พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
จากเว็บ
http://dungtrin.com/mag ถาม: วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อยากให้หลวงพ่อเล่าเกี่ยวกับธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าสอนธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกับปัญจวัคคีย์ ยังไม่ได้เป็นพระ
เป็นนักบวช เป็นสมณะนะ ปัญจวัคคีย์
เป็นเทศนากัณฑ์แรกคือ ธรรมจักร
ถ้าเราสังเกตให้ดีเราจะพบความน่าทึ่งของธรรมจักร
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไม่ได้เริ่มต้นด้วยการบอกว่าการปฏิบัติอย่างไรถึงจะเป็นทางที่ถูก
ธรรมจักรเริ่มต้นบอกว่าทางปฏิบัติที่ผิดมี ๒ ทาง เริ่มเรียนสิ่งที่ผิดเสียก่อน
พวกเราด้วย หัดรู้จักสิ่งที่ผิดก่อน แล้วมันถูกเอง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรมกัณฑ์แรกไม่ได้บอกเลยว่าการปฏิบัติที่ถูกให้ทำอย่างไร
ท่านกลับบอกว่าสิ่งที่ผิดมี ๒ อย่าง เป็นความสุดโต่ง ๒ ด้าน
ด้านนึงสุดโต่งในข้างตามใจกิเลส เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค
เวลากิเลสมันครอบงำใจหรือเราตามใจกิเลส เราจะทำอะไรบ้าง
เราจะวิ่งไปดู เราจะวิ่งไปฟัง เราจะวิ่งไปดมกลิ่น
ลิ้มรสสัมผัส เราจะวิ่งไปคิด ทำไปตามที่กิเลสสั่ง
เช่น อยากดูก็เลยวิ่งไปดู ทำไมท่านห้าม ท่านบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ทาง
เมื่อจิตของเราวิ่งไปดู เราจะลืมรูปนามกายใจตนเอง
สังเกตไหมตอนที่เราไปดู เราจะลืมตัวเราเอง ขาดสติเรียบร้อยไปแล้ว หลงไปดู
ถ้าใจเราไปจ่อนิ่งอยู่ที่เดียวนั่นคือการเพ่ง
แต่ถ้าดูดาดๆ เดี๋ยวดูนั่นดูนี่ดูเรื่อยๆ แล้วลืมตัวเองนะ นี่คือการเผลอไป
สิ่งที่ผิดก็มีเผลอกับเพ่ง
การเพ่งสังเกตไหมบางทีเราเริ่มลงมือปฏิบัติใจเราก็จะทื่อๆ
กำหนดแล้วก็แข็งทื่อๆ นั่นเป็นการบังคับตัวเองเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค สุดโต่งอีกข้างหนึ่ง
สุดโต่งมี ๒ ข้าง ข้างตามใจกิเลส วิ่งไปดู วิ่งไปดูลืมตนเอง วิ่งไปฟังก็ลืมตนเอง
เราจะลืมตัวทั้งวันนะ แล้วสังเกตต่อไป นั่งฟังหลวงพ่อพูดนี่ ไม่ได้ฟังอย่างเดียว
แต่ฟังไปคิดไป ดูออกไหม ฟังไปคิดไป ฟังไปคิดไป คิดเยอะกว่าฟังอีก
หัดรู้อย่างนี้นะ ในที่สุดเราจะรู้สภาวะ
จิตของเราหลงไปทางตาเราก็รู้ จิตหลงไปทางหูก็รู้
จิตหลงไปในโลกของความคิด หลงทางใจเราก็รู้
ทันทีที่รู้ว่ามันหลงไปเราจะตื่นขึ้นมาในฉับพลันเลย ไม่ต้องทำอะไรมันตื่นเอง
ขอให้รู้สภาวะลงปัจจุบันได้จะตื่นทันทีเลย เพราะฉะนั้นทางผิดอันแรกเลย
ผิดสุดโต่งเลย ที่อันตรายที่สุดคือหลงไป
หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด นี่หลงทั้งวัน
แล้วคนเราหลงกันทั้งโลก หาคนรู้สึกตัวหายาก
จิตที่หลงๆ เป็นจิตมีโมหะ
เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าคนมีจำนวนน้อย แต่สัตว์มีจำนวนเยอะ
เพราะว่ามีโมหะ ต้องไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ฝูงนึงๆ เยอะ
คนมีจำนวนน้อยเกิดทีละคนสองคน
สัตว์เกิดทีนึงเป็นร้อยเป็นพัน เพราะว่าโมหะมันเยอะ
นี่สุดโต่งอันที่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้ทำ
คือเผลอไปหลงไป ตามใจกิเลส อยากดูวิ่งไปดู ลืมตัวเอง อยากฟังวิ่งไปฟัง ลืมตัวเอง
