KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานพระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมใดที่ควรเจริญอันยิ่ง
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมใดที่ควรเจริญอันยิ่ง  (อ่าน 25979 ครั้ง)
Little_Garfield
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 0
กระทู้: 17


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 02, 2008, 02:37:50 AM »

พระพุทธเจ้าสอนอะไร



คำนำ
สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงมีพระปรารภว่านักเรียนนักศึกษา ตลอดถึงข้าราชการผู้ที่ไปศึกษาต่อหรือไปรับราชการ ณ ต่างประเทศ ควรจะมีหนังสือแนะแนวคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเป็นคู่มือ สำหรับอ่านเพื่อให้เกิดความรู้เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติตนเอง และเพื่ออธิบายให้บรรดามิตรชาวต่างประเทศ ผู้ต้องการจะทราบเข้าใจได้ถึงหลักธรรมบางประการ ในพระพุทธศาสนา จึงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เรียบเรียงเรื่อง "พระพุทธ เจ้าทรงสั่งสอนอะไร" ในแนวความโดยพระประสงค์ในพากษ์ภาษาไทย และทรงอาราธนาให้พระขนติปาโล (Laurence C.R.Mills) วัดบวรนิเวศวิหาร กับพระนาคเสโน วัดเบญจมบพิตร แปลเป็นภาษาอังกฤษขึ้นก่อน และโปรดให้พระยาศรีวิสารวาจา พันตำรวจโท เอ็จ ณ ป้อมเพ็ชร์
และนายจอห์น โบลแฟลด์ ตรวจแปลเรียบเรียงขึ้นอีกโดยตลอด จนเป็นที่พอพระหฤทัยในพากษ์ภาษาอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ขึ้น เนื่องในวาระดิถีวันคล้ายวันประสูติ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๐
วังสระปทุม
๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๐

เมื่อ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้มีมหาบุรุษท่านหนึ่ง เกิดขึ้นมาในโลก เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ซึ่งบัดนี้อยู่ใน เขตประเทศเนปาล มีพระนามว่า "สิทธัตถะ." ต่อมาอีก ๓๕ ปี พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ได้พระนามตาม ความตรัสรู้ว่า "พุทธะ" ซึ่งไทยเราเรียกว่า "พระพุทธเจ้า." พระองค์ได้ ทรงประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แก่ประชาชน จึงเกิดพระพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของพระพุทธะ) และบริษัท ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกา ขึ้นในโลก จำเดิมแต่นั้น. บัดนี้ ในเมืองไทยมีแต่ภิกษุ (สามเณร) อุบาสกและอุบาสิกา. ภิกษุนั้น คือ ชายผู้ถือบวช ปฏิบัติพระวินัย ของภิกษุ. สามเณรนั้น คือ ชายผู้มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปี หรือแม้อายุเกิน ๒๐ ปีแล้วเข้ามาถือบวช ปฏิบัติสิกขาของสามเณร. อุบาสก อุบาสิกานั้น คือ คฤหัสถ์ชายหญิงผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) และปฏิบัติอยู่ในศีลสำหรับคฤหัสถ์. บัดนี้ มีคำเรียกชายหญิงทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ผู้ประกาศตนถึง พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะว่า "พุทธมามกะ" "พุทธมามิกะ" แปลว่า "ผู้นับถือพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพระของตน."

พระพุทธศาสนาได้แผ่ออกจากประเทศถิ่นที่เกิดในประเทศต่าง ๆ ในโลก.
หลัก เคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย (รัตนะ ๓) ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้ว ทรงประกาศสั่งสอนตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น. พระธรรม คือ สัจจธรรม (ธรรม คือ ความจริง) ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงประกาศสั่งสอนเป็นพระศาสดาขึ้น. พระสงฆ์ คือ หมู่ชนผู้ได้ฟังคำสั่งสอน ได้ปฏิบัติตน และได้รู้ตามพระพุทธเจ้า. บางพวกออกบวชตาม ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนา และสืบต่อวงศ์การบวชมาจนถึงปัจจุบันนี้.
ทุกคนผู้เข้ามานับถือพระพุทธ ศาสนา จะเป็นคฤหัสถ์ ก็ตาม จะถือบวชก็ตาม ต้องทำกิจเบื้องต้น คือ ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยนี้เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง หรือดังที่เรียกว่า นับถือ เป็นพระของตน. เทียบกับทางสกุล คือ นับถือพระพุทธเจ้าเป็นพระบิดาผู้ให้กำเนิดชีวิต ในทางจิตของตน. พุทธศาสนิกชนย่อมสังคมกับผู้นับถือศาสนาอื่นได้ และย่อมแสดงความเคารพ สิ่งเคารพในศาสนาอื่นได้ ตามมรรยาทที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแสดงความเคารพบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่ของคนอื่นได้ แต่ก็คงมีบิดาของตน. ฉะนั้น จึงไม่ขาดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนตลอดเวลาที่ยังนับถือพระรัตนตรัยเป็นของตน เช่นเดียวกับเมื่อยังไม่ตัดบิดาของตน ไปรับบิดาของเขามาเป็นบิดา ก็คงเป็นบุตรธิดาของบิดาตนอยู่. หรือเมื่อยังไม่แปลงสัญชาติเป็นอื่น ก็คงเป็นไทยอยู่นั่นเอง. ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่คับแคบ. ผู้นับถือย่อมสังคมกับชาวโลกต่างชาติ ต่างศาสนาได้สะดวก. ทั้งไม่สอน ให้ลบหลู่ใคร. ตรงกันข้าม กลับให้เคารพต่อผู้ควรเคารพทั้งปวง และไม่ซ่อนเร้นหวงกันธรรมไว้โดยเฉพาะ. ใครจะมาศึกษาปฏิบัติก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมานับถือก่อน. ทั้งนี้ เพราะแสดงธรรมที่เปิดทางให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นสัจจะ (ความจริง) ที่เป็นประโยชน์สุขแก่การดำรงชีวิตในปัจจุบัน. สัจธรรมที่เป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ ๔

อริยสัจ แปลว่า "สัจจะของผู้ประเสริฐ (หรือผู้เจริญ)" "สัจจะที่ผู้ประเสริฐพึงรู้" "สัจจะที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐ" หรือแปลรวบรัดว่า "สัจจะอย่างประเสริฐ." พึงทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า มิใช่สัจจะตามชอบใจของโลกหรือของตนเอง แต่เป็นสัจจะทางปัญญาโดยตรง.

อริยสัจ ๔
๑) ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ซึ่งมีเป็นธรรมดาของชีวิต และความโศก ความระทม ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ซึ่งมีแก่จิตใจและร่างกายเป็นครั้งคราว ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ ความปรารถนาไม่สมหวัง. กล่าวโดย ย่อก็คือ กายและใจนี้เองที่เป็นทุกข์ต่าง ๆ จะพูดว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ต่าง ๆ ดังกล่าวก็ได้.
๒) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ คือ ดิ้นรน ทะยานอยาก เพื่อที่จะได้สิ่งปรารถนาอยากได้ ดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะเป็นอะไรต่าง ๆ ดิ้นรนทะยานอยากที่จะไม่เป็นในภาวะที่ไม่ชอบต่าง ๆ .
๓) นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับตัณหา ความดิ้นรน ทะยานอยากดังกล่าว
๔) มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ ทางมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรพยายามชอบ สติชอบ ตั้งใจชอบ.

ได้ มีบางคนเข้าใจว่า พระพุทธศาสนามองในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์ และสอนสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะรับได้ เพราะสอนให้ดับความดิ้นรนทะยานอยากเสียหมด ซึ่งจะเป็นไปยาก. เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าใจดังนี้ จึงต้องซ้อมความเข้าใจไว้ ก่อนที่จะแจกอริยสัจออกไป. พระพุทธศาสนามิได้มองในแง่ร้ายหรือแง่ดีทั้งสองอย่างเดียว แต่มองในแง่ของสัจจะ คือ ความจริง ซึ่งต้องใช้ปัญญาและจิตใจที่บริสุทธิ์ประกอบกันพิจารณา.

ตามประวัติ พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงอริยสัจแก่ใครง่าย ๆ แต่ได้ทรงอบรมด้วยธรรมข้ออื่น จนผู้นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์พอที่จะรับเข้าใจได้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ. ธรรมข้ออื่นที่ทรงอบรมก่อนอยู่เสมอสำหรับคฤหัสถ์นั้น คือ ทรงพรรณนาทาน พรรณนาศีล พรรณนาผลของทาน-ศีล ที่เรียกว่า "สวรรค์" (หมายถึง ความสุขสมบูรณ์ต่าง ๆ ที่เกิด จากทาน-ศีล แม้ในชีวิตนี้) พรรณนาโทษของกาม (สิ่งที่ผูกใจ ให้รักใคร่ปรารถนา) และอานิสงส์ คือ ผลดีของการที่พรากใจออกจากกามได้. เทียบด้วยระดับการศึกษาปัจจุบัน ก็เหมือนอย่างทรงแสดงอริยสัจแก่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย. ส่วนนักเรียนที่ต่ำลงมา ก็ทรงแสดงธรรมข้ออื่นตามสมควรแก่ระดับ. พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงธรรมที่สูงกว่าระดับของผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย. แต่ผู้ที่มุ่งศึกษาแสวงหาความรู้ แม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ยังเป็นทางเจริญความรู้ในสัจจะ ที่ตอบได้ตามเหตุผล และอาจพิจารณาผ่อนลงมาปฏิบัติ ทั้งที่ยังมีตัณหาคือความอยากดังกล่าวอยู่นั่นแหละ. ทางพิจารณานั้นพึงมีได้เช่นที่จะกล่าวเป็นแนวคิดดังนี้:

๑) ทุก ๆ คนปรารถนาสุข ไม่ต้องการทุกข์ แต่ทำไมคนเราจึงยังต้องเป็นทุกข์ และไม่สามารถจะแก้ทุกข์ของตนเองได้ บางทียิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก. ทั้งนี้ก็เพราะ ไม่รู้เหตุผลตามเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ อะไรเป็นเหตุของสุข. ถ้าได้รู้แล้ว ก็จะแก้ได้ คือ ละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ทำเหตุที่ให้เกิดสุข. อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งก็คือใจของตนเอง เพราะคนเราตามใจตนเองมากไป จึงต้องเกิดเดือดร้อน.

๒) ที่พูดกันว่า ตามใจตนเองนั้น โดยที่แท้ก็คือตามใจตัณหา คือความอยากของใจ. ในขั้นโลก ๆ นี้ ยังไม่ต้องดับความอยากให้หมด เพราะยังต้องอาศัยความอยากเพื่อสร้างโลกหรือสร้างตนเองให้เจริญต่อไป. แต่ก็ต้องมีการควบคุมความอยากให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร และจะต้องรู้จักอิ่ม รู้จักพอใจในสิ่งที่ควรอิ่มควรพอ. ดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ก็พอครองชีวิตอยู่เป็นสุขในโลก. ผู้ก่อไฟเผาตนเองและเผาโลกอยู่ทุกกาลสมัยก็คือ ผู้ที่ไม่ควบคุมตัณหาของใจให้อยู่ในขอบเขต. ถ้าคนเรามีความอยากจะได้วิชา ก็ตั้งใจพากเพียรเรียน. มีความอยากได้ทรัพย์ ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดีตามกำลังตามทางที่สมควร. ดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในทางโลกและก็อยู่ในทางธรรมด้วย.

๓) แต่คนเราต้องการมีการพักผ่อน. ร่างกายก็ต้องมีการพัก ต้องให้หลับ ซึ่งเป็นการพักทางร่างกาย. จิตใจก็ต้องมีเวลาที่ปล่อยให้ว่าง. ถ้าจิตใจยังมุ่งคิดอะไรอยู่ ไม่ปล่อยความคิดนั้นก็หลับไม่ลง. ผู้ที่ต้องการมีความสุขสนุกสนานจากรูป-เสียงทั้งหลาย เช่น ชอบฟังดนตรีที่ไพเราะ หากจะถูกเกณฑ์ ให้ต้องฟังอยู่นานเกินไป. เสียงดนตรีที่ไพเราะที่ดังจ่อหูอยู่นานเกินไปนั้น จะก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง. จะต้องการหนีไปให้พ้น ต้องการกลับไปอยู่กับสภาวะที่ปราศจากเสียง คือ ความสงบ. จิตใจของคนเราต้องการความสงบดังนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อย. นี้คือความสงบใจ. กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือความสงบความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ซึ่งเป็นความดับทุกข์นั่นเอง. ฉะนั้น ถ้าทำความเข้าใจให้ดีว่า ความดับทุกข์ก็คือ ความสงบใจ ซึ่งเป็นอาหารใจ ที่ทุก ๆ คนต้องการอยู่ทุกวัน ก็จะค่อยเข้าใจใน นิโรธ นี้ขึ้น.

๔) ควรคิดต่อไปว่า ใจที่ไม่สงบนั้นก็เพราะเกิดความดิ้นรนขึ้น และก็บัญชาให้ทำ พูด คิด ไปตามใจที่ดิ้นรนนั้น. เมื่อปฏิบัติตามใจไปแล้ว ก็อาจสงบลงได้. แต่การที่ปฏิบัติไปแล้วนั้น บางที ชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็ให้เกิดทุกข์โทษอย่างมหันต์. บางทีเป็นมลทินโทษ ที่ทำให้เสียใจไปช้านาน. คนเช่นนี้ควรทราบว่า ท่านเรียกว่า "ทาสของตัณหา." ฉะนั้น จะมีวิธีทำอย่างไร ที่จะไม่แพ้ตัณหา หรือจะเป็นนายของตัณหาในใจของตนเองได้? วิธีดังกล่าวนี้ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ อริยสัจ ๔ หรือเห็นเหตุผลตามเป็นจริง แม้โดยประการที่ผ่อนพิจารณาลงดังกล่าวมาโดยลำดับ.

๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริ หรือคิดออกจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นทุกข์. ดำริในทางไม่พยาบาทมุ่งร้าย. ดำริในทางไม่เบียดเบียน.

๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจากพูดเท็จ. เว้นจากพูดส่อเสียดให้แตกร้าวกัน. เว้นจากพูดคำหยาบร้าย. เว้นจากพูดเพ้อเจ้อไม่เป็นประโยชน์.

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจากการฆ่า การทรมาน เว้นจากการลัก เว้นจากการประพฤติผิดในทางกาม.

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากมิจฉาอาชีวะ (อาชีพผิด) สำเร็จชีวิตด้วยอาชีพที่ชอบ.

๖. สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ คือ เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว. เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น. เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม แต่ให้เจริญยิ่งขึ้น.

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกไปในทางที่ตั้งของสติที่ดีทั้งหลาย เช่น ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม.

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือ ทำใจให้เป็นสมาธิ (ตั้งมั่นแน่วแน่) ในเรื่องที่ตั้งใจจะทำในทางที่ชอบ.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2009, 10:56:45 AM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2009, 07:38:11 AM »

มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางเดียว แต่มีองค์ประกอบเป็น ๘ และย่อลงได้ ในสิกขา (ข้อที่พึงศึกษาปฏิบัติ) คือ

ศีล สิกขา สิกขาคือศีล ได้แก่ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ. พูดโดยทั่วไป จะพูดจะทำอะไรก็ให้ถูกชอบ อย่าให้ผิด. ประกอบอาชีพอะไรก็เช่นเดียวกัน. ถ้ายังไม่มีอาชีพ เช่น เป็นนักเรียน ต้องอาศัยท่านผู้ใหญ่อุปการะ ก็ให้ใช้ทรัพย์ที่ท่านให้มาตามส่วนที่ควรใช้. ไม่ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเหลวแหลก. ศึกษาควบคุมตนเอง ให้งดเว้นจากความคิดที่จะประพฤติตน ที่จะเลี้ยงตนเลี้ยงเพื่อนไปในทางที่ผิดที่ไม่สมควร.

จิตตสิกขา สิกขาคือจิต ได้แก่ เพียรพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ. พูดโดยทั่วไป เรื่องจิตของตนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพยายามศึกษาฝึกฝน เพราะอาจฝึกได้โดยไม่ยากด้วย แต่ขอให้เริ่ม เช่น เริ่มฝึกตั้งความเพียร ฝึกให้ระลึกจดจำ และระลึกถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ และให้ตั้งใจแน่วแน่. สิกขาข้อนี้ใช้ในการเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะการเรียนจะต้องมีความเพียร ความระลึกความตั้งใจ.

ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ. พูดโดยทั่วไป มนุษย์เจริญ


หลักการปฏิบัติ มหาสติปัฏฐาน4 : http://www.kammatan.com/board/index.php?board=10.0
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: