"นาคาวโลก” พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตร นครเวสาลี เป็นครั้งสุดท้าย
ในพรรษาที่ ๔๕ อันเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ ในช่วงเหมันตฤดู พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จประทับ ณ บ้านเวฬุคาม เขตเมืองเวสาลี หรือไพศาลี แคว้นวัชชี อันเป็นสถานที่ทรงพิจารณาชราธรรม
แสดงโอฬาริกนิมิต และปลงอายุสังขาร พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวคาม เป็นเวลานานถึง ๘ เดือน
แม้ออกพรรษาแล้วก็มีได้เสด็จไปที่อื่น คงประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นฤดูเหมันต์
นับเป็นเวลานานมากที่ประทับอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่น เวฬุวคามนี้
พระองค์ทรงแน่พระทัยว่าคงจะดำรงพระชนม์ชีพไปไม่ได้นานนัก แต่มิได้ตรัสบอกพระอานนท์ในเวลานั้นเหลือเวลาอีก
๓ เดือนที่จะปรินิพพาน ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงถูกอาพาธคอยบีบคั้นเบียดเบียนอยู่เสมอ แต่ก็ทรงดำเนินไปอีกหลายแห่ง
เสด็จโดยพระบาทเปล่าไม่มีใครแบกใครหามเลย เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยมากเข้าก็ทรงหยุดพัก ทุกหนทุกแห่งที่เสด็จไป
จะมีพระอานนท์ตามเสด็จเหมือนพระฉายา แม้จะลำบากพระวรกายปานใดแต่น้ำพระทัยกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์เอ่อท้นในพระมนัส
จึงทรงจาริกเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลชน
ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงนำภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป เสด็จจากเวฬุวคาม ไปประทับ ณ กุฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ซึ่งกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลีสร้างถวายเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาเป็นครั้งคราว พระพุทธองค์ ตรัสสั่ง
ให้พระอานนท์ประกาศประชุมสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด ทรงโอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยอภิญญาเทสิตธรรม
คือธรรมที่พระองค์แสดงไว้เพื่อการตรัสรู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ให้ภิกษุทั้งหลายหมั่นอบรมประพฤติธรรมดังกล่าวนี้
ในครั้งนั้นบรรดากษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีทั้งหมดซึ่งร่วมกันปกครองแบบสามัคคีธรรม
ได้ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์ จึงนำเครื่องสักการบูชามาถวายเป็นอันมาก
พร้อมน้อมฟังพระธรรมเทศนาบังเกิดความรื่นเริงในธรรมโดยถ้วนหน้ากัน
รุ่งขึ้นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์ได้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในเมืองเวสาลี
ชาวนครเวสาลี มีความรู้สึกระทึกใจเป็นที่ยิ่ง เมื่อทราบว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้เห็น
ได้เฝ้ารับโอวาทานุสาสน์จากพระพุทธองค์ บางพวกร่ำไห้ บางพวกตีอกชกตัว
ประหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้าแห่งตนจะเดินทางไปสู่สมรภูมิและรู้แน่นอนว่าจะไม่กลับมา
พระจอมมุนีประทานเทศนาให้เขาเหล่านั้นคลายโศก โดยทรงย้ำให้ระลึกถึงพระโอวาทที่เคยประทานไว้ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การเศร้าโศกคร่ำครวญ
ย่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับมิให้แตกดับได้"
แลแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จออกจากนครเวสาลีทรงยืนอยู่ ณ ประตูเมืองครู่หนึ่ง
ผินพระพักตร์มองดูเวสาลีเป็นนาคาวโลกนาการ ปานประหนึ่งพญาคชสารตัวประเสริฐเหลียวดูแมกไม้เป็น
ปัจฉิมทัศนาเมื่อถูกนำพาไปสู่นครเพื่อเป็นราชพาหนะ
พระตถาคตเจ้าทอดทัศนาการเวสาลีพลางทรงรำพึงว่า... "ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์