อยากรู้เรื่องวิ่งไปคิด แล้วก็ลืมตัวเอง มีแต่เรื่องลืมตัวเอง
สุดโต่งอันที่สอง เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค การทำตนเองให้ลำบาก
ทำตนเองให้ลำบากนี้มีหลายดีกรี
แต่ย่อๆ ลงมาก็คือทำกายให้ลำบากกับทำใจให้ลำบาก
ทำกายให้ลำบากก็เช่น ทรมานกายต่างๆ นานา รวมทั้งพวกเราด้วย ทรมานนิดหน่อย
ไปเดินนะเมื่อยจะตายใช่ไหม แต่เราเดินชอปปิงไม่เมื่อย
ไปเดินจงกรมจะเมื่อยรู้สึกไหม เพราะอะไร เพราะเราดัดแปลงท่าเดิน
จำไว้นะการดัดแปลงท่าเดินหรือดัดแปลงอะไรก็ตามเกี่ยวกับกายกับใจเรา
เป็นแค่อุบายเท่านั้น อุบายของอาจารย์ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน
อย่างการรู้กาย อาจารย์สอนให้เราค่อยๆ ค่อยๆ ขยับอะไรอย่างนี้
พระพุทธเจ้าสอนง่ายกว่านั้น
พระพุทธเจ้าสอนภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว รู้สึกตัวคือไม่ใจลอยไป
ภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว
กายของเธอมันเป็นอย่างไร มันอยู่ในอาการอย่างไร รู้ว่าอยู่ในอาการอย่างนั้น
กายมันเป็นยังไงรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปแกล้งดัดแปลงอาการทางกาย คนละอันกัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกับสิ่งที่อาจารย์รุ่นหลังๆ ท่านสร้างขึ้นมา ไม่ค่อยตรงกัน
แต่อาจารย์สร้างขึ้นมาเป็นอุบาย
อาจารย์เคยทำอย่างนี้แล้วรู้สึกดีก็เอามาสอนเรา
พวกเราก็เลยไปติดรูปแบบจนกระทั่งละเลยเนื้อหาสาระที่พระพุทธเจ้าสอน
จุดสำคัญจะรู้กายนั้น พระพุทธเจ้าสอนภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัว
รู้สึกตัวเป็นไหม มีแต่ลืมตัว รู้สึกตัวไม่ได้แปลว่าเพ่งไว้ด้วย
ของเราพอจะไปรู้ท้องก็เพ่งท้อง รู้มือก็เพ่งมือ รู้ลมหายใจเพ่งลมหายใจ รู้เท้าก็เพ่งเท้า
เพ่งแล้วใจจ่อนิ่งๆ ไว้
จิตใจเป็นของที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแสดงไตรลักษณ์ตลอดเลย
เราไปเพ่งให้มันนิ่งๆ นี้ทรมานใจ
ส่วนกายก็ทรมานกาย ต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ ต้องอดข้าว ต้องนอนบนหนาม
ต้องเดินท่านี้ช้าๆ ต้องขยับท่านี้ อย่างนี้ทรมานทั้งนั้น
รู้อย่างที่เขาเป็นสิ ง่ายๆ
ภิกษุทั้งหลายให้เธอมีความรู้สึกตัวในการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด
เหลียวซ้ายแลขวา ครองผ้าจีวรสังฆาฏิ ขยับเขยี้อนอะไรคอยรู้สึก
รู้สึกคือไม่ใจลอยไป ในขณะเดียวกันก็ไม่เพ่งกายด้วย
คำว่า ‘รู้สึก’ ก็คือไม่เผลอไปใจลอยไป ไม่ไปเพ่งมันไว้ด้วย
รู้สึกกาย เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว เห็นมันพยักหน้า
ถ้ารู้สึกถูกต้องมันจะตื่นขึ้นมาเหมือนกับที่รู้ทันว่าจิตไปคิดนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะรู้กายหรือรู้ใจ ถ้ารู้ถูกต้องนะ สติเกิดเหมือนกันเปี๊ยบเลย
ไม่มีนะสายกายสายจิตอะไรนั่นเป็นของหลอกเด็ก
เบื้องต้นบางคนดูกายก่อน ดูกายแล้วก็รู้จิต บางคนดูจิตก่อน ดูจิตแล้วมันก็รู้กาย
รวมความแล้วก็คือรู้ทั้งรูปทั้งนามนั้นแหละ
รู้แล้วเป็นยังไง รู้แล้วก็เห็นความจริงของรูปของนาม
พระพุทธเจ้าท่านเลยสอนบอกว่าสุดโต่ง ๒ ข้างไม่เอา
เผลอไปตามใจกิเลส กับบังคับกดข่มตนเอง
สรุป พระพุทธเจ้าเทศนากัณฑ์แรกสอนอย่าหลงตามกิเลสไป เผลอใจลอยไป
อย่าทำตนเองลำบาก อย่าบังคับกาย อย่าบังคับใจ
ทางสายกลางอยู่ตรงไหน ให้รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ถ้าเมื่อไหร่เราเผลอไป เราจะรู้กายรู้ใจไม่ได้
ถ้าเราเพ่งไว้ กำหนดไว้ ประคองไว้ ควบคุมไว้ เราจะรู้กายรู้ใจที่ไม่ตรงความเป็นจริง
เพราะมันนิ่งผิดความเป็นจริง มันไม่แสดงไตรลักษณ์หรอก
มันทื่อๆ อยู่นั้นแหละ กี่วันก็ทื่อๆ กี่ปีก็ทื่อ
ยิ่งฝึกจนแก่ ยิ่งบังคับเก่ง เพราะรู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา เป็นของบังคับได้
เห็นโน่นไปเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิไป
ต้องระวัง ดูของจริงจะเห็นบังคับไม่ได้
เพราะฉะนั้นการที่รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงนี้แหละ
เรียกว่าการเจริญสติ ทางสายกลางอยู่แค่นี้เอง
เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ถ้าไม่สุดโต่ง ๒ ข้าง
ถ้าเผลอไปเราจะรู้กายรู้ใจไม่ได้ เผลอไปดูก็ลืมกายลืมใจ
เผลอไปคิดก็ลืมกายลืมใจ นี่สุดโต่งข้างหลง
ถ้าเราไปเพ่งเอาไว้ เราก็รู้กายรู้ใจไม่ตรงความเป็นจริง
เพราะหัวใจของหลักวิปัสสนา ให้รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ถ้าเผลอ รู้กายรู้ใจไม่ได้ ถ้าเพ่งเอาไว้ กำหนดเอาไว้ กายกับใจจะนิ่งผิดความเป็นจริง
ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตอนท้ายท่านจะจบธรรมจักรด้วยบทนี้
ท่านบอก จักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้น
อันนี้เป็นสำนวนของหลวงพ่อพุธนะ ไม่ใช่ของหลวงพ่อ
หลวงพ่อพุธท่านเคยเทศน์ให้ฟัง จักขุง อุทะปาทิ ท่านแปลอย่างนี้ไม่เหมือนตำราทีเดียว
ท่านบอกว่ามันเป็นดวงตาภายในเกิดขึ้น สามารถเห็นตัวสภาวะ
เช่น เราเห็นว่าจิตเราวิ่งไปคิดแล้ว เห็นว่าจิตเราไปเพ่ง
เห็นตัวสภาวะ เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม
สิ่งที่เรียกว่าธรรมของท่าน ท่านหมายถึงรูปธรรม
ร่างกายเคลื่อนไหว มีดวงตาเห็น คือมีความรู้สึก รู้สึกถึงรูปที่เคลื่อนไหว
จิตใจเคลื่อนไหว เราก็มีดวงตาเห็น คือรู้สึกถึงจิตใจที่เคลื่อนไหว
ต่อไปเราก็จะเกิด ญาณัง อุทะปาทิ ความหยั่งรู้
เราจะเห็นเลยว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่นั้น
มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่คงที่หรอก
ร่างกายของเราก็ไม่คงที่ จิตใจของเราก็ไม่คงที่
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายนะ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล
เดี๋ยววิ่งไปทางตา วิ่งไปทางหู วิ่งไปทางใจ มีแต่ของเปลี่ยนแปลง
พอหยั่งรู้ตามรู้นานๆ ไปปัญญาจะเกิด
ท่านบอก ปัญญา อุทะปาทิ ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาคือความเข้าใจไตรลักษณ์นั่นเอง
จะเห็นเลยว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
บังคับไม่ได้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ ปัญญาจะเห็นอันนี้
ต่อไป วิชชา อุทะปาทิ คือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์
รู้เลยว่ารูปนามกายใจไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวทุกข์
เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
แต่ถ้าเราเกิดไปอยากไปยึดมาก ใจเราก็จะพลอยทุกข์ไปด้วย เรียกว่ามีวิชชาแล้ว
พอจะเข้าใจอริยสัจจ์นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่แจ้งทีเดียวหรอก
คนที่แจ้งอริยสัจจ์คือพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจยากนะ อริยสัจจ์
เสร็จแล้วท่านบอกว่าตัวสุดท้ายเลย อาโลโก อุทะปาทิ
แสงสว่างเกิดขึ้น นี้เป็นกระบวนการของการเกิดอริยมรรค
ในขณะที่จะเกิดอริยมรรค เราตามรู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจไปตามที่เขาเป็น
ไม่เข้าไปเพ่งไว้ บังคับไว้
ถึงจุดที่กำลังอินทรีย์ของเราแก่กล้าพอแล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ
รวมเองนะ ไม่ต้องน้อมใจรวม ไปรวมของเขาเอง
ถัดจากนั้นจะเกิดสภาวธรรม เกิดดับขึ้นมา
สองขณะหรือสามขณะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน
คนไหนที่ปัญญาแก่กล้าจะเห็นสภาวธรรมเกิดดับขึ้นสองขณะเท่านั้น
คนไหนที่ปัญญาไม่แก่กล้าจะเห็นสามขณะ
ถัดจากนั้น จิตจะเริ่มปล่อยวางการรับรู้ตัวสภาวธรรมที่เกิดดับนั้น
จะเริ่มทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้
เมื่อทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้แล้ว อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มธาตุรู้อยู่จะถูกอริยมรรคทำลายลงไป
มันจะแหวกออกไป เสร็จแล้วแสงสว่างก็จะปรากฏขึ้นจากความไม่มีอะไร
ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ไม่ใช่หลวงพ่อเล่าเองหรอก ในที่สุดแสงสว่างเกิดขึ้นมา
ทำไมมีแสงสว่างเกิดขึ้น
เพราะจริงๆ แล้ว ตัวจิตแท้ๆ ตัวธรรมชาติรู้ล้วนๆ แท้ๆ
ไม่มีรูปลักษณะอะไรที่ให้สำคัญมั่นหมายรู้ได้เลย
เขาก็แสดงความมีอยู่ของเขาขึ้นมา
กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา แล้วก็เป็นความเบิกบานขึ้นมา
หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตยิ้ม ตรงนี้ เพราะฉะนั้นกระบวนการของมันมีนะ
ตรงที่มันประหารแหวกสังโยชน์ออกไปตัดอาสวะขาดลงชั่วคราว
หนึ่งขณะจิตเท่านั้น ไม่มีสองขณะ
ตรงที่เข้าไปรู้นิพพานแท้ๆไม่มีอะไรเลย
สองขณะบ้าง สามขณะบ้าง แต่ละคนไม่เหมือนกัน
ถัดจากนั้นจิตจะถอนออกจากอัปปนาสมาธิ ถอนออกมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้
แล้วจิตมันจะทวนเลยว่าที่ผ่านมาเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น กิเลสตัวไหนหายไปแล้ว
กิเลสตัวไหนยังอยู่ มันจะทวนกระแสย้อนกลับไปดู มันจะไม่สงสัย
มันจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จบธรรมจักร ท่านจะจบลงตรงนี้
ตรงที่ จักขุง อุทะปาทิ ดวงตาเกิดขึ้น
ญาณัง อุทะปาทิ ญาณคือความหยั่งรู้เกิดขึ้น
ปัญญา อุทะปาทิ ความเข้าใจไตรลักษณ์เกิดขึ้น
วิชชา อุทะปาทิ ความเห็นอริยสัจจ์เกิดขึ้น
อาโลโก อุทะปาทิ แสงสว่างเกิดขึ้น คอยตามรู้ตามดู
เพราะฉะนั้นต้นทางของการปฏิบัติคือรู้สึกตัวบ่อยๆ
ไม่ใช่เพ่ง เพ่งไว้จะไปพรหมโลก
เทศน์ที่สวนโพธิญาณอรัญญวาสี เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘
ขอขอบพระคุณ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ขอขอบพระคุณ
http://dungtrin.com/mag/ golfreeze[at]packetlove.com