KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4ภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 คืออะไร สำคัญอย่างไรธรรมจากพระผู้รู้
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมจากพระผู้รู้  (อ่าน 25568 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2008, 10:21:12 AM »

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากเว็บ http://dungtrin.com/mag

ถาม: วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อยากให้หลวงพ่อเล่าเกี่ยวกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

พระพุทธเจ้าสอนธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกับปัญจวัคคีย์ ยังไม่ได้เป็นพระ
เป็นนักบวช เป็นสมณะนะ ปัญจวัคคีย์
เป็นเทศนากัณฑ์แรกคือ ธรรมจักร
ถ้าเราสังเกตให้ดีเราจะพบความน่าทึ่งของธรรมจักร
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไม่ได้เริ่มต้นด้วยการบอกว่าการปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นทางที่ถูก
ธรรมจักรเริ่มต้นบอกว่าทางปฏิบัติที่ผิดมี ๒ ทาง เริ่มเรียนสิ่งที่ผิดเสียก่อน
พวกเราด้วย หัดรู้จักสิ่งที่ผิดก่อน แล้วมันถูกเอง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรมกัณฑ์แรกไม่ได้บอกเลยว่าการปฏิบัติที่ถูกให้ทำอย่างไร
ท่านกลับบอกว่าสิ่งที่ผิดมี ๒ อย่าง เป็นความสุดโต่ง ๒ ด้าน

ด้านนึงสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค
เวลากิเลสมันครอบงำใจหรือเราตามใจกิเลส เราจะทำอะไรบ้าง
เราจะวิ่งไปดู เราจะวิ่งไปฟัง เราจะวิ่งไปดมกลิ่น
ลิ้มรสสัมผัส เราจะวิ่งไปคิด ทำไปตามที่กิเลสสั่ง
เช่น อยากดูก็เลยวิ่งไปดู ทำไมท่านห้าม ท่านบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ทาง
เมื่อจิตของเราวิ่งไปดู เราจะลืมรูปนามกายใจตนเอง
สังเกตไหมตอนที่เราไปดู เราจะลืมตัวเราเอง ขาดสติเรียบร้อยไปแล้ว หลงไปดู
ถ้าใจเราไปจ่อนิ่งอยู่ที่เดียวนั่นคือการเพ่ง
แต่ถ้าดูดาดๆ เดี๋ยวดูนั่นดูนี่ดูเรื่อยๆ แล้วลืมตัวเองนะ นี่คือการเผลอไป
สิ่งที่ผิดก็มีเผลอกับเพ่ง

การเพ่งสังเกตไหมบางทีเราเริ่มลงมือปฏิบัติใจเราก็จะทื่อๆ
กำหนดแล้วก็แข็งทื่อๆ นั่นเป็นการบังคับตัวเองเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค สุดโต่งอีกข้างหนึ่ง
สุดโต่งมี ๒ ข้าง ข้างตามใจกิเลส วิ่งไปดู วิ่งไปดูลืมตนเอง วิ่งไปฟังก็ลืมตนเอง
เราจะลืมตัวทั้งวันนะ แล้วสังเกตต่อไป นั่งฟังหลวงพ่อพูดนี่ ไม่ได้ฟังอย่างเดียว
แต่ฟังไปคิดไป ดูออกไหม ฟังไปคิดไป ฟังไปคิดไป คิดเยอะกว่าฟังอีก
หัดรู้อย่างนี้นะ ในที่สุดเราจะรู้สภาวะ
จิตของเราหลงไปทางตาเราก็รู้ จิตหลงไปทางหูก็รู้
จิตหลงไปในโลกของความคิด หลงทางใจเราก็รู้
ทันทีที่รู้ว่ามันหลงไปเราจะตื่นขึ้นมาในฉับพลันเลย ไม่ต้องทำอะไรมันตื่นเอง
ขอให้รู้สภาวะลงปัจจุบันได้จะตื่นทันทีเลย เพราะฉะนั้นทางผิดอันแรกเลย
ผิดสุดโต่งเลย ที่อันตรายที่สุดคือหลงไป
หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด นี่หลงทั้งวัน
แล้วคนเราหลงกันทั้งโลก หาคนรู้สึกตัวหายาก
จิตที่หลงๆ เป็นจิตมีโมหะ
เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าคนมีจำนวนน้อย แต่สัตว์มีจำนวนเยอะ
เพราะว่ามีโมหะ ต้องไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ฝูงนึงๆ เยอะ
คนมีจำนวนน้อยเกิดทีละคนสองคน
สัตว์เกิดทีนึงเป็นร้อยเป็นพัน เพราะว่าโมหะมันเยอะ
นี่สุดโต่งอันที่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้ทำ
คือเผลอไปหลงไป ตามใจกิเลส อยากดูวิ่งไปดู ลืมตัวเอง อยากฟังวิ่งไปฟัง ลืมตัวเอง
อยากรู้เรื่องวิ่งไปคิด แล้วก็ลืมตัวเอง มีแต่เรื่องลืมตัวเอง
สุดโต่งอันที่สอง เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค การทำตนเองให้ลำบาก
ทำตนเองให้ลำบากนี้มีหลายดีกรี
แต่ย่อๆ ลงมาก็คือทำกายให้ลำบากกับทำใจให้ลำบาก
ทำกายให้ลำบากก็เช่น ทรมานกายต่างๆ นานา รวมทั้งพวกเราด้วย ทรมานนิดหน่อย
ไปเดินนะเมื่อยจะตายใช่ไหม แต่เราเดินชอปปิงไม่เมื่อย
ไปเดินจงกรมจะเมื่อยรู้สึกไหม เพราะอะไร เพราะเราดัดแปลงท่าเดิน
จำไว้นะการดัดแปลงท่าเดินหรือดัดแปลงอะไรก็ตามเกี่ยวกับกายกับใจเรา
เป็นแค่อุบายเท่านั้น อุบายของอาจารย์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน
อย่างการรู้กาย อาจารย์สอนให้เราค่อยๆ ค่อยๆ ขยับอะไรอย่างนี้
พระพุทธเจ้าสอนง่ายกว่านั้น
พระพุทธเจ้าสอนภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว รู้สึกตัวคือไม่ใจลอยไป
ภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว
กายของเธอมันเป็นอย่างไร มันอยู่ในอาการอย่างไร รู้ว่าอยู่ในอาการอย่างนั้น
กายมันเป็นยังไงรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปแกล้งดัดแปลงอาการทางกาย คนละอันกัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกับสิ่งที่อาจารย์รุ่นหลังๆ ท่านสร้างขึ้นมา ไม่ค่อยตรงกัน
แต่อาจารย์สร้างขึ้นมาเป็นอุบาย
อาจารย์เคยทำอย่างนี้แล้วรู้สึกดีก็เอามาสอนเรา
พวกเราก็เลยไปติดรูปแบบจนกระทั่งละเลยเนื้อหาสาระที่พระพุทธเจ้าสอน

จุดสำคัญจะรู้กายนั้น พระพุทธเจ้าสอนภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว
รู้สึกตัวเป็นไหม มีแต่ลืมตัว รู้สึกตัวไม่ได้แปลว่าเพ่งไว้ด้วย
ของเราพอจะไปรู้ท้องก็เพ่งท้อง รู้มือก็เพ่งมือ รู้ลมหายใจเพ่งลมหายใจ รู้เท้าก็เพ่งเท้า
เพ่งแล้วใจจ่อนิ่งๆ ไว้
จิตใจเป็นของที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแสดงไตรลักษณ์ตลอดเลย
เราไปเพ่งให้มันนิ่งๆ นี้ทรมานใจ
ส่วนกายก็ทรมานกาย ต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ ต้องอดข้าว ต้องนอนบนหนาม
ต้องเดินท่านี้ช้าๆ ต้องขยับท่านี้ อย่างนี้ทรมานทั้งนั้น
รู้อย่างที่เขาเป็นสิ ง่ายๆ
ภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัวในการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด
เหลียวซ้ายแลขวา ครองผ้าจีวรสังฆาฏิ ขยับเขยี้อนอะไรคอยรู้สึก
รู้สึกคือไม่ใจลอยไป ในขณะเดียวกันก็ไม่เพ่งกายด้วย
คำว่า ‘รู้สึก’ ก็คือไม่เผลอไปใจลอยไป ไม่ไปเพ่งมันไว้ด้วย
รู้สึกกาย เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว เห็นมันพยักหน้า
ถ้ารู้สึกถูกต้องมันจะตื่นขึ้นมาเหมือนกับที่รู้ทันว่าจิตไปคิดนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะรู้กายหรือรู้ใจ ถ้ารู้ถูกต้องนะ สติเกิดเหมือนกันเปี๊ยบเลย
ไม่มีนะสายกายสายจิตอะไรนั่นเป็นของหลอกเด็ก
เบื้องต้นบางคนดูกายก่อน ดูกายแล้วก็รู้จิต บางคนดูจิตก่อน ดูจิตแล้วมันก็รู้กาย
รวมความแล้วก็คือรู้ทั้งรูปทั้งนามนั้นแหละ
รู้แล้วเป็นยังไง รู้แล้วก็เห็นความจริงของรูปของนาม
พระพุทธเจ้าท่านเลยสอนบอกว่าสุดโต่ง ๒ ข้างไม่เอา
เผลอไปตามใจกิเลส กับบังคับกดข่มตนเอง

