได้ยินคำว่า "อุปกะ" เท่านั้น ปีติปราโมชก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์ของอุปกะ ชื่อใดเล่าในโลกนี้จะไพเราะอ่อนหวานยิ่งกว่าชื่อของตนเอง ทุกคนจะดีใจเป็นที่ยิ่งเมื่อทราบว่าผู้อื่นจำชื่อของตนได้อย่างแม่นยำ หลังจากพรากกันไปเป็นเวลานาน

"อุปกะ" พระองค์ตรัสต่อไป "หลังจาก จากกันคราวนั้นแล้วท่านไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร พอทนได้อยู่หรือ เมื่อก่อนนี้ดูท่านทรงเพศเป็นนักบวช บัดนี้ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไป ?"

อุปกะได้เล่าความหลังทั้งมวลให้พระศาสดาทราบโดยตลอด แล้วทูลเพิ่มเติมว่า "พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เดินหลงทางอยู่เป็นเวลานาน บัดนี้มาพบพระองค์เป็นครั้งที่สอง คงจะดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง พระองค์ผู้อนุเคราะห์โลก โปรดอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด" พูดเท่านั้นแล้วเขาก็ซบศีรษะลงแทบพระบาทมูลแห่งพระศาสดา

พระจอมมุนีศรีศากยบุตร ประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า "ดูก่อนอุปกะ การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดีย่อมก่อทุกข์ให้มากมาย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง อุปกะเอย ! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือ บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี่แล รึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก คือ บ่วงบุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ นั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี ดูก่อนอุปกะ ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีมิได้ ย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ ย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ กิเลสนั้นมีอำนาจครอบคลุมอยู่โดยทั่ว ไม่เลือกว่าในวัยและเพศใด

"ดูก่อนอุปกะ เราจะขอสาธกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง"

นานมาแล้ว มีมานพหนุ่มน้อยลามารดาบิดาไปเรียนศิลปวิทยา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบแล้วจึงลาอาจารย์กลับบ้าน มารดาต้อนรับเขาด้วยความยินดียิ่ง เมื่อสนทนากันไปมารดาถามว่า ลูกได้เรียนอสาตมนต์แล้วหรือ ลูกชายตอบว่า ยังไม่ได้เรียน มารดาจึงขอร้องให้ไปเรียนอสาตมนต์เสียก่อน เขาจึงลามารดาไปหาอาจารย์กราบเรียนให้อาจารย์ว่ายังมีมนต์สำคัญอยู่อย่าง หนึ่ง ซึ่งเขายังมิได้เรียนจากอาจารย์ มารดาของเขาขอร้องให้มาเรียนอสาตมนต์ อาจารย์ได้ทราบดังนั้นยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่า "มานพ เวลานี้เรามาพักอยู่ในป่าไม่มีใครเลย นอกจากเราและมารดาผู้ชราของเรา เธอจะปฏิบัติบำรุงมารดาของเราสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเราจะบอกอสาตมนต์ให้ แต่ในขณะที่ปฏิบัติมารดาของเรา เช่นการอาบน้ำ ป้อนข้าวให้ และนวดเฟ้นให้ เจ้าจงชมเชยอวัยวะต่างๆ แห่งมารดาของเราทุกครั้งไป เช่น "ว่ามือสวย เท้าสวย เป็นต้น" มานพหนุ่มรับคำของอาจารย์ด้วยความปีติยินดี

ตั้งแต่วันนั้นมาเขาตั้งใจปฏิบัติมารดาของอาจารย์ เช่นการอาบน้ำให้ ป้อนข้าว และนวดเฟ้นเป็นต้น

"มือและแขนของคุณแม่สวยน่าดูเหลือเกิน" วันหนึ่งเด็กหนุ่มเริ่มทำตามที่อาจารย์สอน

นางยิ้มอย่างร่าเริง ทั้งๆ ที่ฟันของนางหักหมดแล้วและกล่าวว่า

"มือและแขนของฉันสวยจริงๆ หรือ พ่อหนุ่ม ฉันแก่แล้วนะ"

"คุณแม่แก่แล้วมือและแขนยังสาวขนาดนี้ เมื่อคุณแม่สาวๆ คงจะสวยมิใช่น้อย ขาและเท้าของคุณแม่ก็สวย ใบหน้าก็งามซึ้งน่าดูเหลือเกิน กระผมดูไม่เบื่อเลย เมื่อคุณแม่ยังสาวคงจะสวยหาคนเสมอเหมือนมิได้"

นางรู้สึกปีติยินดีอย่างล้นเหลือ เป็นเวลานานมาแล้วที่นางไม่เคยได้ยินคำอ่อนหวานระรื่นหูชูกำลังใจอย่างนี้ เลย อะไรเล่าจะเป็นที่พอใจของสตรีมากเท่าได้ยินคำชมว่าเธอสวย ไม่ว่าสตรีนั้นจะอยู่ในวัยใด มานพหนุ่มเวียนพูดชมเชยนางผู้เป็นมารดาของอาจารย์อยู่อย่างนี้ทุกวัน บางคราวเขายังพูดเพิ่มเติมว่าถ้าเขาได้ภรรยาที่มีความงามพร้อมเพียงครึ่ง หนึ่งของนาง เขาก็จะมีความสุขหาน้อยไม่ และทำทีเป็นมีความรู้สึกเสน่หาในตัวนางเสียสุดประมาณ จนกระทั่งนางรู้สึกว่า หนุ่มน้อยนี้คงมีจิตพิศวาสปฏิพัทธ์ในตัวนางเป็นที่ยิ่ง วันหนึ่งจึงถามว่า

"พ่อหนุ่ม ! เธอมีความพอใจในตัวเรามากหรือ ?"

"มากเหลือเกิน คุณแม่ กระผมไม่ทราบจะสรรหาคำพูดใดๆ มาพูด ให้สมกับความรู้สึกที่กระผมมีต่อคุณแม่ได้"

"เธอจะเลี้ยงดูเราอย่างนี้ตลอดไปหรือ ?"

"ตลอดไป คุณแม่ การได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่เป็นความสุขอย่างยิ่งของกระผม ถ้าคุณแม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปสักร้อยปี และกระผมปฏิบัติคุณแม่อยู่อย่างนี้ถึงร้อยปี กระผมก็จะไม่เบื่อหน่ายเลย"

หญิงชราเข้าใจว่า มานพหนุ่มมีจิตปฏิพัทธ์ในตน ให้รู้สึกกระสันยิ่งนัก จึงกล่าวว่า "ก็จะเป็นไรไปเจ้าหนุ่ม เมื่อเธอปรารถนาอย่างนั้นก็คงจะเป็นได้ เมื่อเธอต้องการจะร่วมอภิรมณ์กับเรา เราก็ยินดี"

"จะทำได้อย่างไรคุณแม่ คุณแม่เป็นแม่ของอาจารย์ กระผมต้องเคารพยำเกรงคุณแม่ยิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก ตราบใดที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ กระผมจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลย" ว่าแล้วมานพหนุ่มก็แกล้งเคล้าเคลียและเอาใจหญิงชรายิ่งขึ้น

"พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดด้วยเสียงสั่นเครือ "เธอจะปฏิบัติเราไม่ทอดทิ้งเราจริงๆ หรือ ?"

"ข้อนี้กระผมรับรองได้ คุณแม่" มานพตอบ

"ถ้าอย่างนั้นจะขัดข้องอะไรกับเรื่องชีวิตลูกชาย เธอฆ่าเขาเสียก็หมดเรื่อง"

"กระผมจะฆ่าเขาได้อย่างไรครับคุณแม่ ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนศิลปศาสตร์ให้กระผม และดีต่อกระผมเหลือเกิน กระผมฆ่าท่านไม่ได้ดอก" มานพยืนยัน

"เธอรับรองแน่นะว่าเธอจะไม่ทอดทิ้งฉัน" หญิงชราพูด

"ข้อนี้กระผมรับรองครับ คุณแม่" ชายหนุ่มตอบ

"ถ้าอย่างนั้น เมื่อเธอฆ่าไม่ได้ฉันจะฆ่าเขาเอง" หญิงชราพูดอย่างมั่นคง

"เอาไว้รอคิดการดีๆ ให้รอบคอบก่อนเถิดครับคุณแม่" พูดแล้วชายหนุ่มก็ออกจากห้องของหญิงชราไปหาอาจารย์ เล่าเรื่องทั้งหมดให้อาจารย์ทราบ ความจริงเขาเล่าเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ต้นมาให้อาจารย์ทราบโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นการเรียน และเรื่องทั้งหมดเป็นแผนการของอาจารย์ที่จะสอนศิษย์เรื่องอสาตมนต์ ชายหนุ่มพูดอย่างไร หญิงชราแสดงอาการอย่างไร และโต้ตอบอย่างไร อาจารย์ได้รับทราบจากชายหนุ่มเป็นระยะๆ ตลอดมา

เมื่ออาจารย์ได้ทราบจากชายหนุ่มว่ามารดาของตนคิดจะฆ่าตน ทีแรกรู้สึกสลดใจเล็กน้อย แต่เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้รู้เรื่องอย่างนี้ดีอยู่แล้ว จึงวางเฉยได้ในไม่ช้า และตรวจดูอายุขัยแห่งมารดาตน ทราบว่าถึงอย่างไรๆ มารดาก็หมดอายุในวันพรุ่งนี้แล้ว ถึงเหตุการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารดาก็จะต้องตายในวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว จึงต้องการจะสอนศิษย์ให้รู้แน่ใจในวิชาอสาตมนต์จึงบอกชายหนุ่มให้ไปตัด ต้นไม้ต้นหนึ่ง ทำให้มีลักษณะคล้ายรูปคน แล้วนำมาวางไว้บนเตียงนอนของอาจารย์เอาผ้าคลุมไว้ แล้วเอาเชือกขึงจากห้องมารดาทำเป็นราวมาสู่ห้องของตน

ทุกอย่างเรียบร้อย ชายหนุ่มเข้าไปสู่ห้องของมารดาอาจารย์ นวดเฟ้นปฏิบัติอย่างที่เคย กล่าวชมเชยความงามของหญิงชราด้วยประการต่างๆ

"ว่าอย่างไร พ่อหนุ่ม" หญิงชราพูดขึ้น "เมื่อเธอไม่ฆ่า เราจะฆ่าเอง"

"คุณแม่จะฆ่าจริงๆ หรือ ?" ชายหนุ่มถามแล้วแสร้งคลอเคลียแสดงความรักในหญิงชราให้มากขึ้น ด้วยความเคลิบเคลิ้มและหลงใหล หญิงชรายืนยันอย่างแข็งขันว่าจะฆ่า ชายหนุ่มจึงกล่าวว่าเขาได้เตรียมแผนการไว้พร้อมแล้ว "นี่ขวาน" เขากล่าว "คุณแม่เดินไปตามเส้นเชือกที่ขึงไว้นี้ ปลายเชือกไปสุดลงที่ใด ที่นั่นเป็นเตียงนอนของอาจารย์ เวลานี้อาจารย์นอนหลับแล้ว พอสุดปลายเชือกเอี้ยวตัวมาทางขวานิดหนึ่งจะตรงคออาจารย์พอดี คุณแม่ฟันทีเดียวให้คอขาด แล้วเราจะอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกต่อไป"

หญิงชรานัยน์ตาฝ้าฝาง มองอะไรไม่ค่อยจะเห็นแล้ว เดินไม่ค่อยถนัดเพราะความแก่เฒ่า รับขวานจากชายหนุ่มแล้วงกงันเดินคลำเส้นเชือกไป ใจของเธอเวลานี้ถูกห่อหุ้มด้วยโมหะ ถูกความเสน่หาเร่งเร้าปลงใจฆ่า แม้แต่ลูกของตนเองซึ่งมีความดีงามพร้อมทุกประการ

เมื่อเดินคลำเส้นเชือกมาถึงปลายสุด หญิงชราก็เอี้ยวตัวมาคลำดูบนเตียง มองเห็นรางๆ เหมือนภาพคนนอนคุมผ้าอยู่ นางแน่ใจว่าเป็นลูกชายตนจึงจ้วงคมขวานลงสุดแรง คมขวานกระทบไม้ดังโผะ นางรู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้ว ตกใจอย่างยิ่งประจวบกับชรามากถึงแล้วซึ่งอายุขัย นางจึงสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง

อาจารย์และศิษย์หนุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่โดยตลอดสังเวชสลดใจเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองยืนเศร้าซึมอยู่ใกล้ๆ ร่างของหญิงชราอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดอาจารย์ก็กล่าวขึ้นว่า

"มานพ ! เธอได้เรียนอาสตมนต์จบเรียบร้อยแล้ว" ชายหนุ่มทรุดตัวลงกราบอาจารย์และกอดเท้าทั้งสองไว้ พร่ำรำพันถึงเมตตากรุณาของอาจารย์ที่มีต่อตน น้ำตาของเขาหยดลงสู่หลังเท้าของอาจารย์ ในขณะนั้นความรู้สึกของเขาสับสนวุ่นวาย จนไม่อาจพรรณนาได้ว่าเป็นฉันใด

นี่เอง อสาตมนต์ที่มารดาของเขาเร่งเร้าให้มาเรียน ช่างเป็นวิชาที่แปลกและมีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างเหลือล้น

พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าเรื่องอสาตมนต์จบลงแล้ว ทรงเพิ่มเติมว่า

"ดูก่อน อุปกะ ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเขา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มในเบิกบานอยู่ ดูก่อน อุปกะ ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"

อุปกะส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้า คลายสังโยชน์คือกิเลสที่ร้อยรัดใจออกเป็นเปาะๆ ได้บรรลุอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่สามด้วยประการฉะนี้



มีต่อ >>> เมื่อสาลวโนทยานขาวด้วยมหาวิโยค
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2009, 01:17:25 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:02:57 PM »


เมื่อสาลวโนทยานขาวด้วยมหาวิโยค


ขอนำท่านมาสู่บริเวณสาลวโนทยาน กรุงกุสินาราอีกครั้งหนึ่ง

ภายใต้แสงจันทร์สีนวลยองใยนั้น พระผู้มีพระภาคบรรทมเหยียดพระกายในท่าไสยาสน์ แวดล้อมด้วยพุทธบริษัทมากหลาย แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปๆ ประดุจดวงจันทร์ที่ถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆก็ปานกัน

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ ! เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่า บัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง อานนท์เอย ! พึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ธรรม วินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่ง อย่าได้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย"

"อานนท์ ! อีกเรื่องหนึ่งที่เราจะสั่งเธอไว้ คือบัดนี้ภิกษุทั้งหลายเรียกกันว่า "อาวุโสๆ" ทั้งผู้แก่และผู้อ่อน ต่อไปนี้ขอให้ภิกษุผู้แก่พรรษากว่าพึงเรียกผู้อ่อนกว่าว่า "อาวุโส" (คุณ) ส่วนภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าพึงเรียกผู้แก่กว่าว่า "ภันเต" หรือ อายัสมา (ท่าน) ผ่อนผันตามควรแก่คารวโวหาร

"อานนท์ ! อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องฉันนะ เธอเป็นพระที่ดื้อดึงมีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังใคร ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใคร เพราะถือดีว่าเคยเป็นข้าเก่าของเรา เคยใกล้ชิดเรามาก่อนใครๆ หมด เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอปรารถนาจะทำ จะพูดสิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไรก็ให้เธอทำ พูด และอยู่ ตามอัธยาศัย สงฆ์ไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนอะไรเธอ นี่เป็นวิธีลงพรหมทัณฑ์ คือการลงทัณฑ์ที่หนักที่สุดแบบอริยะ

"อานนท์ ! อีกอย่างหนึ่ง คือสิกขาบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลายจะได้อยู่ด้วยกัน อย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลกับสมัยเสียบ้างก็ได้ กาลเวลาล่วงไปสมัยเปลี่ยนไป จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติสิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้

เมื่อพระอานนท์มิได้ถูกถามอะไร พระธรรมราชาจึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ใดมีความสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือปฏิปทาใดๆ ก็จงถามเสียบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้ว มิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน"

ภิกษุทุกรูปเงียบกริบ บริเวณปรินิพพานมณฑลสงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ทุกคนปรารถนาจะฟังแต่พระพุทธดำรัส เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเป็นครั้งสุดท้าย

บัดนี้ พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในดินที่แตกระแหงย่อมพลันเหือดแห้งหายไป มิได้ปรากฏแก่สายตา ถึงกระนั้น พระบรมโลกนาถก็ยังประทานปัจฉิมโอวาทเป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวง มีความเสื่อมและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระจันทร์โคจรไปทางขอบฟ้าทิศตะวันตกแล้ว แสงโสมสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมา ท้องฟ้าเกลี้ยงเกลาปราศจากเมฆหมอก รัศมีแจ่มจรัสดูเหมือนจะจงใจส่องแสงเปล่งปลั่งเป็นพิเศษครั้งสุดท้ายแล้ว สลัวลงเล็กน้อย เหมือนจงใจอาลัยในพระศาสดาผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์

พระผู้มีพระภาคมีพระกายสงบ หลับพระเนตรสนิท พระอนุรุทธเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น และได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าสู่อรูปสมาบัติ คืออากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ตามลำดับแล้วถอยกลับมาจาก สัญญาเวทยิตนิโรธ จนถึงปฐมฌาน และเข้าปฐมฌานไปจนถึงจตุตถฌานอีก เมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้ทันได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็ปรินิพพานในระหว่างนั้น

ในที่สุดแม้พระพุทธองค์เองก็ต้องประสบ อวสานเหมือนคนทั้งหลาย พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนม์ชีพว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็น ที่สุดนี้ เป็นสัจธรรม ที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง

ตลอดเวลา ๔๕พรรษา ที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น ทรงลำบากตรากตรำอย่างยิ่งยวด ทรงเสวยเพียงวันละมื้อเพียงเพื่อให้มีพระชนม์อยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก พระอัครสาวกทั้งสองได้ปรินิพพานไปก่อนแล้ว นิครนถ์ นาฏบุตร หรือ ศาสดามหาวีระ คู่แข่งผู้ยิ่งใหญ่ในการประกาศศาสนาก็ได้สิ้นชีพไปแล้ว อุบาสกผู้สละอย่างยิ่ง เช่น อนาถปิณฑกคฤหบดี ก็ละทิ้งสังขารของตนจากไปก่อนแล้ว ทั้งผู้ที่เป็นมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูกับพระพุทธองค์ ต่างก็ทยอยกันเข้าไปสู่ปากแห่งมรณะกันตามลำดับๆ แม้พระองค์จะต้องนิพพานไปแล้ว แต่ศาสนายังอยู่ พระธรรมคำสอนของพระองค์ยังคงอยู่เป็นประทีปส่องโลกต่อไป จำนวนผู้เคารพเลื่อมใสในศาสนธรรมของพระองค์ได้เพิ่มพูนเอ่อสูงเหมือนน้ำที่ บ่าสูงขึ้นโดยไม่มีเวลาลด รากแก้วแห่งพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงแล้วอย่างแท้จริงในจิตใจของมนุษยชาติ

นึกย้อนหลังไป เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนปรินิพพาน พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไปแล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้น พร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน ต้องเสด็จจากโพธิมณฑลไปพาราณสีด้วยพระบาทเปล่าถึง ๑๐ วัน เพียงเพื่อหาเพื่อนผู้จะรับคำแนะนำของพระองค์สัก ๕ คน แต่มาบัดนี้ พระองค์มีภิกษุสาวกเป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ เพราะคนทั้งหลายรู้สึกว่า การได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นความสุขอย่างยิ่งของเขา

เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่งที่นายโสตถิยะนำมาถวาย และทรงทำเป็นที่รองประทับ มาบัดนี้ มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงาม ซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์ เช่น เชตวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวัน ปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจองเพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา แน่นอนทีเดียว หากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ คงจะไม่ได้รับความนิยมเลื่อมใสถึงขนาดนี้และไม่ยืนนานถึงปานนี้

เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ภายใต้โพธิพฤกษ์อันร่มเย็นริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งกิเลสนิพพาน กำจัดกิเลสและความมืดให้หมดไป และบัดนี้ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ และความเย็นเยือกแห่งปัจฉิมยาม พระองค์ก็ดับแล้วด้วยขันธ์นิพพาน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระรูปอันวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระธรรมกายอันสำเร็จแล้วด้วยนานาคุณรัตนะ มีศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวงเป็นต้น ถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยฤทธิ์ ด้วยกำลัง และด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นยังต้องดับแล้วด้วยการตกลงแห่งฝน คือมรณะ เหมือนกองอัคคีใหญ่ต้องดับมอดลง เพราะฝนห่าใหญ่ตกลงมาฉะนั้น

พระองค์เคยตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพาล หรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด" นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร !

อันว่าความตายนี้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครสามารถต้านทานต่อสู้ด้วยวิธีใดๆ ได้เลย ก้าวเข้าไปสู่ปราสาทแห่งกษัตริยาธิราช และแม้ในวงชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสง่าผ่าเผย ปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ เช่นเดียวกับก้าวเข้าไปสู่กระท่อมน้อยของขอทาน พญามัจจุราชนี้เป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมยิ่งนัก ไม่เคยลำเอียงหรือกินสินบนของใครเลย ย่อมพิจารณาคดีตามบทตายอัยการ ไม่ฟังเสียงคัดค้านและขอร้องของใคร ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญอันระคนด้วยกลิ่นธูปควันเทียนนั้น ท่านได้ยื่นพระหัตถ์ออกกระชากให้ความหวังของทุกคนหลุดลอย และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระบัญชาของพระองค์ เมื่อมาถึงจุดนี้ ความยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นเพียงนิยายที่ไว้เล่าสู่กันฟังเท่านั้น

มงกุฎประดับเพชรก็มีค่ากับหมวกฟาง พระคทาอันมีลวดลายวิจิตรก็เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า เมื่อความตายมาถึงเข้า พระราชาก็ต้องถอดมงกุฎเพชรลงวาง ทิ้งพระคทาไว้ แล้วเดินเคียงคู่ไปกับชาวนาหรือขอทาน ผู้ซึ่งได้ทิ้งจอบ เสียม หมวกฟาง และคันไถ หรือภาชนะขอทานไว้ให้ทายาทของตน

ใครเล่าจะต่อกรกับพระยามัจจุราชผู้เป็นใหญ่ในสิ่งที่ต้องตาย แต่ถ้าไม่มีความตายแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็จะมัวเมาประมาท และมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานมากกว่านี้ พระยามัจจุราชก็มีบุญคุณกับมนุษย์มากอยู่ เพราะเพียงแต่นึกถึงท่านบ่อยๆ เท่านั้น ก็ทำให้ความโลภโกรธและหลงสงบลง และเพียงแต่เอาชื่อของท่านไปขู่เท่านั้น ทำให้บุคคลบางคนวางมือจากความชั่วทุจริตที่เคยทำมา แต่ก็พระยามัจจุราชนี่เองที่กระชากเอาชีวิตของคนดีมีประโยชน์บางคนไปอย่าง หน้าตาเฉย แม้ในโอกาสอันยังไม่ควร

แม้ความงามอันเฉิดฉายของหญิงงามสะคราญตาร่านใจอันถูกยกย่องแล้วว่าเป็นหนึ่ง ในจักรวาล เป็นที่ต้องการปรารถนายิ่งนักของบุรุษทุกวัยในพื้นพิภพ เธอผู้งามพร้อมเช่นนี้ ในที่สุดก็ต้องเป็นเหยื่อของความตาย ผู้ไม่เคยยกเว้นและปรานีใครเลย เมื่อดาบแห่งมัจจุราชฟาดฟังลง ใช้บ่วงอันมีมหิทธานุภาพยิ่งนัก คล้องเอาดวงวิญญาณไปแล้ว ร่างอันงดงามเร้ากามคุณให้กำเริบนั้นก็พลันนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ มันไร้ค่ายิ่งกว่าท่อนไม้เสียอีก เพราะไม่อาจนำไปทำประโยชน์ใดๆ ได้เลย จะทำสัมภาระหรือเป็นเครื่องมือหุงข้างต้มแกงก็มิได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนเข้าชอนไช ให้ปรุพรุนเน่าเหม็นเป็นที่สะอิดสะเอียน แม้แก่บุคคลที่เคยรักเหมือนจะขาดใจ อะไรเล่าจะเป็นสาระในชีวิตมนุษย์นี้ นอกเสียจากความดีที่เคยบำเพ็ญและทิ้งไว้ให้โลกระลึกถึง และยกย่องบูชา

ด้วยประการฉะนี้ เจ้าของแห่งเรือนร่างที่งดงามพริ้งเพรา ถ้ามัวแต่เมาในร่างอันไร้สาระของตน มิได้ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว คุณค่าของเขาจะสู้ก้อนอิฐปูนถนนได้อย่างไร

พระผู้พระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดีและเกียรติคุณของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใดไม่ อาจจะกำหนดได้ ความดีนี่เองที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต

ขณะเดียวกับที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ละทิ้งวิบากขันธ์อันทรมานเข้าสู่ศิวโมกข์ มหาปรินิพพานนั้น เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไปทั่วท้องธรณี และสากลจักรวาลโลกธาตุ มหาปฐพีดลซึ่งสามารถรองรับนานาสังขารลักษณะเช่นภูเขาสิเนรุราชเป็นต้น ก็ไม่อาจทนอยู่ได้ แสดงกัมปนาการหวั่นไหว อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบ ตีฟองคะนองครืนครั่นนฤนาทสนั่นทั่วทั้งสาคร หมู่มัจฉาปารกชาติมังกรผุดดำ กระทำศัพท์ให้นฤโฆษประดุจเสียงปริเทวนาการแซ่ซ้อง โศกาดูรกำสรด ท้องฟ้านภากาศก็มืดมัวสลัวลง พร้อมทั้งมีเสียงครืนครั่นสนั่นทั่วเวหาสน์ เหมือนแสดงอาการคร่ำครวญถึงองค์พระโลกนาถผู้จากไป

มองลงมายังพื้นปฐพี ณ สาลวโนทยานมณฑล ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยศาสนิกชนพุทธบริษัท อร่ามไปด้วยกาสาวพัสตร์อำไพพรรณ และทวยนาครผู้มีความอาลัยในพระศาสดา พอเสียงก้องกังวานระคนเศร้าของพระอานนท์พุทธอนุชาประกาศออกมาว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วเท่านั้น เสียงร่ำไห้ก็ระงมขึ้นพร้อมกันประดุจเสียงจักจั่นและเรไร กรีดร้องยามย่ำสนธยา ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่ยังเป็นปุถุชนไม่อาจจะอดกลั้นอัสสุชลธาราไว้ได้ ร่ำร้องโหยไห้ประดุจบิดาแห่งตนได้สิ้นชีพลงพร้อมๆ กัน ณ บริเวณสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา เหมือนพระพิรุณโปรยลงมาเป็นครั้งคราว เสียงร่ำไห้ติดต่อเป็นเสียงเดียวกันทั่วกุสินารานคร

ฝ่ายภิกษุผู้เป็นขีณาสพ สิ้นอาสวะแล้วก็ปลงธรรมสังเวชพร้อมด้วยปลอบผู้ที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญด้วย ธรรมกถา ให้เห็นความเป็นไปตามธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน ทนไม่ได้ต้องแตกไป ดับไป สลายไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วแต่ต้นปัจฉิมยามแห่งราตรี เวลายังเหลืออยู่อีกนาน กว่าจะรุ่งอรุณ พระอนุรุทธะ และพระอานนท์ ได้สับเปลี่ยนกันแสดงธรรมปลอบพุทธบริษัทให้คลายโศก ด้วยธรรมเทศนาอันปฏิสังยุตด้วยไตรลักษณาการ คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

ข่าวการดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จากแคว้นสู่แคว้นจากราชธานีสู่ราชธานี จากนิคมสู่นิคม และจากชนบทสู่ชนบทตลอดทั่วชมพูทวีป ภารตวรรษทั้งหมดสั่นสะเทือนวิปโยค ประดุจบุรุษผู้มีกำลังดึงย่านเถาวัลย์อันเกี่ยวพันรุกขสาขา ยังความสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นทั่วมณฑลแห่งรุกขชาติก็ปานกัน ไอแห่งความเศร้าสลดแผ่กระเซ็นสาดกระจายไปทั่วขัณฑสีมาอาณาเขต ประหนึ่งละอองฝนกระจายไปทั่วพื้นเมทมี ชมพูทวีปทั้งหมดครึ้มไปด้วยเมฆคือความโศก และชุ่มโชกความละอองฝน คือปริเทวนาการ ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้

กำหนดเก็บพระพุทธสรีระไว้เป็นเวลา ๖ ราตรี ในวันที่ ๗ ก็จะทำพิธีถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ในระหว่าง ๖ ทิวาตรีนั้น มหาชนจากทิศานุทิศเดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระ บริเวณอุทยานสาลวัน ปานประหนึ่งคลุมด้วยผ้าขาว ทั้งนี้เพราะชาวชมพูทวีปไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวล้วน พระพุทธอนุชาอานนท์ต้องรับภาระหนักเป็นพิเศษ แม้จะพยายามหักห้ามใจสักปานใด แต่ก็มีบางครั้งเมื่อท่านเห็นคนทั้งหลายเศร้าโศก ก็อดที่จะกำสรดตามมิได้ เพราะความอาลัยในพระศาสดามีอยู่ใจจิตใจของท่านสุดประมาณ

เมื่อถึงวันที่ ๗ พระพุทธสรีระก็ถูกนำไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านบูรพากุสินารานครเตรียมถวายพระเพลิง พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป ซึ่งเป็นเถระผู้ใหญ่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องมากกำลังเดินทางจากเมือง ปาวา จวนจะถึงอยู่แล้ว คณะมัลลกษัตริย์และพระอานนท์จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสปมาถึง พิธีจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสปเป็นประธาน

ผ้า ๔๙๘ ชั้นที่ห่อพระพุทธสรีระนั้นถูกไฟไหม้หมดเหลืออยู่เพียง ๒ ชั้นไฟไม่ไหม้ เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้อย่างสมบูรณ์ มิให้กระจัดกระจาย ผ้าสองชั้นในที่สุดที่ใช้ห่อพระพุทธสรีระนั้น เป็นผ้าพิเศษเรียกว่า "อัคคิโวทานทุสสะ" ตามตัวอักษรแปลว่าซักด้วยไฟ ผ้าชนิดนี้ทำด้วยใยหิน ไฟไม่ไหม้ เมื่อใช้ไปนานๆ ต้องการจะซักต้องโยนเข้ากองไฟ ผ้าจะสะอาดดังเดิม

อีกครั้งหนึ่งที่เสียงปริเทวนาการ ดังระงมไปทั่วปริมณฑลแห่งมกุฏพันธนาเจดีย์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ อัสสุชลธาราหลั่งไหลชุ่มโชกทุกใบหน้า เขาเหล่านั้นเป็นประดุจฝูงวิหคนกกาที่เคยจับโพธิพฤกษ์หรือมหานิโครธ อันสมบูรณ์ด้วยลำต้นและกิ่งก้านสาขามีเงาครึ้ม สะพรั่งด้วยผลาผลอันเอมโอช เมื่อโพธิ์หรือไทรนั้นล้มลง ยังความเศร้าสลดแก่ฝูงวิหคสุดประมาณ ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อต้นไม้นั้นถูกเผาให้ไหม้มอด ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไป นกเหล่านั้นจะเศร้าโศกสักปานใดใครเล่าจะรู้ซึ้งไปกว่าผู้ประสบเอง

"โอ ! พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ" นี่คือเสียงคร่ำครวญ "พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณากว้างใหญ่ดุจห้วงมหรรณพ มีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ ทรงมีพระทัยหนักแน่นดุจมหิดล รับได้ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ขวนขวายเพื่อความสงบร่มเย็นของปวงชน พระองค์เป็นผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกภายในคือดวงจิต ประดุจพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกภายนอกคือท้องฟ้าปฐพี บัดนี้พระองค์ปรินิพพานเสียแล้ว มองไม่เห็นแม้แต่เพียง พระสรีระซึ่งเคยรับใช้พระองค์โปรยปรายธรรมรัตน์ ประหนึ่งม้าแก้วแห่งพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพาหนะนำเจ้าของตรวจความสงบสุขแห่ง ประชากร

"โอ ! พระมหามุนี ผู้เป็นจอมชน บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นประดุจนกในเวหา ไร้โพธิ์หรือไทรที่จะจับเกาะ ประดุจเด็กน้อยผู้ขาดมารดา เหมือนเรือที่ลอยคว้างอยู่ในมหาสมุทร อ้างว้างว้าเหว่สุดประมาณ จะหาใครเล่าผู้เสมอเหมือนพระองค์"

แม้พระอานนท์ พุทธอนุชาเอง ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ เป็นเวลา ๒๕ ปี จำเดิมแต่รับหน้าที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนเงาตามองค์ บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจากไปเสียแล้ว ท่านรู้สึกว้าเหว่และเงียบเหงา ไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไปเวลา ๒๕ ปี นานพอที่จะก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อมีการพลัดพราก

แต่แล้ว เรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า

- สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

- สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดมีเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไป

- สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์ และกิเลสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น ฯ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2009, 01:08:50 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: กันยายน 03, 2009, 01:18:03 PM »

ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://www.dhammajak.net  ครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: