KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4ภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 คืออะไร สำคัญอย่างไรกรรมฐาน คืออะไร
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมฐาน คืออะไร  (อ่าน 41281 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 12:02:36 PM »



กรรมฐานคืออะไร

    กรรมฐาน  เป็นคำเรียกโดยรวมในหมวดของการปฏิบัติธรรมประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมวดกรรมฐาน ประกอบด้วย ตัวกรรมฐาน และโยคาวจร  ตัวกรรมฐาน คือ สิ่งที่ถูกเพ่ง ถูกพิจารณา ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆ ส่วนโยคาวจร คือ ผู้เพ่งหรือผู้พิจารณา ได้แก่ สติสัมปชัญญะและความเพียร การฝึกกรรมฐานว่าโดยธรรมาธิษฐานจึงหมายถึงการใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ ที่มากระทบ อย่างระมัดระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรหมั่นระลึกถึงกุศลและรักษากุศลนั้นอยู่มิให้เสื่อมไป  

หากกล่าวถึง คำว่า กรรมฐาน เราจะเข้าใจกันว่า กรรมฐาน คือ สมาธิหรือการนั่งหลับตาท่องคำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการกระทำบางอย่างที่ต่างไปจากพฤติกรรม การให้ทาน การรักษาศีล แต่สำหรับความหมาย ที่มีมาในพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัยคำ ?กรรมฐาน? ไว้ว่า

กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน

                          แปลว่าการงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษชื่อว่า?กรรมฐาน?

เหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษนั้น มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะนั่งหลับตาภาวนาดังกล่าว แต่มีองค์ประกอบและรายละเอียด อีกมากมาย ดังนั้น ความหมายของกรรมฐานเท่าที่เราเข้าใจ จึงยังคลุมเครือและยังต่างจากความหมายที่แท้จริงอยู่มาก การสร้างความบริสุทธิ์แห่งจิตนี้ จำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ได้ สิ่งอิงที่ว่านี้มี  ๒  ลักษณะ คือ อาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่อยู่ภายนอกระบบร่างกายและจิตใจ หรือสิ่งที่อยู่ภายในระบบร่างกายและระบบจิตใจก็ได้ สิ่งที่อยู่นอกระบบร่างกายและจิตอาจเป็นส่วนที่สร้างขึ้นหรือมาจากภาวะแวดล้อม เช่น ดวงกสิณ ซากศพ หรืออาหารที่รับประทานอยู่ทุกวัน ส่วนสิ่งที่มาจากภายในระบบร่างกายและระบบจิตใจ ก็คือ อริยาบถต่าง ๆ และความคิด เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบในการฝึกอบรมจิตที่เรียกว่ากรรมฐานได้ (ชิน วินายะ มปป : ๒)

การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการกระทำด้วยความตั้งใจหรือจงใจลักษณะหนึ่ง แต่เป็นไปในฝ่ายกุศลส่วนเดียว เพราะมิได้มีเหตุจูงใจจากความต้องการในกามคุณอารมณ์ การปฏิบัติกรรมฐานจึงไม่ขึ้นกับโลกธรรมและกามคุณดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายพื้นฐาน คือ การอบรมจิตใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรม คือ ตัณหา ความคิดมุ่งร้าย ความเกียจคร้าน ความเร่าร้อน ไม่สบายใจ และระแวงสงสัย เป็นต้น จิตที่สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายจักเข้าถึงสภาวะแห่งปัญญาได้ไม่ยากนัก

 เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ (กิริยวาท) และเป็นศาสนาแห่งความเพียรหรือวิริยวาท (พระมหาบุญชิต สุดโปร่ง : ๒๕๓๖) ความเพียรในการปฏิบัตินี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่สำคัญ คือ ศรัทธา ๔ ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องกรรมหรือการกระทำ (กมฺมสทฺธา) ในเรื่องผลของกรรม (วิปากสทฺธา) ในความเป็นเจ้าของกรรมที่ตนทำ (กมฺมสกฺตาสทฺธา) และความเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ (ตถาคตโพธิสทฺธา) ดังนั้น ? กรรม ? จึงเป็นคำสำคัญในคัมภีร์พระพุทธศาสนาใช้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับโลกและชีวิตในเชิงพุทธ มีความหมายสัมพันธ์กับคำว่า กุศล อกุศล บุญ บาป วาสนา บารมี (พระเมธีธรรมาภรณ์, ?กรรม? ในคำ : ร่องรอยความคิดความเชื่อไทย ๒๕๓๗ : ๑ )
การกระทำโดยทั่วไปมี ๓ ลักษณะ โดยแบ่งตามช่องทางที่แสดงออก คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศล ส่วนมากอาศัยอารมณ์ทั้ง ๕ และมีโลกธรรม ๘ เป็นอารมณ์ และเป็นเหตุจูงใจให้มีการกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศล เช่น บุคคลมีเจตนาคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น (อกุศลมโนกรรม) ด้วยอำนาจความโลภ จึงแสดงพฤติกรรมของการแย่งชิง หรือไม่ก็หยิบฉวยไปโดยไม่ได้รับอนุญาต (อกุศลกายกรรม) เป็นต้นทรัพย์สมบัติของผู้อื่นซึ่งเป็นรูปธรรมจึงเป็นเหตุให้มีการกระทำต่าง ๆ ตามมา

กล่าวโดยสรุป การฝึกกรรมฐานเป็นการกระทำกุศลกรรมชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะมโนกรรม ต่างจากกรรมทั่วไป  ตรงที่เป้าหมายการกระทำเป็นไปเพื่อความสิ้นภพชาติ สิ้นทุกข์ ไม่ต้องไปเกิดในแหล่งกำเนิดใดอีก เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ  ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่ากรรมฐาน

     อุบายดังกล่าวแยกออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

        ๑. อุบายสงบใจ  กล่าวคือ อาศัยวิธีการท่องถ้อยคำบางอย่างซ้ำ ๆ กัน และบังคับตนเองในลักษณะ การสร้างแนวคิด เกี่ยวกับคำนั้น สิ่งที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความคิด หรือภาพพจน์ของคำ ๆ นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของความสงบที่เรียกว่า    สมถกรรมฐาน
        ๒. อุบายเรื่องปัญญา อาศัยความรู้สึกตัวที่มีอยู่ รู้ถึงการสัมผัสทางทวารทั้ง ๖ รู้ถึงปรากฏการณ์ทางจิต ขณะร่างกายมีการกระทบสิ่งเร้า เฝ้าติดตามการรับรู้นี้ด้วยความตั้งใจ เมื่อมีความตั้งใจอยู่ที่ การรับ กระทบความคิดต่าง ๆ ก็จะถูกตัดออกไป จนไม่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้ ไม่เปิดโอกาส ให้มีการก่อตัว ของแนวคิด ภาพลักษณ์หรือความคิดใด ๆ ตามมา เท่ากับเป็นการรู้เท่าทัน กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยตรงในทันทีที่เกิดขึ้น จึงไม่เกิดการบิดผันใด ๆ ทางด้านความคิดนี้ คือ  ส่วนของกิจกรรมที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน (ชิน วินายะ มปป : ๒ - ๗ )

 เนื่องจากกรรมฐานเป็นกุศโลบายบางอย่างที่เกิดจากความตั้งใจสร้างแนวคิดขึ้นหรือไม่ก็เป็นการตั้งใจรับความรู้สึกโดยไม่ผ่านแนวคิด อารมณ์ที่จิตอิงอยู่จึงไม่เหมือนอารมณ์ทั่วไป ที่รับรู้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ภาพลักษณ์และความรู้สึกตัวเป็นผลมาจากความตั้งใจ ดังกล่าว และถูกจัดเป็นหมวดหมู่ของอารมณ์พิเศษที่มีหลักการและวิธีการรับรู้เป็นการเฉพาะสำหรับกรรมฐานแต่ละประเภท เช่น แนวคิดของคำหรือภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นจากสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่าง หรือความรู้สึกตัวในนาม-รูปจากวิปัสสนากรรมฐาน  มีขันธ์ อายตนะ เป็นต้น อารมณ์พิเศษและวิธีการเฉพาะนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้โดยบังเอิญ หรือนึกคิดจะทำตามความนิยมที่สืบต่อกันมาก็ทำได้  แต่เป็นสิ่งที่ต้องการความเข้าใจในเหตุปัจจัยและหลักการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการ ดังนั้น การเข้าหาอาจารย์ผู้มีความชำนาญในการใช้อุบายกรรมฐาน การรู้ถึงจริตอัธยาศัยผู้เรียน การอยู่ในสถานที่ที่ไม่พลุกพล่าน มีการเรียนการสอน และการปฏิบัติควบคู่กันไป และการอุทิศเวลาบางส่วนเพื่อศึกษาและปฏิบัติจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเจริญกรรมฐาน

 ความสำคัญของกรรมฐาน

     ความทุกข์เป็นสิ่งที่ชีวิตไม่ต้องการ พระพุทธศาสนาแบ่งความทุกข์ไว้ ๒ อย่าง คือทุกข์ประจำและทุกข์จร ทุกข์ประจำ หมายถึง ทุกข์ที่มาพร้อมชีวิต คือ การเกิด แก่ ตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงทุกข์ประจำนี้ได้ ส่วนทุกข์จรได้แก่ ความเศร้าโศก รำพัน ต้องอาลัยไม่ขาด การไม่สมความปรารถนา และการพลัดพรากจากของรัก เป็นต้น เป็นเพียงทุกข์ที่ผลัดกันเกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดแก่และตายนั่นเอง อาจจะบรรเทาได้บางส่วนตามสมควร แต่ก็ไม่อาจทำให้ทุกข์จรนั้น หมดไปได้เช่นกัน สังคมในอดีตเคยต้องเกิด แก่ ตายอย่างไร ปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างไร เทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ยังไม่อาจ แก้ปัญหาชีวิตที่ต้องแก่และต้องตายของชีวิตใครได้

 พระพุทธศาสนามิได้สอนหรือบังคับให้หนีสังคม มิได้ถ่วงความเจริญ หรือพยายามหยุดยั้งเทคโนโลยีที่กำลังก้าวกระโดดนั้น อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ที่จริงแล้วจะมีเทคโนโลยีหรือไม่มีก็ตาม ปัญหาก็มิได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ มีทั้งส่วนที่ให้คุณและให้โทษ ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้มากกว่า จุดยืนทางศาสนาอยู่ที่การเป็นสัญญาณ เตือนภัยที่จะเกิดแก่มนุษย์ ภัยนั้นมีอยู่รอบด้านโดยเฉพาะภัยทางความคิด ซึ่งมนุษย์มองไม่เห็นและไม่เชื่อว่าเป็นภัยจริง  มุมมองที่คับแคบอาจทำให้มนุษย์มอง เห็นเพียงด้านเดียว  ของความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี แล้วกล่าวอ้างถึงความเจริญทันสมัย เพื่อสนับสนุนความคิดของตน และเลือกที่จะทำตามความคิดนั้น จนละเลยปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง

 ศาสนามีหน้าที่แสดงความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต แนะนำถึงความรอบคอบ  และรอบรู้ในการดำเนินชีวิต  โดยเกิดความเดือดร้อน น้อยที่สุด รอบรู้ว่าสิ่งใดควรคิดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจชีวิตและส่วนที่เป็นปัญหา มีระเบียบในเรือนใจ และการยอมรับเหตุผล ทำให้สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งและอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาได้อย่างผู้รู้กาลเทศะ

จุดมุ่งหมายของกรรมฐาน

     การฝึกกรรมฐาน  เป็นกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เกิดขึ้นเพื่อเป็น พื้นฐานรับรองเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ดังกล่าว ในพระศาสนา แม้จะ มีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การบรรลุ คุณวิเศษ คือ มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าจิตใจยังพัฒนา ไม่ผ่านขั้นตอนการยอมรับ การเวียนว่ายตายเกิด  อันยาวนานของตนเอง หรือยังมีความสงสัยในเรื่องภพชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและที่จะเป็นไปในอนาคตแล้ว ขบวนการถอนรากถอนโคนกิเลสตัณหา อาสวะ และอนุสัยต่าง ๆ ในจิตใจอย่างจริงจังจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ภัยของภพชาตินั้น มาจาก ความจำเจวนเวียน ที่ชีวิตต้องอยู่กับ ความสุขบ้าง  ความทุกข์บ้าง  มีความผันแปรไปตามเหตุปัจจัย มิได้ผันแปรไปตาม ความต้องการของตนเอง   การเห็นภัยจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เห็นภัยดังกล่าวยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยวนเวียน เป็นไปเนื่องด้วยกิเลสตัณหา   สู่วิถีชีวิตที่มีสติสัมปชัญญะดำเนินชีวิตไปตามทางมรรคได้อย่างมั่นคง

 ความกลัวภัย ทำให้เราเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนความต้องการใหม่ ตรงนี้คือ จุดเริ่มของพระพุทธศาสนา การทำทาน รักษาศีล ไม่ช่วยให้เกิดความรู้สึกกลัวภัยได้   คนที่จะน้อมเข้ามาในการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องเห็นภัยในวัฏสงสารก่อน จึงจะมองหาการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติบางอย่างอาจทำให้เกิดความสุขมากมาย ซึ่งไม่ช่วยให้เห็นภัยของวัฏฏะ นั่นก็ไม่ตรงกับพระพุทธศาสนา  พื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ  ภัยของวัฏสงสารจะได้จากการเรียนก่อน จากนั้นจึงน้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติ (พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิตญาโณ. สัมภาษณ์.)

     การพิสูจน์การเวียนว่ายตายเกิดนั้น มิใช่เพียงการทำจิตให้สงบแล้วพาไปดูนรกสวรรค์หรือจินตนาการถึงพระนิพพาน  ว่าเป็นเมืองแก้วตามที่ได้ยินมา การยอมรับว่ามีนรกสวรรค์ดังกล่าว มีประโยชน์ในแง่ของการสร้างศรัทธา ที่จะทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อความสุขของชีวิตในภพนี้และภพหน้า  แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อและทิฏฐิ ที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ จึงมีความปรารถนาการเกิดอยู่เสมอไป ไม่รู้สึกว่าสังสารวัฏฏ์ จะเป็นภัย ต่อชีวิตตนเองได้อย่างไร การเผชิญ กับความเกิดดับ (ตาย) อย่างซ้ำซากเฉพาะหน้า จำต้องอาศัยความเข้าใจ และการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรทางจิตขั้นเอกอุ จึงจะยอมรับภัยของชีวิตได้    ซึ่งมีวิธีการอยู่ ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

วิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น  ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายในการฝึกสังเกตความเป็นไปของจิตขณะ   กระทบอารมณ์ต่าง ๆ    เป้าหมายการสังเกตอยู่ที่ความสามารถในการรับรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนเองก่อนที่จะ   แสดงพฤติกรรมอะไรออกไปทางกาย วาจา หากเราเข้าใจช่วงต่อของความรู้สึกนึกคิด จากความรู้สึกเก่า (วิบากวัฏ) ปรุงแต่งไปสู่ความรู้สึกใหม่ (กิเลสวัฏ)  เป็นเหตุให้เกิดการกระทำใหม่อีก (กรรมวัฏ) ว่าวิบากเป็นเพียงผลมาจากอดีตกรรม ไม่มีใครเลือกรับแต่วิบากดี   หรือย้อนกลับไปเปลี่ยนกรรมในอดีตได้  ตัววิบากเองไม่ดีและไม่ชั่วรับผลแล้วดับไป  แต่การดับไป ถูกตัวกิเลสปิดบัง และปรุงแต่งให้ดูเหมือน  ยังมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ด้วยวิธีการสืบต่ออารมณ์อย่างรวดเร็วไม่ขาดสาย ก็ด้วยความเป็นกลุ่มของ อัตตาที่ยึดถือขึ้นมาเอง ความยึดถือและสำคัญผิดนี้ คือส่วนของการปรุงแต่งเป็นกรรมใหม่ที่พยายาม จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง  สิ่งภายนอกให้เป็นไปตามความต้องการของตน วัฏสงสารแห่งกิเลส - กรรม - วิบาก อันเป็นปมปัญหาของชีวิต  ที่เคยทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดนั้น แฝงอยู่ ณ จุดเชื่อมต่อระหว่างความรู้สึกนึกคิดในปัจจุบันนั่นเอง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 13, 2014, 12:05:26 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มกราคม 22, 2009, 12:03:36 PM »

หากเข้าใจจุดมุ่งหมายและสามารถปฏิบัติกรรมฐานธรรมไปตามแบบที่พระพุทธองค์วางไว้จนเกิดผลในระดับหนึ่งแล้ว ประสบการณ์ทางศาสนาดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น มิใช่ศรัทธาที่เกิดขึ้นจากการ ฟังตามกันมา แต่เป็นความศรัทธาที่มั่นคงในความจริงเฉพาะหน้า  รู้จักว่าส่วนใดเป็นคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา  ส่วนใดมิใช่คุณค่า และหาโอกาสตอบแทนบุญคุณพระศาสนาด้วยความเคารพและกตัญญู

พุทธศาสนิกชนที่มีความประสงค์จะแสวงหาวิชาในด้านพระพุทธศาสนา ควรศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกา ฎีกา จากท่านผู้รู้ที่มีวิทยฐานะโดยถูกต้องและสมบูรณ์ จึงจะได้รับความรู้นั้นตามความประสงค์ ได้เหตุผลในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ถ้าหากว่ามีแต่การชอบฟังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยทำนอง ปาฐกถาบ้าง ธรรมเทศนาบ้าง ธรรมสากัจฉาบ้างเช่นนี้แล้ว ความประสงค์ที่จะได้รับวิชาความรู้โดยถ่องแท้นั้น จะมีแก่ตนไม่ได้เลย เพียงแต่ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ผ่องใส เป็นกุศลจิตเกิดขึ้นชั่วครู่หนึ่ง ๆ พร้อมกับความรู้เล็กๆน้อยๆเท่านั้น (พระสัทธัมมโชติกะ ๒๕๑๐ : ๕๕ )

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.abhidhamonline.org/
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
mikimiki
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 0
กระทู้: 14


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: มกราคม 12, 2014, 11:22:40 PM »

เยี่ยมคร้าๆ
บันทึกการเข้า

anastaciatry
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 0
กระทู้: 2


ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: เมษายน 24, 2014, 10:25:25 AM »

ดีจังเลยขอแชร์นะค่ะ
บันทึกการเข้า
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: เมษายน 24, 2014, 04:14:25 PM »

ยินดีครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: