การรักษาศีลจึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบของคนผู้ดีและไม่ดี คนที่มีธรรมะหรือไม่มีธรรมะจะเห็นชัดในตนเองและกรองออกจากโลกได้ขนาดไหน ก็เห็นชัดด้วยใจของตนเอง ไม่ต้องมีคนอื่นวัด ไม่ต้องให้คนอื่นวัดเทียบให้ ถ้าหากศีลอันนั้นเป็นนิจศีล คือว่ารักษาอยู่เป็นนิจ ก็เรียกว่าเราค่อยห่างไกลออกมาจากโลก ถ้าหากขาดเป็นท่อนวิ่นๆ แหว่งๆ หรือด่างพร้อยไม่เรียบร้อย อันนั้นก็เรียกว่าโลกแทรกซึมมาเป็นครั้งเป็นคราว เรายังไม่ห่างไกลจากโลก โลกยังมาแทรกซึมได้อยู่ ที่อธิบายเรื่องศีลให้ฟังในที่นี้ เพราะประสงค์จะให้เข้าใจชัดถึงเรื่องว่าศีลเป็นเครื่องกลั่นกรองธรรมออกมาจากโลก ด้วยการรักษาศีลวิธีเดียวเท่านั้นไม่มีวิธีอื่น ถ้าไม่มีศีลเป็นเครื่องวัดเทียบแล้วคนเราก็ไม่มีต่ำสูง ไม่มีดีเด่นกว่ากันเลย พระพุทธเจ้าทรงเทศนาถึงเรื่องศีลไว้มากมายกว้างขวางเช่น
สีตโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของเย็น
สีรตฺโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของสูง
สีลโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของหนักแน่นโดยปกติ
สีสตฺโถ โดยอรรถแปลว่า ยิ่ง บางตอนพระองค์ทรงแสดงถึงว่าศีลเป็นเครื่องประดับของคนทุกวัยตั้งแต่หนุ่มถึงคนแก่ และประดับได้ตลอดกาลเวลา ผู้รักษาศีลดีแล้วเป็นของงดงาม งามคนคืองามรูปงามโฉม งามผิวพรรณวรรณะนั้นยังมีการทรุดโทรมเฒ่าชราไปได้ งามด้วยศีล มี มารยาท สุภาพเรียบร้อยเป็นที่น่าดูน่าชม เป็นที่เจริญตาและใจ และคนทั่วๆไปต้องการสมาคมด้วย ถึงสังขารร่างกายจะแก่ทรุดโทรมหรือเหี่ยวแห้งด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ความงามของศีลประดับให้งดงามได้ตลอดกาลเวลา นั่นเป็นของเลิศประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งปวงหมด
ทุกคนพากันปรารถนาความดี คือ ศีล แต่หากเอาศีลมาประดับไม่เป็น ขี้เกียจขี้คร้านไม่อยากรักษาศีล มันก็ยังเป็นโลกอยู่อย่างนั้น ถึงจะตกแต่งประดับกายสวยสดงดงามสักเท่าไรก็ตาม ยังสามารถทำความชั่วได้ ชื่อว่าโลกสกปรก ถ้าไม่มีศีลเป็นเครื่อง บังคับเป็นเครื่องกั้นไว้คนจะทำความชั่วทุจริตได้ ทุกวิถีทาง ดังนั้นศีลจึงชื่อว่าเป็นของงาม คนขี้เหร่ขี้ร้ายหรือคนสวยสดงดงามก็ตาม เมื่อมีศีลเป็นเครื่องประดับแล้วงามไปทั้งนั้น งามพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่งามแต่เพียงในโลกนี้ เมื่อตายแล้วไปสู่โลกข้างหน้าก็ยังงาม งามตลอดกาลเวลา ดังนั้นวิธีกลั่นกรองธรรมออกจากเบื้องต้นก็คือการรักษาศีล
ทีนี้วิธีที่ละเอียดเข้าไปกว่านั้นอีกคือ กลั่นกรองด้วยการทำ “สมาธิ” ได้แก่ ทำความสงบอบรมจิตใจให้มีอารมณ์อันหนึ่งอันเดียว เพราะจิตใจของคนเรามันยุ่งมีอาการมากอารมณ์มาก