เป็นนครที่มีนามกระเดื่องลือว่า มีคนแต่งกายงามที่สุด ปานหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มีสระโบกขรณีมากหลายเป็นที่รื่มรมย์
ปราสาทแห่งเจ้าฉิจฉวีเสียดยอดระดะดูงามตาพิลาศพิไล โดยเฉพาะลิจฉวีสภาซึ่งจงใจทำอย่างประณีตบรรจงงามวิจิตร
เป็นที่ประชุมแห่งกษัตริย์ลิจฉวีผู้พร้อมใจกับปกครองบ้างเมืองโดยสามัคคีธรรม ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมีปราการสามชั้น
มีเบื้องหลังเป็นป่าใหญ่ทอดยาวเหยียดสูงขึ้นไปจนถึงหิมาลัยบรรพต อันได้นามว่ามหาวันซึ่งพระตถาคตแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ
การได้เห็นเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการสำหรับตถาคตแล้ว ตถาคตจะไม่ได้เห็นเวสาลีอีก"
ทรงรำพึงดังนี้แล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า… "อานนท์ การมองดูเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว
อานนท์เอย! ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อได้มีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมจะมีการสิ้นสุด ใครเล่าจะสามารถหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็นมิให้เป็นได้ มาเถิดอานนท์! เราจักเดินทางไปสู่ปาวาลเจดีย์" พระตถาคตเจ้าตรัสเท่านี้แล้วเสด็จดำเนินด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ
พระอานนท์พุทธอนุชาตามเสด็จพระบรมศาสดา ด้วยอาการสงบและเคร่งขรึม
ใครเล่าจะทราบว่าภายในดวงจิตของท่านจะปั่นป่วนรวนเรซึมเซาเศร้าโศกอ่อนไหวหวิวหวั่นสักเพียงใด
เหตุที่พระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้ ถือเป็นมรณญาณ คือ เป็นลางบอกให้พระสงฆ์สาวกและพุทธบริษัท ทราบล่วงหน้า
เพราะเป็นเวลาใกล้ที่จะปรินิพพานจึงไม่อาจกลับมาเห็นเมืองเวสาลีประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งคือพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณล่วงหน้าถึงความเป็นไปภายหลังพุทธปรินิพพานว่า...
นอกจากพระองค์แล้ว แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจได้เห็นเมืองเวสาลีอีก เนื่องจากเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว
กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้มีชัยเหนือเมืองเวสาลี
เอกราชของบรรดากษัตริย์ลิจฉวีที่ปกครองโดยสามัคคีธรรม ก็สูญสิ้นไปนับแต่นั้นมา
ทั้งนี้เพราะบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมิได้ตั้งมั่นอยู่ใน “ลิจฉวีอปริหานิยธรรม”
อันเป็นธรรมที่พระบรมศาสดาประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกันแบบสามัคคีธรรม
ซึ่งสามารถต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าอชาตศัตรู ไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง
แต่ในครั้งที่ ๓ พระเจ้าอชาตศัตรูได้ส่ง วัสสการพราหมณ์ เข้ามายุยงปลุกปั่นให้บรรดากษัตริย์นักรบทั้งหลายแตกร้าวในความสามัคคี
ไม่ตั้งมั่นอยู่ในหลักอปริหานิยธรรม เมืองเวสาลีก็ถึงกาลอันล่มสลาย
จากนั้น พระพุทธองค์ จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์ พร้อมทั้งเหล่าพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางไปสู่บ้านภัณฑุคาม
ป่ามหาวัน บ้านหัตถีคาม บ้านอัมพะคาม บ้านชัมพูคาม และโภคนครโดยลำดับ
ภายหลังจากแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนคร และพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังเมืองปาวานคร
สถานที่ปลงอายุสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชมภาพ ปาวาลเจดีย์ สถานที่ปลงอายุสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และอ่านพุทธโอวาทสุดท้ายก่อนปรินิพพานได้ที่ลิ้งค์
https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.738803542836856.1073742062.100001216522700&type=1