หลวงปู่ชา หลวงปู่ชา สุภทฺโทปัจจุบันนี้โลกเราต้องการคนดี โลกต้องการการให้อภัย
เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุข ต้องให้อภัย ทำใจให้กว้างขวาง
จึงจะได้ชื่อว่า เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัยพระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) หรือ หลวงพ่อชา หรือ อาจารย์ชา เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461
ตรงกับ วันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
บิดาชื่อนายมา ช่วงโชติ มารดาชื่อ นางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 10 คน
การศึกษาหลวงพ่อชาได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี
จนจบชั้นประถมปีที่ 1 แล้วได้ลาออกจากโรงเรียนเพราะมีจิตใจใฝ่ทางบวชเรียน
ภายหลังเมื่อบวชเรียนแล้วได้เรียนหนังสือธรรมเรียนบาลีไวยากรณ์ เรียนมูลกัจจายน์
จนสามารถอ่านแปลภาษาบาลีได้ และได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ชั้นสูงสุดสายนักธรรม คือ สอบได้นักธรรมชั้น เอก
ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุ 13 ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว
โยมบิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสเพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี
จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็น สามเณรชา โชติช่วง เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2474
โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี
เป็นอุปัชฌาย์สามเณรชา โชติช่วง ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์
เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ
แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป
ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียน จึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องอุปสมทบเป็นพระให้ได้
เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ภายหลังเมื่อตกลงกับบิดามารดาและท่านทั้ง 2 ก็อนุญาตแล้วจึงได้ฝากตัวที่วัดก่อในที่ใกล้บ้าน
แล้วได้รับอนุญาตให้อุปสมบทได้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น.
ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี โดยมีพระเถระสำคัญที่ให้การอุปสมบทดังนี้
พระครูอินทรสารคุณ
เป็นพระอุปัชาฌาย์
พระครูวิรุฬสุตการ
เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสอน
เป็นพระอนุสาวนาจารย์พระชา สุภทฺโท
ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดก่อนอก 2 พรรษา ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรม ทั้งจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์
จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสำนักวัดก่อนอกนี้
ศึกษาปริยัติธรรมต่างถิ่นเมื่อพระชา สุภทฺโท สอบนักธรรมตรีได้แล้ว ก็อยากเรียนให้สูงขึ้นเพราะมีจิตใจรักชอบทางธรรมอยู่แล้ว
แต่ขาดครูอาจารย์ในการสอนระดับสูงต่อไป นึกถึงภาษิตอีสานที่ว่า
"บ่ออกจากบ้านบ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว บ่เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้" ชีวิตช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระชา สุภทฺโท
มุ่งเรียนปริยัติธรรมให้สูงสุด จึงทุ่มเทให้การศึกษาทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ มากมายจนในที่สุดก็สอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตร คือ สอบนักธรรมชั้นโทได้ ในสำนักของ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอกถิ่นเกิด
สู่การปฏิบัติธรรมเสร็จภารกิจการศึกษา ประกอบกับเกิดธรรมสังเวชคราวโยมบิดาเสียชีวิต
จึงหันมาสู่การปฏิบัติธรรม โดยออกธุดงค์และศึกษาหาแนวทางปฏิบัติในสำนักต่างๆ ผ่านอาจารย์ก็มากมาย เช่น
หลวงปู่กินรี จนทิโย
หลวงปู่เถระชาวเขมร
อาจารย์คำดี ปภาโส
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ โดยยังดำรงสมณะเพศเป็นพระมหานิกายอยู่ตลอดเวลา
จนในที่สุดได้รับอาราธนาจากโยมมารดาและพี่ชาย เพื่อกลับไปโปรดสัตว์ที่บ้านเกิด เมื่อ พ.ศ. 2497
ก็ได้ดำเนินการสร้างวัดป่าขึ้น ซึ่งเรารู้จักในปัจจุบัน คือ "วัดหนองป่าพง" และท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้มาโดยตลอด
และถึงแก่มรณภาพเมื่อ 16 มกราคม 2535 เวลา 05.30 น. อย่างสงบท่ามกลางธรรมสังเวชของศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศ
หลวงปู่ชา สุภทฺโทเกียรติประวัติที่สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา
29 เมษายน 2516 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง
5 ธันวาคม 2516 ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะ "พระโพธิญาณเถระ"
4 กุมภาพันธ์ 2527 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ
6 มิถุนายน 2521 ได้รับพัด พัฒนาเชิดชูเกียติ จากกรมการศาสนา
30 กันยายน 2531 ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนาธรรมโอวาทยอดคำสอนยอดคำสอน เป็นคำสอน เป็นคติ เป็นปรัชญาสั้นๆ ที่คมลึกซึ้ง
ใครได้ฟังแล้วจะเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง และบางครั้งอาจจะถึงกับอุทานออกมาว่า
ท่านคิดและกลั่นกรองคำเหล่านี้ออกมาจากจิตได้อย่างไร ถ้าจิตนั้นไม่บริสุทธิ์แจ่มใสเยี่ยงผู้บรรลุธรรม
ขอท่านได้สังเกตคำสอนต่อไปนี้
ธรรมดาๆตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มีอะไรทำไมใครเลย
ไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารณ์เลย
ไม่มีอะไรที่น่าจะร้องไห้หรือหัวเราะ
เพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ
แต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา
แต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ำเสมอ
ไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว
มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น
เราก็สงบ
การปฏิบัติคืออำนาจ
พระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจอะไรเลย
แม้ก้อนทองคำก็ไม่มีราคา ถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคา
ทองคำมันก็ถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละ
พระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่
แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ จะไปมีอำนาจอะไรเล่า
อย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่
แต่เราไม่อดทนกัน
มันจะมีอำนาจอะไรไหม?
ชนะตนเองถ้าเราเอาชนะตัวเอง
มันก็จะชนะทั้งตัวเองชนะทั้งคนอื่น
ชนะทั้งอารมณ์ ชนะทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น
ทั้งรส ทั้งโผฎัฐพพะ
เป็นอันว่าชนะทั้งหมด
สุขทุกข์คนที่ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์นั้น
ก็จะเห็นว่า สุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ
มันคนละราคากัน
ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้ว
ท่าน จะเห็นว่า
สุขเวทนา กับทุกขเวทนา
มันมีราคาเท่าๆ กัน
เกิดตายเมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเอง
ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ
เหมือนกับต้นไม้ อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย
เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย
เมื่อมีปลายมันก็มีโคน
ไม่มีโคนปลายก็ไม่มี
มีปลายก็ต้องมีโคน
มีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้
มันเป็นอย่างนั้น
อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้นอารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก
อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก
มันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี
ทำให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ของจริงธรรมของจริงของแท้ที่ทำให้บุคคลเป็นอริยะได้
มิใช่เพียงศึกษาตามตำรา
และนึกคิดคาดคะเนเอาเท่านั้น
แต่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นจริงๆ
ของจริงจึงจะเป็นของจริงขึ้นมาได้
ได้เสียทุกอย่างที่เรามีอยู่เป็นอยู่นั้น
มันเป็นสักแต่ว่า "อาศัย" เท่านั้น
ถ้ารู้ได้เช่นนี้ ท่านว่ารู้เท่าตามสังขาร
ที่นี้แม้จะมีอะไรอยู่ก็เหมือนไม่มี
ได้ก็เหมือนเสีย
เสียก็เหมือนได้
พิการเด็กทั้ง 2 พิการ เดินทางได้
จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้
แต่เราพิการใจ (ใจมีกิเลส)
จะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า
คนพิการกายอย่างเด็กนี้ มิได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร
แต่ถ้าคนพิการใจมากๆ
ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากแก่มนุษย์และสัตว์
ให้ได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว
คนดีอยู่ไหนคนดีอยู่ที่เรานี่แหละ
ถ้าเราไม่ดีแล้ว
เราจะอยู่ที่ไหนกับใคร
มันก็ไม่ดีทั้งนั้น
ชีวิตเมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต
วางมันเสีย ไม่เสียดาย
ไม่กลัวตาย
ก็ทำให้เราเกิดความสบาย และเบาใจจริงๆ
นั่งที่ไหนดีจะนั่งหัวแถวหรือหางแถวก็ไม่แปลก
เหมือนเพชรนิลจินดา
จะวางไว้ที่ไหนก็มีราคาเท่าเดิม
และจะได้เป็นการลดทิฐิมานะให้น้อยลงไปด้วย
ไม่กลัวตายกลัวอะไร?
กลัวตาย
ความตายมันอยู่ที่ไหน?
อยู่ที่ตัวเราเอง
จะหนีพ้นมันได้ไหม?
ไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
ในที่ มืด หรือในที่แจ้ง ก็ตายทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย
จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น
เมื่อรู้อย่างนี้
ความกลัวไม่รู้หายไปไหน
เลยหยุดกลัว
เหมือนกับที่เราออกจากที่มือสู่ที่สว่างนั่นแหละ
สอนคนอย่างไรทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อนแล้ว
จึงสอนคนอื่นทีหลัง
จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก
สอนคนด้วยการทำให้ดู
ทำเหมือนพูด
พูดเหมือนทำ
มนุษย์ศาสตร์มนุษยศาสตร์ทั้งหลาย มีแต่ศาสตร์ที่ไม่มีคมทั้งนั้น
ไม่สามารถจะตัดทุกข์ได้
มีแต่ก่อให้เกิดทุกข์
ศาสตร์เหล่านั้น ถ้าไม่มาขึ้นกับพุทธศาสตร์แล้ว
มันจะไปไม่รอดทั้งนั้น
หลับ-ไม่หลับถ้าหลับมันก็ไม่รู้
ถ้ารู้มันก็ไม่กลับ
มรรคผล
มรรคผลยังไม่พ้นสมัย
คนโง่เท่านั้นที่ปฏิเสธว่า
ในพื้นดินไม่มีน้ำแล้วไม่ยอมขุดบ่อ
ไม่คดคนงอต้นไม้เถาวัลย์ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร
คนคดคนงอนั้น ร้ายนัก
เป็นพิษเป็นภัยทั้งอยู่บ้านและอยู่วัด
หลงคนหลงโลกคือคนหลงอารมณ์
คนหลงอารมณ์คือคนหลงโลก
นักปฏิบัติ
กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ
กินมาก นอนมาก พูดมาก คือ คนโง่
แสดงอาการการหัวเราะเป็นอาการของคนบ้า
การร้องไห้เป็นอาการของทารก
ฉะนั้นท่านผู้ถึงสงบ
จะไม่หัวเราะไม่ร้องไห้
สอนอย่างไรทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน
แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง
จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก
ความอายเมืองนี้ยังไม่เคยมีพระบิณฑบาตเลย
เพราะเขามีความอายกันเป็นส่วนมาก
แต่ตรงกันข้ามกับเรา
เราเห็นว่า
คำที่ว่าอายนี้
เราเห็นว่า อายต่อบาป
อายต่อความผิดท่านั้น
เมืองนอกเราได้เดินทางไปเมืองนอก
และเมืองในนอก
และเมืองในใน
และเมืองนอกนอก
รวมสี่เมืองด้วยกัน
ที่รวมสมาธิเมื่อนั่งหลับตาให้ยกความรู้สึกขึ้นเฉพาะลมหายใจ
เอาลมหายใจเป็นประธาน
น้อมความรู้สึกตามลมหายใจ
เราจึงจะรู้ว่าสติมันรวมอยู่ตรงนี้
ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้
เกาะสีชังเรามาอาศัยอยู่ที่เกาะนี้ คือที่พึ่งทางใน
ซึ่งเป็นที่อันน้ำคือกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง
แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชัง
แต่ก็ยังค้นหาเกาะภายในอีกต่อไป
ผู้ที่ท่านได้พบ และอาศัยเกาะอยู่ได้นั้น
ท่านย่อมอยู่เป็นสุข
ต่างจากคนที่ลอยคออยู่ในทะเล คือความทุกข์
กินแบบไหนฉันอาหารไม่พิจารณา
จะเป็นเหมือนปลากินเหยื่อ
ย่อมติดเบ็ด
บริขารบริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ห้าเท่านั้น
การไม่รู้จักประมาณในการบริโภคบริขาร
มีความกังวลในการจัดหา
ย่อมเป็นการยุ่งยาก
ขาดการปฏิบัติธรรมย่อมไม่ได้รับผลอันตนพึงปรารถนา
อยู่กับใครการคลุกคลีอยู่กับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน
ทำให้เกิดความลำบาก
ความรู้สึกจะมารวมอยู่ตรงนี้
อารมณ์เราเป็นอย่างนี้
เราจึงจะรู้จักที่รวมแห่งสมาธิ
ปล่อยลม-ได้สมาธิ-ปัญญา
เรากำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว
เราปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติ
อย่าไปบังคับลมให้มันยาว
อย่าไปบังคับลมให้มันสั้น
ปล่อยสภาพลมให้พอดี
แล้วดูลมหายใจเข้าออก
เมื่อปล่อยอารมณ์ได้
เสียงอะไรก็ไม่ได้ยิน
ถ้าจิตเราวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ
ไม่ยอมรวมเข้ามา
ก็ต้องสูดลมเข้าไปให้มากที่สุด
จนกว่าจะไม่มีที่เก็บ
แล้วก็ปล่อย ลมออกให้มากที่สุด
จนกว่าลมจะหมดในท้องสัก 3 ครั้ง
ถ้าเรามีสติอย่างนี้
อย่างวันนี้ เข้าสมาธิสัก 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
จิตใจของเรา จะมีความเยือกเย็น ไปตั้งหลายวัน
แล้วจิตจะสะอาด
เห็นอะไรจะรับพิจารณาทั้งนั้น
นี้เรียกว่าผลเกิดจากสมาธิ
สมาธิมีหน้าที่ทำให้สงบ
เมื่อจิตเราสงบแล้ว
จะมีการสังวร สำรวมด้วยปัญญา
เมื่อสำรวมเข้า ละเอียดเข้า
มันจะเป็นกำลังช่วยศีลให้บริสุทธิ์ขึ้นมาก
แล้วสมาธิก็จะเกิดขึ้นมาก
เมื่อสมาธิเต็มที่ก็จะเกิดปัญญา
ปลดทุกข์ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยึดเพราะอยาก
ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด
ทุกข์หลุดเพราะปล่อย
สาธุๆ ในธรรมะที่หลวงปู่ชา ท่านเห็นด้วยนะครับผม