สรุป พระพุทธเจ้าเทศนากัณฑ์แรกสอนอย่าหลงตามกิเลสไป เผลอใจลอยไป
อย่าทำตนเองลำบาก อย่าบังคับกาย อย่าบังคับใจ
ทางสายกลางอยู่ตรงไหน ให้รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ถ้าเมื่อไหร่เราเผลอไป เราจะรู้กายรู้ใจไม่ได้
ถ้าเราเพ่งไว้ กำหนดไว้ ประคองไว้ ควบคุมไว้ เราจะรู้กายรู้ใจที่ไม่ตรงความเป็นจริง
เพราะมันนิ่งผิดความเป็นจริง มันไม่แสดงไตรลักษณ์หรอก
มันทื่อๆ อยู่นั้นแหละ กี่วันก็ทื่อๆ กี่ปีก็ทื่อ
ยิ่งฝึกจนแก่ ยิ่งบังคับเก่ง เพราะรู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา เป็นของบังคับได้
เห็นโน่นไปเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิไป
ต้องระวัง ดูของจริงจะเห็นบังคับไม่ได้

เพราะฉะนั้นการที่รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงนี้แหละ
เรียกว่าการเจริญสติ ทางสายกลางอยู่แค่นี้เอง
เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ถ้าไม่สุดโต่ง ๒ ข้าง
ถ้าเผลอไปเราจะรู้กายรู้ใจไม่ได้ เผลอไปดูก็ลืมกายลืมใจ
เผลอไปคิดก็ลืมกายลืมใจ นี่สุดโต่งข้างหลง
ถ้าเราไปเพ่งเอาไว้ เราก็รู้กายรู้ใจไม่ตรงความเป็นจริง
เพราะหัวใจของหลักวิปัสสนา ให้รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ถ้าเผลอ รู้กายรู้ใจไม่ได้ ถ้าเพ่งเอาไว้ กำหนดเอาไว้ กายกับใจจะนิ่งผิดความเป็นจริง
ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตอนท้ายท่านจะจบธรรมจักรด้วยบทนี้
ท่านบอก จักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้น
อันนี้เป็นสำนวนของหลวงพ่อพุธนะ ไม่ใช่ของหลวงพ่อ
หลวงพ่อพุธท่านเคยเทศน์ให้ฟัง จักขุง อุทะปาทิ ท่านแปลอย่างนี้ไม่เหมือนตำราทีเดียว
ท่านบอกว่ามันเป็นดวงตาภายในเกิดขึ้น สามารถเห็นตัวสภาวะ
เช่น เราเห็นว่าจิตเราวิ่งไปคิดแล้ว เห็นว่าจิตเราไปเพ่ง
เห็นตัวสภาวะ เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม
สิ่งที่เรียกว่าธรรมของท่าน ท่านหมายถึงรูปธรรม
ร่างกายเคลื่อนไหว มีดวงตาเห็น คือมีความรู้สึก รู้สึกถึงรูปที่เคลื่อนไหว
จิตใจเคลื่อนไหว เราก็มีดวงตาเห็น คือรู้สึกถึงจิตใจที่เคลื่อนไหว
ต่อไปเราก็จะเกิด ญาณัง อุทะปาทิ ความหยั่งรู้
เราจะเห็นเลยว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่นั้น
มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่คงที่หรอก
ร่างกายของเราก็ไม่คงที่ จิตใจของเราก็ไม่คงที่
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายนะ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล
เดี๋ยววิ่งไปทางตา วิ่งไปทางหู วิ่งไปทางใจ มีแต่ของเปลี่ยนแปลง
พอหยั่งรู้ตามรู้นานๆ ไปปัญญาจะเกิด
ท่านบอก ปัญญา อุทะปาทิ ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาคือความเข้าใจไตรลักษณ์นั่นเอง
จะเห็นเลยว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
บังคับไม่ได้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ ปัญญาจะเห็นอันนี้
ต่อไป วิชชา อุทะปาทิ คือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์
รู้เลยว่ารูปนามกายใจไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวทุกข์
เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
แต่ถ้าเราเกิดไปอยากไปยึดมาก ใจเราก็จะพลอยทุกข์ไปด้วย เรียกว่ามีวิชชาแล้ว
พอจะเข้าใจอริยสัจจ์นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่แจ้งทีเดียวหรอก
คนที่แจ้งอริยสัจจ์คือพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจยากนะ อริยสัจจ์
เสร็จแล้วท่านบอกว่าตัวสุดท้ายเลย อาโลโก อุทะปาทิ
แสงสว่างเกิดขึ้น นี้เป็นกระบวนการของการเกิดอริยมรรค
ในขณะที่จะเกิดอริยมรรค เราตามรู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจไปตามที่เขาเป็น
ไม่เข้าไปเพ่งไว้ บังคับไว้
ถึงจุดที่กำลังอินทรีย์ของเราแก่กล้าพอแล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ
รวมเองนะ ไม่ต้องน้อมใจรวม ไปรวมของเขาเอง
ถัดจากนั้นจะเกิดสภาวธรรม เกิดดับขึ้นมา
สองขณะหรือสามขณะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน
คนไหนที่ปัญญาแก่กล้าจะเห็นสภาวธรรมเกิดดับขึ้นสองขณะเท่านั้น
คนไหนที่ปัญญาไม่แก่กล้าจะเห็นสามขณะ
ถัดจากนั้น จิตจะเริ่มปล่อยวางการรับรู้ตัวสภาวธรรมที่เกิดดับนั้น
จะเริ่มทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้
เมื่อทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้แล้ว อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มธาตุรู้อยู่จะถูกอริยมรรคทำลายลงไป
มันจะแหวกออกไป เสร็จแล้วแสงสว่างก็จะปรากฏขึ้นจากความไม่มีอะไร
ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ไม่ใช่หลวงพ่อเล่าเองหรอก ในที่สุดแสงสว่างเกิดขึ้นมา
ทำไมมีแสงสว่างเกิดขึ้น
เพราะจริงๆ แล้ว ตัวจิตแท้ๆ ตัวธรรมชาติรู้ล้วนๆ แท้ๆ
ไม่มีรูปลักษณะอะไรที่ให้สำคัญมั่นหมายรู้ได้เลย
เขาก็แสดงความมีอยู่ของเขาขึ้นมา
กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา แล้วก็เป็นความเบิกบานขึ้นมา
หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตยิ้ม ตรงนี้ เพราะฉะนั้นกระบวนการของมันมีนะ
ตรงที่มันประหารแหวกสังโยชน์ออกไปตัดอาสวะขาดลงชั่วคราว
หนึ่งขณะจิตเท่านั้น ไม่มีสองขณะ
ตรงที่เข้าไปรู้นิพพานแท้ๆไม่มีอะไรเลย
สองขณะบ้าง สามขณะบ้าง แต่ละคนไม่เหมือนกัน
ถัดจากนั้นจิตจะถอนออกจากอัปปนาสมาธิ ถอนออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้
แล้วจิตมันจะทวนเลยว่าที่ผ่านมาเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น กิเลสตัวไหนหายไปแล้ว
กิเลสตัวไหนยังอยู่ มันจะทวนกระแสย้อนกลับไปดู มันจะไม่สงสัย
มันจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จบธรรมจักร ท่านจะจบลงตรงนี้
ตรงที่ จักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้น
ญาณัง อุทะปาทิ ญาณคือความหยั่งรู้เกิดขึ้น
ปัญญา อุทะปาทิ ความเข้าใจไตรลักษณ์เกิดขึ้น
วิชชา อุทะปาทิ ความเห็นอริยสัจจ์เกิดขึ้น
อาโลโก อุทะปาทิ แสงสว่างเกิดขึ้น คอยตามรู้ตามดู
เพราะฉะนั้นต้นทางของการปฏิบัติคือรู้สึกตัวบ่อยๆ
ไม่ใช่เพ่ง เพ่งไว้จะไปพรหมโลก

