เพชรแห่งธรรมโดย หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
คำนำโดย พระไพศาล วิสาโล
คำนำ
เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๗ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ได้ไปจำพรรษาที่วัดจวงเหยิน รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ประมาณเดือนสิงหาคม ท่านได้บันทึกเทปธรรม ๑ ตลับส่งมาให้แก่คณะสงฆ์และนักปฏิบัติธรรม วัดเขาคงคา อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติ
บันทึกเทปดังกล่าวมีความยาว ๑๒๐ นาที แบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกท่านใช้ชื่อว่า “สนทนาธรรมกับท่าน” ตอนที่สองใช้ชื่อว่า “ฝากธรรมถึงเพื่อน” ต่อมาได้มีการนำคำบรรยายทั้งสองตอนไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง เพชรแห่งธรรม
ตอนแรกของคำบรรยาย หลวงพ่อได้ปูพื้นให้เห็นความสำคัญของการฝึกตนเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากศาสนา โดยเฉพาะการฝึกให้ “ใจดี” เพื่ออยู่ในโลกอย่างไม่มีความทุกข์ สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้องแต่ก็ปล่อยวางได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ปล่อยให้อารมณ์อกุศลครอบงำใจ คำถามหนึ่งของท่านที่ชวนให้ฉุกคิดก็คือ “เดี๋ยวนี้ท่านมีกายท่านมีใจ (แต่)ท่านพึ่งกายพึ่งใจของท่านได้ไหม?” ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้ผู้คนกลายเป็นทาสของกายและใจ จนเป็นทุกข์ หาไม่ก็ใช้กายและใจไม่เป็น จนนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเอง
คำบรรยายตอนที่สอง หลวงพ่อได้พูดเจาะลึกถึงวิธีฝึกจิตด้วยการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน โดยแจกแจงลำดับขั้นของการภาวนาอย่างละเอียด เริ่มต้นด้วยการดูกาย จนเห็นเวทนาและจิต เมื่อมีความคิดก็เห็นและรู้ทัน จนเห็นธรรมไม่ว่ากุศลหรืออกุศลธรรม
หลวงพ่อเน้นถึงความสำคัญของการดู เห็น หรือรู้ซื่อ ๆ ไม่ว่าทำอะไรก็รู้ มีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจก็เห็น ซึ่งจะทำให้รู้หรือเห็นความจริงเป็นลำดับ เริ่มจากการเห็นความจริงของรูปนาม กล่าวคือแท้จริงแล้วไม่มี “กู” มีแต่รูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าทำอะไร ก็ล้วนเป็นรูปทำและนามทำ ไม่ใช่ “กู”ทำ เมื่อเดินก็ไม่ใช่ “กู”เดิน แต่เป็นรูปที่เดิน เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ “กู”คิด แต่เป็นนามที่คิด ต่อไปก็เห็นอาการของรูปและนาม ความปวดความเมื่อยเป็นแค่อาการของกาย ความโกรธเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่กูปวดกูเมื่อยหรือกูโกรธ เป็นเพราะไม่เห็นความจริงดังกล่าว ผู้คนจึงยึดเอาอาการของรูปและนามมาเป็นกู เกิดทุกข์ตามมา
เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะเห็นว่ารูปและนามนั้นเป็นก้อนทุกข์ทั้งนั้น ทำให้ไม่หาทุกข์มาซ้ำเติมตนเองอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็ปล่อยวางรูปและนามมากขึ้น ทำให้ทุกข์เบาบางลง ปัญญาหรือญาณที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติยังนำไปสู่การเห็นความจริงที่ลึกซึ้งมากขึ้นว่า สิ่งทั้งปวงล้วนตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์และเป็น สมมุติทั้งสิ้น ที่สุดก็เห็นสภาวะที่ท่านเรียกว่า “วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ” ญาณดังกล่าวจะเป็นเครื่องทำลายสังโยชน์หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดให้หมดสิ้นไป ทำให้คนเราเป็นมนุษย์หรือเป็นพระได้อย่างแท้จริง การปฏิบัติดังกล่าวสามารถดับทุกข์ให้หมดสิ้นได้ นับเป็นธรรมที่ล้ำค่ามาก ท่านจึงเรียกว่า “เพชรแห่งธรรม”
ในคำบรรยายดังกล่าว หลวงพ่อยังได้พูดถึงประสบการณ์การภาวนาของตัวท่านเอง จากเดิมที่ติดสงบ มาสู่การสร้างความรู้สึกตัว และขยันรู้ จนเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง เกิดภาวะที่ท่านเรียกว่า “หมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลือ”
ไม่บ่อยนักที่หลวงพ่อจะบรรยายลำดับขั้นของการภาวนาตามแนวหลวงพ่อเทียนได้อย่างชัดเจน โดยอิงประสบการณ์ของตัวท่านเอง หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่ามากสำหรับผู้ที่ใฝ่การเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๗ และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงปี ๒๕๔๗ ครั้งหลัง ๆ มีการเปลี่ยนชื่อคำบรรยายทั้งสองตอน และทำหัวข้อย่อยเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้หาอ่านได้ยากแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อคำเขียนจึงนำมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปีนี้เพื่อแจกเป็นธรรมทานเนื่องในงานบูชาคุณหลวงพ่อ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อ และครบรอบปีแห่งการละสังขารของหลวงพ่อ (๑๒ และ ๒๓ สิงหาคม) ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปญฺโญ (๑๕-๑๗ สิงหา คม ) และวัดป่าสุคะโต (๒๒-๒๓ สิงหาคม )
การตีพิมพ์ครั้งใหม่นี้เชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ใฝ่ในการเจริญสติและปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากได้ลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อ เชื่อได้ว่าทุกท่านจะมีเพชรแห่งธรรม ที่ช่วยตัดความหลงให้สลายไปเป็นลำดับจนเข้าถึงความสิ้นทุกข์ในที่สุด
พระไพศาล วิสาโล
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอบคุณข้อมูลธรรมะดีๆจาก :
http://www.visalo.org/prefaces/pedhengdham.html?fbclid=IwAR0q8Rl5lqJ9igK-7bks-RQX3WlhaUXquXmY12zWBPOs09qEjC13PkUhAW4