(ต่อครับ)
วริศรา : เธอพอทราบไหมว่าในสมัยพุทธกาลนั้นท่านปฏิบัติกันอย่างไร
นรานันท์ : ท่านปฏิบัติกัน ๔ รูปแบบ (ดังแสดงในยุคนัทธสุตรอังคุตตรนิกาย จุตกนิบาต) สรุปคือ
๑. เจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะเป็นเบื้องหน้า คือ เจริญสมถะก่อนแล้วต่อด้วยวิปัสสนาภายหลัง ได้ฌานแล้วระลึกรู้ (พิจารณา) องค์ฌาน
๒. เจริญสมถะโดยมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า หมายถึงเจริญวิปัสสนาไปโดยตรง (ล้วน ๆ) ซึ่งเมื่อพระโสดาบันปัตติมรรคจิตเกิด ก็ย่อมต้องประกอบไปด้วยองค์ของปฐมฌาน แม้มรรคจิตยังไม่เกิด เพียงขั้นระลึกรู้ตรงลักษณะรูปนามขณะนั้นจิตสงบจากกิเลสชั่วขณะ ๆ ชื่อว่ามีสมถะเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเจริญสมถะก่อนหามีวิปัสสนาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นไม่ ต้องมาเริ่มอีกภายหลังโดยมีองค์ฌานเป็นบาทได้บ้างดังกล่าวแล้วในข้อ ๑
๓. เจริญวิปัสสนากับสมถะควบคู่กันไป คือเข้าสมาบัติเพียงใดก็พิจารณาสังขารเพียงนั้น พิจารณาสังขารเพียงใดก็เข้าสมาบัติเพียงนั้น เจริญทำให้เป็นคู่ติดกันไป เช่นเข้าปฐมฌาน เมื่อออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว เข้าทุติยฌาน ฯลฯ
๔. เมื่อใจปราศจากอุทธัจจะในธรรมแล้วซึ่งอรรถกถาอธิบายว่าอุทธัจจะได้แก่วิปัส สนูปกิเลส ๑๐ ในธรรมคือสมถะแลวิปัสสนาสมัยนั้นจิตย่อมตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ใน (อารมณ์) ภายใน เป็นหนึ่งแน่วแน่ในสมาธิ มรรคย่อมเกิด จะปฏิบัติแบบไหนก็ตามใน ๓ ข้อถ้าเกิดธรรมอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านในธรรม เช่นเห็นแสงสี เห็นพระพุทธรูปเท่านี้วาเท่านั้นวา ท่านแยกออกเพราะรู้ว่าแสงสี ฯลฯ นั่นเป็นบัญญัติ ไม่เกิดดับ มีเพราะจิต (ซึ่งเป็นปรมัตถ์คือนามธรรม) คิดไม่ใส่ใจในบัญญัติ แต่ระลึกรู้ลักษณะจิตที่คิด ไม่ใช่ตัวตน ฯ อย่างช่ำชองจนเห็นธรรมเกิดดับ จึงบรรลุธรรมที่เป็นขันธวิมุตติได้
อย่างเราบารมียังไม่แก่รอบ เห็นเกิดดับจริง ๆ หรือยัง เพียงเปาะ ๆ แปะ ๆ กะปลกกะเปลี้ยเพลียแรง จึงอย่าสะเออะไปเอาอย่างท่านจะให้ทัดเทียมท่าน อย่า เป็นการอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตนมิบังควร นกยูงอย่าไปกระสันถึงเมฆ มณฑก (กบ) อย่าทำเทียบกับท้าวสีหะคือพญาราชสีห์ นกกระจอกอย่าหาญไปบินแข่งพญาครุฑอย่าเอาน้ำที่ลอดรูเข็มไปเทียบกับน้ำใน มหาสมุทรทั้งสี่เลย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรฯ ท่านว่า
มณฑกทำเทียบท้าย สีหะ
แมวว่ากูพยัคฆะ คาบเนื้อ
นกจอกมีมานะ บินยิ่ง ครุฑนา
เข็ญใจมีข้าเกื้อ หยิ่งยิ่งแสนทวี
ในมโนรถปูรณีอรรถกถาอังคุตตรนิกาย โคตมีสูตรที่ ๑ อัฏฐกนิบาต มีข้อความบ่งชี้ว่าในพันปีที่ ๓ ของพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ในมนุษย์โลกไม่มีแล้ว พระอรรถกถาจารย์คือพระอรหันต์ที่กระทำการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกและ ครั้งต่อ ๆ มาท่านบันทึกไว้ ไม่เชื่อพระอรหันต์แล้วจะไปเชื่อใคร
วริศรา : สมถะกับวิปัสสนานี้มิใช่แยกกันใช่ไหม
นรานันท์ : ถูกแล้ว ในพระพุทธศาสนา สมถะและวิปัสสนามิได้แยกกันเป็นธรรมเนียมคู่กันเรียกยุคนัทธะ หรือวิชชาภาคิยธรรมเหมือนมีดทุกเล่มต้องมีสัน แม้ใบมีดโกนสันสองสันยังติดกันอยู่แต่นอกศาสนาหรือลัทธิภายนอกอย่างสูงมีแค่ สมถะ ไม่มีวิปัสสนาอย่างที่ฉันพูดแล้วไงล่ะ
อย่างเช่นอุทกดาบสยังเนิ่นนานอยู่ในรูปพรหมชั้นสูงสุด มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป พระพุทธเจ้าอีกหลายพระองค์มาตรัสรู้ ท่านยังเฉย หมดโอกาสอยู่ อาฬารดาบสก็รองลงมาอีก ๑ ชั้น
ฉันจึงเตือนเธอว่าให้อบรมเจริญวิปัสสนาไปโดยตรงขณะนี้ทันทีศึกษาให้เข้า ใจอะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม (ที่ถูกต้อง) ทั้ง ๖ ทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วระลึกรู้ทีละทวาร ๆ ทางปัญจทวารโดยมีมโนทวารคั่นทุกครั้ง อย่างนี้มีอย่างนั้นหามิได้ ข้ามภพข้ามชาติเหมือนการจับด้ามมีด สมมติว่าต้องจับล้านโกฏิครั้งด้ามมีดจึงจะสึก แต่นี่เธอไปจับด้ามตะหลิว ไม่ถูกด้ามมีด แล้วมาบ่นว่า เอ ทำไมไม่เห็นด้ามมีดมีทีท่าว่าจะสึก
ก็เธอไปทำอย่างอื่นไม่ใช่การจับด้ามมีด แล้วหวังด้ามมีดจะสึกได้อย่างไรล่ะ ไปรีดนมจากโคแล้วมาบ่นว่าไม่ได้นม แปลก
วริศรา : เดี๋ยว ๆ เครื่องบินกำลังจะลงแล้ว ฉันรัดเข็มขัดพร้อมระลึกรู้รูปนามที่กำลังปรากฏไปด้วยตามที่เธอว่า แข็งอ่อน ร้อนเย็นไหวตึงเป็นรูป จิตทางกายทวารรู้ตรงลักษณะแข็งอ่อน รู้ร้อนเย็นรู้ไหวตึงเป็นนาม ล้วนไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งสติปัญญาเกิดร่วมกับจิตทางมโนทวารก็รู้ได้ทีละอย่าง ๆ ทีละขณะๆ ขอถามอีกหน่อยเรื่องหลับตาไม่หลับตา และติเหตุกบุคคล อะไรของเธอนั่น
นรานันท์ : ฉันค้นแล้วค้นอีกไม่มีเลยที่ท่านว่าต้องนั่งหลับตาแล้วจึงจะได้บรรลุธรรม คือมิได้ให้นั่งหลับตา พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสว่าให้ไปปิดตาปิดหูให้มืด ให้อินทรียภาวนาสูตร มัชฌมินิกาย อุปริปัณณาสก์ มีข้อความที่แสดงว่า ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายว่า อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียงด้วยโสตะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่เจริญอินทรีย์ตามคำของปาราสิยพราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คงหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสตะ อุตตรมาณพได้ฟังแล้ว นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
ในพระบาลี ๔๕ เล่ม แปลเป็นไทยพร้อมอรรถกถา ๙๑ เล่ม ไม่มีที่ตรัสให้นั่งหลับตา เธอเคยเห็นพระพุทธรูปปางนั่งหลับพระเนตรบ้างไหม ตรัสให้นั่งนั้นมี นี่โคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงนั่ง แต่ตรัสให้นั่งหลับตาไม่มีจริง ๆ
ในเถรคาถา เถรีคาถา เถราปทาน เถรีอปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก ท่านอธิบายประวัติการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าหลาย ๆ พระองค์ พระอรหันต์ พระอรหันตเถรี ไม่มีที่ท่านบรรลุกันขณะนั่งหลับตา หญิงเคี่ยวน้ำผักดองอยู่ในครัว น้ำผักดองแห้งและไหม้ท่านระลึกรู้รูปนามควบคู่ไปด้วย บรรลุเป็นพระอนาคามี และบรรลุเป็นพระอรหันตเถรี ภายหลังจากบวชแล้ว นี่เรื่องแรกเลยในเถรีคาถา
พระนาคสมาลเถระไปบิณฑบาตปกติเห็นหญิงฟ้อนรำ มิได้ไปหาซอกแคบ ๆ ไปหาที่นั่งหลับหูหลับตาที่ไหน ท่านเพิก (ไม่ใส่ใจใน) บัญญัติ พิจารณาลงสู่ลักษณะปรมัตถ์ (รูปนาม) บรรลุเป็นพระอรหันต์ขณะกำลังเดินบิณฑบาต
เธอต้องทราบคำว่า ปุถุชนคือคนหนาหนักไปด้วยกิเลส จมอยู่ในวัฏฏะ ถ้าเขาเจริญสติปัฏฐาน แว๊บ นั้น เลื่อนฐานะเป็นกัลยาณปุถุชน เพราะได้เงยศีรษะขึ้นจากวัฏฏะขณะหนึ่ง แม้ขณะให้ทานถือศีล เจริญสมถะ เพื่อวิวัฏฏะก็สงเคราะห์เข้าในกัลยาณปุถุชน แต่ถ้าเพื่อให้ถูกล็อตเตอรี่ ได้สองขั้น สามีไม่นอกใจ ฯลฯ ก็เป็นแค่ปุถุชนไปตามเดิม ไม่มีโอกาสเงยศีรษะขึ้นจากวัฏฏะ เท่ากับมิจฉาปฏิปทา ไปหาอ่านได้ในอรรถกถาปฏิปทาสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
ปุถุชน มี ๔
๑. ทุคติบุคคล เกิดในอบายภูมิ
๒. สุคติอเหตุกบุคคล เกิดในมนุษย์ภูมิพิการไม่สมประกอบแต่กำเนิด ถ้าเป็นเทวดาก็ชั้นต่ำสุด คือจาตุมหาราชิกา
๓. ทวิเหตุกบุคคล เกิดด้วยเหตุ ๒ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ เป็นมนุษย์หรือเทวดา ๖ ภูมิ
๔. ติเหตุกบุคคล เกิดด้วยเหตุ ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นมนุษย์ เทวดา พรหม
ติเหตุกบุคคลให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถะ ถ้าได้ฌานและฌานไม่เสื่อม ตายแล้ว
ไปเกิดในพรหมโลก ถ้าไม่ได้ฌานก็ไปเกิดเป็นมนุษย์และเทวดาได้ทั้ง ๖ ชั้น
แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน อย่างเธอนี่ คาดเข็มขัดนิรภัยก็ระลึกรู้รูปนามสลับกับบัญญัติไปด้วย เครื่องบินล้อไม่กาง โครม ลง เธอมีอโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกครบ ละจากโลกนี้ก็ไปเกิดบนสวรรค์ซ้ำเป็นติเหตุกบุคคลทันที เพราะมีอโมหเจตสิก (ปัญญา) เกิดร่วมด้วย นี่เห็นไหม จึงอาจจะมีโอกาสบรรลุธรรมได้
วริศรา : แหม ฉันขอบใจเธอมาก ๆ เลยแต่อยากจะถามให้หมดเปลือก คือสามีฉันเขามาอ้างว่าเขานั่งหลับตาเพื่อทำสมาธิหรือฌานก่อนเธอจะว่าอย่างไร
นรานันท์ : เธอซักจะเอาให้ขาวให้ได้ก็ดีแล้ว ในสมัยพุทธกาลพระมหาสิวะเจริญสมณธรรม (สติปัฏฐาน) มา ๓๐ ปี ไม่บรรลุอะไรท่านแหงนมองดูดวงจันทร์ เห็นยังมีไฝฝ้า เปรียบศีล ๒๒๗ ข้อของท่านบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งกว่า เกิดปีติอย่างสุดซึ้ง ท่านพิจารณาทันทีตรงลักษณะไม่ใช่ตัวตนของปีติ เห็นเกิดดับจนเหนือเกิดดับ (ขันธวิมุตติ) บรรลุพระอรหันต์ โดยมิได้นั่งหลับตา
มามัวหลับตาจะไปมองเห็นดวงจันทร์ได้อย่างไร สามีเธอปฏิบัติมิจฉาสมาธิมาตั้งนาน น่าสงสารที่ไม่รู้ ไปนั่งแข่งกันเท่านั้นเท่านี้บัลลังก์โลภมูลจิตเกิด มีมานะคือความถือตน ทะนงตนจัด นั่งนานเดินนาน ทนปวด ทนเมื่อย เป็นอัตตกิลมถานุโยค เกิดโทสมูลจิตอีก
เอาละ เครื่องบินจะแตะรันเวย์แล้ว เราจบแค่นี้นะ
วริศรา : เดี๋ยวมื้อกลางวันนี้ฉันขอตอบแทน ขอเป็นเจ้ามือ เลี้ยงไม่อั้น
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากคุณเอ :
http://www.dhammahome.com