เรื่องเล่าเช้าวันพระ: วันสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ดังนั้นเมื่อถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๖ คณะศิษย์จึงจัดงานฉลองในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘ รอบ หรือ ๙๖ ปีบริบูรณ์ โดยกำหนดจัดงานวันที่ ๒๙ ตุลาคม หนึ่งวันก่อนเริ่มงานหลวงปู่มีอาการผิดปกติตั้งแต่เช้ามืด คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย กระสับกระส่าย ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ หลังจากหมอมาตรวจร่างกายแล้วถวายยาให้ฉัน ร่างกายของท่านก็ดูเป็นปกติแต่ยังเพลียอยู่
ตลอดทั้งวันท่านได้สนทนาธรรมกับลูกศิษย์ น้ำเสียงชัดเจน สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ได้เป็นอย่างดี คณะศิษย์จึงคิดว่าหลวงปู่คงไม่เป็นอะไร
มีช่วงหนึ่งท่านปรารภว่า “ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี” เมื่อมีผู้ถามถึงความหมาย ท่านก็ขยายความว่า “คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี”
วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเริ่มงานฉลองอายุหลวงปู่ แต่เช้าท่านมีอาการกระสับกระส่ายเล็กน้อย และปวดเท้าซ้ายขึ้นมาถึงบั้นเอว อีกทั้งมีไข้ขึ้นเล็กน้อย ชีพจรมีอาการเต้นผิดปกติ อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรง ๆ ทรุด ๆ เมื่อหมอมาตรวจอาการ พบว่าความดันอยู่ในระดับปกติ ครั้นหมอจะถวายน้ำเกลือเข้าเส้น หลวงปู่ปฏิเสธ สั่งให้เอาสายออก ท่านบอกว่าขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า
ครั้นพระครูนันทปัญญาภรณ์ผู้เป็นศิษย์กราบเรียนว่า จะพาหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ ฯ ท่านรีบตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “ถึงไปก็ไม่หาย” ท่านพระครู ฯ เรียนว่า “ครั้งก่อนหลวงปู่หนักกว่านี้ยังหายได้ ครั้งนี้ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ ๆ” ท่านตอบว่า “นั่นมันครั้งก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งก่อน”
ตอนบ่ายหลวงปู่หลับตาอยู่ในอาการสงบ หายใจเป็นปกติแต่แผ่วเบามาก เมื่อลืมตาขึ้นมา มีอาการผ่องใสสดชื่นมาก ท่านพระครู ฯ เรียนถามท่านว่า “หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ” หลวงปู่ตอบว่า “พิจารณาลำดับฌานอยู่”
สี่โมงเย็นหลวงปู่ออกมานั่งรับแขกข้างนอก หลังจากนั้นได้กลับเข้าห้อง นอนนิ่งเฉย ศิษย์สังเกตว่า ผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา ประมาณหนึ่งทุ่ม หลวงปู่ลืมตาขึ้น จากนั้นได้สั่งให้พระที่คอยดูแลรับใช้ท่านซึ่งมีประมาณ ๘-๙ รูปสวดมนต์ให้ท่านฟัง พระเหล่านั้นเริ่มฉงนสงสัย แต่ก็พร้อมใจกันสวดมนต์เจ็ดตำนานจนจบ
จากนั้นหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะโพชฌงคสูตรรวม ๓ จบ แล้วสวดปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ จบ คืนนั้นบทสุดท้ายที่ท่านให้สวดคือ มหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อสวดจบหลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ มีช่วงหนึ่งท่านให้พาออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาหน้ากุฏิของท่าน ซึ่งมีพระเณรและฆราวาสจำนวนมาก ชุมนุมปฏิบัติธรรมอยู่ จากนั้นท่านได้กวาดสายตามองไปรอบ ๆ วัด ราวกับจะให้ศีลให้พรและอำลาลูกศิษย์ของท่าน
ตีสองของวันที่ ๓๐ ตุลาคม หลวงปู่แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ในห้องเรื่อง “ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน” โดยอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย น้ำเสียงปกติธรรมดา ท่านได้บรรยายอย่างเป็นขั้นตอน สุดท้ายได้กล่าวว่า
“พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า “มหาสุญญตา” หรือ “จักรวาลเดิม” หรือเรียกว่า “พระนิพพาน” อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้” แล้วท่านก็สรุปว่า “เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้”
หลังจากนั้นท่านก็ไม่พูดอะไรอีกเลย ประมาณตีสามหลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบา ๆ คล้ายนอนหลับปกติ ศิษย์ทุกคนรู้ดีว่าท่านใกล้จะละสังขารแล้ว จึงไม่รบกวนท่าน เพื่อให้ท่านปล่อยวางสังขารตามสบาย ไม่มีใครทราบว่าหลวงปู่ละสังขารตอนไหน ผู้ที่พยาบาลด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดหายใจเวลา ๔.๑๓ น. ส่วนผู้ที่เฝ้าด้านขวา เข้าใจว่าลมหายใจของหลวงปู่สิ้นสุดเวลา ๔.๔๓ น. นับเป็นการละสังขารที่นุ่มนวลแผ่วเบามากราวกับใบไม้แห้งที่ค่อย ๆ ร่อนสู่พื้น
“นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย เป็นความงดงามบริสุทธิ์และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง” พระครูนันปัญญาภรณ์ตั้งข้อสังเกต
หลายปีก่อนหน้านั้นหลวงปู่ได้เคยไปเยี่ยมศิษย์รูปหนึ่งซึ่งใกล้จะมรณภาพ ท่านได้กล่าวแนะนำสั้น ๆ ว่า “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตเป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด” เมื่อถึงวาระของหลวงปู่ ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่ลูกศิษย์ ที่ยากจะลืมเลือนได้