เราจะรู้ได้ยังไง กรรมดีกรรมชั่ว กัลยาณังวา คือกรรมอันดี ได้แก่จิตของเราสงบ
เป็นสมาธิ จิตตั้งอยู่ภายใน มันว่างโม๊ด เย็นอกเย็นใจ หายทุกข์หายยาก
หายลำบากหายรำคาญ สะบ๊ายสบาย เบาตนเบาตัว กายะละหุตา จิตตะ ลหุลาเบา
มีกายะมุทุตา จิตตะมุทุตา ความอ่อนนิ่มนุ่มนวล ไม่ใช่อ่อนแอ นี่แหละจิตสงบเป็นสมาธิ
เรียกว่ากรรมอันดี ให้รู้จักไว้ เราไม่ต้องห่วงอดีตอนาคตเราจะเป็นยังไงต่อไป
เรานั่งดูเดี๋ยวนี้หละ จิตของเรามีความสุขความสบ๊าย ก็นั่นหละ เราก็จะได้รับความสบาย
จะไปชาติไหนภพไหนก็เห็นอยู่เดี๋ยวนี้หละ ปาปกัง คือกรรมอันชั่ว คือจิตของเราไม่ดี
จิตทุกข์จิตยาก จิตวุ่นจิตวาย จิตไม่สงบ จิตไม่เป็นสมาธิ มันทะเยอทะยานอยู่
ทำให้ทุกข์ให้ยาก ให้หนักให้หน่วง ให้ง่วงให้เหงา ให้มืดให้มัว ให้วุ่นให้วาย
จิตอย่างนี้แหละนำสัตว์ทั้งหลายให้ตกทุกข์ได้ยาก พึงทราบเสียแต่เดี๋ยวนี้
ต่อไปเราไม่ต้องสงสัยว่ากรรมมันมาจากไหน ใครเป็นผู้ทำล่ะ เดี๋ยวนี้เรารู้
เราเป็นผู้ทำเอาเอง ไม่ใช่เทวบุตรเทวดาทำให้ พระอินทร์พระพรหมทำให้
พ่อแม่พี่น้องทำให้ ชาวบ้านร้านตลาดทำให้ เราทำเอาเอง ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละเราทำ
บุญ บุญอันนี้เป็นอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ คือเราให้ทานร้อยหนพันหนก็ตาม
อานิสงส์ไม่เท่า เรานั่งสมาธินี้มีผลานิสงส์เหมือนทำบุญอย่างที่สุดแล้ว ปฏิปติบูชา
บูชาอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ เราเห็นตัวบุญคือกุศลตัวสุข เห็นตัวบาปคือตัวทุกข์จริง ๆ
ไม่ได้ว่าเล่นนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้โกหกผู้ใด ไม่ได้หลอกลวงผู้ใด ใครเป็นสุขล่ะเดี๋ยวนี้
ใครดีใครไม่ดีก็ดูซิ ไม่ใช่ข้าวของเงินทองดี ไม่ใช่ข้าวของเงินทองสุข
ไม่ใช่ข้าวของเงินทองทุกข์ เราก็ดูซิ ตึกร้านอาหารมันสุดมันทุกข์เรอะ มันก็ไม่ใช่ ใจ
นั่นแหละมันทุกข์ ใจนั่นหละมันสุข สุขเพราะเหตุใด สุขเพราะใจสงบ ทุกข์เพราะเหตุใด
ทุกข์เพราะใจไม่สงบ มันไปก่อกรรมก่อเวรไม่หมดซักที กรรมเก่าก็ไม่หมด
กรรมใหม่ก็เติมเรื่อยเข้าไป มันจะหมดได้เรอะ หยุดเสียทีซี่ กรรมน่ะ อย่าไปยึดเอากรรมซี่
ยึดเอาอันใดมันก็เป็นกรรมอันนั้น วางให้หมด ปล่อยให้หมด ละให้หมด ให้เหลือแต่พุทโธ ผู้รู้อันเดียวเท่านี้
เอ้าต่อไปจะไม่อธิบายละ ต่างคนต่างฟังใจของตัว ให้มันแน่นอนลงไป
เชื่อมั่นลงไป ให้มันได้หลักได้ฐานของตน
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
ขอบพระคุณข้อมูลจาก : ชมรมพุทธธรรมกรรมฐาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ
http://www.kammatan.com