ธรรมะกับการทำงาน
“เหนื่อยกับการที่ต้องเป็นคน Perfectionist หรือเปล่า ทำทุกอย่างต้อง Perfect “
ก่อนอื่นเราคงต้องมาสำรวจกันดูก่อนว่า รูปแบบในการทำงานของคนทั่วไปนั้นเป็นอย่างไร การทำงานของคนเรานั้น เมื่อกล่าวอย่างรวบรัดแล้วก็สามารถแบ่งได้เป็น ๓ รูปแบบด้วยกัน
(๑) ทำงานด้วยความจำใจ
(๒) ทำงานด้วยความจำเป็น
(๓) ทำงานด้วยความจำหลัก
ประเภทที่ ๑ ทำงานด้วยความจำใจ หมายถึง คนที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีธุรกิจหลักของครอบครัวอยู่แล้ว ไม่ว่าลูกจะชอบหรือไม่ชอบ รักหรือไม่รัก แต่เมื่อถึงเวลาทำงานก็ต้องรับภาระหน้าที่ในการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวต่อไ ป การทำงานในลักษณะนี้ สำหรับบางคนในช่วงแรกอาจเป็นความทุกข์ ความอึดอัดขัดข้อง เกิดความรู้สึกเหมือนได้แต่งงานกับคนที่ตนไม่รัก แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ แต่เมื่อทำไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ในที่สุดก็จะสามารถยอมรับสภาพของตนเองได้ ส่วนคนที่ยอมรับสภาพไม่ได้ ยิ่งทำงาน คุณภาพชีวิตยิ่งลดลง งานได้ผล แต่คนอาจไม่มีความสุข
ประเภทที่ ๒ ทำงานด้วยความจำเป็น หมายถึง คนที่ได้ทำงานที่ตนไม่รัก ไม่ชอบ ไม่ถนัด ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ บางทีค่าตอบแทนก็แสนจะน้อย ความเครียด ความขัดแย้งในที่ทำงานก็สูง แต่เพราะมองไปทางไหนก็ไม่มีทางไปที่ดีกว่า ก็เลยต้องจำใจก้มหน้าทำงานนั้นๆ ไป ยิ่งทำงาน คุณภาพชีวิตยิ่งหดหาย รายได้ต่ำ ความเครียดสูง
การทำงานในลักษณะที่สองนี้ คือ สภาพของคนทำงานส่วนใหญ่ในโลกนี้ ซึ่งโดยมาก ได้งานทำเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมบีบบังคับให้ต้องเลือกทำอะไรสักอย่างหนึ่ ง เพราะหากไม่ยอมทำงาน ก็หมายความว่า ตัวเองและครอบครัวจะต้องเดือดร้อน กินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่น
ประเภทที่ ๓ ทำงานด้วยความจำหลัก หมาย ถึง คนที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนรัก หรือได้ทำงานที่สอดคล้องกับความใฝ่ฝัน ความถนัดของตนเอง เช่น อยากเป็นหมอ ก็ได้เป็นสมใจอยาก อยากเป็นนักธุรกิจ อยากเป็นนักการเมือง อยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ อยากเป็นดารา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ได้ทำงานตามที่ตนต้องการสมใจอยาก
การทำงานในลักษณะที่สามนี้ สิ่งที่จะได้รับอย่างเห็นได้ชัดก็คือ
๑) งานก็ได้ผล
๒) คนก็เป็นสุข
แต่ในโลกนี้ มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ได้ทำงานตรงกับที่ตนปรารถนา ใครได้ทำงานตามที่ตัวเองใฝ่ฝัน คนๆ นั้น ก็เหมือนกับได้แต่งงานกับคนที่ตนรัก ยิ่งทำงาน ยิ่งมีความสุข ยิ่งทำงาน ยิ่งค้นพบความเป็นเลิศ ยิ่งทำงาน ยิ่งสามารถสร้างสรรค์ “ของชิ้นเอก” ฝาก ไว้ให้โลกจดจำรำลึกถึง เหมือนดาวินชี บรรจงรังสรรค์ภาพโมนาลิซ่าอันลือชื่อ เหมือนบีโธเฟ่น สามารถรังสรรค์ดุริยกวีเอาไว้ขับกล่อมชาวโลก เหมือนเช็คสเปียร์นฤมิตวรรณกรรมอมตะมากมายไว้ประโลมใจชาวโลกให้รื่นรมย์
ปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า“เมื่อความรักในงานมาพร้อมกับความสามารถ แน่นอนว่า ต้องได้งานชิ้นเอก”
อุปนิสัยการทำงานในแบบ Perfectionist (สมบูรณ์แบบนิยม) ในลักษณะ “เก็บทุกเม็ด” ราวกับมีบรรพบุรุษเป็น “คุณย่าละเมียด คุณแม่ละไม คุณนายละเอียด” นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี ก็คือ จะทำให้เป็นคนทำงานคุณภาพชนิด “จำหลักไว้ในใจชน” (เข้า หลักเกณฑ์ที่ ๓) ไม่ว่าจะจับทำอะไรก็ตาม ก็จะทำให้ได้งานคุณภาพทั้งหมด และคนประเภทนี้ หลังจากสร้างงานแล้ว งานจะย้อนกลับมาสร้างคน เหมือนผู้กำกับหนังชื่อก้องโลกอย่างจางอี้โหมว หรือสตีเว่น สปีลเบิร์ก พลันที่ปล่อยงานชิ้นหนึ่งหลุดมือออกไปสู่สาธารณชนแล้ว งานก็ได้สร้างชื่อเสียงให้เขามากมาย และทำให้เขาไม่เคยตกงานอีกเลยตลอดชีวิต
ข้อเสีย ก็คือ จะทำให้เป็นคนที่แบกความเครียดสูง สุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพกายอ่อนแอ ไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ครอบครัว หรือสิ่งสุนทรีย์ในชีวิตเช่น การท่องเที่ยว การเดินทาง การชื่นชมธรรมชาติ การดูหนังฟังเพลง การอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การคบเพื่อน หรือที่หนักหน่อยก็กลายเป็นคนที่ป่วยหนักหนาสาหัสเพราะการทำงาน
ทางแก้สำหรับคนสมบูรณ์แบบนิยม ก็คือ ควรถือหลักของนักปฏิบัติธรรมที่ว่า “ทำเหตุให้มาก ปล่อยวางในผล” หมาย ความว่า เวลาทำงาน จงทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด แต่เมื่อทำแล้ว ต้องปล่อยวางเป็น ไม่ต้องคาดหวังสูงสุดจนนำเอางานเข้ามารวมกับลมหายใจ หรือเก็บไปฝัน จนไม่เป็นอันกินอันนอน
เมื่อ ทำงานในส่วนของตนอย่างดีที่สุดแล้ว ครั้นส่งงานให้คนอื่น หรือแผนกอื่นแล้ว หากงานนั้นไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็ควรเรียนรู้ที่จะยอมรับด้วยความเข้าใจว่า ในโลกนี้ ไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง และไม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป ถ้าเราทำในส่วนของเราอย่างดีที่สุดแล้ว แม้ผลออกมาจะไม่เป็นไปอย่างที่หวัง ก็ไม่ควรเสียใจ
ที่มา: สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี