วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง"
พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ขั้นแรกให้สร้างเจดีย์สูง ๒๓ วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ ของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีกสองปีจึงสร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฎิสงฆ์เรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลี" ต่อมาบริเวณหน้าวัดมีตลาดเกิดขึ้นชาวบ้านเรียกว่า "ตลาดลีเชียง" แล้วเรียกวัดว่า "วัดลีเชียง" และ "วัดลีเชียงพระ" ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๔ สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาถึงหน้าวัดลีเชียงก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐาน ณ วัดลีเชียง ประชาชนทางเหนือนิยมเรียก"พระพุทธสิหิงค์" สั้นๆ ว่า "พระสิงห์" จึงเรียกชื่อวัดตามพระพุทธรูปว่า "วัดพระสิงห์"
พระอุโบสถ
เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๔ พระเจ้ากาวิละได้ โปรดฯ ให้สร้างอุโบสถ และหอไตรขึ้น โดยมีลักษณะเป็นอาคารทรงล้านนาขนาดใหญ่ ตรงกลางอาคารมีกู่ซึ่งแต่เดิมคงเป็นสถานที่ที่ประดิษฐานพระประธาน
* พระมหาเถรโพธิรังสีชาวหิริภุญไชย รจนาภาษาบาลีไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ พระเจ้าสีหฬะแห่งลังกาทวีป ได้โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งเรียกว่า "พระพุทธสิหิงค์" แต่ในชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า"สีหฬะปฏิมา" ตามนามกษัตริย์ผู้สร้าง
* พ.ศ. ๑๘๓๙ - กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช ได้แต่งทูตไปขอคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์อีกองค์หนึ่ง(ศิลปะลังกา)กลับมาด้วย ภายหลังมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ตีกรุงสุโขทัยได้ หลายสิบปีต่อมาพญาไสลือไทยได้อัญเชิญมาไว้ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพญาไสลือไทยสิ้นพระชนม์ จึงอัญเชิญมาที่กรุงศรีอยุธยา
* พ.ศ. ๑๙๒๗ - พระญาณดิศ เชื้อวงศ์พระร่วงได้กราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขออัญเชิญมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร
* พ.ศ. ๑๙๓๔ - เจ้ามหาพรหม พระปิตุลาของเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเชียงราย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏ วัดที่ประดิษฐานพระพุทธสิงหิงค์อีกแห่งหนึ่ง ที่เมืองเชียงรายมีชื่อว่า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย และโปรดให้หล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมถึงแก่พิราลัยแล้ว พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ในนครเชียงใหม่ เช่นเดิม
* พ.ศ. ๒๐๘๔ - พระไชยเชษฐากษัตริย์ล้านช้างเชื้อ สายล้านนา ทรงนำพระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปจากเชียงใหม่หลายองค์ไปไว้ที่ล้านช้าง(หลวงพระบาง) เมื่อทางเชียงใหม่ทวงถามจึงทรงคืนพระพุทธสิหิงค์มาเพียงองค์เดียว
* พ.ศ. ๒๒๐๕ - สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพมารบเชียงใหม่ และทรงอัญเชิญลงไปไว้ที่อยุธยาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่นานถึง ๑๐๕ ปี
* พ.ศ. ๒๓๑๐ - กรุงศรีอยุธยาแตก ทัพทหารเชียงใหม่ที่มาในกองทัพพม่าอัญเชิญกลับนครเชียงใหม่ทางเรือ และประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
* วิหารลายคำ เป็นวิหารพื้นเมืองศิลปะล้านนาขนาดเล็ก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๑ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสิหิงค์" ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม ๕๑ นิ้ว เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปถนนรอบ เมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาโดยทั่วกัน วิหารลายคำพบแห่งเดียวที่นี่
วิหารลายคำ
เปิดให้ผู้คน นักท่องเที่ยวเข้าชม ทุกวัน
อีกมุมของวัดพระสิงห์ จะมองเห็นพระธาตุประจำปีเกิดมะโรง ราศีงูใหญ่ ด้วยครับ