เทศน์ที่สวนโพธิญาณอรัญญวาสี เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ขอขอบพระคุณ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ขอขอบพระคุณhttp://dungtrin.com/mag/
golfreeze[at]packetlove.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 08, 2008, 02:00:13 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2008, 10:32:52 AM »

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากเว็บ : http://dungtrin.com/mag

ถาม: เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดถึงการเจริญสติ สติคืออะไร แล้วจะทำยังไงให้สติเกิดขึ้นมา

คือส่วนมากพวกเราคิดว่า ทำยังไงสติจะเกิดขึ้นมา
สติ สัมมาสติเป็นเครื่องระลึกรู้รูปนาม
ถ้าสติทั่วๆ ไปจะเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์ฝ่ายกุศลทั่วๆไป
แต่สัมมาสติจะต้องรู้รูปนาม
อย่างถ้าเราไปเพ่ง เพ่งท้อง เพ่งมือ เพ่งเท้า ยังไม่ใช่การรู้รูปนาม
เป็นแค่การเพ่งเอาไว้ จิตใจก็สงบสุขอะไรอย่างนี้ ได้สมถะ ก็เป็นสติธรรมดา

สัมมาสติ ถามว่าแล้วสติคืออะไร
สตินี้ในพระไตรปิฎก ท่านบอกว่าความระลึกได้
ความระลึกได้ถึงกาย ความระลึกได้ถึงจิตใจ
พวกเรารุ่นหลัง เริ่มไปแปลสติว่ากำหนด
ระลึกรู้นี้ไม่ได้จงใจระลึก แต่กำหนดนี้จงใจกำหนด มีความต่างกัน
อรรถกถามหาสติปัฏฐานท่านเคยสอนไว้เมื่อปี ๑๖๐๐ เกือบพันปีมาแล้วที่ท่านเขียนตำรานี้ไว้
ท่านบอกว่าสติอันกำหนดรู้รูปนามเป็นอารมณ์ เป็นตัวทุกข์
ตัณหาคือความอยากปฏิบัติอยู่เบื้องหลังการเอาสติไปกำหนดรูปนาม อันนี้เป็นตัวสมุทัย
เพราะฉะนั้นสติจริงๆไม่ได้แปลว่ากำหนด
ลักษณะของสติคือความไม่เลื่อนลอย
ใจของเราเลื่อนลอย เลื่อนลอยไปทางตา เลื่อนลอยไปทางหู เลื่อนลอยไปในโลกของความคิด
ใจเราเลื่อนลอยทั้งวัน ถามว่ารู้จักไหม
เลื่อนลอยไปทางตา เช่น เราเห็นคนเดินมา พอเราไปดูเขา
ใจเราวิ่งไปอยู่ที่เขาแล้ว เราลืมกายลืมใจตัวเอง
เมื่อไหร่เราลืมกายลืมใจตัวเอง เมื่อนั้นเรียกว่าเราขาดสติแล้ว ขาดสัมมาสติแล้ว
พอเราเห็นคนเดินมา เราไปดูเขาปุ๊บ ใจเราหลงไปอยู่ที่เขา ลืมตัวเอง
นั่งคนเดียวคิดไป เคยไหม คิดไปชั่วโมงนึงไม่รู้ว่าคิดอะไร
อันนี้หลงสุดขีดเลย คิดอะไรยังไม่รู้เลย หลงคิด
หลงทางใจที่รองลงมาคือ รู้เรื่องที่คิด ขณะที่เรารู้เรื่องที่คิด เราจะลืมกายลืมใจตัวเอง
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เราคิด ขณะนั้นไม่รู้หรอก
เพราะธรรมชาติของจิตทำงานได้ครั้งละอย่างเดียว
คือรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว
ถ้าเขาไปรู้สมมติบัญญัติ คือไปรู้เรื่องที่เขาคิดเสียแล้ว เขาจะรู้รูปนามไม่ได้
ดังนั้นฝากพวกเราหัดให้ดี

อย่างสมมติว่าความโกรธเกิดขึ้น เราโกรธหนอขึ้นมา เราตรึกแล้ว เราคิดแล้ว
โอกาสที่เราจะพลาดออกจากอารมณ์ปรมัตถ์จะสูงมากเลย
แต่ถ้าครูบาอาจารย์สอนโกรธแล้วโกรธหนอเพื่ออะไร
เพื่อเตือนตัวเองให้รู้ว่าสภาวะของความโกรธกำลังปรากฏอยู่ อย่างนี้ใช้ได้
เพราะฉะนั้นต้องทำให้ถูก ไม่ใช่ทำโกรธหนอเพื่อทำให้หายโกรธ
ฟุ้งซ่านขึ้นมา ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ เพื่อจะให้หายฟุ้งซ่าน
นี่หลักของสมถะล่ะ บริกรรมเข้าไป บริกรรมเข้าไป
แต่ถ้าความโกรธเกิดขึ้น สติระลึกรู้ความโกรธ ไม่ต้องบริกรรมดีที่สุดเลย
แต่หัดใหม่ๆ ครูบาอาจารย์หาเครื่องมือมาช่วยให้บริกรรมช่วย
โกรธขึ้นมาก็ โกรธหนอ เพื่อเตือนตัวเองให้รู้สภาวะ
จะเห็นเลยความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่างนี้ใช้ได้ แต่ต่อไปมันจะเลิกบริกรรม
เพราะการบริกรรมนั้น จิตมัวทำหน้าที่คิด จิตจะไม่ทำหน้าที่รู้หรอก ดังนั้นจะตกจากสภาวะ
แต่เบื้องต้นหัดอย่างนี้ก่อนก็ได้

เพราะฉะนั้นสติตัวจริงนี้ สติคือความระลึกได้
ลักษณะของสติที่พระอภิธรรมสอนคือความไม่เลื่อนลอย
สติมีความไม่เลื่อนลอยเป็นลักษณะ
สติไม่ใช่มีการเพ่งเอาไว้เป็นลักษณะ
กำหนดจดจ้องเอาไว้ไม่ใช่ลักษณะของสติ
แค่ไม่เลื่อนลอยเท่านั้นเอง
แต่การไปจงใจเข้าไปจับให้แน่นๆ มันทำด้วยโลภะแล้ว ท่านบอกว่ามีตัณหาอยู่เบื้องหลัง
อยากปฏิบัติก็ลงมือกำหนดลงไป ใจจะแข็งทื่อๆขึ้นมา ใจจะทื่อๆไปเรื่อย
บางคนคอเคล็ดเลย คอก็แข็ง ตัวก็แข็ง ใจก็แข็ง แข็งไปหมด นี่มันไม่ใช่หรอก
สติตัวแท้คือความไม่เลื่อนลอย ใจของเรามีปกติเลื่อนลอย
ในโลกนี้ไม่มีคนรู้สึกตัวหรอก ในโลกนี้มีแต่คนหลงคนเลื่อนลอย
เดี๋ยวก็ลอยไปดู เดี๋ยวก็ลอยไปฟัง เดี๋ยวลอยไปคิด
เมื่อไหร่เรารู้สภาวะตรงปัจจุบันตรงความจริงเราจะตื่นขึ้นมาในฉับพลัน
หลุดออกจากโลกของความคิด
ให้รู้ทันสภาวะ ไม่อย่างนั้นเราจะพูดแต่เรื่องรูปเรื่องนามกัน
เราไม่เคยเห็นรูปนามของจริงหรอก รูปเราไปเห็นอะไร เราไปเห็นอวัยวะ
อวัยวะไม่ใช่รูป ดูท้อง ดูมือ ดูเท้า ดูลมหายใจ ไม่ใช่รูปหรอก
เป็นอาการ ๓๒ อะไรพวกนั้น เป็นเรื่องของสมถะ
รูปคืออะไร รูปคือธาตุดินน้ำไฟลม ดูยากจะตายไป
หรือวิญญัติรูป รูปเคลื่อนไหว เห็นตัวที่ไหวนั้น ไม่ใช่ตัวเราหรอก
แต่สิ่งที่ใจไปรู้เข้า ตัวนี้มันพยักหน้าอย่างนี้ เห็นใจไปรู้เข้า รูปจริงๆดูยาก
ถ้าจิตไม่มีสมาธิพอมักจะไม่เห็นรูป เห็นแต่อวัยวะ
ส่วนนามธรรมดูง่ายๆ ความรู้สึกอะไรผุดขึ้นมารู้ไปเลย แต่อย่าไปบริกรรมใส่มัน
เบื้องต้นหัดบริกรรมไม่เป็นไรหรอก แต่ว่าเบื้องปลายก็ต้องปล่อย
เพราะเมื่อไหร่เราไปบริกรรมเราไปทำงานเพิ่มหลังจากการรู้ จิตจะตกจากการรู้
จิตรู้ไปกับ จิตคิดไปมันคนละดวงกัน
เราต้องเห็นสภาวะ ใจไปคิด ใจไหลไปแวบ เราไม่เห็นสภาวะที่จิตมันหลงไป
เรียกว่าเราหลงแล้ว เราไม่รู้ตัวแล้ว
เพราะฉะนั้นสติตัวจริงในโลกนี้ไม่มีหรอก ในโลกนี้มีแต่คนหลง

ถ้าคนไม่เคยฟังธรรมของพระพุทธเจ้า สติตัวแท้ไม่เกิด
แล้วอะไรทำให้สติเกิด ไม่ใช่การกำหนดทำให้สติเกิดนะ
พวกเราชอบคิดว่ากำหนดทำให้สติเกิด
พระอภิธรรมสอนชัดๆ เลย การที่จิตจำสภาวธรรมได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้สติเกิด
คนละเรื่องกับที่เรานึก
การจำสภาวะได้แม่น เช่น เราจำได้ว่าความเผลอเป็นยังไง ใจลอยเป็นยังไง
พอใจเราลอยแวบไป สติจะระลึกขึ้นเองว่า อ้อ ใจลอยแล้ว สติเกิดเอง
ใจเราจะตื่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ใจเราจะเกิดความสงบ สะอาด สว่างขึ้นในฉับพลันนั้นเลย ไม่ต้องไปแกล้งทำอะไรหรอก
จิตโดยธรรมชาติมันประภัสสรอยู่แล้ว เราไปทำมันให้วุ่นวายขึ้นมาเอง
เผลอไป ไม่ได้เจตนาจะเผลอ รู้สึกตัวขึ้นมา ไม่ได้เจตนาจะรู้สึก
แต่ว่าจิตมันจำได้ จิตมันจำได้ว่าเผลอเป็นยังไง พอเผลอปุ๊บสติเกิดเอง จะตื่นขึ้นมารู้สึกตัว
แต่รู้สึกตัวได้แวบเดียว อยู่ได้พอได้ขณิกสมาธิแวบเดียวก็จะดับ
เพราะฉะนั้นจิตอกุศลเผลอไป เกิดแล้วก็ดับ จิตที่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเป็นกุศล เกิดแล้วก็ดับ
ไม่มีอะไรเลยที่เกิดแล้วไม่ดับ

หน้าที่ของเราไม่ใช่ทำอะไร หน้าที่ของเรารู้ทันจิตมันไปทำอะไร
หน้าที่รู้ทันมันเท่านั้น รู้ทันว่าจิตแอบไปทำอะไร
ไม่ใช่ไปทำมันเสียเอง ไม่อย่างนั้นเราจะเห็นสภาวะไม่ได้
ถ้าเห็นสภาวะไม่ได้ไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา ไม่มีหรอก
วิปัสสนาต้องเห็นสภาวะจริงๆ
สติเป็นความระลึกได้ มันเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้
เช่น มันจำได้ว่าเผลอเป็นยังไง พอมันเผลอปั๊บ สติจะเกิดเอง
มันจำได้ว่าโกรธเป็นยังไง พอมันโกรธปั๊บ สติจะเกิดเอง
มันจะรู้ขึ้นเองว่าโกรธไปแล้ว ว่าโกรธไปแล้วนะ ว่าเผลอไปแล้วนะ
สติเกิดทีหลัง หลงไปก่อน เผลอไปก่อน โกรธไปก่อนนะ โลภไปก่อน แล้วสติก็จะเกิดทีหลัง
ต้องตามรู้นะ เรียกว่าจิตตานุปัสสนา
การตามรู้จิตไม่ใช่ไปรู้ลงปัจจุบัน
เป็นการตามรู้ล้วนๆ เลย
เรื่องที่คิดน่ะไม่มีประโยชน์อะไรเลย คือสมมติบัญญัติล้วนๆ เลย
การที่รู้ทันว่าจิตมีอาการคิดเห็นอารมณ์ปรมัตถ์

สติคือความไม่เลื่อนลอย สติมีการจำสภาวธรรมได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เมื่อสติเกิดแล้ว สติทำหน้าที่อารักขา
อารักขาหมายถึงหน้าที่คุ้มครองจิต
สติจะเป็นผู้คุ้มครองจิต คุ้มครองของเขาเอง
สติเกิดขึ้นเพราะว่าจิตจำสภาวะได้ พอจิตจำสภาวะได้ มีสติปุ๊บสติจะคุ้มครองจิต
เช่น กำลังเผลอๆ อยู่ สติระลึกได้ว่าเมื่อกี้เผลอไปแล้ว จิตมันจะตื่นขึ้นมาปั๊บ
ความเผลอจะดับไปทันที เกิดกุศลจิตแทน อกุศลจิตดับไปแล้ว
สติมันจะรักษาจิตอย่างนี้เอง
ทันทีที่ตัวมันเกิด อกุศลจะดับทันที กุศลจะเกิดขึ้นทันทีเลย นี่การอารักขาของเขา
ไม่ใช่ไปนั่งเฝ้า อารักขาไม่ใช่เฝ้ายาม
อารักขาคือทันทีที่สติดีดผางขึ้นมา อกุศลกระเด็นออกไปเลยนะ จิตใจจะไม่ตกไปสู่อารมณ์ที่ชั่ว

พวกเราชอบอารักขาด้วยการนั่งเฝ้าแบบพวกแขกยามหรือทหารยาม ซึ่งยิ่งร้ายกว่าแขกยาม
แขกยามยังมีหลับบ้าง ทหารยามยืนตัวแข็ง เหนื่อยจะตายไป
ทำกรรมฐานอย่าทำแบบนั้น อย่าแบบนั่งเฝ้าไว้จนแข็งๆ ทื่อๆ
รู้ไปเล่นๆ รู้ไปสบายๆ อะไรเกิดขึ้นแล้วก็คอยรู้เอา
ที่ฝึกกันมาส่วนใหญ่จะพลาดตรงนี้แหละ
คือท่านไม่ได้บอกให้ดักรู้ ท่านบอกให้ตามรู้
ดักรู้คือไปเฝ้าไว้รอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ส่วนตามรู้มันเกิดขึ้นก่อนแล้วก็ค่อยรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ไม่เหมือนกันนะ
เพราะฉะนั้นจิตตานุปัสสนาแปลว่าการตามรู้จิต
ปัสสนาแปลว่าการรู้ อนุแปลว่าตาม
ตามรู้จิตเนืองๆ ตามรู้เวทนาเนืองๆ ตามรู้ร่างกายเนืองๆ
ตามรู้นะ ไม่ใช่ไปจ้องเอาไว้

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถาม: เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติผิดหรือเพ่งไปแล้ว

ถ้าเมื่อไหร่ที่ปฏิบัติแล้วหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ ต้องรู้นะว่าทำผิดแล้ว
เพราะว่าจิตที่เป็นมหากุศลจิตจะเบา
จิตที่เป็นมหากุศลจิตจะอ่อนโยนนุ่มนวล
จิตที่เป็นมหากุศลจิตจะปราดเปรียว ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ
ถ้าของเราเวลาปฏิบัติรู้สึกไหม มันจะทำให้ซึมๆ ทื่อๆ นั่นอกุศลจิตนะ ต้องระวัง
พวกเราเวลาเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าเรียนข้ามไปหนึ่งขั้น
บทเรียนมีสามบท ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา
เราไม่เรียนจิตสิกขา เราอยู่ๆ ก็รักษาศีลแล้วก็มากำหนดรูปนาม
เราข้ามไปหนึ่งบทเรียน
บทเรียนจิตสิกขาต้องเรียนจนรู้จักลักษณะของจิต
จิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล
จิตชนิดไหนเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
จิตชนิดไหนเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
จิตแบบไหนเอาไว้ทำสมถะ
จิตแบบไหนเอาไว้ทำวิปัสสนา ต้องรู้จัก
ใจลอยคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง
เพ่งเอาไว้ กำหนดเอาไว้ ประคองเอาไว้ รักษาเอาไว้ คือศัตรูหมายเลขสอง

ขอขอบพระคุณ หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช
และั
ขอบขอบคุณ เว็บคุณ http://dungtrin.com/mag/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 08, 2008, 02:01:06 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
soodtong1234
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 0
กระทู้: 2

soodtong1234@hotmail.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 08, 2012, 08:22:24 PM »

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า

golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2012, 02:00:35 PM »

ยินดีครับท่าน godone108
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: