ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วัดศรีอภัยวัน
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
๏ อัตโนประวัติ“อย่ามีอคติ...อย่าลำเอียงกับใครเลย และอย่าขึ้นๆ ลงๆ อย่าเอารัดเอาเปรียบกันอีกเลย”
ความตอนหนึ่งจากธรรมโอวาทของ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” หรือ “หลวงปู่ท่อน ญาณธโร”
ที่คอยอบรมสอนสั่งสาธุชนให้ปฏิบัติตาม ด้วยกุศโลบายอันแยบคายในการแสดงพระธรรมเทศนา
ให้ผู้ฟังนำไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญา
ท่านเป็นพระเถราจารย์ผู้ใหญ่สายวิปัสสนาธุดงค์กัมมัฏฐาน เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตตภาวนา การเทศนาธรรม และวิทยาคมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร มีนามเดิมว่า ท่อน ประเสริฐพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2471
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ณ บ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายแจ่ม และนางทา ประเสริฐพงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 19 คน
ท่านบุตรคนที่ 6 ปัจจุบัน สิริอายุได้ 79 พรรษา 59 (เมื่อปี พ.ศ.2550)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน บ้านหนองมะผาง ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย และเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต)
๏ การศึกษาเบื้องต้น
ในวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านหินขาว
ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่ด้วยฐานะทางบ้านยากจน
ท่านจึงได้ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
ต่อมาได้เรียนต่อที่โรงเรียนผู้ใหญ่ที่บ้านหินขาว สอบเทียบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ท่านไม่ได้เข้าศึกษาต่อ
เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว จึงเป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนอีกครั้ง เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
๏ การอุปสมบทช่วงวัยหนุ่มฉกรรจ์ เป็นคนติดเพื่อนฝูง กินเหล้าเมายา จีบสาวตามบ้านต่างๆ ในละแวกนั้น
ทำให้โยมบิดา-โยมมารดา เป็นกังวลใจมาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป บุตรชายคงจะเสียคนเป็นแน่
จึงได้ปรึกษากันขอให้บุตรชายบวชเรียน โยมบิดาจึงนำตัวบุตรชายไปฝากกับหลวงปู่คำดี ปภาโส
พระเกจิชื่อดังแห่งวัดป่าชัยวัน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่หลวงปู่คำดีมีข้อแม้ว่า
ก่อนบวชจะต้องรักษาศีล นุ่งห่มขาว เจริญภาวนา กินข้าวมื้อเดียวก่อน
ครั้นอยู่ทดสอบจิตใจได้ 5 เดือน หลวงปู่คำดีได้อนุญาตให้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ขณะมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง)
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระเทพบัณฑิต (มหาอินทร์ ถิรเสวี สินโพธิ์ ป.ธ.5)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิศาลสารคุณ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ อุตฺตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่คำดี ณ วัดป่าชัยวัน
โดยหลวงปู่คำดีเป็นอาจารย์กัมมัฏฐาน คอยสอนให้ทำภาวนา นั่งสมาธิกัมมัฏฐาน
เน้นเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา ระยะเวลาผ่านไปนานพอสมควร ท่านได้ช่วยครูบาอาจารย์แบ่งเบาภาระในการสอนคนที่จะมาบวช
ด้วยการสอนขานนาค เป็นต้น ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ได้เป็นหัวหน้าออกเดินธุดงค์เข้าป่าเป็นกิจวัตร
๏ ได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า
และได้รับโอวาทอันทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้จากหลวงปู่มั่น
“ให้เร่งทำความเพียร มิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย”
หลวงปู่ท่อน ยังได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม,
หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น
หลังจากช่วยงานการครูบาอาจารย์เสร็จสิ้น หลวงปู่คำดีได้นำหมู่คณะออกวิเวกไปทาง จ.เลย
ตอนนั้นหลวงปู่ท่อนบวชได้ 7 พรรษาแล้ว
พ.ศ.2497 หลวงปู่คำดี นำคณะเข้าป่าและถ้ำต่างๆ ได้ภาวนาทำความเพียร
ตลอดจนให้ศรัทธาญาติโยมมาฟังธรรมะ และในพรรษานี้หลวงปู่ท่อนได้อยู่จำพรรษา
ณ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย กับหลวงปู่คำดีด้วย
หลวงปู่ท่อนอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ได้ 2 พรรษา ก็มีศรัทธาญาติโยมมา
ขอให้ไปโปรดที่วัดถ้ำตีนผา อ.เชียงคาน จ.เลย 1 พรรษา
ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธเจ็บป่วยด้วยโรคชรา
ท่านจึงกลับมาเยี่ยมและช่วยสร้างวัดถ้ำผาปู่นิมิตรไปด้วย จวบกระทั่งหลวงปู่คำดีได้มรณภาพลงอย่างสงบ
๏ สร้างวัดศรีอภัยวันพ.ศ.2500 ศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์ให้หลวงปู่ท่อนไปอยู่ที่ป่าช้านาโป่ง
และได้สร้างเป็นวัดศรีอภัยวัน บนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ รวมทั้งรักษาความเป็นป่าอย่างสมบูรณ์ไว้
จากนั้นมา หลวงปู่ท่อนได้จำพรรษาที่วัดศรีอภัยวัน จ.เลย ตราบจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากหลวงปู่ท่อนเป็นพระป่า ที่วัดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต กุฏิเป็นเพียงกุฏิเล็กๆ
ปัจจัยที่ได้รับจากญาติโยม ล้วนแบ่งเอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่จะแบ่งปันให้แก่สำนักสงฆ์ วัด ที่ขาดแคลนหรือทุรกันดาร
๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดศรีอภัยวัน
พ.ศ.2510 เป็นเจ้าคณะตำบลเมือง เขต 2 (ธรรมยุต)
พ.ศ.2526 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ภูเรือ (ธรรมยุต)
พ.ศ.2532 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ปากชม (ธรรมยุต)
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2550 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต)
ตามกฎของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23/2541 ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
๏ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูญาณธราภิรัติ”
พ.ศ.2527 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2531 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
ครบ 5 รอบ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระญาณทีปาจารย์” เป็นกรณีพิเศษ
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช
ในราชทินนามที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ”
๏ ร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์นับแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา หลวงปู่ท่อน เริ่มมีกิจนิมนต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ
ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงต่างประเทศ แทบจะหาเวลาว่างไม่ได้เลย แต่หลวงปู่ก็มิเคยขัดศรัทธาญาติโยมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2536 หลวงปู่ได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หลวงปู่เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดเป็นประจำ
ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2537 หลวงปู่อาพาธอีก ด้วยโรคเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพอง
ต้องเข้ารับการผ่าตัดจากคณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แม้การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จ
แต่ส่งผลให้หลวงปู่ท่อนไม่สามารถเทศนาบรรยายธรรมได้นานดังแต่ก่อน เพราะสุขภาพไม่อำนวย
ทุกวันนี้หลวงปู่ยังคงเดินทางเข้าไปตรวจเช็กสุขภาพที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอ
หลวงปู่ท่อน มีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานสมาบัติแก่กล้า
มีวิชาทำวัตถุมงคลตามตำรับโบราณคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคอดีต
เป็นเหตุปัจจัยเสริมให้วัตถุมงคลทั้งหมดของท่านมีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง
ท่านได้มีการสร้างวัตถุมงคลมากมาย อาทิ พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก,
พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก (รุ่นสรงน้ำ) และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น
ด้วยกุศลผลบุญทั้งมวลอันเกิดจากความอุตสาหะแห่งการบำเพ็ญเพียร
ส่งผลให้หลวงปู่ท่อน มีอายุยืนยาว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์
เป็นกำลังอันสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนไปตราบนาน
ขอบพระคุณข้อมูลจาก :
http://www.watsriaphaiwan.org/luangpooรูปโดย :
http://www.kammatan.com