ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดจักราช สมเด็จฯ ท่านได้แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิม ขณะทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้และเกิดชื่นชอบถูกใจ ถึงกับปรารถนาจะชวนหลวงปู่ไปอยู่ด้วยกับท่าน จึงเอ่ยปากขอตัว หลวงปู่สิม กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ว่า
"พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วย จะขัดข้องหรือเปล่า"ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านก็มิได้ขัดข้อง ด้วยเห็นเป็นวาสนาบารมี ของหลวงปู่สิม ที่จะได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด กับพระเถระผู้ใหญ่เยี่ยงท่านสมเด็จฯ นี้ ทั้งจะได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร จึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ ที่วัดบรมนิวาส มาจำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัย ในสำนักสมเด็จฯ ทำให้หลวงปู่สิม ได้รับความรู้แตกฉาน ในพระธรรมวินัยมากขึ้น หลวงปู่สิมอยู่รับใช้สมเด็จฯ ด้วยจริยาดีเยี่ยม พร้อมกันนั้นหลวงปู่ก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน การปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของพระธุดงค์กรรมฐาน ให้แก่พระเณรจำนวนมากที่มารับการฝึกฝนอบรมจากหลวงปู่
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เรียนขออนุญาตต่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดินทางธุดงค์กลับถึงบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิด ตามคำอาราธนา และเมื่อหลวงปู่ปรารภที่จะให้มีวัดป่าธรรมยุติกนิกายขึ้น เป็นวัดแรกในบ้านบัว ญาติโยมจึงต่างสนองตอบคำปรารภ ของหลวงปู่อย่างกระตือรือร้น และเต็มอกเต็มใจ
โยมอาของท่าน คือนางคำไพ ทุมกิจจะ ได้มีศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่จัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ สำนักสงฆ์นี้ปัจจุบันพัฒนาเป็น "วัดสันติสังฆาราม" พร้อมด้วยวัดและสำนักสงฆ์สาขาเกิดอีก ๙ แห่ง
![](http://www.kammatan.com/gallary/images/20090307160629_img_2599.jpg)
สำหรับวัดสันติสังฆารามจังหวัดสกลนครนี้ หลวงปู่ได้เริ่ม ดำเนินการก่อสร้าง พระอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จนแล้วเสร็จ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาฝังลูกนิมิตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ในโอกาสเดียวกับงานอายุครบ ๗๑ พรรษาของหลวงปู่
หลวงปู่สิมได้ธุดงค์ไปในหลายจังหวัดอาทิเช่น วัดป่าสระคงคา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย (ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ณ ที่นี้หลวงปู่ได้พบหลวงปู่มั่นฯ และได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากหลวงปู่มั่น จนการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ ก้าวหน้า ขี้นอย่างมาก)
เมื่อแยกจากหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอสันกำแพง เข้าพักที่วัดโรงธรรมสามัคคี วัดนี้เคยเป็นสถานที่ ที่ครูอาจารย์หลายท่าน เคยใช้พักจำพรรษา อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต , หลวงปู่ชอบ ฐานสโม , หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ , พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นต้น
หลวงปู่สิม ได้พักจำพรรษา ที่วัดโรงธรรมสามัคคีแห่งนี้ติดต่อกันนาน ถึงห้าปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมือง อยู่ในสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
![](http://www.kammatan.com/gallary/images/20090307160641_img_2601.jpg)
ในระหว่างนั้น หลวงปู่ได้รับรู้ความคับจิตคับใจ ของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย หลวงปู่ได้ปลุกปลอบใจของชาวบ้าน ที่กำลังสิ้นหวังให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยการหยั่งพระสัทธรรมลงสู่จิตของพวกเขา
ในระหว่างออกพรรษา หลวงปู่สิมได้จาริกธุดงค์ ไปบำเพ็ญเพียร ณ สถานที่วิเวกหลายแห่ง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์อาวุโสชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งคือ เจ้าชื่น สิโรรส (วัย ๙๖ ปี) โดยในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เจ้าชื่น สิโรรส ได้อพยพครอบครัว หลบภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ ขณะที่หลวงปู่ธุดงค์ไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะนี้ ท่านเปรียบเสมือนที่พึ่งอันสูงสุด ที่มีความหมายมาก สำหรับคนที่อยู่ ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเนื่องจากสงคราม
ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ำผาผัวะ กลับคืนตัวเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่ ให้ย้ายเข้ามาพัก จำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวริเปอร์) ซึ่งอยู่ที่ถนนดอยสุเทพ ตรงข้ามกับถนนไปสนามบินเชียงใหม่ ปัจจุบันคือที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่สิม พบกับลูกศิษย์คนแรกที่อุปสมบทที่เชียงใหม่คือ พระมหาทองอินทร์ กฺสลจิตฺโต ซึ่งต่อมาก็ได้เป็น เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ของวัด "สันติธรรม" ซึ่งได้ทำการก่อสร้างขึ้นในภายหลัง
![](http://www.kammatan.com/gallary/images/20090307160707_img_2608.jpg)
ในหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ ถ้ำผาปล่อง
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อสงครามสงบโดยสิ้นเชิง มีข่าวว่าแม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานที่อพยพหลบภัยสงครามไป จะกลับคืนถิ่นฐานเดิม หลวงปู่จึงปรารภเรื่องการสร้างวัด คำปรารภในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้า ที่จะสร้างวัดถวายหลวงปู่ ด้วยพลังศรัทธานั้นเอง "วัดสันติธรรม" จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยอาศัยกำลังศรัทธาของสานุศิษย์
ขอบคุณข้อมูลจาก :
http://romphosai.comรูปภาพโดย : golfreeze[at]packetlove.com