วันนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันคล้ายวันนิพพานของพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี หรือ อีกพระนามนึงคือ พระภัททากัจจานาเถรี พระเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในอภิญญาใหญ่กว่าภิกษุณีทั้งปวง (ปกติทุกปีตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ แต่ปีนี้มีเดือน ๘ สองหน จึงมาตกที่เดือน ๕ ตามจันทรคติ) พระนางพิมพาเถรี เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ พระอารามภิกษุณี กรุงสาวัตถี ในพรรษาที่ ๔๓ แห่งพระสมเด็จผู้มีพระภาค
พระประวัติย่อ
พระนางพิมพาเถรีภิกษุณี พระองค์ประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า)
ซึ่งนับพระนางเป็น ๑ ในสหชาติทั้ง ๗ ของพระพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วย
๑.พระภัททากัจจานาเถรี หรือ พระนางยโสธรา
๒.พระอานนท์ หรือ เจ้าชายอานนท์
๓.พระฉันนเถระ หรือ นายฉันนะ
๔.พระกาฬุทายีเถระ หรือ กาฬุทายีอำมาตย์
๕.ม้ากัณฑกะ
๖.ต้นมหาโพธิ์
๗.ขุมทรัพย์ทั้งสี่
พระนางยโสธราทรงเป็นป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระมารดามีพระนามว่าพระนางอมิตาเทวี ประสูติในตระกูลศากยะแห่งโกลิยวงศ์ กรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ เมื่อแรกประสูติพระญาติทั้งหลายได้ทรงถวายพระนามว่า "ภัททากัจจานา" เพราะพระสรีระของพระองค์ มีพระฉวีวรรณสีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์ พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อมีพระชนม์ ๒๙ พรรษาได้ ประสูติพระราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่าพระราหุล
ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระนางยโสธราทรงเกิดความเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงละเว้นการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับนานาประการ ทรงมีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์ แม้วัฒนธรรมอินเดียในยุคนั้นจะถือว่าหญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางก็ไม่สนพระทัยในชายอื่น พระนางยังคงทรงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว จนกล่าวได้ว่า...
"..คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้าย้อมฝาดด้วย
คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะบรรทมบนพื้นไม้ พระนางก็บรรทมบนพื้นไม้ด้วย
คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงอดพระกระยาหาร พระนางก็ทรงอดพระกระยาหารด้วย
ไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีทรงปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ทรงปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น.."
และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ในวันแรกพระนางมิได้ทรงออกไปถวายการต้อนรับ แต่ในวันที่สองขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกทรงรับบาตร พระนางยโสธราทรงชี้ให้พระราหุลได้ทอดพระเนตรพระบิดาของพระองค์แต่มิได้ออกไปทรงบาตร ทรงเก็บตัวอยู่ในพระตำหนัก และในวันที่สองเมื่อพระพุทธเจ้าทรงรับภัตตาหารในพระราชวังเสร็จ พระองค์จึงเสด็จไปโปรดพระนางในพระตำหนัก เมื่อพระนางได้ทรงพบถึงกับเข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันอย่างน่าสงสาร แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาให้พระนางดำรงพระสติไว้ได้ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระประยูรญาติแล้ว พระนางก็รับสั่งให้ราหุลราชโอรสตามเสด็จพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอราชสมบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาราหุลเป็นสามเณรและให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย
หลังจากที่พระนางอยู่ในพระตำหนักได้ ๓ ปี พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคต และได้ทำพิธีให้เจ้าชายมหานามะขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทน พระนางยโสธราพิมพาจึงออกผนวชกับมาตุคาม ๑,๑๐๐ คน ประมาณพรรษาที่ ๕ แห่งพระผู้มีพระภาค ขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา พระนางยโสธราพิมพาไปยังสำนักของพระเถรี ได้รับคุรุธรรม ๘ ประการ บวชแล้ว เมื่อมีพระชนมายุ ๔๐ พรรษา มีพระนามว่า "พระภัททากัจจานาเถรี"
พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางพิมพาเถรี) ต่อมารับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าและเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง ๑๕ วัน ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลายระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัปโดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่างๆตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาใหญ่
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี ขณะมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา พระองค์ทรงได้ตรวจพิจารณาดูสังขารขันธ์วาระนิพพานของตนเองได้มาถึงกาลแล้ว จึงได้เสด็จไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งกราบขอขมาโดยการระลึกชาติเป็นลำดับ ๆ ที่เคยได้ร่วมบำเพ็ญบารมีร่วมกับพระโพธิสัตว์เจ้าในภพชาติต่าง ๆ ที่เคยทำให้พระพุทธองค์ในอดีตชาตินั้น ๆ ต้องหนักใจ และบางชาติถึงกับต้องเสียสละชีวิตลงในชาตินั้น ๆ (ท่านใดสนใจฟังเรื่องราวในอดีตชาติของทั้งสองพระองค์ที่เคยบำเพ็ญเป็นคู่บารมีกันมาตั้งแต่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียง Mp3 สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเถรี เสียงอ่านโดยท่านพระอาจารย์วิทยา กิจฺจวิชฺโช วัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มี ๓ ตอนจบ ได้ที่ลิงค์
http://www.doisaengdham.org/…/4-สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี-1-… )
สมัยนั้น มนุษย์และเทวดาแต่บรรดาที่ยังเป็นปุถุชนตัดความรักอาลัยไม่ขาดไปจากขันธสันดาน เมื่อได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าดับขันธ์เข้าสู่อมตมหานฤพานแล้ว ต่างก็พากันโศกาดูรร่ำไห้เสียงเซ็งแซ่ควรจะสงสาร ส่วนท่านที่เป็นอรหันตอริยบุคคลมีองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ก็บังเกิดธรรมสังเวชในหฤทัยทุกถ้วนหน้า คราทีนั้นสมเด็จพระอมรินทราธิราชเจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ จึงทรงมีเทวโองการให้อัญเชิญพระศพมาชำระสระสรงด้วยอุทกวารี แล้วสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นใหญ่ จึงถวายผ้าเนื้อละเอียดให้หุ้มห่อบรมศพแห่งพระเถรี เหล่าเทวดาและมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใสก็ปลดเปลื้องเครื่องประดับออกจากกาย ถวายให้เป็นเครื่องประดับพระศพกันมากมายหนักหนา มีคำที่พระโบราณาจารย์พรรณนาไว้ว่า พระบรมศพของสมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าในวันนั้น ทรงไว้ซึ่งความงามโสภายิ่งกว่าเทพอัปสรสวรรค์ทุกชั้นฟ้าเสียอีก
ลำดับนั้น ท่านท้าวสุทธาวาสมหาพรหมผู้วิเศษ ซึ่งด่วนจรมาแต่สุทธาวาสพรหมโลกด้วยศรัทธาเลื่อมใส ก็อธิษฐานใจเนรมิตด้วยพรหมฤทธิ์ ให้เป็นหีบทองเข้ารองรับพระศพใส่ไว้เป็นอันดี ฝ่ายสมเด็จท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช ก็เนรมิตด้วยเทพฤทธิ์ ให้บังเกิดเป็นเมรุทองมียอดได้ ๕๐๐ ยอด มีสัณฐานงดงามรุ่งเรืองเลื่อม พรรณรายกอปรไปด้วยเครื่องประดับอันวิจิตร นอกจากพรหมและเทวดาจักเนรมิตด้วยฤทธิ์แห่งตนแล้ว บรรดามนุษย์ทั้งหลายต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาด้วยฉัตรธงเป็นอาทิ แล้วก็อัญเชิญพระบรมศพขื้นสู่พระเมรุทองประโคมด้วยดุริยดนตรีเสียงพิลึกกึกก้องโกลาหล
สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแก่องค์อมรินทราธิราชซึ่งประทับยืนอยู่ในขณะนั้นว่า เราตถาคตจะประทานเพลิงศพเจ้าพิมพาก่อนผู้อื่นใดในกาลบัดนี้ สมเด็จท้าวโกสีย์ผู้ใหญ่ในไตรตรึงษ์สรวงสวรรค์ ได้สดับพระพุทธฎีกาดั่งนั้น ก็มิได้ทรงรอช้าให้เสียเวลา น้อมนำเอาเพลิงอันเกิดแต่แว่นแก้วมณีเข้าทูลถวายทันที สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาเพลิงมาแต่หัตถ์ท้าวโกสีย์ แล้วก็ทรงประทานเพลิงต่อจากนั้น จึงพระพรหมเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่างก็เข้าถวายเพลิงเป็นลำดับไปในภายหลัง เพลิงที่มนุษย์และเทวดาถวายก็ดี เตโชธาตุที่บังเกิดขึ้นเองก็ดี ทั้งสองสิ่งนี้ได้รวมกัน เผาผลาญบรมศพสมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีเจ้าให้เป็นเถ้าถ่านละเอียดจุณวิจุณ แต่มาตรว่าพระอังคารก็มิได้เหลือหลง ยังคงมีแต่พระธาตุซึ่งมีพรรณอันงามดุจดอกมณฑาเท่านั้น
ครั้นการถวายพระเพลิงบรมศพพระนางซึ่งมีคุณใหญ่ เสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลมหาราช จึงทรงกราบทูลองค์พระจอมไตรโลกนาถขึ้นในขณะนั้นว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมเด็จพระนางพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้าท่านดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานครั้งนี้ ปรากฏว่ามีมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์ พากันมาสักการบูชาและถวายพระเพลิงมากมายยิ่งหนักหนา ควรจะเห็นว่ามากกว่าพระอรหันต์สาวกที่ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานไปแล้วทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้บรมธาตุอันมีพรรณงามดุจดังดอกมณฑา แห่งสมเด็จพระนางพิมพา เถรีที่เหลือปรากฏอยู่นี้ ควรจักนำไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ใด พระเจ้าข้า" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเสาวนาการพระราชปุจฉาดังนั้น จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสสั่งองค์ราชาธิบดีปเสนทิโกศล ให้ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ สถานที่อันควรแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุสีดอกมณฑา แห่งองค์พระพิมพาเถรีภิกษุณีเจ้า เพื่อให้เหล่าเทวดาอินทร์พรหมและมนุษย์ ที่มีน้ำใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาได้กระทำคารวะสักการบูชาสืบต่อไปชั่วกาลนาน ด้วยประการฉะนี้ วันนี้จึงเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ให้ระลึกถึงคุณงามความดีเป็นสังฆานุสติอีกวันหนึ่ง
ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB พี่เอ ครับ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน