๑. ทำไมพระภิกษุจึงต้องออกธุดงค์? และการธุดงค์เปรียบเสมือนการจาริกแสวงบุญเหมือนกับศาสนาบางศาสนาใช่หรือไม่?
ตอบ คำว่า ธุดงค์ มาจากคำว่า “ธุตงฺค”(ดุตังคะ) ความจริงคนไทยโบราณเอาคำนี้มาจากภาษาบาลี และต้องการให้คนไทยอ่านตามภาษาบาลี แต่เมื่อเขียนแบบบาลีเพื่อรักษาของเดิมไว้ คนไทยอ่านไม่ได้ เพราะภาษาบาลีไม่มีสระ ะ และมีเครื่องหมายอื่นที่แตกต่างจากภาษาไทย พระภิกษุที่มีการศึกษาย่อมอ่านถูกต้อง แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จึงอ่านว่า “ธุตง” แล้วเพี้ยนมาเป็น ธุดงค์ ในที่สุด แล้วก็เลยตามเลย ผู้ไม่รู้ความหมายเข้าใจว่าคือ การเดินดง เดินป่า เป็นการเข้าใจที่ผิด ธุตงฺค คือการปฏิบัติเพื่อขูดเกลากิเลส พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระสูตรต่างๆ พระสูตรละสี่ข้อบ้าง ห้าข้อบ้าง และหกข้อบ้าง เมื่อนำหลายๆพระสูตรมารวมกันจึงได้เป็น ๑๓ ข้อคือ:-
๑. ใช้ผ้าบังสุกุล (เศษผ้าที่เขาทิ้ง) ๒. ใช้ผ้า ๓ ผืน
๓. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ ๔. บิณฑบาตตามลำดับบ้าน
๕. ฉันอาหารวันละมื้อเดียว ๖. ฉันเฉพาะอาหารในบาตร
๗. ลงมือฉันแล้วจะไม่รับอีก ๘. อยู่ป่า
๙. อยู่โคนต้นไม้ ๑๐. อยู่กลางแจ้ง
๑๑. อยู่ป่าช้า ๑๒. อยู่ในที่ตามมีตามได้
๑๓. ไม่นอน
แต่ละข้อล้วนดีงาม ควรแก่อริยะสาวกผู้แสวงหาทางพ้นกิเลสพ้นทุกข์ เป็นที่น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา ผู้ที่ปฏิบัติได้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุคคลพิเศษ มีศรัทธาแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า มีปัญญาเห็นคุณค่า การปฏิบัติคือ ทำเป็นนิจเป็นประจำ ไม่ใช่ทำชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนการจาริกแสวงบุญนั้น คือ การไปเที่ยวชมและเคารพบูชา ด้วยศรัทธาต่อสถานที่สำคัญของศาสนา ถ้าเป็นชาวพุทธก็ไปชมไปเคารพบูชาสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นต้น