อารมณ์ก็คือ เรื่องที่เราคิดนึกจิตใจผูกพันติดอยู่ในเรื่องนั้นๆ เรียกว่าอารมณ์ คิดนึกวุ่นวี่วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากเราไม่มีการสำรวมระวังหรือไม่มีการทำความสงบเสียเลย ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย เราจะไม่ได้เห็นจิตของเราสักที ทั้งๆ ที่จิตมีอยู่ในตัวของเรา แต่เราไม่รู้จักจิตของตน ไม่เคยทราบว่าจิตคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด ไม่ทราบว่าจิตอยู่หรือจิตไป อวดอ้างแต่ว่าเรามีจิต ได้ยินพระท่านบอกว่าอะไรๆ ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด แต่ว่าแท้จริงนั้นจิตเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ที่จิตบ้าง ก็ไม่เคยเห็นไม่เคยทราบเลย เฉพาะผู้ทำความสงบอบรมภาวนาสมาธิฝึกหัดให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวนิ่งแน่ว ไม่มีอารมณ์อื่นมาปะปนจิตได้เท่านั้นที่จะรู้จักจิตของตน ขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่ถ้าหากว่ามันจะปรากฏอารมณ์ขึ้นมาก็เห็นชัดที่จิต เช่น ความคิดนึกต่างๆ หรือเกิดความทะเยอทะยานดิ้นรนอยากได้โน่นอยากได้นี่ก็จะเห็นปรากฏขึ้นได้ที่จิต มันทำให้จิตไม่เป็นหนึ่งเสียแล้ว ทีแรกขณะสงบนิ่งแน่วอยู่นั้น จิตมันเป็นหนึ่งอยู่ เมื่อเห็นจิตเป็นหนึ่งแล้วคราวนี้พอเกิดอารมณ์ขึ้นจะเป็นสองขึ้นมา มันปรากฏให้เห็นชัดว่าจิตอันหนึ่งอารมณ์อันหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเห็นได้ด้วยตนเอง เมื่อทำจิตให้ถึงความสงบแล้วรู้ได้ทันทีทันใด
ดังนั้น จะเห็นว่าการทำสมาธิเป็นการแยกจิตให้ออกจากโลก เพราะจิตสงบจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความทะเยอทะยาน ความอยาก ความดิ้นรน ความ ขี้เกียจขี้คร้านเบื่อหน่าย ความโกรธฯลฯ ซึ่งเป็นตัวโลก ถ้าจิตยังมีอารมณ์ต่างๆ จิตเป็นโลกอยู่ เมื่อเรากำจัดหรือขับไล่อารมณ์ให้มันหนีเสียแล้ว ก็ยังเหลือจิตอันเดียว เรียกว่า เอกัคคตาจิต อันนี้เป็นการขัดจิต หรือกลั่นกรองจิตออกมาจากโลก คือตัวเราเองนั่น แหละ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่ากรองธรรมออกมาจากโลก คราวนี้เป็นธรรมล้วนๆเพราะจิตบริสุทธิ์ เครื่องกรองอันที่ ๒ นี้ตรงเข้าถึงจิตใจเลย เบื้องต้นกรองด้วยศีลนั้นมันยังไม่บริสุทธิ์ เพราะกรองแต่กายและวาจา ส่วนจิตยังเศร้าหมองอยู่ ถ้ามากรองด้วยสมาธิแล้วจิตบริสุทธิ์สงบสบาย ไม่ต้องคอยงดเว้นอะไรมากนัก พองดเว้นตรงที่จิตไม่ให้คิดทะเยอทะยานดิ้นรนอยากได้เท่านั้นศีลบริสุทธิ์เลย