"ถ้ำเชียงดาว" ธรรมสถานพระปัจเจก พระอรหันต์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต"เทือกเขาภูหลวงเป็นเทือกเขาแห่งพระอริยเจ้าของทางภาคเหนือ ถือว่าเป็นขุนเขาศักดิ์สิทธิ์
หรือเรียกว่า “ดอยหลวงเชียงดาว” ซึ่งประกอบด้วยถ้ำเชียงดาว ถ้ำฤๅษี ถ้ำพระปัจเจก ถ้ำปากเปียง
ถ้ำผาปล่อง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินธุดงค์และพักบำเพ็ญเจริญสมณธรรมมาแล้วทั้งสิ้น
ในสมัยก่อน ถ้ำเชียงดาวเป็นถ้ำที่เคยมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาพักและมีพระอรหันต์มานิพพาน ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า
“ป่าเทือกเขาเชียงดาวนั้น ถือเป็นรมณียสถานถ้ำเชียงดาว ถือเป็นมงคลสำหรับนักปฏิบัติธรรม”
ที่ถ้ำเชียงดาวนี้มีพระอรหันต์มานิพพาน ๓ องค์ สององค์นอนนิพพาน อีกองค์หนึ่งเดินจงกรมนิพพาน
ครั้นท่านพระอาจารย์มั่นมาพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านได้กล่าวว่า “..ครั้งแรกๆ เราก็พักอยู่ตีนเขาและบำเพ็ญความเพียร
ต่อไปก็ขยับมาอยู่ที่ปากถ้ำ..” ตรงปากถ้ำนั้นมีก้อนหินใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านใช้ก้อนหินนั้นเป็นที่นั่งสมาธิ
มีความรู้สึกว่าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งมิใช่โลกนี้ ไม่ว่าจะเดินหรือนั่ง ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ให้หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ผู้เป็นลูกศิษย์ ปีนขึ้นไปสำรวจถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า และบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ตามที่เห็นในนิมิต จนหลวงปู่ตื้อ
ได้เข้าไปเจออีกมิติที่ซ้อนทับอยู่ได้พบกับอารักษ์ใหญ่และชีปะขาวน้อยผู้ปกปักษ์รักษาถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า
อีกทั้งที่ดอยเชียงดาวแห่งนี้มีตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก “..พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาบนยอดเขาที่ดอยหลวงเชียงดาว พระพุทธองค์ทรงสรงน้ำ ณ อ่างสรงดอยเชียงดาว ต่อมาภาษาได้เพี้ยนเป็น “อ่างสลุง” อ่างสลุงคือจุดพักแรมที่นักเดินป่ากลางเต้นท์พักกัน (สลุง คำภาษาพื้นเมืองแปลว่าขันใบใหญ่) จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า “ดอยนี้สูงนัก สูงเพียงเดือนเพียงดาว ภายหน้าจักเกิดเมืองชื่อ “เมืองเพียงดาว” ต่อมาภาษาได้เพี้ยนเป็น “เชียงดาว” ในส่วนความเชื่อความศรัทธาของคนล้านนา และคนท้องถิ่นเชียงดาว ขุนเขาแห่งนี้เป็นที่ลี้ลับ และศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้าปฐมอารักษ์ของชาวล้านนา “เจ้าหลวงคำแดง” หัวหน้าเทวดายักษ์ ผู้มีบริวาร ๑๐,๐๐๐ ตน ผู้ดูแลของวิเศษในถ้ำหลวงเชียงดาว และดอยเชียงดาว
"สำรวจถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า"
ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พาคณะศิษย์ออกธุดงค์ไปทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่
ไปถึงเขตอำเภอเชียงดาว ได้พำนักปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำเชียงดาวระยะหนึ่ง
วันหนึ่ง หลวงปู่มั่นได้นิมิตเห็นถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้า อยู่บนดอยเชียงดาวสูงขึ้นไป
เป็นถ้ำที่สวยงาม กว้างขวาง สะอาด อากาศโปร่ง เหมาะที่จะเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรภาวนามาก
ถ้ำนั้นอยู่บนดอยที่สูงมาก ยากที่ใครจะขึ้นไปถึงได้ ต้องใช้ความอดทนพยายามที่สูงมาก
รวมทั้งมีพลังใจที่กล้าแข็งจริงๆ จึงจะขึ้นไปได้
หลวงปู่มั่นต้องการให้พระลูกศิษย์ขึ้นไปสำรวจถ้ำแห่งนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า
นอกจากหลวงปู่ตื้อแล้วยังไม่เห็นใครเหมาะสมที่จะขึ้นไปได้ จึงได้บอกให้หลวงปู่ตื้อเดินทางขึ้นไปสำรวจดูถ้ำแห่งนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว หลวงปู่ตื้อพร้อมกับพระอีก ๓ รูป
ได้พากันออกเดินทางขึ้นสูยอดดอยเชียงดาว เพื่อสำรวจดูถ้ำตามภาระที่ได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์ใหญ่
หนทางขึ้นสูยอดดอยสุดแสนจะลำบาก เพราะต้องปีนเขาสูง ไม่มีทางอื่นที่จะเดินลัดหรือเลาะเลี้ยวไปตามเชิงเขา
ต้องปีนป่ายเหนี่ยวเกาะไปตามแง่หิน รั้งตัวขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงอันตรายมาก
หลวงปู่ตื้อ เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า ยิ่งสายก็ยิ่งเหนื่อย บางแห่งทางแคบมากจริงๆ ต้องเดินเอี้ยวหลบเข้าไปได้ทีละคนเท่านั้น
บางช่วงต้องปีนป่ายและห้อยโหนเพราะไม่มีทางเลี่ยงอื่น ต้องเสี่ยงชีวิตเอา
คณะของหลวงปู่ตื้อ ปีนป่ายถึงยอดเขาประมาณ ๕ โมงเย็น แต่ไม่มีวี่แววว่าจะพบถ้ำ และไม่ทราบว่าถ้ำอยู่ที่ไหน
บริเวณรอบๆ ไม่ได้ส่อเค้าว่าจะเป็นถ้ำเลย
คณะต้องเดินอยู่บนเขาอีก ๔ ชั่วโมงกว่าๆ บนยอดเขามีลมพัดแรงมาก ตกกลางคืนยิ่งพัดแรงจนตัวแทบจะปลิวไปตามแรงลม
จะหาถ้ำเล็กๆ พอจะหลบลมก็ไม่มี ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนกัน พระทุกองค์ต้องใช้เชือกตากผ้าที่เตรียมไป
ผูกมัดตัวไว้กับต้นไม้ แล้วนั่งสมาธิภาวนากันทั้งคืน ยิ่งดึกลมยิ่งแรงดูผิดปกติธรรมชาติเป็นอย่างมาก
พอรุ่งเช้าได้อรุณแล้ว ปรากฏว่ามีญาติโยมจัดภัตตาหารมาถวาย คนพวกนั้นเป็นพวกชาวเขาแท้ อาศัยทำไร่อยู่บนยอดดอยอย่างถาวร
เมื่อฉันเสร็จก็พากันเดินทางต่อไป แม้จะเดินบนหลังเขา หนทางก็ยากลำบากมาก เหมือนกับการปีนป่ายขึ้นมาในตอนแรก
คณะหลวงปู่ตื้อเดินอยู่จนถึงเที่ยงวัน ก็ถึงบริเวณหนึ่งที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่ๆ ถ้ำพระปัจเจกพุทธเจ้าตั้งอยู่
บริเวณข้างหน้าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ต้องใช้ขอนไม้เกาะเป็นแพจึงจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้
พระที่ไปด้วยกันไม่มีใครกล้าข้ามไป หลวงปู่ตื้อจึงอาสาข้ามน้ำไปดูเพียงองค์เดียว