วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีเสือ (ปีขาล) ตั้งอยู่บน เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร บนเนื้อที่ 175 ไร่ ณ เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัว เมืองจังหวัดแพร่เป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เป็นพระอาราม หลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ในปี พ.ศ. 2508
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮทำพระสมเด็จจิตรลดา
ตำนานพระธาตุช่อแฮ (จากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของทางวัดพระธาตุช่อแฮ) สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ได้ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต และได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ หัวหน้าชาวลัวะนามว่า ขุนลัวะอ้ายก้อม เห็นในขณะที่เขาได้มากราบไหว้พระองค์ที่บนดอยนี้
เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสมที่จะตั้งไว้เป็นสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทาน
พระบรมสารีริกธาตุที่ระลึก โดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลัวะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้ ๆ พร้อม
ทั้งมีรับสั่งอีกว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ด้วย และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ จะเป็นเมืองใหญ่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอาราม
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี (ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช) พระเจ้าอโศกมหาราชและ
พระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง
แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ใน
สถานที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด
หลังจากการอธิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศ ไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้นๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรม
สารีริกธาตุที่เหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์ แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไปจนกว่าจะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา
ชื่อพระธาตุช่อแฮมาจากความเชื่อว่า ขุนลัวะอ้ายก้อมได้นำผ้าแพรมาถวายพระพุทธเจ้า
หรือชาวบ้านได้นำผ้าแพรชั้นดีทอจากสิบสอง ปันนามาผูกบูชาพระธาตุ คำว่า “แฮ” เพี้ยนมาจากคำว่า “แพร” แปลว่าผ้าแพร
สิ่งสำคัญภายในวัดองค์พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์
พระธาตุสูง 33 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น กว้างด้านละ 11 เมตร ถัดขึ้น ไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัว ระฆัง 1 ชั้นและหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ยอดฉัตรประดับตกแต่ง ด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูมีซุ้มแบบปราสาทล้านนา สวยงามมาก
หลวงพ่อช่อแฮ เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย หน้าตักกว้าง 3.80 เมตร
สูง 4.50 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง มีอายุหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว
พระเจ้าทันใจและไม้เสี่ยงทาย พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 80 ซม. สูง 120 ซม เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยตะกั่วที่ถูกลักไป
พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ
เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้นอย่างสมประสงค์ ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจมีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวกหรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้แทนไม้เซียมซี ผู้ที่ต้องการเสี่ยงทายสิ่งใดจะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรง ไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ ตรงจุดใดของไม้ ก็จะทำเครื่องหมายไว้ แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ ความยาวของวาครั้งใหม่เลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมาวาอีกครั้งหนึ่ง
พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในปี 2534 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เป็นประธานเททองหล่อและเบิกพระเนตร
พระเจ้าไม้สัก สร้างด้วยไม้สักทอง หน้าตักกว้าง 33 นิ้ว สูง 87 นิ้ว เป็นศิลปะสมัยล้านนา
พระเจ้านอน เป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดแพร่เคารพนับถือมาก ก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อน
เสมอ สร้างเมื่อขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2459 เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่า ขนาดยาว 3.70 เมตร สูง 1.35 เมตรก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูนลงรักปิดทอง
ธรรมมาสน์โบราณ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะล้านนา ก่อสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทอง
กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในบุญคุณของท่านที่ได้ทะนุบำรุง
พระพุทธศาสนา
บันไดนาคโบราณ ภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาคอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน แต่ละบันไดมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน
แผ่นศิลาจารึก ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าทันใจ จารึกเรื่องราวการสร้างบันไดด้านทิศตะวันตก
สวนรุกขชาติช่อแฮ ตั้งอยู่บนที่ดินของวัด มีพื้นที่ 52 ไร่ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาพันธุ์ไม้ มีต้นไม้นานาพันธุ์กว่า
1,000 ชนิด
ประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮ การนมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบกันมาว่า การได้กราบไหว้บูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จะเป็นสิริมงคลแก่ตัว ทำให้มีความสุขความเจริญ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่ จะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มา
นมัสการพระธาตุช่อแฮ ก็เหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่
ประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เดิมจัด 5 วัน 5 คืน ในปี พ.ศ. 2536 ได้เปลี่ยนมาเป็น 7 วัน7 คืน วันแรกของงานจะเริ่มในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ไต้ (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปีเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดขึ้นไปนมัสการพระธาตุทั้งกลางวันและกลางคืน มีการทำบุญซื้อดอกไม้ธูปเทียนไหว้องค์พระธาตุ ไหว้พระเจ้าทันใจ และเสี่ยงเซียมซี
ในการจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วยริ้วขบวนแห่และการฟ้อนรำของทุกอำเภอ มีขบวนช้างเจ้าหลวง ขบวนตุงหลวง ขบวนผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี ขบวนกังสดาล ขบวนหมากเป็ง และขบวนข้าวตอกดอกไม้ มีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดกทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน
ในรุ่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (ตรงกับวันมาฆบูชา) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน พุทธศาสนิกชนต่างร่วมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์บริเวณลานพระธาตุ ตอนสายๆ กลุ่มผู้คนที่มาทำบุญตักบาตรบางส่วนอาจเดินทางไปที่พระธาตุดอยเล็ง (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ประมาณ 3 กิโลเมตร) เพื่อกราบไหว้บูชาพระธาตุ และชมทัศนียภาพบ้านเมืองที่เรียงรายสวยงาม ตอนกลางคืนประชาชนจะไปร่วมกันเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุช่อแฮและวิหาร
การเดินทางมานมัสการวัดพระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่
การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮอยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่